วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ถ้างานศพ 2 พันธมิตรทีเสียชีวิต เป็นงานพระราชทานเพลิงศพจริง เป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง


ผมยังไม่แน่ใจจนกว่าจะได้เห็นงานผ่านไปแล้วว่า ที่ผู้จัดการ-พันธมิตร ประกาศว่า งานศพของ 2 พันธมิตร ที่เสียชีวิตจากเหตุกาณ์วันที่ 7 ตุลา จะเป็น "งานพระราชทานเพลิงศพ" นั้น จะเป็นจริงๆ

แต่ถ้าเป็นจริง ผมเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่งเมื่อวาน เมื่อข่าวนี้ออกมา มีผู้เขียนที่บอร์ดใดสักแห่ง ผมจำไม่ได้ ว่า เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆก็ขอ "พระราชทานเพลิงศพ" ได้ครับ ใครๆ ก็ขอได้ (ความจริง มี "หลักเกณฑ์ทั่วไป" สำหรับคนที่ "เข้าข่าย" อยู่) แต่จะ "พระราชทาน" หรือไม่ ย่อม "ตามพระราชอัธยาศัย"

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 2475

(ผมยอมรับว่าไม่มั่นใจ 100% เพราะไม่มีเวลาเช็คข้อมูลละเอียด ท่านใด สามารถทำได้ หรือมีข้อมูลโต้แย้ง โปรดเมตตา)

ไม่เคยมีการพระราชทานเพลิงศพ ผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยที่ผู้นั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำงานให้รัฐมีกรณียกเว้นกรณีเดียว ที่ผมนึกออกตอนนี้ คือ 14 ตุลา

แต่ 14 ตุลา เป็นกรณีพิเศษ และแม้แต่กรณี 14 ตุลา เอง กว่าจะถึงการ "พระราชทานเพลิงศพ" จริงๆ (ตุลาคม 2517) ก็เกือบจะไม่เกิดขึ้น คือ ถ้า "บางคน" เลือกได้ คงไม่อยากให้เกิดขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากงานนั้น มี commitment (พันธะสัญญา) มาล่วงหน้าเป็นปี(ผมขอไม่อธิบายรายละเอียด เพราะจะยาว และผมไม่มีเวลาขณะนี้ เรื่องนี้ เข้าใจว่า จะมีผู้เขียนบทความวิชาการออกมาในเร็วๆนี้)

แต่ถ้าไม่นับ 14 ตุลา แล้ว ไม่เคยมี พลเรือน ทีไม่ใช่ทำงานให้รัฐ ได้รับ "พระราชทานเพลิงศพ" จากความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง ความขัดแย้งนั้น เป็น หรือ เกี่ยวข้องกับ ความขัดแย้งกับรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

กรณีพันธมิตร นี้ ความจริง ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง ระหว่างพลเมืองด้วยกันเอง 2 กลุ่มด้วย

จึงยิ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดามากขึ้นอีก


..................

ขอย้อนไปเรื่อง พระราชทานเงิน ตอนเช้า เล็กน้อยใครที่อธิบายว่า เป็นเรื่องธรรมดา แสดงว่า คงไม่มีความสามารถในการคิดตอนเช้า มีเพียงพันธมิตรเท่านั้น ที่มีข่าวออกไปว่า บาดเจ็บคำสัมภาษณ์ของ ผอ.รพ. วชิระ (ซึ่ง นสพ.ลงตรงกัน มากกว่า 1 ฉบับ) ในตอนเช้า ก็ clear ว่า เป็นเงินสำหรับช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขณะนั้นคือฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น รวมถึงเรื่องที่กล่าวว่า รายจ่ายอื่นๆให้แจ้งไปยังราชเลขาธิการด้วยข้อสรุปของนัยยะเรื่องนี้ เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวแต่ผมเขียนมาตรงๆไม่ได้

คนที่พยายามอ้างโน่นอ้างนี่ว่าเป็นเรื่อง"ธรรมดา" อาศัย "ข้อได้เปรียบ" นี้ คือ ตัวเองสามารถ ให้เหตุผลได้เต็มที่ ขณะที่คนที่มองเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่สามารถให้เหตุผล (argumentation) อย่างตรงๆเต็มที่ได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายอาญา(เรื่องการเมืองนั้น เกือบทั้งหมด เป็นเรื่อง argumentation ไม่ใช่เรื่อง fact ลอยๆ แม้แต่เรื่องในเชิง กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็เช่นกันเช่น คุณสามารถให้ argumentation ว่า ทักษิณ รัฐบาล ทำผิดกฎหมาย ข้อนั้นข้อนี้ ยังไงก็ได้ จะให้ argumentation ที่มีลักษณธ outlandish หรือ outrageous อย่างไรก็ได้)

แต่คุณไม่สามารถให้ argumentation ว่า "บางคน" ทำผิดกฎหมายเลย

ไหนๆก็ไหนๆ ขอผมเล่าเรื่อง "เล็กๆ" ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ให้ฟังนิดหน่อยวันนี้ Bangkok Post ลง "สัมภาษณ์สั้นๆ" (คือไม่ใช่สัมภาษณ์เต็มๆ เป็นการอ้างในรายงาน) ของ ธงชัย, ผม, วิทยากร, พิรุณhttp://bangkokpost.com/131008_News/13Oct2008_news07.php

ผมอ่านแล้วเซ็งไม่น้อยตอนที่ผมคุยกับคุณอัชฉรา จาก Post ผมได้พูดอย่างชัดเจนว่า พันธมิตร กำลังพยายามขยายอำนาจรัฐส่วนที่แตะต้องไม่ได้ 3 กลุ่มคือ องคมนตรี กองทัพ และ ตุลาการแต่รายงานออกมา "ตุลาการ" หายไปเลย

"The PAD is not working towards empowering the ordinary people as many of us may believe, but the state apparatus, namely the Privy Council and the army, whose mechanisms are rigid and less subject to electoral rule or criticism," [Somsak] said.
(ผมไม่ได้กำลัง blame คุณอัชฉรา กับการ "หาย" ไปนี้ อาจจะมาจาก editor หรือ sub-editor ก็ได้)

เรื่องนี้ ทำให้รู้สึกแย่มากขึ้นเพราะ ในสัมภาษณ์ธงชัย ที่อยู่ด้วยกันนั้น ธงชัย (โดยวิธีคิดที่ผมเห็นว่าผิดทางการเมือง ในปริบทสังคมไทยขณะนี้มากๆ) เสนอว่า ถ้าต้องการเล่นงานทักษิณ ต้องไม่ทำแบบพันธมิตร แต่ให้ใช้กระบวนการ ฟ้องร้องในทางกฎหมาย
(ในรายงานเขียนว่า ".. any wrongdoings, whether they involve corruption or any other crimes committed by Thaksin Shinawatra and his cronies, should be dealt with in a democratic way through the courts of law. ประโยคแบบนี้ ถ้ารายงานถูกต้อง ในบริบทปัจจุบัน ถือว่า naive จนน่ากลัว ในประเทศไทยตอนนี้มี courts of law หรือ?)

ข้อเสนอของผมมาสักระยะหนึ่งแล้วคือ ในบริบทสังคมไทย โดยเฉพาะหลัง "ตุลาการภิวัฒน์" ใครที่พูดทำนองนี้ ถ้าไม่ naive ก็ผิดมากๆและที่สำคัญไปเสริม ไม่ใช่คัดค้าน พันธมิตร

พันธมิตร ตะโกนอยู่ทุกวันๆๆ ให้ "เราต้องช่วยกันปกป้องกระบวนการยุติธรรม"

พันธมิตร ตะโกนอยู่ทุกวันๆๆ ให้ "เอาทักษิณขึ้นศาล เข้าสู่กระบวนยุติธรรม"

(คงไม่จำเป็นต้องพูดอีกว่า ดา ตอร์ปิโด, โชติศักดิ์, จักรภพ ฯลฯ ก็ล้วนถูก พันธมิตร จับส่ง "กระบวนการยุติธรรม" ทั้งนั้น)

ผมเล่านี้ เพื่อเป็น record ไว้ และเพื่อยกให้เห็นเป็นตัวอย่างเล็กๆว่า ที่พันธมิตร มี "กำลัง" นั้น โดยเฉพาะในปริมณการอภิปรายสาธารณะ (public discourse) นั้น เพราะอะไร

คือ ฝ่ายนั้น จะให้ argumentation อย่างชนิด ไม่มีเหตุผล ฯลฯ อย่างไรก็ได้ เพราะล้วน "อิง" อยู่กับ กลไกที่ "แตะต้องไม่ได้" (องคมตรี, กองทัพ, ตุลาการ - หลังๆ อันสุดท้ายยิ่งสำคัญมากๆ เพราะ "แตะต้องไม่ได้" มากที่สุด)

แต่ฝ่ายที่คัดค้านพันธมิตร ถ้าเพียงให้มี argumentation ทีคัดค้าน ไม่ใชเพียงพันธมิตรลอยๆ แต่รวมถึง ใครต่อใครที่หนุนพันธมิตรด้วย ออกมาทาง public ได้ ก็นับว่า ยากเต็มทีแล้ว ยังเสี่ยงภัย "ขบวนการยุติธรรม" มากๆด้วย


(ปล. กรณี "พี่พิรุณ" เอียงไปข้างพันธมิตร ตามทีรายงาน ฺBangkok Post เป็นเรื่องที่ผมเสียใจมาก ดังที่ผมอภิปรายเมื่อวันที่ 6 ที่ธรรมศาสตร์ กรณี อจ.ชล ขึ้นเวทีพันธมิตร เชียร์จำลอง เป็นอะไรที่ผมรู้สึก hurt มากๆ ผมยังนึกหวังในใจเล็กๆว่า พี่พิรุณ น่าจะไม่ได้ share การเชียร์พันธมิตรกับ อ.ชล ...การยืนหยัดจนนาทีสุดท้ายของพี่พิรุณ-อจ.ชล สมัย "ป่าแตก" เป็นสิ่งที่ผมนับถืออย่างสูง)


ขอเสริมเชิงข้อมูลประวัติศาสตร์ สำหรับใครที่สนใจจะคิด-ค้นคว้าต่อ (ผมเคยเสนอนานมาแล้ว ตั้งแต่บอร์ดเก่า หรือ บอร์ด ม.เที่ยงคืน มั้ง ว่า "การตายทางการเมือง" หรืองานศพทางการเมือง political funerals เป็นหัวข้อที่ทำงานวิชาการได้ทีเดียว)

ถ้าผมจำไม่ผิด (ขออภัย ต้องใช้เวลาเช็คอีกที) สมัย ร.7 (ปลายๆ) เมื่อรัฐบาลขอให้มีการพระราชทานเพลิงศพ ทหารและพลเรือน ที่เสียชีวิต จากการปราบกบฎบวรเดช นั้น ร.7 ไม่ทรง happy มากๆ แม้รัฐบาลจะอ้างได้ว่า เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ร.7 (ซึ่งทรง sympathize กับ กบฏบวรเดช) ทรงอ้างว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง พระมหากษัตริย์ไม่ขอเข้าไปเกี่ยว


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล



หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ


ข่าวเพิ่มเติม..


พระราชินีเสด็จพระราชทานเพลิงศพน้องโบว์

สมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ จะเสด็จพระราชทานเพลิงศพน้องโบว์ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ณ วัดศรีประวัติ เวลา 16.00 น.

สำนัก ราชเลขาธิการ เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชสกุมารี จะเสด็จพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบว์ ในช่วงเวลา 16.00 น. ของวันนี้ ณ วัดศรีประวัติ จ.นนทบุรี ซึ่งได้สร้างความปลื้มปิติให้กับครอบครัว ระดับปัญญาวุฒิ เป็นอย่างมาก

ส่วนบรรยากาศ งานพระราชทานเพลิงศพของน้องโบว์ในขณะนี้ มีเพียงญาติสนิท และเพื่อนเข้าร่วมงาน เพื่อเตรียมการต้อนรับเสด็จ ทั้งนี้ ทางกองออกแบบและก่อสร้างพลับพลาพิธี ได้เตรียมการจัดตั้งสถานที่ เพื่อรองรับในการเสด็จครั้งนี้


ที่มา :http://www.innnews.co.th/thecourt.php?nid=137599

หาข่าวมาโดย : Superของซุปเปอร์


เพิ่มเติมข้อมูล

การขอพระราชทานเพลิงศพ


หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเพลิงศพ

ผู้มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ต้องมีตำแหน่งชั้นและยศ ดังต่อไปนี้

1. พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น "พระครูสัญญาบัตร" ขึ้นไป

2. พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น "หม่อมเจ้า" ขึ้นไป

3. ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์

4. ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขั้นไป

5. ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรี ขึ้นไป

6. พนักงานเทศบาลตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป

7. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ "เบญจมดิเรกคุณาภรณ์"(บ.ภ.)และ "เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย" (บ.ม.) ขึ้นไป

8. ผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "จุลจอมเกล้า" (จ.จ.) หรือ "ตราสืบตระกูล" (ต.จ.) ขึ้นไป

9. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญ "รัตนาภรณ์" รัชกาลปัจจุบัน

10. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาร่างรับฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรม

11. รัฐมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรม

12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ


หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเอง ไม่พระราชทานเพลิงศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ


หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ

ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาในการขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ ควรอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ผู้ที่อยู่ในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง

2. พระสงฆ์ที่พระราชาคณะพิจารณาขอพระราชทานให้

3. พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง

4. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ เหรียญกล้าหาญ และเหรียญชัยสมรภูมิ

5. ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่นศิลปินแห่งชาติ นักกีฬาระดับชาติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด หรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล

6. ผู้ที่ทำประโยชน์ เช่น บริจาคเพื่อการกุศล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 300,000.-บาท บริจาคร่างกายหรืออวัยวะ

7. บิดา มารดา ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับ 6 ขึ้นไป

8. บิดา มารดา ของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "ตริตราภรณ์ช้างเผือก" (ต.ช.) ขึ้นไป

9. บิดา มารดา ของพระสมรศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น "พระครูสัญญาบัตร" ขึ้นไป

10. บิดา มารดา ของข้าราชการทหาร ตำรวจ ตั้งแต่ระดับพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท และพันตำรวจโท ขึ้นไป

หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเอง ไม่พระราชทานเพลิงศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ


ขั้นตอนในการขอพระราชทานเพลิงศพ

1. การขอพระราชทานเพลิงศพ : เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพ จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดของผู้ถึงแก่กรรม โดยระบุ - ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ที่ถึงแก่กรรม

- ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด

- ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อะไรบ้าง

- มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพอย่างไรบ้าง

- ระบุวัน เวลา สถานที่ ที่จะฌาปนกิจ

2. การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ : เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ต้องทำหนังสือถึง เลขาธิการพระราชวัง โดยระบุ .......

- ชื่อ-สกุล ปละประวัติโดยย่อของผู้ถึงแก่กรรม

- ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด

- ระบุคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ หรือคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณา

การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ- ระบุ วัน เวลา สถานที่ ที่จะฌาปนกิจ

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษนั้น จะต้องนำหลักฐานมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ดังนี้

- ใบมรณบัตรของผู้ถึงแก่กรรม

- ทะเบียนบ้านของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม

- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม

- หนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ใบอนุโมทนาบัตร ใบประกาศเหรียญกล้าหาญ หรือเหรียญชัยสมรภูมิ

ทั้งนี้ ต้องนำเอกสารต้นฉบับและสำเนาแนบมาพร้อมกับหนังสือด้วย


3. ติดต่อวัดเพื่อเตรียมการพระราชทานเพลิงศพ : ในการขอพระราชทานเพลิงศพทั้งตามเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานและกรณีพิเศษนั้น จะต้องไม่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล (และตามประเพณีนิยมไม่มีการเผาศพในวันศุกร์)


ที่มา : http://www.navy.mi.th/welfare/chapanakit50...1/chakit001.htm

หาข้อมูลมาโดย : กูเบื่อ


ที่มาของข้อความทั้งหมดจาก : บอร์ดฟ้าเดียกัน : ถ้างานศพ 2 พันธมิตรทีเสียชีวิต เป็นงานพระราชทานเพลิงศพจริง เป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: