วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552

การเก็บกดทางการเมืองของประเทศไทย : The Real News สัมภาษณ์ อ.ใจ อิ้งภากรณ์



The Real News Network

Paul Jay interview

แปลและเรียบเรียงโดย : chapter 11


ใจ อึ้งภากรณ์เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใจยังเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมนิยมไทยเอียงซ้าย ใจขณะนี้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องมาจากหนังสือที่ขายเกลี้ยงของเขาชื่อ “รัฐประหารสำหรับคนรวย” ตีพิมพ์ในปี 2550 ใครที่ถูกตัดสินว่าผิดในคดีหมิ่นฯจะโดนโทษจำคุก 15 ปี ใจให้สัมภาษณ์จากกรุงเทพฯ



การเก็บกดทางการเมืองของประเทศไทย

ภาค 1


พอล เจ: ขอบคุณที่ให้เราสัมภาษณ์นะครับ

ใจ: ครับ


พอล เจ: คุณใจ เท่าที่ผมเข้าใจว่าคุณเพิ่งกลับจากอังกฤษ และเมื่อไปถึงไทยก็มีหมายเรียกตัวรอคุณอยู่แล้ว ผมเดาว่าคุณไปที่สถานีตำรวจและรับข้อกล่าวหาในคดีหมิ่นฯ คุณมีโอกาศที่จะต้องโทษจำคุกไหม ทำไมเขาถึงได้กล่าวหาคุณตั้งแต่แรก และโดยทั่วไปคุณเป็นห่วงในเรื่องการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ไหม

ใจ: ผมไม่ห่วงเรื่องที่ผมจะพูดอะไรในการให้สัมภาษณ์ เพราะผมคิดว่าการจะต่อสู้กับข้อกล่าวหาหมิ่นฯนี้ จะต้องรณรงค์อย่างเปิดเผยต่อสายตาประชาชน ในขณะนี้รัฐบาลไทย รมว ยุติธรรมได้พยายามบอกสื่อโดยเฉพาะในประเทศไทยว่า ไม่ต้องเสนอข่าวหมิ่นฯ ในสถาณการณ์เช่นนี้ซึ่งมีคนหลายคนที่ต้องคดีดังกล่าวอยู่ มีหลายคนติดคุก ประมาณ 100 คนในคุก และคนเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาคดีอย่างเป็นความลับ และเมื่อคนเหล่านี้ติดคุก ก็ลืมไปได้เลย


พอล เจ: สื่อไทยทำตามหรือ

ใจ: เป็นเรื่องที่น่าเสียใจว่าสื่อไทยทำตาม ใช่ สื่อที่กล้ารายงานก็มีแต่สื่อต่างประเทศ


พอล เจ: ผมเข้าใจว่ากองทัพไทยเป็นเจ้าของสถานีทีวีบางช่อง ไม่มีสถานีทีวีอิสระที่นั่นหรือ

ใจ: เป็นที่น่าเสียใจว่า สถานีทีวีอิสระได้หายไป สื่อเสรีได้หายไป เรามีแต่สื่ออิสระทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งดำเนินงานจากพวกมือสมัครเล่น เป็นต้น สื่อไทยได้ทำการเซ็นเซ่อร์การเสนอข่าวของตัวเอง นี่ก็คือปัญหาใหญ่ เพราะจะไม่มีการรณรงค์ให้เรื่องคดีต่างๆโปร่งใส


พอล เจ: ช่วยอธิบายให้ชัดขี้นหน่อยครับ จากมุมมองข้างนอกแบบตะวันตกนี้ เราเห็นการประท้วงที่สนามบิน ดูเหมือนเป็นการประท้วงอย่างประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลเก่าไป รัฐบาลใหม่ขี้นมามีอำนาจ

ใจ: ในปี 2549 มีการประท้วงหลายครั้งกับรัฐบาลในขณะนั้่น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากคนจน เพราะนโยบายเพื่อคนจน เช่น สามสิบบาทรักษาทุกโรค เป็นต้น นี่ทำให้กองทัพทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 กองทัพพยายามยกเลิกกฎต่างๆที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย กองทัพฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง และร่างฉบับตัวเองขี้นมาใหม่ ซึ่งลดอำนาจความเป็นประชาธิปไตยลง ครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และใช้ศาลซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับกองทัพ และใช้อำนาจยุบรัฐบาลเก่า หนึ่งปีหลังจากการทำรัฐประหาร ได้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง รัฐบาลเก่าก็ยังได้รับเสียงข้างมาก กลุ่มคนประท้วงที่เราเห็นยึดสนามบิน ปิดสนามบิน พยายามกระตุ้นให้เกิดวิกฤติ และพวกเขาก็ทำได้ เป็นการสร้างแรงกดดัน รวมถึงจากศาลที่สั่งยุบพรรคการเมืองนั้นอีกครั้งหนึ่ง และขณะนี้เรามีพรรคการเมืองซึ่งนักการเมืองของพรรคนี้ไม่เคยได้รับเสียงข้างมากสักครั้ง รัฐบาลนี้มีกองทัพ มีพันธมิตรที่ปิดสนามบินหนุนหลังอยู่ และก็มามีอำนาจในขณะนี้ด้วย พันธมิตรได้เรียกตัวเองว่าพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยมีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด (Fascism) ใส่เสื้อเหลือง พวกเขามีคำขวัญสำหรับฝ่ายขวาจัดว่า ให้รักชาติ ศาสนา และกษัตริย์


พอล เจ: เรากำลังมองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างศักดินาด้วยกันเอง หรือเป็นการต่อสู้ของศักดินาที่เอียงขวากับศักดินาที่เป็นกลาง หรือว่าเป็นการต่อสู้ของศักดินากับพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของประชาชน

ใจ: เรากำลังมองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างศักดินาอนุรักษ์นิยม ซึ่งรวมถึงพันธมิตร กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น กับพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยม ซึ่งมีนักธุรกิจเป็นผู้บริหาร แต่ได้รับการสนุนสนุนจากคนจน เรื่องยุ่งยากขี้นก็มาจากความจริงในขณะนี้ที่ว่าคนจนได้รวมตัวกันโดยการใส่เสื้อแดง ซึ่งตรงข้ามกับพันธมิตรเสื้อเหลือง และพวกเขาต้องการจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกของเขา ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากกองทัพ


พอล เจ: ดังนั้นการประท้วงที่สนามบินจริงๆแล้วเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายขวา

ใจ: แน่นอน ใช่ และพวกฝ่ายขวาเหล่านี้ได้ทำให้มีคดีหมิ่นฯมากขี้น


พอล เจ: กษัตริย์ได้แสดงให้เห็นชัดไหมว่าท่านได้อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลเสื้อเหลือง ขบวนการเสื้อเหลือง และกองทัพได้อยู่ข้างเดียวกันด้วยหรือไม่

ใจ: ไม่แน่ใจว่ากษัตริย์อยู่ฝ่ายไหน รัฐประหารในปี 2549 กองทัพอ้างว่ากษัตริย์ทรงมีความเห็นชอบ แต่กษัตริย์ไม่เคยแสดงออกมาและตรัสอย่างชัดแจ้ง ในความเห็นของผมนั้นจริงๆแล้วคนที่ใช้กฎหมายหมิ่นฯได้อ้างว่าทำเพื่อกษัตริย์ แต่แท้ที่จริงได้ใช้กฎหมายที่ล้าหลังเพื่อให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารหรือคนที่ต้องการประชาธิปไตยได้เงียบเสียง ประเทศไทยมีประวัติยาวนานในเรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นฯเพื่อกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม


พอล เจ: กษัตริย์จะต้องอนุญาตในการตั้งข้อกล่าวหา หรือรัฐบาลฟ้องร้องได้เอง

ใจ: เป็นกฎหมายที่แย่มากในข้อที่ว่าคนทั่วไปจะฟ้องใครก็ได้ ไม่เคยมีการกล่าวหาออกมาจากในวัง และไม่ค่อยมีที่รัฐบาลจะฟ้องร้องเช่นกัน ดังนั้นพวกฝ่ายขวาสติไม่ดีก็สามารถตั้งข้อกล่าวหาใครก็ได้ และตำรวจก็จะต้องทำการสืบสวน ดูเหมือนในขณะนี้ ทหารซึ่งเหมือนจะเคียงข้างตำรวจในการรับข้อกล่าวหานั้นและสั่งฟ้องศาล


พอล เจ: ทำไมถึงได้ฟ้องคุณ

ใจ: หลังจากรัฐประหารไม่นาน ผมได้เขียนหนังสือชื่อว่า “รัฐประหารสำหรับคนรวย” ในหนังสือนี้ผมได้แย้งว่าการทำรัฐประหารเป็นความไม่ชอบธรรม และกองทัพบกได้ใช้อำนาจของกษัตริย์เพื่อให้การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ผมแย้งว่าคนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย และได้ขัดคำสั่งของศาล ถ้าคุณลองมองคนที่ให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารซึ่งมีพวกพันธมิตร กองทัพบก และนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ คนเหล่านี้ได้เชื่ออย่างจริงจังว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ดีพอที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นเป็นการที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการโต้แย้งอย่างจริงจังถึงฐานะของสถาบันกษัตริย์ และผมได้ตั้งคำถามหลายคำถาม เช่น กษัตริย์ในระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขควรปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และควรจะอยู่ตรงข้ามกับการทำรัฐประหาร ผมต้องการความโปร่งใส ดังนั้นเราจะได้เห็นกันชัดๆว่ากษัตริย์ได้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วกองทัพอ้างไปเอง ผมเชื่อว่ามันเหมือนการสร้างนิยายขี้นมาในประเทศไทยว่ากษัตริย์มีอำนาจใหญ่หลวงเพื่อจะได้ขู่คนที่ไม่เห็นด้วย


พอล เจ: แต่ที่แน่ว่ากษัตริย์ควรตรัสอะไรบ้างอย่าง ถ้าท่านมีพระประสงค์ อะไรที่คิดว่ากษัตริย์จะเป็นอิสระจากกองทัพ

ใจ: ผมเชื่อว่ากษัตริย์ทรงอ่อน ผมเชื่อว่ากษัตริย์ได้ครองราชย์มานานและค่อนข้างจะคุ้นเคยกับกองทัพแบบเผด็จการ มีการกล่าวว่ากษัตริย์ควรจะปรากฎพระองค์และตำหนิกองทัพ แต่กษัตริย์ไม่ทรงกระทำ ผมยังไม่เชื่อว่ากษัตริย์ได้วางแผนในการทำรัฐประหาร แต่คนไทยหลายๆคนเชื่ออย่างนั้น และนั่นทำให้มีแนวโน้มที่จะก่อให้ราชวงศ์เกิดวิกฤติเพราะคนหลายล้านคนไม่มีความสุขจากการทำรัฐประหาร และก็ยังรู้สึกเช่นนั้นจนถึงตอนนี้


พอล เจ: ในภาคสองของการสัมภาษณ์นี้ จะถกเถียงกันเกี่ยวกับเนื้อหาในอดีตว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่กับไอเอ็มเอฟ และความสิ้นหวังระหว่างคนรวยและคนจนที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน เรามาดูมุมมองกว้างๆของประเทศไทย มาพบกับการสัมภาษณ์กับ ใจ อี้งภากรณ์ในภาคต่อไป


ยินดีต้อนรับเข้าสู่การสนทนาภาคที่ 2


พอล เจ: คุณช่วยให้รายละเอียดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากสงครามเวียตนาม ที่ซึ่งทหารอเมริกันมีอิทธิพลมาก และอำนาจของกองทัพอเมริกา อำนาจเงิน และมีส่วนในการหล่อหลอมเศรษฐกิจไทยและการเมืองไทย ช่วยให้เบื้องหลังซึ่งทำให้คุณโดนกล่าวหา

ใจ: สำหรับประเทศไทย ชนชั้นปกครองของไทยจะเป็นมิตรกับรัฐบาลอเมริกาเสมอ โดยเฉพาะในระหว่างช่วงสงครามเย็น แต่ผมคิดว่า มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก่อนหน้านั้นรัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแนวอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมใหม่ เป็นต้น วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มีผลมาจากนโยบายเสรีนิยมใหม่


พอล เจ: ช่วยให้คำอธิบายของคำว่านโยบายเสรีนิยมใหม่ในประเทศไทย

ใจ: ผมคิดว่า ประมาณปี 2523 มีการเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมการส่งออก มีความพยายามอย่างมากที่จะให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน สิ่งที่ผลักดันให้ไปถึงขั้นเกิดวิกฤติก็คือการเปิดเศรษฐกิจไทยกับเงินร้อน ให้เงินไหลเข้าออกได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงปลายปี 2533 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหา เงินบาทลอยตัว ดังนั้นในความเห็นของผม เศรษฐกิจในปี 2540 เป็นผลมาจากเสรีนิยมใหม่ ตลาดการค้าที่ล้มเหลว และเมื่อตอนนั้น คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยขี้นมา เพราะคุณทักษิณเป็นนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง การจะให้ไทยออกจากวิกฤติเศรษฐกิจได้จะต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบผสมผสาน คุณทักษิณนิยมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การค้าเสรีในระดับโลก แต่ในประเทศไทย คุณทักษิณเชื่อว่าการแก้ไขเศรษฐกิจของไทยที่แท้จริงแล้วคือการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับคนจน ดังนั้นทักษิณจีงเสนอนโยบายต่างๆสำหรับคนจน ที่สำคัญมากคือ สามสิบบาทรักษาทุกโรค ทักษิณพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านซึ่งทำให้เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างมหาศาล ทำให้กองทัพ และนักการเมืองเสรีนิยมใหม่รุ่นเก่า(นักการเมืองรุ่นเก่า) และชนชั้นกลางเหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดการประท้วงและรัฐประหารในปี 2549


พอล เจ: เกิดอะไรขี้นต่อมา เศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศไทยคงได้รับผลกระทบอย่างหนักในเหตุการณ์ครั้งนี้ วิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และจะเกิดอะไรขี้นหลังจากนี้ในมุมมองทางการเมือง

ใจ: คนจะตกงานมากขี้น โดยเฉพาะในบริษัทต่างชาติซึ่งต้องลดขนาดลง ทั้งบริษัทอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นต้น ประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศที่เกิดวิกฤติ และนอกเหนือจากนั้นผลกระทบจากการปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง


พอล เจ: ผมทราบว่าการท่องเที่ยวเป็นการทำรายได้อันดับหนึ่งของประเทศไทย ยังเป็นแบบนี้หรือไม่

ใจ: การท่องเที่ยวก็สำคัญ แต่การส่งออกสำคัญกว่า เช่น สินค้าอีเลคโทรนิค สินค้าอาหาร และอื่นๆ รัฐบาลไทยที่มีกองทัพหนุนหลังในขณะนี้เป็นรัฐบาลที่มีประวัติในด้านการควบคุมการเงิน (monetarism) เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) และนี่เป็นนโยบายที่ผิดในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เราต้องการคือให้รัฐบาลรักษางานและเพิ่มอำนาจการซื้อ แต่ผมไม่คิดว่ารัฐบาลนี้สนใจกับคนจนเพราะเมื่อนักการเมืองเหล่านี้เข้ามามีอำนาจ ก็จะมองข้ามคนจน


พอล เจ: ดังนั้นขณะนี้จีงมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากรัฐประหาร จะขยายไปถึงขนาดไหนก็ขี้นกับบทบาทของกองทัพ และผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร

ใจ: คนที่ประท้วงเป็นคนแก่ ซึ่งตรงข้ามกับเสื้อเหลืองที่เราเคยเห็นตอนยึดสนามบิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ราชินี และศักดินา ดังนั้นกลุ่มคนประท้วงเหล่านี้อาจจะเสียเปรียบ มีอีกเรื่องหนึ่งก็คือคนไทยเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นเราจะไม่เห็นการขยายตัวมากนัก แต่ผมคิดว่าขี้นอยู่กับการที่รัฐบาลปัจจุบันจะจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไรในอีก 6 เดือนข้างหน้า


พอล เจ: สื่อมวลชนสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันนี้หรือไม่

ใจ: สื่อมวลชนสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันเต็มที่ และอย่างที่ผมเคยพูดไว้แล้วว่า สื่อไม่เสนอข่าวคดีหมิ่นฯ


พอล เจ: แล้วคดีของคุณจะเป็นอย่างไรอีกต่อไป

ใจ: ผมต้องไปรายงานตัวกับตำรวจวันอังคารนี้ ตำรวจจะแจ้งข้อหาผม เราตั้งใจสู้กับเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่คดีของผม แต่ทุกคดีในขณะนี้ มีชาวออสเตรเลียที่ถูกจำคุกก่อนจะมีการตัดสิน มีผู้หญิงที่ถูกจำคุก มีผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกจับ มีการฟ้องนักข่าวบีบีซี ทุกอย่างดูเหมือนจะอยู่เหนือการควบคุม ยังกับอยู่ในยุคล่าแม่มด


พอล เจ: ขอบคุณมากสำหรับการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ วันอังคารนี้ขอให้คุณโชคดีและขอบคุณ และเราจะยังคงติดตามเรื่องของคุณใจและเรื่องที่จะเกิดขี้นในประเทศไทย กรุณาติดตามรับชมได้ใหม่



ใจ อี้งภากรณ์เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมนิยม


บทสัมภาษณ์จาก : The Real News Network


ที่มา : Liberal Thai : สัมภาษณ์ อ.ใจ อึ้งภากรณ์

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552

ปาฐกถาเบเนดิค แอนเดอร์สัน : ลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่


เกือบ 150 ปีที่มาแล้ว ลอร์ด แอคตัน นักประวัติศาสตร์ชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักร ได้แสดงความวิตกกังวลต่ออนาคตว่า จะมีอำนาจที่ทรงพลังอย่างยิ่งเข้ามาคุกคามความชอบธรรมทางกฎหมาย สิ่งนั้นคือ ‘ลัทธิชาตินิยม’

สำหรับ คำว่า ‘ความชอบธรรมทางกฎหมาย’ เขาหมายถึง ระเบียบทางสังคมที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยถูกเข้าใจว่าเป็นดั่งมรดกอันยิ่งใหญ่จากอดีต การที่จะเข้าใจแนวคิดนี้ได้อย่างกระจ่างชัด สิ่งหนึ่งที่ต้องจดจำต้องย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1870 ครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสได้กระทำการโค่นล้มราชวงศ์ ประเทศมหาอำนาจทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ต่างถูกปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างกว้างขวาง การผสมกันของความแตกต่างของประชาชนที่มีภาษาต่างกัน รวมทั้งศาสนาและวัฒนธรรม และครึ่งซีกโลกตะวันตกก็ได้ตกอยู่ในกรณีเหล่านี้เช่นกัน ท่านลอร์ดแอคตันไม่ใช่ผู้ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ท่านปรารถนาถึงเสรีนิยมด้วยความเชื่อที่ตั้งมั่นแห่งหลักเหตุผลนิยม และท่านได้พบว่าลัทธิชาตินิยมโดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งไร้ซึ่งเหตุผลและดูเหมือนว่าเป็นสิ่งซึ่งทำลาย

ความหวาดกลัวของท่านลอร์ดแอคตันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ตัวท่านให้เป็นนักพยากรณ์ล่วงรู้การณ์ภายหน้า การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความยุ่งเหยิงอันใหญ่หลวงต่อลัทธิชาตินิยม เหตุเพราะเป็นการสร้างแนวคิดของความไม่เท่าเทียมกันทางประเพณีและความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของการจัดระบบทางชนชั้น ขณะที่ลัทธิชาตินิยมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในด้านต่างๆกันอย่างสมบูรณ์ และก่อให้เกิดสำนึกของชุมชนความเป็นพี่น้องในแต่ละรัฐชาติต่างๆ

การยินยอมที่จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองต่อการตื่นตระหนกของลัทธิชาตินิยม หลายราชวงศ์ต้องสิ้นสุดลงในศตรวรรษที่ 19 ต่อการพยายามดิ้นรนที่จะเป็นรัฐชาติ ซึ่งมีความสำคัญเพื่อปกป้องนโยบาย มากไปกว่านั้นคือความพยายามของราชวงศ์ต่างๆที่ต้องการจะเป็นชาติ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ตุรกี รัสเซีย เป็นต้น

ความยุ่งยากไปกว่านั้นคือการที่ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญหน้าจากชนกลุ่มน้อยจากหลายเผ่าพันธุ์ในดินแดนของตน (ชาวไอริช, ชาวโปลิส,ชาวอาหรับ,ชาวกรีก,ชาวยูเครน,ชาวฟินแลนด์ และอื่นๆอีกมากมาย) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆที่เพิ่มเข้ามาอีก คือการที่ราชวงศ์ต่างๆมีที่มาจากที่อื่น เช่น อังกฤษและกรีซถูกปกครองโดยราชวงศ์เยอรมัน ขณะที่สวีเดนถูกปกครองโดยราชวงศ์จากฝรั่งเศส มันต้องใช้เวลานานถึงสองร้อยปีและสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านไปเพื่อทำให้พระเจ้าจอร์จที่หก (พระอัยกาของควีนอลิซาเบธแห่งอังกฤษ) ยอมเรียกชื่อราชวงศ์โดยใช้ภาษาอังกฤษ

ในห้วงระยะเวลาอันสั้นนี้ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นในสยาม ในช่วงท้ายที่สงครามสิ้นสุดลงนั้น ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งจากยุโรป ตะวันออกกลาง เฉกเช่นเดียวกับการปกครองของราชวงศ์แมนจูในปักกิ่งต่างถูกโค่นล้ม เหลือเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่พ้นจากภัยคุกคามนี้

ในสมาคมรัฐชาติสมัยใหม่นั้น ราชวงศ์ต่างๆกลับกลายเปลี่ยนสภาพเป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่สมาชิกรัฐชาติต่างๆกลายเป็นสาธารณรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงหลังสงครามเกิดการแพร่กระจายต่อต้านลัทธิเจ้าอาณานิคม ซึ่งเป็นลัทธิชาตินิยมในเอเชียและแอฟริกา เป็นหายนะต่อราชวงศ์เป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ มีเพียง 15% ของชาติที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ และทั้งหมดนั้นเมื่อประชากรรวมกันก็ยังคงน้อยกว่าประชากรของประเทศอินเดียครึ่งประเทศ

ราชวงศ์ต่างๆในยุโรปเหนือ สเปนและญี่ปุ่น ต่างดำรงความเป็นสถาบันอยู่ได้ด้วยการทรงสละพระราชอำนาจทางการเมืองและทรงยินยอมที่จะดำรงอยู่โดยบทบาทเชิงสัญลักษณ์ เว้นแต่ในกลุ่มของรัฐอาหรับโดยมีซาอุดิอารเบีย และในเอเชีย ซึ่งก็คือสยาม ที่เราสามารถพูดได้ว่ามีน้อยกว่า 10 % ของชาติสมาชิกของสหประชาชาติที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่มีผลบังคับใช้ ในกลุ่มชาติเล็กน้อยเหล่านี้สยามเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุด

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้สยามเป็นที่น่าสนใจศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่ง Seton – Watson เรียกมันว่า เป็นลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการ เกิดจากการปลุกระดมปฏิกริยาเพื่อนำไปสู่ความคลั่งไคล้ในลัทธิชาตินิยม ซึ่งได้ถูกจัดการเพื่อความอยู่รอด อาจมีเพียงที่สยามประเทศเดียวที่สามารถทำได้แบบนี้ ดังเช่นที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริในการสร้างความเป็นชาตินิยม โดยทรงใช้คำว่า ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ซึ่งยังคงเห็นได้จนถึงปัจจุบัน

เหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานต่อการสอดแทรกแนวคิด ความเป็นลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการดังเช่นในยุโรป เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ใน รัสเซีย ออสเตรีย สหราชอาณาจักร คือคำว่า พระเจ้า กษัตริย์และประเทศ (God , Queen/King and Country) ทุกวันนี้ในยุโรปได้ยกเลิกคำเหล่านี้ไปแล้ว ในทางตรงข้ามกลับนำมาใช้ในความหมายเชิงเย้ยหยันประชดประชันในรายการตลกโทรทัศน์

สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจ คือสิ่งที่นักวิชาการชาวเยอรมันเรียกว่า NACHTRAEGLICHKEIT (ความไม่พอใจ) ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพยากรด้านการเมือง ราชวงศ์ในตะวันออกกลางต่างยังคงดำรงความเป็นสถาบันด้วยการสร้างให้เป็นภาพตัวแทนของผู้นำความเป็นโลกมุสลิมผ่านขอบเขตพรมแดนแห่งความเป็นรัฐชาติเดียวกันโดยใช้หลักศาสนาของความเป็นมุสลิมเป็นตัวเชื่อม แต่ในพุทธศาสนาแบบไทยนั้น นับเป็นการปรากฏที่แสดงถึงข้อบ่งชี้อย่างเป็นทางการในตัวเองในทุกๆที่ของการเปลี่ยนผ่านของรัฐชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นหนทางที่จะสามารถหนีไปสู่กับดักของเวลาได้หรือไม่นั้น การกลืนกินของระบบสถาบันกษัตริย์ทำได้อย่างไรในสยาม ในช่วง 150 ปี ซึ่งทั่วโลกกำลังพูดถึงในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ที่ลัทธิชาตินิยมอย่างเป็นทางการเป็นแบบทดสอบของการข้ามพ้นความล้าสมัยและต้องปราศจากอำนาจจากกองทัพในการข่มเหงด้วยเช่นกัน

ในยุโรปแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ของการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ ดังที่ข้าพเจ้าจะเสนอตัวอย่างดังต่อไปนี้


ประการแรก กระบวนการวัฏจักรที่สมบูรณ์ของระบบสถาบันกษัตริย์และของการสืบราชสันตติวงศ์กว่าหลายพันปีที่แล้วที่ประชาชนส่วนใหญ่ของโลกยังคงคุ้นเคยกับแนวคิดของระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่หมดไปและยังไม่ล่มสลายนั้นต่างเต็มไปด้วยพระราชอำนาจ ในจีนมีราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ้ง(ซ้อง) ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง ราชวงศ์แมนจู และในประเทศอังกฤษมี นอร์แมน เวลช์ สก๊อต ดัตช์ และเยอรมัน แต่หลัง ค.ศ.1918 เป็นที่กระจ่างชัดว่าไม่มีราชวงศ์ใหม่ใดเกิดขึ้นได้

หากราชวงศ์ใดล่มสลายลงก็ไม่สามารถมีราชวงศ์ใหม่ๆเกิดขึ้นมาทดแทนได้อีกต่อไปเว้นแต่การมีประนาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเฉกเช่น จอมพล ป. ซึ่งมีกองกำลังทหารเป็นของตนเองให้เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ ทุกคนก็ต่างเย้ยหยันเป็นอันแน่ถ้าจอมพล.ป.กระทำการเช่นนั้น ผู้นำจีน Yuan Shih-kai พยายามกระทำการเช่นนี้มาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1910 แต่มีอำนาจปกครองเพียงแค่หนึ่งถึงสองปี จากนั้นจึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต ความสำเร็จครั้งล่าสุดของราชวงศ์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในนอรเวย์ กว่าร้อยปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมิสามารถถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ใหม่ๆได้

วิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของราชวงศ์ที่มีรูปแบบความแตกต่าง คือ การที่ราชวงศ์ในยุโรปพระมหากษัตริย์มีคู่สมรสเพียงพระองค์เดียว แต่ในเอเชียพระมหากษัตริย์กลับมีคู่สมรสได้จำนวนมาก ในยุโรปมีหลักธรรมเนียมพระราชประเพณีปฏิบัติอย่างหลักๆในการสืบราชสมบัติอยู่สองประการ คือจากคู่สมรสและจากพระราชโอรสองค์โตซึ่งจะสืบราชสมบัติโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน (โดยแบ่งจากการสืบสันตติวงศ์จากกฎมณเฑียรบาลโดยฐานนันดรศักดิ์) และเป็นที่น่าทึ่งที่ราชวงศ์ในยุโรปจำนวนหนึ่งถูกปลงพระชนม์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 และนั่นก็หมายความว่าผู้ที่มีจะสืบสันตติวงศ์ที่มีความสามารถก็จะมีจำนวนลดน้อยลงเช่นกัน

ในสหราชอาณาจักร ราชวงศ์ทิวดอร์และราชวงศ์สจ๊อตซึ่งเป็นสองราชวงศ์สุดท้าย และยังมีราชวงศ์ของเนเธอแลนด์อีกราชวงศ์หนึ่งด้วยเช่นกัน ราชวงศ์ฮันโนเวอร์มีเพียง 8 รัชสมัย และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถาบันเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์

ความเสื่อมถอยของการมีคู่สมรสจำนวนมากในเอเชีย ในสยามเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนของลำดับสันตติวงศ์จำนวนมาก จากการให้กำเนิดองค์รัชทายาทจากพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์มีผู้สืบสันตติวงศ์ 80 พระองค์ ก็จะทำให้มกุฎราชกุมารดำรงพระชนม์ชีพด้วยความยากลำบาก จากการที่มีผู้สืบสันตติวงศ์จำนวนมากขึ้นซึ่งอาจทำให้มีการลอบปลงพระชนม์ระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง นี่คือถ้อยคำถากถางของความแตกต่างระหว่างราชวงศ์ยุโรปและเอเชีย

ส่วนพระนางเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ 3 พระองค์ คือ พระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 พระนางเจ้าวิกตอเรีย และพระเจ้าอลิซาเบธที่ 2 แต่ละพระองค์ทรงล้วนครองราชสมบัติร่วมกว่าครึ่งศตวรรษและไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดของรัสเซียและออสโตรฮังการีที่ได้รับความนับถืออย่างมากเท่ากับพระบรมราชินีนาถแคทเธอรีนซึ่งเป็นชาวเยอรมัน และพระนางมาเรีย เทเรซ่า

การที่สามารถสมรสได้หลายคู่ของชาติเอเชีย ทำให้มีผู้สืบราชสันติวงศ์จำนวนมาก (ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกประเพณีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ โดยให้พระราชโอรสเป็นมกุฎราชกุมารสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ และในปัจจุบันนี้ได้เปิดโอกาสให้พระราชธิดาสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้แล้วเช่นกัน) ชีวิตสมัยใหม่ของยุโรปได้แสดงให้เห็นว่าการมีพระราชินีนาถเป็นผู้ปกครองพสกนิกรจะรักพระองค์มากกว่าการที่มีพระราชาเป็นผู้ปกครอง ดังเช่นที่พระราชินีอลิซาเบธได้รับความชื่นชอบเป็นจำนวนมาก แต่นี่ไม่รวมถึงพระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงเอาแน่เอานอนไม่ได้ และพระราชนัดดาที่ไม่กระทำตามสัญญาทั้งสองพระองค์ นับเป็นสิ่งยอดเยี่ยมเมื่อพระราชินีทรงอยู่ในบัลลังก์ ในขณะเกิดเรื่องเสียๆหายๆบ่อยกับพระราชา


ประการที่สอง การปรับตัว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งคู่ระหว่างราชวงศ์และความเป็นชาติ อย่างใดอย่างหนึ่งสองคำนี้ซึ่งสามารถปรับตัวได้ อย่างน้อยที่สุดในยุโรป อย่างแรกสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเสาะแสวงหาความนับถือจากชนชั้นกลาง คริสตศาสนิกชนถูกห้ามไม่ให้สมรสได้หลายครั้ง แต่ในศตวรรษนั้นก็มีพระสนมของกษัตริย์ในยุโรปได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง เช่นในรัชสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรียมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 7 มกุฎราชกุมารซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์ทรงแอบมีพระสนมอย่างลับๆและในช่วง 3 รัชสมัยสั้นๆนี้เองที่ราชวงศ์พยายามกระทำตนเฉกเช่นชนชั้นกลางทั่วไป พระชายามิได้ทรงปรากฏพระองค์และพระโอรส พระธิดาต่างก็ถูกส่งเข้าโรงเรียนเฉกเช่นเด็กทั่วไป ไม่ได้กักขังเลี้ยงดูภายในราชวังอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาพตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ของการยอมให้ลัทธิชาตินิยมตอกย้ำความเสมอภาคซึ่งพระนางราชินินาถอลิซาเบธเป็นผลผลิตของคำแรกรูปแบบการปรับตัวนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1980 แต่ความสำเร็จที่แท้จริงในอังกฤษ ฮอลแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น สเปน ได้แสดงภาพลักษณ์ตัวตนเฉกเช่นสามัญชนธรรมดา ทรงเป็นผู้นำทางคุณธรรม ทรงดำรงชีพเฉกเช่นครอบครัวชนชั้นกลาง มีพระโอรสพระธิดาเพียง 2-3 พระองค์ (ใกล้เคียงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระองค์ก็ทรงเสียภาษีเงินได้ประจำพระองค์ให้แก่รัฐ และเป็นช่วงที่งดเว้นการมีพระราชพิธีที่ใหญ่โต และจารีตประเพณีอันโบราณคร่ำครึ และทำให้มีภาพลักษณ์ที่น่าตื่นตาทางโทรทัศน์และจุดดึงดูดการท่องเที่ยวกว่าบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายเชิงลึกสำหรับคนอังกฤษ

แต่สมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระยะที่สองสามารถเทียบได้กับการปรับตัวสู่อำนาจของวัฒนธรรมประชานิยมซึ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งมีเสียงมากยิ่งขึ้น

โทรทัศน์เป็นจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่สำคัญ แต่ผลกระทบทางการเมืองล้วนมากจากการเป็นพันธมิตรกับวัฒนธรรมประชานิยมทั้งละครน้ำเน่า รายการทอร์คโชว์ ภาพยนตร์ การแข่งขันกีฬา การ์ตูน และอื่นๆ การปรับตัวของราชาธิปไตยต่อวัฒนธรรมแห่งชาตินี้นั้นยากมากขึ้นเพื่อที่จะรวมกับเกียรติยศ สังคมและศีลธรรมกับราชวงศ์

ปัจจัยหลักนั้นคือการปรากฏขึ้นของกลุ่มผู้มีชื่อเสียง อย่างที่นักเล่นสำนวนคนหนึ่งกล่าวสรุปสั้นๆว่า “เป็นผู้มีชื่อเสียงเพื่อมีชื่อเสียง” วีรบุรุษของวัฒนธรรมประชานิยมในประเทศอังกฤษ รวมทั้งทุกๆที่คือ นักกีฬา นักแสดงภาพยนตร์ นักดนตรีร็อค ผู้คนในรายการทอร์คโชว์ นักการเมืองโทรทัศน์และผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจ

วีรบุรุษและวีรสตรีกลุ่มนี้ถูกคาดหมายให้มีรูปร่างหน้าตาดี ร่ำรวย และมีคู่รักจำนวนมากแต่งตัวเก่ง เป็นผู้ที่ท้าทายความเสี่ยง เป็นผู้ทีใช้ยาเสพติด โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องอื้อฉาว และค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ ยกตัวอย่างเช่น มาลิลีน มอนโรว,เจมส์ ดีน เจ้าหญิงไดอานา เช่น เดียวกับไมเคิล แจ็คสัน มาดอนน่า จอห์น เลนนอนฯลฯ ความเชื่อมโยงที่มีผู้ชมมักดูเหมือนให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และผู้คนนั้นเริ่มที่จะคิดว่าตนเองเป็นเช่นนั้น ถ้าฉันเป็นคนที่สวยกว่านี้ รวยกว่านี้ และแปลกประหลาดกว่านี้ฉันคงสามารถเป็นหนึ่งในพวกเขาได้ ผู้คนเริ่มที่จะคาดหวังที่จะเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของพวกเขาต่อพื้นที่สาธารณะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือวิธีการที่พวกเขาจะยังคงมีชื่อเสียงอยู่ต่อไปได้

สามารถเห็นได้ทันทีว่าเหตุใดการปรับตัวราชวงศ์ต่อวัฒนธรรมประชานิยมในลักษณะนี้นั้นเป็นทั้งสิ่งที่มีเสน่ห์และน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์รุ่นเยาว์สามารถเข้าถึงตัวฮีโร่นักกีฬาได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งนักร้องเพลงร็อค นักแสดง และบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ ดังนั้นจึงมักเกิดกรณีขึ้นในใจของพวกเขาที่มีความสับสนระหว่างผู้มีชื่อเสียงและราชวงศ์ แต่ในพื้นที่สาธารณะนั้นน้อยมากที่จะเกิดความผิดพลาดเช่นนั้น ในใจของประชาชน พวกเขาคาดหมายว่าราชวงศ์นั้นจะมีเกียรติ เสียสละเพื่อส่วนรวม

ความยากเย็นประการที่สอง คือ น้อยมากที่จะมีหน้าตาดีเหมือนนักแสดงภาพยนตร์ หรือมีความสามารถเท่านักดนตรีร็อค และมีความฉลาดเท่าพ่อค้าคนรวย จริงๆแล้วพวกเขาไม่มีอะไรเลย เว้นแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพวกเขา ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญที่เกี่ยวกับสถานะของผู้มีชื่อเสียงเลย เรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์นั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องน่ากลัวผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ทำให้ฉุกคิดของความคาดหวังที่มีอยู่สูงต่อราชวงศ์เท่านั้นเอง


กรณีเจ้าหญฺงไดอาน่านั้น เป็นกรณีตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในการอธิบายปัญหาในโลกสมัยใหม่นี้ พระองค์ไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ และไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่าราชวงศ์อังกฤษส่วนใหญ่ พระองค์ไม่สามารถที่จะแข่งขันเสน่ห์ของพระองค์กับดาราภาพยนตร์โดยปราศจากสถานะจากในราชวงศ์ของพระองค์

ประชาชนชอบพระองค์ในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์มีพระสวามีที่แปลกไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราชินีไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนและดูไม่ค่อยมีเกียรติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของพระองค์ที่จะให้กำลังใจผู้ป่วยเอดส์ อาจเป็นเพราะพระองค์นั้นยังทรงพระเยาว์ผู้คนจึงนิยมชมชอบพระองค์

แต่ด้วยความสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายของพระองค์กับลูกชายเพลย์บอยของพ่อค้าคนรวยชาวมุสลิมในอังกฤษ แน่นอนถ้าพระองค์เป็นนิโคลคิดแมน นั่นอาจเป็นเรื่องปกติที่สามรถเกิดขึ้นได้ นิตยสารไทม์ได้ออกมาต่อต้านพระองค์เช่นกันในกรณีนี้ เพราะวันหนึ่งพระองค์อาจจะต้องเป็นราชินีที่อื้อฉาวพอๆกับพระสาวมีที่อื้อฉาวเช่นกัน เป็นเหมือนฝันร้ายที่ชาวอังกฤษหลายพันคนร้องไห้ให้พระองค์ เมื่อพระองค์จากไปด้วยการสิ้นพระชนม์ที่น่าหดหู่ แต่มันอาจจะเป็นชะตากรรมของผู้มีชื่อเสียงที่จะถูกลืมและถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ และนี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่โชคร้ายคนนั้น เท่านั้นเอง


Professor Emeritus
Dr.Bennedict O’Gorman Anderson

อดีตอธิการ ม.คอร์แนล USA.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ปาฐกถาเบเนดิค แอนเดอร์สัน : ลัทธิชาตินิยมเก่าและใหม่

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

อย่าท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ โดนคุกแน่



THAILAND :
Don’t Challenge Lese-Majeste Law - Risks Jail Term

By Marwaan Macan-Markar

อังคาร 27 มกราคม 2552

ข่าวจาก : IPS News

แปลและเรียบเรียง: Chapter 11



อย่าท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ โดนคุกแน่!


กรุงเทพ - ในประเทศที่มีวัฒนธรรมสนับสนุนให้ประชาชนอ่อนน้อม เคารพบูชาและแม้จะต้องหมอบคลานต่อผู้มีอำนาจ ใจ อึ้งภากรณ์เป็นหนึ่งในข้อยกเว้น

ความทุ่มเทของนักวิชาการไทยคนนี้ในการเป็นมาตราฐานสำหรับความเป็นอิสระ ไม่ขี้นต่อใครในด้านความคิด ได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่บางคนที่นี่เห็นว่าเป็นบททดสอบที่ยากสุด ในการที่เขาได้แตะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดของราชอาณาจักรในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

ใจ กล่าวกับ IPS ว่า “ผมเชื่อว่ากฎหมายควรถูกแก้ไขใหม่” “และยังมีผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์ต้องการให้แก้ไขกฎหมายนี้เช่นกัน”

คำท้าทายดังกล่าวพูดขี้นหลังจากที่เขาถูกคดีหมิ่นฯในเดือนมกราคมจากชุดปฎิบัติการพิเศษในหนังสือในปี 2550 ของเขา ชื่อว่า “รัฐประหารเพื่อคนรวย” เป็นการวิจารณ์การทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งขับไล่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น

ใจ ซึ่งสอนวิชารัฐศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา 12 ปี เปิดเผยว่า “ในหนังสือมี 8 ย่อหน้าซึ่งถูกแจ้งว่าก่อให้เกิดความเสียหาย นั่นคือสิ่งที่ตำรวจบอกผมจากหมายจับ”

เขากล่าวต่อว่า “หนังสือที่พิมพ์ออกมา 1,000 เล่มได้ขายหมดแล้ว แต่ก็ยังสามารถโหลดจากอินเตอร์เน็ตได้”

ใจ ทราบดีถึงอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า การถูกจำคุก 15 ปี อันเป็นโทษจำคุกสูงสุดสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดเมื่ออยู่ฝั่งตรงข้ามกับกฎหมายหมิ่นฯ เขายอมรับว่า “ได้สร้างความกดดันให้กับผมและครอบครัวมหาศาล”

แต่ความมุ่งมั่นในการที่จะปกป้องความเป็นอิสระทางด้านวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออก ได้เป็นแรงผลักดันให้เขารณรงค์ในการนำสถาบันอันเก่าแก่เกี่ยวกับกษัตริย์ของไทยให้ออกมาสู่สายตาสาธารณะ

เขาอธิบายว่า “สื่อไทยไม่่ให้ความสำคัญในการเสนอข่าวเช่นเดียวกับข่าวคดีหมิ่นฯอื่นๆทั้งหมด” “คดีทั้งหมดถูกพิจารณาคดีอย่างเป็นความลับ นี่คือหนึ่งในปัญหา ไม่ให้สาธารณะชนตรวจสอบได้”

แถลงการณ์ของเขาหลังจากที่ได้รับทราบข้อกล่าวหา กล่าวว่า “การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในประเทศไทยเป็นการพยายามที่จะป้องกันการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ในเรื่องสถาบันที่สำคัญที่สุด” “มีการพยายามป้องกันไม่ให้มีการคิด วิเคราะห์ สำหรับประชาชน แต่สนับสนุนให้คนเรียนรู้แบบเดิมๆ

ทัศนคติของใจ ได้รับการยกย่องจากบุคคลบางส่วนว่าเป็นบุคคลที่มีความกล้า จากวิถีเดิมของคนไทยที่ต้องเงียบเมื่อโดนคดีหมิ่น ที่จริงแล้วใจได้รับแนะนำจากนักวิชาการไทยว่าให้เงียบ

เดวิด สเตรคฟัซ นักวิชาการอเมริกันซึ่งได้เขียนบทความมากมายเกี่ยวกับกฎหมายอายุ 100 ปี ซึ่งปรากฎในประมวลกฎหมายอาญา เป็นการปกป้องราชวงศ์ไทยจากการดูหมิ่นหรือเสียชื่อ ไม่ว่าจะจากคำพูดหรือการกระทำ ได้กล่าวว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบสิบๆปีที่มีคนกล้าสู้กับกฎหมายนี้”

เป็นคดีแรกที่นักวิชาการถูกดำเนินคดีจากกฎหมายกดขี่นี้ สเตรคฟัซได้ให้ข้อสังเกตจากการให้สัมภาษณ์ “เขาไม่ได้ยุให้เกิดความรุนแรง เขาแค่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด และความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทย”

เสียงของเขาเสียงเดียวได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนนักวิชาการจากทั่วโลก รายชื่อนักวิชาการ 128 คนจากนานาประเทศได้เรียกร้องให้มีการถอนฟ้อง ในประเทศไทยทั้งนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และนักข่าวต่างๆได้รวมตัวกันจัดสัมมนาสำหรับคนทั่วไปในอาทิตย์หน้าเพื่อแสดงความห่วงใย

ใจ ได้ยืนหยัดต่อสิทธิส่วนบุคคลและความเชื่อในทางการเมืองของเขาในประเทศชื่อว่าประเทศไทย ซึ่งมีความหมายตามท้องถิ่นว่า “ดินแดนแห่งความเสรี” สำหรับเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ จากจุดที่ว่าประเทศที่สื่อไม่เสนอข่าวเพื่อปกป้องกษัตริย์และครอบครัวอันเป็นที่รักเป็นเรื่องธรรมดาปฎิบัติ ซึ่งทำให้เกิดความกลัวว่าเรื่องร้ายๆยังไม่มาถึง

ใจ ถูกกล่าวหาเมื่อต้นอาทิตย์นี้ ศาลไทยได้ตัดสินว่าแฮรี นิโคไลเดส ชาวออสเตรเลียซึ่งได้เขียนหนังสือที่มีความหมายคลุมเคลือ มีความผิดในการกระทำการหมิ่นฯและต้องโทษจำคุก 3 ปี ศาลได้ตัดสินว่าข้อความในหนังสือกึ่งนวนิยายของเขาในปี 2548 นั้น ได้อธิบายเจ้าฟ้าชายในด้านที่ทำให้เกิดความไม่เคารพต่อราชวงศ์ และทำให้เกิดการกล่าวร้ายต่ออำนาจราชวงศ์

หลายวันก่อนหน้านั้น สุวิชา ท่าค้อ ได้โดนตำรวจจับหลังจากที่ตำรวจได้พบข้อความหมิ่นกษัตริย์และองคมนตรีจากคอมพิวเตอร์ของเขา รีพอร์ตเตอร์วิทเอ้าบอร์เดอร์สื่อด้านขวาทำหน้าที่ยามรักษาการณ์ได้กล่าวว่า “หลังจากถูกจับสามวัน สุวิชาถูกปฎิเสธไม่ให้ประกันตัว”

สำหรับที่อื่น รัฐบาลชุดปัจจุบันนำโดยพรรคประชาธิปัตย์กำลังแสดงอำนาจโดยการล่าเวปไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาหมิ่นราชวงศ์ของไทย ผู้นำแห่งการผลักดันให้มีการเซนเซ่อร์อินเตอร์เน็ตคือ รมว.ยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งได้แฉว่าขณะนี้มี 10,000 เวปไซต์ที่กำลังถูกจับตามองอยู่

รมว.ไอซีที ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ได้ยืนยันว่า 2,300 เวปไซต์ซึ่งมีความเห็นและภาพดูหมิ่นราชวงศ์ไทยได้ถูกบล้อกไปเรียบร้อยแล้ว และอีก 400 กว่าว่าเวปไซต์รอคำสั่งศาลให้ปิด

รมว.ไอซีที ได้รับงบประมาณเพิ่ม 1.28 ล้านเหรียญ เป็นงบเพื่อใช้ซื้อเครื่องมือพิเศษ ในการติดตั้งเพื่อใช้จับตามองเวปไซต์ที่โจมตีและหมิ่นราชวงศ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

กองทัพซึ่งเป็นตัวการทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมมีอำนาจ ได้เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ในสงครามต่อสู้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ผบ ทบ อนุพงศ์ เผ่าจินดาได้สนับสนุนหน่วยพิเศษที่สามารถ “ดักฟังโทรศัพท์”และ”บันทึกการสนทนาและการพูดในที่สาธารณะ” วาสนา นาน่วมนักเขียนคอลัมภ์เกี่ยวกับกองทัพให้กับนสพ บางกอกโพสต์ได้เขียนว่า “ทหารจะแจ้งไปยังตำรวจถ้าพบว่ามีการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ”ระบบเผด็จการทางการเมือง

เป็นอนุพงศ์คนเดียวกันซึ่งหลังจากรัฐประหารปี 2549 อันเป็นครั้งที่ 18 ของประเทศไทย เป็นผู้นำหน่วยพิเศษ “หน่วยเฉพาะกิจ 6080″ ซึ่งภาระกิจคือจับตามองเวปไซต์ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีต่อภาพพจน์ของราชวงศ์ไทย ซึ่งอนุญาตให้มองแต่ภาพที่สมบูรณ์เท่านั้น

สเตรคฟัซนักวิชาการอเมริกันกล่าวว่า “ประเทศไทยไม่เคยเอาจริงเอาจังเหมือนกับปีที่ผ่านมา ในการเชื่อว่ามีการต่อต้านราชวงศ์” “ไม่เคยมีความพยายามอย่างยิ่งยวดแบบนี้มาก่อนจากหลายๆองค์กร เพื่อทำหน้าที่แบนความเห็นที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นราชวงศ์”

สำหรับ ใจ การโฆษณาชวนเชื่อได้ฝ่าฝืนความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่ง “สถาบันควรให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส”

ใจเห็นว่า เป็นความพยายามส่งเสริมให้คนไทยได้ “เชื่อว่าเราอาศัยอยู่ภายใต้ระบบราชวงศ์แบบเก่า” มีความเป็นระบบศักดินา ระบบอุปถัมภ์ และระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผสมกันอยู่


Marwaan Macan-Markar


ที่มา : Liberal Thai : อย่าท้าทายกฎหมายหมิ่นฯ โดนคุกแน่

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

จากโสเครติสถึงปัญญาชนสยาม กรณีกฎหมายหมิ่นฯ



กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สังคมไทยยึดถือว่า สิ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาสูงสุดจะต้องอยู่เหนืออำนาจ ในการวิพากษ์วิจารณ์ของใครๆ (1) การห้ามการวิพากษ์วิจารณ์คือการห้ามการพูดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นความจริง หากว่ามันส่งผลในทางลบต่อภาพพจน์ของสิ่งเป็นที่เคารพศรัทธา ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธคุณค่าที่ความเป็นจริง จะมีต่อปัญญาและต่อชีวิตของผู้คน



สกราตีสรักและบูชาระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ ซึ่งเป็นนครรัฐกรีกแห่งเดียวเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย แต่บางครั้งระบบประชาธิปไตยก็ถูกนักการเมืองทำลาย และยึดอำนาจเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเผด็จการ ซึ่งชาวเอเธนส์ก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา นอกจากนั้นเอเธนส์ก็ยังต้องทำสงครามต่อสู้กับการรุกรานของสปาร์ตา และศัตรูอื่นภายนอก แต่นอกจากระบอบเผด็จการ และปัญหาอธิปไตยแล้ว อะไรคือศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย? ผู้เขียนหมายความว่า แม้ว่าเราจะสามารถรักษาระบบประชาธิปไตยไว้จากอำนาจเผด็จการและการรุกรานจากภายนอกได้ แต่อะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างสิ่งที่เป็นอุดมคติของระบบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือประโยชน์สุขที่สูงที่สุดของประชาชนและความยุติธรรมในสังคม ถ้าเรามองดูสังคมไทยซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอมาก เพราะเต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง และการมีแต่พรรคการเมืองของนายทุนเท่านั้นให้ประชาชนเลือก เราคงตอบว่า ศัตรูของประชาธิปไตยก็คือ ความไร้จิตสำนึกของพลเมืองเอง และการมีตัวแทนที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนก็เพื่อที่จะทุจริตโกงกิน ซ่อนผลประโยชน์อันมิชอบของตนไว้เบื้องหลังผลประโยชน์ของประชาชน

เราไม่อาจกล่าวว่าประชาชนเอเธนส์มีปัญหาเรื่องความไร้จิตสำนึกทางการเมือง เพราะประชาชนเอเธนส์มีอำนาจที่จะไปนั่งออกเสียงในสภาโดยตรง จึงไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนสังคมไทย แต่ปัญหาเรื่องนักการเมืองที่มีอำนาจในการดูแลกิจการของรัฐ ซ่อนผลประโยชน์ของตนไว้เบื้องหลังผลประโยชน์ของสังคม สามารถเป็นปัญหาของสังคมประชาธิปไตยทุกสังคม ที่ประชาชนรู้ไม่เท่าทันนักการเมือง สามารถถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่นักการเมืองนำมาล่อ และถูกวาทศิลป์ของนักการเมืองหว่านล้อมชักจูงให้คิดเห็นคล้อยตามไปกับนโยบายต่างๆที่นักการเมืองเสนอ โดยไม่เข้าใจผลดีผลเสียของนโยบายต่างๆ เหล่านั้นอย่างแท้จริง ดังนั้น ศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย ก็คือความรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง และการไร้จิตสำนึกที่จะวิเคราะห์วิพากษ์ ใช้ปัญญาไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุด้วยผลอย่างถ้วนถี่ ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือ ความอ่อนแอของพลังทางปัญญาของพลเมืองนั่นเองที่เป็นศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย

ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะเผชิญหน้ากับการถูกทำให้อ่อนแออยู่เสมอ กล่าวคือ ทันทีที่นักการเมืองได้รับอำนาจจากประชาชนชนให้เป็นผู้ปกครอง เขาจะพยายามสร้างความอ่อนแอให้กับประชาชน เพื่อที่เขาจะสามารถคงอำนาจของเขาต่อไป นี่อาจดูเหมือนการตีความอย่างหวาดระแวงและมองโลกในแง่ร้าย แต่ขอให้เรามามองดูตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในสมัยประชาธิปไตยเต็มใบ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

เมื่อเผด็จการถนอมประภาสหมดอำนาจ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีนักการเมืองสองคนก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ตามลำดับ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าเสรีไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีก่อนระบบเผด็จการทหาร และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชาย คนที่มีบทบาทเด่นต่อการเมืองไทยในยุคนั้นจริงๆ ก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นปัญญาชนสูงสุดในสังคมไทย เป็นผู้ทรงความรู้ในหลาย ๆ ด้าน อย่างยากที่จะมีใครเทียบได้ แต่ถ้าเราค้นกลับไปในแนวคิดของคึกฤทธิ์เราจะพบว่า เขาพยายามนำเสนอว่าประเทศไทยควรใช้ “ลัทธิกษัตริย์นิยม” ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ควรเป็นเพียงแค่ประมุขของประเทศในฐานะสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่สถาบันกษัตริย์ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้าง “ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติ” สิ่งที่น่าจะอยู่ตรงกันข้ามกับลัทธิกษัตริย์นิยมคือ “ลัทธิประชาชนนิยม” คำถามคือทำไมคึกฤทธิ์จึงเลือกที่จะสนับสนุนนโยบายลัทธิกษัตริย์นิยม แทนที่จะสนับสนุนนโยบายลัทธิประชาชนนิยม? และทำไมรัฐบาลไทยทุกยุคสมัยไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร ประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงสนับสนุนลัทธิกษัตริย์นิยม? ทำไม “ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติ” จึงมีความสำคัญเหนือความเข้มแข็งของประชาชน (2)

ถ้ากล่าวอย่างง่ายๆ ลัทธิกษัตริย์นิยมก็คือการส่งเสริมให้กษัตริย์มีบทบาทในสังคมที่มากกว่าการเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นประมุขของรัฐ แต่ให้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทุกอย่างของรัฐที่กระทำให้แก่ประชาชน จนเป็นศูนย์กลางของความรักและความศรัทธาของประชาชน สร้างให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่ประชาชน ซึ่งสนับสนุนต่อลัทธิชาตินิยมในที่สุด (3) สิ่งตรงข้ามกับลัทธิกษัตริย์นิยมคือการสร้างประชาชนให้เป็นศูนย์กลาง สนับสนุนให้ประชาชนคิดริเริ่มและพยายามลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนเองด้วยตนเอง สนับสนุนให้พยายามรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็งให้แก่กันและกัน นำพลังและสติปัญญามารวมกัน เพื่อที่จะสร้างชีวิตที่ดีงามกว่าเดิมร่วมกัน บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเสมอภาค ซึ่งเป็นอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นที่สำคัญที่สุด ในความขัดแย้งระหว่างลัทธิกษัตริย์นิยมขัดแย้งกับลัทธิประชาชนนิยม ก็คือการที่ลัทธิกษัตริย์นิยมเน้นการสร้างให้ประชาชนมีศรัทธาต่อสิ่งภายนอกตน สนับสนุนระบบชนชั้น ระบบอุปถัมภ์ จนเกิดความอ่อนแอทางปัญญา การยอมรับคำสอนต่างๆ อย่างไม่ตั้งคำถามหรือโต้แย้ง ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความไร้อำนาจทางปัญญาที่จะคิดและตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีงาม อะไรคือสิ่งที่เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง สำหรับตนเองและสำหรับสังคม



สเครตีสรู้ตัวดีว่าเขาสร้างความระคายเคืองให้กับผู้คนในสังคม แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของนักปรัชญา นักปรัชญาเป็นเสมือนปลาไหลไฟฟ้า คือทำให้คนที่ถูกกระทบช๊อตจนมึนงงทำอะไรไม่ถูก นักปรัชญามีหน้าที่ทำให้คนที่ตนสนทนาด้วยรู้ว่าตัวเขาเองนั้นไม่รู้ เพื่อจะได้เริ่มต้นหาความรู้ต่อไป เมื่อนั้นเขาจึงมีโอกาสที่จะมีปัญญาจริงๆ เพราะคนมักจะหลงผิดว่าความเชื่อคือความรู้ จึงจะต้องถูกทำให้รู้ตัวเสียก่อนว่าความเชื่อที่เขามีอยู่นั้น ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง สำหรับสังคมเอเธนส์นั้นโสเครตีสเปรียบให้เป็นม้า ถ้าทุกอย่างปกติมันก็จะเอาแต่นอนกิน แล้วก็อุ้ยอ้ายเชื่องช้ากลายเป็นม้าเลว ตัวเขาเองจึงเป็นเหมือนตัวเหลือบที่จะต้องคอยกัดเพื่อให้ม้าเจ็บ สะดุ้งตื่น ลุกขึ้นสะบัดตัว เตะหน้าเตะลัง กระปรี้กระเปร่า มันจึงจะคงความเป็นม้าดีไว้ได้

มีอะไรบางอย่างที่ควรจะกล่าวเกี่ยวกับอนีตัส ผู้กล่าวโทษโสเครตีส ในบทสนทนาเรื่องเมโน (Meno) ซึ่งเมโนตั้งคำถามต่อโสเครตีสว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้หรือไม่ อนีตัสในวัยหนุ่มก็ร่วมอยู่ในการสนทนาด้วย และอนีตัสก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจต่อคำสอนของพวกโซฟิสต์ และกังวลต่อความดีงามในรัฐ ดังนั้นจึงเข้าร่วมการสนทนาดังกล่าว แต่เมื่อโสเครตีสเริ่มให้เหตุผลว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนให้กันไม่ได้ และพูดพาดพิงไปถึงรัฐบุรุษผู้เป็นที่เคารพรักของชาวเอเธนส์ว่า เป็นที่รู้กันดีว่าไม่มีใครสามารถสอนบุตรให้มีคุณธรรมอย่างที่บิดามีได้เลย อนีตัสก็โกรธและเดินออกไปจากวงสนทนา และกล่าวอาฆาตว่าโสเครตีสกำลังพูดในสิ่งที่จะนำภัยมาใส่ตัว โสเครตีสก็ได้แต่ฝากกับเมโนไว้ว่า อาจจะช่วยหาทางพูดกับอนีตัสให้ใจเย็นและมีเหตุผลมากกว่านี้ จะได้รับฟังเรื่องราวจนจบ (4) สิ่งที่เราเห็นก็คืออนีตัสเองก็มีความรักต่อความดีงามในสังคม แต่เขาก็มีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเพื่อรักษาความดีงาม ความจริงบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงที่อาจกระทบต่อบุคคลที่ผู้คนเคารพศรัทธา แต่สำหรับโสเครตีสแล้วปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าความจริงต้องมีขีดขวางกั้น และแม้คุณธรรมจะเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ แต่คุณธรรมก็ไม่อาจแยกออกจากปัญญาได้ ต่อเมื่อคนมีปัญญาเท่านั้น คนจึงจะบรรลุคุณธรรมที่แท้จริงได้

เราอาจกล่าวได้ว่าโสเครตีสตายเพราะอำนาจของคนที่ใช้ศรัทธาอยู่เหนือปัญญา และใช้อารมณ์โกรธจนไร้สติ พวกเขาปฏิเสธที่จะฟังเรื่องราวต่างๆ จนจบ เพื่อจะได้เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของโสเครตีส พวกเขามองเห็นว่าการวิจารณ์คือการทำลาย ทั้งที่มันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างสรรค์ สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ คนดีสามารถทำลายคนที่ดียิ่งกว่าตนได้ด้วยความเข้าใจผิด และด้วยเหตุแห่งการตกเป็นทาสของอารมณ์โกรธ ห้าศตวรรษหลังความตายของโสเครตีส ผู้ปกครองชาวโรมันรู้ด้วยปัญญาและประสบการณ์ของตน ว่าพระเยซูสอนในความดีที่สูงส่งกว่าศาสนาที่มีอยู่ และเขาพยายามจะต่อรองกับชาวยิวใต้ปกครองทุกวิถีทางที่จะไม่ลงโทษพระเยซู แต่ชาวยิวไม่ยอม ดังนั้นเพื่อความสงบสุขของสังคม เขาก็ต้องออกคำสั่งให้ตรึงกางเขนพระเยซูตามความต้องการของชาวยิว และพระเยซูก็ต้องใช้ชีวิตของพระองค์พิสูจน์คำสอนของพระองค์ว่า พระเจ้าปรารถนาให้มนุษย์รักผู้อื่นเสมือนรักตนเอง เพราะพระเจ้าคือความรักและการให้อภัย ซึ่งชาวยิวยอมรับการตีความพระเจ้าเช่นนี้ไม่ได้ พวกเขาเป็นทาสและถูกรังแกมามากเกินกว่าที่จะรักและให้อภัยต่อศัตรูที่บังคับตนลงเป็นทาส เขาจึงเห็นพระเยซูเป็นผู้ทรยศและทำลายความฝันของชาวยิวที่จะเอาชนะและกลับขึ้นเป็นนายบ้าง ในขณะที่พระเยซูแสดงออกถึงความรักและการให้อภัยต่อผู้ที่กำลังเฆี่ยนตีทรมานตน และกำลังตรึงกางเขนตน อยู่ตลอดเวลา นี่คือมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่สองคนที่ถูกทำลายโดยมนุษย์ที่ก็มิได้ชั่วร้าย แต่ปล่อยให้อารมณ์โกรธมาบดบังปัญญาและธรรมชาติฝ่ายดีในตน


แต่ตอนนี้ขอให้เราย้อนกลับมาดูสภาพที่สังคมไทยเป็นอยู่ ซึ่งหากเทียบกับสิ่งที่โสเครตีสพยายามกระทำให้กับกรุงเอเธนส์ ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเห็นว่า ในระดับของจิตสำนึกของผู้คนที่ปรากฏออกมาในวิถีการดำเนินชีวิต คนไทยใช้ศรัทธาอยู่เหนือเหตุผล ซึ่งเท่ากับการใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เห็นได้ไม่ยาก ว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดเช่นเดียวกันกับอนีตัสและคนที่ตัดสินเอาผิดต่อโสเครตีส นั่นก็คือ คนไทยเห็นว่าการวิจารณ์คือการทำลาย สำรวจวัฒนธรรมไทยให้ดี แล้วคุณจะพบว่าเราไม่มีวัฒนธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่เลย นี่เป็นจิตสำนึกของสังคมที่แสดงออกอย่างชัดเจนในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นก็คือ ในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สังคมไทยยึดถือว่าสิ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาสูงสุดจะต้องอยู่เหนืออำนาจในการวิพากษ์วิจารณ์ของใครๆ (5) การห้ามการวิพากษ์วิจารณ์คือการห้ามการพูดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นความจริง หากว่ามันส่งผลในทางลบต่อภาพพจน์ของสิ่งเป็นที่เคารพศรัทธา ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธคุณค่าที่ความเป็นจริงจะมีต่อปัญญาและต่อชีวิตของผู้คน แต่ทว่านี่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะภาพพจน์แห่งความดีงามของสิ่งๆ หนึ่งจะตัดขาดจากความเป็นจริงทุกประการที่เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้นได้อย่างไร และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามที่สุดที่เป็นไปได้ ได้อย่างไร หากเขาไม่สามารถรู้ความจริงทุกประการที่อยู่ในอำนาจที่เขาจะรู้ได้

คำตอบเดียว ของผู้ที่ต้องการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ เขาจำเป็นต้องห้ามการพูดความจริงทางลบก็เพื่อที่จะหยุดยั้งการพูดความเท็จทางลบ หมายความว่า เหตุที่มนุษย์จะต้องรู้ความจริงให้น้อยลงกว่าที่เป็นไปได้ ก็เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องถูกลวงด้วยความเท็จ ดังนั้น ปัจเจกบุคคลจึงไม่มีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่ามีอันตรายต่อสังคม ซึ่งหมายถึง ไม่มีเสรีภาพในการพูดอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่สังคมเคารพบูชา เพื่อคนอื่นจะได้ไม่ได้ยินในสิ่งที่เป็นเท็จ นี่คือหลักการที่ดีที่สุดผู้ที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จะสามารถยกขึ้นมากล่าวอ้าง หากเขาจะใจเย็นลงสักนิดหนึ่งและพยายามหาเหตุผลมารับรองสิ่งที่ตนเองกระทำมากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนโสเครตีสจะไม่เคยมีโอกาสพิจารณาประเด็นเช่นนี้ แต่คนที่พิจารณามันอย่างละเอียดคือ จอห์น สจ็วต มิลล์ (John Stuart Mill) ผู้ซึ่งเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยอังกฤษสมัยใหม่ ในหนังสือ On Liberty เขาเสนอตรรกบทที่ดีที่สุดที่เคยมีคนคิดขึ้นมา เพื่อหักล้างการปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ คือ เขากล่าวว่า


1)
ในความคิดเรื่องสิ่งที่ดีงามสูงสุดนั้น จะต้องหมายรวมถึงความมีเมตตาสูงสุดอยู่ด้วย และสิ่งที่มีเมตตาสูงสุด ย่อมอนุญาตให้ผู้อยู่ใต้อำนาจตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ตนได้ ดังนั้น ถ้าสิ่งๆ หนึ่งอ้างว่าตนดีงามสูงสุด แต่ไม่อนุญาตให้ใครตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งๆ นั้นย่อมยังไม่ดีงามสูงสุดจริง

2)
สำหรับสิ่งที่ยังไม่ดีงามอย่างสมบูรณ์นั้น หากอนุญาตให้มีการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งๆ นั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไปได้ และดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความดีงามสูงสุดของสิ่งที่มีอำนาจในสังคม และเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ต้องอยู่คู่กัน


ในเรื่องความกลัวต่อความเท็จนั้น มิลล์กล่าวว่า การปิดกั้นความเท็จคือการปิดกั้นปัญญาของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และเข้าใจความจริง เพราะความจริงจะปรากฏเป็นความจริงอย่างชัดเจนที่สุด ก็แต่เพียงเมื่อมีความเท็จมาวางเคียงข้างให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น หมายความว่า เราไม่อาจเห็นความจริงอย่างชัดเจนได้เมื่อมันปรากฏอยู่แต่เพียงลำพัง คือเมื่อไม่มีใครได้รับอนุญาตให้พูดถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมันได้ ความกลัวต่อความเท็จจึงเป็นความกลัวของคนขี้ขลาด เป็นความกลัวที่ทำร้ายตนเอง ดังนั้น เราจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับคำพูดทุกชนิดและใช้ปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงจากมัน ถ้าเรากลัวความเท็จ หรือขี้เกียจคิด เราก็จะไม่มีวันมีปัญญาที่แท้จริงเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้สติปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงไปเรื่อยๆ ชีวิตเราจึงจะพบกับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ดังคำกล่าวของโสเครตีสว่า “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบคือชีวิตที่ไร้ค่า” และดังนั้นเสรีภาพในการพูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากไม่มีเสรีภาพในการพูด ความสามารถในการคิดก็จะถูกทำลายลงไปด้วย เพราะหากคิดไปแล้วก็พูดออกมาไม่ได้ ก็ไม่รู้จะคิดไปทำไม และไม่มีใครจะมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความคิดพัฒนา (6)



เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์



หมายเหตุ

จากชื่อบทความเดิม “การรู้จักตนเองในความหมายของโสกราตีส : การแสวงหาปัญญาและการสร้างสังคมเหตุผลนิยมโดยคัดลอกและตัดตอนมาจาก บทที่ 4 จากหนังสือ “มนุษย์กับการรู้จักตนเอง:การรู้จักตนเองสำหรับคนหนุ่มสาวในสังคมไทย”


เชิงอรรถ

(1) ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสูงสุดในการปกครองประเทศ เราต้องถือว่ากฎหมายแสดง “จิตสำนึกของสังคม” ดังนั้น เราไม่ควรเข้าใจว่านี่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพราะโดยหลักการแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลที่เราควรถือว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันยิ่งปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าไม่ทรงอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลังจากพระราชดำรัชนั้นแล้วก็ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเล่นงานบุคคลต่างๆ อยู่เช่นเดิม กฎหมายนี้จึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะใช้เล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามเสียมากกว่า

(2) สิ่งที่เราควรตระหนักในเบื้องต้นก็คือ คึกฤทธิ์ มาจากชนชั้นสูง เป็นนักการเมืองอาชีพ พร้อมๆ กับการเป็นปัญญาชนระดับสูง แม้คึกฤทธ์จะมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางภูมิปัญญาในสังคมไทย แต่ก็เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมของลัทธิชาตินิยม ผู้ที่มีนโยบายสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชนอย่างแท้จริง ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นำของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

(3) การใช้ลัทธิกษัตริย์นิยมในสังคมประชาธิปไตย โดยตัวเองแล้วฟังดูเป็นเรื่องแปลก เพราะในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ระบบประชาธิปไตยเกิดจากการที่ประชาชนแย่งอำนาจมาจากกษัตริย์ ลัทธิกษัตริย์นิยมจึงเป็นเหมือนการที่รัฐบาลหรือประชาชนพยายามจะคืนอำนาจให้กษัตริย์ ถึงจุดหนึ่งอาจมีการขอรัฐบาลจากกษัตริย์แทนที่จะเลือกตั้งเอาเองก็เป็นได้ ซึ่งเท่ากับเลิกเป็นประชาธิปไตยนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ลัทธิกษัตริย์นิยมก็อาจมีผลดีต่อประเทศในระยะที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยยังอ่อนแอจนเกิดวิกฤตภายในอยู่เนืองๆ คือ กษัตริย์อาจสร้างสมบารมีและศรัทธาได้มากจนกลายเป็นศูนย์รวมของจิตใจได้อย่างแท้จริง และช่วยแก้ไขวิกฤติทางการเมืองภายในเช่นนั้นได้ แต่ถ้ากษัตริย์ได้สถานะเช่นนี้มาด้วยบารมีที่ตนเองสร้างสมขึ้นมาและทำให้ตนเองมีอำนาจที่พิเศษกว่าปกติ เช่น อยู่เหนือการตรวจสอบและการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้นทั้งมวลและมีอิทธิพลเหนือการเมือง โอกาสก็จะมีสูงมากที่ผู้คนที่แวดล้อมกษัตริย์จะนำอำนาจเช่นนั้นไปใช้ในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ขึ้นมาเป็นกษัตริย์คนต่อไปอาจไม่สามารถสร้างสมบารมีเช่นนั้นได้ แต่อาจต้องการอำนาจอันพิเศษกว่าปกติเช่นนั้น ระบบกษัตริย์ในฐานะของสถาบันทางสังคมก็อาจจะเกิดปัญหา

(4) ที่จริงแล้ว การที่โสเครตีสพูดว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลกแต่อย่างไร เพราะปัญญาที่แท้จริงก็เป็นสิ่งที่สอนให้กันไม่ได้เช่นเดียวกัน เราอาจให้ข้อคิดเห็นต่อกันได้ และมันก็มักจะมาจากญาณทัศนะของแต่ละคน แต่ญาณทัศนะจะกลายเป็นปัญญาที่แท้จริงได้ ก็เมื่อคนแต่ละคนเอาเหตุผลเข้าไปตรวจสอบมันในทุกแง่ทุกมุมที่เป็นไปได้ คนมักจะคิดว่าพอเขาได้ยินอะไรที่เข้าได้กับญาณทัศนะของตน นั่นก็คือความรู้ แต่โสเครตีสยืนยันว่า นั่นยังไม่เพียงพอที่จะเรียกว่าความรู้ ความรู้เป็นญาณทัศนะส่วนที่ผ่านการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์แล้วเท่านั้น คุณธรรมก็เป็นญาณทัศนะที่ต้องอาศัยเหตุผลเข้าไปตรวจสอบเช่นเดียวกัน

(5) ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักสูงสุดในการปกครองประเทศ เราต้องถือว่ากฎหมายแสดง “จิตสำนึกของสังคม” ดังนั้น เราไม่ควรเข้าใจว่านี่เป็นการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพราะโดยหลักการแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ไม่ได้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลที่เราควรถือว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันยิ่งปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าไม่ทรงอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่หลังจากพระราชดำรัชนั้นแล้วก็ยังมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเล่นงานบุคคลต่างๆ อยู่เช่นเดิม กฎหมายนี้จึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะใช้เล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามเสียมากกว่า

(6) การที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์นั่น ถ้าพูดตรงแล้วก็คือ มีวัฒนธรรมของความขี้ขลาดทางปัญญานั่นเอง หมายความว่า ถ้าจะคิดอะไรก็ต้องคิดในกรอบที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้นี่จะเป็นคำพูดที่รุนแรง แต่ก็ไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้ว วัฒนธรรมไทยสอนให้คนไทยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นี่คือสิ่งที่คนไทยไม่อยากยอมรับ แต่ก็จะแสดงออกทันทีที่มีคนไทยที่กล้าวิจารณ์วัฒนธรรมของตนเองในทางลบ เช่น อาจจะประณามคนเช่นนั้นว่าเป็นทาสของตะวันตก ทั้งที่การวิจารณ์ตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนในวัฒนธรรมไหนก็ควรกระทำ เว้นก็แต่ผู้ที่เชื่อว่าตนเองดีงามอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น



ที่มา : ประชาไท : จากโสเครติสถึงปัญญาชนสยาม กรณีกฎหมายหมิ่นฯ


*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เว็บหมิ่น


รัฐบาล 4 ชุดหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2549 ล้วนตั้งภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่ตนเองเหมือนกัน คือปิดเว็บไซต์ที่ถูกถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 หรือที่เรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

แสดงให้เห็นปริมาณที่มากมายของเว็บไซต์ซึ่งตกอยู่ในข่าย และแสดงให้เห็นความล้มเหลวในการทำภารกิจอย่างต่อเนื่อง

เว็บที่ถูกถือว่าเป็นเว็บหมิ่นเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหาร หรือเกิดขึ้นมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ความตื่นตัวที่จะจัดการกับเว็บเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ดูเหมือนเป็นคำเตือนของท่านประธานองคมนตรีก่อน และได้รับการขานรับจากกองทัพ, รัฐบาล และผู้หลักผู้ใหญ่บางคนตลอดมา

อันที่จริงจะถือว่าข้อความในทุกเว็บดังกล่าวล้วนผิดกฎหมายอาญา ม.112 ทั้งสิ้นเห็นจะไม่ได้ เพราะข้อความในหลายเว็บมิใช่การ "หมิ่นประมาท, ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" แต่อย่างใด แต่เป็นการวิเคราะห์พระราชดำรัสหรือการกระทำเท่านั้น การวิเคราะห์นั้นอาจผิดหรือถูกก็ได้

ตัวเลขจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ระบุว่า กว่า 80% ของเว็บไซต์เหล่านี้ส่งในต่างประเทศ ที่ส่งในประเทศไทยมีไม่ถึง 20% จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลหลายชุดได้ปิดเว็บประเภทนี้ไปร่วมร้อยแล้ว แต่หากใครยังต้องการอ่าน ก็สามารถค้นหาอ่านได้ไม่ยากด้วยระบบค้นหาข้อมูลปกติธรรมดา (เช่น Google, Yahoo) ผู้รับผิดชอบเคยกล่าวว่า ปิดเว็บไซต์ใดลงวันนี้ วันรุ่งขึ้นเขาก็เปิดใหม่ในชื่ออื่นได้ทันที

ผมไม่คิดว่า รัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่จริงใจในการจัดการกับเว็บหมิ่น เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ก็จะประสบความล้มเหลวอย่างเดียวกัน และไม่ว่าจะใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นอย่างไรก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะหากพูดกันโดยทางเทคโนโลยีแล้ว การปิดเว็บไซต์ที่มีมากขนาดนี้ทำไม่ได้

จีนลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือและผู้คนมหาศาล ในการควบคุมการไหลของข่าวสารข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต แม้กระนั้นก็ยังมีผู้วิเคราะห์ว่า ยังมีอีก 20% ที่เล็ดลอดเข้าไปสู่สายตาคนจีนจนได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่มีใครสามารถสร้างกำแพงเบอร์ลินบนพื้นที่ไซเบอร์ได้ ไม่ว่าจะลงทุนสักเท่าไร และไม่ว่าจะต้องฆ่าล้างผลาญกันสักเท่าไร


ความจริงข้อนี้ใครๆ ก็รู้ และผมเชื่อว่ารัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาก็รู้ รัฐบาลนี้ก็รู้ เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องขานรับคำเตือนของผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะเป็นการแสดงความจงรักภักดีที่ง่ายที่สุด แม้จะรู้ว่าไม่ได้ผลอะไรมากนักก็ตาม เป็นแต่เพียงท่าทีทางการเมืองที่ "ถูกต้อง" เท่านั้น

(สมาชิกพรรค ปชป.ในขณะเป็นฝ่ายค้าน ก็เลือกแสดงท่าที "ถูกต้อง" ทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน คือเสนอให้เพิ่มโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในขณะที่โทษในปัจจุบันก็สูงมากอยู่แล้ว คือจำคุก 3-15 ปี)

ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ด้วยวิธีอื่นใด นอกจากการใช้อำนาจเชิงกายภาพ (กฎหมาย, การลงโทษ, การปิดเว็บไซต์หรือปิดกั้นข่าวสารข้อมูล, ยุให้เกิดจลาจลจนถึงบ้อมผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อดังเหตุการณ์ 6 ตุลา, ฯลฯ) สะท้อนความอับจนของสังคมไทยเองในการปกป้องสิ่งที่ตนเห็นว่ามีคุณค่า กล่าวคือไม่มีวิธีอื่นใดมากไปกว่าอำนาจเชิงกายภาพ (เช่น การปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยการบัญญัติอย่างโต้งๆ ลงไปในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ)

การใช้อำนาจเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวยังทำให้เกิดสถานการณ์ที่น่าเย้ยหยันตามมาด้วย ดังเช่นความพยายามปิดเว็บหมิ่นและข้อความที่สื่อนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในเมืองไทย ทำให้เกิดสถานการณ์ที่คนนอกสามารถรู้ข้อมูลหรือความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้ทุกอย่าง ในขณะที่คนไทยไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้อย่างเดียวกัน

อำนาจเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวใช้ปกป้องอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปในอดีต หรือมองเลยขึ้นไปจากปัจจุบันถึงอนาคต ทั้งสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในเมืองไทยมานานได้ ก็เพราะได้รับการปกป้องด้วยสติปัญญา อำนาจที่ใช้ในการปกป้องมีความหลากหลายกว่าเชิงอำนาจเพียงอย่างเดียว ทั้งอำนาจในเชิงวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และสังคม ตอบสนองต่อการท้าทายใหม่ๆ ซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในความเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการปรับตัวเอง และนิยามสถานะกับคุณค่าของตนในสังคมใหม่เสมอมา

ในท่ามกลางเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลที่เราเผชิญอยู่ ถึงอย่างไรสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศาสนา, รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, ศาล, กองทัพ, ฯลฯ) ก็จะถูกท้าทายโดยเปิดเผย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากทำในสื่อทั่วไปไม่ได้ ก็จะทำในพื้นที่ไซเบอร์ซึ่งนับวันก็จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเสมอ ยิ่งกว่านั้น โลกที่ไร้พรมแดนย่อมทำให้การท้าทายไม่จำเป็นต้องเกิดในขอบเขตอำนาจรัฐไทยเสมอไป แม้การท้าทายอาจทำในออสโล, ปารีส, ลอนดอน หรือดีทรอยต์ แต่ในแง่ของการเข้าถึงก็ไม่ต่างจากการทำที่บางลำพู

สังคมไทยจะตอบสนองต่อการท้าทายนี้อย่างไร ในเมื่ออำนาจในเชิงกายภาพไม่อาจช่วยปกป้องสถาบันเหล่านี้ได้อีกแล้ว ผมคิดว่ามีหนทางอยู่สามประการที่ต้องทำ


1

สถาบันสำคัญๆ ของชาติต้องปรับตัวเอง ไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างว่าสถาบันต่างๆ ของไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร (uniqueness) เพราะในขณะที่อ้างเช่นนั้น เราก็ต้องการความเป็น "สากล" ของสถาบันเหล่านั้นไปพร้อมกัน แม้แต่การเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องยอมรับ "มาตรฐาน" สากลบางอย่าง หรือการจัดงานเฉลิมวัชราภิเษกครองราชสมบัติครบ 60 ปี และทูลเชิญกษัตริย์จากทั่วโลกมาร่วมงาน ก็คือการประกาศความเป็น "สากล" ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธลักษณะเฉพาะ (uniqueness) ของสถาบันสำคัญของชาติต่างๆ เสียทีเดียว ลักษณะเช่นนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะมีความเฉพาะอย่างไร ก็ต้องสามารถอธิบายได้ด้วยมาตรฐานคุณค่าสากลอยู่นั่นเอง เช่น ประชาธิปไตย, ความยุติธรรม, สิทธิมนุษยชน, ความรับผิดหากทำอะไรที่กระทบถึงผู้อื่น (accountability) เป็นต้น (อย่างเดียวกับที่ฝ่ายกษัตริยนิยมในประเทศไทยอธิบายระบบปกครองโบราณของไทยตั้งแต่จารึกพ่อขุนรามฯ ว่าเป็นประชาธิปไตย)

ดังนั้น ในการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ จึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องอธิบายหรือชี้ให้เห็นว่า คำพิพากษา, หรือพระราชกรณียกิจ, หรือวัตรปฏิบัติของสงฆ์ไทย สอดคล้องกับหลักการของระบบคุณค่าอันเป็นสากลอย่างไร และพร้อมจะเผชิญกับการทักท้วงของคนอื่นนอกประเทศไทย ด้วยข้อถกเถียงที่มีพลังอธิบายมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยการขจัดให้พ้นหน้า (dismiss) ด้วยอำนาจเชิงกายภาพ, หรือเพราะไม่ใช่คนไทยจึงไม่มีทางเข้าใจ


2

เปลี่ยนจากการปกป้องด้วยอำนาจเชิงกายภาพมาสู่อำนาจเชิงเหตุผลและวิชาการ และต้องทำอย่างฉลาด คำว่าฉลาดในที่นี้หมายถึงไม่ตอบโต้ในกรณีที่ไม่ควรตอบโต้ เช่น การประณามหยามเหยียดที่ไร้เหตุผล เช่นการนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปแปลงให้น่าเย้ยหยันและกระจายอยู่ในยู-ทิวบ์ แทนที่จะปิดยู-ทิวบ์ก็ควรปล่อยให้ภาพนั้นปรากฏตามปกติ เพราะผู้มีใจเป็นธรรม ไม่ว่าจะมีความคิดเชิงกษัตริยนิยมหรือไม่ก็ตาม ย่อมรังเกียจการกระทำเช่นนั้น การทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คือการโจมตีบุคคลที่ทำให้บุคคลนั้นได้รับความเคารพนับถือจากคนทั่วไปมากขึ้น ฉะนั้น การปล่อยภาพเช่นนั้นไว้เสียอีก ที่เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างได้ผลกว่า

ไม่นานมานี้มีบทความในนิตยสาร The Economist วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย แม้ตัวแทนจำหน่ายตัดสินใจไม่จัดจำหน่ายในประเทศไทย (คงเพื่อไม่ต้องเป็นปัญหาในคดีอาญา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีผู้อ่านมากกว่าปกติ เพราะสามารถเข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตได้สะดวก แม้แต่คนที่ไม่เคยอ่าน The Economist เลยก็ได้อ่าน

มีบทความที่เขียนตอบโต้คำวิพากษ์นี้สองบทความที่ผมเห็นว่าเป็นการตอบโต้ในเชิงของเหตุผลและข้อเท็จจริง คือบทความของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร (ในมติชน) และของท่านรองนายกฯนอกตำแหน่ง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย (ใน Bkk Post) ไม่ว่าคุณภาพของการตอบโต้เชิงเหตุผลและข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ยังนับว่าเป็นความพยายามจะเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างคน (และสังคม) ที่มีวุฒิภาวะ

นี่คือตัวอย่างของการปกป้องสถาบันสำคัญของชาติที่เหมาะสมสำหรับโลกยุคปัจจุบัน และถ้าสังคมไทยคิดจะปกป้องสถาบันสำคัญของตนต่อไป ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตอบโต้ในลักษณะนี้ อันประกอบด้วยการไม่ปิดกั้นข่าวสารข้อมูลเป็นเบื้องต้น


3

ควรทบทวนกฎหมายที่มีทางเลือกแต่เพียงการใช้อำนาจเชิงกายภาพอย่างเดียว ในการปกป้องสถาบันสำคัญๆ ของชาติเสียที เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรให้อำนาจการฟ้องร้องไว้กับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น หรือจะสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องอย่างไรก็ตามขึ้นก็ได้ เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง (ระดับชาติและระดับส่วนบุคคล) หรือถูกนำไปใช้พร่ำเพรื่อเสียจนเป็นที่เยาะเย้ยเหยียดหยันของคนอื่นในโลก

เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ก็ควรนำมาทบทวนให้เกิดความเข้าใจตรงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน ตัวอย่างเช่นกฎหมายหมิ่นศาล ควรตีความให้แคบและกระชับเพียง การกระทำใดๆ ก็ตามที่ขัดขวางบิดเบือนกระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีเท่านั้น ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา หรือการแต่งกายและนั่งไม่เรียบร้อยในศาล (ถ้าการแต่งกายและการนั่งขัดขวางบิดเบือนการไต่สวนพิจารณาคดี ก็เป็นความผิด)


สถาบันสำคัญของชาติต่างๆ ดำรงอยู่สืบมาและสืบไปได้ ก็ด้วยปัจจัยสามประการนี้คือ ปรับตัวเป็น ตอบสนองการท้าทายใหม่ๆ เป็น และได้รับการปกป้องเป็น


นิธิ เอียวศรีวงศ์

มติชนรายวัน 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11272 ( หน้า 6. )


ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน : เว็บหมิ่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2552

The cracks widen in Thailand’s wall : รอยแตกที่ยาวขี้นของกำแพงไทย



W. SCOTT THOMPSON

The New Straits Times Online : The cracks widen in Thailand’s wall

14 มกราคม 2552


แปลและเรียบเรียงโดย : chapter 11



รอยแตกที่ยาวขี้นของกำแพงไทย


ปรัชญาชาวกรีกกล่าวว่า “คนเกิดมาด้วยความบริสุทธิ์และตายไปด้วยตัณหา” หรือความหมกมุ่น

นั่นอาจจะเป็นชะตากรรมของประเทศไทย การดิ้นรนในสองปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องระหว่างทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มเสื้อแดง กับพันธมิตรเสื้อเหลืองฝ่ายราชวงศ์ ร่วมด้วยพรรคเพียงแต่ในนาม คือ “ประชาฺธิปัตย์” ในอีกด้านหนึ่ง

ซึ่งเป็นมุมมองสองด้านว่าราชอาณาจักรควรจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือที่ว่า ควรจะเป็นราชอาณาจักรหรือไม่

ขณะนี้ ประเทศยังเป็นราชอาณาจักร ราชบัลลังก์เป็นส่วนค้ำจุนของระบอบชนชั้น ซึ่งวัดความมั่งคั่งจากการมีรถยนต์นำเข้า BMW และ Mercedes Benz (เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรต่อคน) ซึ่งไม่มีที่ไหนเทียบได้ในโลกนี้ นี่ยังไม่ได้รวมถึงเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้ ขี้นอยู่กับระบบบัญชีอย่างไหน ว่ากษัตริย์เป็นบุคคลที่รวยที่สุดของโลก

ชนชั้นปกครองที่ประสบผลสำเร็จจะฉลาดในการซ่อนอภิสิทธิ์ของตัวเอง ผมมีเพื่อนฝรั่งในกรุงเทพซึ่งไม่ทราบความหมายของคำว่า “มรว” และ “มล” สำหรับหม่อมราชวงศ์ (เหลนของกษัตริย์) และ หม่อมหลวง อันเป็นรุ่นถัดไป พวกเขาเหล่านี้รั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงและเอกอัครราชทูตต่างๆ ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับคนชนชั้นอื่น

แน่นอน พวกเขาเหล่านี้มีคุณสมบัติเหมาะสม พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่ออายุ 8 ขวบได้รับการศึกษาจากโรงเรียนในอังกฤษ ที่อีตั้น วินเชสเตอร์ ออกซ์ฟอร์ด แคมบริจจ์ พวกเขาพูดภาษาอังกฤษตามวิธีการของราชินีอังกฤษพูด และเมื่อเขากลับประเทศไทยก็ได้รับสิทธิ์พิเศษมากขี้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งซึ่งมียศ “มรว” กล่าวว่าพวกเขารู้จักการ “บริหารประเทศ” และรู้ว่าจะรักษาสถานะภาพของตัวเองได้อย่างไร คำถามคือทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงอยู่สถานะนั้นตั้งแต่แรก

จากเริ่มแรก พวกเขาเห็นว่าทักษิณกำลังโจมตีพวกเขา ผ่านทางคะแนนนิยมและทำความสั่นสะเทือนให้กับระบอบของพวกเขา

มาทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า กษัตริย์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศชาติ ท่านได้เสริมสร้างราชบัลลังค์อย่างน่าประทับใจ และในระหว่างขั้นตอนนั้นท่านได้รวมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งเดียว และในขณะเดียวกันก็สร้างเกราะป้องกันในระหว่าง 60 ปีที่ผ่านมา คนไทยรักกษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ดี แต่ระบอบชนชั้นนั้นเล่า ท่านทรงพระราชทานยศและศักดิ์ซึ่งมีค่ามหาศาล กษัตริย์ได้พระราชทานสิทธิให้นายพลทั้งหลาย ซึ่งเข้าพระราชวังทางประตูหลังและออกมาประตูหน้าพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์

เอ็นจีโอ (NGO) องค์กรไม่ฝักใฝ่การเมือง (ภาษาไทยเหมือนคำว่า “โง่”)ได้เสแสร้งโจมตีระบอบชนชั้นและผู้สนับสนุนราชวงศ์ เขารู้ว่าใครค้ำจุนระบอบนี้อยู่ แน่นอน เขาไม่โจมตีกษัตริย์ในด้านส่วนตัว ไม่เหมือนโจมตีทักษิณ แต่อย่าได้เข้าใจผิด พวกองค์กรทั้งหลายเหล่านี้ได้คืบจะเอาศอก พวกเขารอฉวยโอกาสเท่านั้นเอง ที่อื่นๆนักเรียกร้องสิทธิสามารถโจมตีเรื่องความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่สำหรับประเทศไทยนั่นหมายถึงโจมตีราชบัลลังค์ ถ้าคุณต้องการจะสาวให้ถึงต้นเหตุ ดังนั้นพวกเขาต้องโจมตีไปที่ตัวแทนของราชวงศ์ เช่นนายพลคนโปรดทั้งหลาย

หยิบถั่วปากอ้าขี้นมาและทุกๆคนในกรุงเทพจะหัวเราะหัวสั่นหัวคลอน มันคล้ายคลึงกับเจ้าหญิงที่คนไม่นิยมของราชวงศ์ แต่ไม่มีใครกล้าพูดสักคำ เพราะถ้าพูดก็หมายถึงต้องโดนข้อหาหมิ่นฯ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักสำคัญของระบอบชนชั้น

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ ผลผลิตจากอีตัน-ออกซ์ฟอร์ด เริ่มต้นดี (คนไทยพูดว่า เป็นเลขนำโชคของเขา) มีพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคชนะการเลือกตั้งซ่อมได้เสียงเพิ่มมาอีก 20 เสียง ที่เห็นชัดที่สุด ในวันรับพระราชทานโอวาส คืออภิสิทธิ์นั่งเก้าอี้ต่ำว่ากษัตริย์แน่ๆ

บางทีกษัตริย์ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงพยายามที่จะทำพระองค์ให้ห่างจากความวุ่นวายที่ท่านช่วยสร้างในระยะสองปีครึ่งที่ผ่านมา

ไม่ใช่พระราชินี ท่านแยกกันอยู่กับกษัตริย์ ประทับในพระราชวังจิตรลดาอันเป็นพระราชวังสไตน์เอ็ดวาเดียนในกรุงเทพ มีกษัตริย์ครองแผ่นดิน (และส่วนใหญ่ของเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้ปกครองแผ่นดิน) จากหัวหิน ราชินีทรงเลือกที่รักมักที่ชัง เห็นได้จากการไปงานศพของผู้หญิงที่เสียชีวิตในการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร ทำให้พระองค์ถูกโจมตีอย่างหนักและสุดท้ายพระองค์ส่งของขวัญพระราชทานแก่ครอบครัวของผู้ประสบเคราะห์ร้ายทุกครอบครัว

คนโปรดของพระองค์คือบรรดาเหล่าพันธมิตร

ราชวังอาจแยกเป็นสองข้าง แต่เป็นคำถามเปิดที่ว่าราชินีได้สนับสนุนทางการเงินตามความต้องการของกษัตริย์จริงๆหรือไม่ กษัตริย์ได้กำจัดทักษิณออกไป ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พรรคตัวแทนของทักษิณไม่สามารถนำชัยชนะมาได้ ชนชั้นสูงของมนิลาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ชนชั้นสูงอาศัยเบื้องหลังกำแพงแก้วสูงถัดจากหมู่บ้านที่เผาฟืน

ชนชั้นปกครองของอเมริกา (แน่นอน มีชนชั้น) ได้หลบซ่อนความสำเร็จโดยใช้การปฎิเสธแบบหน้าตายว่าประเทศตัวเองให้สิทธิเสมอภาคและจะไม่อดทนต่อความไม่เสมอภาคกัน ในทางตรงข้ามกัน ศักดินาไทยอาศัยอยู่ในถิ่นหรู มีรั้วซ่อนรถที่จอดไว้หลายๆคัน ผมยังจำอาหารมื้อค่ำที่หัวข้อสนทนาเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่น่าอัศจรรย์ของไทย และพวกศักดินาชั้นสูงของไทยได้เสริฟไวน์ Petrus, Haut, andBeaune ที่แพงลิบลิ่ว ความหรูหรานี่เกิดขี้นก่อน ที่จะเกิดการปะทะในปี 2540

แม้ว่ายุทธวิธีของศักดินาจะได้ผลดี แต่กำแพงมีรอยแยกเสียแล้ว
แค่รูปของอภิสิทธิ์กับกษัตริย์คงไม่พอหรอก

ความจริงที่ว่า สองปีที่ศักดินามีอำนาจเหนือประชาชนควรจะเป็นการเตือนภัยได้เพียงพอ แม้ทักษิณจะจากไปแต่สิ่งที่เขาทำไปยังคงอยู่

ในปี 2533 อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศถนัด คอมันต์ได้อธิบายให้ผมฟังถึงเหตุผล 3 อย่างของความสำเร็จของประเทศไทยคือ กษัติริย์ ชนชั้นปกครองศักดินา และนักธุรกิจศักดินารวมทั้งครอบครัว

“ชนชั้นปกครองศักดินาอนุญาตให้กลุ่มนักธุรกิจศักดินาคุมเศรษฐกิจ” ซึ่งความลับเล็กน้อยที่ว่าเป็นคนจีนทั้งหมด (นายกรัฐมนตรีหลายคนก็เป็นคนเชื้อสายจีน มีนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่เกิดที่เมืองจีนด้วยซ้ำไป) กฎสำหรับการบริหารธุรกิจครอบครัวคือการไม่มีหนี้ ซึ่งทำให้ราชอาณาจักรคงยังอยู่ได้หลังจากการปะทะกันในปี 2540 แต่นักธุรกิจศักดินาลูกครึ่งจีนไทยต้องการมากกว่านั้น พวกเขาได้บริหารองค์กร NGO ด้วยนอกเหนือจากนายธนาคารและนายหน้าค้าหุ้น มีการอนุญาตให้แต่งงานได้แต่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นปกครองศักดินา ซึ่งผลที่จะได้ตอบแทนไม่ทราบแน่ชัด บางทีคนรุ่นถัดไปอาจจะรู้มากขี้น

ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มปีใหม่ด้วยความเรียบร้อยเกินความคาดหวัง เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศก็ควรยินดีด้วย


W. SCOTT THOMPSON

(*นักเขียนเป็นอาจารย์ที่เกษียณของโรงเรียนกฎหมายและการฑูตเฟลทเช่อร์)


ที่มา : Liberal Thai : รอยแตกที่ยาวขี้นของกำแพงไทย

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

ประชาชนเต็มกลั้น


วังว่าคนไทยคงยังไม่ลืมพระราชปณิธานในลายพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีความตอนหนึ่งว่า


“......ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน......”


พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยที่พระองค์ทรงพระปริวิตกว่าระบอบประชาธิปไตยดังว่า อาจจะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกาะกุมและใช้กลไกของระบอบเข้าคลุมอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงตัวตนของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

เป็นเวลากว่า 75 ปี แล้ว ที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่า ระบอบการเมืองที่มีผู้นำเผด็จการในรูปต่าง ๆ จนถึงเผด็จการนายทุน-ขุนศึก ล้วนแล้วแต่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงกลายสภาพเป็นประชาธิปไตยแบบเป็ดง่อยพิกลพิการเข้าไปทุกที

THE END OF THE ABSOLUTE MONARCHY IN SIAM ที่เขียนโดย BENJAMIN BATSON ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ THE END OF THE ABSOLUTE MONARCHY IN SIAM เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของอาจารย์เบนจามินที่ทำขึ้นเสนอต่อมหาวิทยาลัยคอร์แนล หนังสือเล่มนี้แปลเป็นไทยไปแล้วหลายครั้ง ภายใต้ชื่อว่า อวสานต์สมบูรณาญาสิทธิราชในสยาม ถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเข้าถึงแก่นแท้จะเห็นถึงภาพความล้มเหลวในหลายขั้นตอนของการพัฒนาการเมืองไทยในยุคเริ่มแรก ที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ – รัฐบาล ขุนน้ำขุนนางใหญ่น้อย

รวมทั้งบทบาทของสื่อ ในบริบทต่าง ๆ ด้วย กรอบลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต บอกให้เราศึกษาภาวะของการเมืองในปัจจุบันอย่างเห็นภาพและมีความน่าเชื่อถือมาก เพราะอาจารย์เบนจามินเขียนขึ้นจากหลักฐานและข้อมูลมากกว่าการนำบทวิเคราะห์มาวิพากษ์วิจารณ์ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนภาพได้มากที่สุด ดังที่นักประวัติศาสตร์มักกล่าวอยู่เสมอ ๆว่า ประวัติศาสตร์นั้นมักซ้ำรอยเสมอ

ในสภาพบ้านเมืองในปัจจุปัน ในนัยยะของการล่มสลายของรัฐบาลอภิมหาทุนนิยม จนเกิดกลุ่มสองขั้วขึ้นในขณะนี้ ประชาชนน่าจะมองเน้นไปที่ผลงานของความเป็นเนื้อแท้ของรัฐบาลทุก ๆ รัฐบาล แล้วเอามาเปรียบเทียบ ดังที่ วิลเลียม คอบเบ็ต นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษเขียนไว้ว่า


“.........การที่เราจะตัดสินได้อย่างถูกต้องว่ารัฐบาลดีหรือเลวนั้น ประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายของแต่ละรัชกาลทำให้เราได้รู้ว่าราษฎรได้อะไรบ้างจากการที่พวกเขาออกแรงทำงาน และเขาต้องจ่ายอะไรบ้างเพื่อที่จะได้อาหารมา นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาให้รอบคอบกว่าประวัติศาสตร์ส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด.........”

(จากอวสานต์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ หน้า 17)


นัยยะนั้นคือให้ความสำคัญกับบทบาทของราษฎรนั่นเอง

เรา(บางคน)กำลังเผชิญหน้ากัน เพื่อสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยที่มีใครบางคน(ส่วนน้อย)เหล่านั้นได้อภิมหาผลประโยชน์หลังการเผชิญหน้าของราษฎร โดยที่ทั้งก่อนหน้าและภายหลัง ล้วนแล้วแต่ราษฎรจะต้องเสียผลประโยชน์ทุกครั้งไป บางคนเสียชิวิต-บาดเจ็บ และพิการ บางคนเป็นบาดแผลในจิตใจติดตัวไปตลอดชีวิต

ราษฎรต่างหากที่เสียเปรียบในทุกขบวนการของการเมืองขับเคลื่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบไหน ดีเลวถี่ห่างอย่างไร ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบอบที่เลวน้อยกว่าระบอบอื่น ๆ ณ เวลานี้ เพราะอย่างน้อยประชาชนยังพอมีทางเลือกได้บ้าง แม้จะอยู่ในภาวะที่ต้องแบกหามนายทุนบริหารอยู่บนบ่า ดังที่ ลิโอ ตอลสตอย มหากวีรัสเซีย เขียนไว้ว่า


ฉันเสียใจที่เธอต้องแบกฉันไปเรื่อย ๆ
เธอจะขออะไรฉันจะให้ทุกอย่าง
ยกเว้นการขอให้ฉันลงจากบ่าเธอ


นั่นเป็นสำนึกของผู้กดขี่

ในแวดวงการเมืองไทยหรือที่ไหนในโลกก็ใกล้เคียงกัน เมื่อนักการเมืองสายพันธ์ผลประโยชน์เหล่านี้ยังคงธำรงอยู่เต็มพรรคเต็มสภาผู้แทนราษฎร แล้วสิ่งที่ประชาชนหวังนั้น เขาจะตอบสนองได้แค่ไหน

การสิ้นสุดระบอบทักษิณ ก็เพื่อจะมีทักษิณในชื่ออื่น ๆ ต่อไป ชวลิต – บรรหาร – ชาติชาย – ชวน – ควง – ถนอม – สฤษดิ์ ฯลฯ ผู้นำเหล่านี้พาชาติถอยจมมาเป็นลำดับ

ใครไม่เชื่อลองกลับไปอ่านข้อคิดของ วิลเลียม คอบเบ็ต ในตอนต้นดูอีกคำรพ

การเผชิญหน้าของประชาชนสองฝ่าย จึงไม่ใช่แค่ทักษิณหรือไม่ทักษิณ ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เรามีประวัติการฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด โดยที่ประชาชนไม่ยี่หระอะไรกับมาตราไหน ๆ โดยทั้งนั้น บางครั้งฉีกฉบับใหม่งัดฉบับเก่า ๆ มาปัดฝุ่นใช้ หรือบางทีเขียนขึ้นใหม่แค่ 20 กว่ามาตราก็ยังเคยมีมาแล้ว)

การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นเพราะแรงหนุนเนื่องของคนต่างขั้ว คนต่างขั้วที่ยืมมือประชาชนมาใช้งานอย่างมีระบบแยบยลและเนียนที่สุด

โดยมีเป้าหมายในการ “ยึดสภา” ให้เป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่เป็นฝ่ายชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย มีเป้าหมายที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่ออำนาจที่ซ้อนอำนาจ

อำนาจซ้อนอำนาจเป็นอย่างไร? ให้กลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยหลังยุคการปฏิวัติ ตุลาคม 2501 จะเห็นอำนาจซ้อนอำนาจอย่างใสกระจ่าง โดยที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์มีอำนาจที่อยู่ใต้อำนาจอันแท้จริง

การเผชิญหน้าของประชาชนทั้งสองฝ่าย ราษฎรเป็นเพียงหมากรุกบนกระดานการเมือง ที่รอวันล้มกระดาน นั่นก็จะกลายเป็นบทเรียนของประชาชนในภาคการเมือง ที่ไม่ยอมจดจำสักทีว่าประชาชนนั้นเป็นได้ก็เพียงหมากรุกบนกระดานเท่านั้น ตราบใดที่บ้านเมืองไทยมีนักวิชาการขายตัว มีนักการเมืองขี้ฉ้อคอรัปชั่นมากกว่านักการเมืองที่ดี แล้วยังมีราษฎรที่เห็นแก่อามิสเล็ก ๆ ในการชุมนุม เห็นแก่อามิสเล็ก ๆ ในการขายเสียงให้กับนักการเมืองเลวระยำ

วันนี้เป็นการเผชิญหน้าที่เลวร้ายที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเผชิญหน้าของคนในชาติเดียวกัน ที่ดื่มกินและมีวัฒนธรรมประเพณีเดียวกัน พูดภาษาเดียวกันและแน่นอนมีอัธยาศัยที่งดงามเกินกว่าตัวอักษรจะบรรยายได้ความครบถ้วน

แล้ววันนี้เรามายืนประจัญหน้ากันอย่างระห่ำ

การเกิด – การมี หรือการสิ้นสุดระบอบทักษิณ ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เรามีคำตอบผ่านคำถามที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศแล้วหรือยัง ?

แล้วใครจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์หลังความวุ่นวายสิ้นสุดลง พันธมิตรประชาชนรับผิดชอบหรือไม่ พรรคพลังประชาชนถึงวันนั้นแตกสานซ่านเซ็นไปอยู่มุมไหนของโลกนี้ก็ยังไม่รู้ได้


ใครคือผู้มากบารมีในทัศนะของทักษิณ
แล้วผู้มากบารมีคนนี้เป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่?

คำตอบสุดท้ายก็คือ ทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ประชาชนเต็มขั้นทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องรับผิดชอบทุกทีไป


สยามยูเอสรีดเดอร์

ที่มา : siamusreader.com : การเมือง : ประชาชนเต็มกลั้น

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

ผลัดแผ่นดิน



ถ้าผลัดแผ่นดิน ใครจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป

ครั้งหนึ่งเมื่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนนามโดดเด่น เดินทางมาปาฐกถาและสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และเป็นธรรมเนียม ที่ ส. ศิวรักษ์ มักจะใช้เวลาที่เหลือก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ท่านมักจะไปเยี่ยมเยียนบรรดาลูกศิษย์ – ลูกหาหลายคนในเมืองนางฟ้า ลอส แองเจลิส พร้อมกันนั้น ท่านก็จะนัดเพื่อน ๆ ชาวไทยไปสนทนาปัญหาบ้านเมือง ในประเด็นต่าง ๆ อย่างออกรสออกชาติ

ครั้งนั้นหลังอภิปรายและปาฐกถาจบลง ได้มีชาวไทยและสื่อไทยในเมืองแคลิฟอร์เนีย ถามว่า ถ้ามีการผลัดแผ่นดิน ใครจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป

ส. ศิวรักษ์ ตอบคำถามนี้ได้อย่างทันควันว่า ก็จะต้องเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร อย่างแน่นอน ท่านอธิบายต่อไปว่า นี่คือการสืบสันตติวงศ์อย่างถูกต้องเป็นไปอย่างที่ได้วางกฎเกณฑ์ไว้โดยทุกประการ

คำถามลำดับถัดมาของคนไทยในแอลเอ ว่า แล้วสมเด็จพระเทพฯ
ซึ่งเป็นพระสยามบรมราชกุมารี เล่าจะดำเนินไปอย่างไร

ส. ศิวรักษ์ ตอบว่า ลำดับการสืบสันตติวงศ์ดังที่ทราบนั้น เป็นการถูกต้องชัดเจนแล้วเช่นกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่จะรับได้หรือไม่ในการมีพระมหากษัตริย์เป็นควีนส์

การตั้งคำถามและคำตอบที่ได้รับจากปากของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถือเป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็น ความตรงไปตรงมาในการสืบสันตติวงศ์ โดยไม่มีการเมืองเรื่องอื่น ๆ ใดมาแทรกแซง สิ่งที่ได้วางไว้อย่างสมบูรณ์ย่อมต้องดำเนินไป ถ้าไม่มีเหตพลิกผันอื่น ๆ มาแทรก

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยืนยันทั้งงานเขียนและการปาฐกถาทุกครั้งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องธำรงคงไว้ในประเทศของเรา เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญอย่างมหาศาลกับจิตสำนึกของคนในชาติ และเอื้อประโยชน์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขและทรงอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามที่ประชาชนเข้าใจกัน

สิ่งสะท้อนความเป็นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็คือ เป็นผู้เชื่อใน สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นัยยะของความเชื่อนั้น เขาต้องการให้สถาบันนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ บนพื้นฐานของข้อมูล – ข้อเท็จจริงและเป็นสัจจธรรม รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์ก็สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งจะต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แลติติงอย่างยุติธรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้สถาบันและองค์พระประมุขธำรงอยู่ได้อย่างโปร่งใส ฯลฯ แต่นัยยะนี้สะท้อนอยู่ที่ตัวของสุลักษณ์แต่เพียงผู้เดียว หรือเป็นเพียงกลุ่มน้อย เพราะทุกครั้งที่สุลักษณ์วิพากษ์สถาบันและองค์พระประมุข เขากลับได้รับผลกระทบถึงคุกตะรางอยู่หลายครั้ง และเป็นความในโรงในศาลหลายต่อหลายคดี

แต่ข้อสำคัญก็คือในทุกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น สุลักษณ์พ้นพงหนามจากการตั้งข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานมาโดยตลอด มิใยที่หลายฝ่ายต้องเกิดอาการขัดใจ และแทบทนไม่ได้กับผลการตัดสินให้เขาพ้นโทษพ้นผิด

ในมายาคติหลายบริบทดังกล่าวจึงหนีไม่พ้นกับคำพูดในระดับชาวบ้านให้ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า สุลักษณ์ ด่าในหลวง สุลักษณ์ หมิ่นในหลวง ฯลฯ โดยที่เนื้อแท้ของการเขียน การพูด และอภิปรายของเขาห่างไกลจากคำเหล่านี้อย่างล้นพ้น แต่ตรงกันข้ามความสำนึกนำในสถาบันพระมหากษัตริย์ของสุลักษณ์ กลับมีสูงกว่าใครในบ้านเมืองหลายคน โดยเฉพาะผู้อยู่ในเครื่องแบบและผู้มีอำนาจในแผ่นดิน โดยที่คนสอพลอเหล่านี้แยกไม่ออกระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับ พระมหากษัตริย์

แยกไม่ออกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ตราไว้นั้น
ใช้ได้กับใคร และพระราชวงศ์พระองค์ไหนบ้างที่ไม่ได้อยู่ในข่ายนั้น

จนแม้แยกไม่ออกระหว่างคำว่าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ กับการวิพากษ์เชิงลบ เป็นต้น

ต่อคำถามว่าผลัดแผ่นดินนั้น ยังไม่ถึงเวลาย่อมไม่ควรพูดกันในยามนี้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงควรพูดกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะในวันหนึ่งเหตุการณ์นี้ย่อมเดินทางมาถึงจนได้

ใครที่ยังคลางแคลงใจว่า ถ้าผลัดแผ่นดินพระรัชทายาทพระองค์ใด จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ขอความกรุณาอ่านกฎมนเทียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ที่รัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2467 เพื่อป้องกันการแย่งชิงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่กำหนดเป็นกฎมนเทียรบาล คือ กำหนดคุณสมบัติไว้ให้ชัดเจน บรรดาเจ้านายและขุนน้ำขุนนางบางองค์ อาจจะคิดว่าตนเองก็มีสิทธิในการครองบัลลังก์ก็ได้ หรืออาจจะก่อเหตุซ้องสุมผู้คนและกำลังหักหาญกัน แล้วตั้งตนเองขึ้นมาเป็นใหญ่ก็ได้ เพราะประวัติศาสตร์ไทยมีที่มาที่ไปให้เห็นในกรณีนี้อย่างบ่อยครั้ง

กฎมณเทียรบาลที่ว่านี้ยังคงใช้อยู่

ใครที่อยากรู้รายละเอียดแต่ละตัวอักษรให้ไปหาอ่านได้แล้ว
โดยเฉพาะหมวดการสืบสันตติวงศ์


ในหมวดที่ 4 ที่ว่าด้วยลำดับขั้นของการสืบสันตติวงศ์ ในมาตรา 9 ที่ว่า ลำดับชั้น เชื้อพระบรมวงศ์ ซึ่งสมควรจะสืบสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อเมื่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากน้อย เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้

1.สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า

2.ถึงแม้ว่าสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าหาไม่แล้ว ให้เชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าและพระอัครชายาเธอของสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้านั้นขึ้นทรงราชย์ ถ้าพระโอรสองค์ใหญ่หาไม่แล้ว ก็ให้เชิญพระโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไป ตามลำดับพระชนมมายุ

3.ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอของพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหษี


กล่าวตามตัวบทหรือตีความในแง่ของกฎมนเทียรบาล นั่นก็คือ พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปจากรัชกาลที่ 9 ก็คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และลำดับถัดไปก็คือ พระราชโอรสของพระองค์ คือ พระองค์ที พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ย่อมเป็นผู้ต่อบัลลังก์

เช่นกันสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงมีพระโอรสอีก 4 พระองค์ ใน หม่อมสุจาริณี วิวัชรวงศ์ ที่รู้จักกันในนามนักแสดงชื่อ ยุวธิดา ผลประเสริฐ ซึ่งถ้าเป็นไปตามลำดับการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 นั่นก็หมายความว่า บรรดาพระโอรสของพระองค์ล้วนแล้วแต่ต่อบัลลังก์ด้วยกันทั้งสิ้น

ยกเว้นแต่ว่า ได้มีการประกาศตามบัญญัติในหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบสันตติวงศ์หรือไม่ เช่นการถูกยกเลิกให้ออกจากลำดับไม่ว่าจะต้องโทษมหันต์ มีชายาเป็นคนต่างด้าว หรือ

ถูกประกาศถอดถอนออกจากตำแหน่งรัชทายาท หรือแม้ว่าจะเป็นผู้ประกาศตนเองว่าไม่ประสงค์จากการสืบสันตติวงศ์

เช่นกัน ในกรณีของพระโอรสในหม่อมสุจาริณี ก็มิได้มีประกาศถูกถอดถอนจากการสืบสันตติวงศ์แต่ประการใดไม่

ดังนั้นในส่วนของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี แม้โดยตำแหน่งจะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ตาม แต่ก็ต้องต่อเป็นลำดับจากสายตรง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 8 เลยทีเดียว

การสืบสันตติวงศ์ในครั้งต่อไปนี้ จึงแตกต่างจากการสืบราชบัลลังก์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า มาเป็นรัชกาลที่ 7 และเมื่อสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ แม้จะไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่โดยสายตรงจากพระองค์ ซึ่งมีพระญาติสนิทใกล้ชิด ร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดา(สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ) อีกหลายพระองค์ ต่างก็เผชิญวิบากกรรม และสิ้นสิทธิแห่งการสืบสันตติวงศ์อย่างน้อยก็สองพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเชษฐาของท่าน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (อดีตเจ้าของสายการบินแอร์สยาม) พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งก็พ้นจากการสืบสันตติวงศ์ไปอย่างพิสดารเช่นกัน

ดังนั้นการสืบราชบัลลังก์ต่อจากรัชกาลที่ 7 มาเป็นในหลวงอานันทมหิดล เป็นการโดดข้ามสายตรงย้อนกลับไปยังพระราชทายาทสายสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งพระราชโอรสของพระองค์ทั้งสอง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกของสยามประเทศ) และทูลกระหม่อมแดง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งสวรรคตไปก่อนเวลาอันควร

การสืบราชบัลลังก์ครั้งกระนั้น เป็นมติร่วมของสภาผู้แทนราษฎร พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย

สภาผู้แทนราษฎรย่อมกระทำโดยเป็นตัวแทนของประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับพระนามาภิธัยต่อท้ายว่า “อเนกชนนิกร สโมสรสมมุติ”

ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการเสนอพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

และสิ้นสุดการครองบัลลังก์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งจะได้กล่าวถึงการผลัดแผ่นดินฯ ในตอนต่อไป


Siam US Reader


ที่มา : siamusreader.com : การเมือง : ผลัดแผ่นดิน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

ความคิดพิเรนทร์ของสนั่น ขจรประศาสน์ : เสนอให้กลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เต็มที่เลยดีไหม?


รั้งแรกสุดที่ผม “ทราบ” ข่าวเรื่องสนั่น ขจรประศาสน์ เสนอให้องคมนตรี เป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระต่างๆ คือเมื่อมีผู้มาโพสต์กระทู้ทางเว็บบอร์ดบางแห่ง บอกตามตรงว่าตอนแรกผมนึกว่า เป็นเรื่องโจ๊กที่มีการมาโพสต์แบบล้อเลียนเสียดสีกัน (ซึ่งเป็นเรื่องไม่แปลกสำหรับเว็บบอร์ดการเมือง) เพราะกระทู้แรกที่ได้เห็น ไม่มีรายละเอียด เป็นเพียงตั้งเป็นชื่อกระทู้ (ประเภท “คิดยังไงที่สนั่นเสนอให้องคมนตรีตั้งองค์กรอิสระ” อะไรทำนองนี้) จนกระทั่ง เห็นมีคนมาโพสต์กระทู้ซ้ำในเรื่องนี้อีก ผมจึง search หาข่าวนี้ทางเน็ต พบว่า เป็นเรื่องจริง สนั่นให้สัมภาษณ์เสนอจริงๆว่าให้องคมนตรีทั้งคณะเป็นผู้คัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ (ดูตัวอย่าง รายงานข่าวใน กรุงเทพธุรกิจ : "เสธ.หนั่น"เสนอองคมนตรีตั้งองค์กรอิสระ )

แม้ว่าจะได้รับการยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่โจ๊ก ผมก็ยังมีความยากลำบากที่จะเชื่อว่า ใน พ.ศ.นี้ จะมีใครมีความคิดพิเรนทร์ขนาดนี้ และจากความเหลือเชื่อ ก็กลายเป็นความโกรธว่า ทำไมไม่เสนอให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างเต็มรูปแบบเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ?

องคมนตรี มีกำเนิดครั้งแรกหลังรัฐประหาร 2490 ที่พวกนิยมเจ้า (Royalists) ร่วมมือกับทหารบางกลุ่ม โค่นรัฐบาลปรีดี-ธำรง (โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องกรณีสวรรคตเป็นสำคัญเรื่องหนี่ง) แล้วร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นอำนาจในลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชให้กับสถาบันกษัตริย์หลายประการ ที่สำคัญ คือ การตั้งองค์กร “ที่ปรึกษา” ของกษัตริย์นี้ขึ้นมา

ในความเป็นจริง ในระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์จะต้องไม่มีอำนาจในการทำอะไร ตามหลักการที่ว่า The King can do no wrong because he can do nothing คือ ทรงไม่ทำผิด เพราะทรงทำอะไรไม่ได้ – เหตุที่ต้องใช้หลักการนี้ ก็เพราะถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของสาธารณะ ของราษฎรทุกคนแล้ว ถ้าจะให้ใครมีอำนาจ คนนั้นก็จะต้องขึ้นต่อกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบควบคุมกระทั่งปลดออกโดยราษฎรได้ ที่เรียกรวมๆว่า accountability ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กระบวนการ accountability นี้ ก็ต้องให้พระมหากษัตริย์ ไม่ต้องทรงทำอะไร No Accountability, No Power (การเป็นสัญลักษณ์หรือประมุขของประเทศ นับเป็นเกียรติสูงส่งอยู่แล้ว) ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ต้องมีที่ปรึกษาต่างหาก คณะรัฐมนตรี (ซึ่งขึ้นต่อ accountability โดยราษฎร) เป็นที่ปรึกษาอยู่แล้ว และในเมื่อพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องไม่ทรงทำอะไร (do nothing) ดังกล่าว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีคณะที่ปรึกษาต่างหากเกิดขึ้นแต่แรก ดังเช่นที่เป็นจริงในช่วงระหว่าง 2475 ถึง 2490 (หรือในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอื่นๆในปัจจุบัน)

แต่เมื่อพวกนิยมเจ้า ร่างรัฐธรรมนูญนิยมเจ้าปี 2492 กลับกำหนดให้มีองคมนตีขึ้น โดยกำหนดลักษณะสำคัญขององคมนตรีดังนี้


มาตรา 13 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรี และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัติรย์ทรงปรึกษาและมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 14 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่น หรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง


ข้อกำหนดเหล่านี้ ได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังจากนั้น โดยไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งฉบับปัจจุบัน

นี่คือลักษณะการให้อำนาจพระมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราช คือ ให้พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งถอดถอนองคมนตรีได้ด้วยพระองค์เองโดยสิ้นเชิง รัฐสภาเพียงแต่ “รับทราบ” ในรูปของการที่เฉพาะตัวประธานรัฐสภา “ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ต่อการตั้งประธานองคมนตรีเท่านั้น ไม่ต้องแม้แต่จะผ่านกระบวนการเสนอชื่อให้ทั้งรัฐสภารับรอง และในแง่องคมนตรีคนอื่น ก็ไม่ต้องแม้แต่จะมีประธานรัฐสภารับรองด้วยซ้ำ ให้ประธานองคมนตรีที่ได้มาในลักษณะไม่ชอบกลดังกล่าวรับรองเอง

การแต่งตั้งหรือถอดถอนองคมตรี “เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” เช่นนี้ ขัดกับหลักการประชาธิปไตย เพราะองคมนตรี ความจริง มิได้เป็น “ลูกจ้างส่วนพระองค์” ไม่ใช่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จ้าง แต่เป็นบุคคลากรที่ใช้ทรัพยากรส่วนรวมของรัฐ ในเมื่อต้องใช้งบประมาณหรือทรัพย์สินของรัฐ คือของประชาชนโดยรวมทุกอย่าง เหตุใดจึงจะไม่ให้รัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นผู้ควบคุม เลือก และแต่งตั้ง (ไม่ต้องพูดถึงหลักการทีว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีความจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาต่างหากจากคณะรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องทรงทำอะไร เพื่อไม่ให้ต้องมี accountability ได้ ดังกล่าวก่อนหน้านี้)

ดังนั้น องคมนตรีทั้งหมด ทั้งๆที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ จึงกลับหลุดพ้นจากกระบวนการ accountability โดยสิ้นเชิง ตามการไม่มี accountability ของพระมหากษัตริย์ ในไม่กี่ปีมานี้ เราจึงได้เห็นองคมนตรีอย่างพลเอกเปรม สามารถออกมาระดมทหารให้ขัดแย้งกับรัฐบาลเลือกตั้งได้ (ปาฐกถาเรื่อง “ทหารเหมือนม้าของพระราชา รัฐบาลเป็นเพียงจ๊อกกี้”) สามารถออกมาชมเชยสนับสนุนนนายกฯที่มาจากการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ (“พลเอกสุรยุทธ เหมือน เชอร์ชิล”) และสามารถออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองว่า นายกฯที่มาจากกระบวนการแบล็กเมล์รัฐประหารแฝงอย่างอภิสิทธิ์ “เป็นเรื่องที่ประเทศควรดีใจ” กล่าวอย่างสั้นๆ คือ สามารถมีบทบาททางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง สามารถ take side เข้าข้างใดข้างหนึ่ง (ในกรณีตัวอย่างเหล่านี้ คือข้างที่ทำผิดกฎหมาย ล้มรัฐธรรมนูญ เป็นกบฏ) อย่างมากก็ได้ โดยไม่ต้องมี accountability โดยสิ้นเชิง

อำนาจขององคมนตรีเช่นนี้คืออำนาจในลักษณะเดียวกับสมัยสมูรณาสิทธิราช ที่ราษฎรและตัวแทนราษฎร ไม่สามารถควบคุมผู้มีอำนาจได้โดยสิ้นเชิง

ข้อเสนอของสนั่น ขจรประศาสน์ ถึงที่สุดคือ เท่ากับเสนอให้องค์กรอิสระทั้งหมด ต่อไปนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจล้วนๆ โดยผ่านองค์กรองคมนตรี เพราะองคมนตรี ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ล้วนๆ นี่คือการเสนอให้ ถ่ายโอนอำนาจในการเลือกและจัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญมากขั้นๆในปัจจุบัน กลับไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่องคมนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ผมจึงถามว่า ถ้ามีความคิดพิเรนทร์เช่นนี้ ทำไมไม่เสนอให้เปลี่ยนกลับไปเป็นระบอบบสมบูรณาญาสิทธิราช ให้เต็มรูปเลย ไม่ดีกว่าหรือ? รัฐสภาทั้งหมด ต่อไปนี้ ก็ไม่ต้องให้ราษฎรเลือก คณะรัฐมนตรีก็ไม่ต้องให้เลือกจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อเสนอของสนั่น บวกกับข้อเสนอของบางคนในประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ที่จะขยายขอบเขตของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (และกฎหมายคอมพิวเตอร์ในเรื่องเดียวกัน) คือการย้อนยุคกลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชกันอยู่แล้ว

ข้ออ้างของสนั่นเรื่อง “ถ่วงดุลอำนาจ” เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ แต่ดูเหมือนจะกลับเป็นสิ่งที่บรรดาผู้มีการศึกษา มีฐานะ หรือที่เรียกว่า “คนชั้นกลาง” ให้การยอมรับ ตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว และยิ่งเพิ่มมากขึ้น หลังรัฐประหาร 19 กันยา ปัจจุบัน เราจึงได้เห็นอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลของ “องค์กรอิสระ” ต่างๆ โดยเฉพาะของตุลาการ (“ตุลาการภิวัฒน์”) ไอเดียคือ ให้อำนาจเหล่านี้ มา “ถ่วงดุล” อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

ขอถามง่ายๆว่า แล้วบรรดาอำนาจที่อ้างเอามา “ถ่วงดุล” อำนาจเลือกตั้งเหล่านี้ จะเอาอะไรมา “ถ่วงดุล” หรือพูดให้ชัดยิ่งขั้นคือ จะเอาอะไรมาควบคุม? ทุกวันนี้ แม้แต่บรรดาลิ่วล้อของอำนาจเหล่านี้ ที่อ้างตัวเองว่าเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ก็สามารถทำอะไรตามใจชอบได้ เพราะความ “มีเส้น” สนับสนุนจากอำนาจที่ราษฎรควบคุมไม่ได้เลยเหล่านี้นั่นเอง ประชาธิปไตยถึงที่สุดคือ ประชาชนเป็นผู้ “ถ่วงดุล” อำนาจ หรือควบคุมอำนาจ ไม่ใช่ให้ใครที่ไม่มีใครสามารถ “ถ่วงดุล” หรือควบคุมได้ มาควบคุมตัวแทนที่ประชาชนเลือก การ “ถ่วงดุล” กันระหว่างอำนาจต่างๆ ในที่สุด จะต้องเป็นการ “ถ่วงดุล” ระหว่างอำนาจที่มาจากประชาชนเอง และประชาชนควบคุมได้

ในเมื่อคนระดับรองนายกฯอย่างสนั่นสามารถเสนออะไรที่พิเรนทร์ขนาดนี้ต่อสาธารณะได้ โดยหน้าไม่แดง (รวมทั้งข้อเสนอเพิ่มอำนาจให้กฎหมายหมิ่นของประชาธิปัตย์) ผมก็ขอเสนออย่างจริงจังมากๆบ้างว่า ให้กลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชเลยดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องทำอะไรแบบแอบๆแฝงๆแบบนี้ ทุกวันนี้ แม้แต่นายกฯและรัฐบาลก็ได้มาโดยกระบวนการใช้อำนาจ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ต่างจากกระบวนการใช้อำนาจในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชมากมายอะไรนักอยู่แล้ว (รัฐประหาร, ตุลาการภิวัฒน์ ฯลฯ)

เอาเลยครับ เผื่อเราจะได้ “2475” กันใหม่


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : ประชาไทเวบบอร์ด : ความคิดพิเรนทร์ของสนั่น ขจรประศาสน์ : เสนอให้กลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เต็มที่เลยดีไหม?

สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การปฏิวัติ ประชาธิปไตยทุนนิยม


ภาพการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันที่เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้คนไทยโดยทั่วไปงุนงงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยและทางออกจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะเข้าใจเพียงว่าเพราะ พตท.ทักษิณ ชินวัตร์ พรรคไทยรักไทยที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชนฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายหนึ่ง ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน จนก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยกในหมู่ประชาชน ซึ่งก็ไม่ผิดแต่ที่ลึกไปกว่านั้นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ จึงต้องทำความเข้าใจเพื่อจะได้ไม่วิตกกังวลและหาทางออกได้ถูกต้อง

สภาพการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยมองย้อนกลับไปในอดีตกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏการณ์ที่เป็นภาพที่คนโดยทั่วไปเข้าใจ คือนักศึกษาและปราชาชนผู้รักประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการณ์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ออกจากตำแหน่งเท่านั้น แต่เนื้อแท้จริงของเหตุการณ์จะมองไม่เห็น

จริงๆแล้วเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยม ยืมมือ นักศึกษาประชาชนผู้รักประชาธิปไตยโค่นล้มกลุ่มเผด็จการณ์ทางการทหารที่มีอำนาจโดดเด่น จนถูกหวาดระแวงว่าจะเป็นอันตรายต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม ดังตัวอย่างในหลายประเทศในโลกที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือว่าเป็นการสิ้นยุคของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทางการทหารต่อจากนั้นการเมืองยุคทหารก็ค่อยๆลดระดับลง

แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยประชาชนแต่กลายเป็นทุนนิยมไทยที่ได้รับการปลดโซ่ตรวนจากระบอบเผด็จการทหาร ทำให้ทุนนิยมไทยเริ่มสะสมทุน ขยายทุน และเข้าสู่การเมือง ตั้งพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มต้นการเมืองยุคทุนนิยม

ในขณะนั้นฝ่ายซ้ายที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย (พคท) ก็ได้เข้มแข็งเติบใหญ่ขึ้นจากกระแสอินโดจีนและการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้าย ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ปลอดภัยจากผู้นำเผด็จการทหาร เริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยจากขบวนการฝ่ายซ้าย จึงร่วมมือกับฝ่ายทุนนิยมและจักวรรดินิยมอเมริกา ใช้แผน “ขวาพิฆาตซ้าย” จนก่อกรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ขึ้น ทำให้นักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนมากต้องหลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท)

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเกิดวิกฤตศรัทธาในฝ่ายสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท) ก็ตกต่ำจนหมดสภาพที่จะนำการปฏิวัติกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงปลอดภัยจากขบวนการฝ่ายซ้าย

ครั้นมาถึงปัจจุบัน เมื่อทุนนิยมไทยได้สะสมทุนและขยายทุนจนใหญ่โตขึ้นอีกทั้งโลกก็ได้พัฒนาเข้าสู่ยุค “ทุนโลกาภิวัตน์” ในประเทศไทยก็เกิดกลุ่ม “ทุนนิยมใหม่” ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการพรรคการเมืองใหม่ชื่อ “ไทยรักไทย” มีทิศทางและนโยบายสอดคล้องกับยุคสมัยก้าวหน้ากว่าพรรคการเมืองทุนนิยมเก่า และพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป) ความตอบรับของประชาชนจึงมีมากพรรคจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และหัวหน้าพรรคคือ พตท.ทักษิณ ชินวัตร์ ก็มีความโดดเด่นถึงขั้นจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ปัญหาจึงเกิดขึ้น

เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมเริ่มหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ ดังนั้นขบวนการจัดตั้งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น เพื่อโค่นล้มทำลาย พตท.ทักษิณ ชินวัตร์ และพรรคไทยรักไทย นี้แหละคือสภาพการณ์ที่แท้จริงของสังคมและการเมืองไทยในปัจจุบัน

เมื่อทราบเนื้อแท้ของปัญหาแล้วก็จะต้องวิเคราะห์ว่า สถานการณ์จะก้าวไปอย่างไรและจุดจบของปัญหาจะลงเอยอย่างไร ก็ต้องพิจารณาทฤษฎีสังคมการเมืองและกฎวิวัฒนาการทางสังคม โดยศึกษาจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ในโลกที่ผ่านมาและวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเวลานี้ดำรงอยู่อย่างไร

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า สังคมไทยได้ก้าวพ้นจากสังคมด้อยพัฒนาแล้วหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่า
“เป็นสังคมกำลังพัฒนาขั้นสูง กำลังก้าวสู่ความเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วเข้าสู่ความเป็นสากล” แต่เนื่องจากสังคมไทยอยู่ในสภาพพิกลพิการจึงไม่อาจก้าวสู่ความเป็นสากล

เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วได้เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาติดขัดเพราะในขณะที่เศรษฐกิจและสังคมกำลังก้าวสู่ยุคทุนโลกาภิวัตน์ แต่โครงสร้างทางอำนาจไม่ว่าเป็นตำรวจ ทหาร ศาล ระบบราชการต่างๆ ยังอยู่ในมือกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพราะประเทศไทยยังไม่ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยม ปรากฏการณ์ “กลุ่มพันธมิตร” และเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 เป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจนคือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในการโค่นล้มรัฐบาล เวลานี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มทุนนิยมใหม่

สถานการณ์จึงก้าวเข้าสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมที่กลุ่มทุนนิยมใหม่จะเป็นผู้นำการปฏิวัติเพื่อช่วงชิงโครงสร้างทางอำนาจจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม จุดแตกหักจะเริ่มขึ้นต่อเมื่อใดที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมช่วงชิงความเป็นรัฐบาลจากปัจจุบัน (เปลี่ยนขั้ว) อย่างไม่ชอบธรรมไปเป็นรัฐบาลภายใต้กลุ่มอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ตามขบวนการต่อสู้อาจจะออกมาในรูป “แนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชน” (นปช) หรือเป้าหมายอาจจะรุนแรงกว่านี้ก็ได้ และอาจถึงขั้นมีการจัดตั้งกองกำลังอาวุธเป็นป่าประสานเมืองและประสานกับคนไทยต่างประเทศเป็น ขบวนการแนวรบสามประสาน ก็เป็นได้

นี้คือคาดการณ์ตามการวิเคราะห์ในเชิงวิตกของผู้เขียน ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ จริงๆก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่จากทฤษฎีการปฏิวัติจากระบอบสังคมศักดินาสู่ระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม ตัวอย่างแรกคือการปฏิวัติฝรั่งเศษและตัวอย่างล่าสุด คือการปฏิวัติในประเทศเนปาลเป็นกรณีศึกษาที่เราคนไทยจะต้องพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางลดความรุนแรงและการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ให้การเปลี่ยนแปลงใช้ทฤษฏี “เปลี่ยนผ่าน” แทนการใช้ทฤษฏี “โค่นล้ม” สภาพการณ์ที่คนในชาติแตกแยกอย่างรุนแรงในขณะนี้ เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มทุนนิยมใหม่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มอนุรักษ์ยมเท่านั้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาจะต้องพิจารณาว่าในความขัดแย้งนี้กลุ่มใหนเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง และจะแก้อย่างไร ที่ผ่านมาสื่อมวลชนมากมาย นักวิชาการและบุคคลต่างๆอาจไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจโดยโยนปัญหาไปที่รัฐบาลว่าเป็นด้านหลักของความขัดแย้ง การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่รัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภาซึ่งที่ผ่านมา ทั้งนายกฯ ลาออก ยุบสภาถูกยึดอำนาจ และกระทั้งนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ถูกปลดออก เหตุการณ์ก็ไม่ยุติ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ด้านหลักของความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่อยู่ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่หนุนหลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นด้านหลัก

ทางออกของการแก้ปัญหาก็คือกลุมอนุรักษ์นิยมจะต้องยอมรับความจริงยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก ค่อยๆปล่อยมือจากโครงสร้างทางอำนาจ ปล่อยให้ใครกลุ่มใหนก็ตามเมื่อได้รับการเลือกจากประชาชนมาเป็นรัฐบาลได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ส่วนการทุจริตและความไม่โปร่งใสต่างๆ ระบอบประชาธิปไตยจะค่อยสะสางขัดเกลาโดยตัวของมันเอง จะต้องมุ่งที่จะให้การศึกษายกระดับจิตสำนึกของประชาชนให้สูงขึ้นแทนที่จะโค่นล้มทำลายล้างกัน การถ่ายเทโครงสร้างทางอำนาจอย่างปฏิรูปค่อยเป็นค่อยไปอย่างเปลี่ยนผ่านจะทำให้ไม่เกิดความรุนแรงแต่ถ้าไม่เป็นไปเช่นนี้ก็จะเป็นการต่อสู้กันเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบ “โค่นล้ม” เป็นการปฏิวัติอย่างรุนแรง พลิกฟ้าคว่ำดิน ความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนก็จะใหญ่หลวง “สงคราม” หรือ “สันติภาพ” อยู่ที่การตัดสินใจของกลุ่มด้านหลักของความขัดแย้ง

โลกต้องพัฒนาไปข้างหน้า สังคมไทยก็ต้องพัฒนาไปข้างหน้าตามการพัฒนาของโลก การคิดถูกต้องและการตัดสินใจที่ถูกต้องคือการคิดและการตัดสินใจที่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก ฝากข้อคิดข้อเขียนนี้ให้ประชาชนคนไทยพิจารณาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วย


สุรชัย แซ่ด่าน


ที่มา : CBN press : สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การปฏิวัติ ประชาธิปไตยทุนนิยม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ