วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ว่าด้วย "พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง"


ลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคือ

ทุกคนเท่าเทียมกัน

อำนาจสาธารณะจึงเป็นของทุกคนร่วมกัน
ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง


ดังนั้น ใครที่ถืออำนาจสาธารณะอยู่ จะต้องถูกควบคุม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน ประนาม นำมาลงโทษ ได้
(เรียกรวมว่า accountability)


วิธีการสำคัญถึงที่สุดของการควบคุม ตรวจสอบ ฯลฯ
คือ การเลือกตั้งสม่ำเสมอ

(นอกจากเพื่อการควบคุมตรวจสอบ แล้ว เนื่องจากในสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ขัดแย้งกัน การเลือกตั้ง เป็นวิธีการตัดสินว่า จะให้อำนาจสาธารณะใช้ไปในลักษณะใด - พูดแบบง่ายๆคือ จะให้รัฐดำเนินการไปในทางใด)

ในกรณีที่ประมุขของรัฐ เป็นบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยิ่งในกรณีที่ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ คัดค้าน ประณาม ฯลฯ บุคคลดังกล่าว เช่น ในกรณีประเทศที่ใช้กษัตริย์เป็นประมุข

กล่าวอย่างสั้นคือ
ในกรณีที่ประมุขเป็นบุคคลที่ไม่ต้องการให้มี accountability


ก็หมายความว่า ประมุขนั้น จะต้องไม่มีอำนาจสาธารณะด้วย (หรือมีในระดับน้อยที่สุด และจะใช้อำนาจที่มีน้อยที่สุดนั้นได้ในกรณีที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุด) พูดด้วยภาษาแบบไทยคือ ต้อง "อยู่เหนือการเมือง" ต้องไม่มีอำนาจสาธารณะนั่นเอง

ทำไม ในประเทศประชาธิปไตยจึงต้องห้ามไม่ให้ประมุข - ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ที่ไม่ต้องการให้ตกอยู่ใต้การวิพากษ์วิจารณ์ - มีอำนาจ? ทำไมต้องให้ "อยู่เหนือการเมือง"?

ก็มาจากหลักการที่กล่าวมาแต่ต้นคือ


"มีอำนาจ ต้องมี accountability ด้วย
ถ้าไม่ต้องการให้มี accountability ก็ต้องไม่มีอำนาจ"

(ต้อง "อยู่เหนือการเมือง")


การมีผู้ "รับสนองพระบรมราชโองการ" แท้จริงคือ การให้ "ผู้รับสนอง" เป็นผู้มีอำนาจจริงๆ (เพียงแต่ทำในนามกษัตริย์) และผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ต้องอยู่ใต้ accountability (ไม่ใช่กษัตริย์ที่ไม่ต้องการให้มี accountablity)

แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คำว่า "อยู่เหนือการเมือง" (ไม่มีอำนาจ) ของสถาบันกษัตริย์ไม่เป็นจริง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา และถึงจุดสุดยอดในยุคสฤษดิ์ (กรณีสำคัญคือ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สฤษดิ์ เป็นผู้รักษาพระนคร ในการรัฐประหาร 16 กันยา 2500 ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พูดแบบง่ายๆคือ ทรงใช้อำนาจเองล้วนๆ ซึ่งถ้าเป็นหลักการอำนาจแบบประชาธิปไตย จะต้องทรงรับผิดชอบเองล้วนๆเหมือนกัน คือต้องมี accountability ต่อการตั้งสฤษดิ์นั้น)

หลังจากนั้น บ่อยครั้งที่สำคัญ ภาวะ "อยู่เหนือการเมือง" จึงไม่จริง หลักการประชาธิปไตยทีว่า "ผู้รับสนอง" คือผู้ใช้อำนาจจริง(ไม่ใช่กษัตริย์) จึงไม่เป็นจริง

ในหลายๆกรณี คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจ และใช้อำนาจเสียเอง แต่มีผู้ "รับสนอง" มารับ accountablity แทน ผิดหลักการทีว่า ถ้าใครใช้อำนาจ คนนั้นต้องมี accountability แต่นี่กลายเป็นว่า กษัตริย์ใช้อำนาจ(จริง) แต่ให้ผู้อื่นมามี accountability ความหมายของ "อยู่เหนือการเมือง" และ "รับสนอง" จึงผิดเพี้ยนหลักการประชาธิปไตยไปหมด

หลังทศวรรษ 2490 เริ่มมีการสร้าง(หรือโอน)องค์กรของรัฐ ไปขึ้นกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่มี accountability แต่มีอำนาจมากขึ้นๆ เช่น องคมนตรี, สำนักงานทรัพย์สินฯ ฯลฯ กลายเป็นว่า องค์กรเหล่านี จึงมีอำนาจ ที่ไม่ขึ้นต่อการตรวจสอบ หรือ accountablity ตามไปด้วย กลายเป็น "อยู่เหนือการเมือง" ในความหมายผิดเพี้ยนเช่นนี้ด้วย คือ มีอำนาจการเมือง แต่ไม่มีการเมืองใด แตะต้องได้ (มี power without accountability)


ปล.

เฉพาะประเด็นเรื่องการใช้คำ (หรือ "อุปลักษณ์" metaphor) "เหนือ/ใต้" รัฐธรรมนูญ ผมเคยแสดงความเห็น โต้แย้งหนังสือ พระราชอำนาจ ของประมวล โรจนเสรี ดังนี้(เผยแพร่ครั้งแรกในบอร์ด ม.เที่ยงคืน เก่า ซึ่งล้มไปนานแล้ว ต่อมา ตีพิมพ์ในหนังสือ October ฉบับพิเศษ)

ประมวลเสนอว่า “คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลับขาดความรู้ความเข้าใจใน ‘พระราชอำนาจ’ ที่ถูกต้องและเพียงพอ” และยกตัวอย่าง (ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกและดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่เขาให้ความสำคัญที่สุด) ว่า “คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับพระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบหรือทรงมีพระบรม ราชานุมัติก่อนจึงจะประกาศใช้บังคับได้” ซึ่งถ้าตีความในทางกลับกันก็คือ แท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ต้องอยู่ใต้ คือทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องได้รับ “พระบรมราชานุมัติก่อน”

การเขียนเช่นนี้ เป็นความเข้าใจผิดของประมวลเอง ไม่ใช่ของคนไทยส่วนใหญ่ และสะท้อนการให้เหตุผลอย่างไม่เป็นตรรกะของเขา

การที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ จำเป็นต้องหมายความว่า ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วยหรือ? เปล่าเลย ตรงกันข้าม ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทรงให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญที่ตามหลักการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบหรือ "พระบรมราชานุมัติก่อน" ไม่ได้แปลว่าอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดเลย

ถ้าลองใช้ตรรกะแบบประมวล รัฐสภา (และบรรดาสมาชิกทั้งหลาย) ที่ต้องให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อนเช่นกัน ก็แสดงว่า ต้องอยู่ “เหนือรัฐธรรมนูญ” ด้วย?

ถ้ามีการลงประชามติ ให้ประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญก่อน ก็แปลว่า ประชาชนต้อง “อยู่เหนือ” รัฐธรรมนูญ เช่นกันด้วย?

จะเห็นว่า การที่ใครก็ตาม ไม่ว่าจะรัฐสภาหรือองค์พระมหากษัตริย์จะต้องให้ความเห็นชอบหรือ “อนุมัติ” / “บรมราชานุมัติ” กับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดก่อนก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ผู้นั้นจะ “อยู่เหนือ” กฎหมายนั้นแต่อย่างใด

ถ้าประมวลจะเสนอว่า พระมหากษัตริย์ “อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ” ประมวลต้องหาเหตุผลอื่นมาอภิปราย ไม่ใช่เหตุผลนี้

อันที่จริง คำว่า “เหนือ” หรือ “ใต้” เป็น “อุปลักษณ์” (metaphor) เป็นคำที่ไม่ใช่ภาษากฎหมายอย่างเป็นทางการ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดมี 2 คำนี้อยู่ในตัวบท ยกเว้นใน “คำปรารภ” รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 มีข้อความดังนี้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้ อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม...และโดยที่ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร” ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 7 ทรงตอบคณะราษฎรวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ก็มีคำนี้ “คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อย...จึงยอมรับที่จะช่วย” แม้แต่ในพระราชหัถตเลขาสละราชย์อันมีชื่อเสียง ก็ใช้คำนี้ “เมื่อพระยาพหลฯและพรรคพวก..ได้มีหนังสือขอให้ข้าพเจ้ายังคงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้ายอมรับตามคำขอ” สรุปแล้วการที่ทรงมี “พระบรมราชานุมัติ” รัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ไม่ได้หมายความทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด นี่เป็นความเข้าใจของรัชกาลที่ 7 ผู้ทรงเริ่มต้นระบอบปกครองปัจจุบันเอง (ประมวลอยากเขียนงานให้เป็นวิชาการ แต่ทำการบ้านไม่พอ)

ถ้า “เหนือ” ในที่นี้ หมายถึง “ไม่อยู่ภายใต้ / ไม่ถูกกำหนด โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และ “ใต้” หมายถึง “อยู่ภายใต้ / ถูกกำหนด โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยทั่วไป และโดยหลักการใหญ่ พระมหากษัตริย์หลัง 2475 ก็ทรงอยู่ “ใต้” รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน การที่บางพระองค์ทรงมีสิ่งที่ประมวลเรียกว่า “พระราชอำนาจ” มากกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้แปลว่า ทรงอยู่ “เหนือ” ในความหมายทั่วไปเช่นนี้

หรือถ้าประมวลจะยืนยันว่า การที่พระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงมี “พระราชอำนาจ” มากกว่าที่ระบุไว้จริงในรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นการอยู่ “เหนือ” รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยในบางกรณี การที่ทรงอยู่ “เหนือ” ในบางกรณีนั้น ก็มาจากเหตุผลอื่น ไม่ใช่เหตุผลที่ว่า เพราะทรงมีพระบรมราชานุมัติรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : เวบบอร์ด (ฟ้าเดียวกัน) : ตอบคุณ "ปลากัด010" ว่าด้วย "พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง"

ไม่มีความคิดเห็น: