เมื่อ พ.ศ.2547 มีความรู้ในเรื่องที่สังคมไทยมักไม่ค่อยกล้า ‘รู้’ ปรากฏขึ้น ได้แก่วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ ‘ชนิดา ชิตบัณฑิตย์’ เรื่อง ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ’
ความรู้นี้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการในโครงการของ ‘พระมหากษัตริย์’ ช่วงเวลาต่างๆ ตามบริบทสังคมและการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลสะท้อนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อวิธีคิดและพัฒนาการของสังคมไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จัดเวทีความรู้โดยเชิญ ‘ชนิดา ชิตบัณฑิตย์’ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง ‘เอ็นจีโอเจ้า’ ซึ่งถอดความมาจากวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ‘ประชาไท’ จึงขอร่วมพูดด้วยการนำมาขยายความต่อ ดังนี้
0 0 0
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1
“การเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านโครงการพระราชดำริในยุคนี้
ยังไม่สามารถดำเนินบทบาทได้อย่างกว้างขวาง
เพราะยังไม่สามารถผสานอุดมการณ์เข้ากับรัฐเผด็จการทหารได้เต็มที่
เพราะรัฐเผด็จการเน้นที่ตัวผู้นำเป็นหลัก”
โครงการพระราชดำริในยุคแรกก่อกำเนิดคือช่วง พ.ศ. 2494-2500 เป็นการช่วงชิงอำนาจนำกับรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้โครงการต่างๆ ทำได้โดยจำกัด และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากส่วนราชการ เส้นทางที่ทำโครงการจะจำกัดมากด้วย คือแค่ทางระหว่างพระราชวังสวนจิตรลดากับหัวหินเท่านั้น
ลักษณะตัวกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลักๆ คือ โครงการพระราชดำริด้านสังคมสงเคราะห์ เช่นโครงการประมงพระราชทาน การระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข การให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์หรือทุนอานันทมหิดล การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งโครงการพระราชดำริโครงการแรกเป็นการสร้างถนนเข้าไปบ้านห้วยมงคล โครงการฝนหลวง
ส่วนโครงการพระราชดำริที่พิเศษคือโครงการด้านสื่อมวลชนส่วนพระองค์ มีบทสัมภาษณ์ของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งชี้ว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะกลับคืนมาจากรัฐ โดยมีการจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต มีการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ต่อมากลายเป็นสิ่งสำคัญในการเอาใช้ในส่วนสารคดีเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมุดที่ระลึกการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2498 ที่ได้มาโดยบังเอิญ ทำให้ทราบว่าหนังสือนี้เหมือนเป็นการยืนยันว่าประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเป็นประเพณีใหม่ของสังคมไทยที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 นี้เอง
หนังสือนี้เป็นคู่มือ เนื้อหาเช่น ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาเสด็จพระราชดำเนินมา ทรงโปรดอะไร ไม่โปรดอะไร ควรตั้งแถวรับอย่างไร เวลาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ไม่ควรไหว้คนอื่น พระ เด็ก กับคนแก่ควรจะให้อยู่ข้างหน้า ข้าราชการหัวเมืองต้องแต่งตัวอย่างไร เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของโครงการราชดำริยุคแรกเรียกว่า โครงการตามพระราชประสงค์ ทรงปฏิบัติและทดลองด้วยพระองค์เอง ถ้ามองลงไปในบริบททางการเมืองในยุคนั้นที่ถูกจำกัดพระราชอำนาจและไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณอะไร นำมาสู่โครงการลักษณะที่ใช้เครือข่ายส่วนพระองค์เป็นหลัก ได้แก่ สำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการ ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การระดมทุนทำให้เกิดประเพณีที่เรียกว่าทำบุญร่วมกับในหลวง ผ่านสถานีวิทยุ อ.ส. กลุ่มบริจาคก็จะมีฐานะ แต่ก็มีราษฎรถวายเวลาเสด็จไป
มีหน่วยงานราชการบางหน่วยเท่านั้นที่รับสนองพระราชดำริ เช่น กระทรวงเกษตร และ ตชด. โดยมี หม่อมเทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาฝนหลวงให้ประสบผล และดึงกระทรวงเกษตรมาดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงสร้างนี้ ส่วน ตชด.จะมาทำถนนเข้าหมู่บ้านห้วยมงคล พ.ศ.2496
การเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านโครงการพระราชดำริในยุคนี้ยังไม่สามารถดำเนินบทบาทได้อย่างกว้างขวาง เพราะยังไม่สามารถผสานอุดมการณ์เข้ากับรัฐเผด็จการทหารได้เต็มที่ เพราะรัฐเผด็จการเน้นที่ตัวผู้นำเป็นหลัก โครงการพระราชดำริจึงมีลักษณะตอบโต้ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างด้วยการสร้างกลุ่มทางประวัติศาสตร์โดยอาศัยปัญญาชนเป็นตัวเชื่อมประสาน
ในการเชื่อมประสานจะดำเนินผ่านกิจกรรมการด้านวัฒนธรรม ภายหลังการตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.มีการก่อตั้งวงดนตรี อ.ส. เล่นทุกวันศุกร์ กลุ่มปัญญาชนที่เข้ามาก็มี เจ้านาย นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษา
ปัญญาชนที่สำคัญและมีบทบาทบางท่านในยุคนี้ได้แก่ นายขวัญแก้วและแก้วขวัญ วัชโรทัย รูปถ่ายและสารคดีต่างๆ จะเป็นฝีมือของสองท่านนี้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการดำเนินหน้าที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ เป็นดีเจจัดวิทยุ อ.ส. การเผยแพร่พระราชกรณียกิจผ่านสื่อและการศึกษา และได้รับการเชิญให้บรรยายเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริเยอะมาก
ปัญญาชนที่สำคัญอีกท่านคือ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งมีบทบาทในด้านการทำฝนหลวง การพัฒนาเทคโนโลยี เช่นรหัสวิดน้ำ หรือการทำฟาร์มในสวนจิตรลดา คือสำคัญในฐานะนักวิชาการการเกษตร
2
“เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรม
ก็เปลี่ยนโฉมหน้าโครงการพระราชดำริหรือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างสิ้นเชิง มีการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ”
โครงการพระราชดำริในยุคต่อมาเป็นการสถาปนาราชอำนาจนำในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เป็นการผสานเผด็จการทหารเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในยุคสงครามเย็น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2501-2523 ยุคนี้มีสายสัมพันธ์ราบรื่นกับรัฐบาลทหาร คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ลักษณะที่เห็นชัดในสายสัมพันธ์อันราบรื่นคือ หลังจากไม่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะถูกแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี
รัฐเผด็จการทหารไม่ชอบธรรม จึงเชิดชูกษัตริย์ให้เป็นฐานทางการเมือง ในช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมเสรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ มีการเติบโตของฝ่ายซ้าย และการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าแบบทุนนิยม ที่เริ่มเกิดการพัฒนาอย่างรวมศูนย์โดยรัฐผ่านการกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลักษณะการพัฒนาจะเน้นการสร้างสาธารณูปโภค คำขวัญสำคัญคือ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ มีการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นหลัก
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรมต่อประชาชน ก็เปลี่ยนโฉมหน้าโครงการพระราชดำริหรือการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างสิ้นเชิง มีการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการ มีการรื้อฟื้นและสร้างใหม่ของประเพณีและพระราชพิธีที่เน้นบทบาทของกษัตริย์อย่างมากมาย และได้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกลไกของอำนาจรัฐอย่างเป็นทางการ
มีการรื้อฟื้นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมา โดยเริ่มตีความให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอันเป็นพื้นที่ที่คลุมเครือ มีการสร้างบทบาทและพื้นที่ทางการเมืองให้สถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ๆ
ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางโครงการพระราชดำริเองก็สะท้อนว่า เกิดกระบวนการที่เรียกว่ามีการร่วมสถาปนาพระราชอำนาจนำด้วย โดยรัฐบาลไม่ใช่ผู้กระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมอย่างเดียว แต่สถาบันพระมหากษัตริย์เองก็สถาปนาอำนาจตรงนี้ผ่านกิจกรรมในเรื่องโครงการพระราชดำริ ถ้ามองทั้งยุค บทบาทพระราชอำนาจนำฟื้นฟูช่วงนี้ และยิ่งเห็นได้ชัดหลัง 14 ตค. 2516
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการร่วมสร้างบทบาทของกษัตริย์นักพัฒนาผ่านโครงการพระราชดำริ และสร้างกลุ่มความสัมพันธ์ที่มากกว่าโครงสร้างในยุคแรกที่มีแค่ในพระราชสำนัก โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกร ชาวนา ชาวเขา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้ามายเดียวกันกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และขยายไปสู่ทั้งข้าราชการ พลเรือน และนักศึกษา
ในช่วงนี้เองเริ่มมีการให้โอวาทกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้โครงการพระราชดำริเริ่มได้รับการหนุนจากภาครัฐหรือราชการบ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่เป็นระบบ ถ้าหน่วยงานไหนสนองได้ก็มาสนองหรือมาดำเนินโครงการด้วย
จากการวิเคราะห์พบอีกว่า ในยุคนี้มีการสร้างประเพณีมารองรับโครงการพระราชดำริ มีการเยี่ยมราษฎรเพิ่มอย่างสม่ำเสมอทุกภูมิภาค มีการสร้างพระราชวังทุกภาคเป็นฐานปฏิบัติการ จะทรงเยี่ยมราษฎรอย่างครอบคลุม เกิดการสร้างสายสัมพันธ์ทางตรงกับราชการและราษฎรด้วยการเสด็จเอง
มีประเพณีสำคัญที่ทำให้โครงการพระราชดำริกลายเป็นสัญลักษณ์ส่วนพระองค์ด้วย คือประเพณีการนำราชอาคันตุกะไปเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ ตรงนี้สื่อมวลชนจะนำไปเผยแพร่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การสถาปนาพระราชอำนาจนำในยุคนี้จะดำเนินการผ่านระบบราชการของรัฐเผด็จการทหาร จึงมีทั้งมิติที่ประสานและช่วงชิงอำนาจนำ เพราะพระองค์มีแนวพระราชดำริที่ต่างไปจากรัฐบาลด้วย
การประสานนั้นส่งผลให้บทบาทและการเผยแพร่อุดมการณ์ของกษัตริย์นักพัฒนาได้รับการหนุนเสริมในฐานะที่กษัตริย์ทรงมีต่อพสกนิกร และฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์กระแสหลักในสังคมอยู่แล้ว คือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาเงื่อนไขของการสร้างบทบาททางสังคมการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ควบคู่การปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยปริยาย
ยุคนี้ปัจจัยทางการเมืองที่มีผลสำคัญคือสงครามเย็นและการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณผ่านโครงการด้านการทหารหรือการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากอเมริกา เพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ตรงนี้ส่งผลสำคัญต่อแนวทางการพัฒนาสังคมไทยทั้งในภาครัฐและการพัฒนาโครงการพระราชดำริ
ในหนังสือรับเสด็จหัวเมือง พบจดหมายที่ส่งไปให้ข้าราชการหัวเมือง โครงการพระราชดำริยุคนี้มีด้านสังคมสงเคราะห์เหมือนยุคก่อนคือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์, มูลนิธิราชประชาสมาศรัย, มูลนิธิพระดาบส โครงการด้านการพัฒนาเกษตรและชนบทที่สวนจิตรลดา โครงการหุบกะพงอันเป็นโครงการต้นแบบแรกๆในด้านการพัฒนาซึ่งรับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศอิสราเอล และโครงการหลวงที่มีผู้แทนพระองค์คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
ส่วนโครงการพระราชดำริที่มีลักษณะเฉพาะของยุคนี้คือ โครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ลักษณะสำคัญคือมีการผสานกับทหาร ตำรวจ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคง โดยมีประเด็นเช่น เรื่องการพัฒนาอาวุธ หรือในงานเขียนจำนวนหนึ่งระบุว่า ทรงซ่อมปืนให้ทหารด้วย อีกทั้งมีการพระราชทานขวัญและกำลังใจให้ทหาร ทรงเสด็จไปเยี่ยมในพื้นที่ที่มีความรุนแรง มีจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านโดยมีกิจกรรมการพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านเป็นกิจกรรมหลักในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคงนี้
เมื่อนำการพัฒนาของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ในยุคนี้มาเปรียบเทียบจะพบว่ามีลักษณะร่วมกันคือความต้องการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและช่วงชิงมวลชนกลับคืนมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้มีการดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า การพัฒนาเพื่อความมั่นคง จนมีงานเขียนหลายชิ้นมากที่โต้เถียงกันว่า ยุทธศาสตร์นี้เริ่มต้นจากที่ไหน ระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายโครงการพระราชดำริที่บอกว่าทรงพระราชทานมา
การกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าวเริ่มเป็นแผนในระดับประเทศในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 สาเหตุที่บรรจุไว้ในแผนคือ เมื่อบรรจุแล้วจะต้องมีการทำกิจกรรมอย่างสอดคล้องกับแผนหลักและหมายถึงการหนุนเสริมด้านงบประมาณด้วย
เมื่อหันมาพิจารณาการพัฒนาของรัฐต่อ จะเห็นว่ารัฐจะทำในลักษณะแยกส่วน ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นปัญหาของระบบราชการ รัฐขาดการประสานงานเป็นระบบ และไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพัฒนากลับทำให้มวลชนยิ่งไปเป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์
แต่โครงการพระราชดำริมีลักษณะวิพากษ์การพัฒนาของรัฐโดยไม่ได้ละทิ้งรัฐ ทั้งนี้โครงการพระราชดำริมีความสามารถพิเศษในการประสานงานกับราชการทุกหน่วยงานได้ ภายใต้พระบารมี ทำให้หน่วยงานข้าราชการทุกหน่วยสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาไปที่กลุ่มเป้าหมายเดียวกับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ช่วงชิงมวลชน
ลักษณะสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคง จุดเริ่มต้นคือการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างกองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ให้เรียบร้อย จากนั้นจะสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์คือถนนสู่ขุมกำลังนั้น ตามมาด้วยการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามสองข้างทางในพื้นที่โดยคัดเลือกราษฎรอาสา เช่น ทหาร ชาวบ้านที่ออกรบ หรือทหารกองหนุนที่ยังไม่มีที่ทำกินเข้าไปตั้งถิ่นฐานก่อน โดยทางการจะมาดูแลที่อาศัยและสาธารณูปโภค หลังดูแลเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งมอบพื้นที่จัดตั้งให้ฝ่ายปกครองบริหารตามปกติ
ปัญญาชนในยุคนี้ ได้แก่ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย ดูแลโครงการสวนจิตรทั้งหมดจากเป็นที่รกร้างเต็มไปด้วยงู ก็กลายเป็นอย่างปัจจุบัน
อีกท่านได้แก่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้อำนวยการโครงการหลวง เป็นผู้บุกเบิกสร้างสายสัมพันธ์กับชาวเขา เป็นผู้กำหนดเส้นทางเสด็จว่า มาแล้วต้องพบกับใครเผ่าไหน คือเป็นตัวเชื่อมผสาน นอกจากนี้โครงการหลวงในยุคนั้นได้รับเงินหนุนมากมายจากต่างประเทศ และได้รับเงินสนับสนุนมาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้โครงการหลวงเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ประสานกับหน่วยงานรัฐให้มาปราบ
นอกจากนี้ก็มี หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ผู้แทนพระองค์ภาคใต้ยุคคอมมิวนิสต์ ด้วย
3
“การเกิด กปร.เป็นภาพสะท้อนสำคัญในการสถาปนาอำนาจนำในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับภาครัฐภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานในระบบราชการ เป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างในหลวงกับหน่วยงานราชการที่ชัดเจน”
ยุคต่อมาคือ พ.ศ. 2524-2530 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างของโครงการพระราชดำริ ตั้งชื่อว่า การสถาปนาพระราชอำนาจนำยุคกำเนิดองค์กรประสานงาน : การชี้นำรัฐราชการ
องค์กรประสานงานที่สำคัญคือ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ (กปร.) การสถาปนาพระราชอำนาจนำในยุคนี้ เป็นยุคปลายการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ส่วนสายสัมพันธ์ก็แนบแน่นกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้แทนพระองค์ด้วย
ลักษณะสำคัญคือการพัฒนาที่ประสานกับแผนของรัฐที่ปรับให้มีการพัฒนาไปสู่ชนบท ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงต่อเนื่องมาจากช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับก่อน ในยุคนี้การพัฒนาดังกล่าวกลายมาเป็นแผนหลักในการพัฒนายุทธศาสตร์ให้เคลื่อนไปสู่ชนบท นอกจากนี้ก็เกิดการเติบโตของขบวนการเอ็นจีโอหรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมโดยชนชั้นกลางตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา
แผนพัฒนายุคนี้เป็นการประสานเข้ากับแผนการปราบคอมมิวนิสต์เหมือนยุคก่อน แต่ที่สำคัญคือ การเกิดคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่ในการประสานระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆ และกำหนดงบประมาณเฉพาะให้แก่โครงการพระราชดำริใน พ.ศ.2524 หรือที่เรียกว่า กปร.
การเกิด กปร. เป็นภาพสะท้อนสำคัญในการสถาปนาอำนาจนำในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับภาครัฐภายใต้โครงสร้างการดำเนินงานในระบบราชการ เป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างในหลวงกับหน่วยงานราชการที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อทรงเสด็จแล้วก็จะพระราชทานพระราชดำริ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต่างคนต่างทำ จึงได้รับเสียงสะท้อนมาว่า ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง หลังจากเกิด กปร.ก็แก้ไขปัญหานี้ได้
หน่วยงาน กปร. มีโครงสร้างสำคัญที่หลีกเลี่ยงข้อจำกัดในด้านระเบียบราชการและ ความล่าช้าด้านการดำเนินงบประมาณของราชการ สามารถจัดสรรงบประมาณพิเศษที่อัดฉีดเฉพาะในแต่ละปี ทำให้เมื่อมีพระราชดำริในโครงการไหน หน่วยงานราชการสามารถทำแผนมาและส่งไปยัง กปร. กปร.ก็จะสามารถนำงบไปให้หน่วยงานนั้นดำเนินการได้อย่างทันที จากนั้นในปีถัดไป หลังจากที่โครงการเข้าสู่หน่วยงานนั้นแล้วก็ให้หน่วยงานราชการนั้นเอาเงินงบประมาณของหน่วยงานนั้นมาจัดทำโครงการนั้นเอง เป็นการลดขั้นตอน
โครงสร้างการบริหารโครงการพระราชดำริจะเห็นว่า เลียนแบบโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล แต่เป็นลักษณะรวมศูนย์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบไปด้วยปลัดกระทรวง และทหาร อันเป็นโครงสร้างหลักของการดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาอยู่แล้ว
แต่มีลักษณะพิเศษคือ การมีตัวแทนของสำนักพระราชวัง และตัวแทนจาก กปร. มาทำหน้าที่ในการกำกับกิจกรรมการพัฒนาให้เชื่อมผสานกับในหลวง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ดังนั้น โครงการที่ผ่านมาทุกครั้งต้องให้ กปร.เป็นผู้ตรวจสอบก่อน จากนั้น กปร.จะเสนอถวายให้ทรงมีพระราชดำริวินิจฉัย ถ้าทรงเห็นด้วยจึงจะทรงลงนามอนุมัติให้ดำเนินการ
ยิ่งกว่านั้นโครงสร้างการบริหารของโครงการพระราชดำริยังมีลักษณะเบ็ดเสร็จในเรื่องงบประมาณด้วยเนื่องจากมีผู้อำนวยการของสำนักงบประมาณทำหน้าที่อนุมัติงบประมาณได้เลย หมายความว่า ถ้าเสนอมาแล้วก็เบ็ดเสร็จในคณะกรรมการชุดนี้เลย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกระทรวงทบวง กรม
ส่วนกิจกรรมในโครงการพระราชดำริจะประกอบไปด้วย การเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณะสุข ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม สถิติตั้งแต่ พ.ศ. 2525-2544 พบว่า 56.40 % เป็นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ จึงทำให้กรมชลประทานโตมาก สังเกตได้ว่า อธิบดีกรมชลประธาน หลังหมดวาระก็มักจะไปเป็นที่ปรึกษาใน กปร. องคมนตรี หรือผู้ดูแลโครงการพระราชดำริต่อ และมีเรื่องเล่ากันมาว่า ถ้าอยากจะอนุมัติโครงการอะไรโดยไม่ให้ชาวบ้านต่อต้าน ก็ให้เสนอในนามของโครงการพระราชดำริจะลดกระแสได้
งบประมาณที่ได้รับเพียงงบอัดฉีดที่สามารถทำให้โครงการดำเนินการได้เลย คือประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่สำคัญคือ หลังจากนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องเอางบประมาณของหน่วยงานตัวเองมาจัดการโครงการต่อ ข้าราชการบางคนบอกว่า โครงการที่เดินอยู่ตอนนี้เป็นโครงการพระราชดำริเกิน 80%
สำหรับปัญญาชนที่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริภายใต้ กปร.ได้แก่ ปัญญาชนในองค์กรส่วนพระองค์ เช่น องคมนตรี สำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง เพราะพระองค์ไม่ได้ไปตรวจตราเช่นเดิม ทำให้องคมนตรีเป็นบทบาทหลักในการไปตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริต่างๆ
นอกจากนี้ก็มีปัญญาชนในหน่วยงานราชการ กองทัพ และจาก กปร. ซึ่งแยกส่วนมาจากสภาพัฒน์ โดยยกกองพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ทำงานอยู่ในขณะนั้นมาทั้งกอง โดยระบุว่าเมื่อโครงการต่างๆ มีการประสานกันมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานนี้ก็รับสนองมากขึ้นจนมันโตเกินสภาพัฒน์ จึงมาตั้งเป็นกองต่างหาก ข้อมูลนี้มาจาก ดร.สุเมธเอง
นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มปัญญาชนเกษตรกรท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เอาอุดมการณ์การพัฒนามาเผยแพร่หรือปฏิบัติในชีวิตจริง เกิดเป็นตัวแบบของเกษตรกรและเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
กล่าวเฉพาะ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จะเห็นบ่อยๆ ว่า มักมีเทปอัด จด เพื่อแปลตัวโครงการให้ตรงพระราชประสงค์มากที่สุด เป็นปัญญาชนคนสำคัญในการทำให้โครงการพระราชดำริมีหน้าตาแบบปัจจุบัน ซึ่งพยายามแสวงหากลไกที่ไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องกลไกข้าราชการและสำคัญในการเชื่อมประสานระหว่างกลุ่มมากมาย
ปัจจุบัน ดร.สุเมธ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และควบคูไปกับตำแหน่งเลขาธิการ กปร. ในระหว่างนี้ก็เป็นที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนให้กับสภาความมั่นคงในบุคคลเดียวกัน
นอกจากนี้ยังเป็นปัญญาชนที่เชื่อมโยงกลุ่มทางสังคมที่หลากหลาย เริ่มจากบทบาทในฐานะปัญญาชนเทคโนแครต ทั้งโครงสร้างขององค์กรรัฐด้านการกำหนดแผนพัฒนาซึ่งส่งผลสำคัญในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นปัญญาชนในโครงการพระราชดำริและอยู่ในฝ่ายความมั่นคง
บทบาทพิเศษที่สำคัญหาได้ยากคือเป็นปัญญาชนที่เชื่อมต่อโดยตรงกับในหลวงโดยตรง อีกทั้งมีบทบาทสำคัญคือเป็นปัญญาชนที่ทำหน้าที่ทำให้การพัฒนากลายเป็นทฤษฎี นอกจากนี้ยังเผยแพร่อุดมการณ์แห่งการพัฒนาด้วย กล่าวคือ ดร.สุเมธ มีงานเขียนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นการยกระดับปฏิบัติการพัฒนาการของโครงการพระราชดำริให้มาเชื่อมกับแนวคิดทฤษฎีทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ และในด้านพัฒนา
โดยเขาจะเขียนบทความสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาของโครงการพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด และเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มีการบรรยายพิเศษกว่า 500 ครั้งใน 1 ปี จึงเป็นผู้เผยแพร่ที่สำคัญ
ส่วนอุดมการณ์การพัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับราษฎรจริงๆได้อย่างไรนั้น จะมีกระบวนการสร้างกลุ่มทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่างปัญญาชนกับมวลชนผ่านโครงการพระราชดำริผ่านองค์กรที่เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ตั้งกระจายตามภูมิภาคต่างๆ
ภายในศูนย์ศึกษาฯนี้จะประกอบไปด้วยหน่วยงานข้าราชการต่างๆรวมกันอยู่ เช่น กระทรวงเกษตร กรมประมง ตัวแทนสถาบันการศึกษา พูดง่ายๆ คือการจำลองโครงสร้างทั้งหมดไปสู่ท้องถิ่น
บทบาทที่สำคัญของศูนย์ศึกษาฯ คือเป็นแหล่งทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและปัจจัยการผลิต ขับเคลื่อนอุดมการณ์การพัฒนาไปสู่เกษตรกร มีการฝึกอบรมโดยให้ชาวบ้านส่งตัวแทนหมุนเวียนกันมาอบรมเพื่อให้มีเวลาทำมาหากิน หลังการอบรมจะมีการสนับสนุนบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล หรือให้ปัจจัยการผลิตเช่น ให้ต้นไม้มาปลูก ให้ไก่มาเลี้ยง บอกวิธีเลี้ยง เป็นต้น
4
“พระมหากษัตริย์และสถาบัน
ดำรงบทบาทในสถานสูงสุดในยุคนี้
ทั้งทางสังคม การเมือง และมิติด้านอุดมการณ์
การดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาในยุคนี้
จึงเติบโตขึ้นภายใต้อุดมการณ์ที่กษัตริย์นิยมหยั่งรากลึก
โดยปราศจากการท้าชิงอำนาจนำในทางอุดมการณ์
ทั้งในระดับสากล และในระดับประเทศ”
ยุคสุดท้ายคือการสถาปนาพระราชอำนาจนำ กำเนิด ‘องค์กรเอกชน’ 2531-ปัจจุบัน เกิดมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในเรื่องการสนองตอบการดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ เพราะภายใต้ระบบราชการที่มีกฎเกณฑ์ขั้นตอนทำให้ดำเนินการล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์
มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อพัฒนาการโครงการพระราชดำริและการนิยามความหมายขององค์การเอกชนด้านการพัฒนาในสังคมไทยด้วย ซึ่งแต่เดิม เราจะมององค์กรพัฒนาเอกชนจำกัดอยู่เฉพาะแต่ชนชั้นกลาง แต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกิดขึ้นโดยสถาบันกษัตริย์ มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนเอ็นจีโอที่ดำเนินการโดยชนชั้นกลาง การเกิดขึ้นของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของบทบาทกษัตริย์นักพัฒนาและการครองอำนาจนำของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ทั้งในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทย
ยุคนี้มีบริบทสำคัญคือการล่มสลายของประเทศสังคมนิยม ส่วนในประเทศไทยมีการล่มของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการล่มสลายของอุดการณ์ทางการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน
พระมหากษัตริย์และสถาบันจึงดำรงบทบาทในสถานสูงสุดในยุคนี้ ทั้งทางสังคม การเมือง และมิติด้านอุดมการณ์ การดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาในยุคนี้จึงเติบโตขึ้นภายใต้อุดมการณ์ที่กษัตริย์นิยมหยั่งรากลึกโดยปราศจากการท้าชิงอำนาจนำในทางอุดมการณ์ทั้งในระดับสากล และในระดับประเทศ
ลักษณะที่สำคัญในยุคนี้คือ มีการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอ็นจีโอในกระบวนการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 คือ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการระดมความร่วมมือระหว่างเอ็นจีโอกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือกัน แต่เอ็นจีโอจะบอกอีกเวอร์ชั่นหนึ่งว่า เราเริ่มทำให้รัฐเข้ามาเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่เราได้หยั่งรากตั้งแต่วัฒนธรรมชุมชน แต่เอาเป็นว่าโดยสรุป มีการประสานกันและมีการเสนออุดมการณ์ที่เรียกว่า ประชารัฐ คือประชาชนร่วมมือกับรัฐ และอุดมการณ์บวร ที่มาจากคำว่า บ้าน วัด ราชการ
ทว่าเอ็นจีโอกับองค์กรเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกัน ดังที่กล่าวแล้วว่า เอ็นจีโอเติบโตขึ้นใน ทศวรรษ 2520 ดำเนินกิจกรรมโดยชนชั้นกลาง และเป็นองค์กรที่พัฒนาในแนววัฒนธรรมชุมชน เน้นการพัฒนาที่มีรากฐานชุมชนเป็นหลัก ส่วนใหญ่เอ็นจีโอจะมีภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อสังคมและรัฐบาล เช่น รับเงินต่างชาติ และมักไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน
ส่วนมูลนิธิชัยพัฒนามีลักษณะสำคัญคือ สามารถดำเนินกิจกรรมที่ประสานและสนับสนุนการพัฒนาของรัฐโดยการระดมทุนจากเอกชน ดร.สุเมธ บอกว่า ไม่เคยมีปัญหาเรื่องงบประมาณเลย เพราะประชาชนหลั่งไหลกันบริจาค ปัญหาไม่ใช่เงิน แต่ปัญหาคือการบริหารจัดการเงินให้มีระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถขยายตัวกิจกรรมไปให้มากมาย
ซึ่งนอกจากมีความสามารถในเรื่องระดมทุนแล้วยังมีงบประมาณของรัฐผ่าน กปร. ด้วย ทำให้โครงการพระราชดำริสามารถถูกสนองอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และก็โตมากกว่าสามพันโครงการ อีกทั้งได้รับความศรัทธาจากราษฎร ภาคเอกชนและรัฐบาล มีการถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลและให้มูลนิธิชัยพัฒนาเยอะมาก และไม่มีข้อจำกัดเหมือนหน่วยงานภาครัฐ เพราะเป็นเอ็นจีโอแล้ว นอกจากนี้เวลางบประมาณไม่ทันสถานการณ์ สามารถเอาเงินไปให้รัฐบาลยืมได้ด้วย
ส่วนการสถาปนาอำนาจนำ เริ่มมีการประสานมิติทางด้านอุดมการณ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง กับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งโดยเนื้อแท้จริงๆ มันไม่เหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจพอเพียงมีบริบทเฉพาะ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีนัยยะทางการเมือง หรืออะไรอีกหลายอย่าง เพียงแต่มีลักษณะที่ประสานกันบางด้านและทุกคนต่างยอมรับว่านี่คือเศรษฐกิจพอเพียง
อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงเกิดหลังจากการที่ทรงมีพระราชดำรัสในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 จากนั้นก็ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางและถูกผลักดันสู่ยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9
ทำให้มีการสนับสนุนโดยสภาพัฒน์ หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ปัญญาชนและเอ็นจีโอซึ่งมันเกิดการปะทะประสานของอุดมการณ์การพัฒนาของกษัตริย์หรือเศรษฐกิจพอเพียงนี้กับกลุ่มปัญญาชนเอ็นจีโอที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2520
ประเด็นสำคัญคือมีการแพร่กระจายและการเชื่อมประสานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกับวัฒนธรรมชุมชน ผ่านเครือข่ายของปัญญาชนในสังคมที่เคยเสนออุดมการณ์วัฒนธรรมชุมชนมาก่อนโดยทำหน้าที่ตีความเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับแนวความคิดที่ตัวเอง
คนแรกคือ นายแพทย์ประเวศ วะสี เช่น มีแนวคิดเรื่องพลังแผ่นดินกับประชารัฐ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สนับสนุนเอ็นจีโอ โดยมีในหลวงเป็นศูนย์กลาง
หรือเสน่ห์ จามริก ก็พูดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน อภิชัย พันธเสน พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาก็พูดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำให้มีการตีความเชื่อมโยงกันจึงไม่มีความแตกต่างกันเรื่องแนวคิดการพัฒนาอีกต่อไป
ส่วนขั้นตอนการเผยแพร่อุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงคือ หลังจากที่มีพระราชดำรัสแล้ว ศูนย์ศึกษาฯ จะรับแนวพระราชดำริมาปฏิบัติการ เกิดการก่อตั้งคณะทำงานโครงการทฤษฎีใหม่ มีการคัดเลือกราษฎรมาฝึกอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ หลังอบรม 3วัน โดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์เป็นผู้ให้การอบรม พอเกษตรกรได้รับการอบรมแล้วก็ให้เสนอโครงการว่า ที่ดินมีเท่าไหร่ อยากได้รับการสนับสนุนอย่างไร แบ่งที่ดินอย่างไร ให้ขุดสระให้ตรงไหน อยากได้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์อะไร โดยศูนย์ศึกษาฯจะให้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้ หลักจากที่มีคณะกรรมการลงไปประเมินว่า เกษตรกรมีศักยภาพหรือไม่
อย่างไรก็ตามการสนับสนุนดังกล่าวไม่ให้แรงงานมาด้วย เกษตรกรจึงต้องปรับที่ดินและดำเนินกิจกรรมการผลิตเองทั้งหมด ปัญหาที่ตามมาคือ เกษตรกรบอกว่าเหนื่อยมาก บางคนเข้าโครงการตอนอายุยังไม่เยอะ พออายุเยอะขึ้นก็ทำไม่ไหว เพราะกิจกรรมเยอะมากตั้งแต่เช้าจดเย็น ในช่วงที่แปลงที่ดินก็ไปทำมาหากินอื่นไม่ได้ต้องเสียรายได้ไป เพราะความจริงชาวบ้านไม่ได้ทำงานอย่างเดียว อาจมีการรับจ้างอื่นๆ ด้วย
ที่มา : ประชาไท : ‘เอ็นจีโอเจ้า’ การเกิดและเติบโตในบริบทการเมืองตลอดช่วง 60 ปี
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551
การสถาปนาพระราชอำนาจจากโครงการในพระราชดำริ : ‘เอ็นจีโอเจ้า’ การเกิดและเติบโตในบริบทการเมืองตลอดช่วง 60 ปี
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:05 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น