วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิกฤติเครือข่ายกษัตริย์และความชอบธรรมในไทย


Network Monarchy
and legitimacy crises in Thailand


Duncan McCargo
ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มหาวิทยาลัยลีดส์

ตีพิมพ์ลงใน :
The Pacific Review, Vol. 18 No. 4 December 2005: 499-519


บทคัดย่อ

บทความนี้ให้เหตุผลว่า แนวคิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องระบอบอมาตยาธิปไตย ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน และการปฏิรูปการเมืองนั้น ล้มเหลวในการอธิบายการเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างถูกต้อง ในทางกลับกัน การเมืองไทยสามารถถูกเข้าใจได้ดีที่สุดในรูปเครือข่ายทางการเมือง เครือข่ายชั้นแนวหน้าในช่วง 2516-2544 มีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า "เครือข่ายกษัตริย์" (network monarchy) เครือข่ายกษัตริย์เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายกษัตริย์ได้สร้างอิทธิพลขนาดมหาศาล แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศ ในทางกลับกัน พระราชวังต้องทำงานผ่านสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ โดยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก แม้เครือข่ายกษัตริย์จะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมโดยพื้นฐาน แต่พวกเขาก็มีรูปแบบเป็นฝ่ายเสรีนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533-2542) ประเทศไทยพบกับวิกฤติความชอบธรรมหลักๆมาสามครั้งตั้งแต่ 2535 ในแต่ละครั้ง เปรมรับบทบาทเป็นตัวแทนของพระราชวังในการสร้างสมดุลอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนที่กำลังขยายกว้างขึ้นของระบอบกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2544 และ 2548 ทักษิณพยายามแทนที่เครือข่ายกษัตริย์ด้วยเครือข่ายใหม่ที่เขาสร้างขึ้น บทความนี้แนะนำว่าความเข้าใจแบบดั้งเดิมในเรื่องอำนาจของกษัตริย์นั้นจำเป็นต้องได้รับการทบทวนใหม่


บทนำ

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีไทย กล่าวปาฐกถาที่สำคัญในกรุงเทพฯเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนมากกว่า 500 คนถูกฆ่าในเหตุการณ์รุนแรงตลอดปีที่ผ่านมา เปรมกระตุ้นนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากพระมหากษัตริย์และพระราชินี โดยให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่สันติและระมัดระวังมากกว่าจะส่งกำลังไปอย่างรีบร้อนโดยไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง เขากล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาที่มีชื่อว่า "การรวมพลังแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ตามกระแสพระราชดำรัส" และอ้างถึงพระราชดำรัสวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งสนับสนุนให้ใช้การเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนา ทักษิณอยู่ในวันที่มีการกล่าวพระราชดำรัสนั้นด้วยแต่เขาล้มเหลวในการปฏิบัติตาม เปรมอธิบายว่าทุกคนตั้งแต่ผู้นำชุมชนไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการและเอ็นจีโอ ควรจะศึกษาพระราชดำรัสและปฏิบัติตาม (Thai Press Reports, 3 มีนาคม 2548) ภายในไม่กี่วัน รัฐบาลก็จัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมาเพื่อจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้ นับเป็นการสวนทางกับนโยบายอันก่อนอย่างสิ้นเชิง

การแทรกแซงของเปรมในเรื่องวิกฤติภาคใต้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองหนึ่งของไทยที่ไม่ค่อยมีคนสังเกต นั่นคือ เครือข่ายกษัตริย์ เรื่องที่พระมหากษัตริย์ได้แทรกแซงการเมืองโดยตรงเป็นบางครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ การแทรกแซงหลังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เมื่อกษัตริย์เรียกนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นที่นิยมและผู้นำการประท้วงมาเข้าพบและสั่งให้พวกเขายุติความขัดแย้งลง แต่การแทรกแซงซึ่งยากที่จะพบเห็นอย่างนั้นก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆที่ถูกเปิดเผยของเครือข่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่มีกษัตริย์เป็นแรงจูงใจ ในขณะที่ส่วนอื่นๆส่วนใหญ่ยังถูกปิดซ่อนจากสายตาสาธารณชนไว้อย่างมิดชิด เราจะมาตรวจสอบปรากฏการณ์และพัฒนาการของเครือข่ายกษัตริย์กัน ณ ที่นี้


นิยามการเมืองไทย

การจัดประเภทการเมืองไทยเป็นเรื่องที่พิสูจน์มานานแล้วว่าทำได้ยาก Fred Riggs (1966) เคยเสนอแนวคิดอันมีชื่อเสียงว่า ประเทศไทยเป็น "ระบอบอมาตยาธิปไตย" นั่นก็คือ ศักดินาและทหารต่างปกครองรัฐไทยเพื่อจุดประสงค์ของพวกเขาเองเป็นส่วนใหญ่ Hewison วิจารณ์แนวคิดอันทรงอิทธิพลนี้ว่ามันเป็นแนวคิดที่ไม่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง และชี้ให้เห็นว่าแนวคิดนี้ละเลยต่อการพิจารณาถึงการต่อต้านที่มีมายาวนาน และล้มเหลวในการทำนายถึงการเกิดขึ้นของการเมืองภาคประชาชนในทศวรรษ 1970 (ปี 2513-2522) (1998: 75)1 การสนทนาเรื่องการเมืองไทยในช่วงต่อมามักจะอยู่ในกรอบการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (ชัยอนันต์ 1990) หลังรัฐประหารปี 2534 สมมติฐานอย่างง่าย ๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป นักวิชาการหลายคนเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับระบบเศรษกิจการเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของประชาสังคม พร้อมด้วยโครงการวิจัยเกี่ยวกับปฏิรูปการเมืองที่มีขอบเขตแคบลง (Connors 1999; McCargo 2002) บทความนี้จะใช้แนวทางค้นหาคำตอบอีกแนวทางหนึ่ง: เราเสนอว่าการเมืองไทยเป็นการเมืองที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย ตั้งแต่ปี 2516 ถึง 2544 เครือข่ายทางการเมืองชั้นนำของประเทศไทยก็คือพระมหากษัตริย์ไทย กษัตริย์ภูมิพล ตั้งแต่ปี 2544 ฐานะอันสูงส่งของเครือข่ายกษัตริย์ได้ถูกท้าทายโดยการปรากฏตัวอันโดดเด่นของ ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีโทรคมนาคมผู้ทรงอิทธิพล

ตั้งแต่การขับไล่รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาสในปี 2516 กษัตริย์ภูมิพลได้เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของประเทศและไม่ได้เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรรมนูญตามแบบฉบับเลยแม้แต่น้อย นักเขียนคนอื่นๆ โดยเฉพาะ Hewison (1997) กอบเกื้อ (2002, 2003) และ Kershaw (2001) พยายามตรวจสอบบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ไทยโดยโฟกัสไปที่ตัวพระมหากษัตริย์เอง บทความนี้จะใช้แนวทางที่แตกต่าง: เราจะมองกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของระบอบการปกครองที่ค่อนข้างแปลกใหม่ ซึ่งเข้าใจได้ดีที่สุดในนามของเครือข่ายทางการเมือง "เครือข่ายกษัตริย์"ของประเทศไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประธานองคมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายกษัตริย์คือรูปแบบการปกครองกึ่งกษัตริย์สมัยใหม่: พระมหากษัตริย์ไทยและเครือข่ายของพระองค์ได้สร้างระบบกษัตริย์ที่ทันสมัยไว้เป็นสถาบันคู่ขนานกับสถาบันทางการเมือง Anderson อธิบายถึงระบบกษัตริย์ไทยไว้ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่"เก่าแก่อย่างน่าสนใจ" (1978: 209) แต่เครือข่ายกษัตริย์นั้นเป็นการผลิตซ้ำที่ได้รับการปรับให้เข้ากับสมัยใหม่มากกว่าจะเป็นเพียงส่วนหลงเหลือของช่วงเวลาหนึ่ง การสร้างเครือข่ายกษัตริย์ให้แข็งแรงนั้นเป็นการโหยหาถึงช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนปี 2475 ที่ถูกทำให้อ่อนลงลงด้วยการยอมรับอย่างไม่เต็มใจนักว่าพระมหากษัตริย์ไทยสมัยใหม่ไม่อาจเป็นผู้ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จได้อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม "นักสร้างตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์ก็ได้พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัชกาลที่ 5 กับรัชกาลปัจจุบันอย่างแข็งขัน" (Peleggi 2002: 167) Peter Jackson กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีการสร้างลัทธิยกย่องรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาแล้ว (Jackson 1999: 301-4)2 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นถึงสองครั้งในปี 2544 และ 2548 พยายามแทนที่เครือข่ายอำนาจพระราชวงศ์ด้วยเครือข่ายกลุ่มใหม่อย่างเป็นระบบ

ลักษณะสำคัญของเครือข่ายกษัตริย์ไทยตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2544 ก็คือการที่กษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมืองเวลาเกิดวิกฤติ และการที่กษัตริย์เป็นต้นกำเนิดหลักของความชอบธรรมของชาติ กษัตริย์ทำตัวเป็นผู้ออกความคิดเห็นและชอบสั่งสอนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของชาติ และช่วยกำหนดวาระแห่งชาติผ่านพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี กษัตริย์แทรกแซงการพัฒนาทางการเมืองอย่างกระตือรือร้น โดยส่วนมากจะผ่านทางตัวแทนของพระองค์ เช่น องคมนตรีและนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจ โดยมีอดีตผู้บัญชาการและอดีตนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหัวหน้าของเหล่าตัวแทนคอยช่วยกำหนดลักษณะของรัฐบาลผสม และคอยตรวจสอบการดำเนินการทางทหารและการโยกย้ายต่าง ๆ ระบบการปกครองแบบเครือข่ายนี้ต้องพึ่งพาการจัดประชาชนที่เหมาะสม (โดยเฉพาะคนที่เหมาะสม) ไว้ในงานที่เหมาะสม ซึ่งการจัดสรรตำแหน่งนี้เป็นบทบาทหลักของเปรม

เครือข่ายกษัตริย์มิได้เป็นเสรีนิยมโดยเนื้อแท้ของมันอยู่แล้วเพราะมันสนับสนุนการพึ่งพา "คนดี" และไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองและกระบวนการทางการเมืองตามรูปแบบ ไม่มีมีการให้ความสำคัญกับหลักการของประชาธิปไตย เช่น หลักนิติธรรมและหลักความยินยอมจากประชาชน แต่ความสำเร็จหลักของกษัตริย์ภูมิพลนั้นมาจากการรักษาความเป็นอิสระของราชวงศ์ไว้ได้อย่างดีท่ามกลางประเทศไทยที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มก้อน สิ่งนี้แตกต่างไปจากการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญดังที่เคยเข้าใจกัน กษัตริย์ไทยอาจถูกมองได้ดีที่สุด ตามศัพท์ของ Robert Dahl ว่าเป็น "ระบบรอง" (subsystem) มากกว่าเป็นสถาบัน (Dahl 1982: 27-8) ผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายกษัตริย์ที่สำคัญก็คือสภาองคมนตรีซึ่งประชุมกันอาทิตย์ละ 2 ครั้งเพื่อตรวจสอบกฎหมายและให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ แก่กษัตริย์ (Hewison 1997: 72) กษัตริย์อาจปรึกษาหัวหน้าพรรคการเมืองในยามวิกฤติด้วยก็ได้ (1997: 73) Hewison อธิบายว่า "กษัตริย์และผู้ถวายคำปรึกษารู้สึกว่าพระองค์ควรจะแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง ... กษัตริย์มักแสดงบทบาทที่เกินเลยขอบเขตอันเหมาะสมตามระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ" (1997: 72-3) กษัตริย์องค์นี้ได้ก้าวเกินไปจากการอยู่"เหนือการเมือง" พระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองอย่างใกล้ชิด การยุ่งเกี่ยวของพระองค์หมายความว่าพระองค์เป็น "กษัตริย์นักกิจกรรม" (1997: 74) กษัตริย์อธิบายบทบาททางการเมืองของตัวเองไว้ชัดเจนในการสัมภาษณ์ที่หายากครั้งหนึ่งกับหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ เมื่อปี 2532 ดังนี้


"ฉันคิดว่ามันเป็นเทคนิคที่ดีที่พวกเราค้นพบ" เขากล่าว และกล่าวเสริมว่า ในตำแหน่งของเขานั้น มีความสุดโต่งอยู่ 2 ประการที่ควรหลีกเลี่ยง นั่นคือ การยอมจำนนต่อนักการเมือง และการเอาแต่ใจของกษัตริย์

"คุณสามารถอยู่ในกรอบของกฎหมาย" เขากล่าว "คุณทำได้เพียงแต่สิ่งที่กฎหมายระบุ นั่นคือ ถ้าคุณพูดอะไรบางอย่าง นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีสักคนจะต้องเซ็นรับสนองฯ และถ้าเกิดเขาไม่อยู่ให้เซ็น เราก็จะไม่สามารถพูดได้ นั่นคือหนทางหนึ่งในการทำมัน คือ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

อีกทางหนึ่งก็คือการทำมากเกินไป ใช้อิทธิพลที่เรามีเพื่อทำอะไรก็ได้ แต่นั่นก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน เราจะต้องอยู่ตรงกลาง และต้องทำงานในทุกสาขา"

(Barbara Crosette, ‘King Bhumibol’s reign’,New York Times, 21 พฤษภาคม 2532)


"อยู่ตรงกลาง และต้องทำงานในทุกสาขา" คือข้อสรุปที่เรียบง่ายของการปกครองแบบเครือข่ายกษัตริย์ดังที่มันเป็นหลังปี 2516 สำหรับพระราชวัง การร่วมกันใช้อำนาจคือการตอบโต้ที่มีเหตุผลในการเมืองที่กษัตริย์จำเป็นต้องถูกจำกัดอำนาจ ดังเช่นที่ Olson เคยกล่าวว่า "ผู้นำที่ไม่มีอำนาจเด็ดขาดจะมีแรงจูงใจในการร่วมมือกับคนอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเด็ดขาด" (2000: 33) Olson กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำโดยทั่วไปเลือกที่จะจัดตั้งรัฐบาลตัวแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับกษัตริย์ไทย ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือการยอมให้จัดตั้งรัฐบาลตัวแทน แต่ก็คอยใช้เครือข่ายการเมืองเพื่อบ่อนทำลายและโค่นล้มพวกเขา เป็นเรื่องน่าขำที่แนวทางนี้กลับได้รับการสนับสนุนจากพวกนิยมเจ้าเสรีนิยมที่มีชื่อเสียงอย่าง ประเวศ วะสี3 และ อานันท์ ปันยารชุน4 ผู้ซึ่งสร้างเครือข่ายอมาตยาธิปไตยพิเศษขึ้นมาสำหรับพวกผู้ดีสูงศักดิ์ (ในทางปฏิบัติก็คือพวกกษัตริย์น้อยๆ) ให้สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลได้ เนื่องจากการเมืองตามรูปแบบถูกครอบงำโดยพวกนายทุน เครือข่ายกษัตริย์เสรีนิยมจึงนำเสนอทางเลือกหนึ่งของการชูวาระทางการเมืองแบบก้าวหน้า สำหรับพวกเสรีนิยม เครือข่ายกษัตริย์คือการปกครองแบบมีผู้คุ้มครองอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับการสร้างการเมืองแบบเสรี ในขณะเดียวกัน เครือข่ายกษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมทุกส่วนเลยแม้แต่น้อย กษัตริย์ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมจัด ทหาร กระทรวงกลาโหม และกลุ่มเช่นกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เครือข่ายกษัตริย์ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองใดแนวคิดหนึ่งอย่างรีบเร่ง เครือข่ายกษัตริย์นั้นยืดหยุ่นโดยเนื้อแท้และมีความเป็นการเป็นงานสูง ดังที่ David Knoke กล่าว กษัตริย์ไทยเพลิดเพลินกับอำนาจมหาศาล แต่ก็ไม่มีอำนาจมากจนถึงขั้นครอบงำประเทศได้ ดังนั้น เครือข่ายกษัตริย์จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง อำนาจของมันคือ "ความต่อเนื่องที่เฉพาะเจาะจงกับสถานการณ์" (1994: 2) จุดประสงค์หลักของเครือข่ายคือการเชิดชูอำนาจและเกียรติยศของราชบัลลังก์ และเกียรติยศนั้นก็จะช่วยเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติและช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่เข้าร่วมเครือข่าย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยและบรรยากาศแห่งการเซ็นเซอร์รอบ ๆ สถาบันกษัตริย์ทำให้การเข้าใจเครือข่ายกษัตริย์เป็นเรื่องยากลำบาก (Streckfuss 1998) การเซ็นเซอร์นี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ Connors เรียกว่า "ปมความรู้ของคนใน" นั่นก็คือ การแสดงความรู้ของคนในที่เผยให้คนนอกเห็นว่าพวกคนในไม่สามารถตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง (2003: 130-1)


พัฒนาการของเครือข่ายกษัตริย์

เครือข่ายกษัตริย์ไม่ได้เป็นระบบที่ตายตัว หากแต่มีวิธีการทำงานที่ไหลลื่น มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดลักษณะหรือแยกประเภททางการเมืองของมันให้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยากมาก มันจึงถูกมองข้ามอยู่บ่อยๆ ในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2501-2506) เผด็จการทหารยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐไทย, อำนาจของสฤษดิ์, และการต่อสู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Thak 1979: 310-25) กษัตริย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยไม่เป็นที่นิยมค่อย ๆ กลับมาโดดเด่นอย่างช้า ๆ ในปลายทศวรรษ 1960 (ปี 2503-2512) กษัตริย์พูดต่อสาธารณชนในเรื่องปัญหาการเมืองอยู่เป็นประจำ และในต้นทศวรรษ 1970 (ปี 2513-2522) กษัตริย์ก็กลายเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย (Morell และ ชัยอนันต์ 1981: 66–8) พระองค์แสดงความสนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านสินค้าจากญี่ปุ่นที่นำโดยนักศึกษา (Prizzia 1985: 51) แม้กระทั่งก่อนเหตุการณ์ในปี 2516 คนไทยบางคนยังเชื่อว่ากษัตริย์"อยู่ในฐานะพิเศษที่คอยสนับสนุนการปฏิรูปการปกครองต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน" (Reynolds 1978: 108) ด้วยความที่กษัตริย์ไม่พอใจกับการขาดภาวะความเป็นผู้นำทางทหารและการเมืองของถนอม กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร พระองค์จึงเล่นบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับไล่ทั้งสองในปี 2516 ในเวลานั้น พระองค์ได้กลายเป็น"สัญลักษณ์แห่งความปรารถนาของปวงชน"ไปเรียบร้อยแล้ว (Bowie 1997: 97) พระองค์ให้คำปรึกษาแกนนำนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 (Connors 2003: 130)

กอบเกื้อเห็นว่าการที่กษัตริย์ไม่พอใจกับเผด็จการทหารนั้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ประภาสวิพากษ์วิจารณ์สฤษดิ์ บุคคลที่กษัตริย์ถือเป็นผู้ให้คำปรึกษาและผู้ร่วมมือผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์ (กอบเกื้อ 2003: 177) หลังปี 2516 ประเทศไทยไม่สามารถกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนก่อนปี 2475 ได้อีก แต่ผู้นิยมกษัตริย์ต่างก็หวังอีกหนทางหนึ่ง นั่นก็คือหนทางที่พระราชวังจะสามารถปฏิบัติการผ่านการแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อโน้มน้าวทิศทางการเมืองไทย แทนที่ประเทศไทยจะเป็นระบอบกษัตริย์แบบมีชนชั้น ประเทศไทยจะไม่ใช้ระบอบเครือข่ายกษัตริย์แทนหรือ? ในระบอบกษัตริย์แบบมีชนชั้น พระราชบังลังก์จะได้รับเครดิตหากประสบความสำเร็จ แต่ก็จะถูกประณามหากทำผิดพลาด ในระบอบเครือข่ายกษัตริย์ พระราชบังลังก์จะได้รับเครดิตหากประสบความสำเร็จ แต่ความล้มเหลวของ"ระบบที่เสื่อมโทรม" (Morell และ ชัยอนันต์ 1981: 315) จะตกเป็นความผิดของผู้อื่นแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่คดโกงและถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อตัวเอง Morell และชัยอนันต์ เขียนเตือนในปี 2524 ว่า "การที่สถาบันกษัตริย์ฝักใฝ่การเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายปีที่ผ่านมาสร้างความตกตะลึงให้กับลักษณะของวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิม" (1981: 313) การที่พระองค์ทำงานผ่านเครือข่ายจึงทำให้พระองค์ดูภายนอกเหมือนกับว่ามิได้ฝักใฝ่ในการเมือง Connors ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิยมเจ้าอนุรักษ์นิยมที่พยายามสร้างภาพให้กษัตริย์ภูมิพลว่าเป็น "ผู้ไกล่เกลี่ยขั้วทางสังคมต่าง ๆ ที่เป็นปรปักษ์กัน" แต่ภาพนี้ก็แสดงให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งที่เครือข่ายกษัตริย์เลือกเฟ้นมานำเสนอ (Connors 2003: 131) คำถามที่ว่าการสร้างเครือข่ายกษัตริย์เป็นความตั้งใจของพวกชนชั้นนำมากน้อยแค่ไหน และมันได้พัฒนาไปโดยบังเอิญเท่าใด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาถกเถียงกัน หลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงการวางแผนและการคาดการณ์ในระดับสำคัญ

ช่วงเวลา 30 ปีถัดมาเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้เครือข่ายกษัตริย์เข้าที่เข้าทาง โดยการพัฒนาระบบที่ "รับรองบทบาทเชิงบวกและเชิงรุกของกษัตริย์" (กอบเกื้อ 2002: 62–3) ที่ได้รับการปกป้องโดยกำแพงเซ็นเซอร์ ขณะที่ปฏิบัติการภายใต้กรอบการเมืองตัวแทน แม้ว่า Kershaw กล่าวว่าระบบกษัตริย์ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็น "สินทรัพย์พิเศษ" ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเข้าสู่ประชาธิปไตยได้นั้น (2001: 159–60) บทความนี้โต้แย้งว่า กษัตริย์ไทยอุทิศตัวให้กับการต่อต้านการเข้าสู่ประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ทรงยอมรับแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการเมืองอย่างล่าช้าและไม่เต็มใจ โดยแท้จริงแล้ว เรายังสามารถโต้แย้งได้ว่า การ"กอบกู้ประเทศ"ในยามวิกฤติของพระองค์นั้น พระองค์เพียงแต่เซ็นรับรองรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ และเลื่อนวันแห่งการครุ่นคิดทางการเมืองไทยออกไป ตั้งแต่ปี 2516 ต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อกันว่ารัฐบาลเริ่มจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วนั้น (Dahl 1971: 40–7) กษัตริย์กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้งโดยเล่นเป็นผู้เล่นมือนำ พระราชวังพยายามตั้งเงื่อนไขของตัวเองให้กับกลุ่มก้อนทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม Bendix กล่าวว่า "อำนาจศักสิทธิ์ถูกทำลายง่ายกว่าถูกสร้างขึ้นใหม่" (1978: 17–18) แต่ตลอด 3 ทศวรรษ กษัตริย์ไทยกลับประสบความสำเร็จในการสวนกระแสนี้ พระองค์สร้างอำนาจขึ้นมาอีกครั้งผ่านทางการจัดการเครือข่ายต่าง ๆ อย่างสุขุมรอบคอบ

มองย้อนกลับไป เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ต่างปกคลุมไปด้วยเรื่องที่แต่งขึ้นว่าเป็นการแทรกแซงด้วยความเมตตาของกษัตริย์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กษัตริย์แทรกแซงการเมืองในปี 2517 ด้วยโดยขัดขวางไม่ให้ใส่สิทธิพิเศษบางอย่างแก่ราชวงศ์ลงในร่างรัฐธรรมนูญ (Connors 2003: 130; กอบเกื้อ 2003: 59) แต่ภายในปี 2519 พระราชวังก็เปลี่ยนไปอยู่ฝ่ายขวาและให้การสนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาอย่างเงียบ ๆ ถนอม กิตติขจร อดีตหัวหน้าเผด็จการ ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศไทย ได้รับอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุที่พระอารามหลวง และพระมหากษัตริย์และพระราชินีก็ยังไปเยี่ยมเขาถึงวัด (Bowie 1997: 129; กอบเกื้อ 2003: 172) สองวันหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา กษัตริย์ตรัสผ่านวิทยุแสดงความสนับสนุนรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคมอย่างแข็งขัน แม้แต่พระราชินีและเจ้าฟ้าหญิงทั้งสองก็เสด็จไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อนำอาหารไปแจกแก่ลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งค่ายอยู่บนสนาม (กอบเกื้อ 2003: 174) นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่อันตราย ดังที่ Bowie กล่าว กษัตริย์ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อพระองค์สนับสนุน"ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในชาติ"ในปี 2516 แต่พระองค์"ทำให้ฐานะของพระองค์ตกอยู่ในอันตรายเมื่อในภายหลังพระองค์แสดงตัวเป็นพวกคนส่วนน้อยที่สังคมต่อต้าน" (1997: 14) ในการทดลองครั้งใหม่นี้ กษัตริย์เลือก ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ โดยหวังว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักและมีความอนุรักษ์นิยมสูงผู้นี้จะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของพระองค์ได้ การทดลองล้มเหลวอย่างหมดท่า กษัตริย์ไม่สามารถดำเนินการผ่านคนที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งและโดดเดี่ยวอย่างนั้นได้ ธานินทร์ถูกขับไล่ในปี 2520 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีทันที: วิธีมาตรฐานของพระราชวังสำหรับแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่คนโปรดของกษัตริย์ได้รับการปฏิบัติ (กอบเกื้อ 2003: 175)

พระราชวงศ์ยังคงแสดงความเข้าข้างฝ่ายทหารอย่างออกหน้าออกตาอย่างต่อเนื่องมากกว่าจะสนับสนุนการปรองดองและความสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ค่อย ๆ เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญอันหนึ่ง: เครือข่ายกษัตริย์จำเป็นต้องมีลักษณะภายนอกให้ดูเหมือนปกครองกันหลายคน เพื่อที่จะได้รับและรวมพวกนักการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิก เครือข่ายกษัตริย์จะต้องตั้งอยู่บนการประนีประนอม และต้องรับสังคมไทยในทุกความสลับซับซ้อน นั่นก็คือ เครือข่ายกษัตริย์จะต้องประนีประนอมกับพวกนักการเมืองสกปรก ต้องใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในระดับหนึ่ง และต้องสร้างกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร อย่างไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายเหล่านี้ไม่ใช่งานสำหรับประมุขของรัฐ กษัตริย์จึงจำเป็นต้องหาตัวแทนผู้สามารถจัดการเครือข่ายให้กับพระองค์ได้ โดยแท้จริงแล้ว กษัตริย์ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศโดยตรงมากนัก ด้วยการหาผู้จัดการที่เหมาะสม เครือข่ายจะบริหารไปได้ด้วยตัวมันเอง พระองค์เพียงแต่ต้องคอยแทรกแซงบ้างในเวลาเกิดวิกฤติหรือเวลาที่พระองค์มีบางสิ่งบางอย่างอยากจะพูด องค์ประกอบหนึ่งของเครือข่ายกษัตริย์ก็คือขบวนการลูกเสือชาวบ้าน Bowie พบว่าคนที่เข้าร่วมขบวนการนี้มี"ความหวังคลุมเครืออยู่อย่างหนึ่งว่า หากปัญหาที่ท้วมท้นเกิดขึ้น พวกเขาอาจจะมีโอกาสให้กษัตริย์อ่านจดหมายของพวกเขาและพวกเขาจะได้รับคำแนะนำเป็นพิเศษ" (1997: 253) การเข้าร่วมเครือข่ายกษัตริย์นั้นมีข้อดีมากมาย ตั้งแต่การได้เสริมเกียรติยศไปจนถึงการเลื่อนขั้นและการมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและอำนาจมากขึ้น

Hewison ให้ข้อสังเกตว่ากษัตริย์เคยเรียกตัวเองว่าเป็น "กษัตริย์ที่ได้รับเลือกตั้ง" และเคยกล่าวว่าประชาชนสามารถเอาพระองค์ออกได้หากไม่พอใจกับการทำงานของพระองค์ (1997: 60) เครือข่ายกษัตริย์ตั้งอยู่บนความชอบธรรมหลาย ๆ อย่าง ความนิยมในตัวกษัตริย์อย่างล้มหลามทำให้พระราชวังสามารถเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองนอกรัฐธรรมนูญได้ กษัตริย์อ้างว่าพระองค์ได้รับ"มอบหมายอำนาจที่ยิ่งใหญ่"จากประชาชน ซึ่งอยู่เหนือกว่าอำนาจจากการเลือกตั้งของพวกผู้นำทางการเมือง กษัตริย์แทบไม่เคารพสิ่งที่ Morell และชัยอนันต์เรียกว่า "เสียงเรียกร้องของกระบวนการตัวแทน" (Morell และ ชัยอนันต์ 1981: 271) อย่างไรก็ตาม Hewison กล่าวด้วยว่ากษัตริย์ "ไม่เคยแสดงความกระตือรือร้นในการปฏิรูปประชาธิปไตยเลย" (1997: 63) การปฏิรูปการเมืองในทศวรรษ 1990 (ปี 2533-2542) มีศักยภาพที่จะลดพระราชอำนาจของกษัตริย์ได้ ตราบใดที่การเลือกตั้งในไทยยังถูกมองว่าโกง ไม่สะอาด ประเทศไทยยังจำเป็นต้องให้กษัตริย์ใช้อำนาจยับยั้งฉุกเฉิน ท้ายที่สุด พระมหากษัตริย์จะหาทางออกให้กับประเทศไทยเมื่อการเมืองตามรูปแบบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยทำให้ระบบการเมืองเข้มแข็งได้สำเร็จและสร้างกลไกสำหรับแก้ไขวิกฤติและสร้างเสถียรภาพได้แล้ว บทบาทพิเศษของกษัตริย์ก็จะถูกลดลงไป นั่นก็คือพระราชวังต้องการคงสภาพความไม่สมบูรณ์ของการเมืองไว้ระดับหนึ่ง เพื่อให้กษัตริย์สามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาเกียรติยศของราชบัลลังก์ได้ กษัตริย์มักตรัสเรื่องความสามัคคีและการประนีประนอมอยู่เป็นประจำ (Hewison 1997: 65) มากกว่าจะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนในเรื่องที่ยังเป็นปัญหา ตัวอย่างเช่น การอภัยโทษแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทั้งหมดทำให้ไม่มีการสอบสวนคดีแก่ทหารที่เข่นฆ่าประชาชน ดังที่ จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการประท้วงกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2532 หลังจากถูกกษัตริย์เรียกไปตำหนิ ว่า "เมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการ คุณจะต้องโค้งคำนับ และนำไปปฏิบัติ" (มติชน, 22 พฤษภาคม 2535) ลักษณะอย่างหนึ่งของเครือข่ายกษัตริย์ คือ การทำเรื่องต่าง ๆ ให้กำกวมและสับสน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของราชวงศ์ได้ แง่มุมที่สำคัญของเครือข่ายกษัตริย์คือประเด็นของภาษา ดังจะเห็นได้ชัดจากปาฐกถาของเปรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548: เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะต้องใช้ภาษาที่ได้รับการขัดเกลาตามแนวทางกษัตริย์ในการกำหนดกรอบ พรรณนา และ นิยามประเด็นปัญหาต่าง ๆ การควบคุมภาษาโดยสถาบันกษัตริย์เป็นอำนาจทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งมักจะถูกเน้นย้ำในพระราชดำรัสอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคมก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี พระราชดำรัสนั้นมักจะ"กลับสู่ประเด็นเกี่ยวกับความสามัคคี และความต้องการคนดีมาปกครองประเทศอยู่ตลอดเวลา" (Baker และ ผาสุก 2005: 237)

ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ผู้จัดการเครือข่ายกษัตริย์ของไทยก็คือ เปรม ติณสูลานนท์ บุคคลซึ่งกษัตริย์เลือกมากับมือให้เป็น ผบ.ทบ. และเป็นนายกฯในเวลาต่อมา การแต่งตั้งเขาเป็นนายกฯนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วมันคือ "รัฐประหารของพระราชวัง"5 เปรมไม่เคยแทนที่สฤษดิ์ ผู้ซึ่งกษัตริย์รักอย่างมากได้เลย แต่กระนั้น กษัตริย์ก็ไว้วางใจเปรมอย่างมาก ทรงเห็นเปรมเป็นคนไม่คดโกงและมีลักษณะอ่อนโยนและเฉียบแหลมเหมือนพระองค์ แต่เปรมเป็นคนที่สร้างพันธมิตรเก่งและเป็นผู้ควบคุมระบบอุปถัมภ์อีกด้วย ตลอดระยะเวลา 21 ปีต่อมา เปรมทำหน้าที่เป็น"ผู้บริหารงานบุคลากร"ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรมคอยควบคุมการแต่งตั้ง การโยกย้าย และการเลื่อนยศต่าง ๆ แม้ว่าเปรมจะมีอำนาจมาก แต่เขาก็ไม่มีอำนาจเด็ดขาด เขาเป็นนายกฯจนถึงปี 2531 และได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีและรัฐบุรุษทันทีหลังพ้นตำแหน่ง เขาทำหน้าที่เป็นประธานองคมนตรีในปี 2541 ในเดือนเมษายน 2524 กษัตริย์และพระราชินีติดตามเปรมไปโคราชเพื่อแสดงความสนับสนุนเขาตอนที่มีคนพยายามจะทำรัฐประหารโค่นล้มเขา พระราชินียังพูดผ่านวิทยุสนับสนุนเปรมอีกด้วย กอบเกื้อกล่าวว่า การที่พระราชวังแสดงความสนับสนุนเปรมในปี 2524 ถือเป็นก้าวย่างใหม่แห่งพัฒนาการของระบอบกษัตริย์: จากเมื่อก่อนที่กษัตริย์มีบทบาทการเมืองทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ตอนนี้ พระองค์เริ่มแสดงบทบาทเป็น "ผู้มีส่วนร่วมเชิงรุก" (2002: 67) เปรมและพระราชวังเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นกันตั้งแต่นั้นมา การร่วมมือของพวกเขาเป็นความพยายามที่จะสร้างรัฐบาลกษัตริย์ขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง6 ชัยอนันต์ สมุทวณิช อธิบายเปรมว่าเป็น "ผู้ทำหน้าที่แทนที่เข้มแข็ง" (1997: 56) เปรมจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์ไปโดยปริยาย

เปรมและกษัตริย์เป็นผู้ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งในระบบการเมืองหลายพรรคในต้นทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523-2532) ซึ่งทำให้พวกเขายังคงถือไพ่เหนือกว่า เปรมให้คำปรึกษากษัตริย์ทุกอาทิตย์และคอยกำหนดแนวทางให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้นำการเมืองปฏิบัติตาม เมื่อเปรมถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการลดค่าเงินบาทอย่างหนักในปี 2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯทรงขับเครื่องบินของเปรมมาที่กรุงเทพฯด้วยพระองค์เอง และทรงขับรถพาเปรมไปส่งถึงทำเนียบรัฐบาล นับเป็นสัญญาณชัดเจนว่าพระราชวังเข้าข้างเปรม7 พิชัย รัตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตกลงให้เปรมเป็นนายกฯต่อไปหลังการเลือกตั้งปี 2529 โดยไม่อาจทราบเหตุผลได้ บางทีอาจเป็นเพราะการแทรกแซงของราชวงศ์8 เปรมหมดอำนาจในปี 2531 หลังจากที่ใช้เวลา 8 ปีที่เป็นนายกฯในการ "ต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจและปกป้องพระมหากษัตริย์"9 ณ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในปี 2523, 2526 และ 2529 การหนุนหลังจากวังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เปรมรักษาตำแหน่งนายกฯไว้ได้ เปรมปรากฏตัวขึ้นจากช่วงเวลานี้เป็นนายหน้าและนักปฏิบัติที่เต็มใจจะทำทุกอย่างที่สามารถสร้างผลประโยชน์ ภาพพจน์ และอิทธิพลของพระราชวังให้ดีขึ้นได้ คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้เปรมเป็นตัวแทนในอุดมคติของกษัตริย์ และเป็นสถาปนิกผู้สร้างเครือข่ายกษัตริย์นั่นเอง

ช่วงปี 2531-2535 นั้นค่อนข้างจะลำบากสำหรับพระราชวัง ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯต่อจากเปรม เป็นคนหัวอิสระมากเกินไป: "ชาติชายพยายามรื้อเครื่องจักรที่กษัตริย์และเปรมสร้างขึ้น"10 Hewison กล่าวว่า กษัตริย์มองชาติชายว่าไม่สามารถควบคุมรัฐบาลได้ พระราชวังจึงสนับสนุนให้มีรัฐประหาร และกษัตริย์ก็ยังแสดงความสนับสนุนให้กับผู้ก่อการรัฐประหารไว้ล่วงหน้าด้วย (1997: 70) แน่นอน ข้ออ้างของผู้ก่อรัฐประหารบางข้อเช่นเรื่องการคอรัปชันและเรื่อง"เผด็จการรัฐสภา"นั้นเต็มไปด้วยประเด็นเกี่ยวกับกษัตริย์ กษัตริย์สนับสนุนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่เต็มไปด้วยปัญหาอย่างเปิดเผย การต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีขึ้นในกรุงเทพฯเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2534 ด้วยเหตุผลหลักคือมันอนุญาตให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์หยุดลงอย่างได้ผลเมื่อกษัตริย์ตรัสในพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษาให้ประชาชนอย่าทะเลาะกันเรื่องรัฐธรรมนูญ ทรงแนะนำว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขทีหลังได้ (McCargo 1997: 241) ในความเป็นจริง กษัตริย์เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 ที่เพิ่มอำนาจให้แก่พระองค์อย่างมากมายหลายทิศทาง

แม้ว่าการประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่ได้เป็นแผนการของพระราชวัง แต่การแทรกแซงที่ล่าช้าและคลุมเครือจากกษัตริย์ที่ยุติการนองเลือดและทำให้สุจินดาต้องลาออกนั้นก็ถูกแต่งให้เป็นเรื่องว่าเป็นชัยชนะของกษัตริย์ การที่กษัตริย์ออกมาล่าช้าถึง 3 วันนั้นไม่เคยมีคำอธิบายที่น่าเชื่อถือ11 เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือกษัตริย์กลัวว่าสุจินดาจะไม่ยอมลาออก ในความเป็นจริง สุจินดาไม่ได้ลาออกทันทีหลังจากที่เขาถูกกษัตริย์ตำหนิเผยแพร่ไปทางโทรทัศน์ แต่เขารอจนครบ 4 วันจึงค่อยลาออก ดังที่กอบเกื้อกล่าวไว้ว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่เมื่อกษัตริย์แทรกแซงการเมืองแล้ว พระองค์จะต้องทำสำเร็จ (2003: 179) ทั้ง ๆ ที่คนทั่วไปมองว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นสัญญาณว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดการพึ่งพาทหารและกษัตริย์และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการเมืองอย่างถึงแก่น แต่หลักฐานทั้งหมดก็ได้แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย12

ฐานะที่สูงส่งขึ้นของราชบังลังก์เห็นได้ชัดเมื่อกษัตริย์ทรงแทรกแซงการเมืองเป็นครั้งที่ 2 ในปีนั้น ทรงแต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯชั่วคราวในเดือนมิถุนายน 2535 การแต่งตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นและความไม่พอใจของประชาชนต่อสถาบันการเมือง (กอบเกื้อ 2002: 65) เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ปลอดภัยและรอบคอบของ ชวน หลีกภัย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2535 มากกว่าจะจัดตั้งโดยคนที่สร้างปัญหาอย่าง จำลอง ศรีเมือง และพรรคพลังธรรมของเขานั้น ความตั้งใจของกษัตริย์ก็ดูเหมือนจะบรรลุผล ชวน หลีกภัย ประกาศอย่างเปิดเผยในการหาเสียงเมื่อเดือนกันยายน 2535 ว่าเขาติดต่อกับเปรมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 ให้ช่วยขอร้องกษัตริย์ให้ออกมาหยุดความรุนแรงรอบข้างกลุ่มประท้วงสุจินดา13 บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ข่าวพิเศษ ฉบับหลังวันเลือกตั้ง กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งก็เพราะพวกเขาได้รับการหนุนหลังและการสนับสนุนด้านการเงินจากกลุ่มที่ซื่อสัตย์กับอานันท์ ซึ่งได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการ และนักวิชาการ (ข่าวพิเศษ, 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2535; Surin 1992: 43) บทความนั้นบอกเป็นนัยว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ จากพระราชวัง ชวนหาเสียงในภาคใต้โดยเทียบเคียงตัวเขากับเปรมเพื่อขอคะแนนเสียงให้สนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯคนที่สองที่มาจากภาคใต้ต่อจากเปรม

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ทำให้กษัตริย์มีฐานะแข็งแกร่ง พระองค์ปรากฏตัวเป็นผู้ตัดสินสูงสุดในการเมืองหลังจากที่การแทรกแซงเพื่อยุติความขัดแย้งของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างผิวเผิน แต่กระนั้นก็ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของพระองค์ การที่พระองค์สนับสนุนทหารอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านการเมืองที่ล้าหลังของพระองค์ ช่วงวิกฤติปี 2534-2535 ได้ทำให้ผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญหลายคนต้องถูกด่า ผู้พ่ายแพ้ได้แก่ ชาติชาย ชุณหะวัณ, พันศักดิ์ วิญญรัตน์ หัวหน้าที่ปรึกษาของชาติชาย, และจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่ากทม.และแกนนำการประท้วง มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่พันศักดิ์และจำลองต่างก็เข้าร่วมกับทักษิณ ชินวัตร ในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับอดีตนักศึกษาและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 1970 (ปี 2513-2522) อีกหลายคน สำหรับพวกเขานั้น เครือข่ายกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทย ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขปัญหา หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ระบบการปกครองโดยกษัตริย์ถูกขัดเกลาขึ้นใหม่ให้พึ่งพาการแทรกแซงโดยตรงให้น้อยลง พวกนิยมเจ้า เช่น อานันท์ และประเวศ ทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างเครือข่ายกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะเป็นเสรีนิยมมากขึ้นและไม่ต้องคอยถูกขัดขวางโดยอำนาจทหารและศักดินาที่เก่าแก่ล้าหลัง อานันท์และประเวศเป็นพวกเสรีนิยมเมื่อเทียบกับคนใกล้ชิดของกษัตริย์หลายคน แต่แท้ที่จริงแล้วพวกเขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยมจัด ตลอด 9 ปีต่อมา กษัตริย์และพันธมิตรของพระองค์สร้างระบบการเมืองขึ้นมาใหม่ที่ลดการพัวพันจากพระองค์ให้น้อยลง กษัตริย์ทำงานผ่านทางเปรม ชวน และคนอื่น ๆ เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศไทย บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ แนวหน้า เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเปรมกับรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2535-2538 ไว้อย่างดี ดังนี้


แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ทุกคนก็สามารถสังเกตเห็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ... เพราะว่าถ้าเราจับตาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ที่รัฐบาลของชวนเข้ามาทำงาน เปรมเป็นบุคคลสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความเคารพและคอยขอคำปรึกษาอยู่เสมอมา ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าการโยกย้ายและการเลื่อนยศทหารทุกครั้งจะต้องผ่านตาเปรมก่อนที่จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ

(รายงานแนวหน้า 2536)


นี่ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์หรือเปรมชอบชวนหรือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษ พวกเขาเพียงแต่เป็นตัวเลือกที่"แย่น้อยที่สุด"ในการเมืองไทยก็เท่านั้น และบทบาทเบื้องหลังของเปรมก็ไม่อาจเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับรัฐบาลของชวนได้ ในเดือนธันวาคม 2538 รัฐบาลของชวนต้องล้มลงเมื่อพรรคความหวังใหม่ของ ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคร่วมรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดประกาศถอนตัวโดยอ้างว่าเป็นการประท้วงเรื่องการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น14 ขณะที่รัฐบาลดูเหมือนจะต้องประกาศยุบสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น พรรคชาติพัฒนาของชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ ก็เข้ามาแทนที่พรรคชาติไทย ทำให้รัฐบาลของชวนอยู่ต่อไปได้อีก 6 เดือน สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เขาเป็นผู้ดำเนินการเคลื่อนไหวครั้งนี้โดยที่ชวนไม่รู้มาก่อน บ่งบอกเป็นนัยว่าเขาได้รับการสนับสนุนให้ทำจากบุคคลสำคัญของสังคมไทย (Kotchasi 1994)15 หลายคนเชื่อว่าเปรมเป็นคนจัดการการตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อทำให้กษัตริย์พึงพอใจ เพราะพระองค์ทรงไม่ไว้ใจชวลิตอย่างมาก ทำให้พระองค์ต้องเข้าข้างชวน16

เมื่อชวนถูกขับไล่ในเดือนพฤษภาคม 2538 สถานการณ์ยากลำบากก็ตามมา กษัตริย์ทรงกังวลกับรัฐบาลใหม่ที่นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา อย่างเห็นได้ชัด การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ตรงกับการสรรคตของแม่ของกษัตริย์พอดี การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯของนักธุรกิจเชื้อสายจีนชั้นล่างอย่างบรรหารนั้นเป็นสิ่งที่ถูกขัดขวางมานานแล้ว ขณะที่มีการเตรียมจัดงานพระบรมศพกันอย่างประณีต กษัตริย์ออกโทรทัศน์ประณามนักการเมืองที่คดโกงและเห็นแก่ตัวแทบทุกคืนตลอดเดือนสิงหาคม 2538 แม้ว่าพระองค์จะวิจารณ์ปัญหาการจราจรและปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯเป็นหลัก แต่ลึกซ่อนภายในก็คือความกลัวและเกลียดชังนักการเมืองที่คดโกงและมักใหญ่ใฝ่สูง การก้าวขึ้นสู่อำนาจของบรรหารแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการป้องกันนักการเมืองเหล่านั้นให้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ไม่ลังเลที่จะทำลายนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งคนที่พระองค์ไม่เห็นด้วย ทรงสมรู้ร่วมคิดในการขับไล่นายกฯมาแล้ว 3-4 ครั้ง17


เครือข่ายกษัตริย์และ
วิกฤติความชอบธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2535

ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2535 ทั้งหมดล้วนเป็นวิกฤติความชอบธรรมทางการเมือง วิกฤติครั้งแรกนั้นคือวิกฤติความชอบธรรมของรัฐบาลชวลิตหลังการลดค่าเงินบาทในเดือนมิถุนายน 2540 มีรัฐบาลไหนที่จะทำงานต่อไปได้อีกในเมื่อมันเพิ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย? วิกฤติครั้งที่สองคือคดีปกปิดทรัพย์สินของทักษิณในปี 2544 ซึ่งเกือบจะทำให้นายกฯที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งต้องถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แนวคิดเรื่องความชอบธรรมจากการเลือกตั้งถูกทดสอบพลังโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีเป้าหมายให้คนที่มีอำนาจต้องอยู่ใต้ "กติกาของเกม" วิกฤติครั้งที่สามคือวิกฤติความชอบธรรมของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นครั้งแรกในหลายทศวรรษที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯไม่สามารถควบคุมพื้นที่ที่สำคัญของประเทศได้ ในวิกฤติแต่ละครั้ง เปรมเป็นเครื่องมือของเครือข่ายกษัตริย์ คอยทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขัน วิกฤติภาคใต้แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายกษัตริย์กำลังเปลี่ยนโฉมเป็นรูปแบบใหม่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เปรมคอยพูดต่อสาธารณะดุด่ารัฐบาลและแสดงความเห็นขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาล


เปรมและวิกฤติความชอบธรรม พ.ศ. 2540

เมื่อบรรหารถูกขับออกจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2539 รัฐบาลทหารชุดใหม่ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม: ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งลือกันว่าเขาไม่เกรงใจต่อกษัตริย์ กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ภายใต้การบริหารงานของชวลิตนั้น เศรษฐกิจของประเทศยิ่งแย่หนักไปกว่าเก่าจนต้องลดค่าเงินบาทในเดือนมิถุนายน 2540 ดูเหมือนจะไม่มีใครเตือนพระราชวังเรื่องลดค่าเงินบาทมาก่อน ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องสูญเสียรายได้มหาศาล: บริษัทปูนซิเมนต์ไทยสูญเสียรายได้ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องแบกรับหนี้เสียถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (กอบเกื้อ 2003: 261, note 30)

พัฒนาการหนึ่งที่สำคัญคือ หลังวิกฤติการณ์นี้ เปรมรับหน้าที่ปกป้องความชอบธรรมของรัฐบาลชวลิตในสายตาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บนหลักการที่ว่าความอยู่รอดของประเทศและเศรษฐกิจต้องมาก่อนเป็นอับดับแรก มีครั้งหนึ่งที่มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยว่าเปรมอาจมาเป็นนายกฯชั่วคราว (บางกอกโพสต์, 16 ตุลาคม 2540) วันที่ 6 ตุลาคม 2540 เปรมเรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับมาที่บ้านของเขาเพื่อเสนอแผนจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ แท้ที่จริงแล้ว เครือข่ายกษัตริย์ก็จะเข้ามาควบคุมบริหารประเทศโดยตรง แต่ในที่สุดเปรมก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แม้ว่าเขาจะขอให้คนใกล้ชิดและที่ปรึกษาส่วนตัว เช่น วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไปร่วมกับชวลิตเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล (ดู The Nation, 15 สิงหาคม 2540; บางกอกโพสต์ 24 สิงหาคม 2540) แต่เมื่อชวลิตเริ่มพูดถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเรียกประชุมผู้บัญชาการทหารมาพูดคุยในสิ่งที่เหมือนจะเป็นการทำรัฐประหารตัวเองนั้น เครือข่ายกษัตริย์ก็ล้มรัฐบาลของเขาอย่างรวดเร็ว18 ทหารปฏิเสธข้อเสนอของเขา และในเดือนพฤษจิกายน ชวลิตก็ถูกแทนที่โดย ชวน หลีกภัย อย่างฉับพลัน การเปลี่ยนมืออำนาจครั้งนี้เป็นผลมาจากการตกลงที่ซับซ้อนและค่อนข้างแปลกระหว่างเหล่าชนชั้นนำ (Prudhisan 1998: 280–9) ชวนกลับสู่ทำเนียบอีกครั้งโดยไม่ได้รับเลือกตั้ง เชื่อกันว่าเป็นการตกลงกับกลุ่ม ส.ส.เสียงแตกในพรรคประชากรไทยอันนำมาซึ่งความอับอายและความขมขื่นแก่พรรคประชากรไทย การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำโดย สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (The Nation, 6 พฤศจิกายน 2540; บางกอกโพสต์, 17 พฤศจิกายน 2540) การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีร่องรอยของเปรมเต็มไปหมด แต่กระนั้นเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกลืมไปอย่างรวดเร็วในภาวะแห่งความเศร้าหมองของประเทศหลังวิกฤติ เปรมประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหารอย่างเงียบ ๆ อีกครั้งในการไล่รัฐบาลออกและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่พระราชวังยอมรับ แม้ว่าในอดีต ทหารแทบไม่ลังเลที่จะทำรัฐประหารเมื่อมีโอกาส แต่ทหารก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ใช้ได้อีกต่อไปในเงื่อนไขทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปหลังปี 2535 สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 ในเวลานั้น (ฐานกำลังเก่าของเปรม) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2534 ว่าผู้นำทหารต้องให้ความร่วมมือกับนักการเมือง ในขณะที่ต้องไม่ฝักใฝ่การเมืองและต้องไม่เลือกข้าง (ชัยอนันต์ 1997: 55)19

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านมติเห็นชอบในปี 2540 ซึ่งเป็นผลมาจากการกดดันโดยบุคคลชั้นนำอย่าง ประเวศ วะสี อดีตแพทย์ของกษัตริย์ และ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ประเวศอธิบายว่าเขาตั้งใจจะปฏิรูปการเมืองโดยอาศัย "การสร้างพลังทางสังคม", การโฆษณา, และการวิ่งเต้น (2002: 22–4) รวมถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า "ยุทธศาสตร์ครอบครัวและภรรยา" เขากดดันให้นายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ดำเนินการปฏิรูปการเมืองตามความรู้สึกเรื่องค่านิยมครอบครัวของเขา ประเวศให้ข้อสังเกตด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นสมรภูมิการกำหนดบทบาทของกษัตริย์: ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกล่าวว่านักปฏิรูปต้องการทำลายฐานะของกษัตริย์ และขู่ด้วยว่าจะเรียกลูกเสือชาวบ้านมาชุมนุมต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2002: 25) ประเวศทำงานร่วมกับ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งลือกันอย่างกว้างขวางว่ากษัตริย์เป็นผู้เชิญอานันท์ให้มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (Connors 2003: 130) ประเวศเป็นคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายนักปฏิรูปเสรีนิยมที่ทำงานคู่ขนานไปกับเครือข่ายกษัตริย์ของเปรม แม้ว่าประเวศแทบไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็เป็นแรงผลักดันเบื้องหลังโครงการทั้งหมดในช่วงทศวรรษ 1990 (ปี 2533-2542) เช่น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูประบบสุขภาพ การควบคุมยาสูบ และการปฏิรูปการวิจัยทางวิชาการ การทำงานของประเวศนั้นคล้ายกับการทำงานของเปรม ก็คือการพึ่งพาเครือข่ายคนส่วนตัวเป็นหลัก ประเวศเป็นคนที่มีลักษณะหลากหลายที่หาตัวจับได้ยาก เขาได้รับความเคารพอย่างสูงทั้งจากพวกศักดินาและจากแกนนำเอ็นจีโอและนักกิจกรรมสังคม ประเวศเชี่ยวชาญเรื่องการเมืองกลุ่มผลประโยชน์และการสร้างพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง และจากการที่เขาเคยเป็นแพทย์ของกษัตริย์มาก่อน จึงมีการทึกทักกันบ่อยครั้งว่าเขาเป็นตัวแทนของพระราชวัง (McCargo 2001: 94–8) ในปาฐกถาที่ไม่มีการเผยแพร่ครั้งหนึ่ง ประเวศกล่าวชัดเจนว่าการจัดระบบสถาบันการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งถ้าประเทศไทยไม่ต้องการพบกับเหตุการณ์รุนแรงเมื่อมีการสืบสันตติวงศ์20 ความกังวลเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์เริ่มมีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533-2542) เมื่อกษัตริย์มีอายุมากขึ้นและสุขภาพไม่แข็งแรง ดังที่ Hewison กล่าวว่า "ระบบรัฐธรรมนูญที่พัฒนาแล้วจะช่วยปกป้องกษัตริย์ที่อ่อนแอหรือไม่เป็นที่นิยมได้" (1997: 74) ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองในทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533-2542) ดังที่กอบเกื้อกล่าวว่าประเทศไทยเป็น"ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขในแบบที่ให้ความสำคัญกับอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญและอำนาจอันเก่าแก่ของราชบัลลังก์" ซึ่งเน้นการพึ่งพา "ความยิ่งใหญ่ของผู้ครอบครองราชบัลลังก์" อย่างมาก (2003: 29) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นมาตรการปกป้องสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

การปฏิรูปการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของเครือข่ายกษัตริย์ ในตอนแรก พระราชวังและเปรมไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไรนัก แต่กระนั้นก็มีการร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง เราสามารถมองรัฐธรรมนูญฉบับ"ประชาชน" พ.ศ. 2540 ได้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญของพระราชวัง" เพราะมันถูกร่างขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้ราชวงศ์จักรีอยู่รอดและมีเสถียรภาพต่อไปในอนาคต (McCargo 2001: 97–98) อาจกล่าวได้ว่าประเวศเสนอการปฏิรูปการเมืองให้กับพระราชวังโดยเน้นหนักไปที่ความต้องการหาหนทางยกระดับคุณภาพการเมือง โดยเฉพาะการนำคนดี (อย่างเช่น เปรม และ อานันท์) เข้าสู่การเมือง ประเวศพยายามจัดระบบส่วนที่ดีที่สุดของเครือข่ายกษัตริย์ สร้างโอกาสสำหรับคนที่มีความสามารถให้เข้าสู่การเมืองโดยไม่ต้องไปเปรอะเปื้อนกับการซื้อเสียงหรือกิจกรรมอย่างอื่น การสร้างระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับการทำให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาแห่งคนที่มีความรู้ที่มาจากการเลือกตั้ง (ดู McCargo 2002) ประเวศเชื่อว่าประเทศไทยมีคนที่มีความสามารถเหมาะแก่การปฏิรูปมากมาย ถ้าพวกเขาเหล่านั้นได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว การเมืองก็จะมีเสถียรภาพและโครงการต่าง ๆ ก็จะเกิดความก้าวหน้า การสร้างองค์กรใหม่ ๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะช่วยรักษาคนดีเหล่านี้ให้คงอยู่ในการเมืองได้อย่างปลอดภัย นั่นก็คือเครือข่ายกษัตริย์ก็จะมีรากฐานที่มั่นคงมากขึ้นและเป็นมากกว่าเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ การชูวาระปฏิรูปการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อเครือข่ายกษัตริย์ ในปลายปี 2540 ดูเหมือนว่าฝ่ายเสรีนิยมจะเป็นผู้ชนะ

แทนที่จะเป็นการเมืองที่ปราศจากเงิน วิกฤติเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ปูทางให้กับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร เศรษฐีโทรคมนาคม ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมกราคม 2544 พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้แก่พรรคไทยรักไทยของทักษิณที่เพิ่งก่อตั้งใหม่อย่างราบคาบ ชัยชนะของทักษิณส่วนหนึ่งมาจากการใช้เงิน ส่วนหนึ่งมาจากภาพลักษณ์ผู้นำ"ซีอีโอ"ของเขาที่แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อดึงดูดชาวชนบท (McCargo และ อุกฤษฎ์ 2005) ทักษิณเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกลุ่มการเมืองใหม่ที่ใช้เงินเป็นฐานที่ไม่พอใจกับระบบเครือข่ายกษัตริย์ ในขณะที่นายกฯคนอื่นๆที่ไม่ได้รับการหนุนหลังจากวัง เช่น บรรหาร ศิลปอาชา และ ชวลิต ยงใจยุทธ อยู่เป็นรัฐบาลได้เพียงปีเดียว ทักษิณกลับแข็งแกร่งมากเกินกว่าจะขับไล่ได้ในทันที ทักษิณเริ่มทำลายเครือข่ายของเปรมในหลายส่วนอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแทนที่ด้วยคนที่สนับสนุนเขา เพื่อนเขา และญาติของเขา ทักษิณพยายามลดอำนาจของเครือข่ายกษัตริย์และแทนที่มันด้วยเครือข่ายเศรษฐกิจการเมืองที่ Cartier Bresson (1997) อธิบายว่าเป็นเครือข่ายที่ตั้งอยู่บนธุรกิจของคนในและการคอรัปชันเชิงโครงสร้าง การต่อสู้ในทศวรรษที่ 1990 (ปี 2533-2542) เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมเช่นทหารและศักดินา กับฝ่ายเสรีนิยมนักปฏิวัติที่พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและสถาบันการเมือง แต่ทักษิณผู้ก้าวจากนายตำรวจมาเป็นนักธุรกิจและมาเป็นนายกฯนั้นกลับเล่นด้วยกติกาและแนวคิดที่แตกต่าง เขาเลือกที่จะเป็นผู้นำในแบบอันตรายที่แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้กับคู่ต่อสู้ของเขา (Lipman-Blumen 2005)


เปรมและวิกฤติศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2544

แต่แรกเริ่มนั้น ทักษิณได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนักปฏิรูปทางการเมือง หลาย ๆ คนที่มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเวศ วะสี เป็นสิ่งที่น่าขันยิ่งนักที่แต่แรกนั้นประเวศเองเป็นผู้สนับสนุนทักษิณ ผู้ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเมืองแบบใช้เงิน ในตอนที่ทักษิณเองต้องโดนข้อหาจากศาลรัฐธรรมนูญในปี 2544 โดยในเดือนสิงหาคม 2544 นายกรัฐมนตรี ทักษิณ (ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเสียงในสภาผู้แทนฯอย่างถล่มทลายในเดือนมกราคม) ได้ถูกข้อหาเรื่องการปกปิดทรัพย์สิน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผิดแล้ว จะส่งผลให้เขาต้องถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯทันที ทักษิณเองแทบไม่ได้พยายามที่จะปฏิเสธเนื้อหาสำคัญของข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยเขากับใช้กระแสความนิยมที่ประชาชนมีต่อตัวเขาว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดกับตำแหน่งผู้นำของไทยในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงเวลาสามแพร่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในท้ายที่สุด ทักษิณได้รับการตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาอย่างเฉียดฉิว (ดูรายละเอียดที่ Nelson 2002: 380–8; Klein 2003: 71–6; Surathian 2003) และผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้อ้างถึงแหล่งข่าวหนึ่งว่า ผู้พิพากษาสองคนได้ตัดสินให้ทักษิณไม่ผิด "จากการร้องขอของบุคคลซึ่งมีบารมี" และได้อ้างถึงคำพูดของผู้พิพากษาคนหนึ่งในนี้ว่า "ผมถูกบังคับให้ต้องกลืนเลือดตัวเองขณะที่ต้องเขียนสิ่งนี้ (หมายถึงคำตัดสิน – ผู้แปล) " (บางกอกโพสต์, 4 สิงหาคม 2544) เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่านี่หมายถึงการเข้าแทรกแซงของเปรมเพื่อป้องกันความโกลาหลทางการเมืองหากมีการตัดสินว่าผิด มีการรณรงค์ผ่านทางแผ่นพับในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีกล่าวหาว่าเปรมได้มีการตกลงกันเพื่อให้ทักษิณพ้นจากข้อกล่าวหา (สำนักข่าวเอเอฟพี, 2 สิงหาคม 2544) ในขณะที่กล่าวหาที่ว่าเปรมเป็นผู้จัดการเรื่องการจ่ายสินบนนั้นนับว่าเกินกว่าที่จะมีใครเชื่อได้ อีกแผ่นพับหนึ่งได้มีข้อกล่าวหาที่ฟังดูน่าเป็นไปได้ว่า เปรมตกลงที่จะล็อบบี้ให้ทักษิณพ้นข้อกล่าวหาแลกกับการที่ทักษิณต้องยังคงให้สุรยุทธ์ซึ่งเป็นทหารผู้ภักดีของเปรมยังคงดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.ต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี (บางกอกโพสต์, 2 สิงหาคม 2544) เป็นที่ทราบกันว่าทักษิณได้ติดต่อกับเปรมและเมื่อทักษิณได้เข้าพบเปรมในวันที่ 1 มิถุนายน 2544 นั้นเปรมได้บอกทักษิณว่าอย่ากังวลกับคดีในศาล (บางกอกโพสต์, 2 มิถุนายน 2544) เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแน่ใจได้ว่าเปรมได้ใช้อิทธิพลของตนแทรกแซงคำตัดสินของศาลหรือไม่ แต่มีข่าวลือแพร่สะพัดจากบรรดาผู้ติดตามสถานการณ์ว่าเปรมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การแทรกแซงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่เล็งผลสัมฤทธิ์ (มากกว่าความเป็นอุดมคติ) ของเครือข่ายกษัตริย์ นั่นคือเปรมต้องการที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤติอันจะเป็นผลจากการตัดสินของศาล โดยยอมปกป้องทักษิณแม้ว่าการที่ทักษิณนั้นถูกตัดสินให้ผิดอาจจะทำให้เปรมมีความพึงพอใจเป็นส่วนตัวก็ตาม นอกจากนี้เปรมยังคงจะหวังด้วยว่าทักษิณคงต้องตอบแทนการช่วยเหลือโดยการยังคงรักษาอำนาจและสถานะของเปรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ในข้าราชการระดับสูง ซึ่งรวมถึงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ แต่ทักษิณเองนั้นไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเกมสุภาพบุรุษนี้ หลังจากที่คดีการปกปิดทรัพย์สินได้รับการยกฟ้องแล้ว ทักษิณก็เดินหน้าปัดเปรมให้พ้นจากวงจรการตัดสินใจสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะสร้างเครือข่ายซึ่งมีตัวทักษิณเองเป็นศูนย์อำนาจ และเป็นเครือข่ายที่มีลำดับขั้นมากกว่า อย่างไรก็ตาม สุรยุทธ์ยังคงรักษาตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อไปได้อีกหนึ่งปี เหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของขุมอำนาจในกองทัพซึ่งพันเกี่ยวอย่างเหนียวแน่นกับระบบอุปถัมภ์ของเปรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากในวังและพรรคประชาธิปัตย์ (McCargo และ อุกฤษฎ์ 2005: 156–7)


สถาบันกษัตริย์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตั้งแต่ มกราคม 2547 พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื้อรังเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและความตึงเครียดด้านความแตกต่างทางศาสนา ในขณะเดียวกัน ปัญหาการเมืองระดับชาติก็ส่งผลกระทบโดยตรง (McCargo, 2006) ทักษิณนั้นมองว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นมิตรกับพรรคไทยรักไทยของตน และอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่าข้าราชการที่จงรักภักดีต่อ เปรม วัง และพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2545 ทักษิณได้ยกเลิกศูนย์องค์การบริหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ซึ่งเปรมและพรรคพวกก่อตั้งมากว่ายี่สิบปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้อ่อนแรงลงเป็นเพียงแค่กลุ่มกองโจรธรรมดา และได้ให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตำรวจแทน แม้ว่าเหตุจูงใจสำคัญของทักษิณก็เพื่อที่จะลดอำนาจที่มีอยู่อย่างเหลือล้นของกองทัพภาคสี่ การตัดสินใจของทักษิณกระทบกระเทือนต่อพันธะทางสังคมของท้องที่ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งนัก เป็นผลให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมและการหายตัวอย่างขนานใหญ่ เพียงช่วงตั้งแต่ มกราคม 2547 จนถึง กลางปี 2548 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการรุนแรงถึง 850 คน (ดูรายงานของ International Crisis Group 2005) และเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 28 เมษายน 2547 ซึ่งมีหน่วยกองโจรติดอาวุธเบา 108 นายกับหน่วยรักษาความปลอดภัย 5 นาย ถูกฆ่าตายจากการเตรียมการจู่โจมตามด่านตรวจต่างๆ เหตุการณ์นองเลือดจบลงที่การล้อมปราบมัสยิดกรือเซะ ซึ่งชายชาวมุสลิม 32 คนถูกสังหารในระยะประชิด ความตึงเครียดขึ้นถึงขีดสุดอีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อผู้ประท้วงชาวมุสลิม 84 คนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเนื่องจากถูกคุมตัวอัดกันอยู่บนรถบรรทุกของกองทัพ

สถาบันกษัตริย์ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว ราชินีมักจะเสด็จแปรพระราชฐานไปพำนัก ณ ตำหนักในนราธิวาสปีละหลายสัปดาห์ และทรงตระหนกต่อเหตุการณ์ข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 13 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ในราชยานยนต์หลวงสองนายถูกฆาตกรรมในนราธิวาสในขณะที่เดินทางไปซื้อผลไม้ให้กับราชินี (สำนักข่าวซินหัว, 15 ตุลาคม 2547, 17 พฤศจิกายน 2547) ราชินีได้มีพระราชกระแสต่อผู้เข้าเฝ้ากว่า 1,000 คน ณ ตำหนักจิตรลดาว่า จำเป็นที่จะนิ่งเงียบต่อไปไม่ได้หลังจากที่ได้ทรงเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพื้นที่ภาคใต้ 2 เดือน (บางกอกโพสต์, 17 พฤศจิกายน 2547) ราชินีมีพระราชกระแสประณามการกระทำของชาวมุสลิมซึ่งเธอไม่เคยรู้จักว่าเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่เข่นฆ่าข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก ราชินีได้มีพระราชกระแสให้ประชาชนไทยพุทธกว่า 300,000 คนในพื้นที่ให้เข้มแข็งและอย่าทิ้งพื้นที่ และมีรับสั่งว่าชาวไทยสามารถเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเองได้โดยการเรียนยิงปืนพร้อมรับสั่งเพิ่มเติมว่า แม้จะอายุถึง 72 แล้วก็จะเรียนที่จะยิงปืนโดยไม่ต้องใช้แว่น

ในวันถัดมากษัตริย์พระราชทานบรมราชานุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เพิ่งได้รับการเลื่อนยศ 510 นาย เข้าเฝ้า ในพระราชดำรัสดังกล่าวซึ่งมีการถ่ายทอดทางวิทยุ กษัตริย์ได้มีรับสังต่อทหารและตำรวจว่าความสมานฉันท์และร่วมมือกันจะช่วยให้ป้องกันความไม่สงบและความโกลาหลซึ่งราชินีได้ประสบระหว่างการพำนักแปรพระราชฐานได้ (AFP, 18 พฤศจิกายน 2547; AP, 18 พฤศจิกายน 2547) ไม่บ่อยนักที่ที่กษัตริย์และราชินีจะมีรับสั่งต่อสาธารณะในลักษณะดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้อันเป็นภัยคุกคามต่อความชอบธรรมของรัฐไทย

การที่ขนบการปกครองของไทยนั้นมีการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญแทรกแซงจากสถาบันกษัตริย์ ทำให้นักเคลื่อนไหวชั้นนำทั้งชาวพุทธและมุสลิมจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้มีการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ (Croissant 2005: fn. 62) หลายคนหวังว่ากษัตริย์จะแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเช่นเดียวกับหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ในเดือนตุลาคม 2547 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ลงบทความหน้าหนึ่งพาดหัวว่า "ชาวมุสลิมถวายฏีกาให้พระเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนรัฐบาล" (29 ตุลาคม 2547) จากรายงานดังกล่าว ดาโต๊ะ นิเดห์ วาบะ ประธานสมาคมโรงเรียนศาสนาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง รองประธานสมาพันธ์อิสลามเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถวายฎีกาให้กษัตริย์แต่งตั้งรัฐบาลพระราชทานและให้สัมภาษณ์ว่า "เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการถวายฏีกาให้ในหลวงอันทรงเป็นที่รักเปรียบดั่งพ่อของเรา ให้ทรงแต่งตั้งรัฐบาลพระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขี้นที่นี่ ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ เราคงหันหน้าไปพึ่งใครอีกไม่ได้นอกเสียจากพ่อหลวงของเราซึ่งถือเป็นความหวังเดียวเพราะชาวมุสลิมทั้งหลายเคารพพระองค์ท่านเหนือสิ่งใด" (บางกอกโพสต์, 29 ตุลาคม 2547) แม้ว่าการถวายฎีกาดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธยังคงพูดถึงกันเองว่าการเข้ามาแทรกแซงจากกษัตริย์จะช่วยแก้ปัญหาได้

กษัตริย์ได้ส่งสัญญาณว่าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทักษิณโดยการแต่งตั้งผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีและได้ทรงมีรับสั่งกับนายกรัฐมนตรีให้แก้ปัญหาโดยละมุนละม่อม แต่ทักษิณก็ยังคงใช้มาตรการแบบเด็ดขาดเช่นการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งส่งผลให้ปัญหายิ่งลุกลามยิ่งขึ้น และหลังจากการเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ 2548 เปรมได้แทรกแซงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะดังที่ได้กล่าวในตอนต้นของบทความนี้ อันเป็นผลให้ทักษิณได้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายอย่างมาก คณะกรรมการดังกล่าวมีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และ ประเวศ วะสี เป็นรองประธาน เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์เป็นปัญหารุนแรงขึ้นแล้ว นายกรัฐมนตรีที่นับว่ามีอำนาจและบารมีล้นหลามขนาดทักษิณ ก็ยังต้องก้มหัวต่อแรงกดดันจากในวัง ในขณะที่ความนิยมในตัวทักษิณลดลงเป็นลำดับหลังจากการเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นเกือบเสมือนตัวแทนของรัฐบาลทางเลือกของไทย ซึ่งประกอบขึ้นด้วยปัญญาชนแห่งเครือข่ายกษัตริย์ ซึ่งธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2540 ความแตกต่างนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งเมื่อมีการถ่ายทอดสดการสนทนาระหว่างอานันท์และทักษิณจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 สองนายกฯ (อดีต กับ ปัจจุบัน) สองวิธีการต่อปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ (สันติภาพ กับ ความมั่นคง) สองสไตล์การเมือง (อ้อมค้อม กับ เผด็จการ) กระนั้นหลังจากที่ทักษิณยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงที่ล้าหลังโดยออกพระราชกำหนดในเดือน กรกฎาคม 2548 ความเคลือบแคลงสงสัยกับยิ่งเพิ่มขึ้นว่าเขาไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้โดยลักษณะปรองดองอย่างแท้จริง แต่ทักษิณจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติขึ้นมาเพียงเพื่อลดแรงกดดันจากบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เขาและใช้อำนาจรัฐในการที่จะถือไพ่เหนือกว่าเครือข่ายกษัตริย์ที่กำลังกลับมามีกำลังวังชามากขึ้นอีกครั้ง


สรุป: เครือข่ายกษัตริย์ที่กำลังเปลี่ยนโฉม

การพูดคุยเรื่องการแทรกแซงของกษัตริย์ในไทยมักโฟกัสไปที่การแทรกแซงโดยตรงจากกษัตริย์ โดยเฉพาะเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 กันยายน 2524 และพฤษภาคม 2535 บทความนี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของแนวทางเหล่านั้น และแนะนำว่าเราจำเป็นต้องมองอำนาจของพระราชวังไทยให้เป็นรูปแบบการปกครองแบบเครือข่าย กษัตริย์ไทยทำงานผ่านตัวแทนของพระองค์อย่างสม่ำเสมอ ทรงพยายามขยายอำนาจทางการเมืองของพระองค์ แต่กระนั้นก็ยังไม่เคยมีอำนาจมากจนถึงขั้นครอบงำสังคมได้ หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 รูปแบบการแทรกแซงจากกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพระองค์อายุมากขึ้น พระองค์ก็ดูเหมือนจะเข้ามาแทรกแซงโดยตรงน้อยลง วิกฤติความชอบธรรมต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยการแทรกแซงของเปรมและองคมนตรีคนอื่น ๆ เป็นหลัก แม้ก่อนทักษิณจะเข้ามา เครือข่ายกษัตริย์ก็กำลังตกอยู่ในปัญหา การที่กษัตริย์ออกมาแทรกแซงการเมืองเป็นประจำหลังปี 2535 เป็นเครื่องยืนยันถึงความยากลำบากในการรักษาอำนาจของวังให้ยั่งยืนในช่วงเฟื่องฟูและช่วงถดถอย ผนวกเข้ากับความต้องการการเมืองแบบใหม่และนักการเมืองและนักธุรกิจก็มีความแน่วแน่มากขึ้น เปรมเองก็มีอายุมากกว่ากษัตริย์อยู่ 8 ปี และมักจะพึ่งพาแต่คนสนิทอาวุโสของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการที่คนพวกนั้นเคยเป็นทหารมาก่อนทำให้พวกเขาขาดประสบการณ์และความเข้าใจและขาดอิทธิพล

ในสมัยรัฐบาลทักษิณ สภาองคมนตรีเข้ามาพัวพันกับการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงที่มีปัญหากับทักษิณจะได้รับเลื่อนให้เป็นองคมนตรีทันทีที่พ้นตำแหน่ง เช่น เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนแรกของรัฐบาลทักษิณ พลากร สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการ ศอบต. และ สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เกษมและพลากรถูกส่งเข้าไปในรัฐบาลทักษิณเพื่อทำลายนโยบายภาคใต้ของทักษิณ คอยหนุนหลังเปรมและคอยพูดย้ำในเรื่องเดียวกัน นั่นคือเรื่องที่ได้รับบทพูดมาจากพระราชวังโดยตรง นี่คือแนวทางใหม่ของเครือข่ายกษัตริย์ที่มีการวางแผนไว้อย่างดีและมีความเป็นระบบสูง แนวทางนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทักษิณมีความแข็งแกร่งทางการเมืองสูงมาก

เครือข่ายกษัตริย์ต้องเผชิญกับนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเขาจึงต้องเลือกคู่แข่งอย่างระมัดระวังและจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีทั้งหมดเพื่อสนับสนุนคู่แข่งเหล่านั้น ตั้งแต่ปี 2535 พวกนิยมเจ้าเสรีนิยมอย่างประเวศ และอานันท์ ได้พยายามปรับเปลี่ยนเครือข่ายกษัตริย์ ช่วยพระราชวังให้หลุดพ้นจากอำนาจของพวกอนุรักษ์นิยมจัด และใช้เครือข่ายกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตาม ผลที่ไม่คาดคิดของการปฏิรูปก็เกิดขึ้นเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกฯที่มั่งคั่งและมีอำนาจมหาศาล ทำให้เครือข่ายกษัตริย์ต้องสร้างตัวเองขึ้นอีกครั้งให้หลุดพ้นจากจุดอ่อน แม้ว่าเครือข่ายกษัตริย์ดูเหมือนประสบความสำเร็จในการแก้วิกฤติความชอบธรรมของชาติในปี 2540, 2544, และ 2548 แต่ความสำเร็จเหล่านั้นก็เป็นเพียงความสำเร็จชั่วคราวและต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะเริ่มทำงานในเทอมที่สอง เครือข่ายกษัตริย์ซึ่งได้ปฏิบัติการมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษก็ดูใกล้จะอ่อนกำลังเต็มที



หมายเหตุ

^ การเมืองไทยถูกเปลี่ยนโฉมโดยการต่อสู้ของประชาชนนำโดยนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนำไปสู่การเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ช่วงเวลาแห่งการเปิดกว้างก็จบลงอย่างฉับพลันในการปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อ่านบทความที่อธิบายช่วงเวลาอันซับซ้อนนี้ได้ดีที่สุดของ Morell และชัยอนันต์ (1981)

^ รัชกาลที่ 5 หรือกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ (2411-2453) มักถูกมองว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นต้นแบบให้กับกษัตริย์ภูมิพล (รัชกาลที่ 9) ในหลาย ๆ ด้าน

^ ดร.ประเวศ วะสี เป็นบุคคลที่โดดเด่น เขาได้รับขนานนามว่าเป็น "ราษฎรอาวุโส" ของสังคมไทย เขาเป็นแพทย์และนักวิจัยที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ เขามีเครือข่ายกว้างขวางมากทั้งในภาคเอกชนและกลุ่มศักดินา เขาเป็นผู้ผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คนสำคัญ

^ อานันท์ ปันยารชุน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติและประจำสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งในช่วงวิกฤติปี 2534-2535 เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2539-2540 และเป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสหประชาชาติของนายโคฟี อันนัน ในปี 2547

^ ประเด็นนี้มาจากหนังสือเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยของ Paul Handley (หนังสือ The King Never Smiles - ผู้แปล) ซึ่งกำลังจะได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ผมขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับอนุญาตให้อ้างอิงหนังสือเล่มนี้

^ หนังสือของ Handley

^ กอบเกื้อ 2003: 257, note 104, อ้างถึง Agence France Press, 26 พฤศจิกายน 2527

^ หนังสือของ Hanley ที่กำลังจะออก

^ หนังสือของ Hanley ที่กำลังจะออก

^ หนังสือของ Hanley ที่กำลังจะออก

^ เหตุการณ์รุนแรงเริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม แต่พระราชวังก็ไม่ได้เรียกพวกตัวละครสำคัญมาเข้าพบจนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม

^ หนังสือของ Hanley ที่กำลังจะออก

^ บันทึกของผู้เขียนจากการชมการปราศัยบนโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2535 มีการตั้งข้อสงสัยเรื่องที่ชวนบอกว่าเขาเป็นผู้ทำให้กษัตริย์ออกมาแทรกแซงเมื่อวันที่ 20 ว่าเขาอาจจะไม่ได้เป็นคนเดียวที่สนับสนุนการแทรกแซงนั้น

^ ดูเหมือนว่าพรรคความหวังใหม่หวังจะให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อที่พวกเขาอาจจะชนะการเลือกตั้ง

^ สำหรับบทความที่วิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการแทรกแซงของเปรมโดยตรง โปรดดูบทความของคชศรีใน Nation Weekend สนั่นยืนยันกับผมในเดือนเมษายน 2538 ว่าเขาไม่เคยปรึกษาชวนเรื่องการเคลื่อนไหวนี้มาก่อน

^ ชวลิตเคยเป็นแกนนำกลุ่มนายทหารที่รู้จักกันว่า "ทหารนักประชาธิปไตย" ซึ่งพระราชวังมองกลุ่มนี้ว่าแอบซ่อนความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นระบอบสาธารณรัฐ

^ เป็นที่ชัดเจนว่าวังมีส่วนเกี่ยวข้องในการขับไล่ชาติชาย (2534) และชวลิต (2540) และเป็นไปได้อย่างมากว่าวังมีส่วนเกี่ยวข้องในการขับไล่บรรหาร (2539) บางคนเชื่อว่าวังสนับสนุนให้ขับไล่ชวนในปี 2538 ด้วย แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วย

^ สำหรับรายละเอียด โปรดดู ‘PM pulled back from the brink’ ใน Bangkok Post ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2540 และ ‘Democracy first’ ของ Michael Vatikiotis ใน Far Eastern Economic Review, 6 พฤศจิกายน 2540

^ ความเห็นเหล่านี้น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่า สุรยุทธ์ได้รับเลื่อนให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเวลาต่อมา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีทันทีหลังเกษียณ น่าเสียดายที่ชัยอนันต์เขียนสรุปมุมมองของสุรยุทธ์ในการสัมภาษณ์ไว้เพียงแค่ประโยคเดียว และเขาก็ไม่ได้ถอดสัมภาษณ์แบบคำต่อคำ

^ ผมเข้าร่วมการบรรยายนี้ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2538


อ้างอิง

Anderson, Benedict (1978) ‘Studies of the Thai state: the state of Thai studies’, in Elizier B. Ayal (ed.), The Study of Thailand, Athens, OH: Ohio University Center for International Studies, Southeast Asia Program, pp. 193–247.

Baker, Chris and Pasuk Phongpaichit (2005) A History of Thailand, Cambridge: Cambridge University Press.

Bendix, Reinhardt (1978) Kings or People: Power and the Mandate to Rule, Berkeley, CA: University of California Press.

Bowie, Katherine A. (1997) Rituals of National Loyalty:AnAnthropology of the State and the Village Scout Movement in Thailand, New York: Columbia University Press.

Cartier-Bresson, Jean (1997) ‘Corruption networks transaction security and illegal social exchange’, Political Studies, 45, pp. 463–76.
Chai-Anan Samudavanija (1990) ‘Educating Thai democracy’, Journal of Democracy 1(4): 104–15.

—— (1997) ‘Old soldiers never die: they are just bypassed’, in Kevin Hewison (ed.), Political Change in Thailand: Democracy and Participation, London: Routledge, pp. 42–57.
Connors, Michael K. (1999) ‘Political reform and the state in Thailand’, Journal of Contemporary Asia 29(4): 202–26.

—— (2003) Democracy and National Identity in Thailand, London: Routledge Curzon.
Croissant, Aurel (2005) ‘Unrest in South Thailand: contours, causes and consequences’, Strategic Insights, 4, 2.
Dahl, Robert A. (1971) Polyarchy: Participation and Opposition, New Haven, CT: Yale University Press.

—— (1982) Dilemmas of Pluralist Democracy: Autonomy vs. Control, New Haven, CT: Yale University Press.
Hewison, Kevin (1996) ‘Political oppositions and regime change in Thailand’, in GarryRodan (ed.), Political Oppositions in Industrialising Asia, London: Routledge, pp. 72–94.

—— (1997) ‘The monarchy and democratisation’ in Kevin Hewison (ed.), Political Change in Thailand: Democracy and Participation, London: Routledge, pp. 58–74.

International Crisis Group (2005), Southern Thailand: Insurgency, Not Jihad, Asia Report No. 98, 18 May, accessed from http://www.crisisgroup.org/

Jackson, Peter (1999) ‘Royal spirits, Chinese gods and magic monks; Thailand’s boom-time religions of prosperity’, South East Asia Research 7(3): 245–300.

Kershaw, Roger (2001) Monarchy in South-East Asia, London: Routledge.

Khao Phiset, 25 September–1 October 1992.

Klein, James R. (2003) ‘The battle for rule of law in Thailand: the role of the Constitutional Court’, in Amara Raksasataya and James R. Klein (eds), Constitutional Court of Thailand: The Provisions and Working of the Court, Bangkok: Constitution for the People Society, pp. 34–90.

Knoke, David (1994) Political Networks: The Structural Perspective, Cambridge: Cambridge University Press.

Kobkua, Suwannathat-Pian (2002) ‘The monarchy and constitutional change since 1972’, in Duncan McCargo (ed.), Reforming Thai Politics, Copenhagen: NIAS Press, pp. 57–71.

—— (2003) Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932–2000, London: Routledge.

Kotchasi Daeng-Dam (pseudonym) (1994) ‘ “Pa” kho ma: “Na” siap phua chat’ [‘Pa’ (Prem’s nickname) asked us to come: ‘Na’ (Chatichai’s nickname) enters for the sake of the country’], Nation Weekend, 16–22 December.

Lipman-Blumen, Jean (2005) The Allure of Toxic Leaders, New York: Oxford University Press.
McCargo, Duncan (1997) Chamlong Srimuang and the New Thai Politics, London: Hurst.

—— (2001) ‘Populism and reformism in contemporary Thailand’, South East Asia Research 9(1): 89–107.

—— (2002) (ed.) Reforming Thai Politics, Copenhagen: NIAS Press.

—— and Ukrist Pathmanand (2005) The Thaksinization of Thailand, Copenhagen: NIAS Press.

—— (2006) ‘Thaksin and the resurgence of violence in the Thai South’, Critical Asian Studies, 38(1), March 2006, page numbers not yet known.

Morell, David and Chai-Anan Samudavanija (1981) Political Conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution, Cambridge, MA: Oelgeschlager, Gunn and Hain.

Nelson, Michael H. (2002) ‘Thailand’s house elections of 6 January 2001: Thaksin’s landslide victory and lucky escape, in Michael H. Nelson (ed.), Thailand’s New Politics: KPI Yearbook 2001, Bangkok: White Lotus, pp. 283–441.

Olson, Mancur (2000), Power and Prosperity, New York: Basic Books.

Prawase, Wasi (2002) ‘An overview of political reform’, in Duncan McCargo (ed.) Reforming Thai Politics, Copenhagen: NIAS Press, pp. 21–35.

Peleggi, Maurizio (2002) Lords of Things, Honolulu HI: University of Hawaii Press.
Prizzia, Ross (1985) ‘Thailand in transition: The role of oppositional forces’, University of Hawaii Center for Asian and Pacific Studies No. 32, Honolulu: University of Hawaii Press.

Prudhisan Jumbala (1998) ‘Constitutional reform amidst economic crisis’, Southeast Asian Affairs 1998, Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, pp. 265–91.

Raingan Naeo Na (1993) ‘Chuan Leekpai: rangsong “Pa Prem”?’ [Chuan Leekpai: medium of “Pa Prem”?]’, Naeo Na, 17 September.

Reynolds, Frank (1978) ‘Sacral kingship and national development: the case of Thailand’, in Bardwell L. Smith (ed.), Religion and Legitimation of Power in Thailand, Laos and Burma, Chambersburg, PA: ANIMA, pp. 100–10.

Riggs, Fred W. (1966) Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity, Honolulu HI: East-West Center Press.

Streckfuss, David E. (1998), ‘The poetics of subversion: civil liberty and lese majeste in the modern Thai state’, unpublished PhD thesis, University of Wisconsin-Madison.

Surathian Jakataranund (2003) Nathi thi prian prawatisat [A Minute that Changed History], Bangkok: Matichon.

Surin, Maisrikrod (1992) Thailand’s Two General Elections in 1992: Democracy Sustained,

Singapore: ISEAS, Research Notes and Discussions Paper No. 75.

Thak Chaloemtiarana (1979) Thailand: The Politics of Despotic Paternalism, Bangkok: Social Science Association of Thailand and Thai Khadi Institute.


ที่มาของบทความแปลฉบับนี้ :
http://sites.google.com/site/networkmonarchy/

ปล.
ขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับผู้แปลบทความนี้ พร้อมทั้งผู้แนะนำครับ...

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Hello I am so delighted I found your blog page, I really found you by error, while I was researching on Google for something else,
Anyhow I am here now and would just like to say thank
you for a marvelous post and a all round thrilling blog
(I also love the theme/design), I don't have time to read it all at the moment but I have book-marked it and also added your RSS feeds, so when I have time I will be back to read a great deal more, Please do keep up the superb job.

Take a look at my web-site: acheter vue youtube

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Thanks for sharing your thoughts about plus de tweet.
Regards