วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปรีดี พนมยงค์ : กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์


การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ แม้ว่า ปรีดี พนมยงค์ จะเคยเป็นบุคคลที่ถูกป้ายสีด้วยข้อกล่าวหาอันหนักหน่วงรุนแรงมากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ จนต้องลี้ภัยและสิ้นใจในต่างแดน

แต่ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกชำระล้างเสียจนขาวสะอาด แทบไม่มีรอยมลทินใดๆ เหลืออยู่ และกลายเป็นบุคคลที่น่าเคารพยกย่องของสังคมไทยไปเสียได้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะศิษยานุศิษย์และองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันกอบกู้สถานะและเชิดชูปรีดี พนมยงค์ จนมีลักษณะเป็นสถาบันไปแล้ว คนที่ครั้งหนึ่งเคยว่า กล่าวโจมตีผู้อภิวัฒน์อย่างดุเดือดกลับกลายมาเป็นผู้ผลักดันให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องในระดับโลกเสียเอง

แต่ภาพลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนของผู้ก่อการท่านนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่พอสมควร เพราะเกี่ยวโยงอยู่กับสถาบันอื่นๆ และค่านิยมที่ไหลเวียนของสังคมในปัจจุบันด้วย

ภาพลักษณ์ของผู้อภิวัฒน์ที่ผันแปรไปตามวันเวลา และความเปลี่ยนแปลงของสังคม จากดำเป็นขาวเช่นนี้ เป็นเรื่อง "ตลกดี" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่าช่วยให้รอดพ้นจากการตกเป็นจำเลยไปในหลายๆ คดี

อย่างไรก็ตาม "ตลกดี" เรื่องนี้ ก่อให้เกิด "ตลกร้าย" เรื่องอื่นๆ ตามมา เพราะการแปรเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ที่สังคมยกย่องบูชานั้น ทำให้ภาพลักษณ์ หรือการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ดูขาวสะอาดและบริสุทธิ์เกินจริง ความขัดแย้งและบาดแผลที่ครั้งหนึ่งปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรได้ร่วมกันก่อขึ้นกับสถาบันสำคัญๆ กลับถูกลืมเลือนและกลืนหายไปในระหว่างทางเดินของประวัติศาสตร์

จากปรีดีหนุ่ม ที่มีอุดมการณ์ อุดมคติ และร้อนแรงไปด้วยไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียม เสมอภาคของราษฎร และใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า กลายมาเป็นปรีดีในช่วงวัยตอนปลายของชีวิต ผู้ซึ่งจงรักภักดี และคอยปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของประเทศชาติเอาไว้

จากผู้ที่ชิงสุกก่อนห่ามในปี 2475 กลายเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ที่ว่า ช่วยลดแรงเครียดในการเผชิญกับความคาดหวังของสังคมต่อสถาบันนี้ลง

ซึ่งก็คงสอดคล้องโครงเรื่องหลักว่าด้วยการสถาปนาบุคคลสำคัญแห่งชาติ ที่ใครก็ตามจะได้รับการยกย่องก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอผู้นั้นเป็นผู้ปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติเอาไว้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับส่วนกลางหรือรัฐ เป็นผู้จงรักภักดี และไม่เปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมายาวนาน

เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยมีรากฐานมาก่อนการปฏิวัติ 2475 นั้น ก็ไม่มีความกระอักกระอ่วนใจแต่ประการใดทั้งสิ้นในการชื่นชมศรัทธาและร่วมงานรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์


นี่นับว่าเป็น "ตลกร้าย" เรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะปรีดี พนมยงค์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีจิตใจปฏิวัติ ต้องการการเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็น "ข้าราชการ" (ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง) หรือ "รัฐบุรุษอาวุโส" ผู้รับใช้ประเทศชาติอย่างสุดกำลัง แม้ว่าจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม หรือมีอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม หรือเป็นปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองต่างๆ

ถือได้ว่าเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่สามารถกลืนกลายความบาดหมาง และการไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ให้มีความกำกวมไม่แน่นอน และจับเอามาวางไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงเรื่องแม่บทเก่าแก่ที่มุ่งเชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องใดหรือความไม่ลงรอยใดที่ไม่สามารถรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ ก็ทำให้ตกขอบเวทีของประวัติศาสตร์และความทรงจำของสังคมไป

แต่บางทีอาจสัมผัสถึงความร้อนแรง และอุดมการณ์ทางการเมือง ของท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และแลเห็นภาพลักษณ์ที่ถูกหลงลืมไปแล้วของท่านผู้นี้ได้อีกครั้ง หากกลับไปอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 (ทัศนคติที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ จะว่าไปก็เป็นทัศนคติของสังคมในเวลานั้น ปรีดี พนมยงค์ เป็นเพียงผู้เก็บมาเรียบเรียง)

และถ้าว่าไปแล้ว เนื้อหาใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้นั้น อาจสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เพราะในเวลานั้นแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ก็นับได้ว่าเป็น "คำประกาศอิสรภาพชนิดหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้เมินเฉยในความสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ไปอย่างน่าเสียดาย และอิสรภาพที่ถูกประกาศในเวลานั้น ก็กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ไร้พลังจนปัจจุบัน คนรุ่นหลังไม่เคยแม้แต่จะนึกถึงคำประกาศอิสรภาพชนิดนี้และไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีอยู่ด้วยและยิ่งไม่อาจมีได้ในปัจจุบัน

วันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของสามัญชนที่มีเชื้อสายจีนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ แน่นอนว่าในชีวิตของคนๆ หนึ่งย่อมมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว การพูดถึงความสำเร็จอย่างฉาบฉวยหรือการยกย่องในความสามารถนั้นมีอยู่มากมายแล้ว ในหน่วยงานของรัฐและสื่อมวลชนบางส่วนในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการรำลึกถึงท่านผู้นี้ หาใช่การกล่าวถึงความสำเร็จ หรือการยกย่อง และทำให้สถานะทางประวัติศาสตร์ของแกนนำคณะราษฎรผู้นี้คลุมเครือเสียจนกระทั่ง สอดคล้องกับความนิยมในสถาบันหลักของประเทศ อย่างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ของสังคมไทยในปัจจุบัน หากแต่น่าจะเป็นการทบทวนถึงความล้มเหลวของท่านผู้นี้มากกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าอาจมีมากกว่าความสำเร็จ

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะได้การเรียนรู้ชีวิตของบุคคล หรือประวัติศาสตร์ คือ "บทเรียน" และการเรียนรู้ในความปรารถนาที่ล้มเหลวของคนไม่ธรรมดาอย่างปรีดี พนมยงค์ ย่อมให้บทเรียนอย่างมหาศาล

ปรีดี พนมยงค์ เองก็ยอมรับถึงความผิดพลาดทางการเมืองหลายประการ ในชีวิตอันโลดโผนราวกับนิยายของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจตนารมณ์การปฏิวัติ 2475 การสถาปนานิติรัฐ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปกครองท้องถิ่น การสหกรณ์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า หลายเรื่องเป็นการพลิกกลับตาลปัตรทางประวัติศาสตร์ หลายเรื่องไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ และหลายเรื่องเป็นความใฝ่ฝันที่มาก่อนกาล

บางทีคนรุ่นหลังอาจได้อะไรจากการมองปรีดี พนมยงค์ ในฐานะปัญญาชนนักปฏิวัติที่มีความมุ่งหวังถึงสิ่งที่ดีกว่า และพยายามเต็มความสามารถเพื่อให้ได้มาแต่ทว่าล้มเหลว

เพราะเงื่อนไขทางสังคมการเมืองและความอ่อนด้อยขาดประสบการณ์ หรือมองโลกในแง่ดีมากเกินไป มากกว่าที่จะเห็นปรีดี พนมยงค์ ถูกยกย่องอย่างว่างเปล่า โดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ รวมทั้งตลาดที่ทำให้ผู้อภิวัฒน์ไม่ต่างไปจากคุณหญิงโม หรือชาวบ้านบางระจัน ซึ่งไม่มีพิษมีภัยใดๆ ต่อสังคม และใครก็ได้สามารถหยิบฉวยไปใช้อย่างไม่เคอะเขิน

การจัดวางภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ไว้ภายใต้บริบทของปัจจุบันที่เข้าได้กับทุกสถาบัน และทำให้ปรีดีสะอาดเกินจริงนั้น ดูไปก็แห้งแล้งและไม่ให้แรงดลใจ ซ้ำยังไม่อาจก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นมาได้ นอกจากก่อให้เกิดความยำเกรง ที่จะหาญคิดเปลี่ยนแปลงสังคมที่อยุติธรรม และยำเกรงที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ ในปัจจุบัน

ประเด็นไม่ใช่การเสนอให้เลิกรำลึกอย่างที่บางคนเสนอให้เลิกรำลึก 6 ตุลาคม 2519 หรือ14 ตุลาคม 2516 เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากแต่ต้องช่วงชิงทางวาทกรรมในการเสนอภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ ให้ออกมาอย่างมีพลัง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับคนรุ่นหลัง ไม่เป็นดำ เป็นขาว

เพราะถึงที่สุดแล้วสงครามเงียบทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่สิ่งที่ยุติแล้ว ในทางตรงข้ามการต่อสู้เพื่อสถาปนาวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ชุดใดชุดหนึ่ง ยังคงดำเนินอยู่อย่างเงียบเชียบและซ่อนเร้น

ประวัติศาสตร์อาจจะเล่นทั้งตลกร้ายและตลกดีจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์ได้ชำระล้างปรีดี พนมยงค์ สะอาดเสียจนแทบไม่เหลือคราบของนักปฏิวัติผู้รักการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่เหมาะควรแล้วกับสังคมไทยที่มีอารมณ์แบบอนุรักษ์นิยม !


เมธัส บัวชุม



เพิ่มเติม : (สัมภาษณ์ เอเชียวีค ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๓)

จากบทความ :
๑๐๐ ปี ของสามัญชนนามปรีดี พนมยงค์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์


อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเอเชียวีค ๒๕๒๓

ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี ท่านปรีดี พนมยงค์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Asia Week ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2523 ไว้ตอนหนึ่งดังนี้...


ในปีค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา

ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี...

ในปีค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน...และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ



ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ปรีดี พนมยงค์ กับการเล่นตลกของประวัติศาสตร์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: