วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

ฟอร์บส์วิเคราะห์พระราชทรัพย์


โดย : ซูซาน เจ. คันนิงแฮม

เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2551
นิตยสารฟอร์บส์ ประจำวันที่ 1 กันยายน 2551



รัพย์สินประจำราชวงศ์ของสถาบันกษัตริย์ไทยไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน เมื่อปีที่แล้วฟอร์บส์เอเชียประเมินไว้อย่างต่ำคือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (170,000 ล้านบาท ที่ 34 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) ตัวเลขประเมินของแหล่งอื่นคือ 8 พันล้านเหรียญ (272,000 ล้านบาท) มาปีนี้ ฟอร์บส์เอเชียอาศัยงานวิชาการที่ทำการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ตัวเลขออกมาอยู่ที่ 35 พันล้านเหรียญ (1,190,000 ล้านบาท) ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองตำแหน่งสูงสุดในการจัดอันดับราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของเราในปีนี้ เมื่อปีแล้ว พระองค์ทรงอยู่อันดับที่ 5

ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ คือ อสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาล ที่รวมถึงที่ดินราวหนึ่งในสามของย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังถือหุ้น 30% ในเครือซีเมนต์ไทยและ 25% ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย ในปี 2548 ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้อนุญาตให้พอพันธ์ อุยยานนท์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่กำลังเขียนงานเกี่ยวกับประวัติของสำนักงานฯ ได้เข้าถึงข้อมูลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บทความของพอพันธ์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Contemporary Asia ของประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเมินทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไว้ที่ 27.4 พันล้านเหรียญฯ โดยเป็นมูลค่าเมื่อปลายปี 2548 จากนั้นทรัพย์สินต่างๆ และเงินบาทมีมูลค่าสูงขึ้น (แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม) “แน่นอน [ตัวเลขประมาณค่า] มหาศาลมาก แต่ก็มีเหตุมีผล” พอพันธ์กล่าว “เราทราบราคาที่ดิน เราทราบมูลค่าในตลาด(market capitalization) [ของบริษัทต่างๆ]อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เขียนมาในอีเมล์ว่า “โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีความคลาดเคลื่อนที่ใหญ่โตอันใด” ในบทความของพอพันธ์

แม้ว่าจะไม่มีใครภายนอกสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่รู้ชัดว่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของสำนักงานฯ อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ที่มีมูลค่าสูงสุดนั้นอยู่ในย่านต่างๆ ที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานที่สำคัญๆ หลายแห่งของกรุงเทพฯ ตัวเมืองกรุงเทพฯ จากเยาวราช ราชดำเนิน เกาะรัตนโกสินทร์ ได้แผ่ขยายไปทางทิศใต้เลาะแม่น้ำเจ้าพระยาและไปทางตะวันออกตามแนวคลองต่างๆ ตอนนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของอาคารสำนักงานต่างๆ ของรัฐในบริเวณเหล่านี้ ตลอดจนทำเลริมแม่น้ำของโรงแรมห้าดาวอย่างโอเรียนเต็ลและรอยัลออร์คิด และที่ดินผืนใหญ่แถวสีลม สาทรและวิทยุอันเป็นย่านธุรกิจและที่ตั้งสถานทูตประเทศต่างๆ สำนักงานทรัพย์สินฯ ปล่อยเช่าที่ดินให้กับห้างหรูอย่างสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิร์ลด์ รวมถึงสวนลุมไนท์บาซาร์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอาคารสำนักงานเสริมมิตรและสินธร

อวิรุทธ์กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินทั้งหมด 3,493 เอเคอร์ (8,732.5 ไร่) ในใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้มีมูลค่า 31 พันล้านเหรียญ (1,054,000 ล้านบาท) คิดตามราคาที่ดินที่รวบรวมโดยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พอพันธ์ใช้ข้อมูลนั้นหาราคาที่ดินในทำเลต่างๆ 22 ทำเล แล้วหาราคาต่อเอเคอร์สำหรับที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ของตนเพียง 9 พันล้านเหรียญ(306,000 ล้านบาท)เท่านั้น แต่อวิรุทธ์บอกว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ลงบัญชีทรัพย์สินในราคาต้นทุน ไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์แก่ฟอร์บส์เอเชีย แต่เจ้าหน้าที่ของเขาก็ได้ตอบคำถามต่างๆ ทางอีเมล์

อวิรุทธ์กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังเป็นเจ้าของที่ดินอีก 12,500 เอเคอร์ (31,250 ไร่) ทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นที่ดินตามตลาดเก่าๆ และตามจังหวัดปลูกข้าวในบริเวณภาคกลาง ตามแนวเขตแดนทางประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม ทั้งพอพันธ์และสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่างก็ไม่ได้ทำการประเมินมูลค่าที่ดินในส่วนนี้ และก็ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขการประเมินของฟอร์บส์ครั้งนี้ด้วย

สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้อนุญาตให้พอพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เข้ามาศึกษาบันทึกประวัติการเช่าที่และการจัดเก็บค่าเช่า ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน พอพันธ์พบว่าในปี 2548 สำนักงานทรัพย์สินฯ มีรายได้จากทรัพย์สิน 56 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับ 79 ล้านเหรียญ (2,686 ล้านบาท)ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เขาเชื่อว่าตั้งแต่ประมาณปี 2542 เป็นต้นมา สำนักงานทรัพย์สินฯ สามารถเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ได้ถึงห้าเท่าเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่โดยการเพิ่มค่าเช่ากับผู้เช่าเชิงพาณิชย์และส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจเหล่านั้น

พอล แฮนด์ลีย์ ที่ใช้เวลาอยู่ในเมืองไทยเป็นทศวรรษ ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์สำหรับหนังสือของเขาที่ถูกสั่งห้ามไปในปี 2549 กล่าวว่าเขาเชื่อว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังไม่ได้เรียกเก็บค่าเช่าในอัตราตลาด เป็นเพราะว่าหากเพิ่มเร็วเกินไปจะก่อผลที่รุนแรง โดยเฉพาะสำหรับผู้เช่ารายได้ต่ำนับพันๆ ราย “สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีวิธีคิดที่ตรึงค่าเช่าต่ำกว่าอัตราตลาดเพื่อเป้าหมายความมีเสถียรภาพในระยะยาว” แฮนด์ลีย์กล่าว “หรือ มองได้อย่างนี้ว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์บางส่วน มีเป้าจำกัดสำหรับบางส่วน และเกือบจะเชิงพาณิชย์สำหรับส่วนที่เหลือ”

ทรัพย์สินส่วนอื่นของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นง่ายต่อการประเมิน หุ้น 30%ในเครือซีเมนต์ไทย(บริษัทที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ)มีมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญ (64,600 ล้านบาท) หุ้น 25%ในธนาคารไทยพาณิชย์มีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ (37,400 ล้านบาท) ณ เดือนกรกฎาคมปีนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของเทเวศประกันภัยเกือบทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 65 ล้านเหรียญ (2,210 ล้านบาท) และถือหุ้นในบริษัทมหาชนและเอกชนอีกหลายแห่งที่อวิรุทธ์บอกว่ามีมูลค่า 600 ล้านเหรียญ (20,400 ล้านบาท) จิรายุนั่งเป็นประธานเครือซีเมนต์และเทเวศประกันภัย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ไปนั่งเป็น nonexecutive directors (กรรมการซึ่งไม่ใช่ผู้บริหารของบริษัท มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางนโยบาย) ของบริษัทต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นอยู่

นอกจากทรัพย์สินในส่วนของสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงมีการลงทุนและถือครองที่ดินเป็นการส่วนพระองค์ด้วย พอพันธ์ไม่ได้พิจารณาทรัพย์สินส่วนนี้ และการวิเคราะห์จากภายนอกทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการคาดเดามูลค่า ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขประมาณการ 35 พันล้านเหรียญของฟอร์บส์เอเชียในครั้งนี้ด้วย ที่ดินในส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นสิ่งตกทอดของราชวงศ์มาหลายทศวรรษ บางทีมาจากการถวายที่ดินของชาวนาที่ไร้ทายาทและเลื่อมใสศรัทธาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์

ขณะที่ไม่มีบุคคลภายนอกคนใดเลยที่จะแน่ใจได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดบ้างที่ทรงได้รับผลประโยชน์จากรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ก็อาจคาดเดาได้ว่ารวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่พระองค์ พระวรชายาฯ และพระราชนัดดาทั้งห้าพระองค์ที่อยู่ในเมืองไทย นอกนั้นก็อาจจะรวมถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีและพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ไม่มีความชัดเจนว่าเงินจำนวนเท่าใดถูกใช้โดยเสด็จพระราชกุศลเนื่องจากไม่มีการเปิดเผยแก่สาธารณะ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสถานที่ตั้งอยู่ในวังลดาวัลย์อันเป็นคฤหาสน์หรูหราต้นศตวรรษที่ยี่สิบก่ออิฐสีเหลืองหลังคาแดงในเขตดุสิตใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาและพระราชวังสวนจิตรลดา เขตดุสิตทุกวันนี้ยังคงเป็นย่านที่พักอาศัยที่เขียวชอุ่ม แต่เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้นเป็นบ้านนอก ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งพิมานเมฆที่สร้างจากไม้สักไว้แปรพระราชฐานเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ แล้ววังและคฤหาสน์อื่นๆ ของเชื้อพระวงศ์และขุนนางก็มีตามมาในอีกไม่นาน

จิรายุบริหารงานสำนักงานทรัพย์สินฯ มาตั้งแต่ปี 2530 เขามาจากครอบครัวชนชั้นสูงและเป็นคนวงใน เขาเป็นนักกีฬาสค็วอชมือฉกาจและจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เขากลับมาสอนเศรษฐศาสตร์ที่เมืองไทยและรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ธรรมดาเลย เนื่องจากเป้าหมายของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นไม่ใช่การหารายได้สูงสุด หากแต่เป็นการช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศโดยการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ และจัดหาที่พักอาศัยราคาต่ำกว่าตลาดสำหรับพลเมืองที่มีรายได้ต่ำ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เกือบทั้งหมดจาก 600 คนทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึงสิบคนที่ดูแลหลักทรัพย์ด้านการเงิน และในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่แท้จริง สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้สนใจกับผลกำไรหรือการขาดทุนระยะสั้น “บทบาทของเราเพียงแค่เข้าร่วมในคณะกรรมการในฐานะ nonexecutive directors ไม่ใช่การบริหารจัดการ” อวิรุทธ์กล่าว

ตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2433 ในฐานะกรมพระคลังข้างที่ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีบทบาททั้งในการพัฒนาและการลงทุน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐบาลพลเรือนได้แบ่งทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และจัดกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เครือซีเมนต์ฯ ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทของกรมพระคลังข้างที่เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลมีอำนาจควบคุมสำนักงานทรัพย์สินฯ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่หลังจากมีรัฐประหารหลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 2480 ฝ่ายนิยมเจ้าก็สามารถสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันกษัตริย์ได้ และพระราชบัญญัติปี 2491 ก็คืนอำนาจควบคุมสำนักงานทรัพย์สินฯ แก่สถาบันกษัตริย์ พระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า “รายได้…จะจำหน่ายใช้สอยก็ได้แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัยไม่ว่าในกรณีใดๆ ” และรัฐบาลไม่สามารถยึดหรือโอนหรือเก็บภาษีได้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่แสดงรายงานประจำปี ยกเว้นแต่ต่อองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น

บทความของพอพันธ์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ รับมือกับวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 วิกฤตครั้งนั้นลดรายได้ทั้งปีของสำนักงานฯ ไปถึง 75% แทบจะโดยข้ามคืน สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องจ้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ทั้งไทยและเทศ หนึ่งในนั้นคือวิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และไมเคิล เซลบี (Michael Selby) อดีตที่ปรึกษาเจ้าชายเจฟฟรีแห่งบรูไน แล้วสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ทิ้งหุ้นเกือบ 400 บริษัทและเริ่มเพิ่มค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ พอพันธ์ประมาณการว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2548 รายได้ทั้งปีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็เพิ่มเป็นสามเท่าของรายได้สูงสุดในช่วงทศวรรษ 2530 อันเฟื่องฟู หรือเท่ากับ 280 ล้านเหรียญ (9,520 ล้านบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ราว 200 ล้านเหรียญ(6,800 ล้านบาท)จากจำนวนนั้นมาจากเงินปันผลของบริษัทต่างๆ

วิกฤตคราวนั้นแทบทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องสูญเสียหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ไป ไทยพาณิชย์ก่อตั้งในปี 2449 โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแข่งขันกับธนาคารยุโรปที่ตั้งสาขาอยู่ในสยามในเวลานั้น เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2541 ธนาคารไทยพาณิชย์จำแนกหนี้ 34%เป็นหนี้เสีย ภายใต้โปรแกรมฟื้นฟูธนาคารของไทย กระทรวงการคลังรับภาระ 676 ล้านเหรียญ(22,984 ล้านบาท)ที่ไทยพาณิชย์กู้มาจากธนาคารต่างชาติ โดยกระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 39% เป็นการตอบแทน และหุ้นของสำนักงานฯ ลดลงจาก 25% เป็น 11% ธนาคารยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ไม่ร่วมโปรแกรมนี้เพราะกลัวรัฐเทคโอเวอร์กิจการ

ไทยพาณิชย์กลับมาทำกำไรได้ในปี 2546 และปีถัดมาก็ได้รับหุ้นคืนโดยแลกกับที่ดิน 192 เอเคอร์(480 ไร่) ทางด้านตะวันตกของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลค่าในเชิงการพัฒนาของที่ดินผืนดังกล่าวนั้นเป็นที่น่ากังขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาลและส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล และใกล้พระราชวังกับสถานีรถไฟ “การแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร” พอพันธ์เขียนในบทความ แฮนด์ลีย์ก็บอกว่ามันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการจำนองของสำนักงานทรัพย์สินฯ

ทุกวันนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ มีขนาดและเงื้อมมือที่กว้างขวางและกล้าแข็งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ทว่าบางคนก็มองอำนาจที่แผ่ขยายของสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าสวนทางกับปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “มันไม่ใช่ความย้อนแย้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สถาบันฯ ในฐานะประมุขของเครือธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มาตอนนี้ส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งมายังภายใน (inward-looking development strategy) เควิน ฮิววิสัน บรรณาธิการร่วมวารสารรายสามเดือนที่ตีพิมพ์บทความของพอพันธ์กล่าว

“พระองค์ท่านทรงส่งเสริมแนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’” ที่เน้นการเกษตรพื้นบ้านขนาดเล็กและคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องความพอประมาณในช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทต่างๆ ในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ กำลังขยายการผลิตอุตสาหกรรม ส่งเสริมการบริโภคผ่านการลงทุนในห้างสรพพสินค้าหรูหราและทำกำไรมหาศาล”

ถ้างั้นแล้วทำไมสำนักงานทรัพย์สินฯ ถึงเปิดเผยข้อมูล หรืออย่างน้อยก็แง้มๆ ให้ดูด้วยเล่า? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จิรายุได้เปิดเผยตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างแก่สื่อมวลชนไทยบางคน “ด้วยการเผยเล็กๆ น้อยๆ ในตอนนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ หวังว่าจะปกป้องตัวเองได้จากอะไรที่จะแย่ไปกว่านี้ บางทีอาจเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ราชวงศ์อังกฤษเสนอที่จะจ่ายภาษีเงินได้ [ในปี 2535] ไมเคิล แบ็คแมนกล่าว เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครือข่ายธุรกิจเอเชียที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไว้ที่ 8 พันล้านเหรียญ(272,000 ล้านบาท) ในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2542 Asian Eclipse: Exposing the Dark Side of Business in Asia

บางที ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุ 80 พรรษาแล้ว จิรายุและสำนักงานทรัพย์สินฯ กำลังเตรียมตัวสำหรับรัชสมัยถัดไป แฮนด์ลีย์ที่เคยสัมภาษณ์จิรายุมาสองครั้งแสดงความคาดเดา “ผมคิดว่าจิรายุเป็นคนหลักแหลม” เขากล่าว “กระทรวงการคลังและแวดวงธุรกิจให้ความเชื่อถือในวิจารณญาณของจิรายุตลอดมา แต่ตอนนี้พวกเขาจำต้องส่งสัญญาณบางอย่าง” ว่าต้องมีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ หากไม่เช่นนั้น แฮนด์ลีย์กล่าวว่า “เศรษฐกิจของไทยจะเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้”

แต่อวิรุทธ์กล่าวเพียงว่า

“เป้าหมายสูงสุด[ของสำนักงานทรัพย์สินฯ] คือการธำรงพระเกียรติยศและพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ เรารู้สึกว่า…เราควร…เปิดเผยข้อมูลบางอย่างเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”



ที่มา : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : บทความทั่วไป : ฟอร์บส์วิเคราะห์พระราชทรัพย์ โดยซูซาน เจ. คันนิงแฮม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ก็แล้วจะทราบไปทำไม
อย่างน้อยๆท่านก็ไม่ได้เอามาจากการโกงกินใคร

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หากพระองค์เสียภาษีแล้ว จะโดนนักการเมืองโกงกินเงินภาษีนั้นหรือเปล่า?

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

http://www.crownproperty.or.th/th/about/history.html

เว็บ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ครับ
อ่านๆซะนะ จะได้ไม่ต้องมานั่งเดากัน