วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พระราชดำรัสให้การต่อศาลคดีสวรรคต ๒๔๙๓ : ตัวบทและปัญหาบางประการ


ผมกำลังเขียนบทความเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องอ้างอิงถึงพระราชดำรัสที่ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงพระราชทานต่อศาลอาญาในคดีลอบประทุษร้ายในหลวงอานันท์ เมื่อปี ๒๔๙๓(๑) ทำให้ผมเกิดความคิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งกรณีสวรรคตและเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หากนำตัวบท (text) ของพระราชดำรัสดังกล่าว มาเผยแพร่อีกครั้ง โดยชี้ให้เห็นปัญหาบางประการที่สำคัญในการตีพิมพ์ครั้งก่อนๆควบคู่กันไปด้วย อันที่จริง เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญและความน่าสนใจของพระราชดำรัสนี้แล้ว เป็นเรื่องน่าแปลกใจด้วยซ้ำที่ ที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์เผยแพร่ตัวบทพระราชดำรัสทั้งหมดน้อยมาก (ดูข้างล่าง)

ในการเผยแพร่ครั้งนี้ ผมได้ใส่ตัวเลขลำดับย่อหน้าไว้ด้วย [1], [2], [3] .... เพื่อสะดวกแก่การอ้างอิง โดยนับเฉพาะตัวบทส่วนที่เป็นพระราชดำรัสให้การจริงๆ (คือ ไม่นับ “ย่อหน้า” ประเภท “วันที่ .... ทรงตอบโจทก์” และย่อหน้าแรกสุด ที่ทรงให้พระนามตามแบบฉบับคำให้การ) ในบทแนะนำข้างล่างนี้ ผมจะใช้ตัวเลขลำดับย่อหน้านี้เป็นตัวอ้างอิง


ภูมิหลัง :
พระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” ๒๔๘๙

ในหลวงองค์ปัจจุบัน ทรงให้การในฐานะพยานโจทก์ในคดีสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ต่อหน้า คณะผู้พิพากษา, คณะอัยการโจทก์, จำเลยทั้ง ๓ คน และทนายจำเลยในคดีดังกล่าว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นั่นคือ ผู้พิพากษาและคู่ความมารับพระราชทานคำให้การในลักษณะ “เผชิญสืบ” (พิจารณาคดีนอกสถานที่ตั้งศาล) ไม่ใช่พระองค์ทรงเสด็จไปให้การ ณ ที่ตั้งศาล การพระราชทานคำให้การดังกล่าว กระทำขึ้นในระหว่างที่ทรงเสด็จนิวัตรพระนครเป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบ ๓ พระราชพิธีสำคัญ (ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์, ราชาภิเษกสมรส และ ฉัตรมงคล)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งเดียวที่ทรงพระราชทานเล่าเหตุการณ์ที่แวดล้อมกรณีสวรรคต แต่เป็นครั้งเดียวที่ทรงให้การในศาล (และเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงให้การในศาล) ๔ ปีก่อนหน้านั้น ในปี ๒๔๘๙ หลังการสวรรคตของในหลวงอานันท์ไม่กี่วัน เพื่อยุติกระแสข่าวลือที่เริ่มจะแพร่สะพัดเกี่ยวกับสาเหตุของการสวรรคตและวิกฤตทางการเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นตามมา รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น ได้ประกาศตั้ง “กรรมการสอบสวนพฤติการณ์การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ขึ้นคณะหนึ่ง มีหัวหน้าผู้พิพากษาทั้ง ๓ ศาลและเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์เป็นกรรมการ คณะกรรมการฯได้ดำเนินการไต่สวนโดยเปิดเผยต่อสาธารณะในลักษณะคล้ายการดำเนินคดีของศาล (แต่ไม่มีโจทก์หรือจำเลย) ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “ศาลกลางเมือง”

เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๙ คณะกรรมการฯได้เข้าเฝ้าในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนีที่พระที่นั่งบรมพิมาน (สถานที่เกิดเหตุ) ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงมีพระราชดำรัสให้การแก่คณะกรรมการฯเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ระหว่าง ๑๑ โมงครึ่ง ถึงประมาณเที่ยงครึ่ง และสมเด็จพระราชชนนีทรงให้การจากเวลา ๑๕.๒๐ นาฬิกา ถึงประมาณ ๑๕.๔๐ นาฬิกา ตัวบทของพระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” นี้ ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในขณะนั้นและต่อๆมาอีกหลายครั้ง ครั้งหลังสุด ในฐานะส่วนหนึ่งของหนังสือรวบรวมบันทึกการสอบสวนของ “ศาลกลางเมือง” ที่ตีพิมพ์ในโครงการฉลอง ๑๐๐ ปีปรีดี พนมยงค์ (๒)

การพระราชทานคำให้การต่อคณะกรรมการฯเริ่มต้นกระทำกันในห้องบรรทมที่เกิดเหตุเอง โดยกรรมการได้สอบถามในหลวงองค์ปัจจุบันเกี่ยวกับตำแหน่งที่พบปลอกกระสุน และลักษณะพระวิสูตร แล้วกรรมการได้ให้นายตำรวจลองทำท่าทางเพื่อหาตำแหน่งและลักษณะที่คนร้ายจะถือปืนยิง ในกรณีที่เป็นการลอบปลงพระชนม์ ประกอบกับการขอให้ทรงแสดงความเห็น (ซึ่งไม่ได้ทรงแสดงแสดงความเห็นอะไรมากนัก ตัวบทส่วนนี้ เป็นคำพูดของกรรมการที่พยายามจะคาดเดาตำแหน่งการยิงของคนร้ายเป็นส่วนใหญ่) หลังจากนั้น จึงพากันลงมาที่ห้องรับแขกชั้นล่าง และทรงพระราชทานคำให้การต่อ โดยคณะกรรมการฯขอให้ทรงเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันสวรรคตว่ำพระองค์ทรงพบเห็นอะไรบ้าง หลังจากนั้น จึงถามถึงพระอุปนิสัยของในหลวงอานันท์ในส่วนที่เกี่ยวกับการทรงปืน

ในทางการเมือง คำถามของคณะกรรมการฯและพระราชดำรัสตอบ ส่วนที่อาจจะมีนัยยะทางการเมืองมากที่สุด คือส่วนที่เกี่ยวกับความไม่ทรงพอพระราชหฤทัยของในหลวงอานันท์ต่อผู้อื่น หรือความไม่พอใจของผู้อื่นที่มีต่อในหลวงอานันท์ ข้อที่น่าสังเกตคือ พระราชดำรัสตอบของในหลวงองค์ปัจจุบัน ไม่มีเนื้อหาที่พาดพิงในเชิงกล่าวโทษผู้ใดทั้งสิ้น ดังนี้


ประธานกรรมการฯ นายชิตกับนายบุศย์ รับใช้เป็นที่สบพระราชหฤทัย หรือนัยหนึ่งเป็นที่ถูกพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศหรือไม่

พระราชกระแสฯ ในหลวงไม่เคยว่ามหาดเล็กคนหนึ่งคนใด ไม่ว่านายบุศย์หรือนายชิต ใครๆก็ไม่เคยว่าเลย

ประธานกรรมการฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยทรงกริ้ว หรือแสดงไม่พอพระราชหฤทัย แม้เพียงเล็กน้อย แก่บุคคลทั้งสองนี้หรือไม่

พระราชกระแสฯ ไม่ทราบ อาจจะกริ้วนิดหน่อย เหมือนอย่างให้เอาโต๊ะมาวางข้างๆ แล้วไปวางเสียอีกข้างหนึ่ง แต่ไม่ใช่กริ้วจริงๆ

ประธานกรรมการฯ พวกชาวที่ก็ดี ยามก็ดี และคนอื่นๆก็ดี นอกจากนายชิตและนายบุศย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยแสดงไม่พอพระราชหฤทัย หรือกริ้วผู้ใดบ้าง

พระราชกระแสฯ ก็บอกแล้วว่า ไม่เคยกริ้ว

ประธานกรรมการฯ ได้ทรงสังเกตเห็นว่า พวกเหล่านี้ มีใครบ้างที่แสดงว่าไม่พอใจหรือแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องไม่พอใจในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

พระราชกระแสฯ ก็ไม่เคยได้ยิน เขาอาจจะพูด แต่เขาไม่ให้เราฟัง

ประธานกรรมการฯ ทรงรู้สึกหรือสังเกตเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศไม่ทรงพอพระราชหฤทัย หรือทรงแสดงความลำบากพระราชหฤทัยอย่างหนักในการที่ต้องทรงปฏิบัติราชกิจบางอย่างบางประการบ้างหรือเปล่า

พระราชกระแสฯ ไม่เคยเลยอย่างหนัก มีแต่ว่าวันนี้เหนื่อยไม่อยากไป แต่ไม่เคยอย่างหนักจริงๆและไม่พอพระทัยจริงๆก็ไม่เคย

ประธานกรรมการฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้เคยทรงนำการบ้านการเมืองมารับสั่งหรือทรงปรึกษาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทบ้างหรือเปล่า

พระราชกระแสฯ ไม่เคย เพราะฉันเป็นเด็กประธานกรรมการฯ ได้เคยทรงพระราชปรารภหรือทรงแสดงพระราชอากัปกิริยาว่า ทรงคับแค้นพระราชหฤทัยอย่างรุนแรงด้วยเหตุอันใดบ้างหรือเปล่า

พระราชกระแสฯ ไม่เคย


ดังที่จะเห็นข้างล่าง ดูเหมือนจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเรื่องนี้ ในพระราชดำรัสให้การต่อศาลอาญาใน ๔ ปีต่อมา



พระราชดำรัสให้การต่อตำรวจ ๒๔๘๙
และต่อพระพินิจชนคดี ๒๔๙๑

พระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่รู้จักกันดีที่สุด เพราะมีการตีพิมพ์ซ้ำค่อนข้างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากพระราชดำรัสให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” และพระราชดำรัสให้การต่อศาลอาญาในปี ๒๔๙๓ ที่ผมนำตัวบทมาเผยแพร่ข้างล่างแล้ว ยังมีหลักฐานว่า ในหลวงองค์ปัจจุบัน ได้ทรงให้การเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอีกอย่างน้อย ๒ ครั้ง ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักหรือกล่าวถึงกันนัก

ครั้งแรก ทรงให้การต่อตำรวจ ผมเข้าใจว่า น่าจะในวันเกิดเหตุหรือไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่ต้องก่อนที่จะทรงให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” เท่าที่ผมทราบ ดูเหมือนจะไม่เคยมีใครกล่าวถึงการให้การนี้ และไม่เคยปรากฏว่ามีการเผยแพร่บันทึกพระราชดำรัสให้การนี้ด้วย (ผมเข้าใจว่าน่าจะมีการบันทึกตามระเบียบราชการ) แต่เรามีหลักฐานว่า มีการพระราชทานคำให้การนี้ จากบันทึกคำถามของคณะกรรมการฯ “ศาลกลางเมือง” และพระราชดำรัสตอบ ต่อไปนี้ (การเน้นคำของผม)


ประธานกรรมการฯ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พระราชทานคำตอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาบ้างแล้ว ในคำถามอันนี้ ดูเหมือนว่ายังมีที่สงสัยอยู่ จึงขอกราบบังคมทูลถามเพื่อความชัดเจนในเรื่องสาเหตุแห่งการสวรรคตนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เคยพระราชทานพระราชกระแสแก่หลวงนิตย์ฯ หรือแก่บุคคลอื่นเป็นประการใด บ้างหรือไม่

พระราชกระแสฯ ก็เคยบอกว่า อาจจะเป็นนี่จะเป็นนั่น เพราะไม่ทราบแน่ และก็ไม่ได้บอกว่าเป็นนี่แน่ เป็นอุปัทวเหตุหรือเป็นอะไรแน่ ฉันบอกว่าอาจจะเป็นอุปัทวเหตุ เพราะเห็นตำรวจเขาอาจจะเห็นว่าอุปัทวเหตุจริงๆแล้ว ฉันนึกว่า เขาพิสูจน์ไปตรวจได้เต็มที่แล้วก็อาจจะเป็นได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นแน่


อีกครั้งหนึ่ง ทรงให้การต่อพระพินิจชนคดี ซึ่งรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ตั้งให้เป็นนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดี เราได้ทราบว่ามีการพระราชทานคำให้การครั้งนี้ จากบทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าบินไปสืบกรณีสวรรคต ที่สวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นบันทึกคำสัมภาษณ์พระพินิจชนคดี (โดยผู้ใช้นามว่า “แหลมสน”) ตีพิมพ์ใน เกียรติศักดิ์ ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๑(๓) พระพินิจชนคดีได้เล่าว่า หลังจากพิจารณาบันทึกคำให้การต่างๆใน “ศาลกลางเมือง” แล้ว เขาและคณะผู้รับผิดชอบคดีลงความเห็นว่า “ยากที่จะคลำหาเงื่อนงำคลี่คลายออกไปได้...จำเป็นจะต้อง...ขอพระราชทานการสอบสวนพระราชกระแสร์เพิ่มเติมจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชนนี ผู้ทรงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ และบุคคลอื่นๆอีกหลายคนซึ่งล้วนแต่อยู่ในต่างประเทศทั้งนั้น” เขาจึงขอและได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้เดินทางไปยุโรป และได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การจากทั้ง ๒ พระองค์ที่พระตำหนัก “วิลล่าวัฒนา” พระพินิจชนคดีได้บรรยายการเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การด้วยภาษาที่ค่อนข้าง melodramatic ดังนี้



ข้าพเจ้าและคณะใช้เวลาขอพระราชทานการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งแรก ประมาณสองชั่วโมงเศษ ฉลองพระองค์ด้วยสักหลาดสีเกรย์ทั้งชุด ฉลองพระเนตรและพระเกษาซึ่งไม่ค่อยจะทรงพิถีพิถัน อย่างที่เคยประทับเคียงข้างกับในพระบรมโกษฐ์ ที่กรุงเทพฯทุกครั้งคราว อย่างไรก็อย่างนั้น แต่แววพระเนตรนั้นต่างหากที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทรงเศร้าสลดอยู่ไม่วาย และโดยฉะเพาะก็บ่อยครั้ง เมื่อข้าพเจ้าขอพระราชทานกระแสร์รับสั่งถึงภาพเมื่อวันสวรรคต พระอสุชลคลออยู่ในพระเนตรตลอดเวลา ดำรัสตอบกับข้าพเจ้าทุกครั้งด้วยคำว่า “พี่นันท์- -“ อย่างนั้น และ “พี่นันท์- -“ อย่างนี้ แล้วก็บางทีดำรัสเพียงคำว่า “พี่” คำเดียว ก็ทรงสดุดหยุดลงคล้ายกับจะทรงรำลึกถึงภาพในอดีต เมื่อชำเลืองพระเนตรไปพบกับภาพในเรือบตลำน้อยในวังบางปะอิน ในพระบรมโกษฐ์ทรงกรรเชียงอยู่เอื่อยๆ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าทวีความลำบากใจยิ่งขึ้น มันเป็นการรบกวนต่อความรู้สึกในพระราชหฤทัยเหลือเกิน ข้าพเจ้าได้ขอรับพระราชทานอภัยในเหตุนี้ ทรงยิ้มระรื่น แต่เต็มไปด้วยความเยือกเย็น รับสั่งว่า


“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่า ฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”


ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมทูลซักไซร้ต่อไปในหลายประเด็น ทรงตอบคำถามข้าพเจ้าอย่างเปิดเผยในทุกประเด็นเช่นเดียวกัน การขอพระราชทานสอบสวนในวันแรกนี้ ข้าพเจ้าได้ผ่อนในประเด็นซึ่งไม่รุนแรง และกะทบพระราชหฤทัยนัก เพราะถ้าจะรวบรัดให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวก็จะเป็นการกะทบกระเทือนต่อพระองค์มากไป ความเศร้าสลดต่อพี่ผู้ร่วมสายโลหิต แม้จะห่างไกลผ่านพ้นมาเกือบสองปีเต็มแล้วก็ยังเป็นความเศร้าที่ข้าพเจ้าเองก็พลอยสั่นสะเทือนไปด้วย ข้าพเจ้ากราบถวายบังคมลากลับโฮเต็ลในวันนี้เมื่อได้เวลาพอสมควร รับสั่งถามถึงความสดวกสบายแก่ข้าพเจ้าและคณะ ข้าพเจ้ากราบทูลว่าสดวกเรียบร้อยทุกประการ .................

ข้าพเจ้าใช้เวลาเวียนถวายการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชชนนีประมาณ ๔ ครั้ง จึงเสร็จสิ้น การสอบสวนซึ่งนับว่าครบทุกประเด็นที่คณะกรรมการต้องการ นับเป็นการคลี่คลายมูลเหตุสวรรคตอันมหึมา



จากประวัติการทำคดีสวรรคตของพระพินิจชนคดีซึ่งมีทั้งการข่มขู่พยาน และการสร้างพยานเท็จ ทำให้เราควรต้องอ่านทุกอย่างที่เขาเขียนเกี่ยวกับคดีนี้ รวมทั้งรายละเอียดเรื่องการเข้าเฝ้านี้ อย่างไม่น่าเชื่อถือเสมอ จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นมายืนยัน น่าเสียดายว่า หลักฐานเกี่ยวกับการสอบปากคำในหลวงในปี ๒๔๙๑ นี้ เช่นเดียวกับการสอบปากคำโดยตำรวจในปี ๒๔๘๙ ข้างต้น น่าจะสูญหายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าแม้สิ่งที่พระพินิจฯเขียนข้างต้น จะไม่ควรเชื่อถือนัก แต่เฉพาะข้อความที่พระพินิจฯอ้างว่าในหลวงองค์ปัจจุบันทรงรับสั่ง (“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว...ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”) ดูเหมือนจะมีการนำมาอ้างอิงกันต่อๆมา ในลักษณะที่เป็นพระราชดำรัสที่แท้จริง (authentic)


พระราชดำรัสให้การต่อศาล ๒๔๙๓

ดังกล่าวข้างต้นว่า ทรงให้การเป็นพยายนโจทก์ใน ๒ วัน คือวันศุกร์ที่ ๑๒ และวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ สยามนิกรวันอาทิตย์ ฉบับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ได้รายงานการทรงให้การในวันแรก ดังนี้


บรรทึกเสียงเผชิญสืบ
ในหลวงทรงให้การอย่างช้าๆ
องค์มนตรีนั่งฟังในหลวงครบชุด
--------------------


เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ คณะผู้พิพากษาอันมีพระนิติธานพิเศษอธิบดีศาลอาญา นายวิจิตร อัครวิจิตรไกรฤกษ์ นายทวี เจริญพิทักษ์ หลวงกำจรนิติศาสตร หลวงการุณยนราทร พร้อมด้วยอัยยการ มีหลวงอรรถปรีชาชนูปการ หลวงอรรถโกวิทวที และนายเล็ก จุนนานนท์ สำหรับฝ่ายจำเลยมี นายฟัก ณ สงขลา น.ส.เครือวัลย์ ปทุมรส ทนายจำเลย และนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศิรินทร์ จำเลย ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ ตำหนักสวนจิตลดาระโหฐาน เพื่อเผชิญสืบในกรณีสวรรคต

ก่อนเวลาที่ในหลวงจะเสด็จออกสู่ท้องพระโรง เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้จัดให้ผู้ไปเผชิญสืบพักในห้องรับแขก ครั้นได้เวลาเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกสู่ท้องพระโรง ด้วยฉลองพระองค์ชุดสีเทา ผูกเน็คไทสีม่วง และฉลองพระเนตรสีดำ พร้อมองคมนตรีครบชุด

การเผชิญสืบครั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังได้ทำการอัดเส้นลวด ครั้นแล้วฝ่ายอัยยการได้ทูลซักพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบด้วยพระอิริยาบถช้าๆสำหรับทางด้านผู้พิพากษา หลวงการุณยนราทร ได้เป็นผู้จดการบรรทึก ครั้นแล้วก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้ทอดพระเนตรสำนวนพระราชกระแสเสร็จแล้ว จึงพระราชทานให้พระพิจิตราชสารอ่านถวาย มีบางตอนที่พระองค์ทรงสั่งให้พระจิตแก้ไข ในหลวงได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง สำหรับในตอนนั้นเสร็จสิ้นเมื่อ ๑๒.๓๐ น. และพระองค์จะพระราชทานพระกระแสรับสั่งแก่ผู้ไปเผชิญสืบอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๑๕ เดือนนี้


๔ วันต่อมา (๑๘ พฤษภาคม) สยามนิกร ได้ตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสคำให้การทั้งในวันที่ ๑๒ และ ๑๕ ฉบับเต็ม โดยมีพาดหัวนำ ดังนี้


“ร.๘ พระราชชนนีและฉัน ไม่มีอะไรหมองใจกัน”
ในหลวงรับสั่งกับศาล
ถึงเหตุการณ์วันสวรรคต

------------------

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัส ในกรณีสวรรคตรวม ๒ คราว คือเมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ เดือนนี้นั้น เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้ ศาลก็อนุญาตให้หนังสือพิมพ์คัดพระราชดำรัสมาลงพิมพ์ได้

สยามนิกร ไม่ได้อธิบายว่าการ “คัดพระราชดำรัสมาลงพิมพ์” นั้น ทำอย่างไร แต่

พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ซึ่งตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสคำให้การเช่นกัน (แต่ไม่สมบูรณ์และลำดับย่อหน้าผิดพลาดสับสน) ได้อธิบายว่า “ศาลได้ยินยอมให้หนังสือพิมพ์นำพระราชกระแสร์รับสั่งของพระองค์เปิดเผยได้ โดยผู้พิพากษานายหนึ่งเป็นคนบอกให้นักหนังสือพิมพ์จดเมื่อบ่ายวันวานนี้”


การตีพิมพ์ซ้ำ
เท่าที่ผมค้นคว้าได้ขณะนี้ นอกจาก สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ที่ตีพิมพ์ตัวบทพระราชดำรัสให้การฉบับเต็มแล้ว มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกเพียง ๓ แห่ง คือ

แห่งแรก ในหนังสือโปรเจ้าแอนตี้ปรีดีของ ดำริห์ ปัทมะศิริ ในหลวงอานันท์ฯกับปรีดี ในปี ๒๔๙๓ (สำนักพิมพ์รัชดารมภ์, หน้า ๓๙๖-๔๐๙) หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนไม่เคยมีการตีพิมพ์ซ้ำ

แห่งที่ ๒ ในหนังสือโปรเจ้าแอนตี้ปรีดีอีกเล่มหนึ่ง ในหลวงอานันทกับคดีลอบปลงพระชนม์ ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ โดยสำนักพิมพ์พีจี ของ พจนาถ เกสจินดา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในช่วงเดียวกับที่มีกระแสการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอย่างขนานใหญ่ในปี ๒๕๑๗ โดยพิมพ์ถึง ๒ ครั้งในปีนั้น แล้วตีพิมพ์ซ้ำอีกในปี ๒๕๒๐ ปรีดีได้ฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือเล่มนี้และชนะคดี แล้วได้นำคำฟ้อง (ที่เขาเขียนเอง) และคำตัดสินยอมความของศาลมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในปี ๒๕๒๓ ในชื่อ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ ตัวบทพระราชดำรัสให้การที่ชาลี นำมาตีพิมพ์ในหนังสือของเขานี้ น่าจะเอามาจากตัวบทที่ตีพิมพ์ในหนังสือของดำริห์ เพราะมีที่ผิดพลาดสำคัญเหมือนกัน (ดูข้างหน้า)

แห่งที่ ๓ ในปี ๒๕๓๑ บุญร่วม เทียมจันทร์ อัยการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการ กรมอัยการ ได้นำพระราชดำรัสคำให้การ มาตีพิมพ์ในหนังสือของเขาชื่อ คดีพยายามลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ร.๙) เขาไม่ระบุแหล่งที่มาของตัวบท แต่น่าเชื่อว่า คงมาจากหนังสือของชาลี หรือดำริห์ เพราะมีที่ผิดซ้ำเหมือนๆกัน ชื่อหนังสือของบุญร่วม พาดพิงถึงกรณีที่มีการวางระเบิดหน้าที่ประทับในหลวงองค์ปัจจุบันขณะทรงเสด็จยะลาในปี ๒๕๒๐(๔)


ปัญหาบางประการเกี่ยวกับ
พระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓

ในที่นี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ ใน ๒ ลักษณะ คือ ในประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาของพระราชดำรัส และ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์ซ้ำ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการตีความบางประการ

ในส่วนเนื้อหาของพระราชดำรัสนั้น ผมคิดว่า ผู้ใดทีอ่านพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ เปรียบเทียบกับคำให้การที่ทรงพระราชทานต่อ “ศาลกลางเมือง” ย่อมอดสะดุดใจไม่ได้ว่าพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ มีเนื้อหาในเชิงเป็นผลร้ายต่อปรีดี พนมยงค์ และต่อจำเลยคดีสวรรคต โดยเฉพาะเฉลียว ปทุมรส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุน (บริวาร) ใกล้ชิดของปรีดี(๕) หากลองเปรียบเทียบข้อความในพระราชดำรัสคำให้การต่อ “ศาลกลางเมือง” ที่ยกตัวอย่างข้างต้น กับข้อความในย่อหน้า [10] ถึง [16] และย่อหน้า [25] ของพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ ดังนี้


[10] ฉันเคยทราบว่านายเฉลียว ได้นั่งรถยนตร์เข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงพอพระราชหฤทัยในการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้ เคยมีครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งเรียกรถยนตร์ไม่ได้มา เหตุที่ไม่ได้มา เพราะคันหนึ่งไปซ่อม อีกคันหนึ่งเอาไปให้นายปรีดี เขาว่ากันว่า นายเฉลียว เป็นผู้จัดส่งรถไปให้นายปรีดี แล้วนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งรถมาถวายให้ทรงใช้แทน

[11] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งอะไรกับฉันถึงการเข้าเฝ้าของนายเฉลียวว่ามีคารวะหรือไม่ การที่นายเฉลียวพ้นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์นั้น น่าจะเป็นด้วยในหลวงไม่พอพระราชหฤทัย เหตุที่ไม่พอพระราชหฤทัย เพราะอะไรไม่ได้รับสั่งแก่ฉันให้ทราบ

[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ

[13] นายปรีดีเคยว่า จะสั่งให้เอาเปียนโนมาถวาย จะสั่งมาจากไหนไม่ได้บอก ขณะนำมาถวายฉันไม่ได้อยู่ด้วย ในขั้นต้นฉันเข้าใจว่า เปียนโนนั้นเป็นของนายปรีดี ต่อมาพระยาชาติฯบอกว่าเป็นของสำนักพระราชวัง

[14] เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการที่ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะเสด็จต่างประเทศนั้น ฉันได้รู้บ้าง ความเห็นของนายปรีดีในการจะตั้งผู้สำเร็จราชการ จะตรงกับพระราชดำริห์หรือไม่ ฉันไม่ทราบ

[15] เกี่ยวกับการตั้งราชเลขานุการแทนนายเฉลียวที่พ้นตำแหน่ง ฉันรู้บ้าง ในหลวงมีพระราชประสงค์จะทรงตั้งท่านนิกรเทวัญ เทวกุล นายปรีดีปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์นั้นชักช้า

[16] ในการที่ในหลวงจะเสด็จกลับสวิสเซอร์แลนด์ โดยผ่านไปทางประเทศอเมริกาและยุโรปนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน และทรงพระประสงค์จะได้เสด็จไปโดยเร็ว พระราชประสงค์นี้จนใกล้จะสวรรคตก็มิได้เปลี่ยนแปลง รัฐบาลจัดการเรื่องเสด็จนั้นเร็วช้าประการใดไม่ทราบ ในที่สุด ได้กำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙

[25] รถจี๊ปที่นายปรีดีเอาไปใช้นั้น เป็นรถส่วนพระองค์


ควรเข้าใจว่า ลักษณะการบันทึกคำให้การของพยานในศาลไทย ดังเช่นในกรณีพระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ นี้ ใช้วิธีที่ผู้พิพากษาจดเฉพาะคำตอบของพยานเท่านั้น ไม่จดคำถามของอัยการหรือทนายจำเลย เมื่อสิ้นสุดการให้การในวันนั้นแล้ว ผู้พิพากษาก็เรียบเรียงคำตอบที่เขาจดไว้เหล่านั้น ออกมาเป็นข้อความที่ต่อเนื่องกันในลักษณะราวกับว่า พยานกำลังให้การด้วยการพูดออกมาเองคนเดียว (monologue) ไม่ใช่การพูดโต้ตอบกับคำถามที่อัยการหรือทนายจำเลยตั้งขึ้น ในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ สำหรับวิเคราะห์ความคิดของบุคคลใด บันทึกคำให้การของพยานลักษณะนี้ อาจทำให้ให้ตีความไขว้เขวคลาดเคลื่อนได้ เพราะความจริง ตัวบทบันทึกคำให้การไม่ได้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่พยานพูดตามที่บันทึกนั้น เป็นการพูดออกมาเอง หรือเป็นการตอบสนองต่อ คำถามที่มีลักษณะเชิงชี้นำก่อน มากน้อยเพียงใด (ใครที่ศึกษาเรื่องการสัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนสมัยใหม่อย่างจริงจัง ควรทราบดีว่า “คำตอบ” เป็นอย่างไร ที่สำคัญไม่น้อยขึ้นอยู่กับการตั้ง “คำถาม” ด้วย)

การที่ผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มหรือตัด “คำเล็กๆ” ประเภทคำสร้อยหรือบุพบทสันธาน เข้ามาหรือออกไป ในแง่ของวิเคราะห์ตัวบท (textual analyses) ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ “คำเล็กๆ” เหล่านั้น สามารถทำให้น้ำหนักของประโยคเปลี่ยนไปได้ ในบางกรณีการเพิ่มหรือตัด อาจจะไม่ใช่เพียง “คำเล็กๆ” เพราะผุ้พิพากษาต้องเรียบเรียงคำให้การใหม่ให้อ่านได้ต่อเนื่อง ดังนั้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่พยานเพียงตอบสั้นๆ ต่อคำถามบางคำถาม โดยไม่ได้ทวนคำถามนั้นซ้ำ (คือตอบเพียง “ใช่”, “ไม่ใช่” หรือ “ไม่ทราบ”) เมื่อผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ย่อมต้องเขียนคำถามของผุ้ถาม เข้าไปในลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของ “คำพูด” ของพยานด้วย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ข้อความหรือการเลือกใช้คำ (phrasing) ตอนนั้นเป็นของผุ้ถาม ไม่ใช่ของผู้ตอบ

ยิ่งกว่านั้น หลังจากผู้พิพากษาเรียบเรียงบันทึกคำให้การของพยานเสร็จแล้ว จะอ่านทวนให้พยานฟัง พยานเองยังอาจขอแก้ไขบางคำได้ คำบางคำในบันทึกคำให้การจึงอาจจะไม่ใช่คำที่พยานใช้จริงๆในระหว่างให้การ แต่เป็นผลจากการแก้ไขนี้ (ดูรายงานข่าวใน สยามนิกร ที่ยกมาข้างต้นที่ว่า “สำหรับทางด้านผู้พิพากษา หลวงการุณยนราทร ได้เป็นผู้จดการบรรทึก ครั้นแล้วก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้ทอดพระเนตรสำนวนพระราชกระแสเสร็จแล้ว จึงพระราชทานให้พระพิจิตราชสารอ่านถวาย มีบางตอนที่พระองค์ทรงสั่งให้พระจิตแก้ไข”)

สรุปแล้ว บันทึกคำให้การพยาน เป็นหลักฐานที่เสี่ยงต่อการคลาดเคลื่อนจากความจริงไม่น้อย โดยเฉพาะคือ ส่วนที่เป็นความละเอียดอ่อน (subtleties) ต่างๆที่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ในแง่ความคิดหรือท่าทีของบุคคลผู้เป็นพยาน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ แม้ว่าเราควรตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆ (qualifications) ที่เกิดจากลักษณะของการบันทึกคำให้การพยานในศาลดังกล่าวแล้วก็ตาม ด้านที่พระราชดำรัสให้การต่อศาลในคดีสวรรคตของในหลวงองค์ปัจจุบันในปี ๒๔๙๓ มีเนื้อหาเชิงลบต่อปรีดี ก็ยังเป็นสิ่งที่ชวนสะดุดใจสังเกตเป็นอย่างยิ่ง


ปัญหาที่เกิดจากการตีพิมพ์ซ้ำ

เท่าที่ผมมองเห็นในตอนนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับตัวบทพระราชดำรัสคำให้การคดีสวรรคต ๒๔๙๓ ที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำต่อๆกันมา อยู่ ๓ จุด จุดแรก เป็นปัญหาตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นอย่าง สยามนิกร และ พิมพ์ไทย ส่วนอีก ๒ จุด เป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการตีพิมพ์ ในหนังสือของ ดำริห์ ปัทมะศิริ แล้วถูกผลิตซ้ำในหนังสือของ ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ และ บุญร่วม เทียมจันทร์ ที่เอาฉบับของดำริห์ เป็นต้นแบบ ผมขออธิบายปัญหาแต่ละจุดตามลำดับ

(๑) ตั้งแต่ฉบับที่ตีพิมพ์ในสยามนิกร และ พิมพ์ไทย ไม่กี่วันหลังจากทรงพระราชทานคำให้การ ไปจนถึงฉบับที่พิมพ์ในหนังสือของดำริห์และคนอื่นๆ มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งในตัวบทพระราชดำรัสให้การ ที่ไม่ตรงกับที่อัยการโจทก์นำมาอ้างในคำแถลงปิดคดีของตน คือข้อความต่อไปนี้ในย่อหน้า [12]


[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ


ในคำแถลงปิดคดี (ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๔) อัยการโจทก์ได้อ้างพระราชดำรัสตอนนี้ และมีประโยคหนึ่งเพิ่มเข้ามา ซึ่งยิ่งมีเนื้อหาเชิงลบต่อปรีดีมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้ (การเน้นคำของผม)


ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดี พนมยงค์ ได้โดยเสด็จพักอยู่ด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งต่อศาลว่า “นายปรีดีฯ ปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยมีหลายอย่าง นายปรีดีฯ ได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต นายปรีดีฯ ได้เคยจัดให้มีการเลี้ยงขึ้นที่นั่น โดยไม่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนี้มีเสียงเอะอะ”(๖)


ประโยค “นายปรีดีฯปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยหลายอย่าง” เป็นประโยคที่ในหลวงองค์ปัจจุบันรับสั่งจริงๆ หรืออัยการจดมาผิด? (น่าสังเกตด้วยว่า ประโยคที่ตามมาก็มีบางคำไม่ตรงกับในฉบับที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ คือไม่มี “เลี้ยงพวกใต้ดิน” แต่จุดนี้อัยการเองอาจจะอ้างมาแบบไม่ครบ) โดยทั่วไปอัยการน่าจะมีคำให้การของพยานฉบับทางการ คือฉบับที่ผู้พิพากษาจดและเรียบเรียงอ่านให้พยานลงนาม และน่าจะอ้างอิงจากฉบับทางการนั้น ซึ่งถ้าเช่นนั้น ในกรณีนี้ ก็แปลว่า ฉบับที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์มีความคลาดเคลื่อน (เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในการที่ “ผู้พิพากษานายหนึ่งเป็นคนบอกให้นักหนังสือพิมพ์จด” ได้ “บอกจด” ผิดพลาด ข้ามประโยคนี้ไป?)

แน่นอน สมมุตว่า ฉบับที่อัยการอ้างในคำแถลงปิดคดีเป็นฉบับทางการที่ถูกต้อง และมีประโยคดังกล่าวในบันทึกพระราชดำรัสให้การจริงๆ เราก็ยังไม่สามารถบอกได้เด็ดขาดลงไปว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันมีรับสั่งเช่นไรแน่ อันเนื่องมาจากลักษณะวิธีการจดบันทึกคำให้การพยานที่ผมอธิบายข้างต้น เช่น ในการถาม-ตอบจริงๆ อัยการอาจจะถามว่า “ได้ยินว่า นายปรีดีฯปฏิบัติการไม่พอพระราชหฤทัยหลายอย่าง ทรงยกตัวอย่างได้ไหมพะยะค่ะ?” แล้วในหลวงองค์ปัจจุบันทรงตอบว่า “นายปรีดีฯ ได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต...” แต่เมื่อผู้พิพากษาเรียบเรียงใหม่ ได้รวมทั้งประโยคที่อัยการถาม และที่ทรงตอบเข้าด้วยกัน เป็นพระราชดำรัสให้การ แต่ต้องไม่ลืมว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันต้องทรงอ่านทวนคำให้การที่ผุ้พิพากษาเรียบเรียงใหม่นี้ แล้วลงพระปรมาภิไธยรับรองว่าเป็นของพระองค์ ที่แน่นอนคือ การมีประโยคนี้ ทำให้ข้อความในย่อหน้า ที่มีลักษณะในเชิงลบต่อปรีดีอยู่แล้ว มีน้ำหนักเชิงลบต่อปรีดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก

(๒) ตัวบทพระราชดำรัสให้การที่ตีพิมพ์ในหนังสือของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (และในหนังสือของชาลี และบุญร่วม ที่เอาดำริห์เป็นต้นแบบ) มีที่ผิดพลาด คือ ในระหว่างย่อหน้า [25] กับย่อหน้า [26] ควรจะมีข้อความหรือหัวข้อใหม่ว่า “(ทรงตอบทนายจำเลย)(เขียนในวงเล็บแบบนี้) นั่นคือ ข้อความจากย่อหน้า [26] เป็นต้นไป ถึงย่อหน้า [34] เป็นข้อความที่ทรงตอบคำถามของทนายจำเลย ไม่ใช่ของโจทก์ การพิมพ์ตกหล่นนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ปรีดีตีความผิดว่า การเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันครั้งนี้ กระทำกันที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยไม่มีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมด้วย ซึ่งปรีดีเสนอว่า (เมื่อรวมกับการเผชิญสืบพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยไม่มีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมด้วยจริงๆ) ทำให้การดำเนินคดีทั้งหมด ควรถูกถือเป็นโมฆะ(๗)

(๓) นอกจากนี้ ดำริห์ยังได้ตีพิมพ์ข้อความในย่อหน้า [2] ของพระราชดำรัสให้การผิดพลาด ดังนี้ (การเน้นคำของผม)


[2] ในเช้าวันที่ ๙ มิถุนายนนั้น ฉันกินอาหารเช้าเวลาใดบอกไม่ใคร่ถูก แต่ประมาณราว ๘.๓๐ น. กินที่มุขพระที่นั่งชั้นบนด้านหน้า (โจทก์ขอให้ทรงชี้หุ่นจำลองพระที่นั่ง ได้นำมาจากศาลด้วย ฃ ทรงชี้ตรงที่แสดงไว้ในหุ่น) กินอาหารแล้วฉันได้เดินไปทางห้องบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นเวลา ๙.๐๐ น.ได้พบนายชิตกับนายบุศย์ อยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ เห็นนั่งอยู่ (ทรงชี้หุ่นจำลอง ตรงกับจุด ๒ จุด ที่จุดไว้ในแผนผัง หมายเลข ๑) นายชิต นายบุศย์ นั่งอยู่เฉยๆ ฉันได้ถามเขาว่า ในหลวงพระอาการเป็นอย่างไร ได้รับตอบว่าพระอาการดีขึ้น ใครเป็นผู้ตอบจำไม่ได้ เขาตอบไปว่าทรงสบายดีขึ้น ได้เสด็จห้องสรงแล้ว ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง ได้ยินในขณะที่อยู่ในห้องเครื่องเล่น ก่อนได้ยินเสียงร้องได้เห็นคนวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น (ทรงชี้หุ่นจำลองและแผนผังหมายเลข ๑ และศาลได้ขีดเส้นด้วยดินสอสีแดงเป็นลูกศรแสดงทางที่เห็นคนวิ่งไปในแผนผัง) เสียงคนร้องเป็นเสียงใครจำไม่ได้ ได้ยินเสียงร้องแล้ว ฉันได้ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้าโดยผ่านทางห้องบรรได (ทรงขีดเส้นดินสอแดงไว้ในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงทางที่พระองค์เสด็จ) ได้พบน.ส.จรูญ ที่หน้าห้องข้าหลวง ถาม น.ส.จรูญ ว่ามีอะไรเกิดเรื่องอะไร ได้รับตอบว่าในหลวงยิงพระองค์ ฉันได้ยินดังนั้นก็ตรงไปยังห้องพระบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ (ทรงขีดเส้นหมึกในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงเส้นทางที่เสด็จตรงไปยังห้องพระบรรทม)


ข้อความตอนนี้ที่ถูกต้องคือ “ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง....” ข้อความที่พิมพ์ผิด ตกหล่นไปประมาณ ๑ บรรทัดนี้ ทำให้อ่านไม่ได้ความหมายใดๆ แน่นอน ต่อมาในย่อหน้า [26] ทรงใช้คำใกล้เคียงกันอีก (และดำริห์พิมพ์ได้ถูกต้อง) ว่า “ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอนและห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต” แต่ถ้าอ่านข้อความในย่อหน้า [2] ไม่รู้เรื่องแล้ว ก็ยากจะเข้าใจนัยยะของข้อความในย่อหน้า [26] ได้ และจากการพิมพ์ตกหล่น คำว่า “ทรงตอบทนายจำเลย” ก่อนย่อหน้า [26] ทำให้ไม่สามารถเข้าใจว่า ข้อความส่วนนี้ เป็นการทรงตอบการซักค้านของทนายจำเลย ต่อคำตอบที่ทรงให้โจทก์ (และถูกพิมพ์ผิด) ในย่อหน้า [2] (ประเด็นพระองค์ทรงอยู่ที่ใดขณะเกิดเสียงปืน)


ยิ่งกว่านั้น ประโยคที่ดำริห์พิมพ์ผิดนี้ อาจจะมีนัยยะสำคัญต่อการเข้าใจเหตุการณ์แวดล้อมการสวรรคตได้ อย่างน้อย นี่คือประเด็นที่ สุพจน์ ด่านตระกูล พยายามนำเสนอ ในหนังสือที่มีความสำคัญขั้นขี้ขาดของเขาเรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต สุพจน์ได้ตีพิมพ์พระราชดำรัสให้การย่อหน้านี้ และเน้นคำประโยคนี้ (ที่ดำริห์และคนอื่นๆพิมพ์ผิด) โดยเปรียบเทียบกับบางส่วนของคำให้การของพยานโจทก์อีกคนหนึ่ง คือพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุลย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ ต่อไปนี้ (การเน้นคำเป็นของสุพจน์)


ข้าพเจ้าอยู่ในห้องสมเด็จพระราชชนนีเป็นเวลาราว ๒๐ นาที จึงออกจากห้องสมเด็จพระราชชนนีไปทางห้องในหลวงองค์ปัจจุบันโดยเข้าไปจัดฟิล์มหนัง เมื่อเข้าไปในห้อง ข้าพเจ้าไม่พบใครแม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นก็หาทราบไม่ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจัดฟิล์มหนังอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงดังมาก เป็นเสียงปืน ดังทีเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้านึกสงสัยว่าอะไรจึงดังเช่นนั้น จึงรีบออกมาทางระเบียงด้านหลัง ผ่านห้องเครื่องเล่นของในหลวงองค์ปัจจุบัน ห้องบันได พอมาถึงห้องพระภูษาก็ได้ยินเสียงวิ่ง (พยานชี้ให้ดูแผนผัง) ตามระเบียงด้านหน้า ขณะนั้นคะเนว่าไม่ใช่คนเดียว และวิ่งไปทางทิศตะวันออกคืไปทางห้องในหลวงในพระบรมโกษฐ์ เมื่อได้ยินเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงออกวิ่งบ้าง วิ่งไปทางระเบียงด้านหลัง มุ่งตรงไปห้องในหลวงในพระบรมโกษฐ์ ระหว่างทางนั้นจะมีใครอยู่แถวที่ผ่านไปบ้างหรือไม่ ไม่ได้สังเกต และพระฉากที่ประตูห้องของพระองค์จะเปิดหรือยัง ไม่ได้สังเกตทั้งนั้น(๘)


ตัวบท
ตัวบทพระราชดำรัสให้การในศาลคดีสวรรคตปี ๒๔๙๓ ที่ผมนำมาเผยแพร่ข้างล่างนี้ ผมถือเอาฉบับที่ตีพิมพ์ใน สยามนิกร วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นหลัก โดยเปรียบเทียบกับฉบับที่พิมพ์ไม่สมบูรณ์ใน พิมพ์ไทย วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ และฉบับเต็มที่ ดำริห์ พิมพ์ในหนังสือของเขา (แล้วชาลี และ บุญร่วม เอามาพิมพ์ต่อ) ผมตัดแบ่งย่อหน้าเพิ่มเติมบางแห่งจากฉบับที่พิมพ์ใน สยามนิกร


คำให้การพะยานโจทก์
คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๘/๒๔๙๑


ศาลอาญา
วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

ความอาญาระหว่าง อัยการ โจทก์
นายเฉลียว ปทุมรส กับพวก จำเลย

ข้าพเจ้าขอให้การว่า ข้าพเจ้าชื่อ พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอให้การต่อไป (ทรงตอบโจทก์)


[1] ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ฉันไปในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าอาทิตย์แทนรัชชกาลที่ ๘ และในคืนเดียวกันนั้น ไปในกรมทหารมหาดเล็ก แต่มิใช่ไปแทนพระองค์ เหตุที่รัชชกาลที่ ๘ ไม่ได้เสด็จในงานพระศพพระองค์เจ้าอาทิตย์ ก็เพราะไม่ทรงสบาย อาการไม่ทรงสบายนั้น ไม่ถึงขนาดต้องบรรทมอยู่กับพระแท่น ยังทรงพระราชดำเนินไปมาบนพระที่นั่งได้ ไม่ทรงสบายด้วยพระโรคอะไรฉันไม่ใช่หมอ ได้ยินแต่รับสั่งเพียงว่าไม่สบาย

[2] ในเช้าวันที่ ๙ มิถุนายนนั้น ฉันกินอาหารเช้าเวลาใดบอกไม่ใคร่ถูก แต่ประมาณราว ๘.๓๐ น. กินที่มุขพระที่นั่งชั้นบนด้านหน้า (โจทก์ขอให้ทรงชี้หุ่นจำลองพระที่นั่ง ได้นำมาจากศาลด้วย ฃ ทรงชี้ตรงที่แสดงไว้ในหุ่น) กินอาหารแล้วฉันได้เดินไปทางห้องบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นเวลา ๙.๐๐ น.ได้พบนายชิตกับนายบุศย์ อยู่ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ เห็นนั่งอยู่ (ทรงชี้หุ่นจำลอง ตรงกับจุด ๒ จุด ที่จุดไว้ในแผนผัง หมายเลข ๑) นายชิต นายบุศย์ นั่งอยู่เฉยๆ ฉันได้ถามเขาว่า ในหลวงพระอาการเป็นอย่างไร ได้รับตอบว่าพระอาการดีขึ้น ใครเป็นผู้ตอบจำไม่ได้ เขาตอบไปว่าทรงสบายดีขึ้น ได้เสด็จห้องสรงแล้ว ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปยังห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้ ระหว่างนั้นซึ่งเป็นเวลาประมาณ ๙.๒๕ น. ได้ยินเสียงคนร้อง ได้ยินในขณะที่อยู่ในห้องเครื่องเล่น ก่อนได้ยินเสียงร้องได้เห็นคนวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดซึ่งอยู่ติดกับห้องเครื่องเล่น (ทรงชี้หุ่นจำลองและแผนผังหมายเลข ๑ และศาลได้ขีดเส้นด้วยดินสอสีแดงเป็นลูกศรแสดงทางที่เห็นคนวิ่งไปในแผนผัง) เสียงคนร้องเป็นเสียงใครจำไม่ได้ ได้ยินเสียงร้องแล้ว ฉันได้ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้าโดยผ่านทางห้องบรรได (ทรงขีดเส้นดินสอแดงไว้ในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงทางที่พระองค์เสด็จ) ได้พบน.ส.จรูญ ที่หน้าห้องข้าหลวง ถาม น.ส.จรูญ ว่ามีอะไรเกิดเรื่องอะไร ได้รับตอบว่าในหลวงยิงพระองค์ ฉันได้ยินดังนั้นก็ตรงไปยังห้องพระบรรทมในหลวงรัชชกาลที่ ๘ (ทรงขีดเส้นหมึกในแผนผังหมายเลข ๑ แสดงเส้นทางที่เสด็จตรงไปยังห้องพระบรรทม)

[3] เมื่อเข้าไปถึงห้องพระบรรรทมแล้ว เห็นสมเด็จพระราชชนนีและพระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่บนพระแท่นบรรทม สมเด็จพระราชชนนี ประทับอยู่เบื้องปลายพระบาทในหลวง โดยพระองค์อยู่บนพระแท่นครึ่งพระองค์ ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่บนพระแท่นบรรทม และอยู่ตอนไปทางด้านพระเศียร เห็นในหลวงบรรทมอยู่บนพระแท่นในท่าหงายอย่างปรกติ เห็นที่พระนลาตมีรอยโลหิต พระเนตรหลับ สังเกตเห็นพระกรยืดอยู่ข้างพระวรกาย อยู่ท่าคนนอนธรรมดา พระกรแนบพระวรกาย ห่างจากพระวรกายตรงขอบพระหัตถ์ด้านในประมาณ ๕ ซ.ม. ที่ว่านี้หมายถึงพระกรซ้าย ส่วนพระกรข้างขวาเป็นอย่างไรไม่เห็น สังเกตเห็นพระหัตถ์อยู่ในท่าธรรมดา นิ้วพระหัตถ์ไม่งอแต่พระหัตถ์งอบ้างอย่างธรรมดา คืองดนิดหน่อย มีผ้าคลุมพระบรรทมคลุมอยู่ด้วย พระกรอยู่ภายนอกผ้านั้น เห็นแต่ข้างซ้าย ข้างขวาไม่ได้เห็น ผ้าคลุมพระองค์ขึ้นมาเสมอพระอุระ

[4] เมื่อฉันเห็นเช่นนั้นก็บอกกับคนที่อยู่ที่นั่นให้ไปตามหมอมา แล้วฉันได้เข้าไปประคองสมเด็จพระราชชนนีมาประทับที่พระเก้าอี้ปลายพระแท่นบรรทม ต่อจากนั้น หลวงนิตย์ฯได้มาถึง จะมาถึงภายหลังที่ฉันเข้าไปในห้องพระบรรทมแล้วนานเท่าใด กะไม่ถูก หลวงนิตย์ฯเข้าไปดูแล้วกก็ไม่ได้พูดว่ากะไร แต่ฉันเห็นหน้าหลวงนิตย์ฯก็รู้ได้ว่าไม่มีหวังแล้ว สมเด็จพระราชชนนีได้เสด็จไปประทับในห้องทรงพระอักษรต่อไป

[5] เมื่อทราบว่าหมดหวังแลว ต่อมาได้เรียกพระยาชาติฯขึ้นมาถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป พระยาชาติฯบอกถึงพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพแล้ว ฉันก็สั่งให้เขาจัดการไปตามระเบียบ

[6] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ เคยทรงปืนในงานแฟร์ (งานออกร้าน) ในต่างประเทศบ้างหรือไม่ ก็เป็นปืนของเล่น ปืนที่ทรงในงานแฟร์เป็นปืนที่เขามีกัน ปืนพกเคยทรงแต่ที่เป็นปืนของเล่น เมื่อเสด็จนิวัตพระนครแล้วใหม่ๆ คือ ในระหว่างเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ นั้น ได้เคยทรงพระแสงปืนเหมือนกัน เป็นปืนที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย โดยถวายที่เมืองชล เสด็จเมืองชลในราวเดือนธันวาคม โดยหลวงประดิษฐ์ฯเป็นผู้ถวายบังคมทูลเชิญเสด็จไปดูพวกใต้ดินของหลวงประดิษฐ์ฯ ปืนที่ทูลเกล้าฯถวายนั้นมีทั้งปืนสั้นและปืนยาว เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่นั่งบรมพิมานแล้ว ก็ได้ทรงปืนนั้นเหมือนกัน โดยมีคนมาชี้แจงการใช้ปืนถวาย ผู้มาชี้แจงมี ร.อ.วัชรชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นราชองครักษ์ พวกที่ให้ปืนมานั้นเป็นผู้แนะนำให้ ร.อ.วัชรชัยเป็นผู้ชี้แจงถวาย การที่ทรงปืนเป็นพระราชประสงบค์ของในหลวงเอง ทรงปืนที่ในสวนหลังพระที่นั่งบรมพิมาน ฉันก็ไปยิงปืนอยู่ด้วยเหมือนกัน ทรงทั้งปืนสั้นและปืนยาวทั้งสองอย่าง

[7] ปืนที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายมานั้นเป็นปืน U.S. Army ๑๑ ม.ม.นี้ ได้ทรงในสวนด้วยเหมือนกัน (โจทก์ขอให้ทรงทอดพระเนตรปืนของกลาง แล้วกราบบังคมทูลถามว่า ปืน U.S. Army ที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายมานั้น ลักษณะเป็นอย่างเดียวกับปืนของกลางหรือไม่ ทรงตอบว่าอย่างเดียวกัน) เมื่อทรงปืน U.S. Army แล้ว มีพวกมหาดเล็กที่อยู่ในที่นั้นเก็บเอาปลอกกระสุนไปบ้าง นายชิตนายบุศย์ก็เคยเก็บปลอกกระสุนไปเหมือนกัน และเห็นจะเก็บไปทั้งสองคน ปืนนั้นเมื่อทรงแล้วก็มอบให้ราชองครักษ์เก็บไป (โจทก์ขอให้ทรงทอดพระเนตรบัญชีปืนตามที่อ้างไว้ และศาลหมายเลข ๑๔๓ และโจทก์ได้อ่านรายการในบัญชีนั้นถวาย แล้วกราบบังคมทูลถามว่า ลูกระเบิดมือตามบัญชีนั้น ใครทูลเกล้าฯถวายมา ทรงรับสั่งตอบว่า จำไม่ได้)

[8] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ต้องทรงฉลองพระเนตร โดยสายพระเนตรสั้น เวลาทรงปืนจะได้ทรงฉลองพระเนตรทุกคราวหรือไม่ จำไม่ได้ แต่โดยมากเห็นทรง

[9] ดูเหมือนในวันสวรรคตนั้นเอง แต่จำไม่ได้แน่ นายชิตได้บอกว่า เก็บปลอกกระสุนปืนได้ในห้องบรรทม โดยบอกว่า เก็บได้ใกล้พระแท่น จะได้บอกละเอียดว่าเก็บตรงไหนอย่างไรจำไม่ได้ นายชิตจะชี้ที่ที่เก็บได้ให้ดูหรือเปล่าก็จำไม่ได้ แม้ตัวนายชิตเองก็ไม่แน่ใจว่า ตนเก็บได้ที่ไหน

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (ทรงตอบโจทก์) ต่อจากวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๙๓

[10] ฉันเคยทราบว่านายเฉลียว ได้นั่งรถยนตร์เข้าไปถึงหน้าพระที่นั่งบรมพิมาน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงพอพระราชหฤทัยในการกระทำเช่นนั้นหรือไม่ ฉันไม่รู้ เคยมีครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งเรียกรถยนตร์ไม่ได้มา เหตุที่ไม่ได้มา เพราะคันหนึ่งไปซ่อม อีกคันหนึ่งเอาไปให้นายปรีดี เขาว่ากันว่า นายเฉลียว เป็นผู้จัดส่งรถไปให้นายปรีดี แล้วนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งรถมาถวายให้ทรงใช้แทน

[11] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งอะไรกับฉันถึงการเข้าเฝ้าของนายเฉลียวว่ามีคารวะหรือไม่ การที่นายเฉลียวพ้นตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์นั้น น่าจะเป็นด้วยในหลวงไม่พอพระราชหฤทัย เหตุที่ไม่พอพระราชหฤทัย เพราะอะไรไม่ได้รับสั่งแก่ฉันให้ทราบ

[12] ในคราวเสด็จประพาสหัวหิน นายปรีดีโดยเสด็จด้วย ในคราวนั้นนายปรีดีได้สั่งเอารถจี๊ปไปใช้ โดยไม่ได้ขออนุญาต และนายปรีดีได้เคยจัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นที่นั่น เลี้ยงพวกใต้ดิน จัดเลี้ยงโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต ในการเลี้ยงนั้นมีเสียงเอะอะ

[13] นายปรีดีเคยว่า จะสั่งให้เอาเปียนโนมาถวาย จะสั่งมาจากไหนไม่ได้บอก ขณะนำมาถวายฉันไม่ได้อยู่ด้วย ในขั้นต้นฉันเข้าใจว่า เปียนโนนั้นเป็นของนายปรีดี ต่อมาพระยาชาติฯบอกว่าเป็นของสำนักพระราชวัง

[14] เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการที่ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะเสด็จต่างประเทศนั้น ฉันได้รู้บ้าง ความเห็นของนายปรีดีในการจะตั้งผู้สำเร็จราชการ จะตรงกับพระราชดำริห์หรือไม่ ฉันไม่ทราบ

[15] เกี่ยวกับการตั้งราชเลขานุการแทนนายเฉลียวที่พ้นตำแหน่ง ฉันรู้บ้าง ในหลวงมีพระราชประสงค์จะทรงตั้งท่านนิกรเทวัญ เทวกุล นายปรีดีปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์นั้นชักช้า

[16] ในการที่ในหลวงจะเสด็จกลับสวิสเซอร์แลนด์ โดยผ่านไปทางประเทศอเมริกาและยุโรปนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน และทรงพระประสงค์จะได้เสด็จไปโดยเร็ว พระราชประสงค์นี้จนใกล้จะสวรรคตก็มิได้เปลี่ยนแปลง รัฐบาลจัดการเรื่องเสด็จนั้นเร็วช้าประการใดไม่ทราบ ในที่สุด ได้กำหนดเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๙

[17] นายมี พาผล เคยบอกฉันว่า วันที่ ๑๓ จะเสด็จกลับไม่ได้ บอกเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคตแล้วราว ๒-๓ อาทิตย์ ว่านายชิตเป็นผู้พูดว่าในหลวงจะไม่ได้เสด็จกลับวันที่ ๑๓

[18] ตามที่ตอบไว้เมื่อวันก่อนว่า เห็นคนวิ่งผ่านห้องบรรไดไปนั้น ต่อมาฉันได้สอบสวนดู ฉันเคยถามนายชิตเขาบอกว่า เขาวิ่งมาทางหน้าพระที่นั่ง และบอกอีกครั้งหนึ่งว่าวิ่งมาทางหลังพระที่นั่งแล้วออกไปทางหน้า เขาไม่แน่ใจ นายชิตบอกและชี้ทางด้วย แต่ก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน

[19] นายวงศ์ เชาวน์กวี เคยสอนหนังสือฉันในวันที่ ๘ ก่อนสวรรคตนั้น นายวงศ์ได้ไปเฝ้าในวันที่ ๙ หลังจากในหลวงสวรรคตแล้ว นายวงศ์ได้มาตามคำสั่งของฉัน หลังจากนั้น นายวงศ์ยังได้มาอีกหลายครั้ง

[20] ในระหว่างในหลวงรัชชกาลที่ ๘ สมเด็จพระราชชนนี และฉัน ไม่มีอะไรขุ่นข้องหมองใจกัน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ไม่เคยรับสั่งกับฉันว่ามีความคับแค้นพระราชหฤทัยอย่างใด เคยรับสั่งแต่ว่า อากาศร้อน

[21] เกี่ยวกับราชการ ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ จะทรงมีอะไรคับแค้นพระราชหฤทัยบ้างไหมฉันไม่รู้ ส่วนที่เกี่ยวกับส่วนพระองค์ ก็ไม่มีเรื่องคับแค้นที่รุนแรง

[22] ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ พระทัยเย็น และเวลาทรงปืน ทรงระมัดระวังทุกทาง ยังเคยทรงเตือนฉันเวลายิง หรือเล่นปืนพก ให้ดูเสียก่อนว่ามีลูกอยู่ในลำกล้องหรือเปล่า

[23] ในหลวงไม่เคยพูดเรื่องการเมืองกับฉัน และฉันไม่เคยทราบเรื่องในหลวงทรงอยากพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

[24] นายฉันท์ หุ้มแพร เป็นคนจงรักภักดี และเป็นห่วงในความสุขสบายของเรา เกี่ยวกับการปลอดภัย เขาเป็นห่วงเหมือนกัน นายฉันท์ฯไม่เคยพูดกับฉันมาก เป็นแต่เคยบอกกับฉันว่า ต้องระวัง ที่ว่าต้องระวังนั้น เข้าใจว่าระวังคน บอกตั้งแต่ฉันมาถึงเมืองไทย

[25] รถจี๊ปที่นายปรีดีเอาไปใช้นั้น เป็นรถส่วนพระองค์

(ทรงตอบทนายจำเลย)

[26] คนที่ฉันเห็นวิ่งผ่านประตูห้องบรรไดไปนั้น เขาผ่านโดยเร็ว ฉันไม่รู้ว่าเป็นใคร ก่อนนั้นฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรดังผิดปรกติ ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอน และห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต ในที่สุด ฉันก็ไม่ทราบว่า คนที่เห็นวิ่งไปนั้นเป็นใคร ขณะเห็นไม่ทันได้คิดว่าอย่างไร

[27] เสียงคนร้องที่ได้ยินนั้น เป็นเสียงทั้งตกใจทั้งร้องไห้ และเป็นเสียงของคนๆ นอกจากเห็น น.ส.จรูญ ที่เฉลียงแล้ว ไม่เห็นมีใครอีก ตอนนั้นจะมีเสียงร้องทางหน้าพระที่นั่งบ้างไหม ไม่รู้ ฉันถาม น.ส.จรูญ แล้ว ก็ได้เดินต่อไปโดยเร็ว จะมีเสียงคนวิ่งไหม ไม่ได้สังเกต เวลานั้นประตูห้องทรงพระอักษรทางด้านที่เปิดออกสู่เฉลียงด้านหน้าจะปิดหรือเปิดอยู่ ไม่ได้สังเกต ประตู้นั้นตามธรรมดาเมื่อยังไม่ตื่นบรรทมก็ปิด และตามธรรมดาฉันไปห้องพระบรรทม ก็เข้าทางห้องแต่งพระองค์ ฉันเข้าไปถึงห้องพระบรรทมแล้ว ก็เลยตรงเข้าไปที่สมเด็จพระราชชนนี ขณะนั้นจะได้มีการเช็ดพระโลหิตที่พระพักตร์ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ แล้วบ้างไหม ฉันไม่ทราบ ฉันเข้าใจว่าพระพี่เลี้ยงเนื่องกำลังทำการเช็ดพระพักตร์ในหลวงอยู่ ฉันเข้าไปถึง สมเด็จพระราชชนนีแล้วนานสัก ๑ นาที หรือ ๒ นาที ก็ประคองพระองค์ท่านออกมา ขณะนี้พระพี่เลี้ยงจะคงเช็ดพระพักตร์อยู่หรือเปล่า ฉันไม่ได้ดู จะมีคนอื่นเข้าไปในพระวิสูตร์หรือเปล่า ฉันไม่ได้สังเกต ฉันไม่ได้แหวกพระวิสูตร์เข้าไป น่าจะมี คนแหวกไว้ แหวกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ไม่ได้สังเกต ฉันออกจากพระวิสูตร์มาแล้ว ก็มาอยู่กับสมเด็จพระราชชนนีที่ปลายพระแท่น ไม่ได้เข้าไปอีก

[28] ฉันสังเกตท่าทางของพระบรมศพ ตั้งแต่ก่อนเข้าไปในพระวิสูตร์แล้ว จะมีอะไรอยู่ใกล้พระกรเบื้องซ้ายบ้าง ไม่ได้สังเกต พระเศียรหนุนพระเขนยอยู่ในท่าปรกติ สังเกตเห็นตั้งแต่แรกเข้าไป

[29] สมเด็จพระราชชนนีเสด็จออกไปประทับอยู่ที่ห้องทรงพระอักษรก่อนฉัน ฉันออกจากห้องพระบรรทมไปแล้ว ก็ได้กลับเข้าไปอีก กี่ครั้งไม่ได้นับ

[30] ฉันได้เห็นปืน เมื่อนายชิตนำมาให้ดูที่เฉลียง ขณะนั้นเวลาสักเท่าใดจำไม่ได้ ปืนที่นายชิตนำมาให้ดู เป็นปืนที่นายฉันท์ หุ้มแพร ถวายรัชชกาลที่ ๘ ถวายตั้งแต่ตอนเสด็จมาถึงประเทศไทย

[31] ในวันสวรรคตนั้น นายวงศ์ได้มาหาฉัน ที่ห้องทรงพระอักษรในตอนแรก ต่อมาอีกตอนหนึ่ง มาหาที่ใกล้ห้องของฉัน

[32] เคยยิงปืนจากเฉลียงชั้นบนลงไปในสวน บางคราวก็ลงไปยิงในสวน ในหลวงรัชชกาลที่ ๘ ได้เว้นทรงปืนอยู่ก่อนเสด็จสวรรคตหลายวัน อาจจะมีคนอื่นมาแนะนำวิธีทรงปืนอีกบ้าง

[33] การที่นายปรีดีโดยเสด็จไปหัวหินด้วยนั้น นายปรีดีไม่มีหน้าที่โดยเสด็จ แต่จะเป็นพระราชประสงค์หรือเปล่า ฉันไม่รู้

[34] เรื่องสมเด็จพระราชชนนี ทรงเรียกรถใช้ไม่ได้นั้น จะก่อนหรือหลังกลับจากหัวหินจำไม่ได้ ได้ยินเขาพูดกันว่า รถนั้นนายปรีดีเอาไปใช้ โดยนายเฉลียวส่งไปให้

(ทรงตอบโจทก์ติง)

[35] เวลานายชิตนำปืนมาให้ฉันดูนั้น จะพูดอย่างไร จำไม่ได้

ลงพระปรมาภิไธย

***********

บทความโดย :

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา : somsak's work : พระราชดำรัสให้การต่อศาลคดีสวรรคต ๒๔๙๓ : ตัวบทและปัญหาบางประการ

หมายเหตุ
บทความนี้มีรูปภาพประกอบบทความ(น่าสนใจมาก)สามารถดูได้ที่ somsak's work ตามที่มาข้างต้น [ ผู้จัดเก็บบทความ]

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าอยากมีความคิดเลว ๆ กับผู้มีพระคุณเหนือเศียรเหนือเกล้าแบบนี้ก็เชิญไปอยู่ประเทศอื่นเถอะค่ะ คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่มีสติปัญญาและความคิด รักและเทิดทูนสถาบันสูงสุดกันทุกคน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ