วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รำลึก “วันปฏิวัติ 24 มิถุนา” : ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน


ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เพื่อเป็นการรำลึกวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ผมขอนำเสนอ ประวัติความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบันอย่างสั้นๆ ดังที่ผมจะได้อภิปรายให้เห็นข้างล่างนี้ เพลงชาติปัจจุบันมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปฏิวัติ 24 มิถุนา เพราะไม่เพียงเป็นหนี่งใน “ผลผลิต” ชิ้นแรกๆ ของการปฏิวัตินั้นเท่านั้น ลักษณะเด่นที่สำคัญของเพลงชาติทุกฉบับ (หมายถึงเนื้อร้องที่มีทั้งหมด 3 ฉบับ) คือการไม่กล่าวถึงกษัตริย์เลยนั้น ยังเป็นผลสะเทือนทางความคิดที่สำคัญอย่างหนึ่ง (ชาติสำคัญกว่ากษัตริย์) ของการปฏิวัตินั้นด้วย

ก่อนอื่น ผมขอชี้แจงว่า ผมได้เขียนบทความอธิบายความเป็นมาของเพลงชาติไทยอย่างละเอียด ตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน (ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน”, วารสารธรรมศาสตร์, ปีที่ 27 ฉบับที่ 1, ธันวาคม 2547) มีความยาวถึง 100 หน้า (วารสารขนาดประมาณกระดาษ A4) ในบทความนั้น ผมได้แสดงให้เห็นว่า การเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของเพลงชาติ โดยเฉพาะในบันทึกความทรงจำของผู้แต่งทำนองและเนื้อร้องทั้ง 3 คน คือ พระเจนดุริยางค์, ขุนวิจิตรมาตรา และหลวงสารานุประพันธ์ รวมทั้งในบทความของคนร่วมสมัยอย่าง มนตรี ตราโมท (ผู้แต่งเพลงชนะประกวดวันรัฐธรรมนูญปี 2482 ที่รู้จักกันดี “24 มิถุนา” – ที่ขึ้นต้นว่า “24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์...”) มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในแง่ข้อเท็จจริงหลายอย่าง (ซึ่งเป็นธรรมดาของความทรงจำ) ปัญหาคือ เมื่อนักวิชาการรุ่นหลัง เช่นกรณี สุกรี เจริญสุข นำข้อมูลจากความทรงจำเหล่านั้นมาเล่าต่อ โดยขาดการวิพากษ์หลักฐานอย่างระมัดระวังเพียงพอ ก็ทำให้เกิดการผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อๆกันมาจนปัจจุบัน ผมเชือว่าบทความขนาดยาวของผมดังกล่าว ได้อธิบายความเป็นมาของเพลงชาติอย่างสมบูรณ์แม่นยำที่สุด (definitive) เท่าที่จะทำได้

ผู้สนใจ ทั้งการอ้างอิงหลักฐานและการอภิปรายให้เหตุผลสนับสนุนข้อสรุปต่างๆ โดยละเอียด กรุณาหาอ่านจากบทความฉบับเต็ม การนำเสนอข้างล่างนี้ เป็นการสรุปประเด็นสำคัญๆจากบทความขนาดยาวดังกล่าว


เพลงชาติมหาชัย และ เพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่เพลงชาติเพลงแรก
ก่อนอื่น ที่ได้มีการพูดกันต่อๆ มาว่า เพลงชาติเพลงแรกคือ เพลงที่เรียกว่า “เพลงชาติมหาชัย” แต่งโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้


สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ

ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ

ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย

เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่

ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า



ผมได้แสดงให้เห็นในบทความขนาดยาวของผมว่า หลักฐานที่มีอยู่ทั้งหลักฐานตรงและหลักฐานแวดล้อม ชวนให้เชื่อได้ว่า นี่เป็นความเข้าใจผิด สรุปอย่างสั้นๆ คือ เมื่อกลอนชื่อ “เพลงชาติมหาชัย” นี้ตีพิมพ์ใน ศรีกรุง ฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 2475 พร้อมกับกลอน/เพลงอื่นๆ อีก 2 ชิ้น ภายใต้หัวข้อ “เพลงคณราษฎร์” (สะกดแบบนี้) นั้น ไม่มีการให้ความสำคัญระบุว่าเป็นเพลงชาติแต่อย่างใด และเมื่อมีการแต่งเพลงชาติจริงๆ ในเดือนต่อมา ก็ไม่มีใครในสมัยนั้นกล่าวถึง บทกลอนนี้ในฐานะเพลงชาติเลย (ผู้สนใจขอให้ดูรายละเอียดในบทความขนาดยาวของผม)

นอกจากนั้น ที่มีบางคนนับเอาเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็น “เพลงชาติ” ก่อน 2475 ผมก็ได้เสนอว่า ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะไอเดียของเพลงสรรเสริญพระบารมี กับเพลงชาติ เป็นคนละเรื่องกันเลย ก่อน 2475 ความคิดเรื่อง “ชาติ” มีความสำคัญน้อยกว่าและขึ้นต่อความคิดเรื่องกษัตริย์ จึงไม่เกิดความต้องการที่จะต้องมีเพลงสำหรับ “ชาติ” ต่างหากจากเพลงสำหรับกษัตริย์ การเรียกเพลงสรรเสริญพระบารมีว่า “เพลงชาติ” ของไทย ทำให้มองไม่เห็นความขัดแย้ง – ไม่ใช่ความต่อเนือง – ระหว่างแนวคิดเบื้องหลังเพลง 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเห็นว่า กษัตริย์สำคัญที่สุด อีกประเภทหนึ่งเห็นว่า ชาติสำคัญที่สุด



มีการสร้างเพลงชาติทั้งหมด 3 ครั้ง
ได้ทำนอง 1 ทำนอง เนื้อร้อง 3 เนื้อร้อง

โดยสรุป เพลงชาติ จริงๆ เป็นผลผลิตของ 2475 ซึ่งถ้านับรวมทั้งสิ้นถึงฉบับปัจจุบันแล้ว กล่าวได้ว่า มีความพยายามสร้างเพลงชาติทั้งสิ้น 3 ครั้ง


ครั้งแรก เกิดขึ้นทันทีหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนา ซึ่งทำให้ได้ทำนองที่แต่งโดยพระเจนดุริยางค์ โดยดัดแปลงจากทำนองเพลงชาติ “ลา มาเซเยส” ของฝรั่งเศส ซึ่งได้กลายมาเป็นทำนองสำหรับการแต่งเนื้อร้องต่อมา (ถึงฉบับปัจจุบัน) และยังได้เนื้อร้องที่แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา แต่เพลงชาติเว่อร์ชั่นแรกนี้ ไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง เพราะหลังจากได้มีการทดลองแสดงทำนองเพลงที่พระเจนฯแต่ง ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2475 (ไม่ใช่วันที่ 7 อย่างที่เข้าใจผิดกัน – โปรดสังเกต “ความบังเอิญ” ของวันที่แสดงครั้งแรก ตรงกับวันปฏิวัติฝรั่งเศสพอดี) และหนังสือพิมพ์นำไปรายงาน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับราชสำนัก เพราะกลัวว่าจะเป็นการเอามาแทนที่เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญกษัตริย์น้อยลง จนพระยาพหลฯต้องทำหนังสือชี้แจง/แก้ตัวไปยังผู้สำเร็จราชการพระราชวังว่า


คณะราษฎรหาได้ตกลงให้ใช้เพลงนั้นเป็นเพลงชาติไม่ ได้แต่ให้ทดลองดูเท่านั้น และเพลงเช่นนี้มีผู้แต่งส่งมาให้คณะราษฎรเป็นอันมาก ก็ยังหาได้ตกลงให้ใช้เพลงของใครไม่

อนึ่ง เพลงชาตินี้ คณะราษฎรดำริอยู่เหมือนกันว่าควรจะมี หากว่าจะมีก็จะมีกษัตริย์เป็นสารสำคัญอยู่ในเนื้อเพลงนั้นด้วยเหมือนกัน แต่ก็หาได้ดำริจะเลิกล้มเพลงสรรเสริญพระบารมีมิได้ และถ้าจะมีขึ้นจริงไซร้ การจะใช้ก็จะได้ขอพระบรมราชานุญาตต่อไป.


แต่การ “ออกตัว” ของพระยาพหลฯนี้ ไม่ได้รับการปฏิบัติ เพราะแม้แต่เนื้อร้องเพลงชาติที่ขุนวิจิตรมาตรา แต่งให้กับทำนองของพระเจนฯในเดือนต่อมา (สิงหาคม 2475) และกลายเป็นเพลงชาติฉบับแรก (ดูเนื้อเพลงใน “บทผนวก” ท้ายบทความนี้) ก็ไม่มี “กษัตริย์เป็นสารสำคัญ” แต่อย่างใด และไม่ได้มีการ “ขอพระบรมราชานุญาต” ด้วย

แม้จะไม่เคยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ “เพลงชาติ” ฉบับแรกนี้ ได้รับการนำไปร้องในหมู่นักเรียนสมัยนั้นอย่างแพร่หลายไม่น้อย มีหลักฐานว่า มีการนำไปร้องกันตามโรงเรียนในมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ครั้งที่สอง มีการจัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติในปี 2476-2477 ซึ่งทำให้ได้เนื้อร้องเพลงชาติที่ค่อนข้างยาว โดยเอาเนื้อร้องเพลงชาติฉบับแรกของขุนวิจิตรมาตรา ที่แก้ไขใหม่ส่งเข้าประกวดโดยขุนวิจิตรมาตราเอง มารวมกับเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ที่แต่งใหม่ส่งเข้าประกวด ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลในวันที่ 20 สิงหาคม 2477

เพลงชาติฉบับทางการฉบับแรก (แต่จริงๆเป็น ฉบับที่ 2 ดังกล่าว) นี้ ผมเข้าใจว่า ไม่ค่อยมีใครร้องกันหรือแม้แต่จำกันได้หมด เพราะยาวมาก ส่วนใหญ่ จำและร้องกันได้เฉพาะ 2 ท่อนแรก ที่แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา (ผมได้แนบไฟล์เพลงชาติเว่อร์ชั่นที่สองนี้ ที่ร้องเฉพาะท่อนขุนวิจิตรมาตรามาให้ลองฟังกันดูด้วย)

คลิ๊กเพื่อฟัง

ในการส่งเนื้อร้องที่เขาแก้ไขใหม่จากเนื้อร้องเพลงชาติเว่อร์ชั่นของเขาเองเข้าประกวดด้วยนั้น ขุนวิจิตรมาตรา ได้เขียนคำอธิบายประกอบว่า เขายึดหลักการ 5 ประการ หลักการข้อแรก คือ

๑. กล่าวฉะเพาะชาติโดยตรง ไม่กล่าวถึงศาสนา พระมหากษัตริย์ (เพราะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติอยู่แล้ว) ให้ใช้เนื้อได้ทั่วไป เสมอไป ตลอดไปชั่วกัลปาวสาร

ความจริง ในการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติปี 2476 นี้ รัฐบาลได้ประกาศให้มี เพลงชาติ 2 แบบ คือ “แบบไทย” กับ “แบบสากล” (แบบสากล คือให้ใช้ทำนองของพระเจนฯ ประกวดเฉพาะเนื้อร้อง) ได้มีผู้ส่งเนื้อร้องและทำนองเพลงชาติ “แบบไทย” (คือใช้ทำนองเพลงไทยเดิม) หลายคน และคณะกรรมการจัดประกวด ได้คัดเลือกเพลงที่แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย จางวางทั่ว พาทย์โกศล เป็น “เพลงชาติแบบไทย” แล้วด้วย แต่ภายหลัง คณะกรรมการฯได้ตัดสินใจยกเลิก เพลงชาติแบบไทย นี้เอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วย และไม่ได้ประกาศออกไป


ครั้งที่สาม ในปี 2482 หลังจากรัฐบาลคณะราษฎรเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก “สยาม” เป็น “ไทย” (ดูรายละเอียดใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประเทศไทย อายุครบ 65 : ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 25 ฉบับที่ 8, มิถุนายน 2547) จึงได้จัดให้มีการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ใช้ทำนองเดิม (ตอนแรก จะไม่มีการประกวด เพียงให้หลวงวิจิตรวาทการ แก้ไขเนื้อเพลงชาติฉบับที่ 2 ในส่วนของขุนวิจิตรมาตรา แต่ทำมาแล้ว ไม่เป็นที่พอใจ) มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นถึง 614 ราย (ประกวดปี 2476 มีเพียง 30 ราย) มี “คนดัง” รวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น ขุนวิจิตรมาตรา, ฉันท์ ขำวิไล, หลวงสารานุประพันธ์ (ในนาม “กองทัพบก”), พระยาอุปกิตศิลปสาร, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, บุญธรรม (มนตรี) ตราโมท, เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์, ประเสริฐ ณ นคร, สังวาลย์ (สังข์) พัธโนทัย, แก้ว อัจฉริยะกุล, วร (ฉันทิชย์) กระแสสินธุ์ และ ชิต บุรทัต ที่น่าสังเกตคือ เนื้อเพลงที่ส่งประกวดของคนที่ผมเอ่ยชื่อนี้เกือบทุกคน ไม่มีคำว่า “กษัตริย์” เลย แม้แต่ บุญธรรม (มนตรี) ตราโมท ที่มีวรรคหนึ่งว่า “เรามิให้ใครหมิ่นชาติศาสน์กษัตริย์ มุ่งร้ายรัฐธรรมนูญไทยได้” ก็ยังแต่งเผื่อวรรคนี้อีกเว่อร์ชั่นว่า “ใครรุกรานแดนด้าวเรามิยอมพ่าย สู้จนตายไม่ละลดให้” โดยเขาชี้แจงว่า สำหรับกรณีที่ “ต้องการให้มีฉะเพาะแต่ชาติประเทศเท่านั้น”

ผลการประกวด ได้เนื้อร้องเพลงชาติที่เราร้องกันในปัจจุบัน ที่แต่งโดยคนสนิทของจอมพล ป. คือ หลวงสารานุประพันธ์ ที่ส่งเข้าประกวดในนาม “กองทัพบกไทย” อันที่จริง เนื้อร้องเดิมที่ หลวงสารานุประพันธ์ ส่งประกวด มีดังนี้


ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน

อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบ, แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชไม่ยอมให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีไชย ขโย



ในที่ประชุมคณะรัฐมตรีที่พิจารณาเรื่องเพลงชาตินี้ จอมพล ป. เองได้เสนอขอเปลี่ยนวรรคที่ 2 เป็น “เป็นประชารัฐไทยของไทยทุกส่วน” (ในที่สุด ปรับเป็น “เป็นประชารัฐผไทของไทยทุกส่วน”) เพลงชาติเว่อร์ชั่นปัจจุบัน ได้รับการประกาศใช้ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2482 ในนาม “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ 6 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ”


บทส่งท้าย
เช่นเดียวกับชื่อ “ประเทศไทย” เพลงชาติปัจจุบันเป็นผลผลิตของอุดมการณ์แบบเชื้อชาตินิยม (racism) ของกลุ่มหลวงพิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ แม้ว่าทุกวันนี้ คงไม่มีใครเข้าใจประโยคแรกสุดของเพลงนี้ในความหมายเดิมที่ถูกแต่งขึ้นมาแล้ว (ประเทศไทยเป็นที่รวมของคนเชื้อชาติไทย[*]) อันที่จริง ยิ่งกว่าชื่อประเทศไทย เพลงชาติปัจจุบันยังกล่าวได้ว่าเป็นมรดกของ 2475 โดยตรงด้วย ไม่เพียงเพราะทำนองเพลงเป็น 1 ในสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของการปฏิวัติเท่านั้น แต่เพราะเนื้อร้องที่ไม่กล่าวถึงกษัตริย์เลย (ตั้งแต่ฉบับแรกสุดของขุนวิจิตรมาตรา ถึงฉบับปัจจุบันของหลวงสารานุประพันธ์) ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่เกิดจาก 2475 ที่ถูกสฤษดิ์ลบล้างไป ตั้งแต่วันชาติ (เปลี่ยนวัน) วันรัฐธรรมนูญ (ลดความสำคัญ) ไปจนถึงประเพณีต่างๆ เกี่ยวกับราชสำนัก (รื้อฟื้นใหม่) มีสิ่งนี้ที่สฤษดิ์ “มองข้ามไป” และแม้จะมีการพูดกันในแวดวงราชการจนทุกวันนี้ ถึงการที่เพลงชาติยังขาดการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ “มรดก” นี้ของ 2475 ก็ยังคงอยู่ แน่นอน ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะ “มองข้าม” เรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของ “มรดก” นี้เอง . . . . .


บทผนวก : เนื้อร้องเพลงชาติทั้ง 3 ฉบับ

ทำนองเพลงชาติ : พระเจนดุริยางค์ (14 กรกฎาคม 2475)

ฉบับที่ 1 (ปลายสิงหาคม 2475)

เนื้อร้อง : ขุนวิจิตรมาตรา

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า

สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย

บางสมัยสัตรูจู่มารบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่

ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา



อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า

เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ

ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสสระเสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้

เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เชิดชัยไชโย




ฉบับที่ 2 (20 สิงหาคม 2477)

เนื้อร้อง : ขุนวิจิตรมาตรา และ ฉันท์ ขำวิไล

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า

สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย

บางสมัยสัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่

เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา



อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า

เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ

รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้

เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย



เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสสระณแดนสยาม

ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา

แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า

ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี



เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
จะมิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้

ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย

จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย

มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย




ฉบับที่ 3 (ธันวาคม 2482)

เนื้อร้อง : หลวงสารานุประพันธ์ (ในนาม “กองทัพบกไทย”)

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย



[*] เมื่อไม่กี่ปีก่อน นิตยสาร สารคดี ได้ตีพิมพ์ฉบับพิเศษ รวมเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา และ 17 พฤษภา โดยใช้ประโยคแรกของเพลงชาติเป็นชื่อ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ถ้าคิดถึงความหมายเดิมของประโยคนี้ ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่อง irony อย่างสุดขีด เพราะในกรณี 6 ตุลา ประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทำร้ายและทารุณกรรมนักศึกษาในธรรมศาสตร์ คือการที่พวกเขาเป็น “เจ๊ก” และ “ญวน” แต่แน่นอนว่า ผู้จัดพิมพ์ไม่ได้ใช้ประโยคนี้ในความหมายยืนยันความเป็นเจ้าของประเทศของคนเชื้อชาติไทยและกีดกันคนเชื้อชาติอื่น แบบที่เพลงถูกแต่งขึ้น



ที่มา : ข่าวประชาไท : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รำลึก “วันปฏิวัติ 24 มิถุนา” : ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน

1 ความคิดเห็น:

Tomazzu กล่าวว่า...

ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ นี้