วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท : The trouble with the king


The Economist.

The trouble with the king
Apr 16th 2009



แปลโดย : ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ (ประชาไท)

หมายเหตุ
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ




ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท


ไม่มีใครกล้าพูดออกมาดังๆ แต่ในวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้ สถาบันกษัตริย์ไทยที่ไม่ปรากฏบทบาทให้เห็น คือหัวใจของปัญหาทั้งหมด


ในรายงานข่าวของ The Economist เกี่ยวกับการปฏิวัติของคณะราษฎร์เมื่อ พ.ศ. 2475 มีนัยยะบ่งบอกถึงเส้นทางการปกครองของไทยที่ให้ความหวังอยู่มากทีเดียว ในสมัยนั้น กลุ่มประเทศในละตินอเมริกา มีแต่รัฐบาลทหารผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าขึ้นมา ในขณะที่นักลัทธิฟาสซิสต์ขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่นไปสู่การปกครองระบอบทรราชย์ ผู้สื่อข่าวของเรา (โปรดดูบทความชิ้นนี้ได้ที่นี่ http://www.economist.com/world/asia/PrinterFriendly.cfm?story_id=13479303) เขียนไว้ว่า:


“นักปฏิวัติชาวสยามกลับขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ จากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่การปกครองตัวเอง [ของประชาชน]” ในการยึดอำนาจโดยไม่เสียเลือดเนื้อครั้งนี้ กลุ่มนายทหารที่มีแนวคิดแบบตะวันตก จับตัวมกุฎราชกุมารและอธิบดีกรมตำรวจไว้ รัชกาลที่ 7 ทรงไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากต้องยอมรับโดยดุษฎี นับแต่นั้นมา อำนาจถูกถ่ายโอนจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญที่มีรัฐสภา ยุคศักดินาจึงสิ้นสุดลง


หากนักข่าวคนนั้นนึกว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะทำให้เกิดภาพอะไรสักอย่างเหมือนราชวงศ์ดัทช์ขี่จักรยานออกไปช็อปปิ้งล่ะก็ ภาพแบบนั้นในประเทศไทยคงถูกปล้นกลางอากาศไประหว่างทางก่อนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมีพระชนมายุ 81 พรรษา และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก ทรงมีพระบารมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองมาโดยตลอด

ความจริงข้อนี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์ประหลาดพิสดารประการหนึ่งในบรรดาเรื่องพิสดารมากมายในวิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดของประเทศนี้ ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่อาจเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ ขณะกองทัพกำลังประจันหน้ากับผู้ประท้วง “เสื้อแดง” ที่ต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลุดจากตำแหน่งเพราะการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ สุ้มเสียงสั่นเครือและวิงวอนขอพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง” ทรงออกมาระงับการเผชิญหน้าขั้นแตกหักครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์อันโด่งดังเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกมาตำหนิผู้บัญชาการกองทัพและผู้นำการประท้วงผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หลังจากเหตุพฤษภาเลือดในกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2535

ทั้งๆ ที่ทักษิณ ผู้อยู่ระหว่างการลี้ภัยและถูกตัดสินลับหลังในคดีคอร์รัปชั่น ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นผู้มีจิตใจฝักใฝ่ในระบอบสาธารณรัฐอยู่ลับๆ อันที่จริง เขาก็มีพฤติกรรมเฉียดๆ การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่เหมือนกัน ตรงที่ไปเรียกร้องให้องคมนตรีสองท่านลาออก ซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 เมื่อผู้ประท้วง “เสื้อเหลือง” ยึดทำเนียบของรัฐบาลที่จงรักภักดีต่อทักษิณเมื่อปลายปีที่แล้ว พวกเขาก็อ้างว่าทำเพื่อสถาบันกษัตริย์ มาตอนนี้ กระทั่งทักษิณเองยังรู้สึกว่า ต้องประกาศความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และถวายบังคมต่อพระราชอำนาจของพระองค์

บารมีอันใหญ่หลวงของสถาบันกษัตริย์หาได้มีอยู่ก่อนแล้วไม่ ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ขณะยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งยังทรงเป็นพระโอรสของสามัญชนลูกครึ่งจีนและประสูติในสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ของพระองค์ได้รับการหล่อหลอมจากที่ปรึกษาในพระราชวังและรัฐบาลทหารชุดแล้วชุดเล่า คนเหล่านี้เห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งที่พึงมีประมุขของประเทศ ซึ่งไม่เพียงอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เท่านั้น แต่ยังเปรียบประดุจสมมติเทพด้วย เพราะการได้รับพระราชานุมัติจากพระมหากษัตริย์ ย่อมช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลหน้าตาอัปลักษณ์ที่ดูคล้ายรัฐบาลทหารในละตินอเมริกาสมัยก่อน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น รัฐบาลประเภทนี้มักได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพวกพ้องทางธุรกิจและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ความจำเป็นนี้อธิบายว่า เหตุใดพระมหากษัตริย์ที่ประชาราษฎรเคารพบูชาอย่างสุดซึ้ง จึงยังต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในโลก พระมหากษัตริย์มิได้เป็นเพียงประมุขแต่ในนามสำหรับชนชั้นนำในเมืองไทยเท่านั้น แต่ทรงเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์และอำนาจในพระองค์เองอีกด้วย ผลที่ตามมาในขณะนี้จึงเป็นความสั่นคลอน เนื่องจากพระชนมายุที่มากขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานเกียรติยศและรับถวายเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยมาเป็นเวลานานแล้ว พระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนในชนบทอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ แต่ระบบอุปถัมภ์นี้ก็ช่วยค้ำจุนอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ต่อไปเช่นกัน

นวัตกรรมของทักษิณคือการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก มาสร้างการเมืองใหม่ที่เปลี่ยนแปลงระบบเดิมๆ ของการซื้อเสียงแบบขายปลีกและแยกเป็นท้องถิ่นมาเป็นเครื่องจักรแบบขายส่งที่ขยายระบบอุปถัมภ์ไปทั้งประเทศ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เงินกู้รายย่อย ฯลฯ ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของเครื่องจักรนี้ ด้วยเหตุนี้เอง ทักษิณจึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ ของประเทศไทยที่สามารถดำรงตำแหน่งจนครบวาระ แต่พวกชนชั้นนำรุ่นเก่ากลับรู้สึกถูกคุกคาม เมื่อความเป็นผู้นำแบบเบ็ดเสร็จและความนิยมในตัวทักษิณดูเหมือนเริ่มท้าทายพระบารมีของพระมหากษัตริย์

วัฒนธรรมไทยคือส่วนประกอบที่ผสมผสานศาสนาพุทธ ความเชื่อแบบไสยศาสตร์และลัทธิบริโภคนิยมแบบฟุ้งเฟ้อเข้าด้วยกัน อำนาจและอิทธิพลมีลักษณะยืดหยุ่นหลายรูปแบบ แต่ดังที่ Andrew Walker และ Nicholas Farrelly แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำของไทยมีทักษะทางความคิดที่ค่อนข้างอ่อนด้อย และมักคำนวณเรื่องอำนาจในแบบเกมที่ต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะและผู้ชนะกินรวบ (zero-sum game) รัฐบาลทหารที่โค่นล้มทักษิณอ้างว่า นโยบายของทักษิณขัดต่อแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีรากเหง้ามาจากแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับชีวิตชนบทอันกลมเกลียว ลำดับชั้นในสังคม และการรู้จักฐานะของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลทหารก็จัดการใส่แนวพระราชดำรินี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากรัฐบาลทหารบริหารประเทศมั่วๆ อยู่ได้ไม่นาน ก็เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง แต่คำวินิจฉัยแบบมักง่ายของศาลก็ช่วยล้มรัฐบาลโปรทักษิณได้สองชุดติดต่อกัน

โอกาสของอภิสิทธิ์

ตอนนี้ทรัพย์สินมหาศาลของทักษิณถูกอายัดไว้ คนไทยจำนวนมากมองว่า การที่เขาออกมาเรียกหาการปฏิวัติในช่วงที่วิกฤตการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ถือเป็นการไร้ความรับผิดชอบที่เข้าขั้นอาชญากรรม ทักษิณจึงตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ แต่สถาบันกษัตริย์ยิ่งมีปัญหารุมเร้าลึกล้ำกว่า.................................................ภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์ที่สู้อุตส่าห์ทะนุถนอมกันมาอาจพังครืนในชั่วข้ามคืน

การปกป้องสถาบันกษัตริย์คือภารกิจส่วนหนึ่งของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เขาขึ้นครองตำแหน่งโดยไม่ได้มีเสียงข้างมาก ทั้งนี้ด้วยการผลักดันของฝ่ายเสื้อเหลือง อภิสิทธิ์บอกว่าเขาเป็นนักปฏิรูปที่จะเยียวยาความแตกแยก เขาจัดการความปั่นป่วนของฝ่ายเสื้อแดงด้วยความบันยะบันยังแต่มั่นคง ..........................

ถ้าเป็นสมัย พ.ศ.2475 นักข่าวของเราคงจัดให้อภิสิทธิ์อยู่ในกลุ่ม “ปัญญาชนเอเชียที่มีความคิดแบบตะวันตก” ในรัฐบาลหลังรัฐประหาร ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้านักข่าวคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาคงทึ่งไม่น้อยที่ได้เห็นเรื่องพลิกกลับตาลปัตรกับการที่ชาวกรุงทันสมัยสากลอย่างอภิสิทธิ์กลายเป็นแนวหน้าให้ระบอบที่ได้เนื้อแท้ของอำนาจมาจากสถาบันกษัตริย์ยุคศักดินา นายอภิสิทธิ์ไม่มีทั้งบารมีและความชอบธรรม เพื่อให้ได้ทั้งสองอย่างนี้มา เขาจะต้องเผชิญหน้ากับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นหนี้บุญคุณฝ่ายนิยมเจ้าที่ดันเขาขึ้นสู่อำนาจ เขาคงไม่กล้าถกเถียงเรื่องอนาคตของสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าเขามีความกล้าพอที่จะทำเช่นนั้น ประเทศไทยและแม้กระทั่งราชวงศ์เองอาจรู้สึกขอบใจเขาในระยะยาว สำหรับบทบาทในปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์มิได้ยืนอยู่ระหว่างประเทศไทยกับความปรองดองทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังยืนอยู่ระหว่างประเทศไทยกับยุคสมัยใหม่ด้วย

Banyan

ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : The Economist: ปัญหาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

3 ความคิดเห็น:

herolategame กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลชิ้นนี้ อันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการมองไปสู่อนาคตของเมืองไทย ไทยเราสงบมานาน ตอนนี้คงจะเริ่มเห็นความวุ่นวายข้างหน้าลาง ๆ แล้ว

ไทยเราแม้รักสงบ แต่ก็สงบได้ไม่ค่อยนานซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตั้งแต่อดีต ซึ่งอาจจะเป็นเคราะห์กรรมเก่าก่อนก็เป็นได้ กว่าที่จะได้มาแต่ละรัชสมัย ของทุกยุคล้วนมีการกระทำล้างโคตรคู่อริ

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Unknown กล่าวว่า...

รัชกาลที่7 ไม่มีมกุฎราชกุมารครับ
ทีาถูกจับเป็นองค์ประกันคือ พระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้า
บริพัตรสุขุมพัน กรมพระนครสวรรค์วรพินิตครับ