วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หนึ่งใจ..เดียวกัน : นี่คือเหตุผลของฟ้า?


บทความนี้เขียนเสร็จตั้งแต่ช่วงหลังจากได้ดูหนังจบประมาณ 2 สัปดาห์เวอร์ชั่นที่เขียนเสร็จใหม่ๆ มีข้อผิดพลาดทางข้อเท็จจริงบางประการ และเป็นผลจากความคะนองทางอารมณ์จนเกินเหตุ

ดังนั้น บางส่วนในเวอร์ชั่นที่เห็นนี้ อาจไม่ตรงกัน เพราะได้ edit บางส่วนที่เห็นว่าไม่จำเป็นและเป็นข้อผิดพลาดออกไปจึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี้


อนึ่ง บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนังอย่างหมดเปลือก




ความโกลาหลของนิตยสารภาพยนตร์

เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกันวางโปรแกรมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย ในวันที่ 7 สิงหาคม 2551 นิตยสารภาพยนตร์ 2 ฉบับก็นำภาพจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาขึ้นปก ได้แก่นิตยสาร Starpics และ เอนเตอร์เทน ตามภาพปกด้านล่างนี้ (ไม่สามารถหาปกของนิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับดังกล่าวมาประกอบได้ จึงนำใบปิดที่ใช้ในปกฉบับนั้นมาวางไว้แทน และขอวิงวอนผู้อ่านทุกท่านจินตนาการคำว่า "เอนเตอร์เทน" อยู่ที่ด้านล่างแทนชื่อหนังนะครับ)

สิ่งที่สะกิดใจผมเอามากๆ เพราะนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ "หัวหนังสือ" ของนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ต้องกระเด็นลงมาอยู่ด้านล่าง เพราะไม่อาจสถิตอยู่สูงกว่าภาพของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางที่คล้ายกับนิตยสารอีกจำนวนมากที่ออกจำหน่ายในเวลาเดียวกัน และนำรูปของทูลกระหม่อมฯ เป็นภาพปก เช่นนิตยสาร Who? และนิตยสารพลอยแกมเพชร ที่ขึ้นปกรูปของทูลกระหม่อมฯให้รับกับสถานการณ์

การที่ชื่อนิตยสารพลอยแกมเพชร กลับสามารถสถิตอยู่เหนือภาพของทูลกระหม่อมฯ ได้ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น "นามแฝง" ของทูลกระหม่อมฯเองนั้น ทำให้ผมเกิดเอะใจ เพราะในสถานะนี้คำว่า "พลอยแกมเพชร" ไม่น่าใช่ "พระนามแฝงของสมาชิกราชวงศ์" หากแต่อยู่ในสถานะของ "ชื่อนิตยสาร" ที่สมควรลงไปอยู่ใต้รูปของทูลกระหม่อมฯ เช่นกับนิตยสารเล่มอื่นๆ ไม่ใช่ได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ (ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการที่ชื่อนิตยสารต้องลงไปอยู่ด้านล่างพระฉายาลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พระรูป ฯลฯ ของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ปัจจุบัน ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายข้อใดหรือไม่ หรือเป็นเพียงธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในวงการนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น)

อีกอย่าง เมื่อผมลองเทียบลักษณะของภาพจากนิตยสารภาพยนตร์อย่าง Starpics หรือ เอนเตอร์เทน กับนิตยสารเล่มอื่นที่ยกภาพปกมาเปรียบเทียบให้ดูด้านบน ผมยิ่งรู้สึกว่าชื่อนิตยสารภาพยนตร์ทั้งสองฉบับที่นำรูปจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกันมาขึ้นปก ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะอยู่ด้านบนนิตยสารตามปกติไม่ได้ เนื่องจากหากพิจารณาดูอย่างรอบคอบแล้ว ภาพที่เห็นบนปก Starpics และเอนเตอร์เทน ไม่ใช่ภาพของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี แต่เป็นภาพของ "พิมพ์ดาว" ซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกัน และแน่นอนว่าพิมพ์ดาวมีฐานะเป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้าฟ้าราชวงศ์ของราชอาณาจักรไทย เพราะรูปที่เอามาประกอบนั้นนำมาจากสื่อประชาสัมพันธ์ของหนังล้วนๆ

บางคนอาจเถียงว่า ถ้าอย่างนั้นหากมีผู้รับบทเป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้งสองภาค แล้วได้ขึ้นปก ก็ต้องเอาหัวหนังสือลงกระนั้นหรือ? ตรงนี้เห็นทีจะต้องเถียงว่าเพราะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับราชวงศ์ปัจจุบันแม้แต่น้อย และยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงการที่จะมีนักแสดงหาญกล้ารับบทเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือสมาชิกราชวงศ์ (ที่บางคนอาจสละราชทินนามไปนานแล้ว) ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในฐานะ "ล่วงละเมิดมิได้" และผนวกกับภาวะเสี่ยงภัยต่อข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 ที่อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

อย่างไรก็ดี จากที่บอกว่าพิมพ์ดาวเป็นสามัญชน แต่เมื่อผมได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกันแบบเต็มๆเรื่อง (ด้วยการเดินไปขอบัตรจาก "รอบฟรี ไม่มีเงื่อนไข" ที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ มาบุญครอง) จึงได้ตระหนักและสำเหนียกได้ว่าที่คิดมาทั้งหมดด้านบนล้วนผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง

เพราะในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครพิมพ์ดาว ที่รับบทโดยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี นั้นไม่ได้อยู่ในฐานะสามัญชน อย่างที่ผม, คนดูหนัง และประชาชนทั่วไปเข้าใจผ่านทางตัวอย่างภาพยนตร์ สื่อโฆษณา หรือแม้แต่ตัวภาพยนตร์เอง

ทว่าพิมพ์ดาวนั้น ดำรงอยู่ในสถานะ "เจ้า" (หรือ "เจ้าชีวิต") ของแท้และแน่นอน


"ฉันเป็นคนยิง แต่ฉันไม่ได้ทำผิด"

ลักษณะความเป็น "เจ้า" ในตัวละครพิมพ์ดาว(ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) นั้นแสดงออกตั้งแต่ฉากแรกที่เธอปรากฏตัว ในห้องประชุมของบริษัทเธอ ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆล้วนแต่ต้องเงียบเสียงลงเมื่อเธอประกาศิตคำสั่งให้ติดต่อซื้อที่ดินที่เคยเป็นของโรงเรียน เพราะเป็นทำเลดีที่สุดสำหรับการลงทุนสร้างคอนโดแห่งใหม่ใจกลางเมือง

หลังจากอุบัติเหตุที่ทำให้ลูกสาวเสียชีวิต เธอไปที่โรงเรียนเพียงหลวง และทุกอย่างก็เกิดขึ้นจนเสร็จสมบูรณ์เพราะการวางแผนของเธอ (ที่ต่อยอดจากเหล่าค่ายอาสาเคยทำเอาไว้ก่อนหน้าทั้งสิ้น) ไม่เพียงแต่ตัวอาคารของโรงเรียนเท่านั้น พิมพ์ดาวยังแนะนำไปถึงตัวหลักสูตรการเรียนการสอนอีกด้วย ซึ่งสาเหตุหลักนั้นในหนังพูดไว้ประมาณว่า "ก็ฉันสอนหนังสือใครไม่เป็นหรอกนะ" คนที่ต้องรับหน้าที่สอนหนังสือจึงกลายเป็นชาวบ้านคนอื่นๆแทน และการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับในหมู่บ้าน เช่น สรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

ทั้งที่เธอไปอยู่เชียงรายเป็นครั้งแรกในชีวิต (เมื่อพิจารณาจากชีวิตอันหรูหราฟุ้งเฟ้อของเธอ และการซื้อปากกาเด็กที่เดินขายตามถนนมาเป็นกำๆ เพื่อประชดลูกสาวในทำนองว่า "นี่ไง ชั้นช่วยซื้อให้แล้ว ชั้นช่วยเด็กแล้ว ไม่เห็นต้องดั้นด้นถ่อไปถึงเชียงรายเหมือนแก") แต่เธอกลับเข้ากับชาวบ้านได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ชาวบ้านแม้แต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน พูดด้วยภาษาที่ไม่คุ้นหูนักธุรกิจระดับแนวหน้าอย่างเธอ แต่ดูเธอก็ฟังออกได้อย่างไม่เคอะเขิน และไม่มีทีท่าปฏิเสธหรือต่อต้านเลย จะมีก็เพียงแค่น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกจำนวนมาก เสื้อผ้าตามสมัยนิยมอีกเป็นตู้ และเครื่องสำอางอีกเป็นโหล ที่เธอขนมาใช้ยามอาศัยในแดนกันดาร ซึ่งตรงนี้หนังได้แก้ตัวให้แก่เธอเรียบร้อยว่า "ถึงคุณพิมพ์ดาวเพิ่นจะแต่งตัวแต่งหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพิ่นจะยะการยะงานบ่ได้เน่อ"

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จสมบูรณ์ ในวันแรกหลังจากนั้น พิมพ์ดาวคือคนที่มอบ "ธงชาติ" ผืนใหม่ให้กับผู้ใหญ่บ้าน ในลักษณะที่เกือบจะเป็นพิธีการ ซึ่งขาดแค่ข้าราชการกระทรวงศึกษาชั้นผู้ใหญ่มาเปิดงาน ที่ในหนังย่อมไม่อาจทำอย่างนั้นได้ เพราะข้าราชการจาก ส.พ.ศ.ถ. รังเกียจโรงเรียนแห่งนี้ยิ่งกว่าอะไรดี นานๆทีจะยอมเสด็จมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง

ครั้งหนึ่งที่ข้าราชการคนนี้ (และภรรยาของเขาผู้ชื่นชอบแหวน "เพชรสีน้ำเงิน") เอาเอกสารสั่งปิดโรงเรียนเดินทางมาบีบบังคับผู้ใหญ่บ้าน เขาพูดจากวนประสาทจนเด็กนักเรียนยิงหนังสติ๊กใส่หน้าผาก (ฉากนี้มีในตัวอย่างภาพยนตร์ทางโทรทัศน์) เมื่อเขาเข้ามาคาดคั้นเด็กๆมากเข้า พิมพ์ดาวก็เดินออกมาจากที่ไหนไม่รู้ หยิบหนังสติ๊กที่เด็กโยนทิ้งไว้ที่พื้น แล้วพูดว่าเธอยิงเอง ก่อนจะพูดประโยค "ฉันเป็นคนยิง แต่ฉันไม่ได้ทำผิด" และราวกับประกาศิต อยู่ดีดีข้าราชการ ส.พ.ศ.ถ. คนนั้นและเมียก็เกิดปากหนักขึ้นมาทันควัน คิดคำมาเถียงไม่ออก ชวนกันขึ้นรถขับออกจากหมู่บ้านไปในทันที

ยังมีอีกหลายฉาก ทั้งฉากที่พิมพ์ดาวเข้าไปยุ่มย่ามกับเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งล้ำเส้น "ความห่วงใยในฐานะคนรู้จัก" เข้าสู่การก้าวก่ายเรื่องชาวบ้านและวางตนเหนือกว่าอย่างชัดเจน ราวกับว่าเธอมีอำนาจอาญาสิทธิ์ (เธอถามแม่ของสวยเมื่อทราบว่าสวยถูกพ่อขายให้ขบวนการตกเขียวว่า "ทำไมทำอะไรไม่ปรึกษาฉันก่อน?" ทั้งที่จริงๆคนที่แม่ของสวยน่าจะเข้าไปปรึกษามากที่สุดคือผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่คนแปลกหน้าอย่างเธอ) หรือในฉากบายศรีสู่ขวัญ ที่ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่าเธอเป็น "ศูนย์รวมขวัญกำลังใจของหมู่บ้าน"

ไม่เพียงเท่านั้น การแสดงของทูลกระหม่อมฯ ที่ไม่ได้แสดงหนีห่างจากความเป็นพระองค์เองมากนัก ก็ยั่วเย้าให้ชวนคิดถึงการตอกย้ำภาพของความเป็นเจ้าในตัวละครนี้มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่คิดถึงความต้องการยศ "ปรินเซส" ของทูลกระหม่อมฯคืน หลังจากการสละยศไปเมื่อคราวที่สมรสกับนายปีเตอร์ เจนเซ่น (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)

คนที่ตั้งแง่สงสัยเจตนาที่แท้จริงของพิมพ์ดาวเพียงคนเดียวของเรื่องกลับเป็นนิล(ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) เด็กสาวลุคคล้ายทอมบอยที่สนิทสนมกับแพท(นิสารัตน์ อภิรดี)ตอนมาทำค่ายอาสาที่เพียงหลวงเมื่อตอนต้นเรื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็มองเห็น "ความจริงใจ" ในตัวของพิมพ์ดาว ทว่าความไว้วางใจทั้งหมดนี้ถูกทำลายลงเมื่อเธอได้เห็นไดอารี่ของแพทที่พิมพ์ดาวหยิบติดตัวมาด้วย (และจริงๆแล้วเธอก็เดินเขียนไดอารี่ไปทั่วหมู่บ้าน จนทุกคนน่าจะเห็นไปนานแล้ว) จึงได้รู้ว่าเป็นแม่ของแพท ผู้เป็นนักธุรกิจที่ซื้อที่ดินโรงเรียนไปสร้างคอนโด

เนื้อเรื่องส่วนนี้จริงๆคงเป็นช่องโหว่ของบทภาพยนตร์ (นิลไม่รู้เลยหรือว่าพิมพ์ดาวคือแม่ของแพท ทั้งที่ตอนต้นเรื่องเธอยังหยอกเย้าแพทว่า "แล้วแม่แกจะให้มาเป็นครูที่นี่เหรอ" ราวกับว่ารู้จักครอบครัวของแพทดี และ ไม่มีใครจำไดอารี่ของแพทได้เลยหรืออย่างไร? ทั้งที่พิมพ์ดาวก็ถือเดินร่อนไปเสียทั่วหมู่บ้านขนาดนั้น) แต่การนำเสนอภาพนิลที่ปรี่เข้าไปชี้หน้าด่าพิมพ์ดาวกลางงานบายศรีสู่ขวัญ (ซึ่งตอนนั้นพิมพ์ดาวกำลังจะบอกความจริงกับคนในหมู่บ้านพอดี) ว่าเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ไม่จริงใจ เป็นเศรษฐีที่หากินกับผลกำไรโดยไม่เห็นหัวคนอื่น และเอาเศษเบี้ยจากกำไรมหาศาลมาโยนให้โรงเรียนบ้านนอกเพื่อสร้างภาพ ตรงนี้กลับทำให้ตัวละครนิลดูไร้เหตุผลขึ้นมาทันที

น่าสงสัยหรือไม่ ที่ตัวละครเดียวในเรื่องที่ตั้งแง่สงสัยเจตนาแท้จริงของนางเอก กลับถูกยัดเยียดความไร้เหตุผลของบทภาพยนตร์มาให้ ณ ส่วนนี้ ก่อนที่ท้ายที่สุดหลังความตายของพิมพ์ดาว ก็มีฉากที่ฉายให้เห็นน้ำตาแห่งความสำนึกผิดของเธอ ที่เคยอกุศลไม่ไว้ใจในตัว "แม่พระ" คนนี้ขึ้นมาแวบหนึ่ง เมื่อเห็นพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่าพิมพ์ดาวได้ยกเลิกโครงการคอนโดที่ไร้มนุษยธรรมโครงการนั้นไปก่อนหน้านี้แล้ว

ฉากที่เด่นชัดและตอกย้ำความเหนือมนุษย์ของพิมพ์ดาว คือฉากที่พ่อของสวย(วิทยา เจตะภัย หรือ ถนอม สามโทน) ซึ่งรับเงินมาจากข้าราชการ ส.พ.ศ.ถ. มาเผาโรงเรียนเพียงหลวงเข้ามาขอโทษคนในหมู่บ้าน หลังจากสำนึกได้ที่เห็นพิมพ์ดาวลุยไฟเข้าไปช่วยลูกสาวคนเล็กของตนเอง เขากล่าวโทษตัวเองว่า "ทั้งที่ผมเป็นคนในหมู่บ้านนี้ กลับไม่เห็นความสำคัญของโรงเรียน แต่คุณพิมพ์ดาวเป็นคนที่อื่นแท้ๆ...."

ยิ่งไปกว่านั้น เขาไหว้ขอโทษผู้ใหญ่บ้าน ไหว้ขอโทษนิล ภารโรง และคนอื่นๆ

แต่กับพิมพ์ดาว เขากราบแทบเท้าเธอ...


เพียงหลวง

เหมือนจะเป็นชื่อธรรมดา แต่ลองตีความสักหน่อย ไม่ต้องลึกซึ้งมาก มันก็หมายความว่าที่นี่ไม่ต้องการอะไร แต่ขอเพียง "หลวง" เข้ามาเหลียวแลสักครั้งก็ยังดี ซึ่งบังเอิญตัวแทนของ "หลวง" อย่าง ส.พ.ศ.ถ. คนนั้น ก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้เลย พิมพ์ดาวจึงเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้แทนอย่างช่วยไม่ได้

หมู่บ้านแห่งนี้น่าจะทำหน้าที่แทนภาพของชนบทกันดารอื่นๆในประเทศไทย ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากข้าราชการ(หลวง) ทั้งในเรื่องของการศึกษาและเรื่องอื่นใด มีค่านิยมส่งลูกหลานเข้าไปในกรุงเทพฯ ในช่วงต้นเรื่อง ผู้ใหญ่บ้าน(รอง เค้ามูลคดี) พูดอย่างชัดเจนว่าหมู่บ้านนี้วัยรุ่นต้องการไปหางานทำในกรุงเทพฯ ดีกว่าจมปลักอยู่ในหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เลยเหลือแต่เด็กกับคนแก่ ก่อนจะฉายภาพรถตู้ที่แปะสติกเกอร์รูปสายรุ้ง กับคุณนายท่าทางไม่น่าไว้ใจมารับเด็กสาววัยรุ่นในหมู่บ้านขึ้นรถไปในครั้งแรก ก่อนที่ครั้งหลังจะฉายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่านี่คือขบวนการ "ตกเขียว" จากพ่อแม่ผู้ยากจน จนไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากขายลูกกิน

พ่อของสวย(น่าสงสารจริงๆ นอกจากถูกยัดเยียดความชั่วร้ายให้ ยังเป็นตัวละครที่ไม่มีแม้แต่ชื่อจริงเป็นของตัวเอง) ขายลูกสาวตัวเองให้กับรถตู้คันนั้นและรับจ้างเข้ามาเผาโรงเรียนเพียงหลวง

แทบทั้งเรื่องมีพ่อของสวยเพียงคนเดียวที่ถูกนำเสนอในฐานะชาวชนบทที่ "จน-เครียด-กินเหล้า" และกระทำพฤติกรรมกักขฬะกับคนในครอบครัว ชาวบ้านทุกคนแทบไม่มีด้านมืด นอกจากตัวละครตัวนี้ และเมื่อได้กระทำผิด ก็สำนึกตนในเวลาอันรวดเร็ว (หนังใช้เวลาไม่ถึงสองนาที หลังจากไฟที่ไหม้โรงเรียนดับมอดลง) ซึ่งสิ่งที่ทำให้พ่อของสวยกลายเป็นคนอย่างที่เราเห็นในหนัง ตัวหนังก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากความ "ไม่พอเพียง" ส่วนตน

ไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านจะรับความเป็นเจ้าของพิมพ์ดาวได้โดยไม่เคอะเขิน เพราะพวกเขาถูกสั่งสอนมาเป็นเวลานานถึงการเรียกร้องความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ตามสไตล์ของชาวชนบทแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากกลุ่มค่ายอาสา (ที่เปรียบเสมือน NGO) การเรียกร้องความช่วยเหลือจากข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ แต่สุดท้ายคนที่ได้รับความดีความชอบไปเต็มๆ คือ "เจ้า" อย่างพิมพ์ดาว เพราะการช่วยเหลือแบบทางการของข้าราชการไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือด้านสังคม ล้วนแต่ไม่มีทางเป็นไปได้เพราะบุคลากรได้เสื่อมคุณภาพอย่างกู่ไม่กลับ

ฉากที่ชัดเจนที่สุด คือฉากสุดท้ายก่อนพิมพ์ดาวจะเสียชีวิต เมื่อเธอพูดสุนทรพจน์เกี่ยวกับชีวิตของเด็กๆในเพียงหลวงบนเวที ครั้นเธอพูดจบลง เด็กชายจ่อย(ปานวัชร์ มีปัญญา) หันมาพูดกับเธอทั้งน้ำตาในภาษาถิ่นภาคเหนือว่า

"ผมรู้ว่าคุณเหนื่อย ผมไม่เอาโรงเรียนแล้วก็ได้ ขอให้คุณพิมพ์ดาวกลับไปอยู่กับเราก็พอ"


ข้าราชการ/นายทุน/พอเพียง

ถึงตอนนี้ มีจุดสังเกตที่น่าสนใจมากข้อหนึ่ง เพราะการวาง "ตัวเอก-ตัวร้าย" ของหนังเรื่องนี้ต่างกับหนังไทยที่วิพากษ์ระบบการเมือง-สังคมในสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง

ตามปกติวิสัยของหนังไทยการเมือง (ซึ่งก็ร้างวงการไปนานเหลือเกิน) ตัวละครที่เป็นผู้ร้ายมักเป็นคนรวย นายทุน ที่แปรสภาพเป็นเจ้าพ่อมาเฟีย เข้ามาคุกคามตัวละครเอกที่มักเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบราชการ/การเมือง และทนไม่ได้ที่ต้องทำงานใดๆอันขัดกับหลักการแห่งความถูกต้องตามอุดมการณ์

ทว่าในหนึ่งใจ..เดียวกัน ตัวละครผู้ร้ายกลับกลายเป็นข้าราชการ และนายทุนรายยักษ์เจ้าของบรรษัท พลิกกลับมาเป็นตัวละครเอกจิตใจงามเสียนี่ (แม้จะเป็นการกลับตัวกลับใจเพราะความสูญเสียก็ตาม)

เมื่อพิมพ์ดาวเป็นนายทุน และยังมีลักษณะความเป็นเจ้าแสดงออกมาข้นทะลักเสียขนาดนี้แล้ว คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกัน กำลังทำหน้าที่แก้ตัวให้กับชนชั้นราชวงศ์ ที่แท้จริงแล้วเป็นนายทุนรายใหญ่ของประเทศ (ดังที่กลุ่ม "แอนตี้เจ้า" มักหยิบข้อมูลตัวเลขขึ้นมาอ้างอิงเสมอๆ และมักเป็นข้อมูลที่ฝ่าย "โปรเจ้า" ปฏิเสธไม่ยอมรับรู้อยู่ร่ำไป เพราะ "เจ้า" มักอยู่ตรงข้ามกับภาพของความเป็นนายทุนและคนร่ำรวย ที่ประชาชนถูกทำให้มีภาพฝังใจว่าเป็นผู้ร้ายหรือมาเฟียอยู่เสมอผ่านสื่อต่างๆ) ว่าแม้ฉันจะเป็นนายทุน แต่ฉันก็สามารถทำงานเพื่อสังคมและประชาชนได้อย่างไม่ขัดเขิน - ดังที่กล่าวถึงข้อแก้ตัวเรื่องการแต่งหน้าแต่งตัวของพิมพ์ดาวไปก่อนข้างต้น (ฉันไม่ได้ทำผิด - ฮา)

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างชัดเจน แม้จะไม่มีการกล่าวอ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ตั้งแต่การนำเสนอตัวละครพ่อของสวยเป็นคนไม่พอเพียงจนกลายเป็นคนชั่วอย่างที่กล่าวในหัวข้อที่แล้ว ไปจนถึงการวางหลักสูตรการเรียนการสอนของพิมพ์ดาว ที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน/ชาวบ้าน/ภารโรง/ค่ายอาสา มาเป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งไม่เพียงแค่ปฏิเสธสิ่งที่ชาวหมู่บ้านเพียงหลวงขอให้เธอทำเท่านั้น ("ฉันสอนหนังสือใครไม่เป็นหรอกนะ") ยังเป็นการปลูกฝังความคิดเรื่องพอเพียงทางอ้อมอีกด้วย

ภาพเหล่านี้นับเป็นการครอบงำที่น่ากลัวทีเดียว เพราะหนังถึงขั้นบอกให้ชาวบ้านเลิกหวังเรียกร้องการบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนจากภาครัฐ ในเมื่อไม่มีครูที่อาสามาสอนในโรงเรียนกันดารแห่งนี้ พวกเราก็เป็นครูกันเสียเองโดยไม่ต้องสนใจหลักสูตร ไม่จำเป็นต้องเรียนให้เท่ากับเด็กนักเรียนในเมือง และเลิกมุ่งหวังการ "เข้ากรุง" ไปโดยปริยาย ซึ่งสะท้อนนัยของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า ให้ลดความต้องการในจิตใจลงให้เหลือเท่ากับสิ่งที่เรามี เมื่อเราไม่มีครูก็ไม่ต้องสนใจ เรียนเหมือนเด็กในเมืองหรือไม่ก็ไม่ต้องแคร์ เพราะว่าข้าราชการมันพึ่งไม่ได้ และฉันในฐานะเจ้า ก็ไม่มีหน้าที่มาทำงานแทนข้าราชการขี้ฉ้อขี้เกียจพวกนี้ด้วย

เศรษฐกิจพอเพียงจึงแทบไม่ต่างกับภาพลวงตาว่ามีคน(เจ้า)เข้ามาโอบอุ้มกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสด้วยการยื่นแนวคิดใหม่ให้ โดยชาวบ้านไม่ได้เฉลียวใจว่า เจ้าก็ยังปล่อยให้พวกเขาดิ้นรนกันเองเท่าที่พวกเขามีอย่างจำกัดจำเขี่ยอย่างเคย และถูกหลอกซ้ำอีกชั้นว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการดิ้นรนให้หลุดจากสภาพที่เป็นอยู่

สิ่งที่ดูจะ irony มากของประเด็นนี้ คือหนังกลับพยายามพูดว่าเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบใดๆ โดยให้เด็กชาวบ้านคนหนึ่งพูดกับพิมพ์ดาว เมื่อเขาโดดเรียนมาว่า "นึ่คุณครู(ชี้ไปที่พิมพ์ดาว) แล้วนี่ก็คือโฮงเฮียน(ทำมือโอบไปรอบๆ) แล้วตอนนี้เราทุกคนกำลังเฮียนหนังสือแม่นก่?" แต่จริงๆแล้วสิ่งที่พิมพ์ดาวปลูกฝังให้ชาวบ้านคือการพาชาวบ้านไปขังไว้ในกรอบของความพอเพียงต่างหาก

ข้าราชการ(ในวาทกรรม)อาจไม่เห็นหัวชาวบ้าน แต่เจ้านั้นแสร้งว่าเห็นใจชาวบ้าน ทั้งที่จริงๆพฤติกรรมก็ไม่ต่างกัน แถมยังทุ่มเงินสร้างหนังให้คนดูชื่นชมซาบซึ้งในตัวเองไปพลางๆได้ด้วย


"ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยจริงใจกับเรา!!"

ผมสงสัยเหลือเกินว่าถ้าหากวันที่นิลออกมาชี้หน้าด่าพิมพ์ดาวกลางงานบายศรีสู่ขวัญไม่เกิดไฟไหม้โรงเรียนขึ้นมาพร้อมๆกันเสียก่อน ปฏิกิริยาระหว่างพิมพ์ดาวกับนิล หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนิลกับชาวบ้านจะเปลี่ยนไปหรือไม่? เพราะในเมื่อเธอเพิ่งจะกล่าวโทษคนที่เป็น "ขวัญกำลังใจของหมู่บ้าน" อย่างรุนแรงและตรงไปตรงมา ต่อหน้าต่อตาผู้คนที่นับถือและศรัทธาเธออย่างสุดหัวใจ

จริงๆ หากหนังจะเล่นให้หนักมือหรือเอาให้สุดทาง นิลอาจถูกชาวบ้านรุมรังเกียจที่หาญกล้าตั้งข้อสงสัยในตัวพิมพ์ดาวว่าที่กระทำไปทั้งหมดนั้นคือการสร้างภาพ เพราะถ้าเทียบบทบาทของพิมพ์ดาวและนิล กับบทบาทของเจ้าและนักวิชาการ/เอ็นจีโอ การตั้งข้อสงสัยครั้งนี้ก็เปรียบเหมือนการตั้งคำถามถึงโครงการพระราชดำริ หรือโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ของเจ้าที่มุ่งสู่ชนบทโดยตรง หรือโครงการทูบีนัมเบอร์วัน(ฮา) ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงทับซ้อนและทำไปเพื่อสร้างภาพ (รวมทั้งการขุดประวัติของเจ้าว่าเคยระรานคนอื่นไว้อย่างไรเมื่อใดและมากมายแค่ไหน)

เมื่อพิจารณาสถานะของนิล แม้เธอจะลาออกจากงาน(มาแบบสายฟ้าแลบไม่มีเหตุผล)เพื่อมาเป็นครูที่เพียงหลวงอย่างเต็มตัว แต่เมื่อชาวบ้านที่ฝังใจว่าพิมพ์ดาวมาช่วยหมู่บ้านอย่างจริงใจได้ยินคำปรามาสจากนิลอย่างนี้ นิลเองต่างหากที่จะกลับกลายเป็นคนนอกและถูกบอยคอตอย่างรุนแรง แต่ก็จะมีพิมพ์ดาวเพียงคนเดียวที่มองเธออยู่ห่างๆอย่างเข้าใจ แม้เธอจะรู้ตัวว่าตัวเองผิดที่ไม่บอกความจริงแต่แรก ทว่าก็คงไม่ออกมาช่วยนิลแก้ตัว หรือปกป้องนิลจากชาวบ้านที่กำลังโกรธแค้น (ก็ขนาดสอนหนังสือเธอยังบอกว่าสอนไม่เป็นเลย อิอิอิ)

หากจะสรุปความสิ่งที่นิลได้กระทำกลางงานบายศรีสู่ขวัญในสายตาของชาวบ้านผู้ใสซื่อบริสุทธิ์ เห็นจะไม่มีคำไหนเหมาะสมไปกว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

นับว่าโชคยังดี ที่คำพูดของนิลได้มลายหายไปจากความทรงจำของผู้คน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงเรียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกร้องให้ผู้คนเข้าไปช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือและร่วมแรงร่วมใจซึ่งกันและกัน (อย่างไรก็ดี ชาวบ้านก็ได้แต่ยืนอึ้งกิมกี่มองไฟไหม้อาคารโรงเรียน เพื่อรอให้พิมพ์ดาววิ่งกระหืดกระหอบมาออกคำสั่งให้ทุกคนเริ่มหาทางดับไฟ)

น่าประหลาดใจทีเดียว ที่หนังเลือกยัดเยียดเหตุการณ์ที่เรียกร้องความ "สมานฉันท์" อย่างยิ่ง ให้อุบัติขึ้นทันทีที่เกิดความบาดหมางระหว่างนิลกับพิมพ์ดาว เพราะเท่าที่ผมจะคิดได้ หากหนังลากยาวให้เกิดความไม่สนิทใจต่อนิลก่อตัวขึ้นในใจของชาวบ้าน แล้วตบท้ายด้วยการให้พิมพ์ดาวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หนังจะเสริมภาพของเจ้าให้มีจิตใจงดงาม เปิดกว้าง และยุติธรรมขึ้นอีกมากโข (เหมาะสมกับคำชมว่า "ยู อาร์ โซ บิวตี้ฟูววววว" เป็นที่สุด)

หรือแท้จริงแล้วในความคิดความอ่านของเจ้าเองไม่ได้มองว่าเจ้ามีหน้าที่เป็นผู้แก้ตัวหรือไกล่าเกลี่ยสถานการณ์ให้กับคนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ไม่จงรักภักดีต่อเจ้า? หรือว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ความสมานฉันท์ที่เกิดจากการประกาศเรียกร้องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ต้องรอให้เกิดความพินาศหายนะขึ้นเสียก่อน(เช่น โรงเรียนถูกเผา ประเทศชาติล่มจมย่อยยับ) ความร่วมแรงร่วมใจสมานฉันท์จึงจะตามมา?

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า หนังจึงใส่เหตุการณ์เผาโรงเรียนเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงความอีหลักอีเหลื่อที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง หากทิ้งเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเรื่อยๆดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อตัดความหวังที่คนดูจะมองเห็นเจ้าทำในสิ่งที่เจ้าไม่อยากทำ นั่นคือการ "อภัยโทษ"


"ยู อาร์ โซ บิวตี้ฟูววววววว"

ช่างเป็นประโยคภาษาอังกฤษที่ดูง่าย ดูจริงใจ ที่ออกจากปากของเด็กชาวชนบทกันดารผู้ไร้เดียงสา แต่อย่าลืมว่าคนที่สอนประโยคนี้ก็คือพิมพ์ดาว ซึ่งดูจะเป็นคนเดียวในหมู่บ้านขณะนั้นที่รู้จักภาษาอังกฤษ (แม้แต่นิลที่เป็นนักศึกษาและทำหน้าที่ครูจำเป็นในขณะนั้น ยังไม่เริ่มหรือคิดที่จะสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในโรงเรียนเพียงหลวงเลย)

ความน่าสนใจชวนยั่วเย้าให้ตีความของประโยคใสซื่อนี้อยู่ตรงที่เหตุผลของการสอนคำนี้ เพราะเด็กชายจ่อยถามพิมพ์ดาวว่า ผมจะพูดประโยคไหนให้ผู้หญิงฟังแล้วยิ้มได้? พิมพ์ดาวจึงให้ประโยคนี้เป็นคำตอบ

ความสำคัญของประโยคนี้ จะยังความเคลิบเคลิ้มให้กับผู้ฟังได้ต้องอาศัยสองปัจจัยหลักๆ หนึ่งคือต้องรู้ความหมายของมันอย่างชัดแจ้ง และสอง เชื่อว่าคนพูดพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจเต็มเปี่ยม แต่ปัจจัยเร่งที่ทำให้ประโยคนี้กลายเป็นประโยคเรียกน้ำตาของหนัง คือความเป็น "เจ้า" สุดกู่ของหนังเรื่องนี้นี่เอง

หลายคนอาจคิดว่าหนังใช้ประโยคนี้เฉพาะที่เห็นในตัวอย่าง (คือตอนที่จ่อยพูดกับนิล) แต่หนังกระทำหนักข้อกว่านั้น ด้วยการให้ประโยค "ยู อาร์ โซ บิวตี้ฟูววววว" เป็นประโยคสุดท้ายในชีวิตของพิมพ์ดาว! ซึ่งเมื่อเทียบเคียงดูแล้วก็เท่ากับว่า เมื่อ "เจ้า" เพียงคนเดียวของหนัง ฟังประโยคนี้จากปากจ่อย (พร้อมๆกับประโยคที่ว่า ผมไม่เอาโรงเรียนก็ได้) เจ้าองค์นี้ก็ "ตายตาหลับ" ไปในบัดดล

พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ประโยคใสซื่ออันนี้ มีสถานะเทียบเท่ากับคำว่า "ทรงพระเจริญ"

ย้อนให้อ่านกันอีกสักครั้ง เหตุผลที่จ่อยพูดประโยคนี้กับพิมพ์ดาว เพราะเธอบอกว่าถ้าพูดประโยคนี้แล้วผู้หญิงจะยิ้มให้ จ่อยจึงเลือกใช้ในสถานการณ์ช่วงท้ายเรื่องเพื่อให้พิมพ์ดาวยิ้ม และทั้งเรื่องมีพิมพ์ดาวเพียงคนเดียวที่ทราบความหมายของประโยคนี้ แล้วซาบซึ้งในความบริสุทธิ์ใจของผู้พูด ต่างจากเด็กสาวบ้านนอกคนอื่นที่ไม่รู้ความหมาย

แน่นอนว่า ถ้าเราไม่รู้ความหมายแท้จริงของคำว่า "ทรงพระเจริญ" เมื่อได้ยินก็ย่อมคิดว่าเป็นภาษาประหลาดไม่มีความหมาย แต่หากผ่านการบอกกล่าวปลูกฝังที่ได้ผลแล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังก็ต้องยิ้มออกกันเป็นธรรมดา เพราะถือว่าเป็นคำที่มีความหมายดี (ยกเว้นนิล ที่หนังวางตำแหน่งให้เป็น "ผู้ไม่จงรักภักดี" ต่อพิมพ์ดาว เมื่อเธอได้ยินประโยคนี้เธอจึงไม่เกิดความซาบซึ้งใดๆ มีเพียงความแปลกใจเล็กน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้น และไม่ลดโทษของการโดดเรียนให้จ่อยและผองเพื่อน) ไม่ว่าจะพูดกับเจ้า หรือพูดกับสามัญชนด้วยกันก็ตาม

เหมือนสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ใครได้ยินได้ฟังประโยคนี้จากปากของคนรอบข้าง(และถูกปลูกฝังว่า "ทรงพระเจริญ" คือคำที่แสดงถึงความจงรักภักดี) ก็คงยิ้มอย่างมีความสุข

โดยเฉพาะ "เจ้า" ที่คิดว่าตนได้รับความภักดีมากล้น ต่อให้ตายก็คงตายตาหลับ เพราะนี่คือเหตุผลของฟ้า ที่ฉันได้มีวันนี้


ความเป็นปรินเซส

เครดิตปิดท้ายของหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่ตลกมาก เพราะหนังขึ้นตอนท้ายว่า "ภาพยนตร์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" และมีภาษาอังกฤษด้านล่างว่า "A film by Princess Ubolratana Mahidol" (หรือไม่มี Mahidol ไม่แน่ใจ)

หากแปลตามความหมายสากลแล้ว นั่นเท่ากับว่าทูลกระหม่อมฯ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เสียเอง ไม่ใช่นายสิริปปกรณ์ วงศ์จริยวัฒน์ ผู้กำกับตัวจริงแต่ประการใด

เมื่อผนวกกับลักษณะของการ "ประทานสัมภาษณ์" ตามรายการโทรทัศน์ต่างๆ (เพื่อโปรโมตหนังเรื่องนี้) แต่ละรายการต้องจัดที่นั่งที่ดูหรูหราให้นั่ง พิธีกรและผู้ร่วมรายการคนอื่นต้องนั่งพับเพียบกับพื้น และใช้ราชาศัพท์ในการพูดคุยสัมภาษณ์อย่างเต็มรูปแบบเกินความเป็น "ทูลกระหม่อม" (บางรายการเลือกใช้ศัพท์ที่ใช้กับระดับของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเลยทีเดียว) รวมถึงการ "กราบ" ทั้งตอนเข้ารายการและตอนจบรายการสัมภาษณ์ และการกราบขอประทานอภัยของนุ่น-ศิรพันธ์ หลังจากเข้าฉากปะทะคารมกันในงานบายศรีสู่ขวัญ ที่กลายเป็นไฮไลต์ของชีวิตการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย

เพียงแต่การเป็นปรินเซสเฉยๆ ประชาไทยก็คงไม่โอเคเท่าไหร่นัก ถึงได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นเพื่อสร้างภาพของการเอาใจใส่อาณาประชาราษฎร์ที่ด้อยโอกาส เลยออกมาเป็นหนังที่มีทัศนคติแปร่งปร่าอย่างที่ว่ามาเสียยาวยืดด้านบนๆนั่นแล


nanoguy


ปล. สี่วันแรกหนังทำเงินไปได้เพียงเกือบ 10 ล้านบาทเท่านั้น (แพ้ The Mummy ภาคสาม ที่ฉายเป็นสัปดาห์ที่สองร่วมสิบล้านบาท!!) น่าจะแสดงให้เห็นว่าการโฆษณาเรียกคนดูของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจ..เดียวกัน นั้นคาดการณ์การตอบรับของคนดูได้ผิดถนัดทีเดียว และอาจเป็นเพราะ "จุดเด่น" ที่นำมาขายในการประชาสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่มีพลังเพียงพอ

ปลล. ไม่แน่ใจว่าความเป็นเจ้าที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนเต็มหนังไปหมดอย่างนี้ เป็นมาตั้งแต่ตอนเป็นตัวหนังสือใน "เรื่องสั้นที่..ฉันคิด" หรือเพิ่งมาขยายความอย่างสุดกู่เมื่อเป็น "หนึ่งใจ..เดียวกัน" แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นประการใด ผู้ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นเจ้าในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียวเท่านั้น

******
สำหรับมิตรรักแฟนบล็อกทุกท่าน หรือผู้ที่รักการชมภาพยนตร์ และใครก็ตามที่แวะเข้ามานอกจากบทวิจารณ์ยาวๆ ที่นานๆ ผมจะได้เขียนที หรือว่าเกรดหนังแบบสั้นๆในหน้า Year 2008สำหรับบทรีวิวแบบสั้นๆ ของผมและเพื่อนผู้บ้าหนังอีก 5 ท่านเชิญติดตามได้ที่ http://vreview.yarisme.com/


ที่มา : n a n o g u y [ทำไมประเทศไทยมันประหลาดขึ้นทุกวันๆ] : หนึ่งใจ..เดียวกัน : นี่คือเหตุผลของฟ้า?


หมาเหตุ
สามารถดูบทความฉบับสมบูรณ์ที่มีรูปภาพประกอบบทความได้ที่บล็อกของท่านเจ้าของผลงาน แล้วทุกๆท่านจะได้รสชาติในการอ่านมากยิ่งขึ้น...

* การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นี่เป็นบทความที่คิดเองเออเองที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา คนเขียนน่าจะใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองบ้างก่อนที่จะเขียนออกมา