วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551

การสถาปนาพระราชอำนาจจากโครงการในพระราชดำริ : ‘เอ็นจีโอเจ้า’ การเกิดและเติบโตในบริบทการเมืองตลอดช่วง 60 ปี



มื่อ พ.ศ.2547 มีความรู้ในเรื่องที่สังคมไทยมักไม่ค่อยกล้า ‘รู้’ ปรากฏขึ้น ได้แก่วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ ‘ชนิดา ชิตบัณฑิตย์’ เรื่อง ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ’

ความรู้นี้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการในโครงการของ ‘พระมหากษัตริย์’ ช่วงเวลาต่างๆ ตามบริบทสังคมและการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลสะท้อนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อวิธีคิดและพัฒนาการของสังคมไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จัดเวทีความรู้โดยเชิญ ‘ชนิดา ชิตบัณฑิตย์’ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง ‘เอ็นจีโอเจ้า’ ซึ่งถอดความมาจากวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ‘ประชาไท’ จึงขอร่วมพูดด้วยการนำมาขยายความต่อ ดังนี้

0 0 0


ชนิดา ชิตบัณฑิตย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


1

การเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านโครงการพระราชดำริในยุคนี้
ยังไม่สามารถดำเนินบทบาทได้อย่างกว้างขวาง
เพราะยังไม่สามารถผสานอุดมการณ์เข้ากับรัฐเผด็จการทหารได้เต็มที่
เพราะรัฐเผด็จการเน้นที่ตัวผู้นำเป็นหลัก



โครงการพระราชดำริในยุคแรกก่อกำเนิดคือช่วง พ.ศ. 2494-2500 เป็นการช่วงชิงอำนาจนำกับรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้โครงการต่างๆ ทำได้โดยจำกัด และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากส่วนราชการ เส้นทางที่ทำโครงการจะจำกัดมากด้วย คือแค่ทางระหว่างพระราชวังสวนจิตรลดากับหัวหินเท่านั้น

ลักษณะตัวกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลักๆ คือ โครงการพระราชดำริด้านสังคมสงเคราะห์ เช่นโครงการประมงพระราชทาน การระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข การให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์หรือทุนอานันทมหิดล การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งโครงการพระราชดำริโครงการแรกเป็นการสร้างถนนเข้าไปบ้านห้วยมงคล โครงการฝนหลวง

ส่วนโครงการพระราชดำริที่พิเศษคือโครงการด้านสื่อมวลชนส่วนพระองค์ มีบทสัมภาษณ์ของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งชี้ว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาจากรัฐ โดยมีการจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต มีการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ต่อมากลายเป็นสิ่งสำคัญในการเอาใช้ในส่วนสารคดีเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมุดที่ระลึกการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2498 ที่ได้มาโดยบังเอิญ ทำให้ทราบว่าหนังสือนี้เหมือนเป็นการยืนยันว่าประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเป็นประเพณีใหม่ของสังคมไทยที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 นี้เอง

หนังสือนี้เป็นคู่มือ เนื้อหาเช่น ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาเสด็จพระราชดำเนินมา ทรงโปรดอะไร ไม่โปรดอะไร ควรตั้งแถวรับอย่างไร เวลาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ไม่ควรไหว้คนอื่น พระ เด็ก กับคนแก่ควรจะให้อยู่ข้างหน้า ข้าราชการหัวเมืองต้องแต่งตัวอย่างไร เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของโครงการราชดำริยุคแรกเรียกว่า โครงการตามพระราชประสงค์ ทรงปฏิบัติและทดลองด้วยพระองค์เอง ถ้ามองลงไปในบริบททางการเมืองในยุคนั้นที่ถูกจำกัดพระราชอำนาจและไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณอะไร นำมาสู่โครงการลักษณะที่ใช้เครือข่ายส่วนพระองค์เป็นหลัก ได้แก่ สำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การระดมทุนทำให้เกิดประเพณีที่เรียกว่าทำบุญร่วมกับในหลวง ผ่านสถานีวิทยุ อ.ส. กลุ่มบริจาคก็จะมีฐานะ แต่ก็มีราษฎรถวายเวลาเสด็จไป

มีหน่วยงานราชการบางหน่วยเท่านั้นที่รับสนองพระราชดำริ เช่น กระทรวงเกษตร และ ตชด. โดยมี หม่อมเทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาฝนหลวงให้ประสบผล และดึงกระทรวงเกษตรมาดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงสร้างนี้ ส่วน ตชด.จะมาทำถนนเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล พ.ศ.2496

การเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านโครงการพระราชดำริในยุคนี้ยังไม่สามารถดำเนินบทบาทได้อย่างกว้างขวาง เพราะยังไม่สามารถผสานอุดมการณ์เข้ากับรัฐเผด็จการทหารได้เต็มที่ เพราะรัฐเผด็จการเน้นที่ตัวผู้นำเป็นหลัก โครงการพระราชดำริจึงมีลักษณะตอบโต้ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างด้วยการสร้างกลุ่มทางประวัติศาสตร์โดยอาศัยปัญญาชนเป็นตัวเชื่อมประสาน

ในการเชื่อมประสานจะดำเนินผ่านกิจกรรมการด้านวัฒนธรรม ภายหลังการตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.มีการก่อตั้งวงดนตรี อ.ส. เล่นทุกวันศุกร์ กลุ่มปัญญาชนที่เข้ามาก็มี เจ้านาย นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษา

ปัญญาชนที่สำคัญและมีบทบาทบางท่านในยุคนี้ได้แก่ นายขวัญแก้วและแก้วขวัญ วัชโรทัย รูปถ่ายและสารคดีต่างๆ จะเป็นฝีมือของสองท่านนี้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการดำเนินหน้าที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ เป็นดีเจจัดวิทยุ อ.ส. การเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านสื่อและการศึกษา และได้รับการเชิญให้บรรยายเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริเยอะมาก

ปัญญาชนที่สำคัญอีกท่านคือ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งมีบทบาทในด้านการทำฝนหลวง การพัฒนาเทคโนโลยี เช่นรหัสวิดน้ำ หรือการทำฟาร์มในสวนจิตรลดา คือสำคัญในฐานะนักวิชาการการเกษตร


2

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรม
ก็เปลี่ยนโฉมหน้าโครงการพระราชดำริหรือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างสิ้นเชิง มีการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ



โครงการพระราชดำริในยุคต่อมาเป็นการสถาปนาราชอำนาจนำในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เป็นการผสานเผด็จการทหารเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในยุคสงครามเย็น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2501-2523 ยุคนี้มีสายสัมพันธ์ราบรื่นกับรัฐบาลทหาร คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ลักษณะที่เห็นชัดในสายสัมพันธ์อันราบรื่นคือ หลังจากไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะถูกแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

รัฐเผด็จการทหารไม่ชอบธรรม จึงเชิดชูกษัตริย์ให้เป็นฐานทางการเมือง ในช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมเสรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ มีการเติบโตของฝ่ายซ้าย และการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าแบบทุนนิยม ที่เริ่มเกิดการพัฒนาอย่างรวมศูนย์โดยรัฐผ่านการกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลักษณะการพัฒนาจะเน้นการสร้างสาธารณูปโภค คำขวัญสำคัญคือ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ มีการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นหลัก

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรมต่อประชาชน ก็เปลี่ยนโฉมหน้าโครงการพระราชดำริหรือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างสิ้นเชิง มีการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ มีการรื้อฟื้นและสร้างใหม่ของประเพณีและพระราชพิธีที่เน้นบทบาทของกษัตริย์อย่างมากมาย และได้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกลไกของอำนาจรัฐอย่างเป็นทางการ

มีการรื้อฟื้นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมา โดยเริ่มตีความให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอันเป็นพื้นที่ที่คลุมเครือ มีการสร้างบทบาทและพื้นที่ทางการเมืองให้สถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ๆ

ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางโครงการพระราชดำริเองก็สะท้อนว่า เกิดกระบวนการที่เรียกว่ามีการร่วมสถาปนาพระราชอำนาจนำด้วย โดยรัฐบาลไม่ใช่ผู้กระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมอย่างเดียว แต่สถาบันพระมหากษัตริย์เองก็สถาปนาอำนาจตรงนี้ผ่านกิจกรรมในเรื่องโครงการพระราชดำริ ถ้ามองทั้งยุค บทบาทพระราชอำนาจนำฟื้นฟูช่วงนี้ และยิ่งเห็นได้ชัดหลัง 14 ตค. 2516

นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างบทบาทของกษัตริย์นักพัฒนาผ่านโครงการพระราชดำริ และสร้างกลุ่มความสัมพันธ์ที่มากกว่าโครงสร้างในยุคแรกที่มีแค่ในพระราชสำนัก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร ชาวนา ชาวเขา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้ามายเดียวกันกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และขยายไปสู่ทั้งข้าราชการ พลเรือน และนักศึกษา

ในช่วงนี้เองเริ่มมีการให้โอวาทกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้โครงการพระราชดำริเริ่มได้รับการหนุนจากภาครัฐหรือราชการบ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นระบบ ถ้าหน่วยงานไหนสนองได้ก็มาสนองหรือมาดำเนินโครงการด้วย

จากการวิเคราะห์พบอีกว่า ในยุคนี้มีการสร้างประเพณีมารองรับโครงการพระราชดำริ มีการเยี่ยมราษฎรเพิ่มอย่างสม่ำเสมอทุกภูมิภาค มีการสร้างพระราชวังทุกภาคเป็นฐานปฏิบัติการ จะทรงเยี่ยมราษฎรอย่างครอบคลุม เกิดการสร้างสายสัมพันธ์ทางตรงกับราชการและราษฎรด้วยการเสด็จเอง

มีประเพณีสำคัญที่ทำให้โครงการพระราชดำริกลายเป็นสัญลักษณ์ส่วนพระองค์ด้วย คือประเพณีการนำราชอาคันตุกะไปเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ ตรงนี้สื่อมวลชนจะนำไปเผยแพร่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การสถาปนาพระราชอำนาจนำในยุคนี้จะดำเนินการผ่านระบบราชการของรัฐเผด็จการทหาร จึงมีทั้งมิติที่ประสานและช่วงชิงอำนาจนำ เพราะพระองค์มีแนวพระราชดำริที่ต่างไปจากรัฐบาลด้วย

การประสานนั้นส่งผลให้บทบาทและการเผยแพร่อุดมการณ์ของกษัตริย์นักพัฒนาได้รับการหนุนเสริมในฐานะที่กษัตริย์ทรงมีต่อพสกนิกร และฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์กระแสหลักในสังคมอยู่แล้ว คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาเงื่อนไขของการสร้างบทบาททางสังคมการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ควบคู่การปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยปริยาย

ยุคนี้ปัจจัยทางการเมืองที่มีผลสำคัญคือสงครามเย็นและการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณผ่านโครงการด้านการทหารหรือการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากอเมริกา เพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ตรงนี้ส่งผลสำคัญต่อแนวทางการพัฒนาสังคมไทยทั้งในภาครัฐและการพัฒนาโครงการพระราชดำริ

ในหนังสือรับเสด็จหัวเมือง พบจดหมายที่ส่งไปให้ข้าราชการหัวเมือง โครงการพระราชดำริยุคนี้มีด้านสังคมสงเคราะห์เหมือนยุคก่อนคือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์, มูลนิธิราชประชาสมาศรัย, มูลนิธิพระดาบส โครงการด้านการพัฒนาเกษตรและชนบทที่สวนจิตรลดา โครงการหุบกะพงอันเป็นโครงการต้นแบบแรกๆในด้านการพัฒนาซึ่งรับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศอิสราเอล และโครงการหลวงที่มีผู้แทนพระองค์คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

ส่วนโครงการพระราชดำริที่มีลักษณะเฉพาะของยุคนี้คือ โครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ลักษณะสำคัญคือมีการผสานกับทหาร ตำรวจ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคง โดยมีประเด็นเช่น เรื่องการพัฒนาอาวุธ หรือในงานเขียนจำนวนหนึ่งระบุว่า ทรงซ่อมปืนให้ทหารด้วย อีกทั้งมีการพระราชทานขวัญและกำลังใจให้ทหาร ทรงเสด็จไปเยี่ยมในพื้นที่ที่มีความรุนแรง มีจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านโดยมีกิจกรรมการพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านเป็นกิจกรรมหลักในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคงนี้

เมื่อนำการพัฒนาของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ในยุคนี้มาเปรียบเทียบจะพบว่ามีลักษณะร่วมกันคือความต้องการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและช่วงชิงมวลชนกลับคืนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้มีการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า การพัฒนาเพื่อความมั่นคง จนมีงานเขียนหลายชิ้นมากที่โต้เถียงกันว่า ยุทธศาสตร์นี้เริ่มต้นจากที่ไหน ระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายโครงการพระราชดำริที่บอกว่าทรงพระราชทานมา

การกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าวเริ่มเป็นแผนในระดับประเทศในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 สาเหตุที่บรรจุไว้ในแผนคือ เมื่อบรรจุแล้วจะต้องมีการทำกิจกรรมอย่างสอดคล้องกับแผนหลักและหมายถึงการหนุนเสริมด้านงบประมาณด้วย

เมื่อหันมาพิจารณาการพัฒนาของรัฐต่อ จะเห็นว่ารัฐจะทำในลักษณะแยกส่วน ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นปัญหาของระบบราชการ รัฐขาดการประสานงานเป็นระบบ และไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพัฒนากลับทำให้มวลชนยิ่งไปเป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์

แต่โครงการพระราชดำริมีลักษณะวิพากษ์การพัฒนาของรัฐโดยไม่ได้ละทิ้งรัฐ ทั้งนี้โครงการพระราชดำริมีความสามารถพิเศษในการประสานงานกับราชการทุกหน่วยงานได้ ภายใต้พระบารมี ทำให้หน่วยงานข้าราชการทุกหน่วยสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาไปที่กลุ่มเป้าหมายเดียวกับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ช่วงชิงมวลชน

ลักษณะสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคง จุดเริ่มต้นคือการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างกองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ให้เรียบร้อย จากนั้นจะสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์คือถนนสู่ขุมกำลังนั้น ตามมาด้วยการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามสองข้างทางในพื้นที่โดยคัดเลือกราษฎรอาสา เช่น ทหาร ชาวบ้านที่ออกรบ หรือทหารกองหนุนที่ยังไม่มีที่ทำกินเข้าไปตั้งถิ่นฐานก่อน โดยทางการจะมาดูแลที่อาศัยและสาธารณูปโภค หลังดูแลเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งมอบพื้นที่จัดตั้งให้ฝ่ายปกครองบริหารตามปกติ

ปัญญาชนในยุคนี้ ได้แก่ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย ดูแลโครงการสวนจิตรทั้งหมดจากเป็นที่รกร้างเต็มไปด้วยงู ก็กลายเป็นอย่างปัจจุบัน

อีกท่านได้แก่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้อำนวยการโครงการหลวง เป็นผู้บุกเบิกสร้างสายสัมพันธ์กับชาวเขา เป็นผู้กำหนดเส้นทางเสด็จว่า มาแล้วต้องพบกับใครเผ่าไหน คือเป็นตัวเชื่อมผสาน นอกจากนี้โครงการหลวงในยุคนั้นได้รับเงินหนุนมากมายจากต่างประเทศ และได้รับเงินสนับสนุนมาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้โครงการหลวงเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ประสานกับหน่วยงานรัฐให้มาปราบ

นอกจากนี้ก็มี หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ผู้แทนพระองค์ภาคใต้ยุคคอมมิวนิสต์ ด้วย


3

การเกิด กปร.เป็นภาพสะท้อนสำคัญในการสถาปนาอำนาจนำในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับภาครัฐภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานในระบบราชการ เป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างในหลวงกับหน่วยงานราชการที่ชัดเจน

ยุคต่อมาคือ พ.ศ. 2524-2530 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างของโครงการพระราชดำริ ตั้งชื่อว่า การสถาปนาพระราชอำนาจนำยุคกำเนิดองค์กรประสานงาน : การชี้นำรัฐราชการ

องค์กรประสานงานที่สำคัญคือ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ (กปร.) การสถาปนาพระราชอำนาจนำในยุคนี้ เป็นยุคปลายการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ส่วนสายสัมพันธ์ก็แนบแน่นกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้แทนพระองค์ด้วย

ลักษณะสำคัญคือการพัฒนาที่ประสานกับแผนของรัฐที่ปรับให้มีการพัฒนาไปสู่ชนบท ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงต่อเนื่องมาจากช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับก่อน ในยุคนี้การพัฒนาดังกล่าวกลายมาเป็นแผนหลักในการพัฒนายุทธศาสตร์ให้เคลื่อนไปสู่ชนบท นอกจากนี้ก็เกิดการเติบโตของขบวนการเอ็นจีโอหรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมโดยชนชั้นกลางตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา

แผนพัฒนายุคนี้เป็นการประสานเข้ากับแผนการปราบคอมมิวนิสต์เหมือนยุคก่อน แต่ที่สำคัญคือ การเกิดคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่ในการประสานระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ และกำหนดงบประมาณเฉพาะให้แก่โครงการพระราชดำริใน พ.ศ.2524 หรือที่เรียกว่า กปร.

การเกิด กปร. เป็นภาพสะท้อนสำคัญในการสถาปนาอำนาจนำในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับภาครัฐภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานในระบบราชการ เป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างในหลวงกับหน่วยงานราชการที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อทรงเสด็จแล้วก็จะพระราชทานพระราชดำริ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต่างคนต่างทำ จึงได้รับเสียงสะท้อนมาว่า ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง หลังจากเกิด กปร.ก็แก้ไขปัญหานี้ได้

หน่วยงาน กปร. มีโครงสร้างสำคัญที่หลีกเลี่ยงข้อจำกัดในด้านระเบียบราชการและ ความล่าช้าด้านการดำเนินงบประมาณของราชการ สามารถจัดสรรงบประมาณพิเศษที่อัดฉีดเฉพาะในแต่ละปี ทำให้เมื่อมีพระราชดำริในโครงการไหน หน่วยงานราชการสามารถทำแผนมาและส่งไปยัง กปร. กปร.ก็จะสามารถนำงบไปให้หน่วยงานนั้นดำเนินการได้อย่างทันที จากนั้นในปีถัดไป หลังจากที่โครงการเข้าสู่หน่วยงานนั้นแล้วก็ให้หน่วยงานราชการนั้นเอาเงินงบประมาณของหน่วยงานนั้นมาจัดทำโครงการนั้นเอง เป็นการลดขั้นตอน

โครงสร้างการบริหารโครงการพระราชดำริจะเห็นว่า เลียนแบบโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล แต่เป็นลักษณะรวมศูนย์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบไปด้วยปลัดกระทรวง และทหาร อันเป็นโครงสร้างหลักของการดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาอยู่แล้ว

แต่มีลักษณะพิเศษคือ การมีตัวแทนของสำนักพระราชวัง และตัวแทนจาก กปร. มาทำหน้าที่ในการกำกับกิจกรรมการพัฒนาให้เชื่อมผสานกับในหลวง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ดังนั้น โครงการที่ผ่านมาทุกครั้งต้องให้ กปร.เป็นผู้ตรวจสอบก่อน จากนั้น กปร.จะเสนอถวายให้ทรงมีพระราชดำริวินิจฉัย ถ้าทรงเห็นด้วยจึงจะทรงลงนามอนุมัติให้ดำเนินการ

ยิ่งกว่านั้นโครงสร้างการบริหารของโครงการพระราชดำริยังมีลักษณะเบ็ดเสร็จในเรื่องงบประมาณด้วยเนื่องจากมีผู้อำนวยการของสำนักงบประมาณทำหน้าที่อนุมัติงบประมาณได้เลย หมายความว่า ถ้าเสนอมาแล้วก็เบ็ดเสร็จในคณะกรรมการชุดนี้เลย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกระทรวงทบวง กรม

ส่วนกิจกรรมในโครงการพระราชดำริจะประกอบไปด้วย การเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณะสุข ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม สถิติตั้งแต่ พ.ศ. 2525-2544 พบว่า 56.40 % เป็นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ จึงทำให้กรมชลประทานโตมาก สังเกตได้ว่า อธิบดีกรมชลประธาน หลังหมดวาระก็มักจะไปเป็นที่ปรึกษาใน กปร. องคมนตรี หรือผู้ดูแลโครงการพระราชดำริต่อ และมีเรื่องเล่ากันมาว่า ถ้าอยากจะอนุมัติโครงการอะไรโดยไม่ให้ชาวบ้านต่อต้าน ก็ให้เสนอในนามของโครงการพระราชดำริจะลดกระแสได้

งบประมาณที่ได้รับเพียงงบอัดฉีดที่สามารถทำให้โครงการดำเนินการได้เลย คือประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่สำคัญคือ หลังจากนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องเอางบประมาณของหน่วยงานตัวเองมาจัดการโครงการต่อ ข้าราชการบางคนบอกว่า โครงการที่เดินอยู่ตอนนี้เป็นโครงการพระราชดำริเกิน 80%

สำหรับปัญญาชนที่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริภายใต้ กปร.ได้แก่ ปัญญาชนในองค์กรส่วนพระองค์ เช่น องคมนตรี สำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง เพราะพระองค์ไม่ได้ไปตรวจตราเช่นเดิม ทำให้องคมนตรีเป็นบทบาทหลักในการไปตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริต่างๆ

นอกจากนี้ก็มีปัญญาชนในหน่วยงานราชการ กองทัพ และจาก กปร. ซึ่งแยกส่วนมาจากสภาพัฒน์ โดยยกกองพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ทำงานอยู่ในขณะนั้นมาทั้งกอง โดยระบุว่าเมื่อโครงการต่างๆ มีการประสานกันมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานนี้ก็รับสนองมากขึ้นจนมันโตเกินสภาพัฒน์ จึงมาตั้งเป็นกองต่างหาก ข้อมูลนี้มาจาก ดร.สุเมธเอง

นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มปัญญาชนเกษตรกรท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เอาอุดมการณ์การพัฒนามาเผยแพร่หรือปฏิบัติในชีวิตจริง เกิดเป็นตัวแบบของเกษตรกรและเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

กล่าวเฉพาะ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จะเห็นบ่อยๆ ว่า มักมีเทปอัด จด เพื่อแปลตัวโครงการให้ตรงพระราชประสงค์มากที่สุด เป็นปัญญาชนคนสำคัญในการทำให้โครงการพระราชดำริมีหน้าตาแบบปัจจุบัน ซึ่งพยายามแสวงหากลไกที่ไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องกลไกข้าราชการและสำคัญในการเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มมากมาย

ปัจจุบัน ดร.สุเมธ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และควบคูไปกับตำแหน่งเลขาธิการ กปร. ในระหว่างนี้ก็เป็นที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนให้กับสภาความมั่นคงในบุคคลเดียวกัน

นอกจากนี้ยังเป็นปัญญาชนที่เชื่อมโยงกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย เริ่มจากบทบาทในฐานะปัญญาชนเทคโนแครต ทั้งโครงสร้างขององค์กรรัฐด้านการกำหนดแผนพัฒนาซึ่งส่งผลสำคัญในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นปัญญาชนในโครงการพระราชดำริและอยู่ในฝ่ายความมั่นคง

บทบาทพิเศษที่สำคัญหาได้ยากคือเป็นปัญญาชนที่เชื่อมต่อโดยตรงกับในหลวงโดยตรง อีกทั้งมีบทบาทสำคัญคือเป็นปัญญาชนที่ทำหน้าที่ทำให้การพัฒนากลายเป็นทฤษฎี นอกจากนี้ยังเผยแพร่อุดมการณ์แห่งการพัฒนาด้วย กล่าวคือ ดร.สุเมธ มีงานเขียนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นการยกระดับปฏิบัติการพัฒนาการของโครงการพระราชดำริให้มาเชื่อมกับแนวคิดทฤษฎีทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ และในด้านพัฒนา

โดยเขาจะเขียนบทความสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาของโครงการพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด และเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มีการบรรยายพิเศษกว่า 500 ครั้งใน 1 ปี จึงเป็นผู้เผยแพร่ที่สำคัญ

ส่วนอุดมการณ์การพัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับราษฎรจริงๆได้อย่างไรนั้น จะมีกระบวนการสร้างกลุ่มทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่างปัญญาชนกับมวลชนผ่านโครงการพระราชดำริผ่านองค์กรที่เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ตั้งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ

ภายในศูนย์ศึกษาฯนี้จะประกอบไปด้วยหน่วยงานข้าราชการต่างๆรวมกันอยู่ เช่น กระทรวงเกษตร กรมประมง ตัวแทนสถาบันการศึกษา พูดง่ายๆ คือการจำลองโครงสร้างทั้งหมดไปสู่ท้องถิ่น

บทบาทที่สำคัญของศูนย์ศึกษาฯ คือเป็นแหล่งทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและปัจจัยการผลิต ขับเคลื่อนอุดมการณ์การพัฒนาไปสู่เกษตรกร มีการฝึกอบรมโดยให้ชาวบ้านส่งตัวแทนหมุนเวียนกันมาอบรมเพื่อให้มีเวลาทำมาหากิน หลังการอบรมจะมีการสนับสนุนบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล หรือให้ปัจจัยการผลิตเช่น ให้ต้นไม้มาปลูก ให้ไก่มาเลี้ยง บอกวิธีเลี้ยง เป็นต้น


4

พระมหากษัตริย์และสถาบัน
ดำรงบทบาทในสถานสูงสุดในยุคนี้
ทั้งทางสังคม การเมือง และมิติด้านอุดมการณ์
การดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาในยุคนี้
จึงเติบโตขึ้นภายใต้อุดมการณ์ที่กษัตริย์นิยมหยั่งรากลึก
โดยปราศจากการท้าชิงอำนาจนำในทางอุดมการณ์
ทั้งในระดับสากล และในระดับประเทศ

ยุคสุดท้ายคือการสถาปนาพระราชอำนาจนำ กำเนิด ‘องค์กรเอกชน’ 2531-ปัจจุบัน เกิดมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในเรื่องการสนองตอบการดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ เพราะภายใต้ระบบราชการที่มีกฎเกณฑ์ขั้นตอนทำให้ดำเนินการล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์

มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อพัฒนาการโครงการพระราชดำริและการนิยามความหมายขององค์การเอกชนด้านการพัฒนาในสังคมไทยด้วย ซึ่งแต่เดิม เราจะมององค์กรพัฒนาเอกชนจำกัดอยู่เฉพาะแต่ชนชั้นกลาง แต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกิดขึ้นโดยสถาบันกษัตริย์ มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนเอ็นจีโอที่ดำเนินการโดยชนชั้นกลาง การเกิดขึ้นของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของบทบาทกษัตริย์นักพัฒนาและการครองอำนาจนำของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ทั้งในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทย

ยุคนี้มีบริบทสำคัญคือการล่มสลายของประเทศสังคมนิยม ส่วนในประเทศไทยมีการล่มของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการล่มสลายของอุดการณ์ทางการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน

พระมหากษัตริย์และสถาบันจึงดำรงบทบาทในสถานสูงสุดในยุคนี้ ทั้งทางสังคม การเมือง และมิติด้านอุดมการณ์ การดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาในยุคนี้จึงเติบโตขึ้นภายใต้อุดมการณ์ที่กษัตริย์นิยมหยั่งรากลึกโดยปราศจากการท้าชิงอำนาจนำในทางอุดมการณ์ทั้งในระดับสากล และในระดับประเทศ

ลักษณะที่สำคัญในยุคนี้คือ มีการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอ็นจีโอในกระบวนการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 คือ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการระดมความร่วมมือระหว่างเอ็นจีโอกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือกัน แต่เอ็นจีโอจะบอกอีกเวอร์ชั่นหนึ่งว่า เราเริ่มทำให้รัฐเข้ามาเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่เราได้หยั่งรากตั้งแต่วัฒนธรรมชุมชน แต่เอาเป็นว่าโดยสรุป มีการประสานกันและมีการเสนออุดมการณ์ที่เรียกว่า ประชารัฐ คือประชาชนร่วมมือกับรัฐ และอุดมการณ์บวร ที่มาจากคำว่า บ้าน วัด ราชการ

ทว่าเอ็นจีโอกับองค์กรเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกัน ดังที่กล่าวแล้วว่า เอ็นจีโอเติบโตขึ้นใน ทศวรรษ 2520 ดำเนินกิจกรรมโดยชนชั้นกลาง และเป็นองค์กรที่พัฒนาในแนววัฒนธรรมชุมชน เน้นการพัฒนาที่มีรากฐานชุมชนเป็นหลัก ส่วนใหญ่เอ็นจีโอจะมีภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อสังคมและรัฐบาล เช่น รับเงินต่างชาติ และมักไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน

ส่วนมูลนิธิชัยพัฒนามีลักษณะสำคัญคือ สามารถดำเนินกิจกรรมที่ประสานและสนับสนุนการพัฒนาของรัฐโดยการระดมทุนจากเอกชน ดร.สุเมธ บอกว่า ไม่เคยมีปัญหาเรื่องงบประมาณเลย เพราะประชาชนหลั่งไหลกันบริจาค ปัญหาไม่ใช่เงิน แต่ปัญหาคือการบริหารจัดการเงินให้มีระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถขยายตัวกิจกรรมไปให้มากมาย

ซึ่งนอกจากมีความสามารถในเรื่องระดมทุนแล้วยังมีงบประมาณของรัฐผ่าน กปร. ด้วย ทำให้โครงการพระราชดำริสามารถถูกสนองอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และก็โตมากกว่าสามพันโครงการ อีกทั้งได้รับความศรัทธาจากราษฎร ภาคเอกชนและรัฐบาล มีการถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลและให้มูลนิธิชัยพัฒนาเยอะมาก และไม่มีข้อจำกัดเหมือนหน่วยงานภาครัฐ เพราะเป็นเอ็นจีโอแล้ว นอกจากนี้เวลางบประมาณไม่ทันสถานการณ์ สามารถเอาเงินไปให้รัฐบาลยืมได้ด้วย

ส่วนการสถาปนาอำนาจนำ เริ่มมีการประสานมิติทางด้านอุดมการณ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง กับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งโดยเนื้อแท้จริงๆ มันไม่เหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจพอเพียงมีบริบทเฉพาะ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีนัยยะทางการเมือง หรืออะไรอีกหลายอย่าง เพียงแต่มีลักษณะที่ประสานกันบางด้านและทุกคนต่างยอมรับว่านี่คือเศรษฐกิจพอเพียง

อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงเกิดหลังจากการที่ทรงมีพระราชดำรัสในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 จากนั้นก็ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางและถูกผลักดันสู่ยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9

ทำให้มีการสนับสนุนโดยสภาพัฒน์ หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ปัญญาชนและเอ็นจีโอซึ่งมันเกิดการปะทะประสานของอุดมการณ์การพัฒนาของกษัตริย์หรือเศรษฐกิจพอเพียงนี้กับกลุ่มปัญญาชนเอ็นจีโอที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2520

ประเด็นสำคัญคือมีการแพร่กระจายและการเชื่อมประสานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกับวัฒนธรรมชุมชน ผ่านเครือข่ายของปัญญาชนในสังคมที่เคยเสนออุดมการณ์วัฒนธรรมชุมชนมาก่อนโดยทำหน้าที่ตีความเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับแนวความคิดที่ตัวเอง

คนแรกคือ นายแพทย์ประเวศ วะสี เช่น มีแนวคิดเรื่องพลังแผ่นดินกับประชารัฐ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สนับสนุนเอ็นจีโอ โดยมีในหลวงเป็นศูนย์กลาง

หรือเสน่ห์ จามริก ก็พูดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน อภิชัย พันธเสน พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาก็พูดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำให้มีการตีความเชื่อมโยงกันจึงไม่มีความแตกต่างกันเรื่องแนวคิดการพัฒนาอีกต่อไป

ส่วนขั้นตอนการเผยแพร่อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงคือ หลังจากที่มีพระราชดำรัสแล้ว ศูนย์ศึกษาฯ จะรับแนวพระราชดำริมาปฏิบัติการ เกิดการก่อตั้งคณะทำงานโครงการทฤษฎีใหม่ มีการคัดเลือกราษฎรมาฝึกอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ หลังอบรม 3วัน โดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์เป็นผู้ให้การอบรม พอเกษตรกรได้รับการอบรมแล้วก็ให้เสนอโครงการว่า ที่ดินมีเท่าไหร่ อยากได้รับการสนับสนุนอย่างไร แบ่งที่ดินอย่างไร ให้ขุดสระให้ตรงไหน อยากได้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์อะไร โดยศูนย์ศึกษาฯจะให้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ หลักจากที่มีคณะกรรมการลงไปประเมินว่า เกษตรกรมีศักยภาพหรือไม่

อย่างไรก็ตามการสนับสนุนดังกล่าวไม่ให้แรงงานมาด้วย เกษตรกรจึงต้องปรับที่ดินและดำเนินกิจกรรมการผลิตเองทั้งหมด ปัญหาที่ตามมาคือ เกษตรกรบอกว่าเหนื่อยมาก บางคนเข้าโครงการตอนอายุยังไม่เยอะ พออายุเยอะขึ้นก็ทำไม่ไหว เพราะกิจกรรมเยอะมากตั้งแต่เช้าจดเย็น ในช่วงที่แปลงที่ดินก็ไปทำมาหากินอื่นไม่ได้ต้องเสียรายได้ไป เพราะความจริงชาวบ้านไม่ได้ทำงานอย่างเดียว อาจมีการรับจ้างอื่นๆ ด้วย



ที่มา : ประชาไท : ‘เอ็นจีโอเจ้า’ การเกิดและเติบโตในบริบทการเมืองตลอดช่วง 60 ปี

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

เอกสารประวัติศาสตร์ : พระบรมราชโองการแต่งตั้งสฤษดิ์ ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


มไม่แน่ใจว่า เคยโพสต์เอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นนี้หรือยัง คลับคล้าย คลับคลาว่า อาจจะเคยสมัยบอร์ดเก่า


พอดีผมต้องใช้สำหรับงานช่วงนี้ และต้อง scan ไว้ (ถ้าเคยโพสต์ แสดงว่า ต้อง scan ไว้แล้ว แต่ผมหาไม่เจอ อันที่โพสต์นี้ เพิ่ง scan ใหม่)จึงเอามาโพสต์ให้ดูกัน เผื่อมีใครสนใจ






ขณะมี พระบรมราชโองการนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2495 (หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญ 10 ธันวา 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495) ยังมีผลบังคับใช้อยู่ การรัฐประหารเมื่อ16 กันยายน 2500 ไม่ได้ล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป


มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า (ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวา 2475 ฉบับเดิม เป็นมาตรา 57)




".........บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา พระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ"




ในพระราชดำรัสวันที่ 25 เมษายน 2549 (จุดเริ่มต้น "ตุลาการภิวัฒน์") มีความตอนหนึ่งว่า




"มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำไป เขาจะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย


เขาอ้างถึงครั้งก่อนนี้ว่า รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นไม่มีสภา สภาไม่อยู่ ประธานสภาไม่อยู่ รองประธานสภาทำหน้าที่ เขามีนายกรัฐมนตรีที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ตอนนั้นไม่ใช่นายกฯพระราชทาน ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ


นายกฯพระราชทานหมายถึงตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ฉะนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ และท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับอย่างไร ตอนนั้นสภาอื่นๆ แม้ที่เรียกว่าสภาสนามม้า เขาก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายสัญญา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้เขาจะทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าผิด ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ที่ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองพ้นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้"






สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล



ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : เอกสารประวัติศาสตร์: พระบรมราชโองการแต่งตั้งสฤษดิ์ ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

ฟอร์บส์วิเคราะห์พระราชทรัพย์


โดย : ซูซาน เจ. คันนิงแฮม

เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2551
นิตยสารฟอร์บส์ ประจำวันที่ 1 กันยายน 2551



รัพย์สินประจำราชวงศ์ของสถาบันกษัตริย์ไทยไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน เมื่อปีที่แล้วฟอร์บส์เอเชียประเมินไว้อย่างต่ำคือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (170,000 ล้านบาท ที่ 34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) ตัวเลขประเมินของแหล่งอื่นคือ 8 พันล้านเหรียญ (272,000 ล้านบาท) มาปีนี้ ฟอร์บส์เอเชียอาศัยงานวิชาการที่ทำการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ตัวเลขออกมาอยู่ที่ 35 พันล้านเหรียญ (1,190,000 ล้านบาท) ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองตำแหน่งสูงสุดในการจัดอันดับราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของเราในปีนี้ เมื่อปีแล้ว พระองค์ทรงอยู่อันดับที่ 5

ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ คือ อสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาล ที่รวมถึงที่ดินราวหนึ่งในสามของย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังถือหุ้น 30% ในเครือซีเมนต์ไทยและ 25% ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย ในปี 2548 ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้อนุญาตให้พอพันธ์ อุยยานนท์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่กำลังเขียนงานเกี่ยวกับประวัติของสำนักงานฯ ได้เข้าถึงข้อมูลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บทความของพอพันธ์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Contemporary Asia ของประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเมินทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไว้ที่ 27.4 พันล้านเหรียญฯ โดยเป็นมูลค่าเมื่อปลายปี 2548 จากนั้นทรัพย์สินต่างๆ และเงินบาทมีมูลค่าสูงขึ้น (แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม) “แน่นอน [ตัวเลขประมาณค่า] มหาศาลมาก แต่ก็มีเหตุมีผล” พอพันธ์กล่าว “เราทราบราคาที่ดิน เราทราบมูลค่าในตลาด(market capitalization) [ของบริษัทต่างๆ]อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เขียนมาในอีเมล์ว่า “โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีความคลาดเคลื่อนที่ใหญ่โตอันใด” ในบทความของพอพันธ์

แม้ว่าจะไม่มีใครภายนอกสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่รู้ชัดว่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของสำนักงานฯ อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ที่มีมูลค่าสูงสุดนั้นอยู่ในย่านต่างๆ ที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานที่สำคัญๆ หลายแห่งของกรุงเทพฯ ตัวเมืองกรุงเทพฯ จากเยาวราช ราชดำเนิน เกาะรัตนโกสินทร์ ได้แผ่ขยายไปทางทิศใต้เลาะแม่น้ำเจ้าพระยาและไปทางตะวันออกตามแนวคลองต่างๆ ตอนนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของอาคารสำนักงานต่างๆ ของรัฐในบริเวณเหล่านี้ ตลอดจนทำเลริมแม่น้ำของโรงแรมห้าดาวอย่างโอเรียนเต็ลและรอยัลออร์คิด และที่ดินผืนใหญ่แถวสีลม สาทรและวิทยุอันเป็นย่านธุรกิจและที่ตั้งสถานทูตประเทศต่างๆ สำนักงานทรัพย์สินฯ ปล่อยเช่าที่ดินให้กับห้างหรูอย่างสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิร์ลด์ รวมถึงสวนลุมไนท์บาซาร์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอาคารสำนักงานเสริมมิตรและสินธร

อวิรุทธ์กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินทั้งหมด 3,493 เอเคอร์ (8,732.5 ไร่) ในใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้มีมูลค่า 31 พันล้านเหรียญ (1,054,000 ล้านบาท) คิดตามราคาที่ดินที่รวบรวมโดยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พอพันธ์ใช้ข้อมูลนั้นหาราคาที่ดินในทำเลต่างๆ 22 ทำเล แล้วหาราคาต่อเอเคอร์สำหรับที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ของตนเพียง 9 พันล้านเหรียญ(306,000 ล้านบาท)เท่านั้น แต่อวิรุทธ์บอกว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ลงบัญชีทรัพย์สินในราคาต้นทุน ไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์แก่ฟอร์บส์เอเชีย แต่เจ้าหน้าที่ของเขาก็ได้ตอบคำถามต่างๆ ทางอีเมล์

อวิรุทธ์กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังเป็นเจ้าของที่ดินอีก 12,500 เอเคอร์ (31,250 ไร่) ทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นที่ดินตามตลาดเก่าๆ และตามจังหวัดปลูกข้าวในบริเวณภาคกลาง ตามแนวเขตแดนทางประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม ทั้งพอพันธ์และสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่างก็ไม่ได้ทำการประเมินมูลค่าที่ดินในส่วนนี้ และก็ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขการประเมินของฟอร์บส์ครั้งนี้ด้วย

สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้อนุญาตให้พอพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เข้ามาศึกษาบันทึกประวัติการเช่าที่และการจัดเก็บค่าเช่า ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน พอพันธ์พบว่าในปี 2548 สำนักงานทรัพย์สินฯ มีรายได้จากทรัพย์สิน 56 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับ 79 ล้านเหรียญ (2,686 ล้านบาท)ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เขาเชื่อว่าตั้งแต่ประมาณปี 2542 เป็นต้นมา สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ได้ถึงห้าเท่าเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่โดยการเพิ่มค่าเช่ากับผู้เช่าเชิงพาณิชย์และส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจเหล่านั้น

พอล แฮนด์ลีย์ ที่ใช้เวลาอยู่ในเมืองไทยเป็นทศวรรษ ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สำหรับหนังสือของเขาที่ถูกสั่งห้ามไปในปี 2549 กล่าวว่าเขาเชื่อว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังไม่ได้เรียกเก็บค่าเช่าในอัตราตลาด เป็นเพราะว่าหากเพิ่มเร็วเกินไปจะก่อผลที่รุนแรง โดยเฉพาะสำหรับผู้เช่ารายได้ต่ำนับพันๆ ราย “สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีวิธีคิดที่ตรึงค่าเช่าต่ำกว่าอัตราตลาดเพื่อเป้าหมายความมีเสถียรภาพในระยะยาว” แฮนด์ลีย์กล่าว “หรือ มองได้อย่างนี้ว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์บางส่วน มีเป้าจำกัดสำหรับบางส่วน และเกือบจะเชิงพาณิชย์สำหรับส่วนที่เหลือ”

ทรัพย์สินส่วนอื่นของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นง่ายต่อการประเมิน หุ้น 30%ในเครือซีเมนต์ไทย(บริษัทที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ)มีมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญ (64,600 ล้านบาท) หุ้น 25%ในธนาคารไทยพาณิชย์มีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ (37,400 ล้านบาท) ณ เดือนกรกฎาคมปีนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของเทเวศประกันภัยเกือบทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 65 ล้านเหรียญ (2,210 ล้านบาท) และถือหุ้นในบริษัทมหาชนและเอกชนอีกหลายแห่งที่อวิรุทธ์บอกว่ามีมูลค่า 600 ล้านเหรียญ (20,400 ล้านบาท) จิรายุนั่งเป็นประธานเครือซีเมนต์และเทเวศประกันภัย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ไปนั่งเป็น nonexecutive directors (กรรมการซึ่งไม่ใช่ผู้บริหารของบริษัท มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางนโยบาย) ของบริษัทต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นอยู่

นอกจากทรัพย์สินในส่วนของสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงมีการลงทุนและถือครองที่ดินเป็นการส่วนพระองค์ด้วย พอพันธ์ไม่ได้พิจารณาทรัพย์สินส่วนนี้ และการวิเคราะห์จากภายนอกทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการคาดเดามูลค่า ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขประมาณการ 35 พันล้านเหรียญของฟอร์บส์เอเชียในครั้งนี้ด้วย ที่ดินในส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งตกทอดของราชวงศ์มาหลายทศวรรษ บางทีมาจากการถวายที่ดินของชาวนาที่ไร้ทายาทและเลื่อมใสศรัทธาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์

ขณะที่ไม่มีบุคคลภายนอกคนใดเลยที่จะแน่ใจได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดบ้างที่ทรงได้รับผลประโยชน์จากรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ก็อาจคาดเดาได้ว่ารวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่พระองค์ พระวรชายาฯ และพระราชนัดดาทั้งห้าพระองค์ที่อยู่ในเมืองไทย นอกนั้นก็อาจจะรวมถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ไม่มีความชัดเจนว่าเงินจำนวนเท่าใดถูกใช้โดยเสด็จพระราชกุศลเนื่องจากไม่มีการเปิดเผยแก่สาธารณะ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสถานที่ตั้งอยู่ในวังลดาวัลย์อันเป็นคฤหาสน์หรูหราต้นศตวรรษที่ยี่สิบก่ออิฐสีเหลืองหลังคาแดงในเขตดุสิตใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาและพระราชวังสวนจิตรลดา เขตดุสิตทุกวันนี้ยังคงเป็นย่านที่พักอาศัยที่เขียวชอุ่ม แต่เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้นเป็นบ้านนอก ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งพิมานเมฆที่สร้างจากไม้สักไว้แปรพระราชฐานเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ แล้ววังและคฤหาสน์อื่นๆ ของเชื้อพระวงศ์และขุนนางก็มีตามมาในอีกไม่นาน

จิรายุบริหารงานสำนักงานทรัพย์สินฯ มาตั้งแต่ปี 2530 เขามาจากครอบครัวชนชั้นสูงและเป็นคนวงใน เขาเป็นนักกีฬาสค็วอชมือฉกาจและจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เขากลับมาสอนเศรษฐศาสตร์ที่เมืองไทยและรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ธรรมดาเลย เนื่องจากเป้าหมายของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นไม่ใช่การหารายได้สูงสุด หากแต่เป็นการช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศโดยการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ และจัดหาที่พักอาศัยราคาต่ำกว่าตลาดสำหรับพลเมืองที่มีรายได้ต่ำ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เกือบทั้งหมดจาก 600 คนทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึงสิบคนที่ดูแลหลักทรัพย์ด้านการเงิน และในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่แท้จริง สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้สนใจกับผลกำไรหรือการขาดทุนระยะสั้น “บทบาทของเราเพียงแค่เข้าร่วมในคณะกรรมการในฐานะ nonexecutive directors ไม่ใช่การบริหารจัดการ” อวิรุทธ์กล่าว

ตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2433 ในฐานะกรมพระคลังข้างที่ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีบทบาททั้งในการพัฒนาและการลงทุน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐบาลพลเรือนได้แบ่งทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และจัดกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เครือซีเมนต์ฯ ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทของกรมพระคลังข้างที่เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลมีอำนาจควบคุมสำนักงานทรัพย์สินฯ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่หลังจากมีรัฐประหารหลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 2480 ฝ่ายนิยมเจ้าก็สามารถสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันกษัตริย์ได้ และพระราชบัญญัติปี 2491 ก็คืนอำนาจควบคุมสำนักงานทรัพย์สินฯ แก่สถาบันกษัตริย์ พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า “รายได้…จะจำหน่ายใช้สอยก็ได้แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัยไม่ว่าในกรณีใดๆ ” และรัฐบาลไม่สามารถยึดหรือโอนหรือเก็บภาษีได้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่แสดงรายงานประจำปี ยกเว้นแต่ต่อองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น

บทความของพอพันธ์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ รับมือกับวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 วิกฤตครั้งนั้นลดรายได้ทั้งปีของสำนักงานฯ ไปถึง 75% แทบจะโดยข้ามคืน สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องจ้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ทั้งไทยและเทศ หนึ่งในนั้นคือวิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และไมเคิล เซลบี (Michael Selby) อดีตที่ปรึกษาเจ้าชายเจฟฟรีแห่งบรูไน แล้วสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ทิ้งหุ้นเกือบ 400 บริษัทและเริ่มเพิ่มค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ พอพันธ์ประมาณการว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2548 รายได้ทั้งปีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็เพิ่มเป็นสามเท่าของรายได้สูงสุดในช่วงทศวรรษ 2530 อันเฟื่องฟู หรือเท่ากับ 280 ล้านเหรียญ (9,520 ล้านบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ราว 200 ล้านเหรียญ(6,800 ล้านบาท)จากจำนวนนั้นมาจากเงินปันผลของบริษัทต่างๆ

วิกฤตคราวนั้นแทบทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องสูญเสียหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ไป ไทยพาณิชย์ก่อตั้งในปี 2449 โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแข่งขันกับธนาคารยุโรปที่ตั้งสาขาอยู่ในสยามในเวลานั้น เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2541 ธนาคารไทยพาณิชย์จำแนกหนี้ 34%เป็นหนี้เสีย ภายใต้โปรแกรมฟื้นฟูธนาคารของไทย กระทรวงการคลังรับภาระ 676 ล้านเหรียญ(22,984 ล้านบาท)ที่ไทยพาณิชย์กู้มาจากธนาคารต่างชาติ โดยกระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 39% เป็นการตอบแทน และหุ้นของสำนักงานฯ ลดลงจาก 25% เป็น 11% ธนาคารยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ไม่ร่วมโปรแกรมนี้เพราะกลัวรัฐเทคโอเวอร์กิจการ

ไทยพาณิชย์กลับมาทำกำไรได้ในปี 2546 และปีถัดมาก็ได้รับหุ้นคืนโดยแลกกับที่ดิน 192 เอเคอร์(480 ไร่) ทางด้านตะวันตกของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลค่าในเชิงการพัฒนาของที่ดินผืนดังกล่าวนั้นเป็นที่น่ากังขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาลและส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล และใกล้พระราชวังกับสถานีรถไฟ “การแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร” พอพันธ์เขียนในบทความ แฮนด์ลีย์ก็บอกว่ามันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการจำนองของสำนักงานทรัพย์สินฯ

ทุกวันนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ มีขนาดและเงื้อมมือที่กว้างขวางและกล้าแข็งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ทว่าบางคนก็มองอำนาจที่แผ่ขยายของสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าสวนทางกับปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “มันไม่ใช่ความย้อนแย้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สถาบันฯ ในฐานะประมุขของเครือธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มาตอนนี้ส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งมายังภายใน (inward-looking development strategy) เควิน ฮิววิสัน บรรณาธิการร่วมวารสารรายสามเดือนที่ตีพิมพ์บทความของพอพันธ์กล่าว

“พระองค์ท่านทรงส่งเสริมแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’” ที่เน้นการเกษตรพื้นบ้านขนาดเล็กและคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องความพอประมาณในช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทต่างๆ ในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ กำลังขยายการผลิตอุตสาหกรรม ส่งเสริมการบริโภคผ่านการลงทุนในห้างสรพพสินค้าหรูหราและทำกำไรมหาศาล”

ถ้างั้นแล้วทำไมสำนักงานทรัพย์สินฯ ถึงเปิดเผยข้อมูล หรืออย่างน้อยก็แง้มๆ ให้ดูด้วยเล่า? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จิรายุได้เปิดเผยตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างแก่สื่อมวลชนไทยบางคน “ด้วยการเผยเล็กๆ น้อยๆ ในตอนนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ หวังว่าจะปกป้องตัวเองได้จากอะไรที่จะแย่ไปกว่านี้ บางทีอาจเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ราชวงศ์อังกฤษเสนอที่จะจ่ายภาษีเงินได้ [ในปี 2535] ไมเคิล แบ็คแมนกล่าว เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครือข่ายธุรกิจเอเชียที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไว้ที่ 8 พันล้านเหรียญ(272,000 ล้านบาท) ในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2542 Asian Eclipse: Exposing the Dark Side of Business in Asia

บางที ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุ 80 พรรษาแล้ว จิรายุและสำนักงานทรัพย์สินฯ กำลังเตรียมตัวสำหรับรัชสมัยถัดไป แฮนด์ลีย์ที่เคยสัมภาษณ์จิรายุมาสองครั้งแสดงความคาดเดา “ผมคิดว่าจิรายุเป็นคนหลักแหลม” เขากล่าว “กระทรวงการคลังและแวดวงธุรกิจให้ความเชื่อถือในวิจารณญาณของจิรายุตลอดมา แต่ตอนนี้พวกเขาจำต้องส่งสัญญาณบางอย่าง” ว่าต้องมีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ หากไม่เช่นนั้น แฮนด์ลีย์กล่าวว่า “เศรษฐกิจของไทยจะเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้”

แต่อวิรุทธ์กล่าวเพียงว่า

“เป้าหมายสูงสุด[ของสำนักงานทรัพย์สินฯ] คือการธำรงพระเกียรติยศและพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ เรารู้สึกว่า…เราควร…เปิดเผยข้อมูลบางอย่างเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”



ที่มา : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : บทความทั่วไป : ฟอร์บส์วิเคราะห์พระราชทรัพย์ โดยซูซาน เจ. คันนิงแฮม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วาทกรรม 11 สิงหาเมื่อสังคมไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ : เพียงลมปากหรือเรื่องจริง



คุณคิดว่าอย่างไร ประวัติศาสตร์ "แบบใด"
ที่ไม่ค่อยมีคนสอน


คืนวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ผมและเพื่อนพ้องเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวชมและสำรวจแหล่งโบราณคดีทางภาคเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์โดยเฉพาะอำเภอลับแล เมื่อกลับมาถึงบ้านพักก็เจอเข้ากับวาทกรรมอันทำให้เกิดความสงสัยงงงวยในหลายประเด็นทีเดียว อดรนทนมิได้จึงใคร่เขียนบทความสั้นๆนี้ขึ้นมาเพื่อไต่ถามความเห็นของเพื่อนพ้องน้องพี่


ประโยคสั้นๆตอนท้ายปลายความของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่กล่าวถึงว่า เมืองไทย "ทำไม" ไม่มีการเรียนประวัติศาสตร์ และที่สำคัญนั้นเน้นไปที่ประวัติศาสตร์เพื่อหาตัว "คนที่ปกป้องประเทศ(ตามแบบประเพณี?)" กับ "ประวัติศาสตร์ชาติ" ความตอนนี้นับเป็นวาทกรรมครั้งล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ผมซึ่งเป็นผู้ที่อยู่กับวงการประวัติศาสตร์มาโดยตลอดเริ่มงุนงง และสับสนในการรับรู้อย่างยิ่ง ผมไม่ทราบว่าเรา "ไม่มี" การเรียนการสอนประวัติศาสตร์กันตั้งแต่เมื่อไร ในเมื่อผมก็จบปริญญาโททางประวัติศาสตร์มา ซึ่งแน่นอนว่าหากพูดถึงประวัติศาสตร์ในบริบทของประวัติศาสตร์อย่างที่ ชนชั้นปกครอง ในระบบเก่าอยากให้เห็นให้เป้นไปนั้นแน่นอนว่ามันอาจมีน้อย หรือไม่มีแล้วก็ได้


ถ้าอ้างอิงตามที่กล่าวมาดังนี้ นี่คือความต้องการให้ฟื้นฟูการเรียนประวัติศาสตร์แบบพระราชนิยม หรือพระราชพงศาวดาร ใช่หรือไม่ ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีเลือดสีน้ำเงินว่าเป็นผู้ปกป้องสังคม ปกป้องแผ่นดิน โดยการมี "กฤษดาภินิหาร" มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆเสียหมดสิ้น

ประวัติศาสตร์แบบนี้ ปฏิเสธการมีบทบาททางสังคมและการดำรงคงอยู่ของไพร่ราบพลเลว ที่ถูกเกณฑ์ไปรบเพื่อปกป้อง "พระราชอาณาเขต" ในเกม "พระราชกรีธา" โดยใช้แนวคิดชาตินิยมแบบ nationalism by monarchy absolutis เข้ามาจับ ในขณะที่ modernform ของประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไปทาง Socialist and republic state มากขึ้น คือให้ความสำคัญกับรัฐประชาราษฎร์และบริบททางสังคมของชนชั้นล่างในการขับเคลื่อนพลวัตรของประเทศมากกว่า


การศึกษาแบบใหม่นี้คือการให้ภาพของ "ไพร่"มีบทบาทมากขึ้นและปฏิเสธเรื่องราวของ "กฤษดาภินิหาร" อันไม่มีข้อบกพร่องให้กลายเป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้นทางสังคมและชี้นำให้เห็นถึงความลักลั่นในการใช้ไพร่เพื่อรักษา "พระราชอาณาเขต" ไปกับเกมพระราชกรีฑาระหว่างรัฐ( state to state เพราะรัฐในความหมายสมัยใหม่นั้นเพิ่งเกิดไม่นาน) และทำให้ควาจริงนั้นกระจ่างว่า เพราะวิญญาณและเลือดเนื้อของไพร่ต่างหากคือสิ่งที่เป็นต้นทุนของการเกิด
"กฤษดาภินิหาร" ของชนชั้นปกครอง


อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของไพร่ระดับล่างในสังคมไทยหากมองจากบริบทของประวัติศาสตร์ตรงนี้ก้ย่อมทำให้ชนชั้นปกครองที่เคยคุ้นกับการเรียนการสอน "พระราชพงศาวดาร" มากกว่า "ประวัติศาสตร์ของราษฎร์" รู้สึกสะทกสะท้อนเป็นอย่างยิ่งเมื่อความสำคัญของตนองในฐานะผู้สร้างและผู้ปกป้องจะค่อยๆเสื่อมคลายลงไป

แต่ในทางกลับกันหากมีประวัติศาสตร์แนวนี้ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ กลุ่มบุคคลที่กล่าวว่า "ไม่มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์" กลับจะกลายเป็นผู้ที่ออกมาทำลายระบบการเรียนรู้นั้นเอง จะด้วยตนเองหรือบริวารก็ตามทีโดยวิธีการง่ายๆสองประเด็นคือ


1.

หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

2.

ทำให้เป็นเอกสารต้องห้าม


ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2178ในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่มีการเผาทิ้งตำราไสยศาสตร์ขนานใหญ่ ซึ่งแม้ไม่ต้องย้อนไปไกลถึงช่วงนั้น ปรากฏการณ์การห้ามมีส่วนร่วมทางสังคมและการห้ามตั้งข้อสงสัยหรือถกเถียงแก่ผู้มีอำนาจในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีอยู่มิใช่น้อยโดยอาจสรุปได้ดังนี้

1.นายโหมด อมาตยกุล พิมพ์หนังสือกฏหมายไทย ระหว่างปี 2390 -2393 และโดนรัชกาลที่ 3 สั่งริบ เพราะเกรงว่าความรู้ทางกฏหมายจะสร้างความวุ่นวายแก่สังคมหาก "ไพร่"ใต้ปกครองเกิดรับรู้ข้อมูล

2.นายทิม สุขยางค์ เขียน นิราศหนองคาย (2411) พาดพิงถึงสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ผุ้ซึ่งมีอำนาจครอบงำเหนือราชบัลลังค์ในขณะนั้น ส่งผลให้โดนเฆี่ยนและจำตรุ 8 เดือน รวมถึงทำลายหนังสือด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป้นเงื่อนงำไม่แพ้คดีพระปรีชากลการ สามีของนางแฟนนี น๊อกซ์ บุตรสาวของกงศุล Knox กงศุลอังกฤษประจำประเทศไทย

3.เทียนวรรณ และ กศร.กุหลาบ ที่โดนพิษจากความคิดที่
"ก้าวหน้า"เกินไปจนคนหนึ่งต้องติดคุกลืมและอีกคนหนึ่งโดน "ใส่ไคล้" โดยพระราชวิจารณ์ว่า เป็น "บ้า"

4.จิตร ภูมิศักดิ์ และนักเขียนร่วมสมัยอีกหลายคน เช่น สุวัฒน์ วรดิลก,กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่โดนพิษ "ก้าวหน้าล้าหลัง" เล่นงาน

(ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บทความเรื่องหนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ถูกจองจำ ของธนาพล อิ๋วสกุล ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2549)


จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในอดีต หรือในปัจจุบัน การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไม่เคยขาดตอน แม้จะโดน "ตัดตอน" จนต้องสอนกันใน "ที่ลับ" ก็ยังคงมีการสืบสานองค์ความรู้มาโดยมิได้ขาดช่วงไป หากการกล่าวว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไทยนั้นไม่มีแล้ว ย่อมเป็นเรื่องของ วาทกรรมอำนาจที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงอย่างมากที่สุดเว้นเสียจากผู้ที่สร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมาจะไม่เข้าใจในสายสนกลนัยของ sheet note ที่ตระเตรียมไว้

หรือมิเช่นนั้นก็คงหมายถึงว่า "ประวัติศาสตร์ชาตินิยม"
กำลังจะเสื่อมหายไป เช่นนั้นก็สมเหตุสมผล



ดับแสงเดือน

(แสงจันทร์สูญสลาย)


ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : วาทกรรม 11 สิงหาเมื่อสังคมไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ : เพียงลมปากหรือเรื่องจริง, คุณคิดว่าอย่างไร ประวัติศาสตร์ "แบบใด" ที่ไม่ค่อยมีคนสอน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา


ะหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2551 มีแถลงการณ์จากกลุ่มบุคคลใหญ่น้อยสารพัดพยายามเสนอทางออกต่อสถานการณ์ขณะนี้รวม 17 ฉบับ ผมได้รับร่างที่ส่งผ่านกันมาให้พิจารณาอีก 2 ฉบับ รวมเป็น 19 ฉบับ

ในจำนวนนี้ 11 ฉบับเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก อีก 3 ฉบับเสนอให้ยุบสภา อีก 2 ฉบับเสนอว่ายุบสภาก็ได้ นายกฯ ลาออกก็ได้ อีก 3 ฉบับไม่เสนออะไรเลย ข้อเสนอเหล่านี้ให้เหตุผลไปต่างๆกัน ผู้สนใจการเมืองคงคิดคำนวณข้อดีข้อเสียของแต่ละทางออกด้วยความลำเอียงเลือกข้างตามจริตของตน

น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกซึ่งอาจอยู่ในใจบางคนแต่ไม่กล้าพูดออกมา นั่นคือรัฐประหาร อย่างน้อยก็ยังมีความละอายใจกันอยู่บ้าง

น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจอยู่ในใจหลายคน แต่มิอาจเอื้อมเสนอ อย่างน้อยก็ยังมีความยับยั้งชั่งใจกันอยู่บ้าง

แต่น่าตกใจที่มีไม่กี่คนที่เสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจจะง่ายที่สุดและถูกต้องชอบธรรมที่สุด (เกษียร เตชะพีระเสนอความคิดนี้ในบทความของเขาแต่โดนปัญญาชนพันธมิตรฯ โจมตีราวเป็นศัตรู นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เสนอในการประชุมเร็วๆนี้ที่จุฬาฯ ก่อนการปะทะกัน) นั่นคือ

ผู้นำพันธมิตรฯ ควรมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายศาล เพื่อให้เผชิญกับกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปได้ในที่อื่นที่เหมาะสมกับการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย (ที่ไม่ใช่เพื่อยึดอำนาจรัฐ)


ทางออกนี้ต้องการความกล้าหาญและความรับผิดชอบของผู้นำพันธมิตรฯ เมื่อกล้าก่อปัญหา กล้าขัดขืน ก็สมควรกล้าเผชิญหน้ากับกฎหมายอย่างมีอารยะ ต้องทำเช่นนี้ต่างหาก การประท้วงของพันธมิตรฯ จึงจะนับเป็นอารยะขัดขืน

หากไม่ทำเช่นนี้การกระทำของพันธมิตรฯ ย่อมนับเป็นการกระทำของอันธพาลการเมืองที่วางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ถึงจะใหญ่โตแค่ไหนก็เป็นแค่กุ๊ยการเมืองระดับชาติที่น่ารังเกียจ

ในสังคมไทย แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังอยู่ใต้กฎหมาย ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันจึงวางอำนาจบาตรใหญ่เหนือกฎหมายได้

เกลียดทักษิณ ก็อย่าทำตัวอย่างเดียวกับที่ตนกล่าวหาทักษิณ

ผมอยากเห็นท่าน ผบ.ทบ. หรือคนระดับนั้นไปเชิญตัวผู้นำพันธมิตรฯถึงที่ชุมนุม ไปมือเปล่าๆ ขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทางให้มีการมอบตัวกันแต่โดยดี จากนั้นเป็นเรื่องของศาล

ผู้นำพันธมิตรฯ ควรกล้าหาญรับผิดชอบความบกพร่องของตน (หรือใครคิดว่าพวกเขาไม่มีความบกพร่อง?) อย่าเอาชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนผู้สนับสนุนตน เข้าเสี่ยงตายแทนตัวเองเลย

ความกล้าหาญอาจช่วยให้ผู้นำพันธมิตรฯ กลายเป็นวีรบุรุษในฉับพลันอีกด้วย


อาจมีข้อโต้แย้งว่าเป็นไปได้ยาก เพราะผู้นำพันธมิตรฯ คงไม่ยอม เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่นก็ไม่ง่ายสักข้อ และก็คงมีคนอื่นไม่ยอมเช่นกัน ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันที่เราต้องคอยเอาใจ

อาจมีข้อโต้แย้งว่าทางออกนี้ไม่ยุติความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างถึงราก เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่น ไม่ว่ายุบสภาหรือลาออก ก็ไม่ยุติความขัดแย้งพื้นฐานแต่อย่างใด เรากำลังหาทางเพียงแค่ลดการประจันหน้าและลดอุณหภูมิทางการเมืองลง ทุกทางออกหวังผลแค่ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยกันทั้งนั้น

อาจมีข้อโต้แย้งว่า มวลชนของพันธมิตรฯ คงยอมไม่ได้ เหตุผลข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับผู้นำพันธมิตรฯ จะกล้าหาญทำความเข้าใจกับคนของตนหรือไม่ต่างหาก มวลชนของพันธมิตรฯ เป็นคนมีการศึกษาและโตๆกันแล้วทั้งนั้น

ทั้งทางออกอื่นก็คงมีมวลชนของฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรไม่ยอมรับเช่นกัน ไม่เห็นมีปัญญาชนนักวิชาการคิดถึงเขาบ้างเลย

ทางออกที่เสนอนี้ยังเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตย และไม่ทำลายความน่าเชื่อถือของศาลอีกด้วย ในทางกลับกันการทำตัวอยู่เหนือกฎหมายของพันธมิตรฯ เป็นการทำร้ายอำนาจตุลาการที่ตนยกย่องเชิดชู

อยากจะสร้างการเมืองใหม่ ก็กรุณาอดทนจนกว่าประชาชนจะเห็นด้วย มิใช่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ บังคับขู่เข็ญ ยัดเยียดให้คนครึ่งค่อนประเทศจำต้องยอมรับ


ทางออกง่ายๆ ตรงๆ และถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายข้อนี้ถูกมองข้ามเสียสิ้นเพราะความลำเอียงที่แผ่ซ่านจนน่ากลัว จนไม่ฟังกันอีกต่อไป

น่าตกใจที่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมายทนายความและนักสิทธิมนุษยชนทิ้งหลักการ หลักวิชาชีพ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวมวลชนที่มุ่งเอาชนะกันไปหมด ต่างลำเอียงกระเท่เร่ให้ท้ายการวางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ลำเอียงจนขาดความยั้งคิด เอาแต่ได้ เลือกปฏิบัติ ขาดหลักการ เกลียดชังทักษิณจนขาดสติ ทำลายทุกอย่างและใครก็ตามที่ขวางหน้า

พวกตนข่มขู่คุกคามคนอื่นก็ถือเป็นความรักชาติ ใช้ความรุนแรงก็ถือเป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ พกอาวุธก็ถือเป็นสันติวิธี รวมกันแล้วก็ถือเป็น “ข้ออ่อนที่มีอยู่บ้าง”พอรับได้ หากฝ่ายตรงข้ามตนทำผิดก็เรียกร้องเอาผิดราวจะกินเลือดกินเนื้อ

คนมากมายไม่กล้าทักท้วงทัดทานเพราะไม่อยากโดนก่นด่าทำลาย เสียเพื่อนเปลืองตัว

ประชาชนหลายสิบล้านที่กำลังเฝ้าดูพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุง จะให้พวกเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไรกัน พวกเขาย่อมคิดว่าประเทศชาติไม่ใช่ของเขาแต่เป็นของเทวดาชาวกรุงที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง แถมยังมีนิสัยเด็กๆ คือ เอาแต่ได้แต่ไม่กล้ารับผิดชอบ

พวกเขากำลังอัดอั้นตันใจจนกำลังจะระเบิดสักวันว่า พวกเขาเป็นแค่ไพร่ทาส เป็นพลเมืองชั้นต่ำกว่าพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุงหรืออย่างไร


ทางออกที่ถูกมองข้ามนี้ เป็นวิถีปฏิบัติปกติที่ใช้กันอยู่เป็นประจำในนานาอารยะประเทศที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เพื่อไม่ให้การประท้วงลามปามกลายเป็นการนองเลือด เป็นทางออกอย่างแรกๆที่ใครๆก็นึกได้จนเป็นสามัญสำนึก


ประเทศไทยประหลาดกว่าใครอื่นขนาดไหนกัน จึงมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้กันหมด หรือประเทศไทยมีระดับอารยะธรรมสูงต่ำผิดปกติกว่าคนอื่น จึงถือกฎหมายเป็นของเล่นที่จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ

หรือปัญญาชนประเทศไทยมีระดับสติปัญญา ความเที่ยงตรงและความยึดมั่นในหลักการ อยู่ในระดับสูงต่ำผิดปกติต่างจากที่อื่นๆในโลก จึงนึกไม่ถึงทางออกอย่างแรกๆที่น่าจะเป็นสามัญสำนึก

ผมพบว่า มีหลายคนยอมรับว่าตนลำเอียง และเห็นว่าการเลือกปฎิบัติและเลือกใช้กฎหมายตามแต่ประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเขาเห็นว่ามีภารกิจที่สำคัญกว่ากฎหมายซึ่งต้องเอาชนะให้ได้

พวกเขาจึงจงใจมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้ เพราะเขาหวังบรรลุชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าการเคารพกฎหมาย

ความขัดแย้งทางการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับหายนะก็เพราะความคิดสั้นพรรค์นี้แหละ


สรุป ยุบสภา? ลาออก? หรือมอบตัวแล้วเชิญชุมนุมกันต่อไปในสถานที่อื่นที่เหมาะสม?

ขอความกรุณาพิจารณาอย่างมีสติ อย่าเอาแต่ได้ อย่าคิดแต่จะเอาชนะกันจนทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า อย่าเกลียดกลัวจนถูกอวิชชาครอบงำ

ขณะนี้สายไปแล้วที่สำหรับทางออกที่สมบูรณ์ มีแต่ทางออกที่ก่อความเสียหายมากกว่ากับน้อยกว่า รักษาระบบสถาบันหลักต่างๆ มากกว่ากับน้อยกว่า และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน

ผมเบื่อแถลงการณ์ทั้งหลายเต็มทน แต่หากมีใครเสนอทางออกนี้ ผมจะขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง และขอจองลงชื่อล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ทันร่างไว้เลย


ธงชัย วินิจจะกูล


ที่มา : ประชาไท : ธงชัย วินิจจะกูล : ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา

Forbes รายงาน “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”


แปลจากบทความ The World’s Richest Royals

เขียนโดย Tatiana Serafin ใน Forbes
(เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเมื่อ 20 สิงหาคม 2551)



เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศเนปาลโหวตล้มล้างระบอบกษัตริย์ฮินดูที่มีอายุกว่า 240 ปี ซึ่งบังคับให้กษัตริย์กิยาเนนทราต้องคืนพระราชวังในกรุงกาฐมาณฑุให้แก่รัฐบาล และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปเรียบร้อยแล้ว

จนบัดนี้ผู้นำ 15 คนที่อยู่ในทำเนียบของเรายังคงมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ แม้จะมีข้อครหาต่างๆ ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงภาษี จนกระทั่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศสวาซิแลนด์และคูเวต หากมองในฐานะกลุ่ม 15 ราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกได้เพิ่มพูนโภคทรัพย์ของตนเองถึงระดับ 131 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 95 พันล้านเหรียญฯ

อันดับสูงสุดในทำเนียบของเราคราวนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทรัพย์สินสุทธิที่ประมาณการได้ล่าสุดประมาณ 35 พันล้านเหรียญฯ (หรือ 1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท: 34 ดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 เท่า เป็นผลมาจากความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงครองอันดับสูงสุดจากที่เคยเป็นของสุลต่านแห่งบรูไน ซึ่งเป็นกษัตริย์เอเชียอื่นอีกเพียงพระองค์เดียวที่ติดอันดับ (ทรัพย์สิน 20 พันล้านเหรียญฯ) และเป็นกษัตริย์หนึ่งในสองพระองค์เท่านั้นที่มีโภคทรัพย์ลดลงจากปีก่อนหน้า องค์สุลต่านผู้ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์มุสลิมซึ่งมีอายุกว่า 600 ปี จำเป็นต้องลดอัตราการผลิตน้ำมันของประเทศบรูไนลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองกำลังจะหมดไป

กษัตริย์ที่มีทรัพย์สินลดลงอีกพระองค์หนึ่งคือ กษัตริย์โมฮัมมัดที่ 6 แห่งประเทศโมร็อกโก ขณะนี้มีทรัพย์สินรวม 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญฯ ภัยแล้งที่รุนแรงได้ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับ 2 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่กล่าวมาไม่ได้เกิดขึ้นกับ 6 ราชวงศ์จากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งทำเงินส่วนใหญ่จากการค้าน้ำมัน กษัตริย์ที่รวยที่สุดในภูมิภาคคือ ชีค คาลิฟา บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน แห่งอาบูดาบี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เข้ามาอีกครั้งในอันดับ 2 ของทำเนียบของเรา ด้วยตัวเลขทรัพย์สินประมาณการสุทธิ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาบูดาบีเป็นรัฐที่มีแหล่งน้ำมันสำรองคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนี่เองที่เป็นที่มาแห่งความร่ำรวยของชีคพระองค์นี้ นอกจากนั้นอาบูดาบียังมีชื่อเสียงเนื่องมาจากการลงทุนระดับแนวหน้าโดยบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ การลงทุนที่ว่านั้น ได้แก่ เงินลงทุน 7.5 พันล้านเหรียญฯ ในบริษัท Citibank

ชีค โมฮัมมัด บิน ราชิด อัล มาคทูม แห่งดูไบ (อันดับ 5 ของโลก) กับทรัพย์สินสุทธิ 18 พันล้านเหรียญฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Dubai Holding ซึ่งมีการลงทุนใหญ่ๆ ในหลายบริษัท อาทิ โซนี่ และบริษัทผลิตอาวุธ EADS และเมื่อเร็วๆ นี้กองทุนรวมเพื่อการลงทุนของชีคพระองค์นี้ได้ใช้เงิน 5 พันล้านเหรียญฯ เพื่อถือหุ้นในบริษัท MGM Mirage และ 825 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อกิจการค้าปลีก Barneys New York

สำหรับเจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ สิ่งต่างๆ ไม่ค่อยโสภามากนัก พระองค์อยู่ในอันดับ 6 ของทำเนียบด้วยทรัพย์สินประมาณการสุทธิ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แหล่งทุนหลักสำหรับความมั่งคั่งของพระองค์อย่าง LGT Bank (ซึ่งราชวงศ์นี้บริหารมากว่า 70 ปี) ตกเป็นเป้าสำหรับคดีหลีกเลี่ยงภาษีอันอื้อฉาว ซึ่งบริษัทของพระองค์ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือลูกค้าฐานะดีหลายรายในการ “ซุกซ่อน” ทรัพย์สิน จากการสืบสวนของวุฒิสภาสหรัฐฯ พบว่าพระอนุชาของพระองค์ (เจ้าชายฟิลิป) มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานของ LGT

กษัตริย์ที่ยังดำรงสถานะโสดอยู่เพียงพระองค์เดียวในบรรดาทุกพระองค์ที่ติดอันดับคือ เจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก ถูกร่ำลือว่าส่งแฟนสาวของตัวเองเข้าเรียนคอร์สติวเข้มภาษาฝรั่งเศส โภคทรัพย์สุทธิของพระองค์ถูกประมาณการไว้ที่ 1.4 พันล้านเหรียญฯ และประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนกิจการคาสิโนในโมนาโก พระองค์ทรงวางแผนที่จะขยายพื้นที่ของประเทศ (ซึ่งมีขนาดเท่ากับ Central Park ในนิวยอร์ก) โดยการสร้างเขตปกครองใหม่ออกไปในทะเลซึ่งจะตั้งอยู่บนเสาขนาดมหึมา ทำให้เป็นที่กังวลแก่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร

ขณะเดียวกัน แผนการสืบราชสมบัติ (Succession planning) เป็นที่กล่าวขวัญถึงสำหรับ 2 พระราชินีในทำเนียบของเรา พระราชินีบีทริกซ์แห่งเบลเยียม (อันดับที่ 14) ถูกร่ำลือว่าจะสละราชบังลังก์เพื่อพระราชโอรส ในขณะที่พระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ (อันดับที่ 12) ทรงวางแผนที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป บดบังความหวังของพระราชโอรสอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ที่มุ่งจะครองราชบัลลังก์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้มีมีดินแดนครอบครอง (ในฐานะประมุขแห่งรัฐ) ก็คือ อากาข่าน ถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวมุสลิมอิสไมลิยาห์ (Ismaili Muslims) กว่า 15 ล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ กษัตริย์นักขี่ม้าพระองค์นี้(ซึ่งทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญฯ) ได้ซื้อหุ้นในบริษัทประมูลม้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

พึงระลึกว่าความมั่งคั่งของบรรดากษัตริย์เหล่านี้ถ้าไม่ใช่มาจากมรดกตกทอดก็มาจากตำแหน่งแห่งอำนาจ (from inheritances or positions of power) ซึ่งมักเป็นทรัพย์สินรวมของราชวงศ์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ถือครองร่วมกัน และมักหมายถึงทรัพย์สินที่ควบคุมโดยกษัตริย์เหล่านี้ในนามของชาติหรือดินแดน (in trust for the nation or territory) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในทำเนียบ 15 ราชวงศ์จะผ่านเกณฑ์ (qualify) สำหรับการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปีของเรา แม้ว่าปริมาณทรัพย์สินสุทธิจะสูงเพียงใดก็ตาม

เนื่องด้วยความซับซ้อนยุ่งยากทางเทคนิคและมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของปัจเจกและรัฐ การประเมินทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้ “ศาสตร์และศิลป์” ประกอบกัน

ตัวอย่างเช่น กษัตริย์มัสวาติที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์ (อันดับที่ 15 ของโลก) เป็นผู้สืบทอด 2 กองทุนรวมที่สร้างขึ้นโดยพระราชบิดาในนามของ Swazi nation ตราบใดที่พระองค์ทรงอยู่ในอำนาจ พระองค์ก็สามารถใช้สอยรายได้นั้นตามพระราชอัธยาศัยได้อย่างสัมบูรณ์ ซึ่งนี่เองทำให้พระองค์ทรงสามารถสร้างพระราชวังสำหรับพระมเหสีแต่ละพระองค์รวม 13 พระองค์ และทรงจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างสุดเหวี่ยงหลายวโรกาส โดยวโรกาสหนึ่งไม่นานมานี้เป็นการฉลองครบรอบพระชนมายุ 40 พรรษาซึ่งมีรายงานว่าใช้เงินมูลค่ากว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (85 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ในประเทศอังกฤษ สินทรัพย์บางอย่างของราชวงศ์ อาทิ พระราชวังบักกิ้งแฮม และเครื่องเพชรของราชวงศ์อังกฤษ (the British crown jewels) ให้ถือว่าเป็นของ British nation ไม่ใช่ของพระราชินีอลิซาเบธ ดังนั้นจึงไม่ถูกนับรวมในโภคทรัพย์สุทธิของพระองค์ ความมั่งคั่งของพระองค์จึงประเมินจากทรัพย์สินในอังกฤษและสก๊อตแลนด์ งานจิตรกรรมและประติมากรรม เครื่องประดับ และแสตมป์สะสมที่รวบรวมโดยพระอัยกา

แม้ว่าเราได้ติดตามสถานะของราชวงศ์ระดับแนวหน้าจำนวนหนึ่งมาหลายปี (เช่น พระราชินีแห่งอังกฤษ และสุลต่านแห่งบรูไน) นี่เป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่เราเผยแพร่ทำเนียบราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดอย่างครบถ้วนที่สุด กษัตริย์ของประเทศอย่างสเปนและญี่ปุ่นไม่ติดอันดับในครั้งนี้



บทความอ่านประกอบ

The World’s Richest Royals โดย Devon Pendleton และ Tatiana Serafin
เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยนิตยสาร Forbe เมื่อ 30 สิงหาคม 2550

“บรรดาชาติชน ชื่นชมสมใจ ถวายบังคมเทิดไท้ ภูมิพลมหาราชา”
ในฟ้าเดียวกันปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2550)

กระทรวงต่างประเทศไทยชี้แจง Forbes ในการจัดอันดับของ “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”
(22 สิงหาคม 2551)


ที่มา : ฟ้าเดียวกัน : Forbes รายงาน “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ