วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย "เรียกร้องให้ปฏิรูป กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ " จากนักวิชาการและบุคคลสำคัญทั่วโลก



หมายเหตุ :
จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน



ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
โทรสาร: 011-662-629-8213


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นฐานะนักวิชาการและผู้สังเกตการณ์ที่สนใจในสถานการณ์ของประเทศไทย เรามีความวิตกอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในระยะไม่นานมานี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยนำไปสู่ความเสื่อมถอยลงของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอย่างพร่ำเพรื่อ รังแต่จะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย การดำเนินคดีต่อนักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป เพียงเพราะข้อกล่าวหาว่าทัศนะและการกระทำของคนเหล่านี้เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับทำลายบรรยากาศการถกเถียงอย่างเปิดกว้างในประเด็นสาธารณะที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอันตรายของการอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่ระมัดระวัง แทนที่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ กลับยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และประเทศไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอแนะมาหลายครั้งแล้วว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้แต่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคยมีพระราชดำรัสว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เรามีความวิตกว่า แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลของท่านอาจใช้กฎหมายนี้เพื่อกดดันยับยั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งมีสมาชิกบางคนในรัฐบาลของท่านออกมาเรียกร้องให้ใช้บทลงโทษที่หนักกว่าเดิมภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยทั้งหมดนี้กระทำลงไปในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์

ประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีแต่ความจริง ความโปร่งใส การถกเถียงอย่างเปิดกว้างของสาธารณชน และกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะสามารถแปรเปลี่ยนความขัดแย้งทางความคิดให้กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และสันติวิธี การกดดันยับยั้งความคิดไม่เคยคลี่คลายปัญหาใด ๆ ได้ แต่กลับจะยิ่งสร้างความเสื่อมพระเกียรติมากกว่าเฉลิมพระเกียรติสถาบันกษัตริย์

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เราจึงขอให้ ฯพณฯ ท่านและรัฐบาลโปรดพิจารณาข้อเรียกร้องดังนี้

1. โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้ ทั้งต่อปัจเจกบุคคล เว็บไซต์และการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ

2. โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้

3. โปรดพิจารณายกเลิก-ถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ และดำเนินการเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนเหล่านี้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ทั้ง ๆ ที่การแสดงความคิดเห็นไม่ควรเป็นอาชญากรรม

ขอแสดงความนับถือ


ปล.

ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้มีอาทิ:

- ผู้นำระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง เช่น ลอร์ดแอริก เอฟเบอรี (Lord Eric Avebury), ดร. แคโรไลน์ ลูคัส (Dr. Caroline Lucas), วุฒิสมาชิกฟรานเชสโก มาร์โตเน (Senator Francesco Martone), สมิทู โคธารี (Smitu Kothari), วอลเดน เบลโล (Walden Bello)

- นักวิชาการระดับแนวหน้าผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการหลากหลายสาขาทั่วโลก เช่น นอม ชอมสกี (Noam Chomsky), สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall), อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai), เจมส์ สก็อตต์ (James C. Scott), อารีฟ เดอลิก (Arif Dirlik), สแตนลีย์ แทมไบยาห์ (Stanley Tambiah), อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) และอีกมากมายหลายคน

- สมาชิกหลายท่านของสมาคมราชบัณฑิตยสถานอังกฤษ (The British Academy) และสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences)

- ประธาน อดีตประธานและผู้นำของสมาคมวิชาการทรงเกียรติคุณในระดับสากลหลายแห่ง เป็นต้นว่า สมาคมเอเชียศึกษา (Associations for Asian Studies), สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association), สมาคมสังคมวิทยาอเมริกัน (American Sociological Association), สมาคมเอเชียศึกษาแห่งออสเตรเลีย (Asian Studies Association of Australia) ฯลฯ

- นักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำ อาทิเช่น อดีตผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice), อดีตประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน

- นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ยาวนานในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้


โดยขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติม จดหมายเปิดผนึกจะยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ผู้มีความประสงค์จะร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก สามารถส่งชื่อ, ยศ/ตำแหน่ง/งาน และสังกัด มาที่ “ผู้ประสานงาน” คนใดคนหนึ่งดังต่อไปนี้

Andrew Walker, Senior Fellow, Research School of Pacific and Asian Studies, The Australian National University, Canberra, ACT 0200, Australia. andrew.walker@anu.edu.au

Jim Glassman, Associate Professor, Department of Geography, University of British Columbia, 217 - 1984 West Mall, Vancouver, BC V6T 1Z2 Canada. nmsslg@yahoo.ca

Larry Lohmann, The Corner House, Station Road, Sturminster Newton, Dorset DT10 1YJ,United Kingdom. larrylohmann@gn.apc.org

Thongchai Winichakul, Professor, Department of History, University of Wisconsin-Madison,
Madison, Wisconsin 53706, USA. twinicha@wisc.edu

Adadol Ingawanij, Post-doctoral Researcher, Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster, Harrow Campus, UK. M.Ingawanij@westminster.ac.uk

เว็บไซต์ New Mandala http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala จะเป็น “หน้าต่าง” ให้แก่การรณรงค์ครั้งนี้ และจะนำเสนอข่าวสารและข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการรณรงค์เป็นระยะ ๆ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : นักวิชาการทั่วโลกลงชื่อเรียกร้องปฏิรูป กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: