วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยพระราชนิพนธ์ "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์"



คุณ Francescatti ได้ตั้งกระทู้ถามว่า 'ทำไมพระราชนิพนธ์เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์" ถึงไม่ค่อยมีการเผยแพร่'


ทำให้เป็นโอกาส ที่ผมจะได้พูดอะไรสักเล็กน้อยเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์นี้ ที่ผมรู้สึกสนใจมานาน

ก่อนอื่น ที่คุณ Francescatti กล่าวว่า ไม่ค่อยมีการเผยแพร่นั้น ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหมายถึงอะไร ความจริง (ดังที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้) ในหลวง ในฐานะ "นักประพันธ์" เป็นสิ่งที่ "มาทีหลังสุด" (หลังจากได้รับการสรรเสริญพระบารมีในความเป็น นักแต่งเพลง, นักกีฬา, นักวาด, นักถ่ายภาพ)

ดังนั้น จึงไม่ถึงกับแปลกนัก ถ้าจะรู้สึกว่า "ไม่ค่อยมีการเผยแพร่" งานเรื่อง "จากสยาม" ดังกล่าว เพราะที่จริง ไม่มีการเผยแพร่ งานประพันธ์จริงๆเท่าไร เพิ่งมามี ในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้เอง (ปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า " Mass Monarchy ") ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอภาพ ในหลวงในฐานะ "นักเขียน" ตอนแรกในฐานะ "นักแปล" ก่อน คือ เรื่อง ติโต และ นายอินทร ซึ่งความจริง แปลไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70 หรือ 30 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งเผยแพร่ ต่อมา จึงในฐานะ "นักเขียน" โดยตรง ด้วยเรื่อง มหาชนก ทองแดง (รวมฉบับการ์ตูนต่างๆ)

สำหรับผู้ที่ไม่เคยเห็นตัวบทเต็มๆ ผมขอคัดลอกมาให้ดู (ผมเอามาจากอินเตอร์เน็ต เว็บใดจำไม่ได้แล้ว แต่ดูเหมือนไม่ถึงกับหายากนัก) แล้วจะตามมาด้วยข้อสังเกตบางอย่างที่ ผมรู้สึกสะดุดใจเกี่ยวกับงานพระราชนิพนธ์ชิ้นนี้



"

"เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์"

วงวรรณคดี ๒๔๙๘

‘วงวรรณคดี’ ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียนเรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของ ‘วงวรรณคดี’ อยู่บ้าง และเนื่องด้วยไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้บ้าง เช่น ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือกฎหมาย ฯลฯ ได้ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ดีพอ ฉะนั้นจึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างเดินทางจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุกคน ที่มาถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดีที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2489 อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย

เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศวิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้างแต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ...แล้ว ได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อพระไพรีพินาศ พระองค์นี้ เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลาตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่ารถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวันอังคาร พฤหัสบดีและวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - เก็บของลงหีบและเตรียมตัว...

วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว! อะไรๆๆ ก็จัดเสร็จหมดหมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม...บ่ายวันนั้นเราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง

เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น! เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้ข้ามาซิ” เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก...วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันอย่างเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ช้าเกินไป...

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว...พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียง ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย 11.45 นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราจนวาระสุดท้าย

เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหวกลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง 12 นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วทุกสายในพระนคร

บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา (ซีลอน) เสียงเครื่องบินดังสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้น จึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือ หลับตาเสียแล้วนิ่งคิด...แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งที่มีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่มของเครื่องยนต์นั้น หวนกลับไปนึกดูเมื่อ 9 เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง 7 ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย...เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้นจากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่ล่วงแล้วมาด้วย... สจ๊วตเข้ามาขัดจังหวะเสีย ทำให้ความคิดที่กำลังเพลิดเพลินจางไปเสียจากสมอง เขานำอาหารกลางวันที่มีรสกลมกล่อมเข้ามาให้ การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าไม่มีอะไรเสียเลย นอกจากท้องทะเลเขียวครามอันแสนลึก นานๆ จะแลเห็นเกาะบ้างเป็นครั้งคราว

เรามาถึงเมืองเนแกมโบ (Negambo) ใกล้ๆ กับโคลัมโบ เมืองหลวงของเกาะลังกา ภายลังจากที่ได้บินมาเป็นเวลานานถึง 8 ชั่วโมงกับ 15 นาที เดี๋ยวนี้ 18.45 นาฬิกา ตามเวลาของเกาะลังกาแล้ว เมื่อเทียบกับเวลาที่กรุงเทพฯ ที่นี่ช้ากว่า 1 ชั่วโมงกับ 30 นาทีพอดี

ข้าหลวงประจำเกาะลังกาคือ เซอร์จอห์น เฮาเวิร์ด (Sir John Howard) ได้เดินทางจากโคลัมโบมาเพื่อต้อนรับเรา ข้าพเจ้าขึ้นนั่งรถยนต์มีท่านข้าหลวงตามมาด้วย ส่วนแม่นั้นไปกับภรรยาของเขา ระยะทางจากสนามบินไปยังจวนข้าหลวงในเมืองโคลัมโบ ต้องนั่งรถไปราว 30 นาที อันเป็นระยะที่กำลังสบายและมีโอกาสได้ชมภูมิประเทศตามถนน - ตามที่เห็นมาด้วยตาและตามคำบอกเล่าของเซอร์จอห์น เฮาเวิร์ด รู้สึกว่าเกาะลังกานี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเมืองไทยเราเสียจริงๆ เป็นเมืองที่อุดมดี แลดูก็งามตา ประชาชนก็สุภาพและมีนิสัยดี เหตุที่ทำให้เหมือนมากนี้ข้อสำคัญอยู่ที่นับถือศาสนาร่วมกันกับไทยเรา

พอมาถึงจวนข้าหลวง ก็ตรงเข้าห้องพัก เป็นห้องกว้างและสบาย ที่นี่ไม่ค่อยร้อนเหมือนเมืองไทย ทั้งไม่มียุงด้วย ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องก็มีมุ้ง เราได้พักผ่อนชั่วครู่ภายหลังที่ได้เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย หูยังอื้ออยู่เพราะเสียงเครื่องบิน กินข้าวมื้อเย็นกับข้าหลวง และรู้สึกดีใจเหลือเกินที่ได้หลับนอนตามสบาย เพราะเช้าพรุ่งนี้จะต้องบินต่อไปยังเมืองการาจี

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - เวลา 8.30 นาฬิกา ก่อนที่จะออกเดินทาง เราไปที่วัดในพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมือง เข้าไปในโบสถ์แล้วจุดเทียน (เทียนไขเราดีๆ นี่เอง) เอาดอกไม้ที่ข้าหลวงจัดมาให้บูชาพระ สมภารเจ้าวัดนี้ เป็นคนคนเดียวกัน กับที่ได้เคยต้อนรับเราเมื่อคราวมาเที่ยวที่แล้ว ที่วัดนี้เองเมื่อ 8 ปีมาแล้ว พี่ชายของข้าพเจ้าได้มาปลูกต้นจันทน์...บนแท่นที่บูชายังมีรูปถ่ายเป็นรูปพี่ที่เคยมาด้วยกัน กำลังตั้งท่าปลูกอยู่ทีเดียว สมภารได้นำเราไปยังต้นจันทน์ต้นนั้น คาดว่าจะใหญ่โต แต่ดูไม่เจริญงอกงามเสียเลย สูงยังไม่เกินสองฟุต

เมื่อออกมาจากวัด มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาคอยเฝ้า บางคนยกมือขึ้นไหว้อย่างไทยๆ เรา บางคนตบมือ บางคนตะโกนออกมาด้วยความพออกพอใจ มาถึงสนามบินเวลาประมาณ 9.00 นาฬิกา เราลาข้าหลวงและภริยาผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และให้ความเอื้อเฟื้อต่อเราเป็นอย่างดี แล้วขึ้นเครื่องบินจากมา

การเดินทางเป็นไปอย่างปกติ สจ๊วตนำอาหารมาให้เรากินตามเวลามิได้ขาด บางทีก็ได้รับรายงานจากนักบิน แสดงด้วยแผนที่ ให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้เราอยู่ตรงไหน บางทีก็รายงานอากาศที่เราจะต้องประสบในเบื้องหน้า ตลอดจนความเร็ว และระยะสูงของเครื่องบิน ฯลฯ เป็นการเดินทางที่สะดวกและสบายดี...

ในตอนจวนจะถึง อากาศไม่สู้ดีเหมือนที่แล้วมา เพราะมรสุมกำลังตั้งเค้า แต่เรากำลังจะถึงการาจีอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินบินเร็วทำเวลาได้ดีมาก เมื่อบินอยู่เหนือเมือง มองดูรอบๆ ลักษณะเป็นทะเลทรายเราดีๆ นี่เอง ช่างไม่มีชีวิตจิตใจเสียเลย ที่ตั้งเป็นเมืองขึ้นได้ ก็เพราะเป็นท่าเรือใหญ่อยู่ในทำเลที่เหมาะ เครื่องบินลงถึงพื้นดินเมื่อเวลา 17 นาฬิกา บินมาได้ 8 ชั่วโมง มีพวกข้าราชการมาคอยรับอยู่ ขึ้นรถตรงไปศาลาว่าการของรัฐบาลแขกของข้าหลวงเช่นเดียวกับที่เกาะลังกา

พรุ่งนี้เราจะต้องบินเป็นระยะทางไกล ฉะนั้นจึงอยากจะนอนแต่หัวค่ำสักหน่อย แต่ว่าต้องกินข้าวกับข้าหลวงและคณะ จำต้องสนทนาปราศรัยถึงเรื่องที่ไม่มีเรื่องเหมือนที่พวกฝรั่งนิยมกัน กว่าจะได้พักผ่อนหลับนอนก็เกือบสองยาม เราเพลียมาก รู้สึกว่าหลับได้อย่างง่ายดาย

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบิน รถวิ่ง 20 นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ ข้างทางและตามประตู พวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ๆ กับที่นอน และเขาทำกันอย่างนี้ ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ในย่านการค้าเช่นนั้น!

ประชาชนพลเมืองเหล่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น สีของเสื้อผ้านั้นขาวหรือก็คงต้องเป็นสีขาวมาก่อน ที่มาแลเห็นเป็นสีเทาไปมากกว่าสีขาวนั้น ก็เพราะระคนปนไปกับฝุ่น นอกจากนี้ยังได้เห็นวัวศักดิ์สิทธิ์ เดินท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามท้องถนนหลวง จะไปไหนมาไหนไม่มีใครกล้าจะขับไล่ ไม่ว่าจะเกิดหิวขึ้นมาเมื่อไร พบร้านขายผัก ก็เดินเข้าไปเลือกกินได้ตามใจชอบ ส่วนเจ้าของร้านนั้น เมื่อวัวเข้าไปก็ถือว่าเป็นมงคล...

ถึงสนามบินเวลา 8.30 นาฬิกา และออกบินในทันทีที่มาถึง เครื่องบินบ่ายหัวตรงไปสู่ท้องทะเลด้วยอัตราความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง จนสามารถมองเห็นเรือหาปลาเล็กๆ ในท้องทะเลได้ถนัด ทั้งๆ ที่บินอยู่สูงถึง 2,500 เมตร

ข้าพเจ้าชอบเดินไปที่ที่นักบินขับบ่อยๆ และนั่งลงข้างๆ ตรงที่นั่งของนักบินสำรอง ช่างมีเครื่องบังคับหลายอย่างเสียจริงๆ บังคับปีก บังคับใบพัด เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และอื่นๆ อีกมาก ในตอนต้นๆ ออกจะงงๆ แต่นักบินเป็นคนที่สุภาพมาก ได้พยายามชี้แจงให้เข้าถึงเครื่องทุกๆ ส่วนที่มีอยู่

ที่ข้อมือนักบิน สังเกตเห็นว่าผูกนาฬิกาไว้ถึงสองเรือน เรือนหนึ่ง 6 นาฬิกา อีกเรือนหนึ่ง 4 นาฬิกา แต่ของเราเองเป็น 9.30 นาฬิกา เขาอธิบายให้เข้าใจว่า 4 นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรีนิช (Greenich) 6 นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรุงไคโรที่เรากำลังจะไป และ 9.30 นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่การาจี เราจะไปไคโรจึงเลื่อนเข็มถอยหลังกลับไปสามชั่วโมงครึ่ง

ราวๆ เที่ยงเราบินอยู่เหนือทะเลทรายอาหรับ มีหลุมอากาศหลายแห่ง ฝรั่งเรียกว่า “bumps” เป็นลมสูงขึ้น เกิดจากความร้อนของทรายจากเบื้องล่างที่ถูกพระอาทิตย์แผดเผา หลุมอากาศเหล่านี้มีอยู่ตลอดทาง กระทั่งผ่านพ้นเขตของทะเลทรายนั้นไป คือราว 14.30 นาฬิกา การผ่านหลุมอากาศวับๆ หวำๆ เช่นนี้ไม่มีความสบายเลย และความไม่สบายใจที่ทวีขึ้นเมื่อพวกประจำเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า หากเราจำเป็นต้องร่อนลงยังท้องทะเลทรายนี้แล้ว ออกจะน่าวิตกอยู่มาก ที่ชาวพื้นเมืองเบื้องล่างนี้ มิค่อยจะเป็นมิตรที่ดีของคนแปลกหน้านัก

ล่วงไปอีกชั่วโมงหนึ่งก็ผ่านคลองสุเอซ กำลังมีเรือแล่นเข้าคลอง มีเรือรบขนาดหนักลำหนึ่งจอดอยู่ที่นั่น ขนาดของเรือลำนี้เห็นจะหนักกว่าเรือศรีอยุธยา ประมาณ 15 เท่า แม้กระนั้นมองดูช่างเล็กเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลและความเวิ้งว้างของทะเลทรายอันมหึมานั้น

เรามาถึงสนามบินอัลมาซ่า (Almaza) ใกล้ๆ กับกรุงไคโร หลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา 11 ชั่วโมง 45 นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบินด้วยหลุมอากาศ และด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำเอาเรางงไปหมด...

เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่ง และได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญ ในตอนเย็นสมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค ได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร นอกประตูของห้องเรา มีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา

กรุงไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสมัยใหม่ แต่เบื้องหลังของตึกเหล่านี้ มีบ้านกระจอกงอกง่อยอยู่เป็นอันมาก บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนจน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และสัตว์อื่นๆ อีก ตามถนน รถรางก็เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดห้อยโหนกันจนไม่มีที่ว่าง และล้วนแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปุปะไม่มีชิ้นดี เป็นผู้ชายทั้งนั้นเกือบไม่มีผู้หญิงปะปนอยู่ด้วยเลย คล้ายๆ กับที่การาจีอยู่มาก ผู้คนหลับอย่างแสนสบายตามสนามหญ้าข้างถนน รถยนต์ดีมาก แต่เป็นรถรับจ้างที่ขับกันอย่างเร็วปรื๋อโดยมาก

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - คืนนี้สบายดีแท้ ถ้าไม่คำนึงถึงเสียงที่มาจากโรงหนังใกล้ๆ ที่พัก กินอาหารเช้าแล้วก็ออกเดินทางไปสนามบินด้วยรถยนต์ สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค มาส่งและเชิญพระพรให้เดินทางโดยสวัสดีของพระองค์มาประทาน...ข้าพเจ้าตอบขอบพระราชหฤทัย และขอให้นำความไปทูลขอให้ทรงพระเจริญสุขกับขออำนวยพรให้ประชาชนพลเมืองของพระองค์มีความสุขสำราญด้วย

รอบๆ เครื่องบินมีตำรวจอียิปต์รักษาการณ์อยู่อย่างกวดขันยิ่งนัก เวลา 8.15 นาฬิกา เริ่มออกเดินทาง ต่อมาอีก 40 นาที ก็ผ่านเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าใหญ่ที่สุดของอียิปต์ วันนี้ต้องบินถึง 9 ชั่วโมง กับ 50 นาที จะถึงกรุงเจนีวาราวๆ 17.05 นาฬิกา

ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อสามวันที่แล้ว เรายังอยู่เมืองไทย และวันนี้เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง 10,000 กิโลเมตรกว่า...เวลากว่า 15.00 นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง และช้าไปกว่ากำหนด 15 นาที เมื่อเวลา 16 นาฬิกา ช้ามากขึ้นอีกเป็น 45 นาที เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่างๆ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะซาร์ดิเนียและคาร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ 16.40 นาฬิกา เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้น เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว...จากขอบฟ้าสลัวๆ ที่บดบังด้วยเมฆหมอกแลเห็นเมืองๆ หนึ่งอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองนั้นๆ คือ เมืองเจนีวา อันเป็นที่หมายปลายทางที่เรามาด้วยเครื่องบิน และเราจะต้องจากพวกประจำเรือไป คนประจำเครื่องบินเหล่านี้เป็นคนที่ดีต่อเรามากได้ให้เครื่องถมเป็นที่ระลึก บินอยู่รอบเมืองรอบหนึ่งแล้วก็ร่อนลงสู่พื้นดินเมื่อเวลา 17.55 นาฬิกา

อธิบดีกรมพิธีการแห่งรัฐบาลสวิสได้มารับรองในนามของรัฐบาล และแนะนำให้รู้จักกับบรรดาข้าราชการที่มารับนักเรียนไทย อัครราชทูตไทย และข้าราชการไทยก็พากันมารับด้วย รัฐบาลสวิสจัดรถยนต์ไว้ส่งเราถึงเมืองโลซาน ซึ่งอยู่ห่างจากเจนีวาไปราว 60 กิโลเมตร

อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย อธิบดีกรมพิธีการได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมา โดยคิดว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่า ข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้เป็นอย่างดีเพราะอยู่ที่นี่มาถึง 14 ปีเศษแล้ว เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้ แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไป ได้ทราบต่อมาว่า เขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของชาวตะวันออกและพระพุทธศาสนาด้วย

พอถึง “วิลลาวัฒนา” เขาก็ลากลับ อำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อท่านประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย

เรากลับถึงโลซานแล้ว...ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเข้าเรียนต่อไป...


(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช


"


ก่อนอื่น ขอให้สังเกตว่า ตัวบทพระราชนิพน์ชิ้นนี้ มีลักษณะ "สองตลบ" double (ยืมคำชูศักดิ์ ใน "อ่าน") คือ ตัวบทส่วนใหญ่จริงๆ ได้รับการชี้แจงว่า เป็น "บันทึกประจำวัน" หรือ ไดอารี่ ที่ทรงลงในช่วงเดือนสิงหาคม 2489 ทีทรงเสด็จออกจากไทย กลับไปสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ได้ 2 เดือน (หรือ - ดังที่จะกล่าวข้างลาง - หลังกรณีสำคัญมากๆที่คนแถวนี้สนใจกัน เพียง 2 เดือน) แต่ตัว "พระราชนิพนธ์" นี้ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2498 ใน "วงวรรณคดี" นั่นคือ ตีพิมพ์ในช่วงที ราชสำนัก กำลังมีภาวะ "ตึงเครียด" กับรัฐบาลพิบูล-เผ่า อยู่ ซึ่งมีสาเหตุถึงที่สุดจากการที่ราชสำนัก พยายามยืนยัน (assertion) บทบาทของสถาบันกษัตริย์มากขึ้นๆ

การเผยแพร่ "พระราชนิพนธ์" นี้ ผมเห็นว่า กล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของ (หรืออยู่ในบริบทของ) การพยายาม ยืนยัน บทบาท/ฐานะ ของสถาบันกษัตริย์ ขึ้นมาแข่งกับรัฐบาลในขณะนั้น

แต่ที่น่าสนใจ หรือน่าสะดุดใจมากๆสำหรับผม คือ

ผมสงสัยอยู่เสมอว่า นี่จะใช่ "พระราชนิพนธ์" ทีทรง "เขียน" ด้วยพระองค์เองจริงๆหรือไม่? หรือ ได้ผ่านการ "edit" หรือ กระทั่งร่างโดยผู้อื่น? (อย่าลืมปริบท ที่ผมเพิ่งกล่าว) บรรดา "ที่ปรึกษา" สำคัญ อย่าง Prince ธานี ไม่มีวันจะปล่อยให้ มีการเผยแพร่ พระราชนิพนธ์ ใดๆ โดยไม่มีนัยยะ หรือ ความคาดหวัง ให้มีผลในทางที่ดีในการ "ประลองกำลัง" ระหว่างสถาบันฯ กับ รัฐบาลขณะนั้นแน่

และอันที่จริง หลายคนก็คงรู้ดีว่า สิ่งที่เรียกว่า "พระราชนิพนธ์" โดยเฉพาะประเภท "พระราชดำรัส" ต่างๆนั้น แท้จริงแล้ว หาใช่สิ่งที่ทรง "พระราชนิพนธ์" ด้วยพระองค์เอง แต่อย่างใด แต่เป็นผู้อื่นร่างขึ้นถวาย (แม้แต่กรณี "เพลงพระราชนิพนธ์" ดังที่ผมเขียนเล่าในที่อื่นว่า สมัยก่อน ไม่มีการอธิบายให้สาธารณะอย่างขัดเจนด้วยซ้ำว่า ทรง "พระราชนิพนธ์" เฉพาะทำนอง ไม่ใช่ทั้งเนื้อร้องด้วย)

แต่ตัวบทของ "พระราชนิพนธ์" นี้ส่วนใหญ่ กล่าวว่า เป็น "ไดอารี่" (มีประเพณี ที่บุคคลสำคัญ เช่น กษัตริย์ ทูต จะต้องทำ "ไดอารี่" ไว้ - กรณีกษัตริย์ทีมีชื่อเสียงมาก คือ ไดอารี่ของ ร.6) ดังนั้น อาจจะคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ที่จะมีผู้อื่น "ร่างถวาย" น่าจะเป็น "บันทึก" ที่ทรงทำด้วยพระองค์เองมากกว่า

แต่บอกตรงๆว่า ผมรู้สึก แปลกๆ ว่า นี่อาจจะไม่ใช่ "ไดอารี่" ที่ทรง "พระราชนิพนธ์" ด้วยพระองค์เอง ล้วนๆ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ทีต่อเนื่องกัน

หนึ่ง คือ ผมออกจะรู้สึกว่า ถ้อยคำ ภาษา สำนวน ที่ใช้ (รวมทั้งที่มีการนำมาโฆษณากันมาก ประโยคที่เล่าว่า มีคนตะโกนว่า "อย่าทอดทิ้งประชาชน" แล้วทรงตอบในใจว่า...) ออกจะ polish (หรือ too formal - ดูกรณีที่จะกล่าวต่อไปในข้อ สอง) และ mature มากกว่าที่ทรงมีบุคคลิกในขณะนั้น (ผมเคยเล่าบันทึกที่ ผู้แทนรัฐบาล ได้เข้าเฝ้าที่สวิสเซอร์แลนด์ในช่วงปี 2490 แล้วรายงานมา) เรื่องทีว่า บุคคลิกพระองค์ ทรง "ขี้อาย" แน่นอน คนที "ขี้อาย" อาจจะบันทึกในไดอารี่ส่วนตัวได้ "คม" มากๆขนาดนี้ก็ได้ แตผมยังสงสัยอยู่

สอง แต่ที่สะดุดใจผมมากๆคือ .. เวลาทีบันทึกนั้น คือ เพียง 2 เดือน หลังการสวรรคตด้วยพระแสงปืนของพระเชษฐา แต่ปรากฏว่า ใน "ไดอารี่" ที่นำมาเผยแพร่นี้ แทบจะไม่ได้ทรงกล่าวถึงพระเชษฐาเลย แม้แต่คำเดียว (ยกเว้นที่กล่าวเรื่อง การเคารพพระบรมศพ (และเรื่อง "พี่ชาย" เคยปลูกต้นไม้ที่วัดหนึ่ง) ซึ่งก็เป็นเพียงการกล่าวอย่างผ่านๆ มากๆ) และทั้งๆที ่"โอกาส" ของการบันทึกนี้ คือการจากเมืองไทย กลับไปสู่สวิสฯ ซึง น่าจะเป็นธรรมดา ที่ความทรงจำถึงพระเชษฐา อยู่ในพระทัยอย่างเข้มข้น ("มากัน 2 คน กลับคนเดียว" อะไรทำนองนี้)

ดังนั้น ถ้างานพระราชนิพนธ์นี้ เป็น บันทึกประจำวัน ทีทรงบันทึกด้วยพระองค์เองจริงๆ ก็ต้องกล่าวว่า การที่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงในหลวงอานันท์เลยแม้แต้คำเดียว ในโอกาสเดินทางกลับจากจากไทยสู่สวิสฯ เป็นเรื่อง extra-ordinary อย่างสุดยอด


ในบทความก่อนหน้านี้ของผมเรื่อง พระราชดำรัสให้การในศาลคดีสวรรคต

http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/text-1-2-3.html

ผมเคยยกการเล่าเรื่องของ พระพินิจชนคดี ที่อ้างว่า ได้เข้าเฝ้าในหลวงปัจจุบันที่สวิสฯ เพื่อสอบปากคำสำหรับคดีสวรรคต โดยพระยาพินิจชนคดี ได้เล่าดังนี้


ข้าพเจ้าและคณะใช้เวลาขอพระราชทานการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งแรก ประมาณสองชั่วโมงเศษ ฉลองพระองค์ด้วยสักหลาดสีเกรย์ทั้งชุด ฉลองพระเนตรและพระเกษาซึ่งไม่ค่อยจะทรงพิถีพิถัน อย่างที่เคยประทับเคียงข้างกับในพระบรมโกษฐ์ ที่กรุงเทพฯทุกครั้งคราว อย่างไรก็อย่างนั้น แต่แววพระเนตรนั้นต่างหากที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทรงเศร้าสลดอยู่ไม่วาย และโดยฉะเพาะก็บ่อยครั้ง เมื่อข้าพเจ้าขอพระราชทานกระแสร์รับสั่งถึงภาพเมื่อวันสวรรคต พระอสุชลคลออยู่ในพระเนตรตลอดเวลา ดำรัสตอบกับข้าพเจ้าทุกครั้งด้วยคำว่า “พี่นันท์- -“ อย่างนั้น และ “พี่นันท์- -“ อย่างนี้ แล้วก็บางทีดำรัสเพียงคำว่า “พี่” คำเดียว ก็ทรงสดุดหยุดลงคล้ายกับจะทรงรำลึกถึงภาพในอดีต เมื่อชำเลืองพระเนตรไปพบกับภาพในเรือบตลำน้อยในวังบางปะอิน ในพระบรมโกษฐ์ทรงกรรเชียงอยู่เอื่อยๆ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าทวีความลำบากใจยิ่งขึ้น มันเป็นการรบกวนต่อความรู้สึกในพระราชหฤทัยเหลือเกิน ข้าพเจ้าได้ขอรับพระราชทานอภัยในเหตุนี้ ทรงยิ้มระรื่น แต่เต็มไปด้วยความเยือกเย็น รับสั่งว่า

“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว ฉันเคยคิดว่า ฉันจะไม่ห่างจากพี่ตลอดชีวิต แต่มันเป็นเคราะห์กรรม ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”

ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมทูลซักไซร้ต่อไปในหลายประเด็น ทรงตอบคำถามข้าพเจ้าอย่างเปิดเผยในทุกประเด็นเช่นเดียวกัน


ผมได้เขียนแสดงความเห็นไว้ในบทความของผมว่า


จากประวัติการทำคดีสวรรคตของพระพินิจชนคดีซึ่งมีทั้งการข่มขู่พยาน และการสร้างพยานเท็จ ทำให้เราควรต้องอ่านทุกอย่างที่เขาเขียนเกี่ยวกับคดีนี้ รวมทั้งรายละเอียดเรื่องการเข้าเฝ้านี้ อย่างไม่น่าเชื่อถือเสมอ จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นมายืนยัน ...... อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าแม้สิ่งที่พระพินิจฯเขียนข้างต้น จะไม่ควรเชื่อถือนัก แต่เฉพาะข้อความที่พระพินิจฯอ้างว่าในหลวงองค์ปัจจุบันทรงรับสั่ง (“อดคิดถึงพี่ไม่ได้เลยแม้แต่ขณะเดียว...ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นกษัตริย์ คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”) ดูเหมือนจะมีการนำมาอ้างอิงกันต่อๆมา ในลักษณะที่เป็นพระราชดำรัสที่แท้จริง (authentic)


สรุปคือ ที่พระพินิจเล่า (และมีคนเอามาโฆษณาต่อมากมาย ว่า เป็นพระราชดำรัสจริงๆ) อาจจะไม่ถึงกับน่าเชื่อถือได้เต็มที

แต่ความน่าสนใจอยู่ทีวา แม้แต่กรณีพระพินิจ ยัง(อ้าง)เล่าได้ว่า ทรงแสดงอารมณ์ความรู้สึกระลึกถึงพระเชษฐาอย่างน่าสนเทือน ต่อหน้าบุคคลอื่น(พระพินิจกับพนักงานอื่น) แต่ใน "ไดอารี่" ที่ทรงบันทึกส่วนพระองค์ เหตุใด จึง ไม่มีการกล่าวถึงพระเชษฐา ได้?


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : ว่าด้วยพระราชนิพนธ์ "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์"

ไม่มีความคิดเห็น: