วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551
จากขบวนการเสรีไทย สู่ 14 ตุลาคม 16 ถึงปัจจุบัน
สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนา “การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน จาก ขบวนการเสรีไทย (2484 – 2488) สู่ขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน” เนื่องในวาระครบรอบ 63 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 ครบรอบ 35 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตามโครงการการจัดงานวิชาการเพื่อก้าวไปสู่การจัดงานในวาระครบรอบ 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ.2443-2553 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการให้ความหมาย “ขบวนการเสรีไทย” ว่าเป็น “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น” นั้นไม่เพียงพอ โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มคนที่ต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีเอกภาพ แต่มีรูปแบบและมีนัยยะของการขับเคลื่อนที่ต่างกัน อีกทั้งคำว่า “เสรีไทย” นั้นยังเป็นการสถาปนาภายหลังที่สงครามโลกเสร็จสิ้นลง ซึ่งการทำงานก่อนหน้านั้นของเสรีไทยเป็นขบวนการเล็กและปิดลับ เรียกได้ว่าเป็นพวกใต้ดิน ดังนั้นน่าจะมองใหม่ในฐานะแนวร่วมชุดหนึ่งที่ประกอบด้วยหลายๆ ฝ่ายในการมีเป้าร่วมต้านญี่ปุ่น
โดยขณะนั้นกลุ่มคนที่ต่อต้านญี่ปุ่นมาก่อนอย่างเปิดเผยคือกลุ่มคนจีน เพราะกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ จนกระทั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นบุกไทยและนั่นได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของคนไทย จึงก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มไทยอิสระ กลุ่มไทยถีบ และเสรีไทย ซึ่งมีอยู่ทั้งในประเทศไทย อังกฤษ และอเมริกา โดยแบ่งเป็นสายต่างๆ
ตามความคิดของ ดร.สุธาชัย จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เริ่มต้นการก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยในประเทศและนอกประเทศนั้นไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารกัน แต่ต่อมาเกิดการเชื่อมโยงกัน เพราะการมีญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายหลักเฉพาะหน้าร่วมกัน และแตกแยกกันไปในเวลาต่อมา
โดยมองได้จากภายหลังสงครามที่ได้มีการเลือก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากเสรีไทยในประเทศ จึงอยู่ในตำแหน่งได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ (17 กันยายน 2488 - 31 มกราคม 2489) และต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ได้ก้าวไปสู้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์
ในส่วนความแตกต่างของ “ขบวนการเสรีไทย” และขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 ดร.สุธาชัยกล่าวว่า มีความแตกต่างกันมากในส่วนรูปแบบเพราะเสรีไทยเป็นขบวนการปิดลับ แต่ใน 14 ตุลาเป็นขบวนการเปิดรับมวลชน ซึ่งเป็นขบวนการมีความแปลกใหม่ทั้งหมด และได้ผลในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร อีกทั้งยังมีผลทำให้การปกครองโดยระบอบเผด็จการภายหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีระยะเวลาสั้นลง และไม่สามารถใช้เผด็จการเต็มรูปแบบได้
ดังเช่น เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่ง ดร.สุธาชัยเชื่อว่ามีความคิดต้องการยึดอำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบอยู่แต่ไม่อาจทำได้เพราะขบวนการต่อสู้ของมวลชนที่ผ่านมาได้สร้างให้ประชาชนมีความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพ ย่อมไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ตื่นตัวทางการเมืองการปกครองที่เปิดให้หมู่ประชาชนชั้นล่างเข้ามามีส่วนร่วม โดยได้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนนอกระบบราชการด้วย เกิดการกระจายอำนาจที่เคยผูกขาดโดยส่วนราชการสู่ส่วนต่างๆ ถือเป็นรูปแบบของขบวนการมวลชนที่มีอำนาจการต่อรองเพิ่มมากขึ้น
ดร.สุธาชัย กล่าวต่อมาถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าโดยส่วนตัวคิดว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ใช่ขบวนการมวลชน แต่เปรียบเทียบได้กับกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล หรือกลุ่มกระทิงแดง ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีเป้าหมายรวมมวลชนด้วยวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งถือเป็น “ขบวนการมวลชนเพื่อต้านมวลชน” และคิดว่าขบวนการของตัวเองมีความถูกต้องเป็นธรรม ดังเช่นความคิดของพลตรีจำลอง ศรีเมืองที่เชื้อเชิญคนมาร่วมทำบุญช่วยชาติด้วยการชุมนุม นอกจากนี้ยังได้วิพากษ์เอเอสทีวีและสื่อในเครือผู้จัดการว่าเผยแพร่ข้อมูลเชิงยั่วยุ ปลุกระดม คล้ายวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามมากขึ้นทุกวัน
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ผู้เขียนหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” กล่าวว่า เสรีไทยคือความร่วมมือของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อรับใช้ประเทศชาติให้พ้นจากเหตุการณ์คับขันของประเทศ ในช่วงสงครามอินโดจีน ราวปี พ.ศ.2484 ถึง2488 ซึ่งหากให้มองเมืองไทยในปัจจุบันคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ความร่วมแรงร่วมใจเช่นนั้นขึ้นอีก เพราะปัจจุบันปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ยังเกิดความสับสน ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทั้งนี้ คนไทยไทยปัจจุบันมีความแตกต่างกับคนไทยในสมัยนั้น ทั้งในด้านอุดมการณ์ จิตวิญญาณ และความคิดที่ไม่เหมือนกัน เหมือนกับเป็นคนละสายพันธ์กัน
จากประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 เป็นมูลเหตุของความขัดแย้งในสังคม ซึ่งนับจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปี พ.ศ.2484 บ้านเมืองก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ที่ปรกติสุข เพราะเป็นยุคสมัยแห่งการปรับเปลี่ยนจากสิ่งเก่าที่คุ้นชินสู่สิ่งใหม่แบบขุดรากถอนโคน ผลก็คือการต่อต้านที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อกบฏ การลอบยิง และลอบสังหารนายยกรัฐมนตรี ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ดังเช่นที่มีคนเคยกล่าวว่ากว่า 70 ปีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยังก้าวไปไม่ถึงไหนก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ในสภาวการณ์ความแตกแยกภายในประเทศที่คงอยู่ ปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ก็ได้ก่อเกิดความร่วมมือสมานสามัคคีเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญในการปกป้องประเทศชาติไว้ โดยมีสิ่งรวมใจสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์” เป็นเหมือนเชือกร้อยผูกพันจิตใจ ซึ่งหากไม่มีการปลูกฝัง ก็จะไม่มีวันมีจิตสำนึกร่วม และคนไทยปัจจุบันก็ขาดสิ่งนี้ไป โดยนับตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ให้ความสนใจกับวิชาประวัติศาสตร์ ไม่มีการเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ เพราะประวัติศาสตร์ที่เรียนมีบริบทที่แตกต่างจากปัจจุบันมากจนไม่อาจผูกพันเชื่อมร้อยไปไม่ถึง และไม่อาจสรุปบทเรียนการแก้ปัญหาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งบางส่วนยังรังแต่จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.วิชิตวงศ์ กล่าวต่อว่า การมี “จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์” ร่วมกัน ทำให้รู้ว่าประเทศชาติต้องการอะไร และนั่นทำให้ “ขบวนการเสรีไทย” เกิดขึ้นได้ โดยในส่วนของความแตกแยกที่มีเป็นเพียงเรื่องความแตกต่างวิธีการ เพราะต่างก็มุ่งสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน และพักเรื่องความขัดแย้งเรื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีมาไว้เบื้องหลัง
ด้านนายศุขปรีดา พนมยงค์ กรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ทายาทของ อ.ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กล่าวถึงขบวนการเสรีไทยในอีสานว่าถือเป็นหนึ่งในการต่อสู้ของคนรากหญ้า โดยเล่าว่านับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ดินแดนอีสานได้ถูกทอดทิ้งและละเลยจากรัฐบาลส่วนกลาง จนเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นในลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำให้คนอีสานมีสิทธิมีเสียงในการปกครอง และต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนทั่วไป ส.ส.อีสานจึงเกิดความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพอันพึงได้รับ
การเข้ามาในประเทศไทยของกองทัพญี่ปุ่นในปลายปี 2484 ทำให้ทุกคนในประเทศกระตือรือร้นในการปกป้องประเทศ รวมทั้ง ส.ส.อีสาน หลายคนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวโดยการเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย และมีการตั้งหน่วยพลพรรคในพื้นที่อีสาน เช่น “เตียง ศิริขันธ์” “สันต์ ปรายกูล” “ถวิล อุดล” “จำลอง ดาวเรือง” “ทองอินทร์ ภูริพัฒน์” ทำให้การจัดตั้งในขบวนการเสรีไทยได้ขยายไปในหมู่ครูประชาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านทั่วไป
สิ่งที่น่าเสียดายเกิดขึ้น หลังจากสิ้นสุดสงครามและบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป โดยในพฤศจิกายนปี 2490 เกิดการรัฐประหาร ทำให้กลุ่มผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยในภาคอีสาน รวมทั้งกลุ่มครูประชาบาลถูกคุกคามอย่างหนัก มีการสังหาร 4 รัฐมนตรีโดยเครื่องมือของเผด็จการตำรวจในสมัยนั้น และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือการสั่งประหารชีวิต “ครูครอง จันดาวงศ์” ณ ที่เกิดเหตุ (ณ ลานประหาร อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นและเหวี่ยงแหไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่ครูครองไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ทำให้เกิดความกดดันหมู่ประชาชนทั่วทั้งภาคอีสาน เป็นเหตุให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยใช้พื้นฐานตรงนี้ทำการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน
นายศุขปรีดา กล่าวต่อมาว่า ในการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยมีความพยายามลดความเชื่อถือของขบวนการเสรีไทย มาจากทางฝั่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการเขียนหนังสือ “ขบวนการกรรมกรในการต่อสู้ญี่ปุ่น” ซึ่งขบวนการต่อสู้ญี่ปุ่นของกรรมกรจีนมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามเพราะญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ แต่นั่นไม่ได้เป็นการนำขบวนการเสรีไทย
นอกจากนี้นายศุขปรีดา ยังเล่าว่า เมื่อครั้งไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศจีนได้พบสารานุกรมจีนเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงประวิติพรรคคอมมิวนิสต์ไทยโดยระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นผู้นำในการต่อสู้ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้น อ.ปรีดีได้มีการต่อว่าไปทางจีน แต่ก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันได้มีการแก้ไขหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม กองทัพเจียง ไคเช็ค ต้องการเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเหมือนที่ทำในอินโดจีน แต่กลุ่มเสรีไทยมีความหวาดกลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากหากจีนเข้ามาแล้วไม่ยอมถอนทหารออกไป ดังนี้จึงได้ยินยอมให้ฝ่ายพันธมิตร คือ อังกฤษนำทหารเข้ามาปลอดอาวุธทหารญี่ปุ่น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศคู่สงครามไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนคณะราษฎร ฝ่ายเจียง ไคเช็ค แต่สำหรับอังกฤษเองก็มีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายทั้งฝ่ายทหารที่มองเห็นการทำงานของคณะราษฎรและเป็นมิตรต่อไทย กับฝ่ายพลเรือนที่ต้องการหนุนให้แก้แค้นคนไทยในฐานะที่เข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่น
โดย : ประชาไท
ที่มา : ประชาไท : เสวนา: จากขบวนการเสรีไทย สู่ 14 ตุลาคม 16 ถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น