วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

"ราชประชาสมาสัย" ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช



ราชประชาสมาสัย

การที่ระบบการเมืองไทยขาดรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมานานเป็นสาเหตุให้มีผู้พยายามเสนอวิธีการใหม่ๆหลายอย่างที่จะสร้างเสริมฐานะของรัฐบาล ให้รับผิดชอบต่อปวงชนโดยสมบูรณ์ เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นต้น ความระส่ำระสายในวงการเมือง ความไม่มั่นคงของพรรคการเมือง ความไม่รับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การแผ่อำนาจเกินขอบเขตของผู้บริหารและระบบราชการ ล้วนแต่มีส่วนทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในการเมืองเป็นส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่า สถาบันทางการเมืองในปัจจุบันไม่อาจทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะเชื่อมโยงและสะท้อนถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้

การเมืองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตของประชาชนในชาติ แต่วงการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาได้ถูกจำกัดให้เป็นเวทีที่บุคคลและกลุ่มบุคคลเพียงจำนวนน้อยผลัดเปลี่ยนกันแย่งชิงอำนาจ และฉกผลประโยชน์ของประชาชนตลอดมา ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันให้อยู่นอกวงการเมือง ๔๐ กว่าปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งไม่กี่ครั้ง แต่ละครั้ง จบลงด้วยการยึดอำนาจของทหารตามอำเภอใจ ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนฝากชีวิตไว้ทำความผิดหวังให้ผู้เลือก พรรคการเมืองเป็นแต่เพียงการรวมกลุ่มกันตามแบบพิธีการของบุคคลผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน

ผลที่ตามมาจากสภาพการเหล่านี้ได้แก่ ความท้อแท้ สิ้นหวัง สิ้นศรัทธาในระบบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ประชาชนเริ่มถามตัวเองว่าเราได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้มีศักดิ์ มีสิทธิ์ และเสรีภาพโดยสมบูรณ์จริงหรือไม่ ในขณะที่สถาบันการเมืองแบบใหม่เสื่อมลงเป็นลำดับ สถาบันดั้งเดิมที่ถูกล้มล้างอำนาจอันเด็ดขาดไปได้พยายามปรับปรุงบทบาทให้เหมาะสมกับสภาพการที่เปลี่ยนไปทีละน้อยๆ ในขณะที่ศรัทธาของประชาชนในรัฐสภา พรรคการเมือง รัฐบาล และระบบราชการลดน้อยถอยลง พลังของประชาชน ความหวังใหม่ได้มุ่งไปสู่สถาบันเก่าแก่ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน

สถาบันกษัตริย์กลายเป็นทางเลือกของบุคคลจำนวนมาก ประชาชนทุกระดับเริ่มเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์มีบทบาททางการเมืองยิ่งขึ้น ในเวลาที่รัฐบาลห่างเหินประชาชน พระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นทุกขณะ แม้ว่าเสียงเรียกร้องจะมีมากมายที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นก็ตาม การเข้ารับเป็นฉนวนปกป้องราษฎรจากการขยายอำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาล ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถเป็นพลังการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างแท้จริง มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา

ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นจุดสุดยอดของการสั่งสมบารมีดังกล่าว และการเข้ารับภารกิจในการนำประเทศโดยตรง ด้วยการทรงเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก จึงเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนโดยทั่วไป

โดยเหตุที่ประชาชนขาดศรัทธาในสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ความหวังของประชาชนจึงมุ่งตรงมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงแห่งเดียว ด้วยความปรารถนาที่จะมอบพระราชอำนาจที่มีต่อระบบการเมืองมากขึ้น หลายคนมีความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะช่วยให้การเมืองไทยในอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่

ประชาชนจำนวนมากแสดงความเห็นมายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญควรให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดตามพระราชอัธยาศัย เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาล และพรรคการเมือง ถ้าจะให้สภาสูงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสภาแห่งเหตุผลและช่วยประคับประคองสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ควรให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกแห่งสภานั้น ในทำนองเดียวกัน ก็มีผู้แสดงความห่วงใยด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริงที่ว่าความคิดดังกล่าว หากนำมาปฏิบัติแล้วอาจเป็นการนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือการเมือง

ความคิดทั้งสองประการนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ซึ่งเป็นทางสายกลาง เราอาจเรียกวิธีการหรือระบบใหม่นี้ว่า ราชประชาสมาสัย กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาชน ร่วมกันปกครองประเทศ โดยมีรากฐานแห่งความชอบธรรมจากปวงชนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร

ระบบใหม่นี้ใช้เฉพาะวุฒิสภา โดยคณะองคมนตรีซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และเป็นผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย จะเป็นผู้เลือกสรรบุคคลจากอาชีพต่างๆ ที่มีคุณธรรม ความสามารถจำนวนหนึ่ง และเสนอรายชื่อบุคคลเหล่านี้ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกอีกชั้นหนึ่ง จำนวนบุคคลที่องคมนตรีเสนอไปนี้จะมีมากกว่าที่จะต้องได้รับเลือก อาจเป็น ๓ เท่า (วุฒิสภามีจำนวน ๑๐๐ คน คณะองคมนตรีจะเสนอชื่อไป ๓๐๐ ชื่อ) เมื่อสภาผู้แทนฯเลือกแล้ว ประธานสภาจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาต่อไป


วิธีการเช่นนี้มีผลดีหลายประการ และจะทำให้วุฒิสภามีคุณสมบัติตามที่ประชาชนต้องการ คือ

๑. วุฒิสภาจะประกอบด้วยบุคคลจากอาชีพต่างๆที่มีคุณธรรม ความสามารถ และไม่ฝักใฝ่กับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ

๒. เปิดโอกาสให้บุคคลจากกลุ่มอาชีพที่เสียเปรียบในสังคมแต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญ เช่น ชาวนา ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในรัฐสภา

๓. การที่คณะองคมนตรี เสนอรายชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก เท่ากับทำให้วุฒิสภาได้รับอาณัติจากปวงชนโดยทางอ้อม และก่อให้เกิดความชอบธรรมในการปฏิบัติงาน

๔. การที่คณะองคมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เลือกวุฒิสมาชิก จะทำให้ผู้ได้รับเลือกระลึกอยู่เสมอว่า จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และมุ่งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ราชประชาสมาสัยเป็นทางสายกลาง เป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบการเมืองไทย ซึ่งเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการทางการเมืองและสังคมไทย


ชัยอนันต์ สมุทวณิช



( สยามรัฐ วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๖ เน้นคำ ตัวหนาและตัวเอน ตามต้นฉบับ ผมแก้การพิมพ์ผิดบางแห่งให้)

สำเนาโดย :

สมศักดิ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน"(เก่า) : (พิมพ์ตัวบทเต็มมาให้ดู) "ราชประชาสมาสัย" ของ ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2516)


เพิ่มเติม
(ความเห็นต่อบทความ)

1.

มาถึงตอนนี้ข้อเสนออ.ชัยอนันต์ฯได้รับการพิสูจน์แล้ว ว่าจะสร้างองค์กรและบุคคลอันตรายต่อการเมืองและระบบกฎหมายไทย ย่อหน้าสุดท้ายไม่จริงเสียแล้ว

-รอยด่างในทฤษฎีรัฏฐาธิปัตย์ไทย-

สินธร


2.

?????


3.

?????

ไม่มีความคิดเห็น: