วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

หรือว่าเราไม่เคยเป็นสังคมทันสมัย?


การใช้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อปิดวิทยุชุมชน ฟ้องร้องเว็บไซต์ประชาไท รวมถึงดำเนินคดีกับคนที่แสดงความเห็นตามเว็บไซต์ต่างๆ ในขณะนี้ เป็นดัชนีชี้วัดปฏิกิริยาของระบบอำมาตยาธิปไตยที่มีต่อการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี การที่ชนชั้นนำไม่สามารถทนดู ทนฟัง และอ่อนไหวต่อความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนอย่างมาก จนต้องหันไปใช้กลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้กับสังคม โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะสามารถหยุดยั้งคนไม่ให้คิดและทำในสิ่งที่แตกต่าง

ท่าทีของชนชั้นนำที่ตอบสนองต่อการตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองในขณะนี้ ไม่อาจเข้าใจเป็นอื่น นอกจากชนชั้นนำไทยยังเข้าใจว่า อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน และการใช้อำนาจในทางลบที่เน้นการกดปราบทำลายล้าง อยู่เหนือการใช้อำนาจในทางบวกที่เน้นการสร้างสรรค์และร่วมมือ ท่าทีต่อการใช้อำนาจที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ ใช่หรือไม่ที่ทำให้ชนชั้นนำไทยเชื่อว่าตนเองสามารถตรึงสังคมไทยให้เป็น “สังคมก่อนสมัยใหม่” ตลอดไป ไม่เปลี่ยนเป็น “สังคมทันสมัย” อย่างที่หลายคนเชื่อว่าสังคมไทยกำลังเป็น?


สังคมสมัยใหม่ กับการใช้อำนาจของรัฐ

สังคมสมัยใหม่ หรือสังคมที่ถูกมองว่าเป็น “อารยะ” โดยทั่วไป ให้ความสำคัญกับความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์ ตรงที่มนุษย์มีจิตสำนึกและมีอุดมการณ์ ทำให้มนุษย์สามารถคิดจำแนกแยกแยะ สั่งสมประสบการณ์ ที่นำไปสู่การประเมินและตัดสินคุณค่าสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เมื่อสังคมสมัยใหม่ให้คุณค่าอย่างสูงกับความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ รัฐจึงรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่รัฐไม่อาจล่วงละเมิดได้ นัยของกฎหมายดังกล่าว คือความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าผู้ดีหรือคนยากจนต่างก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงมีความสามารถในการใช้เหตุผลเหมือนกัน ความเชื่อของสังคมทันสมัย นับว่าแตกต่างจากความเชื่อในสังคมจารีตประเพณีอย่างมากมาย สังคมจารีตประเพณีในหลายแห่งอ้างความเชื่อ เช่น ความเชื่อทางศาสนา เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติต่อมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อในพุทธศาสนาที่ว่า คนทำบุญมากกว่า ย่อมมีชาติกำเนิดสูงกว่า มีบารมีเหนือกว่าที่จะปกครองมนุษย์คนอื่น

การที่รัฐสมัยใหม่รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองตามกฎหมาย ไม่ได้นำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม เพราะการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะมีความคิดเห็นที่สนับสนุน หรือแตกต่างจากรัฐบาล สังคมสมัยใหม่ถูกมองว่าเป็น “สังคมที่ก้าวหน้า” เพราะระดับการใช้เหตุผลได้แทรกซึมเข้าไปสู่ปริมณฑลต่างๆ อย่างทั่วถึง เช่น การเติบโตของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ การพัฒนาวิธีตัดสินใจอย่างมีเหตุผล หรือแม้แต่การแยกแยะระหว่างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงกับการตัดสินคุณค่า การพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมทันสมัย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ โดยมีปัญญาชนเป็นกลุ่มหัวหอกในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมในด้านอื่นๆ เช่น การอพยพเคลื่อนย้ายตัวมากขึ้นของกลุ่มประชากร ทุน ความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรม ฯลฯ

ในสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่าทีของรัฐต่อการใช้อำนาจต่างจากการใช้อำนาจของรัฐในสังคมจารีตประเพณีอย่างมาก ในขณะที่รัฐก่อนสมัยใหม่เน้นอำนาจของผู้ปกครอง และการออกคำสั่งและควบคุมประชากร (command and control) โดยใช้อาวุธ กฎหมายและการลงโทษ เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของผู้ปกครอง รัฐสมัยใหม่กลับเน้นอำนาจที่อยู่ในมือประชาชน และการใช้อำนาจผ่าน “ศิลปะแห่งการปกครอง” (the art of government) เน้นการสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับความรู้ กระตุ้นให้มีการต่อสู้ทางความคิด เน้นการส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลสร้างวินัยเพื่อควบคุมตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกของปัจเจกบุคคล ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถของสังคมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นนอกจากสังคมสมัยใหม่จะไม่ยอมรับการรัฐประหาร การใช้อาวุธบังคับให้คนเชื่อและยอมตามแล้ว สังคมสมัยใหม่ยังท้าทายความเชื่อว่า ผู้ปกครองอยู่เหนือประชาชน และผู้ปกครองมีคำตอบสำหรับประชาชนด้วย


สังคมไทย กับการใช้อำนาจของรัฐ

แม้การก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธ์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา จะก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ทว่าในวันที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน การยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ควบคู่กับส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นภายในชาติอย่างเร่งด่วน ณ วันนั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างแสดงความดีใจที่ได้นายอภิสิทธิ์เป็นนายก ประธานองคมนตรี ถึงกับกล่าวสนับสนุนแนวนโยบายของรัฐบาล ให้ยึดหลักการ 5 ข้อ คือ “อดทน อดกลั้น เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น” (1) ท่าทีในวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ทำให้หลายคนพากันแสดงความโล่งอกว่า รัฐบาลจะนำความสงบกลับคืนมา


ทว่าเพียงไม่นานวันหลังการขึ้นสู่อำนาจ เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม กระแสความไม่พอใจรัฐบาลอภิสิทธิ์เติบโตขยายผลมากขึ้นทุกวัน ทั้งจากพรรคการเมืองเดิม หรือกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองเดิม อย่างกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแม้แต่คนที่เคยร่วมสนับสนุนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถึงกับออกมากล่าวทวงบุญคุณรัฐบาล ในฐานะผู้สนับสนุนให้ก้าวสู่อำนาจ

ในท่ามกลางแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เร่งสร้างสังคมประชาธิปไตย นำหลักนิติรัฐ และความยุติธรรมกลับคืนมาสู่สังคม นอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เช่น การอนุมัติงบประมาณให้รัฐมนตรีที่มีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายให้แก่ประเทศ เป็นผู้สร้างภาพลักษณ์ประเทศในสายตาชาวโลก การอนุมัติงบประมาณเพื่อให้กองทัพเข้ามามีบทบาทกดปราบกระแสต้านรัฐบาล การเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกับคนทุกกลุ่ม การออกกฎหมายลดโทษให้แก่ความผิดที่เกิดจากการยึดสนามบิน การยื้อเวลาไม่ดำเนินคดีกับพันธมิตรที่ยึดทำเนียบและสนามบินสองแห่ง แต่กลับแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสนามบินเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีและที่ปรึกษาจำนวนมาก รวมถึงการผลักดันกฎหมายหมิ่นฯ ฉบับใหม่ที่เพิ่มโทษสูงขึ้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวางกับกลุ่มคนหลายวงการ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่ปิดกั้นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของประชาชน

ก่อนหน้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ กฎหมายหมิ่นฯ ก่อให้เกิดการความขัดแย้งในสังคมมากอยู่แล้ว เพราะบทลงโทษที่สูง และความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้องร้อง ผูกขาดอำนาจในตีความและบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ในมือกลไกรัฐ ซึ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการใช้กฎหมายเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง เพราะเหตุนี้ จึงทำให้มีทั้งผู้ที่สนับสนุน และผู้ที่ต่อต้านกฎหมายดังกล่าว การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวร้ายลงอย่างไม่อาจเลี่ยง

แม้ว่าไม่นานมานี้ นายอภิสิทธิ์แสดงความรู้สึกไม่สบายใจกับการจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท และการปิดเว็บไซต์ต่างๆ พร้อมปฏิเสธว่า การคุกคามสื่อไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย (2) แต่ในทางปฏิบัติ เราแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของรัฐบาลต่อกรณีต่างๆ ที่ถูกข้อครหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือท่าทีซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน นำหลักนิติรัฐและความยุติธรรมคืนสู่สังคม



ความย้อนแย้งภายในสังคมไทย
ถึงปิดหูปิดปากปิดตา ก็ยังเห็น


การพัฒนาไปสู่สังคมทันสมัยในหลายภูมิภาคของโลก ได้ลดทอนอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม รวมถึงมรดกของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยปฏิบัติกันมาในสังคมจารีตประเพณี แต่มิใช่ว่าจะสามารถทำลายอิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิม หรือสถาปนาความสัมพันธ์แบบใหม่เข้าแทนที่ความสัมพันธ์ในสังคม “ก่อนสมัยใหม่” ทั้งหมด ดังนั้นลักษณะ “พันทาง” ของความทันสมัย จึงปรากฏให้เห็นในสังคมสมัยใหม่หลายแห่ง ความทันสมัยแบบพันทางไม่ใช่แบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่ใช่ความผิด ที่จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปิดกั้นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นรัฐสมัยใหม่และผู้นำที่ชาญฉลาดจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปรียบเทียบตนเองกับประเทศอื่นๆ และปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยไม่ต้องรอให้มีความขัดแย้งที่บานปลาย หรือมีความสูญเสียที่มากเกินเยียวยา

สำหรับสังคมไทยซึ่งพัฒนาไปสู่ความทันสมัยมากว่า 60 ปี แม้ว่ามือหนึ่งเราจะชูธงความเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อีกมือหนึ่งจะชูธงประชาธิปไตยทางการเมือง แต่เรากลับยึดกุมอุดมการณ์อำนาจนิยม และวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้วไว้ไม่ปล่อยมือ เราจึงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ประหลาดพิลึก เช่น ในนามของการเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ทำไมเรายอมให้มีความเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจในบางด้าน เฉพาะคนบางกลุ่ม? น่าสงสัยว่าใครกันที่เก็บเกี่ยวดอกผลของความมั่งคั่งจากการดำเนินนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (เพียงบางด้าน) นั้น? และใครคือผู้จ่ายต้นทุนของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยนั้น?


ในนามของการปกครองด้วยประชาธิปไตย ใครกันแน่ที่กุมอำนาจทางการเมือง? ทำไมระบอบประชาธิปไตยจึงไม่เติบโต? เหตุใดเราจึงยอมให้หลักการพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยจึงถูกปัดทิ้งอย่างไร้ค่า?

ในทางวัฒนธรรม ทำไมเรายอมให้ใครก็ตามที่อ้างความรักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ กลายเป็นคนที่ผูกขาดความถูกต้อง และมีอำนาจชอบธรรมเหนือกฎหมาย ที่จะตัดสินคนอื่นๆ ได้อย่างไม่มีโอกาสโต้แย้ง
?

หรือว่าแท้จริงแล้ว การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ยังไม่เปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นทันสมัยที่แท้จริง เราจึงมีชนชั้นนำที่กุมอำนาจเหนือรัฐบาล และเชื่อว่าตนเองสามารถบังคับโลกไม่ให้กลม บังคับโลกไม่ให้หมุน ด้วยการใช้อำนาจรัฐ ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องแคร์สายต่อชาวโลกว่าจะมองอย่างไร เราจึงได้รับการอนุญาตให้มีได้แค่รัฐบาลที่ถนัดแต่การใช้อำนาจออกคำสั่งบังคับประชาชน แต่กลับไม่เคยเรียนรู้ศิลปะแห่งการปกครองแม้แต่เรื่องเดียว



ศรัทธา สารัตถะ

16 มี.ค. 2552



อ้างอิง

(1) “เปรม” ดีใจ ประเทศไทยได้นายกฯชื่อ “อภิสิทธิ์” มั่นใจแก้ปัญหาชาติได้, ประชาไท วันที่ 29/12/2551, http://www.prachathai.com/05web/th/home/15036

(2) อภิสิทธิ์เปรย จับผู้ดูแลเว็บประชาไท - ไล่ปิดเว็บไซต์ ไม่เกิดประโยชน์ ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย, ประชาไท วันที่ 12/3/2552, http://www.prachatai.com/05web/th/home/15872


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : หรือว่าเราไม่เคยเป็นสังคมทันสมัย?


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: