วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน


สัมภาษณ์โดย :
กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน : 10 มกราคม 2551

จาก ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2551 ฉบับ “ขวาไทย”



ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 หัวข้อย่อยจำนวนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการครั้งนั้นเกี่ยวพันแวดล้อมเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไล่เรียงตั้งแต่ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หนังสือต้องห้าม ไปจนถึงเศรษฐกิจพอเพียง

ในโอกาสนั้นเอง ฟ้าเดียวกัน ได้นัดหมายกับแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ (Andrew Walker) นักมานุษยวิทยาผู้หนึ่งจาก Research School of Pacific and Asian Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) หลังจากเขาจบการนำเสนอผลงานชิ้นใหม่เรื่อง
“Royal Sufficiency and Elite Misrepresentation of Rural Livelihoods” ซึ่งในงานชิ้นดังกล่าว วอล์กเกอร์ได้ท้าทายวิธีคิดและการนำเสนอภาพชนบทของชนชั้นนำไทยผ่านการวิพากษ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังชวนให้เรามองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง

วอล์กเกอร์เริ่มเข้ามาศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคนี้ตั้งแต่ปี 2536 เพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยความเชื่อมโยงของการค้าข้ามชายแดนระหว่างภาคเหนือของไทย ภาคเหนือของลาว และภาคใต้ของจีน จากนั้นเขาได้ผลิตงานวิชาการออกมาหลายชิ้นต่อเนื่องเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท การจัดการทรัพยากร และความทันสมัยในภาคเหนือของไทย ปัจจุบันวอล์กเกอร์ยังเป็นผู้ร่วมสร้างเว็บบล็อก New Mandala ที่นำเสนอการวิเคราะห์และมุมมองใหม่ต่อภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างโดดเด่น

ล่าสุดวอล์กเกอร์เพิ่งเสร็จสิ้นการวิจัยภาคสนามที่ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ผลจากการศึกษานั้น ส่วนหนึ่งก็คือบทวิเคราะห์ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เขานำเสนอในที่ประชุมไทยศึกษาฯ และอีกส่วนหนึ่งคือบทความที่ชื่อ “The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Contemporary Asia เมื่อต้นปีนี้ ในงานชิ้นหลังนี้ เขาพยายามศึกษาการเมืองในชีวิตประจำวันในหมู่บ้าน วัฒนธรรมการเลือกตั้งของท้องถิ่น ระบบคุณค่าทางการเมืองของชาวบ้าน ก่อนที่จะนำเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน” เพื่อตอบโต้ทัศนคติเดิมๆ ที่เห็นว่าชาวบ้านชนบทไทยขาดคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ด้วยเป็นผู้ขาดการศึกษา โลกทัศน์คับแคบ ขาดการพัฒนาตนเอง ถูกครอบงำล่อหลอกง่าย ไปจนถึงชอบขายเสียง

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่าง ฟ้าเดียวกัน กับแอนดรูว์ วอล์กเกอร์

ในเวลาประมาณเพียง 1 ชั่วโมง เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่เรื่องรากปัญหาของเศรษฐกิจพอเพียงความไม่เป็นประชาธิปไตย เนื้อแท้และผลกระทบของเศรษฐกิจพอเพียง ไปจนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับประชาธิปไตยพอเพียง รัฐประหาร 19 กันยา และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก่อนจะจบด้วยรัฐธรรมนูญชาวบ้าน มุมมองใหม่ต่อวัฒนธรรมการเมืองในชนบทไทย การเลือกตั้งครั้งหลังสุด พร้อมข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อปัญญาชนกระแสรอง

*
ขอขอบคุณ คุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
ผู้แปลบทสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย

0 0 0


ฟ้าเดียวกัน: จากการศึกษาของคุณ เศรษฐกิจพอเพียงมีปัญหาอย่างไร ทั้งในเชิงปรัชญาและการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชนบท


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เราสามารถพูดได้ว่าชนชั้นนำไม่ได้พยายามแสดงภาพที่แท้จริงของสังคมชนบท โดยเฉพาะเวลาพูดถึงเกษตรทฤษฎีใหม่มันอิงอยู่กับทัศนะที่ว่าเกษตรกรรมมีศักยภาพที่จะเป็นฐานรองรับความเป็นอยู่อย่างพอเพียงของท้องถิ่นได้ นั่นเป็นประเด็นหลักที่งานของผมพยายามจะท้าทาย ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าเกษตรกรรมมีศักยภาพที่จะเป็นฐานรองรับความพอเพียงของท้องถิ่นได้ พูดง่ายๆ คือว่าทรัพยากรทางการเกษตรมีไม่เพียงพอสำหรับรองรับวิถีชีวิตที่คนในชนบทต้องการ อาจจะมีเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานแบบพอยังชีพเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตที่คนชนบทสนใจ พวกเขาต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา ต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัย อยากดูโทรทัศน์ อยากมีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ฯลฯ เราเห็นเศรษฐกิจที่หลากหลายในพื้นที่ชนบท เพื่อรองรับความคาดหวังต่างๆ ในวิถีชีวิต ชาวบ้านในชนบทไม่สามารถที่จะพึ่งพาแต่เกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวได้

ปัญหาหลักๆ ของเศรษฐกิจพอเพียงคือมันไม่ยอมรับความต้องการของคนเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงบอกให้คนอย่าอยากได้โทรทัศน์ คุณไม่ควรอยากที่จะส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย คุณควรจะพึงพอใจกับชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ผมว่านี่คือสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยพื้นฐานในเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ยอมรับความต้องการของผู้คน และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกโกรธเล็กน้อยก็คือปรัชญานี้ถูกโฆษณาส่งเสริมโดยคนที่ร่ำรวยมหาศาล มันไม่เข้าท่าผมว่าเป็นเรื่องดัดจริต


ฟ้าเดียวกัน: คุณพยายามนำข้อมูลจากการวิจัยภาคสนามมาบอกว่าเศรษฐกิจที่เป็นจริงของชนบทไทยเข้ากันไม่ได้กับภาพเศรษฐกิจชนบทตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการนำเสนอภาพชนบทไทยของชนชั้นนำ (Elite representation) นั้นผิดเพี้ยนไปอย่างไร ปัญหาคือโดยทั่วไปคนไทยก็ไม่ได้เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่นำเสนอภาพชนบทไทยที่แท้จริงอยู่แล้ว แต่เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนกลับไปใช้วิถีชีวิตที่เหมาะสมดีงามมากกว่า ถ้ามองในแง่นี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีปัญหายังไง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประเด็นสำคัญคือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิธีคิดแบบกำกับควบคุม มันเป็นการควบคุมพฤติกรรมคน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้บอกว่าชีวิตชนบทจริงๆ เป็นอย่างไร ทว่ามันเป็นระบบกำกับควบคุมทางศีลธรรมว่าคนควรจะใช้ชีวิตอย่างไร และมีทัศนะเชิงลบต่อพฤติกรรมที่เป็นอยู่ คือบอกเป็นนัยว่าคนโลภมากเกินไปหรือเสี่ยงมากเกินไป

ผมคิดว่ามีแนวโน้มทางกระแสความคิดในบางแง่มุมของวิธีคิดแบบไทยที่เกี่ยวกับความชอบธรรมเชิงศีลธรรมของวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ซึ่งคุณมองเห็นได้ในเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนทั้งหลายว่า มันมีชุดของศีลธรรมที่ชอบธรรมและแท้จริงอยู่ในวิถีชีวิตชนบท นี่เป็นแนวโน้มทางกระแสคิดในวัฒนธรรมและสังคมไทย แต่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะไปจนถึงขั้นที่จะบอกให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองไปทำไร่ไถนา ผมเห็นความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะ ในแง่การลดแรงกดดันต่อรัฐบาลในการเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐในพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น การพัฒนาโอกาสทางการศึกษา การสร้างและขยายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เศรษฐกิจพอเพียงอาจถูกใช้เพื่อลดแรงกดดันของรัฐในการบริการประชาชน งบประมาณสำหรับการพัฒนาชนบทอาจจะถูกลดหรือตัดออกไปด้วยทัศนะที่ว่าประชาชนควรพึ่งตัวเอง เป็นต้น ผมคิดว่ามันมีนัยสำคัญในการลดภาระของรัฐบาล

ที่ผ่านมามีการหยิบยกเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในทางการเมืองด้วย เศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้ในการโจมตีรัฐบาลทักษิณ โครงการต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ถูกโจมตีว่าเป็นด้านตรงข้ามของเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือสิ่งที่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ โจมตีตลอดโดยอ้างเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: ชนชั้นกลางโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะตอบรับแนวคิดส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม คุณเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการยกย่องเชิดชูศีลธรรมของชนชั้นกลางกับการกำกับควบคุมศีลธรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้างไหม


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำเป็นที่จะต้องมีสำนึกประเภทที่ว่าเรามีวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมชนิดที่เป็นของแท้ดั้งเดิมอยู่จริงๆ พวกเขาต้องการไปห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน นั่งรถไฟฟ้าขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการปลอบใจตัวเองว่าวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมขนานแท้นั้นมีอยู่ที่ไหนสักแห่ง พวกเขาจึงโยนไปที่ชนบท

ในแง่หนึ่งพวกเขาต้องการโยนภาระทางศีลธรรมไปไว้กับชนบทไทย เพื่อพวกเขาจะดำเนินชีวิตบริโภคนิยมต่อไปได้ มีการวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลทักษิณว่าสนับสนุนให้ชาวบ้านเป็นหนี้ แต่แทบไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หนี้บัตรเครดิตในกรุงเทพฯ เลยคนกรุงเทพฯ จับจ่ายใช้สอยจนเต็มวงเงินบัตรเครดิต แต่กลับพูดกันแต่เรื่องชาวนาซื้อโทรศัพท์มือถือ พวกเขาโยนแรงกดดันด้านศีลธรรมนี้ไปให้ชาวบ้าน

เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน มีความพยายามที่จะทำลายความชอบธรรมของอำนาจการเลือกตั้งของชนบทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระทำผ่านวาทกรรมการซื้อเสียง สำหรับผม นี่คือสิ่งที่เชื่อมระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับประชาธิปไตยพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงบอกว่าชาวบ้านทำคุณค่าแบบจารีตหล่นหายไปแล้ว ประชาธิปไตยพอเพียงบอกว่าชาวบ้านไม่ควรมีส่วนร่วมในระบบการเมืองระดับประเทศมากนักหรอก เพราะเวลามีส่วนร่วมก็เอาแต่ขายเสียง

ทั้งสองเรื่องนี้วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าชาวบ้านไม่มีปัญญารับมือกับเศรษฐกิจยุคใหม่และระบบการเมืองสมัยใหม่ ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เศรษฐกิจพอเพียงจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญมากเหลือเกินในวาระของรัฐบาลที่จะทำลายความชอบธรรมของชาวบ้านที่สนับสนุนทักษิณ


ฟ้าเดียวกัน: อะไรคือตัวอย่างปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงไปลดทอนความชอบธรรมทางการเมืองของคนชนบทได้


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นกรอบนโยบายศูนย์กลางของรัฐบาลหลังการรัฐประหาร หลายโครงการของรัฐบาลทักษิณถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัยอยู่ โครงการลดความยากจนของทักษิณถูกขึ้นป้ายใหม่ แปะสติ๊กเกอร์ใหม่เป็นเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนประชาธิปไตยพอเพียงนั้นมีจุดเชื่อมโยงในเชิงวาทกรรม ผมไม่คิดว่าเราจะได้เห็นตัวบทกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงกับการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณมองลักษณะของการถกเถียงทางการเมืองในปีที่ผ่านมาในไทยจะเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ผมกำลังบอกว่าผมไม่สามารถให้ตัวอย่างเฉพาะได้ เพราะมันเกิดในระดับวาทกรรม ระดับสัญลักษณ์

แต่ก็มีตัวอย่างหนึ่งมีบทสัมภาษณ์พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ดีมากๆ เขาพูดถึง “คลื่นใต้น้ำ” กับอันตรายของการซื้อเสียงอยู่ตลอดเวลา เขาบอกว่าเงินทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านไทยและชาวบ้านต้องได้รับการศึกษาอย่างมากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นส่วนหนึ่งในวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: ในแง่นี้ถือได้ว่าผู้บริโภคเศรษฐกิจพอเพียงคือชนชั้นกลางหรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าใช่ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นกลางเพื่อให้รู้สึกอุ่นใจว่าน่าจะยังมีวัฒนธรรมไทยที่มีศีลธรรมของแท้อยู่ที่ไหนสักแห่ง และมันยังช่วยให้ชนชั้นกลางรู้สึกสะดวกใจที่จะสนับสนุนรัฐประหาร การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของชาวบ้านไม่สำคัญเท่าไรเพราะพวกเขาไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง


ฟ้าเดียวกัน: อยากให้ช่วยขยายความเรื่องประชาธิปไตยแบบพอเพียง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประชาธิปไตยพอเพียงก็คืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งควรมีจำกัด ระบบการเมืองไม่ควรอิงกับอำนาจจากการเลือกตั้งเพียงลำพัง อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งควรถูกจำกัดโดยอำนาจศาลและอำนาจระบบราชการ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองอำนาจนี้เชื่อมโยงกับอำนาจของกษัตริย์ เศรษฐกิจพอเพียงบอกว่าคุณไม่ควรไปข้องเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจภายนอกมากนัก ส่วนประชาธิปไตยพอเพียงบอกว่าคุณควรจำกัดการข้องเกี่ยวกับระบบการเมือง คุณไปออกเสียงเลือกตั้งได้ แต่คนที่คุณเลือกจะถูกกระหนาบโดยศาล โดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยอำนาจต่างๆ ของราชการ ผู้พิพากษา และองคมนตรี ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและประชาธิปไตยพอเพียงมีหลักการเดียวกันคือจำกัดประชาชนให้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องท้องถิ่นของตัวเองเท่านั้น เวลาคนพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบเอเชีย ผมคิดว่ามันทำนองเดียวกัน

จากมุมมองของผม เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พยายามวางกรอบจำกัดของประชา-ธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยพอเพียง สมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง อำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนใหม่ เขตเดียวหลายเบอร์ ระบบสัดส่วนแตกเป็นแปดกลุ่ม ทั้งหมดพยายามลดทอนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง


ฟ้าเดียวกัน: คุณเสนอว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เป็นจริงหรือการพัฒนาชนบท หากไม่สอดคล้องกันจริงก็จะต้องเกิดความตึงเครียดอะไรบางอย่าง คำถามคือ ในเมื่อเศรษฐกิจพอเพียงขัดแย้งกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านในชนบท แล้วชาวบ้านมีปฏิกิริยาต่อเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร พวกเขาเพิกเฉย ต่อต้าน หรือว่าเห็นด้วย


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ประการแรกเลย ชนบทไทยมีคนหลากหลายประเภท ดังนั้นจึงมีความคิดเห็นที่หลากหลาย

ประการที่สองคือ ชาวบ้านที่ผมทำงานด้วยในหมู่บ้านมีความเป็นเหตุเป็นผลและคิดบนฐานความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ผมตระหนักว่าในสภาวะการเมืองปัจจุบัน การใช้ภาษาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีประโยชน์ ถ้าผมไปขอทำโครงการจากเทศบาลหรือขอเงินมาทำอะไรสักอย่าง แน่นอนผมจะเรียกมันว่าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เวลาผมไปร่วมขบวนแห่ลอยกระทงในอำเภอผมก็จะต้องมีป้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเอง พวกเขาไม่โง่ จากประสบการณ์ที่ผมได้พูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้ สรุปได้ว่าพวกเขาเคารพเศรษฐกิจพอเพียงเพราะว่าแนวคิดนี้เป็นของในหลวง ชาวบ้านบอกว่ามันเป็นความคิดที่ดี ทฤษฎีที่ดี แต่พวกเขาก็บอกว่ามันไม่สอดคล้องกับชีวิตของเขา

ยกตัวอย่างอันแรกซึ่งเป็นเรื่องขำขัน ผมกำลังทานมื้อค่ำกับชาวนาคนหนึ่งโดยดูโทรทัศน์ไปด้วย สัญญาณภาพแย่มากเพราะอยู่บนภูเขา เขาบอกว่า ขอโทษด้วยอาจารย์ นี่เป็นโทรทัศน์ของในหลวง ผมถามว่าหมายความว่ายังไง เขาบอก “ทีวีพอเพียง” พวกเขาใช้วิธีนี้เวลามีอะไรที่ดีไม่เพียงพอก็จะบอกว่า นี่ละ “พอเพียง” ชาวนาอีกรายหนึ่งปลูกข้าวโพดแล้วผลผลิตตกต่ำ ได้ข้าวโพด น้อยมากไม่พอขาย เขาบอกว่าเขาจะกินเองแบบว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แน่นอนว่าเขาไม่ได้กิน แต่ทิ้งไปเลย ผมคิดว่าพวกเขาใช้มันอธิบายเวลาทำอะไรแล้วไม่เป็นผลว่าประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างที่ในหลวงตรัส

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือการบอกคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านว่าอย่าออกไปแข่งขันในตลาดแรงงานในเมือง เนื่องจากคนในเมืองกังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดแรงงาน คนชนบทมีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คนเมืองกังวลเรื่องการแข่งขันกันหางานทำ ดังนั้นจึงบอกให้ชาวบ้านอยู่แต่ในหมู่บ้านเสีย ผมว่านี่เป็นการวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงอย่างตรงไปตรงมา แต่คุณต้องรู้จักและได้รับความไว้วางใจเสียก่อนเขาจึงอยากจะพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงสัมพันธ์กับกษัตริย์โดยตรง


ฟ้าเดียวกัน: แล้วชะตากรรมของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีจุดจบเหมือนโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมว่ามันก็เป็นโครงการประเภทส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมทำนองนั้น คนหยิบสโลแกนเอาไปพูดโดยไม่รู้ว่ามันจะเกี่ยวกับชีวิตตัวเองยังไง บอกว่าฉันก็อยากใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถามว่าโทรศัพท์มือถือนี่เศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ทีวีล่ะเศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ลูกๆ ไปเรียนมหาวิทยาลัยล่ะ เศรษฐกิจพอเพียงไหม ใช่! ทุกอย่างเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหมดเลย กลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย


ฟ้าเดียวกัน: ถ้าใครๆ ก็สามารถหยิบเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้และตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองได้ ฉะนั้นจะมีปัญหาอะไรหากชาวบ้านหรือปัญญาชนจะนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เพื่อสร้างอำนาจให้ตัวเองหรือชุมชนหมู่บ้านเพื่อสู้กับโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมได้ฟังความเห็นที่แตกต่างกันจากอาจารย์หลายคน โดยเฉพาะอาจารย์ในเชียงใหม่ที่มองว่าโลกาภิวัตน์และรัฐเป็นตัวทำลายวัฒนธรรมหมู่บ้าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งโลกา-ภิวัตน์ ทุนนิยม และรัฐนั้นเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหมู่บ้าน แต่ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นในแง่ทัศนะและความต้องการของชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเขา

ยกตัวอย่างชาวบ้านที่ผมทำงานวิจัยด้วยในภาคเหนือ เวลาพูดถึงอดีต สิ่งหนึ่งที่พวกเขาพูดถึงเป็นหลักคือความอดอยาก เมื่อก่อนพวกเขามีข้าวไม่พอกินสำหรับทั้งปี ต้องเดินข้ามภูเขาเพื่อไปหาข้าวจากหมู่บ้านอื่นหรือต้องออกไปทำงานเป็นกรรมกรในเชียงใหม่ แต่ตอนนี้พวกเขาปลูกข้าวได้พอ หรือสามารถสร้างรายได้มาซื้อข้าวได้ ดังนั้นผมจึงไม่เคยยอมรับทัศนะที่ว่าเศรษฐกิจหรือสังคมหรือวัฒนธรรมของหมู่บ้านถูกทำลายโดยโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่คิดว่าจะต้องมีการปกป้องอะไร ผมไม่คิดว่าชาวบ้านในชนบทไทยต้องการการปกป้องตนเองจากตลาดหรือรัฐ พวกเขาต้องการตลาดมากขึ้นต่างหาก ต้องการมีตลาดมากขึ้นและดีขึ้น เข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น จะได้ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พวกเขาต้องการเข้าถึงตลาดโดยตรง จากประสบการณ์ของผม ชาวบ้านไม่ได้ต้องการรัฐน้อยลงด้วย พวกเขาต้องการบริการจากรัฐมากขึ้น พวกเขาต้องการให้รัฐหยิบยื่นบริการแก่พวกเขาเหมือนที่หยิบยื่นแก่คนกรุงเทพฯ อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดต่างจากแนวทางวัฒนธรรมชุมชนมาก


ฟ้าเดียวกัน: แล้วในมุมมองของคุณ แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนที่นักวิชาการกระแสรองและเอ็นจีโอนำเสนอนั้นมีความเหมือนหรือต่างกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ความเหมือนคือทั้งสองอย่างนี้เน้นความสำคัญของเกษตรกรรมแบบยังชีพเป็นฐานของชีวิตในมิติด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ผมว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนคล้ายกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาก พูดอย่างหยาบๆ คือมันทำให้ความยากจนกลายเป็นคุณงามความดีไป มันบอกทำนองว่าความยากจนเป็นสิ่งพึงปรารถนาและมีศีลธรรม กระแสการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่เห็นในชนบทไทยเป็นตัวบ่อนทำลาย

ส่วนความต่างที่สำคัญคือ แนวทางวัฒนธรรมชุมชนเป็นแนวทางสำหรับชาวบ้านรากหญ้ามากกว่า เป็นเรื่องของการสร้างอำนาจชุมชนมากกว่า เป็นกระบวนการจากล่างขึ้นบน ขณะที่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการผลักดันโดยรัฐ โดยคนจากนอกหมู่บ้าน แต่บางครั้งผมก็คิดว่านี่ไม่ใช่ความต่างที่ใหญ่โตอะไร บางทีผมคิดว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนก็เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก มาจากมุมมองนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ตลาดกับรัฐ ประเด็นสำคัญสำหรับผมคือผมไม่เจอการวิพากษ์วิจารณ์ตลาดกับรัฐเวลาคุยกับชาวบ้านผมได้ยินคนบ่นเรื่องตลาด บ่นเรื่องรัฐ ทว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการปฏิเสธมัน แต่พวกเขาบ่นเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึงมันได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น

เวลานึกถึงความต่างระหว่างกระแสวัฒนธรรมชุมชนกับกระแสเศรษฐกิจพอเพียง เอาเข้าจริงแล้วกลับกลายเป็นว่าเหมือนกันมากเลยทีเดียว


ฟ้าเดียวกัน: คุณคงไม่ได้มองเศรษฐกิจพอเพียงในแง่เครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างเดียว คือมองในแง่เครื่องมือทางอุดมการณ์ด้วย ในทำนองเดียวกัน ถ้ามองเศรษฐกิจชุมชนหรือวัฒนธรรมชุมชนของเอ็นจีโอและนักวิชาการกระแสรองในแง่ที่เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ มันต่างอย่างไรไหมกับเศรษฐกิจพอเพียง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ขอตอบแบบอ้อมๆ มีคนบอกว่าวัฒนธรรมชุมชนสามารถเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อเสริมสร้างอำนาจของชาวบ้านได้ ผมว่ามันล้มเหลว ตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือท่าทีที่เอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวจำนวนมากมีต่อเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และรัฐบาล ทักษิณ พวกเขาได้สร้างการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างอำนาจชาวบ้านด้วยภาพของเศรษฐกิจแบบยังชีพกับคุณค่าที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ แล้วพวกเขาก็เห็นเกษตรกรออกไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ของทักษิณ ดังนั้นเกษตรกรเหล่านั้นจึงไม่อยู่ในกรอบการเสริมสร้างอำนาจที่สำนักคิดวัฒนธรรมชุมชนได้ทำการรณรงค์มา ในที่สุดพอเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นแล้วพวกสายวัฒนธรรมชุมชนทำยังไง พวกเขาเข้าข้างเกษตรกรเหล่านั้นที่เลือกทักษิณมาหรือเปล่า ผมคิดว่าพวกเขาไม่รู้จะทำยังไง นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของการรณรงค์เสริมสร้างอำนาจชาวบ้านตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

เราน่าจะพูดถึงการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ด้วยเช่นกัน และผมคิดว่าเท่าที่ผ่านมามันแทบไม่ประสบความสำเร็จเลย บางทีผมก็คิดว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 นั้นเป็นจุดจบของเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนออกเสียงไม่เอาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าผลการเลือกตั้งไม่ถูกขว้างทิ้งไป เราก็จะได้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มจางหายไป


ฟ้าเดียวกัน: นอกจากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วงานศึกษาวิจัยของคุณยังได้นำเสนอเรื่อง “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน” (rural constitution) ในหมู่บ้านของไทยด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างไร


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมเรียกมันว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านเพื่อเป็นการท้าทาย เวลาคนนึกถึงรัฐธรรมนูญก็จะนึกถึงเอกสารพิเศษบางอย่างที่เขียนโดยนักกฎหมายและคนบางกลุ่มแล้วถูกพระราชทานลงมา ผมพยายามจะบอกว่ายังมีรัฐธรรมนูญชาวบ้านด้วย มันเป็นคุณค่าและความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าระบบการเมืองควรจะเป็นยังไง ผมว่ามันคล้ายกันมากกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่อาจารย์นิธิอธิบาย แต่ผมคิดว่านิธิอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเพียงฉบับหนึ่ง (จากที่มีอยู่หลายฉบับ) ซึ่งก็เป็นฉบับที่ค่อนข้างเป็นของชนชั้นนำ โดยกษัตริย์มีบทบาทเป็นศูนย์กลาง รัฐธรรมนูญชาวบ้านก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของชนชั้นนำ


ฟ้าเดียวกัน: คุณคิดว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านมีความสำคัญต่อการเมืองในชีวิตประจำวันในชุมชนหมู่บ้านยังไง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำคัญต่อการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการท้าทายวาทกรรมการซื้อเสียงที่ครอบงำอยู่ เวลาคนพูดถึงการเมืองในชนบทของไทย มีแนวโน้มที่จะพูดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ผมพยายามเสนอแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านด้วยการบอกว่าชาวบ้านไม่ใช่เอาแต่ขายเสียง พวกเขาตัดสินใจบนฐานคุณค่าทางการเมืองอีกชุดหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องการบอกคือว่า เราจำเป็นต้องทำ ความเข้าใจว่าคุณค่าทางการเมืองของชาวบ้านคืออะไร ไม่ใช่แค่ปัดไปง่ายๆ ว่าชาวบ้านขายเสียง


ฟ้าเดียวกัน: แม้เอ็นจีโอและนักวิชาการกระแสรองบางส่วนจะมีความคิดว่าชาวบ้านถูกประชานิยมของรัฐบาลทักษิณหลอก แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวก็ผลิตงานที่พยายามอธิบายวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้านอีกแบบหนึ่งผ่านเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ผ่านเรื่องประชาสังคม เพื่ออธิบายว่าชาวบ้านไม่ได้เฉื่อยเนือยหรือเป็นผู้ถูกกระทำ แต่กระตือรือร้นหรือเป็นผู้กระทำในทางการเมืองแบบหนึ่ง แนวคิดในลักษณะนี้ไม่เพียงพอหรือในการทำความเข้าใจการเมืองในชนบท อะไรคือข้อจำกัดของแนวคิดเหล่านี้ในฐานะมุมมองทางเลือกต่อวัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทไทย


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือเอ็นจีโอหรือการเมืองรากหญ้า ในบางพื้นที่องค์กรเหล่านี้หรือประชาสังคมมีความสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ในชนบทไม่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้ ผมว่าถ้าเราเขียนเกี่ยวกับการเมืองในชนบทในแง่ขบวนการภาคประชาชน เราก็จะละเลยประชากรจำนวนมากในชนบท

ผมต้องการจะบอกว่า ใช่ ขบวนการภาคประชาชนก็สำคัญ แต่เราก็ยังต้องมองการเมืองในเชิงการเลือกตั้งด้วย ขบวนการภาคประชาชนมักจะมีความเคลือบแคลงติดท่าทีต่อการเมืองในระบบเลือกตั้ง พวกเขาไม่ชอบนักการเมือง พวกเขาไม่ชอบแนวคิดเรื่องการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมองถึงลักษณะที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเมืองแบบเลือกตั้ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงพัฒนาความคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญชาวบ้านขึ้นมา


ฟ้าเดียวกัน: การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดสะท้อนให้เห็นรัฐธรรมนูญชาวบ้านอย่างไรบ้าง


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มันยังเร็วเกินไปที่จะพูดผมอยากทำวิจัยอีกมากเกี่ยวกับคุณค่าที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหลังสุดนี้ คุณค่าหลายอันที่ผมพูดถึงในบทความอย่างเช่น ท้องถิ่นนิยม การบริหารจัดการที่ดี การเอาใจใส่ที่ได้รับจากผู้แทนราษฎร ผมว่ามันสำคัญ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรื่องรัฐบาลทหารกับการรัฐประหารก็เป็นประเด็นที่ใหญ่มาก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของชาวบ้าน คำตอบของผมตอนนี้คือต้องมีการทำวิจัยในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าพวกเขาเป็นคนอีสานก็ต้องเลือกพรรคพลังประชาชนอยู่แล้ว นั่นมันน่าเบื่อ ต้องไปศึกษาว่าทำไมชาวบ้านจึงเลือกพลังประชาชน


ฟ้าเดียวกัน: แม้ชนชั้นนำจะพยายามดึงการเมืองให้ถอยกลับไปสู่ยุคก่อนรัฐบาลทักษิณ ผ่านการรัฐประหารหรือผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ถ้าดูจากผลการเลือกตั้ง ชนชั้นนำไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อของชาวบ้านไม่ให้เลือกพรรคพลังประชาชนได้ จากการเลือกตั้งครั้งนี้เราสามารถบอกได้ไหมว่าการเมืองไทยจะไม่ถอยกลับไปอีกแล้ว


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่คิดว่าชาวบ้านจะยังคิดแบบเดิม พวกเขาแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โต้ตอบการรัฐประหาร ผมยังไม่ได้กลับไปหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัยเลยตั้งแต่เลือกตั้ง แต่ผมก็มีผู้ช่วยวิจัยไปสัมภาษณ์ ชาวบ้านคุยเกี่ยวกับรัฐบาลทหารตลอดเวลา ทัศนะทางการเมืองของพวกเขาได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปบางส่วนโดยเป็นผลจากปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น และผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องแค่ว่าพวกเขาต้องการกลับไปหาทักษิณหรือกลับไปหารัฐบาลเก่าหรือเอารัฐบาลเก่ากลับมาเท่านั้น ผมว่าพวกเขาคาดหวังถึงรัฐบาลแบบใหม่


ฟ้าเดียวกัน: การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแทบไม่แตกต่างกัน บางพรรคเป็นประชานิยมมากกว่าไทยรักไทยด้วยซ้ำ ดังนั้นด้านหนึ่งชาวบ้านก็ไม่ต้องสนใจให้ความสำคัญกับพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชนแล้วหรือเปล่า เพราะต่อให้เลือกประชา- ธิปัตย์ แต่ในแง่ของนโยบายก็มีการสนับสนุนสวัสดิการสังคมต่างๆ ให้ชาวบ้านคล้ายๆ กัน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: นโยบายของแต่ละพรรคไม่ค่อยแตกต่างกัน รายงานจากหมู่บ้านที่ผมทำวิจัยอยู่บอกว่าชาวบ้านแค่ไม่เชื่อถือพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ไม่มีเครดิตว่าจะทำตามที่หาเสียงไว้จริงๆ ชาวบ้านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีศรัทธาหรือความไว้วางใจต่อประชาธิปัตย์ มันมีความรู้สึกว่าแม้นโยบายบนกระดาษจะดูไม่แตกต่างกันมาก แต่คนมีความเชื่อมั่นในพลังประชาชนหรือไทยรักไทย


ฟ้าเดียวกัน: เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านคงต้องมีลักษณะเฉพาะท้องที่ เพราะฉะนั้นในประเทศไทยคงมีรัฐธรรมนูญนี้หลายฉบับมาก


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มีหลายฉบับมาก แต่คิดว่าอาจจะมีหลักการทั่วไปบางอย่างที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง แต่ก็อย่างที่บอก เราต้องทำวิจัยรัฐธรรมนูญชาวบ้านฉบับต่างๆ แล้วมาเปรียบเทียบกัน ฉบับของภาคใต้เป็นอย่างไร ทำไมถึงเลือกประชาธิปัตย์ มันจะต้องมีคุณค่าทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในอีสานก็จะต้องแตกต่างจากในกรุงเทพฯ เรามีการทำวิจัยน้อยมากเกี่ยวกับคุณค่าทางการเมืองของท้องถิ่นต่างๆ ในไทย คนมักจะอธิบายแค่ว่าซื้อเสียง หัวคะแนน พรรคพวก มีแต่การชักจูงของผู้นำในการลงคะแนนเสียงของชาวบ้าน ดังนั้นเราจึงละเลยวัฒนธรรมการเมืองของท้องถิ่น เราต้องไปศึกษาดูว่าวัฒนธรรมการเมืองของพวกเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าต้องมีหัวคะแนน แน่นอนว่าต้องมีการซื้อเสียง แต่มันก็ไม่ใช่คำอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง อธิบายได้แค่บางส่วนเท่านั้น


ฟ้าเดียวกัน: เดิมเรามักจะได้ฟังแต่การวิเคราะห์ที่มองชาวบ้านชนบทไทยในเชิงที่เฉื่อยเนือยหรือถูกกระทำมาก ถูกหลอกลวง ถูกซื้อเสียง ไม่ฉลาด ไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อมูล แต่พอมาอ่านงานของคุณเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะฉลาดมาก มีเหตุมีผลมาก ตื่นตัวมากและมีฐานะเป็นผู้กระทำ การมองอย่างนี้มันจะสุดโต่งไปอีกแบบหนึ่งไหม


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: มันจะต้องมีอันที่อยู่ตรงกลาง ไม่ใช่ว่าชาวนาหรือชาวบ้านฉลาดกันทุกคน มีชาวนาที่โง่ ชาวนาที่ฉลาด ชาวนาที่ฉลาดปานกลาง ก็เหมือนมีอาจารย์โง่ อาจารย์ฉลาดพวกเขาเป็นคน ผมไม่อยากโรแมนติกโดยบอกว่าชาวบ้านไตร่ตรองรอบคอบมากในเรื่องการเมืองแต่ผมคิดว่าพวกเขามีวัฒนธรรมการเมืองที่ตื่นตัว มีวัฒนธรรมที่ตื่นตัวในการถกเถียงเรื่องการเมือง ประเมินเรื่องการเมือง คุยกันตลอดเวลา มีคนบอกว่าชาวบ้านไม่ใส่ใจเรื่องคอร์รัปชั่นของทักษิณ อันที่จริงชาวบ้านถกเถียงเรื่องคอร์รัปชั่นตลอดเวลา พวกเขาคุยทั้งเรื่องการเมืองท้องถิ่นและระดับประเทศ ชาวบ้านตัดสินใจว่า ใช่ ทักษิณทุจริตในบางแง่ แต่เขาทำอะไรอย่างอื่นที่ดี เมื่อชั่งตาชั่งแล้วพวกเขาต้องการเลือกทักษิณ ผมไม่ต้องการจะบอกเป็นนัยว่าชาวบ้านทุกคนเป็นอัจฉริยะ พวกเขาก็เป็นคนทั่วไป แต่ก็มีวัฒนธรรมการเมืองในหมู่บ้านที่ไม่เฉื่อยเนือยหรือยอมรับอะไรก็ได้


ฟ้าเดียวกัน: วัฒนธรรม/คุณค่าของหมู่บ้านในงานของคุณแตกต่างอย่างไรกับวัฒนธรรม/คุณค่าของหมู่บ้านอย่างในงานของสำนักฉัตรทิพย์ นาถสุภา


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: พูดง่ายๆ ก็คือผมมองว่าหมู่บ้านเป็นจุดหนึ่งในเครือข่ายที่แผ่ขยายไปยังระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือบางครั้งก็ถึงกับระดับระหว่างประเทศเลย วัฒนธรรมและเศรษฐกิจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบเครือข่าย แต่พอพูดถึงเศรษฐกิจหมู่บ้านหรือวัฒนธรรมชุมชนแบบของฉัตรทิพย์ รู้สึกว่าหมู่บ้านจะมีลักษณะแยกตัวออกมากกว่า โดดเดี่ยวมากกว่า มันไม่รู้สึกว่ามีการเชื่อมโยงกัน เราควรจะมองหมู่บ้านในลักษณะที่เป็นจุดจุดหนึ่งในเครือข่าย หมู่บ้านนั้นถูกสร้างขึ้นในมิติของความสัมพันธ์กับรัฐ ความสัมพันธ์กับทุน และความสัมพันธ์กับการเมือง แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนั้นมองสังคมและวัฒนธรรมว่าถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่มีตำแหน่งแห่งที่ของมันเองอย่างเฉพาะเจาะจง ขาดความสัมพันธ์และเชื่อมโยง แต่ผมกลับมองอย่างเชื่อมโยงและเป็นเครือข่าย


ฟ้าเดียวกัน: เข้าใจว่าการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญชาวบ้านนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นมาก แต่จากเท่าที่ศึกษามาคุณพอจะมองเห็นไหมว่ารัฐธรรมนูญชาวบ้านมีพลวัตอย่างไรบ้าง หรือมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่คิดว่าเรารู้ เพราะเราขาดสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นพอเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนบทว่าเป็นมาอย่างไร เรามีงานศึกษาอยู่บ้าง อย่างในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เราพอรู้อยู่บ้างว่าวัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่มีงานอะไรมากนัก มันจึงยากที่จะตัดสินว่าวัฒนธรรมการเมืองในชนบทพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมหวังว่าเรากำลังเริ่มที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งขึ้น เริ่มที่จะทำความเข้าใจพัฒนาการ แต่เราก็ต้องมาคิดหาหนทางในการศึกษา เพราะมันไม่ง่ายที่จะรู้วิธีศึกษาการเมืองในประเทศไทยที่ไม่เพ่งเล็งไปที่ชนชั้นนำ การวิเคราะห์การเมืองไทยจำนวนมากเน้นไปที่ชนชั้นนำ สถาบันกษัตริย์ พ่อค้า เจ้าพ่อ อะไรเหล่านี้ เราต้องเริ่มมองไปที่วัฒนธรรมการเมืองระดับหมู่บ้านแล้ว


ฟ้าเดียวกัน: คุณคิดว่าวัฒนธรรมทางการเมืองระดับหมู่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของ “ภาคประชาชน” หรือเปล่า


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: นั่นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนิยาม “ภาคประชาชน” อย่างไร ถ้าคุณนิยามภาคประชาชนว่าเป็นเอ็นจีโอ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ผมว่ามันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง สำหรับผม ภาคประชาชนใหญ่กว่านั้นมาก อย่างชาวบ้านในหมู่บ้านที่ผมทำงานวิจัย พวกเขาไม่สนใจเอ็นจีโอ ขณะที่ใกล้แถวนั้นมีเอ็นจีโอในหมู่บ้านอื่นๆ บางแห่ง พวกเขาค่อนข้างระแวงเอ็นจีโอด้วยซ้ำ พวกเขาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือเปล่า ก็ไม่เชิง ดังนั้นผมหมายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่ไม่ค่อยเป็นทางการหรือนอกรูปแบบวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีการจัดตั้ง ผมพูดถึงภาคประชาชนในความหมายกว้าง มันไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ราชการ

เวลาผมพูดถึงชนบทไทย ผมคิดว่าพวกเขามีสถาบัน พวกเขามีองค์กร แต่ผมไม่นิยามพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาชน และผมคิดว่ามีวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กร การจัดตั้ง หรือขบวนการเคลื่อนไหวใดๆผมคิดว่าภาคประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจที่จำกัดมากเกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้ ภาคประชาชนจำนวนมากที่ทำงานประเด็นชนบท อย่างเช่นร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ขบวนการภาคประชาชนต้องการกฎหมายป่าชุมชนมาก แต่ชาวนาที่ผมทำงานด้วยในภาคเหนือ พวกเขาไม่สนใจร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน มันไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา ผมว่ามักจะมีช่องว่างอยู่เสมอระหว่างการรณรงค์ของภาคประชาชนกับประเด็นปากท้องเฉพาะหน้าของเกษตรกร


ฟ้าเดียวกัน: ถ้าชนบทไทยเปลี่ยนไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม จะส่งผลยังไงต่อรัฐธรรมนูญชาวบ้าน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เวลาผมพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับหมู่บ้านหรือรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ผมไม่ได้พูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเกษตร ผมว่าสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่เราต้องแยกแยะคือ แยกหมู่บ้านออกจากเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่จากนอกภาคการเกษตร ผมจึงคิดว่าชนบทไทยไม่ได้เป็นสังคมเกษตรกรรมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นต่อให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม เราก็จะยังมีรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่บนฐานของการเป็นสังคมเกษตรกรรม ผมไม่คิดว่าวัฒนธรรมหมู่บ้านของแท้จะต้องเป็นเกษตรกรรม


ฟ้าเดียวกัน: รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของนิธิมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แล้วในรัฐธรรมนูญชาวบ้านที่คุณพูดถึงนั้นสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่เคยได้ยินชาวบ้านอธิบายการตัดสินใจทางการเมืองของตัวเองในเชิงที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ผมไม่เคยได้ยินชาวบ้านบอกว่าจะเลือกทักษิณหรือไม่เลือกทักษิณเพราะทักษิณจาบจ้วงหรือจงรักภักดีเลย ผมว่านั่นไม่เป็นประเด็น นี่เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างรัฐธรรมนูญชาวบ้านของผมกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของอาจารย์นิธิ ผมว่ากษัตริย์เป็น “เจ้า” ที่คนกราบไหว้ ที่คนอาจจะถือเป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่สำหรับการตัดสินใจทางการเมืองมันเป็นเรื่องเชิงปฏิบัติ


ฟ้าเดียวกัน: เคยได้ยินประโยคที่ว่า “รักในหลวง ห่วงทักษิณ” ไหม หลังรัฐประหารมีคนอธิบายว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนที่รักในหลวงกับคนที่รักทักษิณ แต่ก็มีบางคนอธิบายว่าชาวบ้านนั้นรักในหลวงห่วงทักษิณ คือรักทั้งคู่


แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: ผมไม่เคยได้ยินใครพูดในเชิงว่าต้องเลือกระหว่างทักษิณกับกษัตริย์นะ ทักษิณเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ มันไม่เกี่ยวกัน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำวิจัยประเด็นนี้ เป็นเรื่องยากที่จะไปถามชาวบ้านตรงๆ ว่าคุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับกษัตริย์และบทบาททางการเมืองช่วงรัฐประหาร


ooo

ที่มา : ประชาไท : ฟ้าเดียวกันสัมภาษณ์ “แอนดรูว์ วอล์กเกอร์”: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน

ต้นทาง : ฟ้าเดียวกันออนไลน์ : แอนดรูว์ วอล์กเกอร์: เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น