วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

ประชาชนเต็มกลั้น


วังว่าคนไทยคงยังไม่ลืมพระราชปณิธานในลายพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีความตอนหนึ่งว่า


“......ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน......”


พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยที่พระองค์ทรงพระปริวิตกว่าระบอบประชาธิปไตยดังว่า อาจจะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกาะกุมและใช้กลไกของระบอบเข้าคลุมอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงตัวตนของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

เป็นเวลากว่า 75 ปี แล้ว ที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่า ระบอบการเมืองที่มีผู้นำเผด็จการในรูปต่าง ๆ จนถึงเผด็จการนายทุน-ขุนศึก ล้วนแล้วแต่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงกลายสภาพเป็นประชาธิปไตยแบบเป็ดง่อยพิกลพิการเข้าไปทุกที

THE END OF THE ABSOLUTE MONARCHY IN SIAM ที่เขียนโดย BENJAMIN BATSON ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ THE END OF THE ABSOLUTE MONARCHY IN SIAM เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของอาจารย์เบนจามินที่ทำขึ้นเสนอต่อมหาวิทยาลัยคอร์แนล หนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยไปแล้วหลายครั้ง ภายใต้ชื่อว่า อวสานต์สมบูรณาญาสิทธิราชในสยาม ถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเข้าถึงแก่นแท้จะเห็นถึงภาพความล้มเหลวในหลายขั้นตอนของการพัฒนาการเมืองไทยในยุคเริ่มแรก ที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ – รัฐบาล ขุนน้ำขุนนางใหญ่น้อย

รวมทั้งบทบาทของสื่อ ในบริบทต่าง ๆ ด้วย กรอบลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต บอกให้เราศึกษาภาวะของการเมืองในปัจจุบันอย่างเห็นภาพและมีความน่าเชื่อถือมาก เพราะอาจารย์เบนจามินเขียนขึ้นจากหลักฐานและข้อมูลมากกว่าการนำบทวิเคราะห์มาวิพากษ์วิจารณ์ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนภาพได้มากที่สุด ดังที่นักประวัติศาสตร์มักกล่าวอยู่เสมอ ๆว่า ประวัติศาสตร์นั้นมักซ้ำรอยเสมอ

ในสภาพบ้านเมืองในปัจจุปัน ในนัยยะของการล่มสลายของรัฐบาลอภิมหาทุนนิยม จนเกิดกลุ่มสองขั้วขึ้นในขณะนี้ ประชาชนน่าจะมองเน้นไปที่ผลงานของความเป็นเนื้อแท้ของรัฐบาลทุก ๆ รัฐบาล แล้วเอามาเปรียบเทียบ ดังที่ วิลเลียม คอบเบ็ต นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษเขียนไว้ว่า


“.........การที่เราจะตัดสินได้อย่างถูกต้องว่ารัฐบาลดีหรือเลวนั้น ประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายของแต่ละรัชกาลทำให้เราได้รู้ว่าราษฎรได้อะไรบ้างจากการที่พวกเขาออกแรงทำงาน และเขาต้องจ่ายอะไรบ้างเพื่อที่จะได้อาหารมา นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาให้รอบคอบกว่าประวัติศาสตร์ส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด.........”

(จากอวสานต์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ หน้า 17)


นัยยะนั้นคือให้ความสำคัญกับบทบาทของราษฎรนั่นเอง

เรา(บางคน)กำลังเผชิญหน้ากัน เพื่อสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยที่มีใครบางคน(ส่วนน้อย)เหล่านั้นได้อภิมหาผลประโยชน์หลังการเผชิญหน้าของราษฎร โดยที่ทั้งก่อนหน้าและภายหลัง ล้วนแล้วแต่ราษฎรจะต้องเสียผลประโยชน์ทุกครั้งไป บางคนเสียชิวิต-บาดเจ็บ และพิการ บางคนเป็นบาดแผลในจิตใจติดตัวไปตลอดชีวิต

ราษฎรต่างหากที่เสียเปรียบในทุกขบวนการของการเมืองขับเคลื่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบไหน ดีเลวถี่ห่างอย่างไร ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบอบที่เลวน้อยกว่าระบอบอื่น ๆ ณ เวลานี้ เพราะอย่างน้อยประชาชนยังพอมีทางเลือกได้บ้าง แม้จะอยู่ในภาวะที่ต้องแบกหามนายทุนบริหารอยู่บนบ่า ดังที่ ลิโอ ตอลสตอย มหากวีรัสเซีย เขียนไว้ว่า


ฉันเสียใจที่เธอต้องแบกฉันไปเรื่อย ๆ
เธอจะขออะไรฉันจะให้ทุกอย่าง
ยกเว้นการขอให้ฉันลงจากบ่าเธอ


นั่นเป็นสำนึกของผู้กดขี่

ในแวดวงการเมืองไทยหรือที่ไหนในโลกก็ใกล้เคียงกัน เมื่อนักการเมืองสายพันธ์ผลประโยชน์เหล่านี้ยังคงธำรงอยู่เต็มพรรคเต็มสภาผู้แทนราษฎร แล้วสิ่งที่ประชาชนหวังนั้น เขาจะตอบสนองได้แค่ไหน

การสิ้นสุดระบอบทักษิณ ก็เพื่อจะมีทักษิณในชื่ออื่น ๆ ต่อไป ชวลิต – บรรหาร – ชาติชาย – ชวน – ควง – ถนอม – สฤษดิ์ ฯลฯ ผู้นำเหล่านี้พาชาติถอยจมมาเป็นลำดับ

ใครไม่เชื่อลองกลับไปอ่านข้อคิดของ วิลเลียม คอบเบ็ต ในตอนต้นดูอีกคำรพ

การเผชิญหน้าของประชาชนสองฝ่าย จึงไม่ใช่แค่ทักษิณหรือไม่ทักษิณ ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เรามีประวัติการฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด โดยที่ประชาชนไม่ยี่หระอะไรกับมาตราไหน ๆ โดยทั้งนั้น บางครั้งฉีกฉบับใหม่งัดฉบับเก่า ๆ มาปัดฝุ่นใช้ หรือบางทีเขียนขึ้นใหม่แค่ 20 กว่ามาตราก็ยังเคยมีมาแล้ว)

การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นเพราะแรงหนุนเนื่องของคนต่างขั้ว คนต่างขั้วที่ยืมมือประชาชนมาใช้งานอย่างมีระบบแยบยลและเนียนที่สุด

โดยมีเป้าหมายในการ “ยึดสภา” ให้เป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่เป็นฝ่ายชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย มีเป้าหมายที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่ออำนาจที่ซ้อนอำนาจ

อำนาจซ้อนอำนาจเป็นอย่างไร? ให้กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยหลังยุคการปฏิวัติ ตุลาคม 2501 จะเห็นอำนาจซ้อนอำนาจอย่างใสกระจ่าง โดยที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์มีอำนาจที่อยู่ใต้อำนาจอันแท้จริง

การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย ราษฎรเป็นเพียงหมากรุกบนกระดานการเมือง ที่รอวันล้มกระดาน นั่นก็จะกลายเป็นบทเรียนของประชาชนในภาคการเมือง ที่ไม่ยอมจดจำสักทีว่าประชาชนนั้นเป็นได้ก็เพียงหมากรุกบนกระดานเท่านั้น ตราบใดที่บ้านเมืองไทยมีนักวิชาการขายตัว มีนักการเมืองขี้ฉ้อคอรัปชั่นมากกว่านักการเมืองที่ดี แล้วยังมีราษฎรที่เห็นแก่อามิสเล็ก ๆ ในการชุมนุม เห็นแก่อามิสเล็ก ๆ ในการขายเสียงให้กับนักการเมืองเลวระยำ

วันนี้เป็นการเผชิญหน้าที่เลวร้ายที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเผชิญหน้าของคนในชาติเดียวกัน ที่ดื่มกินและมีวัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน พูดภาษาเดียวกันและแน่นอนมีอัธยาศัยที่งดงามเกินกว่าตัวอักษรจะบรรยายได้ความครบถ้วน

แล้ววันนี้เรามายืนประจัญหน้ากันอย่างระห่ำ

การเกิด – การมี หรือการสิ้นสุดระบอบทักษิณ ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เรามีคำตอบผ่านคำถามที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศแล้วหรือยัง ?

แล้วใครจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์หลังความวุ่นวายสิ้นสุดลง พันธมิตรประชาชนรับผิดชอบหรือไม่ พรรคพลังประชาชนถึงวันนั้นแตกสานซ่านเซ็นไปอยู่มุมไหนของโลกนี้ก็ยังไม่รู้ได้


ใครคือผู้มากบารมีในทัศนะของทักษิณ
แล้วผู้มากบารมีคนนี้เป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่?

คำตอบสุดท้ายก็คือ ทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ประชาชนเต็มขั้นทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องรับผิดชอบทุกทีไป


สยามยูเอสรีดเดอร์

ที่มา : siamusreader.com : การเมือง : ประชาชนเต็มกลั้น

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: