วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ยาขม


นิยายจีนกำลังภายในรุ่งเรืองในเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2500 ก็จริง แต่ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากรัฐในช่วง ปี 2519 หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคมปีนั้น รัฐเผด็จการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชนด้วยการกุมสื่อทุกชนิดในมือ เป็นผลให้เกิดความอึดอัดอึมครึม ไม่มีใครกล้าเขียนวิพากษ์รัฐ การสูญอิสรภาพในการเสนอข่าวเป็นผลให้หนังสือพิมพ์บางฉบับเริ่มเข้าหาความบันเทิงแทนการเสนอข่าว ไม่นานต่อมาก็ปรากฏนิยายจีนกำลังภายใน บนหน้าหนังสือพิมพ์ให้อ่านอย่างจุใจทุกวัน

ประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษยชาติสอนว่า สิ่งแรกที่เผด็จการกระทำเมื่อขึ้นครองอำนาจคือปิดปากประชาชน หลายรัฐเผาทำลายหนังสือ ฝังนักปราชญ์ตายทั้งเป็น พวกเขาเชื่อว่าเมื่อปิดหู-ตา-ปาก ราษฎรแล้ว การปกครองก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ปกครองคนโง่ ง่ายกว่าปกครองคนฉลาด

แต่ประวัติศาสตร์ของโลกก็แสดงให้เห็นชัดมาทุกยุคทุกสมัยว่า ไม่มีอำนาจใดสามารถปิดปากประชาชนได้นาน ไม่เคยมีเผด็จการใดอยู่ค้ำฟ้า ธรรมชาติของคนต้องพูด ต้องแสดงออก การปิดหู-ตา-ปากคน ก็เหมือนการสร้างเขื่อนไม้กั้นมหาสมุทร สักวันย่อมแตกทลาย

โรคที่ผู้มีอำนาจจำนวนมากกลัวกันก็คือโรคกลัวคำวิพากษ์ วิจารณ์ เมื่อคนใกล้ชิดรักษาโรคชนิดนี้ด้วยคำชม คำป้อยอ ตามหลัก "ชเลียร์ศาสตร์" อาการยิ่งทรุดหนัก ตาพร่านึกว่าตนเองเป็นพระเจ้า หากพวกเขายอมเชื่อคำของคนโบราณสักนิดอาจเคยได้ยินคำโบราณที่ว่า

"หวานเป็นลมขมเป็นยา"

ยาโบราณที่รักษาโรคมักเป็นยาขม หลักแม็คโครไบโอติกส์สอนว่า อะไรที่หวานเป็นพิษทั้งสิ้น คนที่กินน้ำตาลมากๆจะตายเร็วมนุษย์ส่วนใหญ่เกลียดยาขม อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้กระมัง ที่แม้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของโลกค้มครองเสรีภาพในการแสดงออก แต่ผู้นำหลายคนในยุคอินเตอร์เน็ต ก็ยังคงชอบสวมตะกร้อครอบปากประชาชน

ในปี คศ 1717 นักเขียน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ Francois Marie Arouet เขียนหนังสือวิพากษ์รัฐบาลฝรั่งเศส เขาถูกจำขังในคุกบาสติลล์นานสิบเอ็ดเดือน เขาใช้เวลาช่วงที่อยู่ในคุกเขียนหนังสือ คล้ายๆสุนทรภู่ของไทย เริ่มที่บทละครเรื่อง Oedipe ใช้นามปากกาที่ต่อมาคนทั้งโลกรู้จักดีคือ วอลแตร์

วอลแตร์กล่าวว่า

"ข้าพเจ้าอาจไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ท่านพูด
แต่ข้าพเจ้าก็ยอมตายเพื่อที่จะรักษาสิทธิในการพูดของท่าน"

ในโลกของการเขียนหนังสือ หากนักเขียนเป็นพวกกลัวคำวิจารณ์ ย่อมไม่มีทางรับรู้มุมมองอื่นที่แตกต่างไปจากที่ตนคิด และอาจจะเสียโอกาสพัฒนาความสามารถเต็มศักยภาพ

คนทำก๋วยจั๊บ คนขายข้าวหมูแดง คนขายขนม แม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กำไล แม่ประนอม แม่เจ้าคุณ ฯลฯ ล้วนต้องพึ่งคำวิจารณ์ รสหวานไป เค็มไป จืดไป เมื่อรู้จักวิเคราะห์คำวิจารณ์ ฝีมือก็มีแต่พัฒนาขึ้น

การน้อมรับคำวิจารณ์มิได้แปลว่าตนเองอ่อนแอหรือโง่เขลา

ยาขมรสชาติไม่อร่อยลิ้น แต่รับรองว่าดีต่อเรามากกว่าน้ำตาล


วินทร์ เลียววาริณ



จากหนังสือ : ความฝันโง่ๆ

สำเนาโดย : หัวเอียงซ้าย

ที่มา : เว็บบอร์ด"ประชาไท" : บทความหนึ่งของ วินทร์ เลียววาริณ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: