วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

วาทกรรม 11 สิงหาเมื่อสังคมไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ : เพียงลมปากหรือเรื่องจริง



คุณคิดว่าอย่างไร ประวัติศาสตร์ "แบบใด"
ที่ไม่ค่อยมีคนสอน


คืนวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ผมและเพื่อนพ้องเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวชมและสำรวจแหล่งโบราณคดีทางภาคเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์โดยเฉพาะอำเภอลับแล เมื่อกลับมาถึงบ้านพักก็เจอเข้ากับวาทกรรมอันทำให้เกิดความสงสัยงงงวยในหลายประเด็นทีเดียว อดรนทนมิได้จึงใคร่เขียนบทความสั้นๆนี้ขึ้นมาเพื่อไต่ถามความเห็นของเพื่อนพ้องน้องพี่


ประโยคสั้นๆตอนท้ายปลายความของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่กล่าวถึงว่า เมืองไทย "ทำไม" ไม่มีการเรียนประวัติศาสตร์ และที่สำคัญนั้นเน้นไปที่ประวัติศาสตร์เพื่อหาตัว "คนที่ปกป้องประเทศ(ตามแบบประเพณี?)" กับ "ประวัติศาสตร์ชาติ" ความตอนนี้นับเป็นวาทกรรมครั้งล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ผมซึ่งเป็นผู้ที่อยู่กับวงการประวัติศาสตร์มาโดยตลอดเริ่มงุนงง และสับสนในการรับรู้อย่างยิ่ง ผมไม่ทราบว่าเรา "ไม่มี" การเรียนการสอนประวัติศาสตร์กันตั้งแต่เมื่อไร ในเมื่อผมก็จบปริญญาโททางประวัติศาสตร์มา ซึ่งแน่นอนว่าหากพูดถึงประวัติศาสตร์ในบริบทของประวัติศาสตร์อย่างที่ ชนชั้นปกครอง ในระบบเก่าอยากให้เห็นให้เป้นไปนั้นแน่นอนว่ามันอาจมีน้อย หรือไม่มีแล้วก็ได้


ถ้าอ้างอิงตามที่กล่าวมาดังนี้ นี่คือความต้องการให้ฟื้นฟูการเรียนประวัติศาสตร์แบบพระราชนิยม หรือพระราชพงศาวดาร ใช่หรือไม่ ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีเลือดสีน้ำเงินว่าเป็นผู้ปกป้องสังคม ปกป้องแผ่นดิน โดยการมี "กฤษดาภินิหาร" มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆเสียหมดสิ้น

ประวัติศาสตร์แบบนี้ ปฏิเสธการมีบทบาททางสังคมและการดำรงคงอยู่ของไพร่ราบพลเลว ที่ถูกเกณฑ์ไปรบเพื่อปกป้อง "พระราชอาณาเขต" ในเกม "พระราชกรีธา" โดยใช้แนวคิดชาตินิยมแบบ nationalism by monarchy absolutis เข้ามาจับ ในขณะที่ modernform ของประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไปทาง Socialist and republic state มากขึ้น คือให้ความสำคัญกับรัฐประชาราษฎร์และบริบททางสังคมของชนชั้นล่างในการขับเคลื่อนพลวัตรของประเทศมากกว่า


การศึกษาแบบใหม่นี้คือการให้ภาพของ "ไพร่"มีบทบาทมากขึ้นและปฏิเสธเรื่องราวของ "กฤษดาภินิหาร" อันไม่มีข้อบกพร่องให้กลายเป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้นทางสังคมและชี้นำให้เห็นถึงความลักลั่นในการใช้ไพร่เพื่อรักษา "พระราชอาณาเขต" ไปกับเกมพระราชกรีฑาระหว่างรัฐ( state to state เพราะรัฐในความหมายสมัยใหม่นั้นเพิ่งเกิดไม่นาน) และทำให้ควาจริงนั้นกระจ่างว่า เพราะวิญญาณและเลือดเนื้อของไพร่ต่างหากคือสิ่งที่เป็นต้นทุนของการเกิด
"กฤษดาภินิหาร" ของชนชั้นปกครอง


อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของไพร่ระดับล่างในสังคมไทยหากมองจากบริบทของประวัติศาสตร์ตรงนี้ก้ย่อมทำให้ชนชั้นปกครองที่เคยคุ้นกับการเรียนการสอน "พระราชพงศาวดาร" มากกว่า "ประวัติศาสตร์ของราษฎร์" รู้สึกสะทกสะท้อนเป็นอย่างยิ่งเมื่อความสำคัญของตนองในฐานะผู้สร้างและผู้ปกป้องจะค่อยๆเสื่อมคลายลงไป

แต่ในทางกลับกันหากมีประวัติศาสตร์แนวนี้ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ กลุ่มบุคคลที่กล่าวว่า "ไม่มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์" กลับจะกลายเป็นผู้ที่ออกมาทำลายระบบการเรียนรู้นั้นเอง จะด้วยตนเองหรือบริวารก็ตามทีโดยวิธีการง่ายๆสองประเด็นคือ


1.

หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

2.

ทำให้เป็นเอกสารต้องห้าม


ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ พ.ศ. 2178ในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่มีการเผาทิ้งตำราไสยศาสตร์ขนานใหญ่ ซึ่งแม้ไม่ต้องย้อนไปไกลถึงช่วงนั้น ปรากฏการณ์การห้ามมีส่วนร่วมทางสังคมและการห้ามตั้งข้อสงสัยหรือถกเถียงแก่ผู้มีอำนาจในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีอยู่มิใช่น้อยโดยอาจสรุปได้ดังนี้

1.นายโหมด อมาตยกุล พิมพ์หนังสือกฏหมายไทย ระหว่างปี 2390 -2393 และโดนรัชกาลที่ 3 สั่งริบ เพราะเกรงว่าความรู้ทางกฏหมายจะสร้างความวุ่นวายแก่สังคมหาก "ไพร่"ใต้ปกครองเกิดรับรู้ข้อมูล

2.นายทิม สุขยางค์ เขียน นิราศหนองคาย (2411) พาดพิงถึงสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ผุ้ซึ่งมีอำนาจครอบงำเหนือราชบัลลังค์ในขณะนั้น ส่งผลให้โดนเฆี่ยนและจำตรุ 8 เดือน รวมถึงทำลายหนังสือด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป้นเงื่อนงำไม่แพ้คดีพระปรีชากลการ สามีของนางแฟนนี น๊อกซ์ บุตรสาวของกงศุล Knox กงศุลอังกฤษประจำประเทศไทย

3.เทียนวรรณ และ กศร.กุหลาบ ที่โดนพิษจากความคิดที่
"ก้าวหน้า"เกินไปจนคนหนึ่งต้องติดคุกลืมและอีกคนหนึ่งโดน "ใส่ไคล้" โดยพระราชวิจารณ์ว่า เป็น "บ้า"

4.จิตร ภูมิศักดิ์ และนักเขียนร่วมสมัยอีกหลายคน เช่น สุวัฒน์ วรดิลก,กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่โดนพิษ "ก้าวหน้าล้าหลัง" เล่นงาน

(ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก บทความเรื่องหนังสือต้องห้าม : ความรู้ที่ถูกจองจำ ของธนาพล อิ๋วสกุล ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2549)


จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในอดีต หรือในปัจจุบัน การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไม่เคยขาดตอน แม้จะโดน "ตัดตอน" จนต้องสอนกันใน "ที่ลับ" ก็ยังคงมีการสืบสานองค์ความรู้มาโดยมิได้ขาดช่วงไป หากการกล่าวว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไทยนั้นไม่มีแล้ว ย่อมเป็นเรื่องของ วาทกรรมอำนาจที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงอย่างมากที่สุดเว้นเสียจากผู้ที่สร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมาจะไม่เข้าใจในสายสนกลนัยของ sheet note ที่ตระเตรียมไว้

หรือมิเช่นนั้นก็คงหมายถึงว่า "ประวัติศาสตร์ชาตินิยม"
กำลังจะเสื่อมหายไป เช่นนั้นก็สมเหตุสมผล



ดับแสงเดือน

(แสงจันทร์สูญสลาย)


ที่มา : บอร์ดฟ้าเดียวกัน : วาทกรรม 11 สิงหาเมื่อสังคมไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ : เพียงลมปากหรือเรื่องจริง, คุณคิดว่าอย่างไร ประวัติศาสตร์ "แบบใด" ที่ไม่ค่อยมีคนสอน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: