ปฏิวัติ 14 ตุลา 2516 ประชาชนรวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร ดึงอำนาจจากมือของเหล่าขุนนางข้าราชการมาเป็นของประชาชน ซึ่งในขณะนั้นบรรดาขุนนางข้าราชการแห่งระบอบอมาตยาธิปไตยครอบครองเป็นใหญ่ในเวทีการเมืองของสภาผู้แทนราษฎรอยู่
แต่ปัจจุบันกลับตาลปัตร เมื่อประชาชนร่วมแรงร่วมใจกับรัฐบาลประชาธิปไตยต่อสู้กับซากเดนแห่งระบอบอมาตยาธิปไตย ซึ่งกลายเป็นกลุ่มพลังนอกเวทีรัฐสภา เป็นกลุ่มเผด็จการนอกรัฐธรรมนูญที่ต้องการบ่อนเซาะทำลายความเข้มแข็งของระบอบรัฐสภา
การขยับตัวเคลื่อนไหวของ “ระบอบเก่า” เพื่อหวนกลับมามีบทบาทในเวทีการเมือง ทำให้ประชาชนเกิดกระแสตื่นตัวต่อต้าน เพื่อเป็นการปกป้องและต่อยอดเติมเต็มระบอบประชาธิปไตยที่คนรุ่นก่อนต่อสู้ให้ได้มา
อันที่จริง หลัง 2475 เป็นต้นมา พวกผู้ลากมากดีต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรักษาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองเอาไว้อย่างที่เคยเป็นมา แต่ความจริงก็คือโลกเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ระบอบเก่าเป็นสิ่งพ้นสมัยและต้องพังพินาศลงในโลกสมัยใหม่
ที่ผมบอกว่าประชาชนร่วมแรงร่วมใจกับรัฐบาลประชาธิปไตย ต่อสู้กับซากเดนแห่งระบอบอมาตยาธิปไตยนั้น ผมหมายถึงประชาชนเสียงข้างมากของประเทศ ที่ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตัวแทนของตนเองเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรและไม่อยากให้ระบอบการเมืองที่ตนเองมีส่วนร่วมถูกทำลายลงจากคนบางกลุ่มที่อยู่เหนือ เคยอยู่เหนือ และอยากจะอยู่เหนือกฎเกณฑ์กติกา
ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อการรัฐประหารนั้น ผมไม่คิดว่าเป็นขบวนการภาคประชาชนแต่เป็นบริวารหรือข้าช่วงใช้ของระบอบอมาตยาธิปไตย เป็นเหมือนไพร่พลรองมือรองเท้าในสังกัดของขุนนาง
แต่เอาเถอะ คำว่าประชาชนใครจะนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ นักการเมืองก็อ้าง พวกผู้ดีแปดสาแหรกก็อ้าง กลุ่มพันธมิตรฯ อยากจะนำไปอ้างเพื่อใช้ในการทำรัฐประหารอีกสักหนหรือทำการใด ๆ ก็คงจะไม่มีใครจะหวงห้ามได้
ความเป็นไปในโลกสมัยใหม่ก็คือ พลังประชาชนหรือขบวนการภาคประชาชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเบียดขับกลุ่มอภิชนจากระบอบอมาตยาธิปไตยให้หลุดกระเด็นออกจากเวทีการเมืองในสภาฯ บรรดาขุนนางข้าราชการไม่มีสิทธิ์เข้ามาเล่นการเมืองหากไม่ถอดหัวโขนเสียก่อน บางรายแม้นถอดหัวโขนออกก็ไม่อาจแข่งขันกับนักการเมืองหรือนักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นได้
อำนาจการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะไม่ทั้งหมดจึงได้เคลื่อนย้ายจากขุนนางข้าราชการมาสู่การมีส่วนร่วมและกำหนดความเป็นไปโดยประชาชน พวกไพร่เลือดสีโคลนได้ลืมตาอ้าปากและพาตัวเองเข้าสู่สภา ฯ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่มีแพ้ชนะแบบเด็ดขาด กลุ่มอภิชนเหล่านี้กลับไปซ่องสุมกำลังอำนาจปรากฏเป็นเงามืดทะมึนปกคลุมเหนือต้นไม้ประชาธิปไตย บดบังแสงสว่างกระทั่งกัดกร่อนชอนไชจนกิ่งก้านของประชาธิปไตยให้แคระแกร็น
ถึงตอนนี้หลายคนคงตาสว่างแล้ว และตระหนักได้แล้วว่าระบอบอมาตยาธิปไตยนั้นเป็นตัวปัญหาและเป็นตัวปัญหาอยู่เสมอมาต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เช่น เสียบคั่นทางเดินประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหารเป็นครั้งคราว และอาจจะเสียบคั่นไปเรื่อย ๆ ที่มีโอกาส อาจมีบางช่วงที่ระบอบอมาตยาธิปไตยอ่อนแอลง แต่ด้วยเงื่อนปัจจัยบางประการ สามารถฟื้นคืนกำลังมาได้ทุกที แผ่อำนาจแฝงเร้นเข้ามาอย่างแยบคาย เช่น เข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ ส่งคนเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม แทรกตัวเข้าไปในสื่อมวลชน ฯลฯ
การอุปถัมภ์ค้ำชูสังคมโดยระบอบอมาตยาธิปไตยอาจมีผลดีหลายประการ แต่มีข้อเสียที่กลืนไม่ลงมากมายมหาศาล ขัดกับหลักพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน อีกทั้งมีบางลักษณะที่เป็นเหมือนกาฝาก ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใดหรือมีความพยายามมากแค่ไหน
ระบอบอมาตยาธิปไตยที่เป็นสิ่งตกค้างหลงเหลือของประวัติศาสตร์ ก็ไปด้วยกันไม่ได้เลยกับระบอบประชาธิปไตยที่แปลว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน บางทีเราสามารถปล่อยให้สิ่งหลงเหลือจากระบอบอมาตยาธิปไตยตายไปเองก็ได้ แต่มันอาจช้าเกินไปเพราะคงจะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับความทุกข์ร้อน ยุ่งยากลำบากใจ เช่น คุณจักรภพ เพ็ญแข นักต่อสู้ยุคใหม่ได้รับ
คุณจักรภพ เพ็ญแขเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของคนที่ต่อสู้กับกลุ่มอมาตยาธิปไตยแบบไม่เกรงกลัว เพราะคุณจักรภพ เพ็ญแข รู้ชัดและมีจิตสำนึกที่ถูกต้องว่าระบอบอมาตยาธิปไตยนั้นเป็นปัญหาสาหัสเพียงใด
ดังนั้น สิ่งที่พวกเราต้องทำ เท่าที่เราพอจะทำกันได้ นั่นคือช่วยกันล้มและล้างระบอบอมาตยาธิปไตยที่อิงแอบกับคุณธรรม จริยธรรม ปลอม ๆ ชอบเอาดีใส่ตัว แบ่งชนแบ่งชั้น สร้างภาพยัดเยียดให้นักการเมืองเป็นปีศาจ ให้หายไปอย่างเด็ดขาดจากสังคมการเมืองไทย.
เมธัส บัวชุม
ที่มา : บล็อกกาซีน (ประชาไท) : เสียงข้างน้อย : ต้องล้มระบอบอมาตยาธิปไตย
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551
ต้องล้มระบอบอมาตยาธิปไตย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:36 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น