“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สังคมไทยยึดถือว่า สิ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาสูงสุดจะต้องอยู่เหนืออำนาจ ในการวิพากษ์วิจารณ์ของใครๆ (1) การห้ามการวิพากษ์วิจารณ์คือการห้ามการพูดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นความจริง หากว่ามันส่งผลในทางลบต่อภาพพจน์ของสิ่งเป็นที่เคารพศรัทธา ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธคุณค่าที่ความเป็นจริง จะมีต่อปัญญาและต่อชีวิตของผู้คน”
โสกราตีสรักและบูชาระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ ซึ่งเป็นนครรัฐกรีกแห่งเดียวเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย แต่บางครั้งระบบประชาธิปไตยก็ถูกนักการเมืองทำลาย และยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเผด็จการ ซึ่งชาวเอเธนส์ก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา นอกจากนั้นเอเธนส์ก็ยังต้องทำสงครามต่อสู้กับการรุกรานของสปาร์ตา และศัตรูอื่นภายนอก แต่นอกจากระบอบเผด็จการ และปัญหาอธิปไตยแล้ว อะไรคือศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย? ผู้เขียนหมายความว่า แม้ว่าเราจะสามารถรักษาระบบประชาธิปไตยไว้จากอำนาจเผด็จการและการรุกรานจากภายนอกได้ แต่อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างสิ่งที่เป็นอุดมคติของระบบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือประโยชน์สุขที่สูงที่สุดของประชาชนและความยุติธรรมในสังคม ถ้าเรามองดูสังคมไทยซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอมาก เพราะเต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง และการมีแต่พรรคการเมืองของนายทุนเท่านั้นให้ประชาชนเลือก เราคงตอบว่า ศัตรูของประชาธิปไตยก็คือ ความไร้จิตสำนึกของพลเมืองเอง และการมีตัวแทนที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนก็เพื่อที่จะทุจริตโกงกิน ซ่อนผลประโยชน์อันมิชอบของตนไว้เบื้องหลังผลประโยชน์ของประชาชน
เราไม่อาจกล่าวว่าประชาชนเอเธนส์มีปัญหาเรื่องความไร้จิตสำนึกทางการเมือง เพราะประชาชนเอเธนส์มีอำนาจที่จะไปนั่งออกเสียงในสภาโดยตรง จึงไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนสังคมไทย แต่ปัญหาเรื่องนักการเมืองที่มีอำนาจในการดูแลกิจการของรัฐ ซ่อนผลประโยชน์ของตนไว้เบื้องหลังผลประโยชน์ของสังคม สามารถเป็นปัญหาของสังคมประชาธิปไตยทุกสังคม ที่ประชาชนรู้ไม่เท่าทันนักการเมือง สามารถถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่นักการเมืองนำมาล่อ และถูกวาทศิลป์ของนักการเมืองหว่านล้อมชักจูงให้คิดเห็นคล้อยตามไปกับนโยบายต่างๆที่นักการเมืองเสนอ โดยไม่เข้าใจผลดีผลเสียของนโยบายต่างๆ เหล่านั้นอย่างแท้จริง ดังนั้น ศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ก็คือความรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง และการไร้จิตสำนึกที่จะวิเคราะห์วิพากษ์ ใช้ปัญญาไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุด้วยผลอย่างถ้วนถี่ ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือ ความอ่อนแอของพลังทางปัญญาของพลเมืองนั่นเองที่เป็นศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย
ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะเผชิญหน้ากับการถูกทำให้อ่อนแออยู่เสมอ กล่าวคือ ทันทีที่นักการเมืองได้รับอำนาจจากประชาชนชนให้เป็นผู้ปกครอง เขาจะพยายามสร้างความอ่อนแอให้กับประชาชน เพื่อที่เขาจะสามารถคงอำนาจของเขาต่อไป นี่อาจดูเหมือนการตีความอย่างหวาดระแวงและมองโลกในแง่ร้าย แต่ขอให้เรามามองดูตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในสมัยประชาธิปไตยเต็มใบ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา
เมื่อเผด็จการถนอมประภาสหมดอำนาจ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีนักการเมืองสองคนก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ตามลำดับ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าเสรีไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีก่อนระบบเผด็จการทหาร และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชาย คนที่มีบทบาทเด่นต่อการเมืองไทยในยุคนั้นจริงๆ ก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นปัญญาชนสูงสุดในสังคมไทย เป็นผู้ทรงความรู้ในหลาย ๆ ด้าน อย่างยากที่จะมีใครเทียบได้ แต่ถ้าเราค้นกลับไปในแนวคิดของคึกฤทธิ์เราจะพบว่า เขาพยายามนำเสนอว่าประเทศไทยควรใช้ “ลัทธิกษัตริย์นิยม” ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ควรเป็นเพียงแค่ประมุขของประเทศในฐานะสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่สถาบันกษัตริย์ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้าง “ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติ” สิ่งที่น่าจะอยู่ตรงกันข้ามกับลัทธิกษัตริย์นิยมคือ “ลัทธิประชาชนนิยม” คำถามคือทำไมคึกฤทธิ์จึงเลือกที่จะสนับสนุนนโยบายลัทธิกษัตริย์นิยม แทนที่จะสนับสนุนนโยบายลัทธิประชาชนนิยม? และทำไมรัฐบาลไทยทุกยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร ประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงสนับสนุนลัทธิกษัตริย์นิยม? ทำไม “ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติ” จึงมีความสำคัญเหนือความเข้มแข็งของประชาชน (2)
ถ้ากล่าวอย่างง่ายๆ ลัทธิกษัตริย์นิยมก็คือการส่งเสริมให้กษัตริย์มีบทบาทในสังคมที่มากกว่าการเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นประมุขของรัฐ แต่ให้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทุกอย่างของรัฐที่กระทำให้แก่ประชาชน จนเป็นศูนย์กลางของความรักและความศรัทธาของประชาชน สร้างให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่ประชาชน ซึ่งสนับสนุนต่อลัทธิชาตินิยมในที่สุด (3) สิ่งตรงข้ามกับลัทธิกษัตริย์นิยมคือการสร้างประชาชนให้เป็นศูนย์กลาง สนับสนุนให้ประชาชนคิดริเริ่มและพยายามลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนเองด้วยตนเอง สนับสนุนให้พยายามรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่กันและกัน นำพลังและสติปัญญามารวมกัน เพื่อที่จะสร้างชีวิตที่ดีงามกว่าเดิมร่วมกัน บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเสมอภาค ซึ่งเป็นอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นที่สำคัญที่สุด ในความขัดแย้งระหว่างลัทธิกษัตริย์นิยมขัดแย้งกับลัทธิประชาชนนิยม ก็คือการที่ลัทธิกษัตริย์นิยมเน้นการสร้างให้ประชาชนมีศรัทธาต่อสิ่งภายนอกตน สนับสนุนระบบชนชั้น ระบบอุปถัมภ์ จนเกิดความอ่อนแอทางปัญญา การยอมรับคำสอนต่างๆ อย่างไม่ตั้งคำถามหรือโต้แย้ง ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความไร้อำนาจทางปัญญาที่จะคิดและตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีงาม อะไรคือสิ่งที่เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง สำหรับตนเองและสำหรับสังคม
โสเครตีสรู้ตัวดีว่าเขาสร้างความระคายเคืองให้กับผู้คนในสังคม แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของนักปรัชญา นักปรัชญาเป็นเสมือนปลาไหลไฟฟ้า คือทำให้คนที่ถูกกระทบช๊อตจนมึนงงทำอะไรไม่ถูก นักปรัชญามีหน้าที่ทำให้คนที่ตนสนทนาด้วยรู้ว่าตัวเขาเองนั้นไม่รู้ เพื่อจะได้เริ่มต้นหาความรู้ต่อไป เมื่อนั้นเขาจึงมีโอกาสที่จะมีปัญญาจริงๆ เพราะคนมักจะหลงผิดว่าความเชื่อคือความรู้ จึงจะต้องถูกทำให้รู้ตัวเสียก่อนว่าความเชื่อที่เขามีอยู่นั้น ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง สำหรับสังคมเอเธนส์นั้นโสเครตีสเปรียบให้เป็นม้า ถ้าทุกอย่างปกติมันก็จะเอาแต่นอนกิน แล้วก็อุ้ยอ้ายเชื่องช้ากลายเป็นม้าเลว ตัวเขาเองจึงเป็นเหมือนตัวเหลือบที่จะต้องคอยกัดเพื่อให้ม้าเจ็บ สะดุ้งตื่น ลุกขึ้นสะบัดตัว เตะหน้าเตะลัง กระปรี้กระเปร่า มันจึงจะคงความเป็นม้าดีไว้ได้
มีอะไรบางอย่างที่ควรจะกล่าวเกี่ยวกับอนีตัส ผู้กล่าวโทษโสเครตีส ในบทสนทนาเรื่องเมโน (Meno) ซึ่งเมโนตั้งคำถามต่อโสเครตีสว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้หรือไม่ อนีตัสในวัยหนุ่มก็ร่วมอยู่ในการสนทนาด้วย และอนีตัสก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจต่อคำสอนของพวกโซฟิสต์ และกังวลต่อความดีงามในรัฐ ดังนั้นจึงเข้าร่วมการสนทนาดังกล่าว แต่เมื่อโสเครตีสเริ่มให้เหตุผลว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนให้กันไม่ได้ และพูดพาดพิงไปถึงรัฐบุรุษผู้เป็นที่เคารพรักของชาวเอเธนส์ว่า เป็นที่รู้กันดีว่าไม่มีใครสามารถสอนบุตรให้มีคุณธรรมอย่างที่บิดามีได้เลย อนีตัสก็โกรธและเดินออกไปจากวงสนทนา และกล่าวอาฆาตว่าโสเครตีสกำลังพูดในสิ่งที่จะนำภัยมาใส่ตัว โสเครตีสก็ได้แต่ฝากกับเมโนไว้ว่า อาจจะช่วยหาทางพูดกับอนีตัสให้ใจเย็นและมีเหตุผลมากกว่านี้ จะได้รับฟังเรื่องราวจนจบ (4) สิ่งที่เราเห็นก็คืออนีตัสเองก็มีความรักต่อความดีงามในสังคม แต่เขาก็มีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเพื่อรักษาความดีงาม ความจริงบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงที่อาจกระทบต่อบุคคลที่ผู้คนเคารพศรัทธา แต่สำหรับโสเครตีสแล้วปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าความจริงต้องมีขีดขวางกั้น และแม้คุณธรรมจะเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ แต่คุณธรรมก็ไม่อาจแยกออกจากปัญญาได้ ต่อเมื่อคนมีปัญญาเท่านั้น คนจึงจะบรรลุคุณธรรมที่แท้จริงได้
เราอาจกล่าวได้ว่าโสเครตีสตายเพราะอำนาจของคนที่ใช้ศรัทธาอยู่เหนือปัญญา และใช้อารมณ์โกรธจนไร้สติ พวกเขาปฏิเสธที่จะฟังเรื่องราวต่างๆ จนจบ เพื่อจะได้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของโสเครตีส พวกเขามองเห็นว่าการวิจารณ์คือการทำลาย ทั้งที่มันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์ สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ คนดีสามารถทำลายคนที่ดียิ่งกว่าตนได้ด้วยความเข้าใจผิด และด้วยเหตุแห่งการตกเป็นทาสของอารมณ์โกรธ ห้าศตวรรษหลังความตายของโสเครตีส ผู้ปกครองชาวโรมันรู้ด้วยปัญญาและประสบการณ์ของตน ว่าพระเยซูสอนในความดีที่สูงส่งกว่าศาสนาที่มีอยู่ และเขาพยายามจะต่อรองกับชาวยิวใต้ปกครองทุกวิถีทางที่จะไม่ลงโทษพระเยซู แต่ชาวยิวไม่ยอม ดังนั้นเพื่อความสงบสุขของสังคม เขาก็ต้องออกคำสั่งให้ตรึงกางเขนพระเยซูตามความต้องการของชาวยิว และพระเยซูก็ต้องใช้ชีวิตของพระองค์พิสูจน์คำสอนของพระองค์ว่า พระเจ้าปรารถนาให้มนุษย์รักผู้อื่นเสมือนรักตนเอง เพราะพระเจ้าคือความรักและการให้อภัย ซึ่งชาวยิวยอมรับการตีความพระเจ้าเช่นนี้ไม่ได้ พวกเขาเป็นทาสและถูกรังแกมามากเกินกว่าที่จะรักและให้อภัยต่อศัตรูที่บังคับตนลงเป็นทาส เขาจึงเห็นพระเยซูเป็นผู้ทรยศและทำลายความฝันของชาวยิวที่จะเอาชนะและกลับขึ้นเป็นนายบ้าง ในขณะที่พระเยซูแสดงออกถึงความรักและการให้อภัยต่อผู้ที่กำลังเฆี่ยนตีทรมานตน และกำลังตรึงกางเขนตน อยู่ตลอดเวลา นี่คือมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่สองคนที่ถูกทำลายโดยมนุษย์ที่ก็มิได้ชั่วร้าย แต่ปล่อยให้อารมณ์โกรธมาบดบังปัญญาและธรรมชาติฝ่ายดีในตน
แต่ตอนนี้ขอให้เราย้อนกลับมาดูสภาพที่สังคมไทยเป็นอยู่ ซึ่งหากเทียบกับสิ่งที่โสเครตีสพยายามกระทำให้กับกรุงเอเธนส์ ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเห็นว่า ในระดับของจิตสำนึกของผู้คนที่ปรากฏออกมาในวิถีการดำเนินชีวิต คนไทยใช้ศรัทธาอยู่เหนือเหตุผล ซึ่งเท่ากับการใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เห็นได้ไม่ยาก ว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดเช่นเดียวกันกับอนีตัสและคนที่ตัดสินเอาผิดต่อโสเครตีส นั่นก็คือ คนไทยเห็นว่าการวิจารณ์คือการทำลาย สำรวจวัฒนธรรมไทยให้ดี แล้วคุณจะพบว่าเราไม่มีวัฒนธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่เลย นี่เป็นจิตสำนึกของสังคมที่แสดงออกอย่างชัดเจนในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นก็คือ ในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สังคมไทยยึดถือว่าสิ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาสูงสุดจะต้องอยู่เหนืออำนาจในการวิพากษ์วิจารณ์ของใครๆ (5) การห้ามการวิพากษ์วิจารณ์คือการห้ามการพูดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นความจริง หากว่ามันส่งผลในทางลบต่อภาพพจน์ของสิ่งเป็นที่เคารพศรัทธา ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธคุณค่าที่ความเป็นจริงจะมีต่อปัญญาและต่อชีวิตของผู้คน แต่ทว่านี่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะภาพพจน์แห่งความดีงามของสิ่งๆ หนึ่งจะตัดขาดจากความเป็นจริงทุกประการที่เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้นได้อย่างไร และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามที่สุดที่เป็นไปได้ ได้อย่างไร หากเขาไม่สามารถรู้ความจริงทุกประการที่อยู่ในอำนาจที่เขาจะรู้ได้
คำตอบเดียว ของผู้ที่ต้องการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ เขาจำเป็นต้องห้ามการพูดความจริงทางลบก็เพื่อที่จะหยุดยั้งการพูดความเท็จทางลบ หมายความว่า เหตุที่มนุษย์จะต้องรู้ความจริงให้น้อยลงกว่าที่เป็นไปได้ ก็เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องถูกลวงด้วยความเท็จ ดังนั้น ปัจเจกบุคคลจึงไม่มีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่ามีอันตรายต่อสังคม ซึ่งหมายถึง ไม่มีเสรีภาพในการพูดอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่สังคมเคารพบูชา เพื่อคนอื่นจะได้ไม่ได้ยินในสิ่งที่เป็นเท็จ นี่คือหลักการที่ดีที่สุดผู้ที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จะสามารถยกขึ้นมากล่าวอ้าง หากเขาจะใจเย็นลงสักนิดหนึ่งและพยายามหาเหตุผลมารับรองสิ่งที่ตนเองกระทำมากยิ่งขึ้น
ดูเหมือนโสเครตีสจะไม่เคยมีโอกาสพิจารณาประเด็นเช่นนี้ แต่คนที่พิจารณามันอย่างละเอียดคือ จอห์น สจ็วต มิลล์ (John Stuart Mill) ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยอังกฤษสมัยใหม่ ในหนังสือ On Liberty เขาเสนอตรรกบทที่ดีที่สุดที่เคยมีคนคิดขึ้นมา เพื่อหักล้างการปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ คือ เขากล่าวว่า
1)
ในความคิดเรื่องสิ่งที่ดีงามสูงสุดนั้น จะต้องหมายรวมถึงความมีเมตตาสูงสุดอยู่ด้วย และสิ่งที่มีเมตตาสูงสุด ย่อมอนุญาตให้ผู้อยู่ใต้อำนาจตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ตนได้ ดังนั้น ถ้าสิ่งๆ หนึ่งอ้างว่าตนดีงามสูงสุด แต่ไม่อนุญาตให้ใครตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งๆ นั้นย่อมยังไม่ดีงามสูงสุดจริง
2)
สำหรับสิ่งที่ยังไม่ดีงามอย่างสมบูรณ์นั้น หากอนุญาตให้มีการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งๆ นั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไปได้ และดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความดีงามสูงสุดของสิ่งที่มีอำนาจในสังคม และเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ต้องอยู่คู่กัน
ในเรื่องความกลัวต่อความเท็จนั้น มิลล์กล่าวว่า การปิดกั้นความเท็จคือการปิดกั้นปัญญาของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และเข้าใจความจริง เพราะความจริงจะปรากฏเป็นความจริงอย่างชัดเจนที่สุด ก็แต่เพียงเมื่อมีความเท็จมาวางเคียงข้างให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น หมายความว่า เราไม่อาจเห็นความจริงอย่างชัดเจนได้เมื่อมันปรากฏอยู่แต่เพียงลำพัง คือเมื่อไม่มีใครได้รับอนุญาตให้พูดถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมันได้ ความกลัวต่อความเท็จจึงเป็นความกลัวของคนขี้ขลาด เป็นความกลัวที่ทำร้ายตนเอง ดังนั้น เราจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับคำพูดทุกชนิดและใช้ปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงจากมัน ถ้าเรากลัวความเท็จ หรือขี้เกียจคิด เราก็จะไม่มีวันมีปัญญาที่แท้จริงเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้สติปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงไปเรื่อยๆ ชีวิตเราจึงจะพบกับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ดังคำกล่าวของโสเครตีสว่า “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบคือชีวิตที่ไร้ค่า” และดังนั้นเสรีภาพในการพูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากไม่มีเสรีภาพในการพูด ความสามารถในการคิดก็จะถูกทำลายลงไปด้วย เพราะหากคิดไปแล้วก็พูดออกมาไม่ได้ ก็ไม่รู้จะคิดไปทำไม และไม่มีใครจะมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความคิดพัฒนา (6)
เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์
หมายเหตุ
จากชื่อบทความเดิม “การรู้จักตนเองในความหมายของโสกราตีส : การแสวงหาปัญญาและการสร้างสังคมเหตุผลนิยม”โดยคัดลอกและตัดตอนมาจาก บทที่ 4 จากหนังสือ “มนุษย์กับการรู้จักตนเอง:การรู้จักตนเองสำหรับคนหนุ่มสาวในสังคมไทย”
เชิงอรรถ
(1) ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสูงสุดในการปกครองประเทศ เราต้องถือว่ากฎหมายแสดง “จิตสำนึกของสังคม” ดังนั้น เราไม่ควรเข้าใจว่านี่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพราะโดยหลักการแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลที่เราควรถือว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันยิ่งปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าไม่ทรงอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลังจากพระราชดำรัชนั้นแล้วก็ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเล่นงานบุคคลต่างๆ อยู่เช่นเดิม กฎหมายนี้จึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะใช้เล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามเสียมากกว่า
(2) สิ่งที่เราควรตระหนักในเบื้องต้นก็คือ คึกฤทธิ์ มาจากชนชั้นสูง เป็นนักการเมืองอาชีพ พร้อมๆ กับการเป็นปัญญาชนระดับสูง แม้คึกฤทธ์จะมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางภูมิปัญญาในสังคมไทย แต่ก็เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมของลัทธิชาตินิยม ผู้ที่มีนโยบายสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชนอย่างแท้จริง ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นำของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
(3) การใช้ลัทธิกษัตริย์นิยมในสังคมประชาธิปไตย โดยตัวเองแล้วฟังดูเป็นเรื่องแปลก เพราะในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ระบบประชาธิปไตยเกิดจากการที่ประชาชนแย่งอำนาจมาจากกษัตริย์ ลัทธิกษัตริย์นิยมจึงเป็นเหมือนการที่รัฐบาลหรือประชาชนพยายามจะคืนอำนาจให้กษัตริย์ ถึงจุดหนึ่งอาจมีการขอรัฐบาลจากกษัตริย์แทนที่จะเลือกตั้งเอาเองก็เป็นได้ ซึ่งเท่ากับเลิกเป็นประชาธิปไตยนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ลัทธิกษัตริย์นิยมก็อาจมีผลดีต่อประเทศในระยะที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยยังอ่อนแอจนเกิดวิกฤตภายในอยู่เนืองๆ คือ กษัตริย์อาจสร้างสมบารมีและศรัทธาได้มากจนกลายเป็นศูนย์รวมของจิตใจได้อย่างแท้จริง และช่วยแก้ไขวิกฤติทางการเมืองภายในเช่นนั้นได้ แต่ถ้ากษัตริย์ได้สถานะเช่นนี้มาด้วยบารมีที่ตนเองสร้างสมขึ้นมาและทำให้ตนเองมีอำนาจที่พิเศษกว่าปกติ เช่น อยู่เหนือการตรวจสอบและการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้นทั้งมวลและมีอิทธิพลเหนือการเมือง โอกาสก็จะมีสูงมากที่ผู้คนที่แวดล้อมกษัตริย์จะนำอำนาจเช่นนั้นไปใช้ในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ขึ้นมาเป็นกษัตริย์คนต่อไปอาจไม่สามารถสร้างสมบารมีเช่นนั้นได้ แต่อาจต้องการอำนาจอันพิเศษกว่าปกติเช่นนั้น ระบบกษัตริย์ในฐานะของสถาบันทางสังคมก็อาจจะเกิดปัญหา
(4) ที่จริงแล้ว การที่โสเครตีสพูดว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลกแต่อย่างไร เพราะปัญญาที่แท้จริงก็เป็นสิ่งที่สอนให้กันไม่ได้เช่นเดียวกัน เราอาจให้ข้อคิดเห็นต่อกันได้ และมันก็มักจะมาจากญาณทัศนะของแต่ละคน แต่ญาณทัศนะจะกลายเป็นปัญญาที่แท้จริงได้ ก็เมื่อคนแต่ละคนเอาเหตุผลเข้าไปตรวจสอบมันในทุกแง่ทุกมุมที่เป็นไปได้ คนมักจะคิดว่าพอเขาได้ยินอะไรที่เข้าได้กับญาณทัศนะของตน นั่นก็คือความรู้ แต่โสเครตีสยืนยันว่า นั่นยังไม่เพียงพอที่จะเรียกว่าความรู้ ความรู้เป็นญาณทัศนะส่วนที่ผ่านการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์แล้วเท่านั้น คุณธรรมก็เป็นญาณทัศนะที่ต้องอาศัยเหตุผลเข้าไปตรวจสอบเช่นเดียวกัน
(5) ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสูงสุดในการปกครองประเทศ เราต้องถือว่ากฎหมายแสดง “จิตสำนึกของสังคม” ดังนั้น เราไม่ควรเข้าใจว่านี่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพราะโดยหลักการแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลที่เราควรถือว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันยิ่งปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าไม่ทรงอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลังจากพระราชดำรัชนั้นแล้วก็ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเล่นงานบุคคลต่างๆ อยู่เช่นเดิม กฎหมายนี้จึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะใช้เล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามเสียมากกว่า
(6) การที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์นั่น ถ้าพูดตรงแล้วก็คือ มีวัฒนธรรมของความขี้ขลาดทางปัญญานั่นเอง หมายความว่า ถ้าจะคิดอะไรก็ต้องคิดในกรอบที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้นี่จะเป็นคำพูดที่รุนแรง แต่ก็ไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้ว วัฒนธรรมไทยสอนให้คนไทยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นี่คือสิ่งที่คนไทยไม่อยากยอมรับ แต่ก็จะแสดงออกทันทีที่มีคนไทยที่กล้าวิจารณ์วัฒนธรรมของตนเองในทางลบ เช่น อาจจะประณามคนเช่นนั้นว่าเป็นทาสของตะวันตก ทั้งที่การวิจารณ์ตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนในวัฒนธรรมไหนก็ควรกระทำ เว้นก็แต่ผู้ที่เชื่อว่าตนเองดีงามอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
ที่มา : ประชาไท : จากโสเครติสถึงปัญญาชนสยาม กรณีกฎหมายหมิ่นฯ
*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552
จากโสเครติสถึงปัญญาชนสยาม กรณีกฎหมายหมิ่นฯ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:53 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
7 ความคิดเห็น:
ประเทศไทยต้องมีกษัย์ เพื่อดูแลราษฎร และคานอำนาจนักการเมือง พ่อของฉัน มีพระคุณอุ่นเหนือเกล้า พ่อของเรา มีเมตตามหาศาล
พ่อของชาติ คือในหลวง ทรงห่วงงาน พ่อปกบ้าน เมืองไทยให้ร่มเย็น
ไม่ทราบว่าถ้าไม่มีกษัตริย์คิดไมว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
จะมีเสาหลักไว้ยึดเหนี่ยวไหม
และกษัตริย์ทรงเป็นผู้นำของประเทสที่ทรงปกครองโดยธรรม ดังเช่นในหลวงของชาวไทยกำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมา
ข้าจะรักชาตและพระมหากษัตริย์ของไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธ คือ พ่อหลวงของแผ่นดิน
ไม่อย่างให้ใครนำในหลวงมากล่าวยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
ถ้าจะแย่งชิงอำนาญหางการเมืองก็เป็นเรื่องของนักการเมืองไปไม่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน
ที่หลังอย่ากล่าวในทางแบบนี้อีกเลย
พ่อหลวงทรงทำดี ทรงเสียสละเพื่อปวงประชา
ธ คือดวงใจไทยทั่วหล้า
อย่านำพระองค์ท่านมาเป็นเครื่องมือในการยึดอำนายทางการเมือง อย่าอาท่านมากล่าวให้ความร้ายแบบนี้
เราคิดว่านักการเมืองส่วนใหญ่มักเอาท่านมาอ้างเพื่อหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อให้สิ่งที่ตัวเองทำนั้นชอบธรรมโดยไม่คิดว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และท่านก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะแก้ต่างแต่อย่างใดได้
ฉะนั้นเราคิดว่าท่านเป็นมิ่งขวัญของปวงชนมิควรก้าวล่วงแต่อย่างใด และท่านก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน
ย้อนกลับไปสมัยก่อนพวกที่ไปเรียนจบมาจาก ตปท. เอาประชาธิปไตยมาใส่มือประชาชนซึ่งขณะนั้นการศึกษายังมีน้อยไม่รู้จัก ทำการเรียกร้องประชาชนก็ทำตาม และตามมาด้วยปัญหาต่างมากมาย ถ้าหากว่านักการเมืองมีคุณธรรม มีความจริงใจที่จะทำงานจริงเพื่อบ้านเมืองมิใช่ตัวเองก็จะไม่เกิดปัญหาเช่นทุกวันนี้ แต่นี่กลับใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน คนยิ่งมีความรู้มาก มีอำนาจมาก มักจะมีวิธีการที่หลบหนีความผิด ตามจับยากส์เพราะเค้าฉลาดในการคดโกง ใช้เล่ห์กล
เราคิดว่าต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนต้องเป็นคนดี และไม่ว่าจะปกกครอง ระบบ ระบอบ อะไร ก็จะไม่มีปัญหาเช่นทุกวันนี้แน่นอน
แสดงความคิดเห็น