วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ : รัสเซียปี 1905


การต่อสู้ของประชาชนเพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าในยุคใดสมัยใดและถิ่นฐานใด ล้วนแต่ยืดเยื้อยาวนาน ยากลำบาก และนองเลือดทั้งสิ้น การเคลื่อนไหวคืบหน้าไปแล้วก็ถดถอย แล้วก็คืบหน้าอีก สู้แล้วแพ้ ก็กลับมาสู้ใหม่ เป็นกระแสขึ้นและลง จากเล็กสู่ใหญ่ จากน้อยสู่มาก จากกระจัดกระจายและเป็นไปเอง สู่การรวมตัวจัดตั้งและมีแผนงาน จากเป้าหมายเล็กและจำกัด ไปสู่เป้าหมายใหญ่และชัดเจน การชะงักหรือถดถอยอาจเป็นเพียงชั่วครู่ไม่กี่เดือนกี่ปี ไปจนถึงยาวนานหลายสิบปี แต่แล้วการต่อสู้ของประชาชนก็บรรลุชัยชนะและได้มาซึ่งประชาธิปไตยในที่สุด

ในระหว่างนั้น เแม้ประชาชนจะถูกสกัดกั้น ถูกกดขี่ ถูกใช้กำลังรุนแรงปราบปราม บาดเจ็บล้มตาย กระทั่งนองเลือดอย่างสาหัส บางครั้งเกิดการถดถอยนานหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของประชาชนก็ฟื้นกลับมาเป็นกระแสใหญ่ได้อีกทุกครั้งจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย การต่อสู้ของประชาชนในสังคมและยุคสมัยที่ต่างกันอาจมีสาเหตุเฉพาะหน้าที่ต่างกัน แต่เหตุผลสำคัญที่สุดมีเพียงประการเดียวคือ ‘ประชาชนต้องการเสรีภาพ’


จักรวรรดิรัสเซีย ณ ต้นปี 1905 ถูกปกครองโดยระบอบอัตตาธิปไตยของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์ทรงปกครองรัสเซียด้วยนโยบายกำปั้นเหล็ก ปราบปรามจับกุม เนรเทศ และประหารผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์อย่างเด็ดขาด ปฏิเสธการปฏิรูปเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชนรัสเซียและชนชาติส่วนน้อย อีกทั้งปล่อยให้การบริหารบ้านเมืองถูกแทรกแซงโดยพระราชินีซาร์อเล็กซานดราผู้ซึ่งมุ่งมั่นที่จะให้เจ้าชายน้อยราชโอรสได้สืบราชบัลลังก์ให้จงได้ พระราชวงศ์ล้อมรอบไปด้วยพวกผู้ดีขุนนาง กองทัพ และเจ้าที่ดินที่ร่ำรวย ที่ไม่เสียภาษี ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของรัสเซียเป็นชาวนาไร้ที่ดินและยากจน พวกเขาจงรักภักดีและยึดมั่นในพระเจ้าซาร์ในฐานที่เป็น ‘พระบิดาของประชาชน’

ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นปี 1904 รัสเซียประสบความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอาย สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป อีกทั้งนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจ อาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ มีราคาขึ้นสูงและขาดแคลน ดังนั้น ในวันที่ 22 มกราคม 1905 ประชาชนจำนวน 150,000 คนนำโดยนักบวชชื่อ กาปอง ได้พากันเดินขบวนในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ไปยังลานหน้าพระราชวังฤดูหนาวเพื่อถวายฎีกาต่อพระเจ้าซาร์ ขอให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย ให้มีรัฐสภา การเลือกตั้ง และเสรีภาพ ตลอดจนให้ลดภาษี ปฏิรูปการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม แต่พระเจ้าซาร์กลับทรงสั่งให้ทหารราชองค์รักษ์ยิงปืนใส่ประชาชน ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่าร้อยคนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพระเจ้าซาร์ในฐานที่เป็น ‘พระบิดาของประชาชน’ จึงได้สิ้นสุดลงนับแต่นั้น

เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงไปทั่วประเทศ คนงานเดินขบวนนัดหยุดงาน และชาวนาลุกขึ้นแย่งยึดที่ดินของเจ้าที่ดิน กระทั่งพระเจ้าซาร์ยอมอ่อนข้อให้ในเดือนสิงหาคม 1905 สัญญาที่จะให้มีสภาดูม่าที่เลือกตั้งโดยคนรวย แต่ประชาชนทั่วประเทศก็ยังคงประท้วงต่อไป ในที่สุด รัฐมนตรีวิตเตอจึงโน้มน้าวให้พระเจ้าซาร์ทรงยอมลงพระนามใน ‘แถลงการณ์เดือนตุลาคม’ สัญญาที่จะให้มีรัฐธรรมนูญ เสรีภาพ การเลือกตั้ง และรัฐสภา ผลก็คือ พวกนักการเมืองฝ่ายขวายุติการเคลื่อนไหว หันมาสนับสนุนพระเจ้าซาร์ แต่ประชาชนคนงานและชาวนายังคงประท้วงต่อไป มีการจัดตั้งสภาคนงานขึ้นในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโกที่ปฏิเสธอำนาจการปกครองของพระเจ้าซาร์ เกิดการลุกขึ้นสู้ในเมืองเซวาสโตโปลในเดือนพฤศจิกายน และมีการนัดหยุดงานทั่วไปในกรุงมอสโกในวันที่ 5-7 ธันวาคม รัฐบาลส่งกองทัพและปืนใหญ่เข้าปราบปรามประชาชนในกรุงมอสโกอย่างนองเลือดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ สังหารผู้คนไปกว่าหนึ่งพันคน จนประชาชนต้องยอมจำนน ในขณะที่กลุ่มผู้นำสภาคนงานในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก รวมทั้งกลุ่มผู้นำสหภาพชาวนาทั่วประเทศนับพันคนล้วนถูกจับกุมคุมขังทั้งหมด

ระบอบพระเจ้าซาร์หลังปี 1905 กลายเป็นระบอบกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ พระเจ้าซาร์ยังคงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในฝ่ายบริหาร นโยบายต่างประเทศ ศาสนา กองทัพ มีระบบการเลือกตั้งทางอ้อมถึงสี่ชั้น โดยที่คนรวยและเจ้าที่ดินมีน้ำหนักคะแนนเสียงมากกว่าคนงานและชาวนา สภาดูม่าที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ประกอบด้วยตัวแทนขุนนางเจ้าที่ดินร้อยละ 60 และตัวแทนประชาชนอื่น ๆ อีกร้อยละ 40 สภาดูม่ายังถูกควบคุมจากสภาสูงที่เลือกตั้งครึ่งหนึ่งและแต่งตั้งอีกครึ่งหนึ่ง กฎหมายต้องผ่านสภาดูม่า สภาสูง และพระปรมาภิไธยของพระเจ้าซาร์ ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจที่จะยุบสภาเมื่อใดก็ได้อีกด้วย

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนรัสเซียปี 1905 มีลักษณะกระจัดกระจาย เป็นไปเอง ขาดการจัดตั้งและการวางแผนประสานงาน ไม่มีพรรคการเมืองของตนที่เข้มแข็ง ไม่มีเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียว แต่การต่อสู้ของประชาชนรัสเซียก็ยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งเกิดเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยในเดือนมีนาคม ปี 1917


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : เรียนรู้ประวัติศาสตร์ - รัสเซียปี 1905

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุรนะครับที่ยกมาให้เป้นตัวอย่าง แต่พิจารณาอย่างไรก็ไม่เห้นว่าจะเป็นตัวอย่างของอะไร เพราะว่าเนื้อในนั้น ต่างกันมาก ถ้าคนพิจารณาไม่โง่เขลาซะก่อน