วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

ผลัดแผ่นดิน



ถ้าผลัดแผ่นดิน ใครจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป

ครั้งหนึ่งเมื่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนนามโดดเด่น เดินทางมาปาฐกถาและสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และเป็นธรรมเนียม ที่ ส. ศิวรักษ์ มักจะใช้เวลาที่เหลือก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ท่านมักจะไปเยี่ยมเยียนบรรดาลูกศิษย์ – ลูกหาหลายคนในเมืองนางฟ้า ลอส แองเจลิส พร้อมกันนั้น ท่านก็จะนัดเพื่อน ๆ ชาวไทยไปสนทนาปัญหาบ้านเมือง ในประเด็นต่าง ๆ อย่างออกรสออกชาติ

ครั้งนั้นหลังอภิปรายและปาฐกถาจบลง ได้มีชาวไทยและสื่อไทยในเมืองแคลิฟอร์เนีย ถามว่า ถ้ามีการผลัดแผ่นดิน ใครจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป

ส. ศิวรักษ์ ตอบคำถามนี้ได้อย่างทันควันว่า ก็จะต้องเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร อย่างแน่นอน ท่านอธิบายต่อไปว่า นี่คือการสืบสันตติวงศ์อย่างถูกต้องเป็นไปอย่างที่ได้วางกฎเกณฑ์ไว้โดยทุกประการ

คำถามลำดับถัดมาของคนไทยในแอลเอ ว่า แล้วสมเด็จพระเทพฯ
ซึ่งเป็นพระสยามบรมราชกุมารี เล่าจะดำเนินไปอย่างไร

ส. ศิวรักษ์ ตอบว่า ลำดับการสืบสันตติวงศ์ดังที่ทราบนั้น เป็นการถูกต้องชัดเจนแล้วเช่นกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่จะรับได้หรือไม่ในการมีพระมหากษัตริย์เป็นควีนส์

การตั้งคำถามและคำตอบที่ได้รับจากปากของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถือเป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็น ความตรงไปตรงมาในการสืบสันตติวงศ์ โดยไม่มีการเมืองเรื่องอื่น ๆ ใดมาแทรกแซง สิ่งที่ได้วางไว้อย่างสมบูรณ์ย่อมต้องดำเนินไป ถ้าไม่มีเหตพลิกผันอื่น ๆ มาแทรก

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยืนยันทั้งงานเขียนและการปาฐกถาทุกครั้งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องธำรงคงไว้ในประเทศของเรา เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างมหาศาลกับจิตสำนึกของคนในชาติ และเอื้อประโยชน์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขและทรงอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามที่ประชาชนเข้าใจกัน

สิ่งสะท้อนความเป็นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็คือ เป็นผู้เชื่อใน สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นัยยะของความเชื่อนั้น เขาต้องการให้สถาบันนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ บนพื้นฐานของข้อมูล – ข้อเท็จจริงและเป็นสัจจธรรม รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์ก็สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งจะต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แลติติงอย่างยุติธรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้สถาบันและองค์พระประมุขธำรงอยู่ได้อย่างโปร่งใส ฯลฯ แต่นัยยะนี้สะท้อนอยู่ที่ตัวของสุลักษณ์แต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นเพียงกลุ่มน้อย เพราะทุกครั้งที่สุลักษณ์วิพากษ์สถาบันและองค์พระประมุข เขากลับได้รับผลกระทบถึงคุกตะรางอยู่หลายครั้ง และเป็นความในโรงในศาลหลายต่อหลายคดี

แต่ข้อสำคัญก็คือในทุกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น สุลักษณ์พ้นพงหนามจากการตั้งข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานมาโดยตลอด มิใยที่หลายฝ่ายต้องเกิดอาการขัดใจ และแทบทนไม่ได้กับผลการตัดสินให้เขาพ้นโทษพ้นผิด

ในมายาคติหลายบริบทดังกล่าวจึงหนีไม่พ้นกับคำพูดในระดับชาวบ้านให้ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า สุลักษณ์ ด่าในหลวง สุลักษณ์ หมิ่นในหลวง ฯลฯ โดยที่เนื้อแท้ของการเขียน การพูด และอภิปรายของเขาห่างไกลจากคำเหล่านี้อย่างล้นพ้น แต่ตรงกันข้ามความสำนึกนำในสถาบันพระมหากษัตริย์ของสุลักษณ์ กลับมีสูงกว่าใครในบ้านเมืองหลายคน โดยเฉพาะผู้อยู่ในเครื่องแบบและผู้มีอำนาจในแผ่นดิน โดยที่คนสอพลอเหล่านี้แยกไม่ออกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับ พระมหากษัตริย์

แยกไม่ออกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ตราไว้นั้น
ใช้ได้กับใคร และพระราชวงศ์พระองค์ไหนบ้างที่ไม่ได้อยู่ในข่ายนั้น

จนแม้แยกไม่ออกระหว่างคำว่าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ กับการวิพากษ์เชิงลบ เป็นต้น

ต่อคำถามว่าผลัดแผ่นดินนั้น ยังไม่ถึงเวลาย่อมไม่ควรพูดกันในยามนี้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงควรพูดกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะในวันหนึ่งเหตุการณ์นี้ย่อมเดินทางมาถึงจนได้

ใครที่ยังคลางแคลงใจว่า ถ้าผลัดแผ่นดินพระรัชทายาทพระองค์ใด จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ขอความกรุณาอ่านกฎมนเทียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ที่รัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2467 เพื่อป้องกันการแย่งชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่กำหนดเป็นกฎมนเทียรบาล คือ กำหนดคุณสมบัติไว้ให้ชัดเจน บรรดาเจ้านายและขุนน้ำขุนนางบางองค์ อาจจะคิดว่าตนเองก็มีสิทธิในการครองบัลลังก์ก็ได้ หรืออาจจะก่อเหตุซ้องสุมผู้คนและกำลังหักหาญกัน แล้วตั้งตนเองขึ้นมาเป็นใหญ่ก็ได้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีที่มาที่ไปให้เห็นในกรณีนี้อย่างบ่อยครั้ง

กฎมณเทียรบาลที่ว่านี้ยังคงใช้อยู่

ใครที่อยากรู้รายละเอียดแต่ละตัวอักษรให้ไปหาอ่านได้แล้ว
โดยเฉพาะหมวดการสืบสันตติวงศ์


ในหมวดที่ 4 ที่ว่าด้วยลำดับขั้นของการสืบสันตติวงศ์ ในมาตรา 9 ที่ว่า ลำดับชั้น เชื้อพระบรมวงศ์ ซึ่งสมควรจะสืบสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อเมื่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากน้อย เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้

1.สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า

2.ถึงแม้ว่าสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าหาไม่แล้ว ให้เชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าและพระอัครชายาเธอของสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้านั้นขึ้นทรงราชย์ ถ้าพระโอรสองค์ใหญ่หาไม่แล้ว ก็ให้เชิญพระโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไป ตามลำดับพระชนมมายุ

3.ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอของพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหษี


กล่าวตามตัวบทหรือตีความในแง่ของกฎมนเทียรบาล นั่นก็คือ พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปจากรัชกาลที่ 9 ก็คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และลำดับถัดไปก็คือ พระราชโอรสของพระองค์ คือ พระองค์ที พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ย่อมเป็นผู้ต่อบัลลังก์

เช่นกันสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงมีพระโอรสอีก 4 พระองค์ ใน หม่อมสุจาริณี วิวัชรวงศ์ ที่รู้จักกันในนามนักแสดงชื่อ ยุวธิดา ผลประเสริฐ ซึ่งถ้าเป็นไปตามลำดับการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 นั่นก็หมายความว่า บรรดาพระโอรสของพระองค์ล้วนแล้วแต่ต่อบัลลังก์ด้วยกันทั้งสิ้น

ยกเว้นแต่ว่า ได้มีการประกาศตามบัญญัติในหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบสันตติวงศ์หรือไม่ เช่นการถูกยกเลิกให้ออกจากลำดับไม่ว่าจะต้องโทษมหันต์ มีชายาเป็นคนต่างด้าว หรือ

ถูกประกาศถอดถอนออกจากตำแหน่งรัชทายาท หรือแม้ว่าจะเป็นผู้ประกาศตนเองว่าไม่ประสงค์จากการสืบสันตติวงศ์

เช่นกัน ในกรณีของพระโอรสในหม่อมสุจาริณี ก็มิได้มีประกาศถูกถอดถอนจากการสืบสันตติวงศ์แต่ประการใดไม่

ดังนั้นในส่วนของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี แม้โดยตำแหน่งจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ตาม แต่ก็ต้องต่อเป็นลำดับจากสายตรง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 8 เลยทีเดียว

การสืบสันตติวงศ์ในครั้งต่อไปนี้ จึงแตกต่างจากการสืบราชบัลลังก์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า มาเป็นรัชกาลที่ 7 และเมื่อสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ แม้จะไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่โดยสายตรงจากพระองค์ ซึ่งมีพระญาติสนิทใกล้ชิด ร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดา(สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ) อีกหลายพระองค์ ต่างก็เผชิญวิบากกรรม และสิ้นสิทธิแห่งการสืบสันตติวงศ์อย่างน้อยก็สองพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเชษฐาของท่าน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (อดีตเจ้าของสายการบินแอร์สยาม) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งก็พ้นจากการสืบสันตติวงศ์ไปอย่างพิสดารเช่นกัน

ดังนั้นการสืบราชบัลลังก์ต่อจากรัชกาลที่ 7 มาเป็นในหลวงอานันทมหิดล เป็นการโดดข้ามสายตรงย้อนกลับไปยังพระราชทายาทสายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งพระราชโอรสของพระองค์ทั้งสอง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกของสยามประเทศ) และทูลกระหม่อมแดง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งสวรรคตไปก่อนเวลาอันควร

การสืบราชบัลลังก์ครั้งกระนั้น เป็นมติร่วมของสภาผู้แทนราษฎร พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย

สภาผู้แทนราษฎรย่อมกระทำโดยเป็นตัวแทนของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับพระนามาภิธัยต่อท้ายว่า “อเนกชนนิกร สโมสรสมมุติ”

ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และสิ้นสุดการครองบัลลังก์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งจะได้กล่าวถึงการผลัดแผ่นดินฯ ในตอนต่อไป


Siam US Reader


ที่มา : siamusreader.com : การเมือง : ผลัดแผ่นดิน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในหลวงทรงทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศมาจนปัจจุบัน ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอกราบเท้ากล่าวบุญคุณของพ่อ อาจไม่พอที่จะกล่าวในคราวนี้
ขอสรุปสั้นๆดังใจมี พระคุณพ่อนี้ประเสริฐเลิศล้ำจริง ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากบอกว่า เรารักและเป็นห่วงประชาชน ที่ยังขาดการศึกษาที่ดี ขาดความสามารถในการเลี้ยงชีพ แม้แต่จะให้พออยู่ได้ ขาดสวัสดิการสังคม ไม่มีการเลี้ยงดูหลังจากไม่สามารถทำงานได้
เด็ก คน ที่เป็นกำลังและสมองของชาติอีกจำนวนมาก ที่ขายตัว ติดยาเสพติด ขายมันสมองให้กับต่างประเทศ เราได้รักประชาชนด้วยกันแล้วหรือ เรารักและเป็นห่วงคนจน เราไม่เคยห่วงคนรวย คนมีอำนาจ
เราผิดมั้ย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทรงพระเจริญพระเจ้าข้า แม้ใครคิดยำ่ยี ใต้ฝ่าธุลีขอพลีชีพแทน