วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

'นิธิ เอียวศรีวงศ์' หนุนชาตินิยม แต่ต้องนิยามใหม่



เมื่อวันที่ 30 ม.ค. โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จัดสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ 6 หัวข้อ ‘อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในประเด็นแบบเรียนของสังคมไทยว่า จะพูดถึงแนวคิดรากฐานและสำนึกในสังคมไทย ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยรับประสบการณ์อาณานิคมไม่ต่างจากเพื่อนบ้านเหมือนกัน แต่มีประเด็นหนึ่งที่แตกต่างคือ กลุ่มชนชั้นนำตามจารีตไม่ถูกทำลายไปเพราะอาณานิคม เป็นพวกไม่ได้ถูกปกครองโดยตรง แต่ที่อื่นถูกทำลายหรือทำให้หมดความสำคัญลง

ทั้งนี้ ชนชั้นนำตามจารีตได้ทำตัวเหมือนเป็นตัวกลางหรือเป็นโบรกเกอร์ให้เจ้าอาณานิคมจึงสามารถทำให้อยู่รอดได้ ซึ่งในฐานะโบรกเกอร์สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เหมาะกับผลประโยชน์ทางตะวันตกและมีสภาพที่ทำให้เหมือนกับอาณานิคมอื่นๆ โดยไม่ต้องยึดครองโดยตรง ชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการนำรัฐโบราณให้เข้าสู่ความทันสมัยได้

ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวอีกว่า เรามักโทษฝรั่งเศสว่าทำให้แบบเรียนของประเทศลาวกับกัมพูชาเกลียดไทยมาก ซึ่งจริงหรือไม่ไม่ทราบ แต่ในอีกแง่หนึ่งทั้งสองประเทศก็รับอิทธิพลจากประเทศไทยสูงมาก การเขียนประวัติศาสตร์ของสองประเทศดังกล่าวได้เริ่มด้วยการที่อ่านประวัติศาสตร์ไทยก่อนจึงทำแบบเดียวที่ไทยทำ คนไทยเองที่ทำให้สองประเทศนี้ไม่ชอบไทย

นอกจากนี้ ชนชั้นนำทางจารีตมีภาวะการนำที่ไม่ใช่ทางการเมืองเท่านั้น แต่นำทางสังคม วิชาการ และทุกๆด้าน แม้มีเหตุการณ์ พ.ศ. 2475 แต่เพียงเป็นการลดทอนภาวะการนำของชนชั้นนำทางจารีตได้ชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็กลับมาในเวลาไม่นานนัก มีเพียงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้นที่เข้าใจความซับซ้อนของภาวะการนำตามจารีต และทำให้ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. นิธิ กล่าวว่า มีความพิกลพิการบางอย่างสืบมาจนปัจจุบัน เพราะแทนที่ชาติจะเป็นของทุกคนแต่เมื่อเกิดชาติทุกคนกลับเป็นสมบัติของชาติโดยเสมอกัน ชาติคล้ายเป็นนายใหม่เป็นเจ้าของเรา แม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็เน้นที่เรื่องหน้าที่พลเมืองมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงไม่ต่างไปจากรัฐราชาธิราช มองคนเป็นข้าราษฎรหรือเป็นสมบัติเท่านั้น

ประการต่อมา ชาติไทยไม่สามารถเชื่อมต่ออดีตได้ในทางใดเลยนอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะ ถ้าไปมองทางอื่นเช่น เศรษฐกิจหรือนิเวศประวัติศาสตร์จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งและเกิดพระเอกอีกมากซึ่งไม่ใช่แค่คนในสถาบัน อาจารย์ เครก เรย์โนล (นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์หลังสมัยรัชกาลที่ 5 จะไม่สามารถเล่าต่อไปโดยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์คนเดียวได้อีกแล้ว การเล่าประวัติศาสตร์แบบสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไม่สามารถเผชิญได้ เพราะมีพระเอกเต็มไปหมด ประวัติศาสตร์แบบ 14 ตุลา จึงไม่สามารถนำเข้าไปร่วมในประวัติศาสตร์ได้ กระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักไม่สามารถผนวกประวัติศาสตร์ไปสู่สำนึกที่เราเข้าใจได้

ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวถึงโลกทัศน์ต่อการมองโลกข้างนอกในประวัติศาสตร์ว่า ลักษณะแรกตามอุดมคตินั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจักรพรรดิราช รัฐอื่นเป็นรอง การเล่าถึงรัฐอื่นจึงต้องเป็นรองหมด แม้ในทางปฏิบัติจะยอมรับจีนพรือพม่าเทียบเท่าหรือเหนือกว่า ซึ่งรัฐจักรพรรดิราชมันไม่เปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อรับการเล่าประวัติศาสตร์แบบฝรั่งก็ต้องเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกษัตริย์และมองเพื่อนบ้านด้อยกว่า

ดังนั้น แบบเรียนจึงไม่มีทางเข้าใจอะไรที่นอกเหนือจากอำนาจขององค์จักรพรรดิ์ได้เลย เช่น เราศึกษาอยุธยาโดยไม่รู้ว่าเป็นเมืองท่าใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจอื่นค่อนข้างมาก แบบเรียนไทยไม่สนใจความเชื่อมโยง ไม่สนใจการอพยพของผู้คน ประชากรไทยมีการไหลเข้าจำนวนมาก ทั้ง จีน มอญ ไทใหญ่ ข่า ชาวเขาหลายกลุ่ม ไม่มีใครพูดถึงการค้า เราพูดถึงรัชกาลที่ 5 โดยไม่พูดถึงปีนังและสิงคโปร์ ทั้งที่ส่งออกข้าวไปเป็นจำนวนมาก การมองไทยในบริบทอุษาคเนย์จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อมองมันกลับเข้าไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งมีทั้งการเชื่อมโยงติดต่อกันตั้งแต่ก่อนอินเดียเข้ามา ถ้าไม่มองก็ไม่มีทางเข้าใจประวัติศาสตร์และประเทศไทย ต้องมองไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกฉียงใต้ รวมไปถึง ลังกา และจีนด้วย

ช่วงท้าย ศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงทางออกจากชาตินิยม ว่า อย่าออกจากชาตินิยมแต่ต้องช่วยนิยามความเป็นชาติใหม่ เพราะในอุดมการณ์ทั้งหลาย ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่เปิดพื้นที่เล็กๆให้คนในโลกนี้ ในกรณีไทยเองได้ขยายพื้นที่เล็กๆไปพอควร แต่ต้องนิยามใหม่ให้หมดจากความพิกลพิการ เพื่อมีชาติให้คนไร้อำนาจมีสิทธิเท่าเทียมและสามารถใช้ชาติเป็นเครื่องมือต่อรองได้เหมือนกับที่คนมีอำนาจใช้ชาติเป็นเครื่องมือต่อรองในเวลานี้


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ พรมแดนความรู้อุษาคเนย์ : แบบเรียน สื่อ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสูงเรื่องความต่อเนื่องในการสร้างวาทกรรมกระแสหลักต่อเนื่องจากตำราเรียน

สื่อทำงานโดยกลไกโฆษณาชวนเชื่อกับการเซ็นเซอร์เป็นหลัก สร้างความคลั่งหรือเกลียดชังเผ่าพันธุ์อื่นโดย จัดการข้อมูลข่าวสารทั้งที่เป็นเรื่องจริงอย่างสารคดีหรือเรื่องแต่ง และขณะนี้คำว่า self censor กระเด็นไปอยู่ในสื่อหนังสือพิมพ์มากในขณะที่ในอดีตสื่อหนังสือพิมพ์ภูมิใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ตอนนี้ปิดกั้นตัวเองเอาไว้ก่อน

รศ.ดร.อุบลรัตน์ อธิบายว่า การเซ็นเซอร์มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงเช่นมีประมวลกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้มีการปิดเว็บจำนวนมาก หรือการมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลจริงและกำลังมีการแก้ไขให้ปิดมากขึ้น ทำให้มีวิธีคิดแบบเซ็นเซอร์ค่อนข้างสูง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2551 ที่เหมือนจะเสรี แต่เพิ่มการแบนภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีคำสั่งต่างๆของรัฐ ส่วนการเซ็นเซอร์โดยอ้อม เช่น การเสนอวาระต่างๆ การงดเสนอข่าวในด้านลบ การไม่วิพากษ์โฆษณาสินค้าที่ให้สปอร์นเซอร์ เป็นต้น

สิ่งที่รัฐไทยทำให้ยอมรับการครอบงำคือการทำผ่านศาสนา การศึกษา กฎหมาย และสื่อมวลชน การครอบงำต้องสร้างเนื้อหาสาระ รัฐกับสื่อต้องร่วมกันสร้างวาทกรรมเรื่องเล่าที่มีลักษณะเป็นกฎระเบียบ เช่น สร้างหลักเกณฑ์ที่เรายอมรับเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ วาทกรรมประชาธิปไตย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการสร้างวาทกรรมผ่านวรรณกรรมไทยรบพม่า และมีอาณานิคมภายใน คือภาคใต้ หลังพ.ศ. 2475 เป็นยุคชาตินิยมก็พยายามมีศัตรูภายนอกโดยมองตะวันตกเป็นศัตรูภายนอก จนหลัง 2500 ก็หันมามองศัตรูเป็นภายใน คือ ความคิดที่แตกต่าง หรือแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์

แบบเรียนและสื่อจะนำเสนอในกรอบเหล่านี้ สื่อมักสร้างภาพตัวแทนเป็นอคติที่ไม่ใช่ไทย สร้างซ้ำๆจนกลายเป็นความเคยชิน เช่น พม่ากับไทยรักกันไม่ได้ หรือในภาพจริงๆ เช่น พูดไม่ชัดไม่ใช่ไทย เป็นต้น ซึ่งรูปแบบที่ทำให้สื่อมีอิทธิพล คือ มีความน่าเชื่อถือ เช่น ข่าวสารคดี ในขณะที่สิ่งที่เป็นมายาแต่มีพลังที่สุดอยู่ในรูปโฆษณา ที่รวมทั้งความจริง จินตนาการและอารมณ์ ถ่ายทอดซ้ำๆจนตกผลึกทำให้เข้าถึงได้ไม่ยาก

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ได้ยกตัวอย่างหนังโฆษณาคาราบาวแดง ที่นำประวัติศาสตร์ความทรงจำบางระจันที่โยงมาถึงสงครามปราบยาบ้า ซึ่งบางระจันได้ตอกย้ำการเสียสละ การรักชาติคือต้องรบ ต้องยอมตาย ซึ่งเป็นการรักชาติในแบบอุมดมการณ์เก่าอันถ่ายทอดมาจากสถาบันทหาร เพราะถ้าเป็นกรอบประชาธิปไตย การรักชาติไม่ต้องรบก็ได้ นอกจากนี้ยังโยงมาถึงความยิ่งใหญ่ของนักร้องและเครื่องดื่มคาราบาว ตอกย้ำซ้ำเติมเข้าไป

อีกกรณีหนึ่ง รศ.ดร.อุบลรัตน์ได้นำเพลงที่จะใช้ในการประชุมอาเซียนมาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟัง และอธิบายเพิ่มเติมว่า หากฟังแล้วจะรู้สึกเหมือนอาเซียนเป็นชาติใหม่ คือเรียกร้องสิบชาติให้เป็นหนึ่ง แต่ไทยบนผลประโยชน์แบบชาตินิยมเดิมจะรับมืออย่างไรกับชาติที่มาใหม่ ทั้งความเท่าเทียม หนึ่งชาติหนึ่งเสียง หรือความรักใคร่อาทร และจะสามารถถอดรื้อประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเดิมๆได้หรือไม่


โดย : ประชาไท


เพิ่มเติม
(ความคิดเห็นที่ 12)

ย่อหน้าที่ 7 ตรงที่รายงานว่า"อาจารย์ เครก เรย์โนล (นักวิชาการสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)"อันนี้คลาดเคลื่อนนะครับ Craig J Reynolds เป็น(ดูเหมือนน่าจะเกษียณแล้ว)อาจารย์ที่ Australian National University ก่อนหน้านั้นคือที่ Sydney University (ยกเว้นเสียแต่ว่า Craig จะได้รับเชิญมาวลัยลักษณ์ แล้วผม"ตกข่าว" แต่ไม่น่าจะใช่นะ)คนที่คุณนึกถึงน่าจะหมายถึง Dr.Patrick Jory (วลัยลักษณ์)คนหลัง (Dr Patrick) เป็นลูกศิษย์ คนแรก ครับ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ‘นิธิ’ หนุนชาตินิยม แต่ต้องนิยามใหม่

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ