วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ส. ศิวรักษ์และส. ลิ้มทองกุล


อัสนี วสันต์ ในเพลง "ก็เคยสัญญา" เคยแหกปากตะโกนประโยคที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" อันหมายถึงความรักที่แปรผันตามวันเวลาที่ผ่านพ้น แม้ว่าจะสัญญากันไว้หนักแน่นก็ตาม

ประโยคนี้ถูกตอกย้ำให้ฮือฮาอีกครั้งจากปาก แอ๊ด คาราบาว ผู้ซึ่งสวมบทนักร้อง นักดนตรี "เพื่อชีวิต" วิพากษ์วิจารณ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่โฆษณามอมเมาให้คนซื้อทั้งที่ไม่มีคุณค่าสารอาหารแต่ประการใด แต่ในเวลาต่อมา แอ๊ด คาราบาว กลับมาทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง "คาราบาวแดง" อย่างที่รู้กัน เมื่อมีคนถาม แอ๊ด คาราบาว บอกง่าย ๆ ว่า

"เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"

กล่าวสำหรับ ส. ศิวรักษ์ แม้นเขาไม่เคยเอ่ยประโยคนี้แบบเดียวกับสองพี่น้องโชติกุลหรือแอ๊ด คาราบาว แต่หลายคนคงจะเอ่ยให้กับเขาไปแล้ว

ส. ศิวรักษ์ เป็นข่าวเด่น ข่าวดังอีกครั้งเพราะถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรสำหรับปัญญาชนสยามรายนี้สำหรับการถูกตั้งข้อหานี้ แต่ที่ต่างออกไปอยู่ตรงที่ว่า หลังได้รับการประกันตัว แทนที่จะยืดอกยอมรับอย่างไม่หวาดหวั่น ส. ศิวรักษ์ กลับให้สัมภาษณ์และเขียน "จดหมายป้ายขี้" ให้อดีต นายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร

ส. ศิวรักษ์ เชื่อว่าการถูกจับของเขาเกี่ยวข้องกับการที่เขาไปวิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นหลังจากถูกจับจึงไม่ลังเลที่จะโจมตีอดีต นายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง ทั้งทางจดหมายที่เว็บไซต์ผู้จัดการนำมาเผยแพร่และการให้สัมภาษณ์ ที่น่าตกใจก็คือเนื้อหาของคำสัมภาษณ์และจดหมายนั้นแสดงให้เห็นความเป็นไปของ ส. ศิวรักษ์ ตามประโยคในเนื้อเพลงของอัสนี วสันต์ ที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"

เนื้อความใน "จดหมายป้ายขี้" ของ ส. ศิวรักษ์ แสดงให้เห็นว่า ส. ศิวรักษ์ รับเอาความคิดและเชื่อในการเต้าข่าวเรื่องการแสดงละครที่รัชมังคลากีฬาสถาน ของส. ลิ้มทองกุล เข้ามาเต็มเปาอย่างขาดการตรวจสอบ งมงายหมกมุ่นต่อคำพูดของ ส.ลิ้มทองกุล อย่างชนิดที่ขาดการไตร่ตรองเอาเลยทีเดียว ความตอนหนึ่งในจดหมายของ ส. ศิวรักษ์ มีว่า


"รัฐบาลนี้เป็นร่างทรงของบุคคลที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังขอให้สังเกตว่างานมหกรรมเสื้อแดงที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬารัชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นั้น ก่อนที่ทักษิณ ชินวัตร จะปรากฏตัวและเสียง (จากต่างประเทศ) บนจอยักษ์นั้น ได้มีละครเล่นโจมตีพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน แม้จะไม่เอ่ยพระนามตรงๆ ก็ตามที แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ดำเนินคดี และเมื่อทักษิณออกมาแสดงวาทะ เขาก็บอกว่าเขาจะกลับเมืองไทยได้ ก็ด้วยพระราชบารมีที่พระราชทานอภัยโทษให้เขา (ทั้งๆ ที่ความผิดของเขาไม่ใช่เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากเป็นความฉ้อฉลทุจริตอย่างร้ายแรง) หาไม่ เขาก็ต้องอาศัยพลังประชาชน ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเบื้องสูงไม่ช่วยเขา เขาก็จะใช้เบื้องล่างเป็นขบวนการมาล้มล้างเบื้องสูงเสียกระนั้นหรือ แล้วนี่มิเป็นการอ้าขาผวาปีกเกินไปดอกหรือ ชั่งไม่รู้จักตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองเอาเสียเลย"


ความน่าสนใจของจดหมายของส. ศิวรักษ์ นอกจากอยู่ที่การหลงเชื่อลมลิ้มของส. ลิ้มทองกุลอย่างไม่ตรวจสอบแล้ว ยังอยู่ที่การใช้หยิบฉวยสถาบันกษัตริย์มาฟาดฟันทำลายผู้อื่นอีกด้วย

หาก ส. ศิวรักษ์ ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงดังที่เขาพูดไว้หลายครั้ง เขาไม่ควรใช้สถาบัน ฯ เป็นเครื่องมือกล่าวหาผู้อื่น

หาก ส. ศิวรักษ์ คิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จะช่วยในการปกปักรักษาสถาบันฯ ไว้ให้ยืนยาวแล้ว เขาก็ไม่ควรผูกขาดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แบบสร้างสรรค์ไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนคำพูดของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ถึงสถาบันนั้น "เป็นการอ้าขาผวาปีก" "ไม่รู้จักตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา"

ส. ศิวรักษ์ ก็เหมือนใครหลายคนในวัยใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอประเวศ วะสี ศ.ระพี สาคริก กระทั่ง ศ.เสน่ห์ จามริก คือไม่อาจธำรงความสง่างามและความทรงภูมิของตนเองไว้ได้ท่ามกลางความขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างฉุดกระชากลากถูกกันไปคนละข้าง ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไขว้เขวเสียหลักกระทั่งได้รับผลกระทบกับตนเองจนดูเหมือนจะเสียกระบวนไป ภูมิรู้ที่มีอยู่ในตนก็ไม่สามารถช่วยสังคมออกจากความขัดแย้งได้ สับสนกับความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถปรับความคิดความอ่าน

ว่าที่จริง ปรากฏการณ์ "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ส. ศิวรักษ์ หลังกลับจากเมืองนอก ที่ยังหนุ่มและใหม่เสียจนจับต้นชนปลาย แยกผิดแยกถูกไม่ออกในบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคุณหรือโทษต่อสถาบันกษัตริย์

เราได้เห็น ปรากฏการณ์ "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" ของส. ศิวรักษ์ เกิดขึ้นอีกครั้งต่อกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เขาออกตัวยืนข้างศักดินาและภาคประชาชนปลอม ๆ อย่างเปิดเผย


"เพราะคุณมีสถาบันกษัตริย์จะต้องมีศักดินาเล็กน้อย
มีศักดินาเล็กน้อยไม่เสียหาย แต่มีศักดินามากเกินไปเสียหาย"

(สัมภาษณ์ : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าด้วยคดีหมิ่นฯ ก่อนเดินทางไปอังกฤษ)


ส. ศิวรักษ์ นั้นแตกต่างกับส. ลิ้มทองกุลอย่างเทียบกันไม่ติด แต่ดูเหมือนว่าทั้งคู่กับกำลังโน้มเข้าหากันคือเอาตัวรอดโดยผูกขาดความจงรักภักดี และใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อโจมตีคนอื่น.


เมธัส บัวชุม


ที่มา : บล็อกกาซีน (ประชาไท) : เสียงข้างน้อย : ส. ศิวรักษ์และส. ลิ้มทองกุล


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: