ความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับภาวะความเป็นมนุษย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในบรรดาประเทศ 44 แห่งในโลกที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ อย่างน้อยเบลารุส บรูไน อียิปต์ เยอรมัน คาซัคสถาน มาเลเซีย มัลดีฟส์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย สเปน ซีเรีย ตุรกี ซิมบับเว และประเทศอื่นๆ ล้วนมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเทศเหล่านี้ใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีแต่เพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น และใช้อย่างระมัดระวังเฉพาะในกรณีที่มีผู้กล่าวหาประมุขของรัฐอย่างรุนแรงและมีเจตนาชัดเจนเท่านั้น สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ รัฐบาลของเราเลือกที่จะใช้กฎหมายนี้ตามอำเภอใจและในทางที่เข้มงวดเกินขนาด แม้ในกรณีที่การวิพากษ์หรือวิจารณ์สถาบันกระทำไปอย่างมีเหตุมีผลและเปี่ยมความเคารพ
พระมหากษัตริย์มิได้ทรงคาดหวังหรือเรียกร้องความเคารพ อันที่จริง การพระราชทานอภัยโทษให้กับคนที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ได้กลายเป็นประเพณีของพระราชวัง พระมหากษัตริย์ทรงเชื้อเชิญให้คนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำ โดยรวม คนที่ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือพลเรือนที่ใช้กฎหมายนี้โจมตีพลเรือนด้วยกัน พลเมืองปัจเจกคือผู้ริเริ่มคดีหมิ่นฯ ส่วนใหญ่
ในยุคโรมันโบราณ พฤติกรรมทำนองนี้เข้าข่ายความผิดทางอาญา (laesa maiestas) ต่อเกียรติภูมิของสาธารณรัฐโรมัน ต่อมา เมื่อจักรพรรดิมีความหมายเทียบเท่ากับรัฐโรมัน (อาณาจักรโรมันไม่เคยเปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์อย่างเป็นทางการ) กฎหมายนี้ก็ถูกนำมาใช้กับความผิดต่อตัวตนของพระองค์เองด้วย นี่เป็นประเพณีของอาณาจักรที่เราต้องการทำต่อไปหรือเปล่า?
สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่เป็นรากฐานของสังคมไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีอิทธิพลและพระราชบารมีในทุกมิติของวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นเค้าโครงของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ สำหรับพวกเราแทบทุกคน พระมหากษัตริย์ไทยสมควรได้รับความเคารพนับถือ เราทุกคนมองด้วยความเคารพรักว่าพระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ของชาติไทย แต่ความเป็นจริงคือ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์ที่เราบูชาทรงเสด็จสวรรคต “ประเพณี” เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ จะได้รับการคาดหวังและบังคับใช้ต่อไปหรือเปล่า? บางที ลำพังการพิจารณาความเป็นไปได้นี้อาจทำให้ผมถูกหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ได้!
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเมืองปัจเจกฟ้องใครก็ตามในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เท่ากับว่าพวกเขาแอบอ้างที่จะพูดแทนสถาบันกษัตริย์ นั่นคือนิยามพื้นฐานของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังนั้น คนที่ทำผิดข้อนี้ก็คือพวกเขาเองนั่นแหละ!
การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์กลายเป็นแฟชั่นสำหรับคนไทยไปแล้ว ก่อนงานฉลองครบรอบการครองราชย์ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2549 และงานฉลองครบรอบ 80 พรรษาของพระองค์ คนไทยจำนวนมหาศาลสวมใส่เสื้อเหลือง สีประจำพระองค์ ตอนแรกก็ใส่เฉพาะวันจันทร์ซึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ ต่อมาก็ใส่ทุกวัน ในสำนักงานของหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ พนักงานทุกคนต้องใส่เสื้อเหลือง ประเทศทั้งประเทศกลายเป็นทะเลสีเหลือง
สีเหลืองอาจเป็นสีที่ดูเฝือภายในเวลาไม่นาน แต่คนไทยก็ยังใส่สีเหลืองเพื่อเข้าพวก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมเสื้อนอกสีชมพูไปยังโรงพยาบาลศิริราช คนไทยจำนวนมากก็เริ่มใส่เสื้อสีชมพูด และเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 รัฐบาลก็ประกาศช่วงเวลาไว้ทุกข์ 100 วัน ข้าราชการทั้งประเทศเริ่มใส่สีดำตามคำสั่ง
นกสีเดียวกันบินเป็นฝูงเดียวกัน!
ผมก็เหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่ตรงที่รู้สึกซาบซึ้งที่ได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยเฉพาะในโรงหนัง และสำหรับผม ผมก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ยืนถวายความเคารพ ไม่ว่าผมจะหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่หรือเปล่า เพลงสรรเสริญพระบารมีก็ทำให้ผมนึกถึงพระองค์ท่านเสมอ แต่ผมไม่เคยดูดีในสีเหลืองเลย
ลูกสาวอายุเก้าขวบของผมตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่ยืนถวายความเคารพหรือหยุดทำสิ่งที่เราทำอยู่ ตอนที่วิทยุและทีวีเพลงสรรเสริญพระบารมีวันละสองครั้ง เหตุผลที่คนไทยหยุดและยืนนิ่งในที่สาธารณะคือ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนร่วมชาติ เพื่อเข้าพวก
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ไม่น่าเชื่อที่คนไทยคนไหนจะไม่แสดงความเคารพด้วยวิธีนี้ เราต้องขอบคุณโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร และชุติมา เพ็ญภาค ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาสู่ความรับรู้ของสาธารณชน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงมหาศาลต่อร่างกาย และต้องเสียสละอะไรๆ มากมาย การไม่ลุกขึ้นยืนนั้นจะต้องถูกตีตราว่าเป็นการกระทำที่ต่อต้านรัฐบาล ไม่ใช่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ มันช่วยฉุดดึงพวกเราทุกคนให้ตื่นขึ้นจากสำนึกแห่งผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ มันแสดงให้เห็นว่า คนเพียงคนเดียวก็สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 ชาวขอนแก่นคนหนึ่งยื่นฟ้องโชติศักดิ์ต่อตำรวจ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและก่อให้เกิดความวุ่นวาย แน่นอนว่าชายผู้นี้ไม่ได้อยู่ในโรงหนังตอนที่เกิดเหตุการณ์ด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น ชาวขอนแก่นคนเดียวกันก็ไปฟ้องเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันและประชาไท ในข้อหาตีพิมพ์กระทู้ที่ผู้อ่านโพสข้อความสนับสนุนการกระทำของโชติศักดิ์ นอกจากนี้ ชาวขอนแก่นผู้นั้นก็ยังท้าโชติศักดิ์ให้ไปดูหนังที่ขอนแก่น และข่มขู่เป็นนัยๆ ว่าจะทำร้ายร่างกายถ้าเขาไปจริงๆ
คำฟ้องทั้งสองกรณีเป็นคำฟ้องที่เหลวไหล ไม่มีประโยชน์ และไม่สมควรได้รับการตอบสนองทางกฎหมาย กระทู้จำนวนมากแสดงความประสงค์ของคนที่อยากล้มล้างสถาบันกษัตริย์ อันที่จริง การเซ็นเซอร์ของรัฐที่ผ่านมาพุ่งเป้าไปที่กระดานสนทนาบนเว็บเป็นหลัก คนไทยไม่ได้รับอนุญาตให้อภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นทางสังคมที่สำคัญอย่างยิ่ง
แน่นอนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกข้าราชการและนักการเมืองใช้เพื่อปิดปากผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองและผู้ไม่เห็นด้วยตลอดมาในประวัติศาสตร์ไทย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการกษัตริย์นิยมผู้โด่งดัง ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ สามครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเขียน ครั้งแรกในปี 1986 และครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2006 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน ถูกฟ้องในปี 2549 ด้วยข้อหาตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ก็ถูกลบ ข้อหาที่สุลักษณ์ถูกฟ้องในปี 2549 มาจากการที่เขาแปลและอ้างอิงบทความใน ฟ้าเดียวกัน ในวารสารภาษาอังกฤษของเขาชื่อ Seeds of Peace
กองตรวจคนเข้าเมืองกำลังรอจับพอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) นักข่าวชาวอเมริกัน ในข้อหาเขียนหนังสือเรื่อง The King Never Smiles (2550) ในขณะที่หนังสือเรื่อง A Coup for the Rich (2550) ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถูกห้ามไม่ให้วางขาย สาเหตุหลักเป็นเพราะเขาอวดดีพอที่จะอ้างอิงหนังสือของแฮนด์ลีย์ในหนังสือของตัวเอง
ในปี พ.ศ. 2544 นักข่าวสองคนจาก Far Eastern Economic Review (FEER) ชื่อ ชอว์น คริสปิน (Shawn Chrispin) และรอดนีย์ แทสเกอร์ (Rodney Tasker) ถูกตั้งข้อหาหมิ่นฯ และนิตยสาร FEER ก็ถูกห้ามวางขายในประเทศไทยจนกระทั่งบรรณาธิการตีพิมพ์คำขอโทษ รายการวิทยุชื่อ “World Morning” ซึ่งเป็นรายการวิทยุรายวันเกี่ยวกับการเมือง ถูกถอดหลังจากที่พิธีกรอ่านบทความใน FEER ที่ถูกตั้งข้อหา
ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกคดีหนึ่งที่เหลวไหลคือ คดีที่พันตำรวจเอกผู้หนึ่งฟ้องโจนาธาน เฮด (Jonathan Head) นักข่าว BBC และกรรมการบริหารของ FCCT เรื่องความคิดเห็นที่ไม่เป็นพิษภัยอะไรเลยของเขา ขณะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินวงเสวนาในหัวข้อ “Coup, Capital and Crown” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand) เมื่อเดือนธันวาคม 2550 จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาที่ FCCT ก็ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ เช่นกัน
อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ โดยสนธิ ลิ้มทองกุล ซีอีโอของ ผู้จัดการ ผู้เป็นคู่แค้นทางการเมืองของเขา ระหว่างช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 หลังจากนั้นสนธิก็ถูกทักษิณฟ้องในข้อหาเดียวกัน
The Nation หนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสองฉบับในประเทศไทย ถูกตำรวจขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่ที่ให้กับการรายงานประเด็นและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ ตำรวจยังขอความร่วมมือจาก The Nation ให้ลบข่าวและบทความทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นและคดีหมิ่นฯ ออกจากกรุข่าวบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ข่าวและบทความเหล่านี้เคยปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษ ซึ่งทำให้ลบออกไม่ได้ ลำพังการที่ The Nation คิดที่จะทำตามคำร้องของตำรวจก็บอกอะไรๆ ได้มากมายเกี่ยวกับบรรยากาศของการปิดกั้นประเด็นหมิ่นฯ ในเมืองไทย The Nation ปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ข่าวเรื่อง “The Incident of Chotisak Onsoong” HYPERLINK
http://www.prachatai.com/english/news.php?id=610 เกี่ยวกับประเด็นนี้ และขู่ว่าจะตำหนิประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้เขียนข่าวนี้
แม้กระทั่งการนำหนังสือ Anna and the King of Siam (2489) ซึ่งเป็นบันทึกของหญิงพี่เลี้ยงชาวอังกฤษในพระราชสำนัก ไปทำเป็นละครเวทีเรื่อง “The King and I” (2494) และภาพยนตร์เรื่อง “The King and I” (2499) และ “Anna and the King” (2542) ทั้งหมดนี้ก็ยังถูกแบนในเมืองไทยด้วยข้อหาหมิ่นฯ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องแต่งทีสร้างจากเรื่องราวของราชสำนักไทยสมัยรัชกาลที่สี่ ในทศวรรษ 2400!
ทั้งหมดนี้ทำให้คุณรู้สึกว่าเรื่องมันชักจะเลยเถิดไปหรือเปล่า? จริงๆ แล้ว ชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขัดแย้งกันกับหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ทั้งฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ซึ่งการันตีเสรีภาพในการแสดงออกและสนับสนุนความหลากหลายของมุมมอง
อันที่จริง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่มีจริง ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในเมืองไทยเป็นส่วนผสมของกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ซึ่งอ้างถึงพระราชกำหนดเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ออกในช่วงระบอบเผด็จการภายใต้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม รวมทั้งประกาศหลายฉบับที่ออกโดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศชาตินิยมของนายกรัฐมนตรี และพระราชกำหนดหลายฉบับเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชาติที่ออกระหว่างปี 2485-2495 ซึ่งรวมเรื่องเด็ดๆ อย่างชุดประจำชาติและมารยาทไทย คุณไม่คิดว่าเรื่องพวกนี้โบราณไปหน่อยหรือ? คุณคิดว่านี่เป็นเวลาเราควรคิดถึงวิธีคิดใหม่ๆ วิธีคิดที่มองว่าประชาชนมีความสามารถที่จะคิดเองได้หรือเปล่า?
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิปรายอย่างจริงจังในงานสัมมนาไทยศึกษาครั้งที่ 10 (Thai Studies Conference) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนมกราคม 2551 คือประเด็นที่ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คนไทยจะเป็น “รีพับลิกัน” โดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อคำนึงถึงกฎหมายหมิ่นฯ เราจะถูกนับว่าเป็นอาชญากรเพียงเพราะเสนอว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรวิวัฒนาการแบบริพับลิกันหรือเปล่า? งานสัมมนาดังกล่าวเป็นงานสัมมนาวิชาการครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่พิจารณาแง่มุมต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ไทย
การกระทำมากมายหลากหลายถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชายชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง ซึ่งในปี 2538 เคยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ จากการกล่าวคำพูดที่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินของสายการบินไทยที่กำลังบินอยู่ในน่านฟ้านานาชาติ ถูกจับกุมตัวทันทีที่เครื่องบินแตะพื้นในกรุงเทพฯ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสองสัปดาห์ ถูกประกันตัวออกมา แล้วก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่เขียนจดหมายขอขมาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2549 ชาวอเมริกันอดีตอาสาสมัคร Peace Corps ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ ในจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจส่งสำนวนฟ้องมาที่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ตำรวจจึงไม่ทำคดีนี้ต่อ
การฉีกธนบัตรไทย หรือเหยียบเหรียญที่กลิ้งอยู่บนพื้นล้วนเป็นเหตุให้มีคนถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้ว การจับกุม คำพิพากษาให้ติดคุก 10 ปี การได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากที่ติดคุกอยู่หนึ่งเดือน และเนรเทศออกนอกประเทศของโอลิเวอร์ จูเฟอร์ (Oliver Jufer) ชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ผู้ถูกจับในข้อหาหมิ่นฯ เพราะพ่นสีดำใส่พระบรมราชฉายาลักษณ์ระหว่างที่เมาอยู่ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้กฎหมายหมิ่นฯ มีมลทินมากขึ้น
คดีของจูเฟอร์เป็นแรงบันดาลใจให้กับวีดีโอ “แอนตี้ภูมิพล” คุณภาพต่ำกว่าสิบเรื่องบนเว็บไซต์ยูทูบ นำไปสู่การบล็อกยูทูบกว่าเจ็ดเดือนในปี 2550 โดยคำสั่งของรัฐบาล กรณีนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ยูทูบตกลงกับรัฐบาลอย่างลับๆ ที่จะบล็อกวีดีโอบางอันตามที่อยู่ของผู้ใช้ ซึ่งหมายความว่าวีดีโออะไรก็ตามที่รัฐบาลไม่พอใจจะถูกบล็อกได้อย่างง่ายดาย…โดยที่เราไม่เคยรู้เรื่อง
ความหวาดกลัวการละเมิดความเคาพต่อสถาบันกษัตริย์ในเมืองไทย เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยเสียจนกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พระเชษฐาของรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2489 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยู่ในวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การกล่าวหาปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งประชาธิปไตยไทย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2466 และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเป็นคน “ฆ่าในหลวง” เป็นสาเหตุให้ท่านต้องถูกเนรเทศไปอยู่นอกประเทศตลอดชีวิต เปิดทางให้จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจ มหาดเล็กสามคนถูกประหารชีวิตในข้อหาผู้ปลงพระชนม์ หลังจากผ่านขั้นตอนศาลที่แหกขนบอย่างยิ่ง แต่คนไทยก็ยังไม่คุยเรื่องนี้กันในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่มันเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่คุยแม้กระทั่งในแวดวงวิชาการ คนไทยกี่คนตระหนักว่า “บิดาแห่งประชาธิปไตยไทย” ต้องตายในฐานะผู้ลี้ภัยนอกประเทศ?
มันเป็นไปไม่ได้ที่จะออกกฎหมายบังคับความเคารพ ความเคารพผู้อื่นและการเปิดใจให้กว้างพอที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น คือสิ่งที่จำเป็นต้องส่งเสริมในเมืองไทยถ้าเราอยากจะเป็นประชาธิปไตย แม้เพียงประชาธิปไตยที่เพิ่งผลิใบก็ตาม เสรีชนและใครก็ตามที่มีความรู้สึกนึกคิดไม่ตรงกับเรา เป็นคนที่เราควรยอมรับไม่ใช่ประณาม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับพวกเขาหรือไม่ก็ตาม
การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามอำเภอใจ เป็นตัวถ่วงอันหนักอึ้งต่ออนาคตของเมืองไทย ถ้ากฎหมายถูกใช้แบบไร้หลักการเช่นนี้ต่อไป มันก็จะยังเป็นไม้ตะบองการเมืองของใครก็ตามที่อยากเป็นคนโปรดของกษัตริย์รัชกาลต่อไป
ดร. เดวิด เสตร็คฟัส (Dr. David Streckfuss) นักประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ผู้โด่งดัง นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดว่าแนวคิดปัจจุบันของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ต่อยอดยืดยาวออกไปจากจุดประสงค์ดั้งเดิม และการใช้กฎหมายนี้ในปัจจุบันก็เลวลงจนกลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ “กฎหมายหมิ่นฯ ช่วยค้ำจุนกลไกที่ผลักดันให้ตำรวจทำสำนวนเมื่อมีคนฟ้อง ผลักดันให้อัยการทำเรื่องฟ้องศาล และผลักดันให้ศาลมีคำพิพากษา การไม่ทำตามอาจทำให้คนเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ ได้ เนื่องจากสถาบันกษัตริย์มีบทบาทอันสลับซับซ้อนในสังคมไทย และเนื่องจากคนไทยจำนวนมากฟ้องคนอื่นในข้อหาหมิ่นฯ ตามอำเภอใจ ขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า “การอภิปรายปกติ” ในประเทศอื่นที่อยู่ภายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ได้หดแคบลงจนทำได้ยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย…
“….กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการบังคับใช้ในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน เป็นอันตรายร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการการันตีในมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กฎหมายหมิ่นฯ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีเป้าหมายอยู่ที่การกดทับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ …ถ้าการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเมืองไทยดูเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ถ้าตำรวจและอัยการรู้สึกว่าจะต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ถ้าสังคมไทยเองไม่สามารถแสดงความอดกลั้นและวิจารณญาณในการใช้กฎหมายนี้ แม้ว่าพระมหากษัตริย์เองจะทรงแสดงความไม่พอพระทัย ในบริบทเช่นนี้ การเพิ่มเติมวลีสั้นๆ เพียงวลีเดียวในกฎหมายอาจทำให้อะไรๆ ดีขึ้น: แก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาไทย ด้วยการเพิ่มวลีที่ทำให้คนฟ้องข้อหาหมิ่นฯ ได้ “เฉพาะในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงสั่งหรือทรงให้ความเห็นชอบ”
ท้ายที่สุด เราทุกคนจะต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะอยู่ในสังคมแบบไหนและอยากให้ลูกหลานของเราโตขึ้นมาในสังคมแบบไหน เราอยากเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่ช่างคิด ใจกว้าง และเคารพความเห็นของผู้อื่น หรือชาติของแกะเชื่องๆ?
ผมลงนามในแถลงการณ์สนับสนุนคุณโชติศักดิ์แล้ว ถ้าคุณเชื่อจริงๆ ว่า “ไทย” แปลว่าเสรีภาพ คุณก็ต้องทำเช่นเดียวกัน
CJ Hinke
กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)
ที่มา : FACT - Freedom Against Censorship Thailand : “ไทย” หมายถึงเสรีภาพ: CJ Hinke ผู้ประสานงาน FACT วิจารณ์กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551
“ไทย” หมายถึงเสรีภาพ : CJ Hinke ผู้ประสานงาน FACT วิจารณ์กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:09 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น