วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาใหม่, : ศึกษากรณีคดีลอบปลงพระชนม์ ร.8


คดีลอบปลงพระชนม์ เป็นคดีที่มีความน่าสนใจในการศึกษากระบวนการทางนิติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ แต่ผู้เขียนพบว่าคดีนี้ไม่เคยใช้เป็นกรณีศึกษา ( Case study)ในการศึกษากฎหมายเลย (ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสถาบันศึกษาอื่นได้มีการสอนเกี่ยวกับคดีนี้หรือไม่) แต่ที่จุฬาฯ ในระดับชั้นปริญญาตรี-โท ,ชั้นเนติบัณฑิต รวมถึงตำราเรียนกฎหมาย ไม่มีกล่าวถึงคำพิพากษาคดีนี้ และคำพิพากษาใหม่ (ฎ..5810/2522 ที่นายปรีดีเป็นโจทก์) แต่อย่างใด

ในปี2550 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(แก้ไขฉบับที่23-25)และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(แก้ไขฉบับที่25-29) ซึ่งแก้ไขในสมัยนายกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ผู้เขียนได้ตรวจสอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาที่เพิ่งแก้ไข พบว่ามีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

1.
ศาลไม่สามารถออกหมายเรียก พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้มาศาลได้ ( ดู ป.วิ.พ. มาตรา 106/1 แก้ไขฉบับที่ 23) แต่เดิมไม่มีบัญญัติข้อห้ามนี้ไว้


2.
พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทน ไม่ต้องกล่าวสาบานว่าจะให้การตามความสัตย์จริง (ดู ป.วิ.พ. มาตรา 112 แก้ไขฉบับที่ 23) แต่เดิมยกเว้นเฉพาะพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา บุคคลอายุต่ำกว่า14ปีหรือหย่อนความสามารถ หรือบุคคลที่คู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องสาบาน


3.
หากพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทน แม้มาเป็นพยานก็มีสิทธิไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆ ก็ได้ (ดู ป.วิ.พ. มาตรา 115 แก้ไขฉบับที่ 23) แต่เดิมยกเว้นเฉพาะพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา

ดังนั้น ในปัจจุบัน หากมีคดีอาญาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาลก็ไม่สามารถออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวให้มาศาลได้ หรือถ้าหากบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานก็ไม่ต้องสาบานตน หรือไม่ยอมเบิกความหรือไม่ตอบคำถามใดๆ ก็ได้ (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่านอกจากคดีปลงพระชนท์แล้วเคยมีคดีอื่นหรือไม่ ที่มีความจำเป็นถึงขนาดจะต้องเรียกบุคคลสำคัญเหล่านี้มาเป็นพยานในศาล)


4.
ศาลอาจรับฟังคำเบิกความของผู้ให้ถ้อยคำในต่างประเทศได้ (ดู ป.วิ.อ. มาตรา230/2 แก้ไขฉบับที่28) แต่เดิมไม่สามารถรับฟังพยานเช่นนี้ได้ เพราะถือเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย (ดู มาตรา 172ประกอบมาตรา 172 ทวิ และดูคำให้การโจทก์ ฎ..5810/2522 ในหนังสือคำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8) นั่นแสดงว่า ศาลในคดีลอบปลงพระชนม์ รับฟังพยานหลักฐาน(คำเบิกความของพยานบางปากในประเทศสวิสเซอร์แลนด์)โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ (เพราะเพิ่งจะมีกฎหมายอนุญาตในปี 2550 นี้เอง)


5.
อนุญาตให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เนื่องจากไม่สามารถนำประจักษ์พยานมาศาลได้ (ดู ป.วิ.อ. มาตรา226/3แก้ไขฉบับที่28) แต่เดิมไม่มีบัญญัติเรื่องพยานบอกเล่าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะมีก็แต่แนวคำพิพากษาของ Common law ที่นำมาปรับใช้เท่านั้น และ ในคดีลอบปลงพระชนม์ ก็ไม่ถือว่าเข้าข้อยกเว้นตามหลัก Common lawที่ให้รับฟังพยานบอกเล่าได้ (ดู ความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ในชั้นอุทธรณ์ ) ดังนั้น ความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์น่าจะถูกต้อง (เพราะในขณะนั้น ยังไม่มีมาตรา226/3 ) แต่ศาลในคดีลอบปลงพระชนม์ก็รับฟังพยานหลักฐานบอกเล่า


ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า

- ศาลในคดีลอบปลงพระชนม์ มีความล้ำสมัยมาก เพราะใช้วิธีพิจารณาก่อนที่จะมีกฎหมายออกมาถึง 50 กว่าปี (นับจากคำพิพากษาฎีกาในปี2497)

- หรือ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำพิพากษาในคดีลอบปลงพระชนม์ (แต่ทำไมเพิ่งจะมาแก้ไข ทั้งๆที่ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ? หรือจะต้องการแก้ข้อโต้แย้งว่าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ? )

- หรือ แก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับคดีอาญาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (นั่นหมายถึง หากมีคดีอาญาสำคัญเกิดขึ้นพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ต้องมาเป็นพยานในศาล หรือ อาจมาศาลก็ได้แต่ไม่ต้องสาบานว่าจะให้การด้วยความสัตย์จริง หรือแม้มาศาลก็มีสิทธิไม่ยอมเบิกความหรือตอบคำถามใดๆ ก็ได้)

บทความนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ศึกษาในเชิงวิชาการ หากมีข้อเสนอแนะใดๆ พร้อมน้อมรับ


Gnik

ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาใหม่, : ศึกษากรณีคดีลอบปลงพระชนม์ ร.8

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: