วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

Forbes รายงาน “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”


แปลจากบทความ The World’s Richest Royals

เขียนโดย Tatiana Serafin ใน Forbes
(เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเมื่อ 20 สิงหาคม 2551)



เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศเนปาลโหวตล้มล้างระบอบกษัตริย์ฮินดูที่มีอายุกว่า 240 ปี ซึ่งบังคับให้กษัตริย์กิยาเนนทราต้องคืนพระราชวังในกรุงกาฐมาณฑุให้แก่รัฐบาล และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปเรียบร้อยแล้ว

จนบัดนี้ผู้นำ 15 คนที่อยู่ในทำเนียบของเรายังคงมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ แม้จะมีข้อครหาต่างๆ ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงภาษี จนกระทั่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศสวาซิแลนด์และคูเวต หากมองในฐานะกลุ่ม 15 ราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกได้เพิ่มพูนโภคทรัพย์ของตนเองถึงระดับ 131 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 95 พันล้านเหรียญฯ

อันดับสูงสุดในทำเนียบของเราคราวนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทรัพย์สินสุทธิที่ประมาณการได้ล่าสุดประมาณ 35 พันล้านเหรียญฯ (หรือ 1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท: 34 ดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 เท่า เป็นผลมาจากความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ไทยทรงครองอันดับสูงสุดจากที่เคยเป็นของสุลต่านแห่งบรูไน ซึ่งเป็นกษัตริย์เอเชียอื่นอีกเพียงพระองค์เดียวที่ติดอันดับ (ทรัพย์สิน 20 พันล้านเหรียญฯ) และเป็นกษัตริย์หนึ่งในสองพระองค์เท่านั้นที่มีโภคทรัพย์ลดลงจากปีก่อนหน้า องค์สุลต่านผู้ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์มุสลิมซึ่งมีอายุกว่า 600 ปี จำเป็นต้องลดอัตราการผลิตน้ำมันของประเทศบรูไนลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองกำลังจะหมดไป

กษัตริย์ที่มีทรัพย์สินลดลงอีกพระองค์หนึ่งคือ กษัตริย์โมฮัมมัดที่ 6 แห่งประเทศโมร็อกโก ขณะนี้มีทรัพย์สินรวม 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญฯ ภัยแล้งที่รุนแรงได้ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในระดับ 2 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่กล่าวมาไม่ได้เกิดขึ้นกับ 6 ราชวงศ์จากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งทำเงินส่วนใหญ่จากการค้าน้ำมัน กษัตริย์ที่รวยที่สุดในภูมิภาคคือ ชีค คาลิฟา บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน แห่งอาบูดาบี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เข้ามาอีกครั้งในอันดับ 2 ของทำเนียบของเรา ด้วยตัวเลขทรัพย์สินประมาณการสุทธิ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาบูดาบีเป็นรัฐที่มีแหล่งน้ำมันสำรองคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนี่เองที่เป็นที่มาแห่งความร่ำรวยของชีคพระองค์นี้ นอกจากนั้นอาบูดาบียังมีชื่อเสียงเนื่องมาจากการลงทุนระดับแนวหน้าโดยบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ การลงทุนที่ว่านั้น ได้แก่ เงินลงทุน 7.5 พันล้านเหรียญฯ ในบริษัท Citibank

ชีค โมฮัมมัด บิน ราชิด อัล มาคทูม แห่งดูไบ (อันดับ 5 ของโลก) กับทรัพย์สินสุทธิ 18 พันล้านเหรียญฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Dubai Holding ซึ่งมีการลงทุนใหญ่ๆ ในหลายบริษัท อาทิ โซนี่ และบริษัทผลิตอาวุธ EADS และเมื่อเร็วๆ นี้กองทุนรวมเพื่อการลงทุนของชีคพระองค์นี้ได้ใช้เงิน 5 พันล้านเหรียญฯ เพื่อถือหุ้นในบริษัท MGM Mirage และ 825 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อกิจการค้าปลีก Barneys New York

สำหรับเจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ สิ่งต่างๆ ไม่ค่อยโสภามากนัก พระองค์อยู่ในอันดับ 6 ของทำเนียบด้วยทรัพย์สินประมาณการสุทธิ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แหล่งทุนหลักสำหรับความมั่งคั่งของพระองค์อย่าง LGT Bank (ซึ่งราชวงศ์นี้บริหารมากว่า 70 ปี) ตกเป็นเป้าสำหรับคดีหลีกเลี่ยงภาษีอันอื้อฉาว ซึ่งบริษัทของพระองค์ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือลูกค้าฐานะดีหลายรายในการ “ซุกซ่อน” ทรัพย์สิน จากการสืบสวนของวุฒิสภาสหรัฐฯ พบว่าพระอนุชาของพระองค์ (เจ้าชายฟิลิป) มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานของ LGT

กษัตริย์ที่ยังดำรงสถานะโสดอยู่เพียงพระองค์เดียวในบรรดาทุกพระองค์ที่ติดอันดับคือ เจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก ถูกร่ำลือว่าส่งแฟนสาวของตัวเองเข้าเรียนคอร์สติวเข้มภาษาฝรั่งเศส โภคทรัพย์สุทธิของพระองค์ถูกประมาณการไว้ที่ 1.4 พันล้านเหรียญฯ และประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนกิจการคาสิโนในโมนาโก พระองค์ทรงวางแผนที่จะขยายพื้นที่ของประเทศ (ซึ่งมีขนาดเท่ากับ Central Park ในนิวยอร์ก) โดยการสร้างเขตปกครองใหม่ออกไปในทะเลซึ่งจะตั้งอยู่บนเสาขนาดมหึมา ทำให้เป็นที่กังวลแก่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร

ขณะเดียวกัน แผนการสืบราชสมบัติ (Succession planning) เป็นที่กล่าวขวัญถึงสำหรับ 2 พระราชินีในทำเนียบของเรา พระราชินีบีทริกซ์แห่งเบลเยียม (อันดับที่ 14) ถูกร่ำลือว่าจะสละราชบังลังก์เพื่อพระราชโอรส ในขณะที่พระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ (อันดับที่ 12) ทรงวางแผนที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป บดบังความหวังของพระราชโอรสอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ที่มุ่งจะครองราชบัลลังก์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ไม่ได้มีมีดินแดนครอบครอง (ในฐานะประมุขแห่งรัฐ) ก็คือ อากาข่าน ถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวมุสลิมอิสไมลิยาห์ (Ismaili Muslims) กว่า 15 ล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ กษัตริย์นักขี่ม้าพระองค์นี้(ซึ่งทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญฯ) ได้ซื้อหุ้นในบริษัทประมูลม้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

พึงระลึกว่าความมั่งคั่งของบรรดากษัตริย์เหล่านี้ถ้าไม่ใช่มาจากมรดกตกทอดก็มาจากตำแหน่งแห่งอำนาจ (from inheritances or positions of power) ซึ่งมักเป็นทรัพย์สินรวมของราชวงศ์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ถือครองร่วมกัน และมักหมายถึงทรัพย์สินที่ควบคุมโดยกษัตริย์เหล่านี้ในนามของชาติหรือดินแดน (in trust for the nation or territory) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในทำเนียบ 15 ราชวงศ์จะผ่านเกณฑ์ (qualify) สำหรับการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปีของเรา แม้ว่าปริมาณทรัพย์สินสุทธิจะสูงเพียงใดก็ตาม

เนื่องด้วยความซับซ้อนยุ่งยากทางเทคนิคและมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของปัจเจกและรัฐ การประเมินทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้ “ศาสตร์และศิลป์” ประกอบกัน

ตัวอย่างเช่น กษัตริย์มัสวาติที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์ (อันดับที่ 15 ของโลก) เป็นผู้สืบทอด 2 กองทุนรวมที่สร้างขึ้นโดยพระราชบิดาในนามของ Swazi nation ตราบใดที่พระองค์ทรงอยู่ในอำนาจ พระองค์ก็สามารถใช้สอยรายได้นั้นตามพระราชอัธยาศัยได้อย่างสัมบูรณ์ ซึ่งนี่เองทำให้พระองค์ทรงสามารถสร้างพระราชวังสำหรับพระมเหสีแต่ละพระองค์รวม 13 พระองค์ และทรงจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างสุดเหวี่ยงหลายวโรกาส โดยวโรกาสหนึ่งไม่นานมานี้เป็นการฉลองครบรอบพระชนมายุ 40 พรรษาซึ่งมีรายงานว่าใช้เงินมูลค่ากว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (85 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ในประเทศอังกฤษ สินทรัพย์บางอย่างของราชวงศ์ อาทิ พระราชวังบักกิ้งแฮม และเครื่องเพชรของราชวงศ์อังกฤษ (the British crown jewels) ให้ถือว่าเป็นของ British nation ไม่ใช่ของพระราชินีอลิซาเบธ ดังนั้นจึงไม่ถูกนับรวมในโภคทรัพย์สุทธิของพระองค์ ความมั่งคั่งของพระองค์จึงประเมินจากทรัพย์สินในอังกฤษและสก๊อตแลนด์ งานจิตรกรรมและประติมากรรม เครื่องประดับ และแสตมป์สะสมที่รวบรวมโดยพระอัยกา

แม้ว่าเราได้ติดตามสถานะของราชวงศ์ระดับแนวหน้าจำนวนหนึ่งมาหลายปี (เช่น พระราชินีแห่งอังกฤษ และสุลต่านแห่งบรูไน) นี่เป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่เราเผยแพร่ทำเนียบราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดอย่างครบถ้วนที่สุด กษัตริย์ของประเทศอย่างสเปนและญี่ปุ่นไม่ติดอันดับในครั้งนี้



บทความอ่านประกอบ

The World’s Richest Royals โดย Devon Pendleton และ Tatiana Serafin
เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยนิตยสาร Forbe เมื่อ 30 สิงหาคม 2550

“บรรดาชาติชน ชื่นชมสมใจ ถวายบังคมเทิดไท้ ภูมิพลมหาราชา”
ในฟ้าเดียวกันปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2550)

กระทรวงต่างประเทศไทยชี้แจง Forbes ในการจัดอันดับของ “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”
(22 สิงหาคม 2551)


ที่มา : ฟ้าเดียวกัน : Forbes รายงาน “ราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: