วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความอับจนของ “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง”


ทุกวันนี้คนไทยถูกเป่าหูด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทุกวัน เหมือนกับว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย มันคืออะไร? นำมาใช้อย่างไร? ต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณอย่างไร? ทำไมทหารเผด็จการ คมช. นำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญปี ๕๐? ทำไมรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสอนชาวโลกได้??? แล้วทำไมมีคนโจมตีแนวคิดนี้อย่างรุนแรงในวารสารเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ?

ผมขออ้างอิงคำพูดของคนขับรถแทคซี่คนหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะคนขับคนนี้สะท้อนความคิดของคนส่วนใหญ่ เขาบอกผมว่า "สำหรับคนข้างบนเขาพูดง่าย เรื่องพอเพียง ไปไหนก็มีคนโยนเงินให้เป็นกระสอบ แต่พวกเราต้องเลี้ยงครอบครัว จ่ายค่าเทอม เราไม่เคยพอ” ในแง่นี้จะเห็นว่าคนจนไม่น้อยมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำพูดของคนชั้นบน เพื่อให้เรารู้จัก “พอ” (ไม่ขอเพิ่ม) ท่ามกลางความยากจน และเป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยพอเพียงแบบคนจนเลยอีกด้วย ...

บทความของอาจารย์ พอพันธ์ อุยยานนท์ (๒๕๔๙ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) “การต่อสู้ของทุนไทย” สำนักพิมพ์มติชน) แสดงให้เห็นว่าธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีการลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท ไม่น่าจะเรียบง่ายอะไร ...แล้วพอเรามาดูค่าใช้จ่ายของวังต่างๆ ยิ่งเห็นชัด

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิล้าหลังของคนชั้นสูงเพื่อสกัดกั้นการกระจายรายได้และสกัดกั้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นลัทธิเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่รวยที่สุด และที่น่าปลื้มคือคนจนทั่วประเทศเข้าใจประเด็นนี้ ในขณะที่นักวิชาการและคนชั้นกลางยังหลงใหลกับลัทธิพอเพียงอยู่สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูงจากหลายแหล่ง

และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่ขบวนการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะสาย “ชุมชน” (ดูงาน อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) จะคิดกันว่าแนว “พอเพียง” สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเสนอมานานเรื่องการปกป้องรักษาชุมชนให้อยู่รอดได้ท่ามกลางพายุของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แนวคิดชุมชนแบบนี้มองว่าเราควรหันหลังให้รัฐ ไม่สนใจตลาดทุนนิยมมากเกินไป พยายามสร้างความมั่นคงของชุมชนผ่านการพึ่งตนเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนแบบมีน้ำใจและความเป็นธรรม หรือปฏิเสธบริโภคนิยม มันเพ้อฝัน หมดยุค(ถ้าเคยมียุค) แต่เขาหวังดี ไม่เหมือนพวกที่เสนอลัทธิพอเพียง

หลังรัฐประหาร 19 กันยา มีการนำ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระราชวัง มาเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีคลังคนแรกของ คมช. ในวันที่ 2 พ.ย. 49 อธิบายว่า... “เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอย่าขยายเกินกำลังทุนที่มี.... ให้พอดี... ไม่เกินตัว... เป็นแนวเศรษฐศาสตร์พุทธ.... ต้องมีการออม... การลดหนี้ครอบครัว..เป็นแนวสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน” แต่พอเราอ่านรายละเอียดแล้วพยายามสรุป มันมีสาระเพียงว่า “อย่าทำให้พัง ล้มละลาย” แค่นั้น หรือ “ใครรวยจ่ายมากได้ ใครจนต้องจ่ายน้อย” เด็กอายุ4 ขวบคงคิดแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีสมองใหญ่โต

ปรีดิยาธร เทวกุล เสนออีกว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพ.....การรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ” “การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีทำได้” และเราก็เห็นว่ารัฐบาล คมช. ผลักดันนโยบายเสรีนิยมสุดขั้วของกลุ่มทุนมากกว่าไทยรักไทยเสียอีก เช่นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การตัดงบประมาณสาธารณสุข การเพิ่มงบประมาณทหาร การผลักดัน FTA (สัญญาค้าเสรี) กับญี่ปุ่น หรือการเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้าเป็นต้น ในกรณีไทยรักไทย เขาทำนโยบายเสรีนิยมทั้งหมดดังกล่าวด้วย แต่คานมันโดยใช้นโยบายการเพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐ (แบบเคนส์) ในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน หรือสาธารณูปโภค หรือ30บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ ไทยรักไทย ใช้นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน ทั้งตลาดเสรีและรัฐนิยมพร้อมกัน

เราต้องฟันธงว่าลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีเจตนาที่จะลดอำนาจกลุ่มทุนและอิทธิพลคนรวยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมันเป็นคำพูดที่พยายามหล่อลื้นการหันไปสนับสนุนตลาดเสรีของนายทุนใหญ่อย่างสุดขั้ว และรัฐธรรมนูญ คมช. ปี ๕๐ ก็ยืนยันสิ่งนี้

แล้วสาระของเศรษฐกิจพอเพียงมีมากกว่านี้ไหม? เราถือว่าเป็นทฤษฏีเศรษฐกิจได้ไหม? วารสาร The Economist เขียนไว้ว่ามันเป็นความคิดเศรษฐศาสตร์ที่เหลวไหลเพ้อฝัน เพียงแต่ “ประทับตราราชวัง” เท่านั้น

เศรษฐกิจพอเพียงไม่เอ่ยอะไรที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ เช่นการใช้รัฐหรือการเน้นตลาดในการบริหารเศรษฐกิจ หรือวิธีกระจายรายได้ของประเทศ และไม่พูดถึงสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการเลย ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจมีแต่จะเสนอให้คนจนไป “ยากจนแต่ยิ้ม” กับญาติในชนบท

ในที่สุดสิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนและความพอเพียงแท้กับคนส่วนใหญ่คือการสร้างระบบรัฐสวัสดิการ และต่อจากนั้นต้องเดินหน้าสู่ “สังคมนิยม” ที่ยกเลิกการใช้กลไกตลาดในการแจกจ่ายผลผลิต หันมาใช้การวางแผนโดยชุมชนและประชาชนในลักษณะประชาธิปไตย และนำระบบการผลิตมาเป็นของกลาง บริหารโดยประชาชนเอง ซึ่งหมายความว่าต้องยกเลิกระบบชนชั้นที่บางคนรวยและควบคุมทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนและเป็นเพียงลูกจ้างหรือเกษตรกรยากจน

สรุปแล้วเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลัทธิของคนชั้นบนที่รวยที่สุดในสังคม เพื่อกล่อมเกลาให้คนส่วนใหญ่ก้มหัวยอมรับสภาพความยากจน มันเป็นลัทธิของพวกที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นทาส ไทยเป็นไพร่ และที่สำคัญ พวกนี้พยายามใช้กฎหมายหมิ่นฯและการปกปิดเสรีภาพ เพื่อไม่ให้เราวิจารณ์ลัทธิที่อับจนอันนี้

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่โง่ หูตาสว่างแล้ว เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี...

และนั้นคือสิ่งที่พวกข้างบนกลัวที่สุด!


ใจ อึ๊งภากรณ์


หมายเหตุ : ในบทความนี้ยังมีส่วนที่สองซึ่งว่าด้วยเรื่อง "ถ้าเราไม่สามารถใช้ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงได้ ในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะมีข้อเสนออะไร?" ผู้จัดเก็บบทความมิได้นำส่วนที่สองมาลงไว้ด้วย ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ "ที่มาของบทความ"ด้านล่างได้ครับ และต้องขออภัยต่อผู้เขียนบทความที่ ไม่ได้ลงบทความเต็มมา ณ ที่นี้ด้วยครับ...

ที่มา : siamrd.blog : ความอับจนของ “ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง”

ปล.
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

เราจะดูเทศกาลล่าหัวมนุษย์ หรือ จะทำลายมัน



นิยายน้ำเน่าของความเป็น "ไทยๆ"

ปัจจุบันเราเดินทางมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่ตามแบบมาตราฐานสากลของประเทศอารยะ ประเด็นหนึ่งที่มองเห็นอย่างชัดเจนและกลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่เพราะมันเป็นอาวุธหลักของฝ่ายเผด็จการ คือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้นถ้าคุณคิดต่างจากกรอบที่ตั้งไว้โดยเผด็จการ

โปรแกรมที่เผด็จการตั้งไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในปิดปากคนไทยโดยการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือมีอะไรบ้าง


1.
ในหลวงทำงานหนักเพื่อคนไทย คำถามที่ตามมาแล้วคนอื่นๆคนจนไม่ทำงานหนักหรือไง คนงานต้องทำงานล่วงเวลาวันละหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้เงินมาเพียงพอกับต้นทุนการดำรงชีวิต อีกทั้งยังต้องเสียภาษีมหาโหดให้กับรัฐผ่านระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่คนรวยๆนั้นไม่เสียภาษี อนึ่งเป็นเรื่องที่อดสูอย่างยิ่ง คือ หมาของคนชั้นสูงมีสระว่ายน้ำส่วนตัวและมีสถานะคำนำหน้านามว่า "คุณ" ในขณะที่คนแก่ในสังคมรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือเดือนละ 500 บาทเท่านั้น คำอุทานอื่นคงไม่มีนอกจากคำว่า Amazing Thailand!!


2.
การเผยแพร่กิจกรรมของราชวงศ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่องทุกๆวัน กิจกรรมของราชวงศ์แต่ละครั้งจะมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก แน่นอนต้นทุนการออกไปทำงานชนิดนี้แต่ละครั้งคงแพงลิบลิ่ว ถ้าพวกนี้ฉลาดและต้องการทำงานเพื่อสังคมจริงก็ไม่ควรจะมีต้นทุนสูงขนาดนี้เพราะพวกเขาเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่าย อนึ่งการเดินทางไปไหนของคนพวกนี้ ก็ไม่ควรจะมีอภิสิทธิพิเศษเหนือมนุษย์คนอื่น เช่น การปิดถนน ห้ามคนเดินข้ามสะพานลอย คนป่วยต้องการหมอ คนจะคลอดลูก นัดสำคัญๆของคนธรรมดา นับไม่ถ้วนถูกเซ่นไปกับ "ขบวนเสด็จ" สถาบันที่มีประโยชน์ต่อประเทศไม่ควรทำตัวแบบนี้ การติดรูปราชวงศ์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว ควรตั้งคำถามว่ามีไว้ทำไมตั้งขนาดนั้น กลัวคนจะจำไม่ได้หรืออย่างไร? ถ้ามีสูตรคณิตศาสตร์ ข้อความความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือ รายชื่อหนังสือก้าวหน้า (ไม่ใช่หนังสือล้างสมอง) ประชาสัมพันธ์เช่นนั้น คงเป็นเสริมสร้างสติปัญญาให้กับประชาชนอย่างก้าวกระโดด


ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำของความเป็นคนในสังคมไทยยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ซุกไว้ใต้พรมของความป็น "ไทยๆ" เมื่อวกเข้ามาสู่ประเด็นการกำจัดเครืองมือที่สำคัญที่สุดของเผด็จการ คือ เราต้องมีจุดยืนต่อกฎหมายหมิ่นฯ ว่าเราต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตามแนวทางการขับเคลื่อนระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลยังคงต้องการอยู่ในกรอบเดิมๆ เช่น การส่งเสียงให้ดังหรือดังยิ่งกว่าว่าตัวเองมีความจงรักภักดีมากหรือมากที่สุด ทั้งๆที่มันไม่ใช่ประเด็นที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยืนอยู่บนฐานของความเหลื่อมล้ำได้ ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่ดำรงอยู่ต้องใช้แนวทางโปร่งใสและความเท่าเทียมเท่านั้น และการใช้กรอบเดิมๆ ที่เน้นว่ากษัตริย์ยังคงต้องดำรงอยู่คู่สังคมไทย มันมีประโยชน์น้อยมาก หรือ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อจะนำมาเป็นข้อเสนอรูปธรรมในการแก้ปัญหาสังคม



ม๊อบมีเส้น : ม๊อบล่าหัวมนุษย์

การดำรงอยู่ของกฎหมายหมิ่นฯ มีความอัปลักษณ์น่ารังเกียจยิ่งขึ้นเมื่อมองเชื่อมกับลักษณะของม๊อบมีเส้น ที่วิวัฒนาการไปเป็นม๊อบล่าหัวมนุษย์ ใช้ความรุนแรงเพื่อเผยแพร่ "ระเบียบใหม่/การเมืองใหม่" ม๊อบนี้ปลุกระดมให้มวลชนกระหายเลือดอย่างถึงที่สุด ไล่ฆ่า ไล่ซ้อมคน ตามท้องถนน ปิดสนามบินโดยไม่คำนึงถึงคนที่เดือดร้อน มีคนตกงานเป็นจำนวนแสนเพื่อบูชายันต์ผลงานชิ้นดังกล่าว ล่าสุดที่เมืองอุดรเช่นเดียวกัน มีความพยายามการสร้างความตึงเครียดผ่านการสร้างบรรยากาศของสงครามกลางเมือง มีการตั้งรั้วลวดหนามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ปกติ มีการเกณฑ์อันธพาลมาเพื่อเป็นการ์ดอย่างไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น

พร้อมกันนี้มีสื่อมวลชนที่ป้ายขี้ว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดงว่าแย่พอๆกัน ก็เป็นตัวอย่างของความตาบอดที่พร้อมจะเข้าข้างรัฐบาลและเผด็จการ ในขณะที่เสื้อเหลืองกระหายความรุนแรง ทำลายกลไกประชาธิปไตย เรียกร้องให้ทหารและอำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการการสังคม แต่เสื้อแดงพยายามดึงกติกาสังคมกลับคืนมีความโกรธแค้นกับการถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีและประชาธิปไตยจากสีเหลือง สองกลุ่มนี้มีความแตกต่างราวฟ้ากับเหว พวกที่แยกความแตกต่างสองกลุ่มนี้ไม่ออกมีค่าเป็นเพียงพุดเดิ้ลของม๊อบมีเส้นเท่านั้น แน่นอนเราต้องมีการตรวจสอบและประณามสื่อชนิดนี้ให้ถึงที่สุดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเขียนจดหมายไปต่อว่ารายการนี้ หรือ การผลิตคลิปวีดีข่าวเพื่อตอบโต้การวิเคราะห์นี้ขึ้นมาเผยแพร่ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานและไม่ยอมจำนวนกับน้ำลายเน่าๆที่ออกจากปากพวกนี้


เราต้องปฏิรูปสังคมถึงระดับไหน

การมุ่งเน้นการเปิดโปงความไม่ชอบธรรม การโกงกิน การฮั้ว เพียงอย่างเดียวนับเป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอ ที่จะเยียวยาสังคมไทย ความไม่เป็นธรรมนั้นคนธรรมดารู้อยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญคือ "แล้วไงต่อ?" การเรียกร้องให้คืนนิติรัฐต่อสังคม โดยการเรียกร้องให้ทุกส่วนเคารพกฎหมายและหันหน้าเข้าหากันโดยสันติวิธีดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ตรงประเด็น เพราะอีกฝ่ายต้องการความรุนแรง

สันติวิธีรูปธรรมหมายถึงอะไร?และมีประโยชน์หรือไม่ที่จะไม่พูดถึงกองทัพซึ่งเป็นหัวหอกในการฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้งอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนักการเมืองควรจะมีความกล้าหาญที่จะเสนอให้มีการลดบทบาทกองทัพลงอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสนอให้ลดความสำคัญของอุดมการณ์ชาติ + พระมหากษัตริย์ ลงไปเสียเพราะนี่คือเครื่องมือหลักของกองทัพในการทำลายประชาธิปไตย

หัวใจของความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน คือ ความขัดแย้งระหว่างคนจนและคนรวย ทางแก้ที่ถูกต้องคือปฏิรูปสังคมที่เน้นลดความเหลื่อมล้ำลง ข้อเสนอที่ควรจะมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางคือ การสร้างรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึงผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้า อย่าลืมว่าสิทธิเสรีภาพนั้นต้องการรูปธรรมกำกับเสมอ

นิติรัฐที่จะเป็นไปได้มีทางเดียวเท่านั้นคือทำลายระเบียบใหม่และอุดมการณ์ขวาจัดให้อ่อนกำลังหรือกำจัดให้หมดไปในท้ายที่สุด ในประเทศอังกฤษจะมีวัฒนธรรมของการต่อต้านพวกนาซี จะมีการขัดขวางไม่ให้พวกนี้รวมกลุ่มหรือจัดการชุมนุมกัน เพราะทุกคนรู้ดีว่าข้อเสนอของพวกนี้เป็นอันตรายต่อเสรีภาพทุกกระเบียดนิ้ว จากนั้นเราต้องแปรอุดมการประชาธิปไตยไปสู่รูปธรรมที่พลเมืองสามารถตรวจสอบทุกสถาบันในสังคมที่ทุกระดับชั้นมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน


สมุดบันทึกสีแดง
(ใจ อึ๊งภากรณ์ )



สำเนาโดย : อย่าว่าเราเจ้าข้า...

ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : บทความอ.ใจล่าสุด:เราจะดูเทศกาลล่าหัวมนุษย์ หรือ จะทำลายมัน, พอดียังไม่เห็นที่ไหน(กล้า)เผยแพร่

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำถามค้างคาใจกรณีใจ อึ๊งภากรณ์


ารหนีลี้ภัยของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหลบข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ก่อให้เกิดคลื่นช็อกกระทบสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำถึงราคาค่างวดอันสูงยิ่งของผู้ที่กระทำการหมิ่นเหม่ต่อกฏหมายนี้ และต้นทุนสูงซึ่งสังคมไทยแบกรับในการมีกฏหมายนี้ – ซึ่งดูเหมือนว่าต้นทุนของสังคมในสายตานานาอารยะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ถือว่าการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจะมีราคาค่างวดสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีข่าวทำนองนี้ออกสู่สายตาชาวโลก

ล่าสุดหนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทมส์ของลอนดอนได้สัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และลงตีพิมพ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (F T Weekend, หน้า Life & Arts 3) ซึ่งผู้สัมภาษณ์ได้ถามเพียงไม่กี่ประเด็นแต่ปรากฏว่าหนึ่งในคำถาม ได้แก่ เรื่องกฏหมายหมิ่นฯ ส่วนในเมืองไทยนั้นกลุ่ม นปช. และเสื้อแดงก็รีบปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นและไม่สนับสนุนกับมุมมองของนายใจ ซึ่งตอนหลังได้มีโอกาสขึ้นเวทีัทักทายผู้ชุมนุมเสื้อสีนี้ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ได้โอกาสถล่มใจและโยงใจกลับไปหาทักษิณและกลุ่มเสื้อแดง

หลายคนคงทราบว่า ใจได้ทิ้งจดหมายแดงสยามที่เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทหารและสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง และเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมไทย หรือแม้กระทั่งความจำเป็นที่ประเทศไทยควรจะเป็นสาธารณรัฐ หากสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถปฏิรูปตนเองได้ จดหมายฉบับนี้รุนแรงมากจนกระทั่งสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองรวมถึงประชาไทมิกล้าลงตีพิมพ์ทั้งฉบับ และไม่ว่าผู้อ่านหรือใครจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงปฏิเสธมิได้ว่าผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนอื่นอาจได้รับผลกระทบทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่พวกเขาอาจมิได้รับการประกันตัวหรือต้องถูกรีบคุมขังเพราะกลัวจะหนีไปต่างประเทศอย่างใจ นักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองบางคนก็โกรธมากและวิพากษ์ใจอย่างรุนแรงว่าสิ่งที่ใจทำเป็นการละทิ้งกระบวนการล่าลายเซ็นเพื่อยกเลิกกฏหมายหมิ่นฯ ที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน บ้างก็ว่าใจกระทําเช่นนี้ได้เพราะว่าตัวใจนั้นถือสองสัญชาติทั้งไทยและอังกฤษ แถมยังมาจากครอบครัวที่มีอันจะกินและมีชื่อเสียง และก็มีอาจารย์บางคนที่กล่าวว่า อาจารย์ใจ “ใจไม่ถึง” หนีไปต่างประเทศแทนที่จะยืนสู้กับกฏหมายที่พวกตนเชื่อว่าไม่ชอบธรรมและขัดกับหลักประชาธิปไตยพื้นฐาน

ไม่ว่าผู้อ่านจะคิดอย่างไรกับอาจารย์ใจ อาจารย์ใจในมุมมองของผู้เขียนก็ยังคงเป็นเหยื่อของกฏหมายที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยและมีโทษรุนแรงจำคุกถึง 15 ปี กฏหมายนี้ขัดกับหลักพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และตราบใดที่ยังมีคนถูกจองจำภายใต้กฏหมายนี้ (ซึ่งตอนนี้มี 4 คน 2 คนที่ถูกตัดสิน 1, 2 และอีก 2 คนยังรอการตัดสินอยู่ในคุก 1, 2) ตราบใดที่ความแตกต่างทางอุดมการณ์เป็นอาชญากรรมและเป็นอาชญากรรมที่ถูกประณามโดยคนจำนวนมากในสังคม สังคมย่อมย่ำอยู่กับความเห็นแบบพืชเชิงเดี่ยว กล่าวคือคือความเห็นหรือสภาพที่บีบรัดให้มีความเห็นเพียงอย่างเดียวต่อสถาบันฯ ซึ่งก็คือ สรรเสริญเทิดทูนและประจบให้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะมากเกินพอเพียงหรือไม่นั้น ไม่ต้องพูดถึงเพราะภายใต้กฏหมายนี้การพูดพาดพิงถึงสถาบันฯ อย่างเท่าทันกระทำไม่ได้เพราะเป็นอาชญากรรมขัดต่อกฏหมายทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีคำถามค้างคา อยากเห็นการแลกเปลี่ยนความเห็นพวกนี้อย่างเปิดเผย แต่ก็ดูเหมือนว่าสื่อกระแสหลักและผู้มีอำนาจในสังคมกลับมองว่าการมีกฏหมายนี้เป็นสิ่งที่ดีมี “เหตุผล” ยิ่งสำหรับสังคมไทย (ยกตัวอย่าง คงไม่มีสื่อกระแสหลักที่ไหนเขียนตั้งคำถามว่าการเทิดทูนหรือแม้กระทั่งประจบเจ้ามีอยู่มากเกินไปหรือเพียงพอหรือไำม่ในสังคมไทย ถึงแม้หลายๆ ที่ได้ติดป้ายเ้ทิดทูนสรรเสริญในหลวงอย่างถาวรไปแล้ว มิได้มีเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมหรือสิงหาคม ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ผู้เขียนมีโอกาสผ่านโรงพยาบาลลาดพร้าวก็ปรากฎเห็นป้ายผ้าแขวนอยู่ข้างตึก มีความยาวประมาณ 3-4 ชั้นของตัวตึกเป็นอย่างน้่อย ป้ายนี้มีไว้่เพื่อฉลอง 80 พรรษาภูมิพลมหาราช ซึ่งเป็นงานฉลองของเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ส่วนด้านหน้าก็เป็นรูปในหลวงและเขียนว่า ฉลองครองราชย์ 60 ปีซึ่งก็ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี) หรือหากใครคิดจะทำการศึกษาเปรียบเทียบกับการเทิดทูนผู้นำเกาหลีเหนือก็คงเป็นสิ่งผิดกฏหมายจนต้องติดตารางหัวโตเป็นแน่แท้

พลเอกอภิชาต เพ็ญกิตติได้ให้สัมภาษณ์ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวันเมื่อศุกร์ที่แล้ว ว่าควรเพิ่มโทษกฏหมายหมิ่นฯ ให้หนักขึ้น หลังจากเกิดกรณีใจหนี ในขณะเดียวกัน นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ก็ได้เขียนในคอลัมน์เดินย้อนตะวัน (Giles on the run …, 12 ก.พ.52) โดยพูดเหมารวมว่า “พวกเราเต็มใจและยินดีที่จะอยู่กับ “พ่อ” ของเราอย่างนี้” (ส่วนจดหมายถึงบรรณาธิการ ก็มีแต่ข้อความเห็นด้วยกับบทความและต่อต้านใจ ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสังคมไทย) ซึ่งหากสถานการณ์เป็นจริงอย่างที่นายวริืษฐ์ว่า หรืออย่างที่วาทกรรมหลักที่กล่าวไว้ว่าทุกคนในประเทศไทยเทิดทูนและรักในหลวงเป็นจริงแล้ว ทำไมกระทรวงไอซีทีถึงได้ต้องออกมายอมรับว่า กำลังเล็งบล็อคเว็บไซต์ถึง 10,000 เว็บ และได้บล็อคไปแล้ว 2,300 เว็บ นอกจากนี้ทางกลุ่ม ส.ส.นำโดย ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาคได้ตั้งเว็บไซต์เกสตาโปขึ้น เพื่อให้ประชาชนสอดแนมกันและกันว่ามีใครละเมิดกฏหมายหมิ่นฯ หรือไำม่ สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นชัดแจ้งเกินกว่าการปฏิเสธใดๆ ว่า จริงๆ แล้วคนในสังคมไทยมิได้มีมุมมองเดียวเหมือนกันไปหมดต่อสถาบันกษัตริย์ หากมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นสถาบันฯ ที่โปร่งใสตรวจสอบได้และมีสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกว่าที่เป็นอยู่ ฯลฯ

อีก 50-60 ปีในอนาคตรัฐบาลและสังคมไทยในปัจจุบันจะถูกพิพากษามิเพียงจากสังคมโลกที่เป็นประชาํธิปไตย แต่จะถูกพิพากษาทั้งจากคนรุ่นหลังด้วย ทางเลือกนั้นค่อนข้างชัดเจน – ปราบปรามให้มากขึ้น กดทับและเซ็นเซอร์ความคิดต่างต่อไป และเสี่ยงต่อการตอบโต้ และกลายเป็นที่ขบขันในสายตาของประชาคมประชาธิปไตยโลก อาจารย์ใจ ณ วันนี้อยู่ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด และได้แต่งตั้งตนเองเป็นฝ่ายค้านนอกรัฐนอกสภาผู้มิสามารถกลับมาเหยียบย่ำแผ่นดินไทย แต่เขาก็ได้กระชากหน้ากากสังคมไทยให้ชาวโลกได้เห็นแล้วว่า ในเมืองไทยนั้นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดอันได้แก่ สิทธิในการแสดงความเห็น ไม่มีอยู่จริง และผู้ที่ใช้สิทธิจะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรของแผ่นดิน



ประวิตร โรจนพฤกษ์


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ประวิตร โรจนพฤกษ์: คำถามค้างคาใจกรณีใจ อึ๊งภากรณ์


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ระบอบประธานาธิบดี


จากวิวาทะระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับนักการเมืองฝ่ายค้านที่คุณสุเทพไปกล่าวหาว่าคุณทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี จนเกิดการฟ้องร้องและโต้เถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางการเมืองการปกครองเกิดความสงสัยกันว่าไอ้ระบอบประธานาธิบดีนั้นมันคืออะไรกันแน่ ทำไมข้อกล่าวหานี้ถึงทำให้เกิดข้อพิพาทกันอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่หลายประเทศก็มีประธานาธิบดี

รูปแบบของการปกครองในระบอบประธานาธิบดีเกิดขึ้นแห่งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีหลักการดังนี้


๑)

มีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ได้แก่การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติอย่างชัดเจน โดยฝ่ายบริหารเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีหรือรัฐบาล ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดีเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องไปร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อตอบกระทู้ถามจากรัฐสภาแต่อย่างใด และรัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ (ยกเว้นรองประธานาธิบดีที่จะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง)


๒)

ใช้หลักการคานอำนาจ (Balance of Power) เนื่องจากทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน (Check and Balance) ทั้งนี้ เพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้ง (Veto)โดยการไม่ลงนามในกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่รัฐสภามีอำนาจลบล้างสิทธิยับยั้งดังกล่าวของประธานาธิบดีได้ด้วยการลงคะแนนรอบสอง ซึ่งหากคะแนนเสียงของสมาชิกสภาทั้งสองยืนยันด้วยคะแนน ๒ ใน ๓ ก็จะถือว่ากฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ได้


๓)

รัฐสภามีอำนาจในการกล่าวโทษประธานาธิบดี เรียกว่าการอิมพีชเมนท์ (Impeachment) โดยการที่จะมีการอิมพีชเมนท์นั้นต้องมีคะแนน ๒ ใน ๓ ของรัฐสภา และขั้นตอนสุดท้ายวุฒิสภาจะเป็นผู้ปลด (Removal) ประธานาธิบดีด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ของวุฒิสภา


๔)

วุฒิสภามีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (เป็นรายบุคคล) เช่นรัฐมนตรี หรือเอกอัครราชทูตตามที่ประธานาธิบดีเสนอมา หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็จะดำรงตำแหน่งไม่ได้


๕)

การเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการ สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงที่อยู่ได้จนตลอดชีวิตนั้น อำนาจในการแต่งตั้งเป็นของประธานาธิบดี โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ส่วนผู้พิพากษาอื่นล้วนมาจากการเลือกตั้ง (ยกเว้นตำแหน่ง Associate Judge) ซึ่งศาลสูง (Supreme Court) ในระบอบประธานาธิบดีนี้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายฉบับใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นเป็นอันตกไป


๖)

ประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน เพราะประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างมากมายและได้รับการยอมรับจากประชาชนในฐานะประมุขของประเทศอีกด้วยซึ่งแตกต่างจากระบอบรัฐสภาที่ประมุขของประเทศกับหัวหน้าฝ่ายบริหารจะเป็นคนละคนกัน


ในการปกครองระบอบรัฐสภา เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ นั้น ประมุขของประเทศอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี (ในกรณีที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ เช่น อินเดีย เป็นต้น) ก็ได้ แต่กษัตริย์หรือประธานาธิบดีในระบอบนี้เป็นเพียงประมุขของประเทศเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศแต่อย่างใด หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบอบรัฐสภาคือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรแล้วผู้แทนฯ นั้นไปตั้งรัฐบาลอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือหัวหน้ารัฐบาลในระบอบรัฐสภานี้มาจากสภา แต่หัวหน้ารัฐบาลในระบอบประธานาธิบดีซึ่งก็คือตัวประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งต่างหากจากการเลือกตั้งผู้แทนในระบอบรัฐสภานั่นเอง

ฉะนั้น ประเด็นของการวิวาทะดังที่ได้กล่าวมาตอนต้นที่เป็นประเด็นร้อนแรง ก็คือประเด็นของประมุขของประเทศนั่นเอง เพราะในระบอบประธานาธิบดีประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกันคือประธานาธิบดีเท่านั้น เมื่อมีการกล่าวหากันว่า คุณทักษิณฝักใฝ่ในระบอบประธานาธิบดีหรืออยากเป็นประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภาก็ตาม จึงเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงว่าคุณทักษิณต้องการล้มสถาบันกษัตริย์นั่นเอง

ส่วนจะเป็นความจริงหรือไม่จริงนั้นไม่มีใครสามารถรู้ได้นอกจากตัวคุณทักษิณเอง แต่การที่คุณสุเทพไปกล่าวหาคุณทักษิณนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาลว่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ แต่ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะคุณทักษิณยังเป็นสัมภเวสีล่องลอยอยู่ในต่างประเทศในฐานะนักโทษหนีคดีซึ่งหลายปีกว่าจะหมดอายุความ แต่ก็เป็นที่ประหลาดใจว่าคุณสุเทพไปรู้ใจคุณทักษิณได้อย่างไร

การที่กล่าวอ้างว่าสังเกตจากคำพูดของคุณทักษิณที่พูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญบ้างหรืออ้างว่าพฤติการณ์ของคุณทักษิณส่อไปในทางนั้นบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่คุณสุเทพจะได้เที่ยวไปโพนทะนา ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่อาจรู้ได้ และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเที่ยวพูดไปเรื่อยเปื่อย เพราะข้อหาการล้มล้างสถาบันกษัตริย์นั้นตามกฎหมายอาญาเป็นข้อหาที่รุนแรงมีโทษถึงประหารชีวิต

คำกล่าวที่ว่า “คำพูดก่อนที่เราจะพูดออกไปนั้นเราเป็นนายมัน แต่เมื่อเราพูดออกไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา” ยังคงเป็นความจริงอันอมตะอยู่เสมอ ฉะนั้น ความเดือดร้อนของไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือคุณสุเทพที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากคำพูดของทั้งสองคนในต่างกรรมต่างวาระ

เห็นทีละครการเมือง (Political Drama) เรื่องนี้คงจะกลายเป็น หนังชีวิตเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งของวงการการเมืองไทยเสียเป็นแน่



ชำนาญ จันทร์เรือง

(เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒)


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ระบอบประธานาธิบดี

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แถลงการณ์แดงสยาม จาก ใจ อึ๊งภากรณ์



แถลงการณ์สยามแดง


ศัตรูของประชาชนมี คุก ศาล ทหาร เขายึดรัฐสภาและรัฐบาลผ่านการก่ออาชญากรรม เราชาวประชาธิปไตยแดงที่หูตาสว่างมีมวลชน แต่ตราบใดที่เรากระจัดกระจายนำตนเองไม่ได้ เราจะอ่อนแอ เมื่อใดที่เราจัดตั้งตนเอง นำตนเอง ในแต่ละท้องที่และรวมตัวกันเป็นพรรคที่เราสามารถร่วมกันนำ 5 นิ้วที่อ่อนแอจะกลายเป็นกำปั้นเหล็กที่ถล่มฝ่ายตรงข้าม

ในขณะที่ผู้นำโลกอย่างประธานาธิบดีโอบามา กำลังเสนอมาตรการเพื่อปกป้องสังคมจากวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง รัฐบาลไทยปล่อยให้คนงานตกงานเป็นจำนวนมาก และเอาใจใส่แต่ในการ ปิดปากประชาชน ทำลายประชาธิปไตย และสร้างเวปไซท์เรื่องกษัตริย์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นแค่เด็กขี้ฟ้อง

ศัตรูของประชาชนอาจจะมีปืน มีกองกำลัง มีเงิน มีอิทธิพลมืด แต่เขาสามัคคีภายใต้ลัทธิปัญญาอ่อนไร้วิทยาศาสตร์ ที่มุ่งทำให้ประชาชนเป็นทาสเป็นไพร่ ลัทธิกษัตริย์นั่นเอง ลัทธิที่ไร้วิทยาศาสตร์นี้เชิดชูให้คนสามัญที่บังเอิญเกิดในตระกูลหนึ่งถูกมองว่าเป็นเทวดา ทั้งๆที่กษัตริย์มีความสามารถไม่น้อยและไม่มากกว่าประชาชนปกติ ที่เป็นวิศวะกร ศิลปิน เกษตรกร หรือช่างฝีมือ หลายล้านคนทั่วประเทศ

ฝ่ายตรงข้ามอยากให้เราเชื่อว่ากษัตริย์รักและดูแลประชาชน แต่ประชาชนดูแลตนเองได้ และทุกอย่างที่งดงามเกี่ยวกับประเทศเรามาจากมือของประชาชน


กษัตริย์ คนนี้เติบโตมากับเผด็จการโกงกิน สฤษดิ์ ถนอม ประภาษ

กษัตริย์ คนนี้ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตในข้อหาฆ่ารัชกาลที่ 8

กษัตริย์ คนนี้สนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เพราะมองว่ายุคนั้นไทยมีประชาธิปไตย “มากเกินไป” และเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ อันธพาลลูกเสือชาวบ้าน

กษัตริย์ คนนี้ ปล่อยให้ คมช.ทำรัฐประหาร 19 กันยา และปล่อยให้ประชาธิปไตยของเราถูกปล้นไปโดยทหาร พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ในนามของกษัตริย์


ในนโยบายเศรษฐกิจ

กษัตริย์คนนี้เคยคัดค้านสวัสดิการสำหรับประชาชนที่มาจากงบประมาณของรัฐ ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่เป็นคนรวยที่สุดในโลกคนหนึ่ง ยังบังอาจสั่งสอนคนจนให้ “พอเพียง”

กษัตริย์คนนี้ ยอมให้บริวารรอบข้างตั้งชื่อให้เป็น “พ่อของสังคม” ในขณะที่ลูกชายตนเองไม่เป็นที่เคารพ

พวกอภิสิทธิ์ชนในสังคมที่อ้างความชอบธรรมจากระบบกษัตริย์เป็นเพียงปลิงดูดเลือดประชาชน พวกนี้ไม่ใช่เจ้าของสังคมไทย เขาควรเป็นหนี้บุญคุณประชาชนต่างหาก

สิ่งเหล่านี้ทุกเรื่อง ประชาชนรู้ว่าเป็นความจริงอยู่แล้ว มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่กำลังห้ามไม่ให้เรายืนขึ้นพูดความจริงทั้งหมดนี้ ในสังคมเปิด นั่นคือความกลัว

ถ้าเราโดดเดี่ยวเราจะกลัว ถ้าเรามีกลุ่มเราจะกล้า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องนำความโกรธ ความกล้า และสติปัญญาที่ประชาชนทุกคนมีอยู่ มาถล่มความกลัว และนำแสงสว่างกลับมาสู่บ้านเมือง เราต้องร่วมกันตั้งคำถามกับระบบเผด็จการปัจจุบัน เพราะเมื่อเราพูดพร้อมๆ กันทั่วประเทศ เขาจะจับคุมเราทั้งหมดไม่ได้

ตราบใดที่เราหมอบคลานต่อลัทธิกษัตริย์ เราทำตัวเป็นแค่สัตว์ เราต้องยืนขึ้นเป็นคน เราต้องเป็นพลเมืองในโลกสมัยใหม่

ธงไตรรงค์สามสี แดง ขาว น้ำเงิน ของฝ่ายเผด็จการ ลอกมาจากธงสามสีของตะวันตก แต่เพื่อส่งเสริม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคำขวัญของพันธมาร และทหาร ที่ใช้ในการทำลายประชาธิปไตย

ธงสามสี แดง ขาว น้ำเงิน เคยมีความหมายอื่นในการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือ “เสรีภาพ ความเท่าเทียมและความสมานฉันท์” นี่คือคำขวัญที่เราต้องใช้ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกสังคมไทย จากยุคมืดแห่งระเบียบใหม่/การเมืองใหม่

เราจะรวมตัวกันอย่างไร?

เลิกหวังได้แล้วว่าอดีตนายกทักษิณจะนำการต่อสู้ในทิศทางที่จำเป็นสำหรับการปลดแอกสังคม อย่าตั้งความหวังกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย เขายังไม่พร้อมที่จะต่อสู้นอกกรอบระบบปัจจุบัน แต่ประชาชนหลายแสนหลายล้านพร้อมจะไปไกล

การต่อสู้นอกกรอบ ไม่ใช่การจับอาวุธสู้ แต่เป็นการติดอาวุธทางปัญญากับมวลชน เราต้องมีกลุ่มศึกษาการเมืองของเราเอง เราต้องรวมตัวกันเป็นพรรค และพรรคนี้ต้องนำตนเองในทุกท้องที่ ทุกชุมชน ทุกโรงงาน ทุกสถานที่การศึกษา ในรูปแบบที่คนเสื้อแดงเริ่มทำอยู่ แต่เราต้องประสานงานกัน

เราต้องมั่นใจว่าคนที่จะนำพรรคคือ เรา พลังของพรรคคือ เรา และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายและจุดยืน

อาวุธของเราคือการชุมนุม การนัดหยุดงาน และการขยายความคิดสู่คนอื่นในทุกภาคส่วน แม้แต่ในระดับล่างของกองทัพ

พรรคเรา ต้องมีกิจกรรมเปิดบ้าง แต่เนื่องจากกฎหมายหมิ่นและความก้าวร้าวของทหาร บางส่วนจะต้องปิดลับตามความเหมาะสม นี่คืออีกเหตุผลที่เราต้องนำตนเอง

จุดร่วมของเราควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

มันไม่ใช่สิ่งที่คนๆเดียวเสนอได้ ต้องร่วมกันเสนอ แต่นี่คือข้อเสนอของผมในฐานะพลเมืองแดงรักประชาธิปไตยคนหนึ่ง


1. เราต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทีจะเลือกรัฐบาลทีคนส่วนใหญ่ต้องการ โดยไม่มีการปราบปรามข่มขู่ และไม่มีความกลัว

2. เราต้องมีความเท่าเทียมเสมอภาค ต้องยกเลิกระบบผู้ใหญ่ผู้น้อย ยกเลิกการหมอบคลาน นักการเมืองต้องปฏิญาณตนว่าจะเคารพนายที่แท้จริงของตนเองคือประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศไม่ใช่อำนาจนอกระบบ เราต้องสร้างวัฒนธรรมพลเมืองที่เคารพซึ่งกันและกัน เราต้องมีเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ ต้องเคารพผู้หญิง เคารพคนรักเพศเดียวกัน เคารพคนพม่า ลาว เขมร และคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ผู้หญิงต้องมีสิทธิทำแท้งอย่างปลอดภัย ผู้ลี้ภัยจากต่างประเทศควรจะได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น สมกับที่ประเทศเราเป็นประเทศอารยะ

3. ประเทศเราต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ถ้วนหน้า ครบวงจร และผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย คนจนไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคนร่วมพัฒนาชาติ ที่ต้องมีศักดิศรี สังคมล้าหลังปัจจุบันกดทับประชาชาชนจำนวนมากไม่ให้เขาเป็นผู้สร้างสรรค์ และนำสังคมไปสู่ความก้าวหน้า

4. ในประเทศเรากษัตริย์ไม่ควรยุ่งในเรื่องการเมือง และลักษณะส่วนตัวของกษัตริย์ไม่ควรจะมีความสำคัญ กษัตริย์ต้องไม่แสดงจุดยืนของตัวเองในเวทีสาธารณะ แต่ในสังคมไทยปัจจุบันชนชั้นปกครองร่วมรับผลประโยชน์จากการใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือ และดูเหมือนว่าจะไม่ยอมยกเลิกพฤติกรรมแบบนี้ ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหานี้ที่ดีที่สุด จึงเป็นเรื่องของการ สร้างระบบสาธารณะรัฐในประเทศไทย เพื่อให้ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

5. ประเทศเราอยู่ภายใต้รองเท้าบูทของนายพลมานานเกินไป เราตั้งตัดงบประมาณของทหารและอำนาจในสังคมเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยอีกต่อไป

6. ประเทศเราต้องมีความยุติธรรม ศาลไม่ควรอ้างกษัตริย์ในการขัดขวางการถูกตรวจสอบ ไม่ควรใช้กฎหมายหมิ่นศาลเพื่อปกป้องระบบอยุติธรรม เราต้องปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างถอนรากถอนโคน ต้องมีระบบลูกขุนที่มาจากประชาชน ตำรวจต้องบริการประชาชนแทนที่จะรีดไถคนจน

7. ประชาชนในเมือง ในชุมชน ในท้องถิ่นต่างๆ ต้องเข้ามาบริหารสาธารณะในทุกระดับ เช่น รัฐวิสาหกิจ สื่อ โรงเรียนและโรงพยาบาล

8. ประเทศเราต้องทันสมัย เราต้องปรับปรุงระบบการศึกษา การคมนาคม และที่อยู่อาศัย และหันมาผลิตพลังงานจากลมและแสงแดดเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

9. ประเทศเราต้องรักสงบ ไม่ขัดแย้งสร้างเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ สนับสนุนการก่อสงคราม


พวกใดโนเสาร์ล้าหลัง พวกเสื้อเหลือง จะบ้าคลั่ง น้ำลายฟูมปากเมื่ออ่านแถลงการณ์อันนี้ แต่มันเป็นเพียงอาการของพวกตกยุค หลุดโลก งมงาย ที่ควรจะลงถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ เราชาวประชาธิปไตยแดง จะเดินหน้า สร้างสังคมอารยะ สังคมใหม่

พวกอภิสิทธิ์ชน ไม่มีสิทธิ์ปล้นชีวิต ศักดิ์ศรี ความเป็นคนของประชาชน ไปเพื่อหวังเพิ่มความเป็นคนของเขาเอง หยุดเอาคนจนมาบูชายันต์ได้แล้ว

พวกที่อ้างว่า “ไทยมีลักษณะพิเศษในการมีกษัตริย์” เพียงแต่ยืนยันว่าความพิเศษของสังคมไทยที่เขาต้องการปกป้องคือความป่าเถื่อนและเผด็จการ การอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” เป็นเพียงการพยายามสร้างความมั่นคงให้กับผู้ที่กดขี่ขูดรีดประชาชน ไม่ใช่การสร้างความมั่นคงและดีงามกับพลเมืองทั่วไปแต่อย่างใด

แถลงการณ์นี้เป็นเพียงข้อเสนอที่เราอาจนำมาเป็นจุดร่วมได้ในหมู่คนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย ส่วนตัวแล้ว ในฐานะนักสังคมนิยม ผมอยากเห็นประเทศเราเดินหน้าต่อไปจากนั้น เพื่อสร้างสังคมที่มีประชาธิปไตยเต็มใบและไม่มีชนชั้น ปราศจากการกดขี่ขูดรีด… ระบบสังคมนิยมนั้นเอง แต่นั้นเป็นเป้าหมายระยะยาว

ชนชั้นปกครองดูใหญ่โต เข้มแข็ง เมือเรายังคลานอยู่กับพื้น แต่พอเรายืนขึ้นหูตาสว่าง เดินหน้าร่วมกับคนอื่น เราจะเห็นว่าพวกนี้อ่อนแอและน่าสมเพชแค่ไหน

ในอดีต ไม่ว่าจะช่วง ๒๔๗๕ หรือ๑๔ ตุลา เคยมีความฝันในหมู่ประชาชน ว่าเราจะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียม เราจะต้องสร้างความฝันนี้ให้เป็นจริงสักที


ใจ อึ๊งภากรณ์

9 กุมภาพันธ์ 2009


ที่มา : Redsiam's Blog : แถลงการณ์สยามแดง

ประเทศไทยประกาศสงครามกับอินเตอร์เน็ต : Thailand declares war on the Internet!



FACT
Freedom Against Censorship Thailand

(กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย)


Thailand declares war on the Internet!
5 กุมภาพันธ์ 2552

แปลและเรียบเรียงโดย : chapter 11



ประเทศไทยประกาศสงครามกับอินเตอร์เน็ต!

ข้อมูลยังกระจัดกระจาย แต่ข่าวบีบีซีได้รายงานว่าประเทศไทยได้บล็อกเว็บไซต์ใหม่อีก 4,818 เว็บไซต์วันนี้ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอินเตอร์เน็ต

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการปิดกั้นทางอินเตอร์เน็ตนี้มาจากทางกระทรวงไอซีที หรือทางหน่วยงานทางด้านคอมพิวเตอร์ใหม่ของกองทัพบก หรือจากทางตำรวจไทย หรือจากทางอินเตอร์เน็ตวอร์รูมซึ่งอยู่ในขั้นเตรียมการของวุฒิสภาไทย หรือจากหลายๆหน่วยงานของรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเซ็นเซอร์เว็บนั้นดูเหมือนจะไปรวมเข้าด้วยกันเป็นเว็บไซต์ Protect the King ซึ่งมีโฮสอยู่ที่รัฐสภาไทย http://www.protecttheking.net และมีอีเมล์ protecttheking@parliament.go.th รัฐบาลต้องการให้เราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายหมิ่นฯมาจากประชาชน ซึ่งมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวดังกล่าว

เว็บไซต์ของรัฐบาลนี้มีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนแจ้งชื่อของบุคคลและเว็บไซต์ที่เชื่อว่ากำลังละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ รัฐบาลต้องการให้คนไทยแจ้งจับคนไทยด้วยกันเอง เพื่อให้โดนคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึง 15 ปี (และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จ โทษจะเพิ่มขี้นไปอีกเป็น 25 ปี)

เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเหลือเกินที่ว่า จากคนที่ไม่รู้จักกัน 2,703 คน จะมาสร้างเว็บของแต่ละคนเพื่อจุดประสงค์หมิ่นและทำลายชื่อเสียงของราชวงศ์ไทย

ขณะนี้รัฐบาลไทยต้องการให้เราเชื่อว่า คนทั้ง 7,521 คนในโลกนี้ จะจงใจที่จะแสดงความไม่จงรักภักดีต่อราชวงศ์ไทยอย่างนั้นหรือ


กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)
ขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1) แสดงรายชื่อของเว็บที่ถูกบล็อก

2) แสดงหมายศาล


ตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปี 2550 เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายถ้ามีการบล็อกเว็บไซต์โดยไม่มีคำสั่งศาล แล้วการบล็อก 4,818 เว็บไซต์เพียงในวันเดียว จะต้องใช้คำสั่งศาลมากมายขนาดไหน

ไทยรัฐรายงานว่า: ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงไอซีทีได้ส่งเรื่องเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมฟ้องศาลแล้ว 4,818 URL แบ่งเป็นเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน 4,683 URL เว็บไซต์ลามกอนาจาร 98 URL และเว็บไซต์โฆษณาเท็จอีก 37 URL (มาจากการขายของออนไลน์ของ “morning after pill” ที่ถูกแบนในประเทศไทย)

รัฐบาลไทยยังคงสร้างปัญหาให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่องในเรื่องของกฎหมายหมิ่นฯ คนไทยไม่ได้รับอนุญาตให้มีการโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นใดๆในองค์พระมหากษัตริย์

เราคิดว่า “สงครามกฎหมายหมิ่นฯ” นี้จะส่งผลตรงข้ามกับที่รัฐบาลไทยตั้งใจเอาไว้ และคงจะเกิดขี้นในไม่ช้านี้ ตำรวจพวกที่ปกป้องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำลังทำลายระบอบกษัตริย์แทนที่จะรักษา และนำกษัตริย์และราชวงศ์ไปสู่ความมัวหมองมากขี้น

ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ เดี๋ยวนี้!


ที่มา : Liberal Thai : ประเทศไทยประกาศสงครามกับอินเตอร์เน็ต

หมายเหตุ
การเน้นข้อความ(บางส่วน)ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พวกไม่เห็นด้วยคืออาชญากร : Thailand: criminalising dissent



Index
on Censorship

Thailand: criminalising dissent
26 มกราคม 2552

แปลและเรียบเรียงโดย : chapter 11



พวกไม่เห็นด้วยคืออาชญากร


สินฟ้า ตันศราวุธได้กล่าวว่า การติดตามจับกุมในเรื่องคดีหมิ่นฯได้เข้มงวดมากขึ้น เมื่อนักการเมืองจับขั้วเดียวกับฝ่ายราชวงศ์

หลายปีก่อนเมื่อนักเขียนคนนี้ยังเป็นนักศึกษาภาควิชานิเทศน์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับภาษาอังกฤษได้ถูกเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการบริหารกองบรรณาธิการของหน้งสือพิมพ์

บรรณาธิการได้กล่าวว่าครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดชโดยมีคำบรรยายใต้รูปว่ากษัตริย์กำลังลาพักร้อน วันรุ่งขี้นเขาได้รับโทรศัพท์ซึ่งผู้โทรเข้ามาได้บอกว่าคำบรรยายไม่ถูกต้อง กษัตริย์ไม่เคยลาพักร้อน

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไม่ถูกคดีในการทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขี้นได้แสดงให้เห็นชัดว่าหัวข้อเกี่ยวกับราชวงศ์สำหรับคนไทยนั้นเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างไร

รัฐธรรมนูญกล่าวว่า: “กษัตริย์ควรอยู่ในตำแหน่งอันเป็นที่เคารพสักการะจะถูกล่วงละเมิดมิได้ ไม่มีบุคคลใดสามารถกล่าวหาหรือกระทำการหมิ่นกษัตริย์ได้” ตามกฎหมายแล้วกษัตริย์อยู่เหนือคำครหาวิจารณ์ทั้งปวง

การทำให้กษัตริย์หรือราชวงศ์เสื่อมเสียชื่อเสียงไม่ได้ปรากฎสู่สายตาสาธารณะมาเป็นเวลานานแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เช่นเดียวกับคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย ทราบดีถึงการจะไม่เข้าไปสร้างปัญหานั้น แต่เมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา หัวข้อเรื่องกฎหมายหมิ่นฯได้ปรากฎในสื่ออย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยปัจจุบัน

เฉพาะสองอาทิตย์ที่ผ่านมา นักเขียนชาวออสเตรเลียแฮรี่ นิโคไลเดสได้ถูกตัดสินว่าผิดถูกจำคุกในเรือนจำกรุงเทพเป็นเวลา 3 ปีจากคดีหมิ่นฯ นักรัฐศาสตร์ชาวไทย ใจ อี้งภากรณ์ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาเดียวกัน และวิศวกรขุดเจาะน้ำมันสุวิชา ท่าค้อ ถูกจองจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวในข้อหาเดียวกัน

เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของไทยได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับคนที่ทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสียชื่อเสียง เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ และขณะนี้ยังได้จับตามองบล็อก 2 บล็อกที่มีเนื้อหาต่อต้าน

นัฐพงศ์ หลวงนฤดม บล็อกเกอร์ได้กล่าวกับอินเดกซ์ออนเซ็นเซ่อร์ชิปว่า “จริงๆแล้วมีเวปไซต์ที่มีเนื้อหาที่อาจจะดูเหมือนหมิ่นราชวงศ์ แต่ส่วนใหญ่ได้ใช้ภาษาเลี่ยงๆ เพื่อป้องกันการถูกจับ”

นัฐพงศ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายในหัวข้อ “การเมืองและโลกออนไลน์”ที่จัดขี้นที่กรุงเทพเมื่อวานนี้ (25 มกราคม) นัฐพงศ์ประกาศตัวว่าเขาเป็นพันธมิตร (PAD) ซึ่งผู้สนันสนุนจะใส่เสื้อเหลือง สีที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ในประเทศไทยสีเหลืองเป็นประจำวันเกิดวันจันทร์ อันเป็นวันประสูติของกษัตริย์

กลุ่มสนับสนุนพันธมิตร ได้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ได้ต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ นักวิจารณ์ได้มองทักษิณซึ่งได้หลบหนีอยู่นอกประเทศนับตั้งแต่ถูกรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 ว่าเป็นฝ่ายต่อต้านราชวงศ์

ผู้สนับสนุนทักษิณได้ตั้งกลุ่มเสื้อแดง (DAAD) ซึ่งขณะนี้ได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์

นอกเหนือจาก 3 คดีข้างต้น ได้มีคนไทยอีกหลายคนที่กำลังถูกตั้งข้อกล่าวหา หรือถูกดำเนินคดีในการหมิ่นราชวงศ์

รมว.ไอซีทีได้กล่าวว่าได้ปิดเวปไซต์มากกว่า 2,000 เวปไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ และตั้งนโยบายปราบเวปหมิ่นเป็นโยบายหลัก

เมื่อศุกร์ที่ 23 มกราคม วุฒิสภาได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ ได้เตือนว่า 10,000 เวปไซต์จะเป็นเป้าหมายของการรณรงค์ในครั้งนี้

กฎหมิ่นฯได้ถูกจัดเข้าหมวดหมู่ “การกระทำผิดอันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร” ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายและแทบจะไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ประกาศใช้ปี 2500 เจ้าหน้าที่ไทยได้ถือว่ากฎหมายหมิ่นฯเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ

ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจะถูกจำคุกอันมีโทษสูงสุด 15 ปี

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ด้วยการสนับสนุนจากกองทัพบก และได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในสภา เพื่อเพิ่มโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคดีหมิ่นฯให้สูงถึง 25 ปี การแก้ไขกฎหมายนี้จะเพิ่มบทปรับ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กฎหมายหมิ่นฯไม่มีโทษปรับ

บทลงโทษและการปราบปรามอย่างหนักในขณะนี้ของเจ้าหน้าที่ไทย ได้ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความกลัว บริษัทหลายๆบริษัทได้สร้างโปรแกรมไฟร์วอลล์เพื่อบล้อกเวปไซต์ที่ต้องสงสัย หรือข้อความที่อาจจะหลุดเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ แล้วจะสร้างปัญหาให้กับบริษัทดังกล่าวรวมถึงพนักงาน

วิธีการซึ่งตำรวจไทยได้ใช้ในการจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีหมิ่นฯได้เพิ่มความกลัวให้แกประชาชนมากขี้น โดยตำรวจได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้ต้องหาในตอนกลางคืน ยึดคอมพิวเตอร์และทรัพย์สินอย่างอื่น ผู้ต้องหาหลายคนได้ถูกกักกันโดยไม่ให้ประกันตัว

คดีล่าสุดคือวิศวกรขุดเจาะน้ำมัน สุวิชา ท่าค้อ ที่ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นฯ ถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 14 มกราคม เมื่อสุวิชาและภรรยากำลังช้อปปิ้งแถวๆบ้านเกิดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนครพนม และตำรวจได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของสุวิชาที่กรุงเทพเช่นกัน ซึ่งเขาได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าใช้บ้านที่กรุงเทพเป็นฐานในการเผยแพร่ข้อความทำให้ราชวงศ์เสื่อมเสียชื่อเสียง

สุวิชาได้ถูกตำรวจสอบสวนโดยปราศจากทนาย และเขายังได้ถูกชักจูงว่าถ้าให้ความร่วมมือจะได้รับการปล่อยตัว อย่างไรก็ตามเขายังคงถูกตำรวจกักขังไว้ตั้งแต่ถูกจับกุม

สุวิชา มีลูก 3 คน ขณะนี้ได้ถูกหยุดจ้างงานและไม่ได้รับเงินชดเชย นี่คือผลที่ได้รับโดยตรงจากการถูกกล่าวหาในคดีร้ายแรง

เขากล่าวว่า “สิ่งที่ผมต้องการทราบคือ ผมได้ฆ่าใครหรือ” เขากล่าวต่อว่า “ผมได้เจอผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฆาตกรหรือข่มขืนเด็กซึ่งได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวไป บางคนที่มีชื่อเสียงและโดนข้อหาเดียวกับผมได้รับการประกันและปล่อยตัวเช่นเดียวกัน แต่ผมไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว เอาอะไรมาเป็นมาตราฐานในเรืองนี้”

ในการสัมภาษณ์ สุวิชาบอกเวปไซต์ในไทยว่า อีเมล์ของผมทุกอันถูกอ่านหมด พวกเขาได้จัดตั้งหน่วยงานตามล่าสำหรับรายชื่อบุคคลที่ต้องการตัวมากที่สุด ซึ่งพวกเขาได้พยายามที่จะโยงรายชื่่อเข้ามาในเครื่อข่าย ผมไม่คิดว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนี้ไปได้


ที่มา : Liberal Thai : พวกไม่เห็นด้วยคืออาชญากร

หมายเหตุ
การเน้นข้อความ(บางส่วน)ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปรีดี พนมยงค์ : กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์


การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ แม้ว่า ปรีดี พนมยงค์ จะเคยเป็นบุคคลที่ถูกป้ายสีด้วยข้อกล่าวหาอันหนักหน่วงรุนแรงมากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ จนต้องลี้ภัยและสิ้นใจในต่างแดน

แต่ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกชำระล้างเสียจนขาวสะอาด แทบไม่มีรอยมลทินใดๆ เหลืออยู่ และกลายเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่องของสังคมไทยไปเสียได้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะศิษยานุศิษย์และองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันกอบกู้สถานะและเชิดชูปรีดี พนมยงค์ จนมีลักษณะเป็นสถาบันไปแล้ว คนที่ครั้งหนึ่งเคยว่า กล่าวโจมตีผู้อภิวัฒน์อย่างดุเดือดกลับกลายมาเป็นผู้ผลักดันให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในระดับโลกเสียเอง

แต่ภาพลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนของผู้ก่อการท่านนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่พอสมควร เพราะเกี่ยวโยงอยู่กับสถาบันอื่นๆ และค่านิยมที่ไหลเวียนของสังคมในปัจจุบันด้วย

ภาพลักษณ์ของผู้อภิวัฒน์ที่ผันแปรไปตามวันเวลา และความเปลี่ยนแปลงของสังคม จากดำเป็นขาวเช่นนี้ เป็นเรื่อง "ตลกดี" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่าช่วยให้รอดพ้นจากการตกเป็นจำเลยไปในหลายๆ คดี

อย่างไรก็ตาม "ตลกดี" เรื่องนี้ ก่อให้เกิด "ตลกร้าย" เรื่องอื่นๆ ตามมา เพราะการแปรเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ที่สังคมยกย่องบูชานั้น ทำให้ภาพลักษณ์ หรือการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ดูขาวสะอาดและบริสุทธิ์เกินจริง ความขัดแย้งและบาดแผลที่ครั้งหนึ่งปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรได้ร่วมกันก่อขึ้นกับสถาบันสำคัญๆ กลับถูกลืมเลือนและกลืนหายไปในระหว่างทางเดินของประวัติศาสตร์

จากปรีดีหนุ่ม ที่มีอุดมการณ์ อุดมคติ และร้อนแรงไปด้วยไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียม เสมอภาคของราษฎร และใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า กลายมาเป็นปรีดีในช่วงวัยตอนปลายของชีวิต ผู้ซึ่งจงรักภักดี และคอยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของประเทศชาติเอาไว้

จากผู้ที่ชิงสุกก่อนห่ามในปี 2475 กลายเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ที่ว่า ช่วยลดแรงเครียดในการเผชิญกับความคาดหวังของสังคมต่อสถาบันนี้ลง

ซึ่งก็คงสอดคล้องโครงเรื่องหลักว่าด้วยการสถาปนาบุคคลสำคัญแห่งชาติ ที่ใครก็ตามจะได้รับการยกย่องก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นผู้ปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติเอาไว้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับส่วนกลางหรือรัฐ เป็นผู้จงรักภักดี และไม่เปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน

เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยมีรากฐานมาก่อนการปฏิวัติ 2475 นั้น ก็ไม่มีความกระอักกระอ่วนใจแต่ประการใดทั้งสิ้นในการชื่นชมศรัทธาและร่วมงานรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์


นี่นับว่าเป็น "ตลกร้าย" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะปรีดี พนมยงค์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีจิตใจปฏิวัติ ต้องการการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็น "ข้าราชการ" (ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง) หรือ "รัฐบุรุษอาวุโส" ผู้รับใช้ประเทศชาติอย่างสุดกำลัง แม้ว่าจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม หรือมีอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม หรือเป็นปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ

ถือได้ว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่สามารถกลืนกลายความบาดหมาง และการไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ให้มีความกำกวมไม่แน่นอน และจับเอามาวางไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงเรื่องแม่บทเก่าแก่ที่มุ่งเชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องใดหรือความไม่ลงรอยใดที่ไม่สามารถรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็ทำให้ตกขอบเวทีของประวัติศาสตร์และความทรงจำของสังคมไป

แต่บางทีอาจสัมผัสถึงความร้อนแรง และอุดมการณ์ทางการเมือง ของท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และแลเห็นภาพลักษณ์ที่ถูกหลงลืมไปแล้วของท่านผู้นี้ได้อีกครั้ง หากกลับไปอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 (ทัศนคติที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ จะว่าไปก็เป็นทัศนคติของสังคมในเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ เป็นเพียงผู้เก็บมาเรียบเรียง)

และถ้าว่าไปแล้ว เนื้อหาใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้นั้น อาจสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เพราะในเวลานั้นแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ก็นับได้ว่าเป็น "คำประกาศอิสรภาพชนิดหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้เมินเฉยในความสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ไปอย่างน่าเสียดาย และอิสรภาพที่ถูกประกาศในเวลานั้น ก็กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ไร้พลังจนปัจจุบัน คนรุ่นหลังไม่เคยแม้แต่จะนึกถึงคำประกาศอิสรภาพชนิดนี้และไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีอยู่ด้วยและยิ่งไม่อาจมีได้ในปัจจุบัน

วันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของสามัญชนที่มีเชื้อสายจีนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ แน่นอนว่าในชีวิตของคนๆ หนึ่งย่อมมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว การพูดถึงความสำเร็จอย่างฉาบฉวยหรือการยกย่องในความสามารถนั้นมีอยู่มากมายแล้ว ในหน่วยงานของรัฐและสื่อมวลชนบางส่วนในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการรำลึกถึงท่านผู้นี้ หาใช่การกล่าวถึงความสำเร็จ หรือการยกย่อง และทำให้สถานะทางประวัติศาสตร์ของแกนนำคณะราษฎรผู้นี้คลุมเครือเสียจนกระทั่ง สอดคล้องกับความนิยมในสถาบันหลักของประเทศ อย่างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ของสังคมไทยในปัจจุบัน หากแต่น่าจะเป็นการทบทวนถึงความล้มเหลวของท่านผู้นี้มากกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าอาจมีมากกว่าความสำเร็จ

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะได้การเรียนรู้ชีวิตของบุคคล หรือประวัติศาสตร์ คือ "บทเรียน" และการเรียนรู้ในความปรารถนาที่ล้มเหลวของคนไม่ธรรมดาอย่างปรีดี พนมยงค์ ย่อมให้บทเรียนอย่างมหาศาล

ปรีดี พนมยงค์ เองก็ยอมรับถึงความผิดพลาดทางการเมืองหลายประการ ในชีวิตอันโลดโผนราวกับนิยายของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจตนารมณ์การปฏิวัติ 2475 การสถาปนานิติรัฐ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปกครองท้องถิ่น การสหกรณ์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า หลายเรื่องเป็นการพลิกกลับตาลปัตรทางประวัติศาสตร์ หลายเรื่องไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ และหลายเรื่องเป็นความใฝ่ฝันที่มาก่อนกาล

บางทีคนรุ่นหลังอาจได้อะไรจากการมองปรีดี พนมยงค์ ในฐานะปัญญาชนนักปฏิวัติที่มีความมุ่งหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า และพยายามเต็มความสามารถเพื่อให้ได้มาแต่ทว่าล้มเหลว

เพราะเงื่อนไขทางสังคมการเมืองและความอ่อนด้อยขาดประสบการณ์ หรือมองโลกในแง่ดีมากเกินไป มากกว่าที่จะเห็นปรีดี พนมยงค์ ถูกยกย่องอย่างว่างเปล่า โดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ รวมทั้งตลาดที่ทำให้ผู้อภิวัฒน์ไม่ต่างไปจากคุณหญิงโม หรือชาวบ้านบางระจัน ซึ่งไม่มีพิษมีภัยใดๆ ต่อสังคม และใครก็ได้สามารถหยิบฉวยไปใช้อย่างไม่เคอะเขิน

การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ นอกจากก่อให้เกิดความยำเกรง ที่จะหาญคิดเปลี่ยนแปลงสังคมที่อยุติธรรม และยำเกรงที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ ในปัจจุบัน

ประเด็นไม่ใช่การเสนอให้เลิกรำลึกอย่างที่บางคนเสนอให้เลิกรำลึก 6 ตุลาคม 2519 หรือ14 ตุลาคม 2516 เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากแต่ต้องช่วงชิงทางวาทกรรมในการเสนอภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ให้ออกมาอย่างมีพลัง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับคนรุ่นหลัง ไม่เป็นดำ เป็นขาว

เพราะถึงที่สุดแล้วสงครามเงียบทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่สิ่งที่ยุติแล้ว ในทางตรงข้ามการต่อสู้เพื่อสถาปนาวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ชุดใดชุดหนึ่ง ยังคงดำเนินอยู่อย่างเงียบเชียบและซ่อนเร้น

ประวัติศาสตร์อาจจะเล่นทั้งตลกร้ายและตลกดีจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์ได้ชำระล้างปรีดี พนมยงค์ สะอาดเสียจนแทบไม่เหลือคราบของนักปฏิวัติผู้รักการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่เหมาะควรแล้วกับสังคมไทยที่มีอารมณ์แบบอนุรักษ์นิยม !


เมธัส บัวชุม



เพิ่มเติม : (สัมภาษณ์ เอเชียวีค ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๓)

จากบทความ :
๑๐๐ ปี ของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์


อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเอเชียวีค ๒๕๒๓

ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี ท่านปรีดี พนมยงค์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asia Week ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2523 ไว้ตอนหนึ่งดังนี้...


ในปีค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา

ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี...

ในปีค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน...และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ



ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ปรีดี พนมยงค์ กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

Why we must oppose lese majeste : ทำไมต้องต้านกฎหมายหมิ่นฯ



Why the Lese Majeste law in Thailand is an abomination

23 มกราคม 2552


WDPress : Why we must oppose lese majeste

ผู้ช่วยศาตราจารย์ ใจ อึ้งภากรณ์
คณะรัฐศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แปลและเรียบเรียงโดย : chapter 11



ทำไมกฎหมายหมิ่นฯ
ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่เลวทราม

ฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยเป็นตัวแทนการเล่นงานสิทธิเสรีภาพในการพูด สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างโหดร้าย ผลกระทบคือเราไม่มีประชาธิปไตยที่เต็มใบและไม่ได้รับการรับรองมาตราฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยของเราจากนานาประเทศ

โดยเฉพาะกรณีของผม มหาวิทยาลัยของผมเองปฎิเสธจะขายหนังสือทางวิชาการของผมเกี่ยวกับการรัฐประหารปี 2549 ในร้านขายหนังสือของมหาวิทยาลัย ยังไม่พอมหาวิทยาลัยยังได้เอาหนังสือผมส่งให้กับสถานีตำรวจ ผลที่ตามมาคือรัฐบาลได้สั่งฟ้องผม ลองนึกดูว่าจะมีผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานทางวิชาการของผมต่างๆอย่างไร บรรยากาศที่น่ากลัวแบบนี้จะทำให้คุณภาพทางวิชาการเลวลง เพราะนั่นคือการเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องที่อึมครึมและการโต้แย้งอย่างมีเหตุมีผลซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

คุณภาพการศึกษาแบบเก่าที่ขู่ให้กลัวเริ่มต้นมาจากชั้นประถมและเรื่อยมาจนถึงระบบการศึกษาขั้นสูง นักเรียนถูกสนับสนุนให้เรียนด้วยการท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง และให้เขียนเรียงความบรรยายแต่ความเห็นด้านเดียว นักวิชาการปฎิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับการโต้เถียง ไม่อ่านงานเขียนสำหรับคนที่มีความเห็นแตกต่างจากตัวเอง และเอาการโต้แย้งจากนักวิชาการด้วยกันมาถือเป็นการต่อสู้ส่วนตัว

ราชวงศ์ไทยถูกกล่าวว่าเป็น”สุดที่รักของชาวไทยทั้งปวง” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง แต่ที่คนต้องเข้าใจคือในสังคมไทยมีบรรยากาศแห่งความกลัวอันเนื่องมาจากกฎหมายหมิ่นฯ พร้อมกันกับการโปรโมท ราชวงศ์อย่างบ้าคลั่ง กษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะในทุกด้าน แถลงการณ์ทุกฉบับที่ออกมาจากกษัตริย์จะถูกแถลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับว่าเป็นคำสั่งสอนอันสูงสุด และกษัตริย์ได้ถูกอ้างว่าเป็น “บิดาของเรา” เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการปฎิบัติเพิ่มขี้นมาจากสถานที่ทำงานทั้งของเอกชนและของรัฐ คือได้ให้ลูกจ้างใส่เสื้อเหลืองทุกวันจันทร์หรือใส่ดำทั้งปีเพื่อไว้ทุกข์แด่พระขนิษฐาของกษัตริย์หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์ หลายๆคนได้เปรียบว่าเหมือนกับประเทศเกาหลีเหนือ

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ นโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อกษัตริย์ทรงยกย่องเศรษฐกิจพอเพียง เราทั้งหมดจะต้องยอมรับและชื่นชมโดยไม่มีคำถามใดๆ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอุดมคติทางการเมืองซึ่งสอนให้คนมีความสุขกับสถานะของตัวเองในปัจจุบันและให้เลิกนึกถึงความต้องการหารายได้เพิ่มพูน โชคดีที่ว่ามุมมองแบบล้างสมองเช่นนี้ไม่ได้ผลนักในสังคมไทย สำหรับสังคมซึ่งไม่มีการโต้แย้งทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเปิดเผย ก็ยังคงล้าหลังและด้อยพัฒนาเช่นนี้ แต่แค่การวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงนิดหน่อยถึงกับต้องโดนข้อกล่าวหาจากกฎหมายหมิ่นฯเชียวหรือ

อะไรคือเป้าหมายของความพยายามทั้งหมดในการบังคับเรื่องโง่ๆกับประชาชน เป็นการพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะควบคุมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ให้แตกแถว เราถูกสนับสนุนให้เชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจ ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คนไทยถูกสนับสนุนให้เชื่อว่าเราอาศัยอยู่ภายใต้ “ระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบสมัยก่อน” เป็นการผสมระหว่างระบบแบบศักดินาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องคลานกับพื้นเมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์ แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้คือกองทัพบก ข้าราชการหัวเก่า และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่กษัตริย์

กองทัพได้ประกาศเสมอว่า การกระทำของกองทัพคือ “ผู้พิทักษ์กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” กองทัพไทยมีประวัติอันยาวนานในการก่อรัฐประหารซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหารถูกอ้างว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมในการปกป้องราชวงศ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ดีคือการทำรัฐประหารครั้งที่ 19 เมื่อเดือนกันยายน 2549 แทนที่จะเป็นการปกป้องกษัตริย์อย่างที่อ้าง กองทัพได้หาวิธีที่จะให้การทำรัฐประหารถูกกฎหมายด้วยการนำกษัตริย์มาอ้าง

กฎหมายหมิ่นฯถูกใช้เป็นเครื่องมือของกองทัพและพวกศักดินาที่มีอำนาจเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองแทนที่จะปกป้องกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การโปรโมทให้ภาพพจน์ของกษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนืออื่นใด (ภาพพจน์ที่ไม่เป็นตามแนวทางรัฐธรรมนูญ)ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำของกองทัพเพื่อหาความชอบธรรมให้ตัวเองและจากกลุ่มที่มีอำนาจกลุ่มอื่นซึ่งขณะนี้ได้เข้ามาร่วมรัฐบาล คดีหมิ่นฯได้เพิ่มเป็นสองเท่านับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกองทัพได้ใช้เล่ห์กลให้มาเป็นรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2551 ขณะนี้กฎหมายหมิ่นฯได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้กับคนที่วิจารณ์การรัฐประหารปี 2549 หรือคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายนิยมระบบกษัตริย์หรือฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ขณะนี้เป็นเรื่องที่จะปฎิเสธไม่ได้จากความจริงที่ว่า การรณรงค์ล้างสมองได้ล้มเหลว และจะยังคงล้มเหลวทุกขณะเมื่อกษัตริย์ได้ชราภาพลงเรื่อยๆและอีกไม่นานก็จะสิ้นพระชนม์ ถ้ากษัตริย์เป็นที่รักและที่บูชาแล้วคงไม่มีใครจะกล่าวถึงพระราชโอรสได้ กองทัพบก กลุ่มประท้วงพันธมิตรฝ่ายขวาซึ่งปิดสนามบินต่างๆและพรรคประชาธิปัตย์ได้ลากราชวงศ์เข้าสู่การเมือง โดยประกาศว่าการทำรัฐประหารปี 2549 และการกระทำของพันธมิตรได้รับการสนับสนุนหรือได้รับคำบัญชามาจากราชวงศ์ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้ยินคนไทยทั่วไปบ่นถึงการเมืองที่จัดตั้งในปัจจุบันนี้และคำพูดที่ว่า “เราทุกคนรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้” การวิจารณ์กษัตริย์ได้หนาหูขี้นมาก ความชอบธรรมอาจจะเข้าสู่ความวิกฤติได้ในไม่ช้าเนื่องจากการกระทำของกองทัพบกและฝ่ายอื่นที่ร่วมกัน เพราะความชอบธรรมของราชวงศ์เป็นสิ่งเดียวที่พวกมีอำนาจหัวเก่ามีอยู่ พวกนี้จะลนลานเพราะเรื่องต่างๆถูกเปิดเผย พวกนี้ทำตัวเอง กฎหมายหมิ่นฯไม่ได้ยอมแม้แต่การกระทำจะเหมาะสมถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นแบบของกษัตริย์ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยอมให้ผู้บัญชาการทหารต่างๆใช้อำนาจในนามของกษัตริย์


กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนมากจะมีความสุขกับเสถียรภาพและถูกตรวจสอบได้จากสาธารณะ ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่ากฎหมายหมิ่นฯของไทยไม่ใช่เป็นการนำเสถียรภาพมาสู่สถาบันแต่เป็นการนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น


ผู้ที่กล่าวหาผมด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้ทำเช่นนั้นเพราะผมได้แสดงจุดยืนและไม่โอนเอียงไปกับการทำรัฐประหารและเผด็จการ นักรณรงค์คนอื่่นหลายๆคนได้โดนข้อหาเช่นเดียวกันด้วยเหตุผลเดียวกัน เราจะต้องไม่ลืมนึกถึงพวกเขา เราต้องรณรงค์ทั้งระดับสากลและระดับประเทศในการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในประเทศไทย และเพื่อการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ

แต่โชคร้ายที่ว่า บรรยากาศแห่งความกลัวที่เกิดขี้นจากคำวิจารณ์ต่อราชวงศ์ บวกกับความจริงที่ว่านักวิชาการหลายๆฝ่าย นักเคลื่อนไหวต่างๆ และฝ่ายเอ็นจีโอ ซึ่งไม่เหลือทั้งความชอบธรรมและแนวคิดทางการเมืองเมื่อได้สนับสนุนการทำรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งหมายความว่าสังคมภาคเอกชนที่เป็นภาคสำคัญได้ปิดปากเงียบในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ อย่างไรก็ตามคนธรรมดาหลายพันคนได้เป็นกังวลมากพอที่จะแสดงความคิดเห็นว่ากฎหมายหมิ่นฯควรล้มไป ถ้ากฎหมายหมิ่นฯนี้ไม่ถูกยกเลิก เราก็จะไม่มีประชาธิปไตยในประเทศไทย

หนังสือของผม “รัฐประหารสำหรับคนรวย”ผมเขียนและพิมพ์หนังสือนี้เมื่อไม่กี่เดือนหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการพยายามที่จะเขียนในลักษณะวิชาการของนักวิจารณ์การเมืองไทยจากมุมมองประชาธิปไตย ผมได้วิจารณ์ทักษิณเสมอในเรื่องที่รัฐบาลทักษิณได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมโต้แย้งว่าการทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ผมแย้งว่าผู้ที่สนับสนุนการกระทำรัฐประหาร อันมีกองทัพ พันธมิตร นักธุรกิจที่เกลียดทักษิณ พวกสังคมนิยมใหม่ และพวกข้าราชการหัวเก่าได้รวมตัวกันต่อต้านคนจน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตย เพราะพวกเขาเหล่านี้เชื่อว่าคนจนไม่มีสิทธิใดๆในการโหวต พวกเขาเกลียดพรรคทักษิณเพราะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ในขณะที่พวกตัวเองไม่เคยชนะสักครั้ง

อีกเรื่องที่สำคัญในหนังสือของผมคือคำถามที่ถามตามความจริงที่ว่า วิกฤติมีผลมาจากการทะเลาะกันของราชวงศ์และทักษิณ เป็นการโต้แย้งของผมเองซึ่งอาจทำให้กองทัพโกรธแค้นเพราะกองทัพต้องการจะใช้ความชอบธรรมของราชวงศ์ในการทำรัฐประหาร ผมพยายามที่จะเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญควรปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และอีกบทความหนึ่งในหนังสือของผม ที่ผมพยายามจะวาดภาพความรับผิดชอบของกษัตริย์ในอดีต และถกเถียงว่าปัจจุบันนี้ควรเป็นสถาบันที่ทันสมัยไม่ใช่ระบบศักดินาแบบเก่า


ผมขอปฎิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่กล่าวหาว่าผมได้กระทำอาชญากรรมในการเขียนและพิมพ์หนังสือเล่มนี้


ใจ อึ้งภากรณ์


ที่มา : Liberal Thai : ทำไมต้องต้านกฎหมายหมิ่นฯ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

'นิธิ เอียวศรีวงศ์' หนุนชาตินิยม แต่ต้องนิยามใหม่



เมื่อวันที่ 30 ม.ค. โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จัดสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ 6 หัวข้อ ‘อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในประเด็นแบบเรียนของสังคมไทยว่า จะพูดถึงแนวคิดรากฐานและสำนึกในสังคมไทย ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยรับประสบการณ์อาณานิคมไม่ต่างจากเพื่อนบ้านเหมือนกัน แต่มีประเด็นหนึ่งที่แตกต่างคือ กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตไม่ถูกทำลายไปเพราะอาณานิคม เป็นพวกไม่ได้ถูกปกครองโดยตรง แต่ที่อื่นถูกทำลายหรือทำให้หมดความสำคัญลง

ทั้งนี้ ชนชั้นนำตามจารีตได้ทำตัวเหมือนเป็นตัวกลางหรือเป็นโบรกเกอร์ให้เจ้าอาณานิคมจึงสามารถทำให้อยู่รอดได้ ซึ่งในฐานะโบรกเกอร์สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เหมาะกับผลประโยชน์ทางตะวันตกและมีสภาพที่ทำให้เหมือนกับอาณานิคมอื่นๆ โดยไม่ต้องยึดครองโดยตรง ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการนำรัฐโบราณให้เข้าสู่ความทันสมัยได้

ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวอีกว่า เรามักโทษฝรั่งเศสว่าทำให้แบบเรียนของประเทศลาวกับกัมพูชาเกลียดไทยมาก ซึ่งจริงหรือไม่ไม่ทราบ แต่ในอีกแง่หนึ่งทั้งสองประเทศก็รับอิทธิพลจากประเทศไทยสูงมาก การเขียนประวัติศาสตร์ของสองประเทศดังกล่าวได้เริ่มด้วยการที่อ่านประวัติศาสตร์ไทยก่อนจึงทำแบบเดียวที่ไทยทำ คนไทยเองที่ทำให้สองประเทศนี้ไม่ชอบไทย

นอกจากนี้ ชนชั้นนำทางจารีตมีภาวะการนำที่ไม่ใช่ทางการเมืองเท่านั้น แต่นำทางสังคม วิชาการ และทุกๆด้าน แม้มีเหตุการณ์ พ.ศ. 2475 แต่เพียงเป็นการลดทอนภาวะการนำของชนชั้นนำทางจารีตได้ชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็กลับมาในเวลาไม่นานนัก มีเพียงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้นที่เข้าใจความซับซ้อนของภาวะการนำตามจารีต และทำให้ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. นิธิ กล่าวว่า มีความพิกลพิการบางอย่างสืบมาจนปัจจุบัน เพราะแทนที่ชาติจะเป็นของทุกคนแต่เมื่อเกิดชาติทุกคนกลับเป็นสมบัติของชาติโดยเสมอกัน ชาติคล้ายเป็นนายใหม่เป็นเจ้าของเรา แม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็เน้นที่เรื่องหน้าที่พลเมืองมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงไม่ต่างไปจากรัฐราชาธิราช มองคนเป็นข้าราษฎรหรือเป็นสมบัติเท่านั้น

ประการต่อมา ชาติไทยไม่สามารถเชื่อมต่ออดีตได้ในทางใดเลยนอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะ ถ้าไปมองทางอื่นเช่น เศรษฐกิจหรือนิเวศประวัติศาสตร์จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งและเกิดพระเอกอีกมากซึ่งไม่ใช่แค่คนในสถาบัน อาจารย์ เครก เรย์โนล (นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์หลังสมัยรัชกาลที่ 5 จะไม่สามารถเล่าต่อไปโดยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์คนเดียวได้อีกแล้ว การเล่าประวัติศาสตร์แบบสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไม่สามารถเผชิญได้ เพราะมีพระเอกเต็มไปหมด ประวัติศาสตร์แบบ 14 ตุลา จึงไม่สามารถนำเข้าไปร่วมในประวัติศาสตร์ได้ กระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักไม่สามารถผนวกประวัติศาสตร์ไปสู่สำนึกที่เราเข้าใจได้

ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวถึงโลกทัศน์ต่อการมองโลกข้างนอกในประวัติศาสตร์ว่า ลักษณะแรกตามอุดมคตินั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจักรพรรดิราช รัฐอื่นเป็นรอง การเล่าถึงรัฐอื่นจึงต้องเป็นรองหมด แม้ในทางปฏิบัติจะยอมรับจีนพรือพม่าเทียบเท่าหรือเหนือกว่า ซึ่งรัฐจักรพรรดิราชมันไม่เปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อรับการเล่าประวัติศาสตร์แบบฝรั่งก็ต้องเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกษัตริย์และมองเพื่อนบ้านด้อยกว่า

ดังนั้น แบบเรียนจึงไม่มีทางเข้าใจอะไรที่นอกเหนือจากอำนาจขององค์จักรพรรดิ์ได้เลย เช่น เราศึกษาอยุธยาโดยไม่รู้ว่าเป็นเมืองท่าใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจอื่นค่อนข้างมาก แบบเรียนไทยไม่สนใจความเชื่อมโยง ไม่สนใจการอพยพของผู้คน ประชากรไทยมีการไหลเข้าจำนวนมาก ทั้ง จีน มอญ ไทใหญ่ ข่า ชาวเขาหลายกลุ่ม ไม่มีใครพูดถึงการค้า เราพูดถึงรัชกาลที่ 5 โดยไม่พูดถึงปีนังและสิงคโปร์ ทั้งที่ส่งออกข้าวไปเป็นจำนวนมาก การมองไทยในบริบทอุษาคเนย์จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อมองมันกลับเข้าไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งมีทั้งการเชื่อมโยงติดต่อกันตั้งแต่ก่อนอินเดียเข้ามา ถ้าไม่มองก็ไม่มีทางเข้าใจประวัติศาสตร์และประเทศไทย ต้องมองไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกฉียงใต้ รวมไปถึง ลังกา และจีนด้วย

ช่วงท้าย ศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงทางออกจากชาตินิยม ว่า อย่าออกจากชาตินิยมแต่ต้องช่วยนิยามความเป็นชาติใหม่ เพราะในอุดมการณ์ทั้งหลาย ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่เปิดพื้นที่เล็กๆให้คนในโลกนี้ ในกรณีไทยเองได้ขยายพื้นที่เล็กๆไปพอควร แต่ต้องนิยามใหม่ให้หมดจากความพิกลพิการ เพื่อมีชาติให้คนไร้อำนาจมีสิทธิเท่าเทียมและสามารถใช้ชาติเป็นเครื่องมือต่อรองได้เหมือนกับที่คนมีอำนาจใช้ชาติเป็นเครื่องมือต่อรองในเวลานี้


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ พรมแดนความรู้อุษาคเนย์ : แบบเรียน สื่อ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสูงเรื่องความต่อเนื่องในการสร้างวาทกรรมกระแสหลักต่อเนื่องจากตำราเรียน

สื่อทำงานโดยกลไกโฆษณาชวนเชื่อกับการเซ็นเซอร์เป็นหลัก สร้างความคลั่งหรือเกลียดชังเผ่าพันธุ์อื่นโดย จัดการข้อมูลข่าวสารทั้งที่เป็นเรื่องจริงอย่างสารคดีหรือเรื่องแต่ง และขณะนี้คำว่า self censor กระเด็นไปอยู่ในสื่อหนังสือพิมพ์มากในขณะที่ในอดีตสื่อหนังสือพิมพ์ภูมิใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ตอนนี้ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ก่อน

รศ.ดร.อุบลรัตน์ อธิบายว่า การเซ็นเซอร์มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงเช่นมีประมวลกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้มีการปิดเว็บจำนวนมาก หรือการมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลจริงและกำลังมีการแก้ไขให้ปิดมากขึ้น ทำให้มีวิธีคิดแบบเซ็นเซอร์ค่อนข้างสูง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2551 ที่เหมือนจะเสรี แต่เพิ่มการแบนภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งต่างๆของรัฐ ส่วนการเซ็นเซอร์โดยอ้อม เช่น การเสนอวาระต่างๆ การงดเสนอข่าวในด้านลบ การไม่วิพากษ์โฆษณาสินค้าที่ให้สปอร์นเซอร์ เป็นต้น

สิ่งที่รัฐไทยทำให้ยอมรับการครอบงำคือการทำผ่านศาสนา การศึกษา กฎหมาย และสื่อมวลชน การครอบงำต้องสร้างเนื้อหาสาระ รัฐกับสื่อต้องร่วมกันสร้างวาทกรรมเรื่องเล่าที่มีลักษณะเป็นกฎระเบียบ เช่น สร้างหลักเกณฑ์ที่เรายอมรับเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ วาทกรรมประชาธิปไตย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการสร้างวาทกรรมผ่านวรรณกรรมไทยรบพม่า และมีอาณานิคมภายใน คือภาคใต้ หลังพ.ศ. 2475 เป็นยุคชาตินิยมก็พยายามมีศัตรูภายนอกโดยมองตะวันตกเป็นศัตรูภายนอก จนหลัง 2500 ก็หันมามองศัตรูเป็นภายใน คือ ความคิดที่แตกต่าง หรือแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

แบบเรียนและสื่อจะนำเสนอในกรอบเหล่านี้ สื่อมักสร้างภาพตัวแทนเป็นอคติที่ไม่ใช่ไทย สร้างซ้ำๆจนกลายเป็นความเคยชิน เช่น พม่ากับไทยรักกันไม่ได้ หรือในภาพจริงๆ เช่น พูดไม่ชัดไม่ใช่ไทย เป็นต้น ซึ่งรูปแบบที่ทำให้สื่อมีอิทธิพล คือ มีความน่าเชื่อถือ เช่น ข่าวสารคดี ในขณะที่สิ่งที่เป็นมายาแต่มีพลังที่สุดอยู่ในรูปโฆษณา ที่รวมทั้งความจริง จินตนาการและอารมณ์ ถ่ายทอดซ้ำๆจนตกผลึกทำให้เข้าถึงได้ไม่ยาก

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ได้ยกตัวอย่างหนังโฆษณาคาราบาวแดง ที่นำประวัติศาสตร์ความทรงจำบางระจันที่โยงมาถึงสงครามปราบยาบ้า ซึ่งบางระจันได้ตอกย้ำการเสียสละ การรักชาติคือต้องรบ ต้องยอมตาย ซึ่งเป็นการรักชาติในแบบอุมดมการณ์เก่าอันถ่ายทอดมาจากสถาบันทหาร เพราะถ้าเป็นกรอบประชาธิปไตย การรักชาติไม่ต้องรบก็ได้ นอกจากนี้ยังโยงมาถึงความยิ่งใหญ่ของนักร้องและเครื่องดื่มคาราบาว ตอกย้ำซ้ำเติมเข้าไป

อีกกรณีหนึ่ง รศ.ดร.อุบลรัตน์ได้นำเพลงที่จะใช้ในการประชุมอาเซียนมาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟัง และอธิบายเพิ่มเติมว่า หากฟังแล้วจะรู้สึกเหมือนอาเซียนเป็นชาติใหม่ คือเรียกร้องสิบชาติให้เป็นหนึ่ง แต่ไทยบนผลประโยชน์แบบชาตินิยมเดิมจะรับมืออย่างไรกับชาติที่มาใหม่ ทั้งความเท่าเทียม หนึ่งชาติหนึ่งเสียง หรือความรักใคร่อาทร และจะสามารถถอดรื้อประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเดิมๆได้หรือไม่


โดย : ประชาไท


เพิ่มเติม
(ความคิดเห็นที่ 12)

ย่อหน้าที่ 7 ตรงที่รายงานว่า"อาจารย์ เครก เรย์โนล (นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)"อันนี้คลาดเคลื่อนนะครับ Craig J Reynolds เป็น(ดูเหมือนน่าจะเกษียณแล้ว)อาจารย์ที่ Australian National University ก่อนหน้านั้นคือที่ Sydney University (ยกเว้นเสียแต่ว่า Craig จะได้รับเชิญมาวลัยลักษณ์ แล้วผม"ตกข่าว" แต่ไม่น่าจะใช่นะ)คนที่คุณนึกถึงน่าจะหมายถึง Dr.Patrick Jory (วลัยลักษณ์)คนหลัง (Dr Patrick) เป็นลูกศิษย์ คนแรก ครับ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ‘นิธิ’ หนุนชาตินิยม แต่ต้องนิยามใหม่

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

Village Scouts: The King's Finest : ลูกเสือชาวบ้าน - ตำรวจของกษัตริย์


Indochina Chronicle

มกราคม-กุมภาพันธ์ 2520

Village Scouts: The King's Finest
(เป็น pdf. นะครับ )



แปลไทยจาก : Thai Report.com




ลูกเสือชาวบ้าน - ตำรวจของกษัตริย์


หนึ่งในองค์กรหัวรุนแรงสไตล์ฟาสซิสต์ที่เกิดขึ้นจากความพยายามของสหรัฐฯในการต่อต้านการก่อการร้ายในไทยได้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนอเมริกันเมื่อสื่อตะวันตกแสดงภาพถ่ายตำรวจและทหารทำการสังหารหมู่นักศึกษาผู้บริสุทธิ์และไม่มีอาวุธที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพถ่ายหนึ่งแสดงให้เห็นลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งสวมผ้าพันคอที่กษัตริย์มอบให้พวกเขาและมือของเขากำลังรัดคอนักศึกษาคนหนึ่งที่บาดเจ็บและขวัญผวา ตำรวจนายหนึ่งจับนักศึกษาคนนั้นด้วยแขนขณะที่อันธพาลคนหนึ่งต่อยหน้าของเขา

นักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ราวกับฝันร้ายนั้นรายงานว่าลูกเสือชาวบ้านเป็นหนึ่งในพวกที่เข้าร่วมการเผาทั้งเป็น การควักลูกตา และการฆ่าแขวนคอนักศึกษาที่รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้นเพื่อต่อต้านการกลับมาของอดีตเผด็จการทหารถนอมที่สนับสนุนโดยทหารและพวกฝ่ายขวา

ลูกเสือชาวบ้านคือใคร? พวกเขาถูกก่อตั้งเมื่อปี 2514 โดยตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่ซึ่งการกดขี่ของรัฐบาลเลวร้ายที่สุดและมีการเคลื่อนไหวของชาวนาต่อต้านตำรวจและรัฐบาลมาอย่างยาวนาน ดังที่นายพล Edward Lansdale ผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านการก่อการร้ายรายงานไว้ใน Pentagon Papers และรายงานอื่นๆก็ยืนยันชัดเจนว่า ตำรวจตระเวนชายแดนของไทยเป็นผลงานของ CIA สมาชิกของมันได้รับการฝึกอบรมการต่อต้านสงครามกองโจรจากหน่วยรบพิเศษกองทัพบกสหรัฐฯ รองผู้อำนวยการ ตชด.เป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านคนปัจจุบัน

ตชด.เริ่มก่อตั้งลูกเสือชาวบ้านโดยรวมรวบผู้ใหญ่ในหมู่บ้านภาคอีสานและนำพวกเขามาเข้ารับการฝึกต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 5 วัน โครงการนี้ไม่ได้ขยายตัวจนเป็นที่สังเกตนักจนกระทั่งหลังการลุกฮือของนักศึกษาเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ได้นำไปสู่การเมืองที่เปิดกว้าง และทำให้มีการประท้วงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2517 ขบวนการลูกเสือชาวบ้านขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อสถาบันกษัตริย์ไทยรับโครงการนี้เข้ามาไว้ในอุปถัมภ์ ด้วยความพยายามของ ตชด. มันจึงแพร่กระจายไปทุกจังหวัดของประเทศไทย และวันนี้ การฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านก็กำลังดำเนินไปในทุกจังหวัด

ผู้เข้ารับการฝึกแต่ละกลุ่มประกอบด้วยผู้ใหญ่ 300-500 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับการฝึกเป็นเวลา 5 วันโดยผู้นำ 30-50 คน อยู่ใต้คำสั่งของ ตชด.โดยตรง แต่ละกลุ่มจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 10 คนระหว่างการฝึกฝน พวกเขาทำงานและเล่นด้วยกัน พวกเขารำไทยและร้องเพลงไทยขณะที่พวกเขาถูกปลูกฝังซ้ำๆซากๆให้อุทิศตัวให้สามสถาบันของรัฐอย่างถวายหัว สามสถาบันนี้ได้แก่ ชาติ ศาสนา และกษัตริย์ ได้ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2463 เพื่อระดมพลชาวนาและกรรมกรเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของรัฐ

ขบวนการนี้ยังได้อ้างเรื่องความเป็นเชื้อชาติไทย เช่นเดียวกับลัทธิแบ่งแยกชาติพันธุ์ที่ใช้โดยรัชกาลที่ 6 (2453-2468) และโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามในระหว่างที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ความพยายามครั้งนี้ละเอียดอ่อนกว่าครั้งเดิมมาก ดังที่ชาวบ้านที่เข้ารับการฝึกคนหนึ่งให้ข้อสังเกต วิทยากรที่อบรมเขาได้รับการฝึกวิชาจิตวิทยามา เห็นได้ชัดว่ามันเป็นปฏิบัติการการรบเชิงจิตวิทยาที่ได้มาจากหน่วยรบเชิงจิตวิทยาของสหรัฐฯที่ดำเนินการต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี ในวันสุดท้ายของการอบรม ลูกเสือชาวบ้านถวายสัตย์ปฏิญาณว่าพวกเขาจะร่วมมือกันดูแลประเทศและจะปกป้องมันจากพวก"คอมมิวนิสต์"

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งกล่าวว่ากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ขบวนการโดยตรงและมอบผ้าพันคอให้ลูกเสือชาวบ้านกับมือต้องการเห็นจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นไปถึงห้าล้านคน ปัจจุบันมีลูกเสือชาวบ้านสองล้านคน ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้ แต่ตชด.เน้นพื้นที่ชนบทเป็นพิเศษ ดังเช่นชื่อของมัน "ลูกเสือชาวบ้าน" มันมุ่งหมายไปที่ชาวบ้านในพื้นที่ชนบทเป็นหลัก มันดูประสบความสำเร็จท่ามกลางชาวนาและเด็กในชนบทที่ไม่มีงานทำ ขบวนการรูปแบบเดียวกันในประเทศไทยคือ กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดง ขบวนการรูปแบบเดียวกันในเวียดนามที่มีอายุนานกว่าก็คือขบวนการของโง ดินห์ เดียม และขบวนการที่เก่าแก่ยิ่งกว่านี้ก็คือกลุ่มยุวชนฮิตเลอร์ในนาซีเยอรมนีและกลุ่มสนับสนุนลัทธิจักรวรรดิในญี่ปุ่นยุคสงคราม

ลูกเสือชาวบ้านไทยเป็นความพยายามของชนชั้นสูงที่ล้มละลายทางสังคมที่ต้องการสร้างสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ขึ้นมาเพื่อชักชวนให้ผู้ที่ถูกรังแกยอมรับสังคมแห่งการกดขี่

ลูกเสือชาวบ้านไม่ได้เป็นคลื่นลูกใหม่แห่งอนาคตและแม้แต่นักการเมืองไทยและตำรวจ-ทหารบางคนก็ไม่สนใจพวกเขาเท่าไร แต่พวกเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นพวกกระหายเลือดที่แม้จะอายุสั้นแต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมในประเทศนี้


Indochina Chronicle : No.54


ที่มา : Thai Report : Indochina Chronicle: ลูกเสือชาวบ้าน - ตำรวจของกษัตริย์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ