ชื่อบทความเดิม :
‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่:
ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” <1>
ผู้เขียนทั้งเห็นด้วยและมีข้อสงสัยต่อทรรศนะของนิธิในประเด็นเกี่ยวกับการอธิบายจุดจบของรัฐที่มีชนชั้นสูงเป็นกลุ่มครอบงำสังคม-การเมืองไทย นิธิเปิดประเด็นว่า การเลื่อนสถานภาพทางสังคมในไทยนั้นกระทำโดยผ่านการรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น “สัญลักษณ์ของความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์” สัญลักษณ์ดังกล่าวเริ่มมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และเพิ่มทวีอำนาจทางวัฒนธรรมมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ “ลูกคนชั้นกลางกลายเป็นนักเรียนนอกกันเต็มเมือง” นิธิเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้เข้ากับการสั่นคลอนหรือกระทั่งการ “พังสลายของโครงสร้างลำดับสถานภาพของสังคมไทย (hierachical<2> [sic] structure)” และอธิบายว่าขบวนการท้าทายรัฐในขณะนี้ ตลอดจน “การอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมือง และในทางตรงกันข้ามการโจมตี “เบื้องสูง” ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ หรือทำโดยเปิดเผยผ่านการใช้สัญลักษณ์” เป็นอาการของการซ้อนทับตรงต้องกันระหว่าง “โครงสร้างอำนาจของรัฐ” กับ “โครงสร้างสถานภาพทางสังคม” ที่เมื่อส่วนหลังสั่นคลอนด้วยการขยายตัวของชนชั้นผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนแรกก็หวั่นไหวตามไปด้วย นิธิเรียกการซ้อนทับนี้ โดย “พูดด้วยภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ” (เน้นโดยผู้เขียน ดูเชิงอรรถที่ 2) ก็คือว่า “รัฐไทยเป็นรัฐเจ้าขุนมูลนาย” อันเป็นที่มาของชื่อบทความของเขา
แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นได้สั่นคลอนและทำให้รูปรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่น่าฉงนงงงวยคือเหตุใดการวินิจฉัยของนักประวัติศาสตร์และนักวิเคราะห์สังคมผู้ลุ่มลึกอย่างนิธิ จึงได้สรุปโดยอิงอาศัยอาการของเหตุการณ์ที่แสดงออกในปัจจุบัน แล้วรวบรัดว่า ห้วงขณะ ณ เวลานี้ เป็น “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” อย่างลวกง่ายนัก
ประการแรก มโนทัศน์ “รัฐเจ้าขุนมูลนาย” นั้นน่าเคลือบแคลง เพราะผู้เขียนไม่แน่ใจว่านิธิหมายถึง “รัฐ” ไหนกันแน่ ดูเหมือนว่านิธิจะโบ้ยใบ้ว่า “ฝ่ายรัฐ” คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลและระบบราชการ (ตามชื่อ “รัฐเจ้าขุนมูลนาย”) ส่วน “ฝ่ายผู้เลื่อนชั้นทางสังคม” ที่มาท้าทายรัฐคือชนชั้นกลาง (ตัวอย่างที่นิธิยกมาคือ พันธมิตรฯ) และ “ผู้คนในสถานภาพระดับล่างซึ่งไม่เคยมีปากเสียงมาก่อน” (นปช.) ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการลุกขึ้นยืนยันสำนึกในชนชั้นของตัวเองของ “ชาวบ้าน” นั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่จริง แต่การที่นิธิแยกแยะ “ชนชั้นกลาง” ออกจาก “โครงสร้างอำนาจของรัฐ” นั้นเป็นเรื่องน่ากังขา หากเราแยกตามนิธิไปเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเรายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประวัติศาสตร์ไทยก็ต้องปราศจากเหตุการณ์ในปี 2475, 2516, 2535, 2540 (รัฐธรรมนูญปี 40 คือรัฐธรรมนูญกระฎุมพี) ซึ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ท้าทายรัฐโดย “ชนชั้นกลาง” ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์ในระยะหลังๆ ก็เป็นการท้าทายรัฐชนชั้นกลางโดยชนชั้นกลางด้วยกันเอง ตรรกะของนิธิจะอธิบายความสลับซับซ้อนยอกย้อนของปรากฏการณ์ชนชั้นกลาง ซึ่งก็มีหลายระดับในตัวมันเอง (ตามที่นิยมแบ่งกันว่าสูง กลาง ล่าง) พลวัตการเคลื่อนที่ขึ้นลง การปะทะสังสรรค์ของกลุ่มเหล่านี้ โดยเป็นทั้งฝ่ายต้านรัฐและเข้าไปครองอำนาจรัฐ ตลอดจนนิยาม หน้าตา และตัวตนของ “ชนชั้นกลาง” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และตามมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ได้อย่างไร<3>
ประการต่อมา ผู้เขียนยังสงสัยว่านิธิจะพิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นิ่ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “รัฐ” มาตลอด โดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่นนั้นเชียวหรือ? เราอาจกล่าวได้ว่า รูปแบบพระราชอำนาจและพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่เราเห็นอยู่ทั้งหมดในปัจจุบันนั้นเป็นผลผลิตและมรดกตกทอดของการฟื้นฟูในสมัยสฤษดิ์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสถานภาพของสถาบันฯ ในยุคของแปลกและของคณะราษฎร์ก่อนหน้านั้น<4> นิธิจะปิดตาต่อการปะทะประสานและความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างสถาบันฯ กับรัฐบาลในยุคสมัยต่างๆ ราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในวาทกรรมชาตินิยมและประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบพันธมิตรฯ อันเรียบลื่นไร้รอยต่อเช่นนั้นหรือ?
นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิง “วัฒนธรรมชนชั้น” อันเป็นประเด็นหลักที่นิธิหยิบยกขึ้นมานั้น เราก็ยังเห็นการแพร่กระจายของ “วัฒนธรรมป๊อบ” ไปสู่ชนชั้นสูงทั่วโลก<5> ทั้งในรูปของภาพยนตร์ แฟชั่น ดนตรี ฯลฯ ผู้เขียนมองว่า นี่ต่างหากที่เป็นความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจนำ (hegemony - ขอสื่อสารกับชนชั้นผู้ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง) ของวัฒนธรรมชนชั้นกลาง ที่เปรอะซึมเข้าไปในตัวตนของชนชั้นอื่นๆ ในสังคม แต่มากกว่าที่จะหมายถึงการ “พังทลาย” ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ซึ่งแตกหัก ณ ชั่วขณะที่ชัดเจนหนึ่งๆ จนกลายเป็น “อวสาน” ของอะไรต่อมิอะไรอย่างที่นิธิพรรณนา การเปรอะซึมนี้ทำให้เกิดการตัดข้ามชนชั้น อย่างน้อยในเชิงวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการผสมผสานและเลื่อนไหลของตัวตนอย่างแนบเนียนและเงียบงัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ชนชั้นกลาง นิธิมองชนชั้นสูงว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและหยุดนิ่ง และดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องสั่นสะเทือนและแตกหักอย่างเดียวเท่านั้น แนวคิดของนิธิจึงไม่มีเนื้อที่ให้กับการปรับตัว เคลื่อนคล้อย และพลิ้วไหวในเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นต่างๆ ที่บ้างก็เลียนแบบ บ้างก็พยายามฉีกให้แตกต่างจากกันและกัน บ้างก็เลือกรับเลือกปฏิเสธจากที่นั่นที่นี่ บุคคลหรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ยุคสมัยนั้นยุคสมัยนี้ต่างๆ นานา ตลอดจนการพลิกพลิ้วขึ้นเป็นอำนาจนำของวัฒนธรรมชนชั้นกลางที่ไม่ได้กระแทกกระทั้นหรือจงใจทำลายวัฒนธรรมชนชั้นอื่นให้ปลาสนาการไปอย่างนักปฏิวัติ
นิธิใช้ตัวอย่างของ พธม. เป็นส่วนหนึ่งในการบ่งชี้ถึงสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นอวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่ว่า พธม. จะอ้างใครหรือใช้วิธีการอะไร บุคคลที่ พธม. ต่อต้านนั้นคือทักษิณ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐชนชั้นกลางผู้ใช้ภาษาไทยคำอังกฤษคำด้วยเช่นกัน อีกครั้งที่ประเด็นอยู่ที่ว่า “รัฐ” ไหนที่นิธิหมายถึง และมี “รัฐเจ้าขุนมูลนาย” แบบบริสุทธิ์ดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ให้เขาประกาศว่ามันถึงกาล “อวสาน” จริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นด้วยกับนิธิในส่วนที่ว่า การเรียกร้องโหยหา “อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์” อยู่ตลอดเวลาโดยกลุ่ม พธม. นั้นหาใช่ความพยายามเพื่อสถาปนาหรือฟื้นฟูรัฐเจ้าขุนมูลนายขึ้นใหม่ไม่ แต่เป็นเพียงการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น “เครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมือง” ของตนเท่านั้น เราอาจมองได้ว่า พธม. นั้นใกล้เคียงกับสฤษดิ์ที่พยายามดึง “เบื้องสูง” มาเป็นพวกโดยการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแข็งขัน ออกหน้าออกตา แต่ในขณะเดียวกันก็ขยายฐานอำนาจของตัวเองและมุ่งขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง ไม่แน่ว่าการประกาศของภูวดลเรื่องการปฏิวัติกระฎุมพี<6> อาจจะไม่ได้มีนัยยะเล็กน้อยเพียงการละเล่นเชิงโวหารเสียแล้ว
การโคจรบรรจบกันระหว่าง “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” ของนิธิ กับ “การปฏิวัติกระฎุมพี” ของภูวดล อาจจะดำรงอยู่เพียงในจินตนาการเพ้อพกของผู้เขียนเท่านั้น และผู้เขียนก็อาจจะคาดหวังกับบทความสั้นๆ ซึ่งนิธิเองก็ย้ำหลายครั้งหลายหนทำนองว่า “ไม่แน่ใจว่าคำอธิบายของผมใช้ได้หรือไม่” มากเกินไปก็ได้ กระนั้นก็ตาม อย่างน้อยในบทความนี้ ดูเหมือนว่าการวิเคราะห์เรื่องชนชั้นของนิธิจะกลืนเข้ากับประวัติศาสตร์กระแสหลักได้อย่างเรียบลื่น หรือสิ่งที่จะถึงกาล “อวสาน” นั้นอาจจะไม่ใช่รัฐเจ้าขุนมูลนาย แต่เป็นอาการเริ่มแรกที่บ่งถึงอวสานแห่งพลังการอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (หนุ่ม)?
สิกร สิกรรัตน์
เชิงอรรถ
<1> นิธิ เอียวศรีวงศ์. “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 7-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
<2> ตรงนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านิธิเขียนผิดหรือมติชนพิมพ์ผิด (ที่ถูกต้องสะกดว่า hierarchical ในบทความของนิธิตกตัว r ไปหนึ่งตัว) การใส่ศัพท์ภาษาอังกฤษลงมาในส่วนของบทความที่กำลังพูดถึงการเลื่อนสถานะของชนชั้นกลางด้วยภาษาดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือหากเป็น “ความไม่ตั้งใจ” ก็อาจจะเป็นจิตใต้สำนึกของนิธิที่เขียนด้วยสถานะความเป็นชนชั้นกลางอดีต “นักเรียนนอก” และสื่อสารกับผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ผู้ที่อยู่ในสถานภาพใกล้เคียงกัน กล่าวคือเราอาจมองได้ว่านิธิก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เขากล่าวถึงในบทความด้วย ไม่ว่านิธิจะประกาศอย่างถ่อมตนว่าจะพยายามสื่อสารกับชาวบ้าน หรือพยายาม “ตีตัว” ออกห่างจากชนชั้นของตัวเองอย่างไร แต่บางที การใส่ภาษาอังกฤษแบบสะกดผิดเข้ามา โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามนั้น อาจจะเป็นความพยายามบ่งชี้สถานภาพก้ำกึ่งของตัวเอง นั่นคือนักเรียนนอกผู้ดิ้นรนที่จะไม่แปลกแยกจากชาวบ้าน ราวกับจะบอกเราว่า “เห็นไหม ผมใช้ภาษาอังกฤษนะ แต่ยังใช้แบบถูกๆ ผิดๆ เลย” (ฮา) กระนั้นก็ตาม หากตัวตนของนิธิเองแสดงนัยยะของความผิดแผกแตกต่างไปจากชนชั้นที่ตนสังกัดอยู่ แล้วเราจะยังสามารถเชื่อมั่นการวิเคราะห์ของเขาที่เหมารวมว่าชนชั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้มากน้อยเพียงใด? เราจะไว้ใจมุมมองที่ละเลยความแตกต่างหลากหลายของตัวตน ทัศนคติ ค่านิยม รสนิยม โลกทัศน์ของแต่ละบุคคล และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลข้ามกาลเวลา (ซึ่งอาจมีลักษณะตัดข้ามชนชั้น อย่างในแบบที่นิธิผู้เป็นชนชั้นกลางจบนอก แต่ก็ไม่เหมือนนักเรียนนอกคนอื่น หรือไม่เหมือนพวก “ลูกจีนกู้ชาติ” เพราะเขาสามารถข้ามไปเห็นอกเห็นใจ “ชาวบ้าน”) ได้ละหรือ? พูดให้ง่ายก็คือ หากนิธิแตกต่างได้ แต่ทำไมบุคคลที่เขาวิเคราะห์ถึงจึงแตกต่างไม่ได้ แต่กลับถูกยัดเยียดใส่ความเป็น “ชนชั้น” แบบทื่อๆ ให้เสียดื้อๆ อย่างนั้น?
<3>นี่หรือคือการวิเคราะห์จากผู้แต่ง ปากไก่และใบเรือ กับ สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี? นิธิ ผู้โด่งดังในฐานะนักประวัติศาสตร์ เคยใช้ตรรกะง่ายๆ ที่ละเลยแง่มุมทางประวัติศาสตร์เช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในบทความว่าด้วย “การปรับระบบการเมือง” โดยแบ่งชนชั้นตามตัวเลขรายได้เพียงอย่างเดียว บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในมติชนเช่นกัน แต่ฟ้าเดียวกันรวบรวมไว้ครบถ้วนทั้ง 4 ตอนในที่เดียว ดู http://www.sameskybooks.org/2008/09/15/niti/ อนึ่ง ดูปัญหาการนิยามชนชั้นกลางและตัวอย่างการวิเคราะห์ชนชั้นกลางที่ละเอียดอ่อนกว่าได้ใน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บก.) (2548). คนชั้นกลางไทยในกระแสทุนนิยม. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง. ศิริพรเขียนไว้ในหน้า 147 ของหนังสือเล่มนี้ว่า “...สิ่งสำคัญที่นำความยุ่งยากและสลับซับซ้อนกับการให้ความหมายคำ “ชนชั้น” ก็คือโลกทัศน์ของผู้กล่าว...”
<4> ดูรายละเอียดใน Pasuk P. and Baker, C. (1997). Thailand: Economy and Politics. Kuala Lumpur: Oxford University Press.
<5>เจ้าหญิงไดอาน่าก่อนสิ้นพระชนม์เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น pop princess
<6> ดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=13375&Key=HilightNews
ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่: ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ
วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่: ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:43 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น