วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เตือนความจำ ส.ศิวรักษ์ : ผู้ใหญ่ที่ "เคย" ไม่กะล่อน, บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์


นับตั้งแต่ที่ อ.สุลักษณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์แบบ "ป้ายสี" คดีหมิ่นฯ ในการชุมนุมวันที่ 1 พ.ย. 51 ซึ่งเป็นการ "บิดเบือน" ข้อมูล โดยน่าเชื่อว่ามาจากความ "กะล่อน" มากกว่าการไม่ตรวจสอบข้อมูล

กระทั่งมาจนถึง การให้สัมภาษณ์ในระยะสองวันมานี้ ซึ่งเขาเองเป็นผู้เชื้อเชิญ "รัฐบาลแห่งชาติ" ซึ่งเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเผด็จการชนชั้นปกครอง

พวกเราหลายคนที่เคยให้ความเคารพรักนับถือต่อ "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" ที่อาจารย์ สุลักษณ์ เคยกล่าวและแสดงในที่ต่างๆ ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์ "สิ่งที่พูดไม่ได้ในสังคมไทย" อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสัจจะและความน่าเคารพนับถือต่อ อาจารย์สุลักษณ์อย่างแท้จริง

มาบัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ปัจจุบันนี้ อาจารย์สุลักษณ์หาใช่ สุลักษณ์คนเดิม ซึ่งเป็น "ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน" ดังที่ผมเคยเข้าใจอีกแล้ว ผมได้ย้อนกลับไปอ่านงานที่ อาจารย์สุลักษณ์เขียนถึง อ.ปรีดี พนมยงค์ แล้วยิ่งรู้สึกสะท้อนใจกับท่าทีของคน ที่ผมเคยคิดว่าจะเป็น "เสาหลักทางความคิด" ให้กับคนในบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งบัดนี้คงไม่มีอีกแล้วสำหรับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ใหญ่ที่เคยไม่กะล่อนคนนี้!


บทความนี้ ผมคัดบางตอนจากหนังสือเรื่องนายปรีดี ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ ของสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2526 แต่ผมอ่านในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ปีพ.ศ. 2543 ทั้งนี้เพื่ออาจจะเป็นการ "เตือนความจำ" ในสิ่งที่ อ.สุลักษณ์ ในวัยชราอาจจะหลงลืมไปเพราะสังขารที่ร่วงโรย หรือโมหจริต อคติที่ อาจารย์สุลักษณ์เองย้ำเตือนบ่อยๆ แต่มนุษย์ก็ยังคงอยู่ภายใต้ "กฎ" นั้นไม่เว้นแต่ตัวท่านเอง


Homo erectus


*****


บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์


นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในระดับชาติของไทย ซึ่งไม่มีใครเทียบเท่าได้ ในรอบ 1 ศตวรรษมานี้ ความสำคัญของเขาอยู่ในระดับเดียวกับเมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม และเนห์รูของอินเดีย แต่เหตุไฉนเขาจึงต้องไปตายต่างแดนดังผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษอีก 3 นายนั้น ได้รับการปลงศพอย่างใหญ่ยิ่งในนามของรัฐ และมีอนุสรณ์สถานไว้อย่างมโหฬารในนครหลวงนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้เป็นเพราะนายปรีดี ได้เคยกระทำความผิดพลาดทางการเมืองมากระนั้นหรือ คำตอบก็คือใช่ โดยที่รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของประเทศอื่นๆ ก็เคยทำความผิดพลาดมาไม่น้อยไปกว่าเช่นกัน เพราะสามัญมนุษย์ที่ไม่เคยทำผิด ย่อมไม่ใช่มนุษย์ แต่ในด้านบ้านอื่น เมืองอื่น ชนชั้นปกครองมีดวงตาที่มีแวว ที่รู้จักบวกลบคูณหาร หักประโยชน์ตนประโยชน์ท่านแล้ว เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงออก ซึ่งกตเวทิตาธรรม (ทั้งๆ ที่ผู้นำของประเทศส่วนมากไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) ต่อรัฐบุรุษผู้เคยทำบุญคุณมากับประเทศชาติ เพื่อประชาราษฎรจะได้รู้จักยึดเหนี่ยวน้ำใจไว้ที่คุณธรรม อันเป็นแกนนำของบ้านเมือง แม้ขนาดอูนุศัตรูคู่อาฆาตทางการเมืองที่ฉกาจของเนวิน ยังได้รับนิรโทษกรรมและอโหสิกรรมจากเนวิน ให้กลับมาใช้บั้นปลายชีวิตในสหภาพพม่าอย่างมีเกียรติ

ที่กล่าวมานี้ ออกจะชัดเจนแล้วว่า ชนชั้นนำที่ปกครองบ้าน ปกครองเมือง ตลอดจนที่คุมสื่อสารมวลชนทางด้านสร้างค่านิยมอยู่ในประเทศไทยในบัดนี้ มิได้นำพาต่อปัญหาขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ สัจจะ ความยุติธรรม สัติธรรมและความเป็นไท กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชนขั้นนำรังเกียจประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน อันมวลชนหรือประชาราษฎร์ต้องเป็นใหญ่ ในทางความชอบธรรมเหนืออภิสิทธิ์ชนคนส่วนน้อย ซึ่งฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยความสับปลับ จอมปลอมและหลงละเมอไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ทางไสยศาสตร์ ตลอดจนของปลอมอื่นๆ ในทางยศศักดิ์อัครฐานและกามสุขาลิกานุโยค อันแสดงออกทางการเสพวัตถุเกินพอดีในวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้น พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ ชนชั้นนำของเราที่ควบคุมเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร ตลอดจนข้าราชการพลเรือน และภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงสมณศักดิ์สูงเป็นจำนวนไม่น้อย พากันนับถือพระพุทธศาสนาที่ริมฝีปาก หรือประยุกต์ใช้ด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง หาไม่ก็มิได้นำพระพุทธธรรมาประยุกต์ใช้ให้ถึงแก่น ให้เหมาะกับปัญหาของสังคมและการเมืองร่วมยุคร่วมสมัย หาไม่ไหนเลย เราจะสอนศิษย์ของเราให้แสดงกตัญญูกตเวที โดยเราเองไม่เคยแสดงถึงแก่น หากแสดงกันตามรูปแบบพิธีกรรม และใครแสดงเข้าอย่างจริงจังและจริงใจ เราก็เกลียดและโกรธ ดังกรณีที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ แสดงมาแล้วกับนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการที่เขาเป็นคนไทย ที่ไปแสดงความเคารพต่อท่านผู้นั้นที่ปารีสเป็นคนแรกอย่างเปิดเผย ผลก็คือนั่นเป็นจุดแรกที่นายป๋วยถูกผลักดัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้ออกพ้นสังเวียนชนชั้นนำของไทยไป

ยิ่งเรื่องประชาธิปไตยด้วยแล้ว ชนชั้นนำของเราแทบทุกระดับไม่มีศรัทธาปสาทะเอาเลย หลายคนยังอยู่ในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นตัวนำความหายนะมาให้ประเทศไทยในทุกๆทาง มิเช่นนั้นแล้ว เหตุไฉน เขาจึงกลับมีอนุสาวรีย์ ที่องค์พระประมุขถึงกับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเล่า ทั้งๆ ที่กำพืดของเขาก็เป็นไพร่ และเรามีอนุสาวรีย์ของไพร่ที่ไหนบ้างไหม เว้นไว้เสียแต่คนนั้นๆ จะถูกฆ่าตาย หรือใช้ประโยชน์ในทางการเมืองจากคนนั้นๆ ได้ต่างหาก แม้ที่สุดจนชื่อเขื่อน ชื่อมหาวิทยาลัย เราเคยนำชื่อของไพร่และขุนนาง ที่ทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเมืองมาตั้งขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติบ้างหรือเปล่า ยิ่งราษฎรตาดำๆ ด้วยแล้ว อย่าได้พึงหมายว่า จะได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างจริงจังเลย เว้นไว้แต่เพียงในฐานะสมุหนาม เพียงแค่ริมฝีปาก เพื่อผู้สรรเสริญนั้นๆ จะได้ยศศักดิ์อัครฐานหรือเงินตรายิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้นเอง เพื่อเขาจะได้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม และหลงอำนาจวาสนาบารมีของตนเองต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

ที่จริงสมัยนี้ เราไม่ได้ถอยไปสู่สมัยสฤษดิ์เท่านั้น หากเราพยายามถอยไปสู่สมัยราชาธิปไตยเสียซ้ำ ดังที่เราเน้นที่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่การคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ หรือฐานอำนาจที่ทวยราษฎร์กันเลย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ละอายอะไรกันเลยกับประชาธิปไตยครึ่งใบเสี้ยวใบ หรือแม้ที่สุดจนจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเสียอีกเมื่อไรก็ได้ คำตอบของเราเวลานี้ ดูจะมุ่งไปที่สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ ไปที่อำนาจอันแฝงเร้น และไปที่ผู้กุมกำลังทางทหาร เราไม่เชื่อเลยว่า ราษฎรมีความสามารถและเป็นพลังอันมหาศาล ที่เมื่อผนวกกับความชอบธรรมเข้าแล้วสามารถต้านกระแสอธรรมใดๆ ก็ได้ มิใยว่าฝ่ายนั้นมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงใดก็ตาม เราพยายามทำลายพลังของผู้นำกรรมกร เราพยายามบั่นทอนการรวมตัวกันของผู้นำกสิกร ดังเราได้พิฆาตลูกหลานของเราในมหาวิทยาลัยมาแล้ว ด้วยเลือดอันเย็นไม่แพ้เดรัจฉาน

ชนชั้นนำของเราเวลานี้ ถ้าอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศออกมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว หลายต่อหลายคนยังมีโลหิตฉีดแรง และเดือดพล่านอยู่ เพราะแถลงการณ์ฉบับนั้นท้าทายสถาบันเจ้า โดยถือว่าถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็ต้องโง่เช่นกัน ถ้าเรายังรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ เรายังเป็นประชาธิปไตยกันไม่ได้ และคนอย่างนายปรีดีก็จะได้รับอโหสิกรรมไม่ได้ นายปรีดีจะได้รับเกียรติยศอย่างแท้จริงจากประชาราษฎร ก็ต่อเมื่อราษฎรได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และแถลงการณ์ของนายปรีดีฉบับนี้ กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่เยาวชนของเราทุกคนต้องนำมาอ่านกันในชั้นเรียน ดังที่รุ่นพ่อของเราเคยเรียนเรื่อง สมบัติผู้ดี ของเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดีมานั้นเอง

ชนชั้นนำทางการศึกษาของเราหลายต่อหลายคน ยังต้องการกลับไปหาหนังสืออย่างสมบัติผู้ดี โดยที่เราควรแสวงหาหนังสือเช่น สมบัติไพร่ และเราควรฝึกผู้นำในอนาคตของเราให้เป็นไพร่ ให้เป็นกสิกร ให้เป็นกรรมกร กล่าวคือให้ภูมิใจในศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่เอารัดเอาเปรียบใคร และไม่ยอมให้ใครเอารัดเอาเปรียบ หากให้มีการเกื้อกูลกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ให้เลิกการหมอบคลานดังสัตว์เลื้อยคลานอีกต่อไป ซึ่งเราเห็นได้ชัดตามโทรทัศน์และสื่อมวลชนที่มอมเมาต่างๆ รวมทั้งนวนิยามน้ำเน่าทั้งหลายด้วย ทั้งๆที่ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงประกาศให้เลิกการกระทำเช่นนี้มาก่อนนายปรีดี พนมยงค์เกิดเสียซ้ำ

อีกนัยหนึ่งก็คือ นายปรีดีต้องการนำพระราชปฎิธานของเพราะจุลจอมเกล้าฯ ในเรื่องปาเลียเมนท์และคอนสติติวชั่นให้สัมฤทธิ์นั้นเอง แต่เผอิญนายปรีดีเป็นไพร่ และหายไปท้าทายสถาบันเจ้าเข้า เจ้าที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และพวกที่หาผลประโยชน์จากเจ้าจึงรุมกัดลอบกัด จนนายปรีดีต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปจนตราบอายุขัย มิใยว่านายปรีดีจะทำบุญคุณอันยิ่งใหญ่ให้แก่เจ้าเพียงใด โดยที่นิทานเรื่องชาวนากับงูเห่านั้นเอง ควรเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนอย่างนายปรีดี

ก็ใครเล่า ที่ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเผด็จการ ป.พิบูลสงคราม ซึ่งนอกจากจะข่มขู่เจ้านายและองค์พระประมุข แล้วยังเคยคิดตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเองอีกด้วย ใครเล่าที่ถวายอารักขาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างใกล้ชิดและห่วงใย ใครเล่าที่ช่วยบันดาลให้เกิดหอสมุดดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าอิฐปูนใดๆ ที่มักนิยมสร้างถวายเจ้ากันในวังหลัง) ใครเล่าที่ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักโทษชายรังสิต ประยูรศักดิ์ แล้วถวายพระราชอิสริยยศคืนขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และที่สำคัญอันสุดท้ายนั้นก็คือ ใครเล่าที่ปกป้องพระราชวงศ์ผู้ประพฤติผิด ในกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ถ้านายปรีดี พนมยงคื ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เคยสอนอาชญากรรมวิทยามาแต่วัยรุ่น บอกให้อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชันสูตรพระบรมศพตามกระบวนการกฎหมายอาญาแต่เมื่อแรกสวรรคต และจับกุมผู้ที่กล้าบังอาจพลิกพระศพ เย็บพระศพ นำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับพระศพไปซัก ไปฝัง ฯลฯ เพื่อปิดบังความพิรุธ ป่านนี้ถ้านายปรีดียังคงเป็นรัฐบุรุษอาวุโสอยู่ในประเทศไทย และการตายของเขาจะเป็นงานศพ อันมีเกียรติยศยิ่งสำหรับราษฎรชาวสยาม โดยที่ผู้นำของรัฐบาลและชนชั้นนำอื่นๆจะไม่กล้านิ่งเงียบ ดังอมสากอยู่ในปากอย่างเช่นในบัดนี้ หากทุกคนจะเอ่ยถึงวีรกรรมของเขา ในฐานะผู้นำทางด้านประชาธิปไตย และที่สำคัญย่งกว่านั้นก็คือ เขาเป็นผู้นำในการกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

วีรกรรมชิ้นนี้ ไม่ด้วยไปกว่าพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินเลยทีเดียว โดยที่อีกร้อยปีข้างหน้า เราไม่อาจปฏิเสธคุณค่าอันวิเศษข้อนี้ของเขาได้ แม้ในบัดนี้เราจะปล่อยให้อคติครอบงำสัจจะไว้ก็ตาม ดังที่พระเจ้าตากสินก็เคยเผชิญชะตากรรมายิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เมื่อสองศตวรรษมานี้เอง



ที่มาพิมพ์ครั้งแรกใน
ไทยแลนด์ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 6 พ.ค. 2526 ม.รามฯ อัดโรเนียวแจกในวัดอภิปรายคล้ายวันปลงศพนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2526, เมล็ดข้าว เศรษฐศาสตร์ ธรรมศสาสตร์รับน้องใหม่

สำเนาโดย : Homo erectus

ที่มา : เวบบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : เตือนความจำ ส. ศิวรักษ์ : ผู้ใหญ่ที่ "เคย" ไม่กะล่อน, บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์

ไม่มีความคิดเห็น: