นับตั้งแต่ที่ อ.สุลักษณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์แบบ "ป้ายสี" คดีหมิ่นฯ ในการชุมนุมวันที่ 1 พ.ย. 51 ซึ่งเป็นการ "บิดเบือน" ข้อมูล โดยน่าเชื่อว่ามาจากความ "กะล่อน" มากกว่าการไม่ตรวจสอบข้อมูล
กระทั่งมาจนถึง การให้สัมภาษณ์ในระยะสองวันมานี้ ซึ่งเขาเองเป็นผู้เชื้อเชิญ "รัฐบาลแห่งชาติ" ซึ่งเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเผด็จการชนชั้นปกครอง
พวกเราหลายคนที่เคยให้ความเคารพรักนับถือต่อ "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" ที่อาจารย์ สุลักษณ์ เคยกล่าวและแสดงในที่ต่างๆ ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจารณ์ "สิ่งที่พูดไม่ได้ในสังคมไทย" อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสัจจะและความน่าเคารพนับถือต่อ อาจารย์สุลักษณ์อย่างแท้จริง
มาบัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ปัจจุบันนี้ อาจารย์สุลักษณ์หาใช่ สุลักษณ์คนเดิม ซึ่งเป็น "ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน" ดังที่ผมเคยเข้าใจอีกแล้ว ผมได้ย้อนกลับไปอ่านงานที่ อาจารย์สุลักษณ์เขียนถึง อ.ปรีดี พนมยงค์ แล้วยิ่งรู้สึกสะท้อนใจกับท่าทีของคน ที่ผมเคยคิดว่าจะเป็น "เสาหลักทางความคิด" ให้กับคนในบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งบัดนี้คงไม่มีอีกแล้วสำหรับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ใหญ่ที่เคยไม่กะล่อนคนนี้!
บทความนี้ ผมคัดบางตอนจากหนังสือเรื่องนายปรีดี ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ ของสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2526 แต่ผมอ่านในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ปีพ.ศ. 2543 ทั้งนี้เพื่ออาจจะเป็นการ "เตือนความจำ" ในสิ่งที่ อ.สุลักษณ์ ในวัยชราอาจจะหลงลืมไปเพราะสังขารที่ร่วงโรย หรือโมหจริต อคติที่ อาจารย์สุลักษณ์เองย้ำเตือนบ่อยๆ แต่มนุษย์ก็ยังคงอยู่ภายใต้ "กฎ" นั้นไม่เว้นแต่ตัวท่านเอง
Homo erectus
*****
บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในระดับชาติของไทย ซึ่งไม่มีใครเทียบเท่าได้ ในรอบ 1 ศตวรรษมานี้ ความสำคัญของเขาอยู่ในระดับเดียวกับเมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม และเนห์รูของอินเดีย แต่เหตุไฉนเขาจึงต้องไปตายต่างแดนดังผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษอีก 3 นายนั้น ได้รับการปลงศพอย่างใหญ่ยิ่งในนามของรัฐ และมีอนุสรณ์สถานไว้อย่างมโหฬารในนครหลวงนั้นๆ ด้วย
ทั้งนี้เป็นเพราะนายปรีดี ได้เคยกระทำความผิดพลาดทางการเมืองมากระนั้นหรือ คำตอบก็คือใช่ โดยที่รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของประเทศอื่นๆ ก็เคยทำความผิดพลาดมาไม่น้อยไปกว่าเช่นกัน เพราะสามัญมนุษย์ที่ไม่เคยทำผิด ย่อมไม่ใช่มนุษย์ แต่ในด้านบ้านอื่น เมืองอื่น ชนชั้นปกครองมีดวงตาที่มีแวว ที่รู้จักบวกลบคูณหาร หักประโยชน์ตนประโยชน์ท่านแล้ว เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงออก ซึ่งกตเวทิตาธรรม (ทั้งๆ ที่ผู้นำของประเทศส่วนมากไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) ต่อรัฐบุรุษผู้เคยทำบุญคุณมากับประเทศชาติ เพื่อประชาราษฎรจะได้รู้จักยึดเหนี่ยวน้ำใจไว้ที่คุณธรรม อันเป็นแกนนำของบ้านเมือง แม้ขนาดอูนุศัตรูคู่อาฆาตทางการเมืองที่ฉกาจของเนวิน ยังได้รับนิรโทษกรรมและอโหสิกรรมจากเนวิน ให้กลับมาใช้บั้นปลายชีวิตในสหภาพพม่าอย่างมีเกียรติ
ที่กล่าวมานี้ ออกจะชัดเจนแล้วว่า ชนชั้นนำที่ปกครองบ้าน ปกครองเมือง ตลอดจนที่คุมสื่อสารมวลชนทางด้านสร้างค่านิยมอยู่ในประเทศไทยในบัดนี้ มิได้นำพาต่อปัญหาขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ สัจจะ ความยุติธรรม สัติธรรมและความเป็นไท กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชนขั้นนำรังเกียจประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน อันมวลชนหรือประชาราษฎร์ต้องเป็นใหญ่ ในทางความชอบธรรมเหนืออภิสิทธิ์ชนคนส่วนน้อย ซึ่งฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยความสับปลับ จอมปลอมและหลงละเมอไปกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ทางไสยศาสตร์ ตลอดจนของปลอมอื่นๆ ในทางยศศักดิ์อัครฐานและกามสุขาลิกานุโยค อันแสดงออกทางการเสพวัตถุเกินพอดีในวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้น พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือ ชนชั้นนำของเราที่ควบคุมเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร ตลอดจนข้าราชการพลเรือน และภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงสมณศักดิ์สูงเป็นจำนวนไม่น้อย พากันนับถือพระพุทธศาสนาที่ริมฝีปาก หรือประยุกต์ใช้ด้วยความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง หาไม่ก็มิได้นำพระพุทธธรรมาประยุกต์ใช้ให้ถึงแก่น ให้เหมาะกับปัญหาของสังคมและการเมืองร่วมยุคร่วมสมัย หาไม่ไหนเลย เราจะสอนศิษย์ของเราให้แสดงกตัญญูกตเวที โดยเราเองไม่เคยแสดงถึงแก่น หากแสดงกันตามรูปแบบพิธีกรรม และใครแสดงเข้าอย่างจริงจังและจริงใจ เราก็เกลียดและโกรธ ดังกรณีที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ แสดงมาแล้วกับนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการที่เขาเป็นคนไทย ที่ไปแสดงความเคารพต่อท่านผู้นั้นที่ปารีสเป็นคนแรกอย่างเปิดเผย ผลก็คือนั่นเป็นจุดแรกที่นายป๋วยถูกผลักดัน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ให้ออกพ้นสังเวียนชนชั้นนำของไทยไป
ยิ่งเรื่องประชาธิปไตยด้วยแล้ว ชนชั้นนำของเราแทบทุกระดับไม่มีศรัทธาปสาทะเอาเลย หลายคนยังอยู่ในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นตัวนำความหายนะมาให้ประเทศไทยในทุกๆทาง มิเช่นนั้นแล้ว เหตุไฉน เขาจึงกลับมีอนุสาวรีย์ ที่องค์พระประมุขถึงกับเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเล่า ทั้งๆ ที่กำพืดของเขาก็เป็นไพร่ และเรามีอนุสาวรีย์ของไพร่ที่ไหนบ้างไหม เว้นไว้เสียแต่คนนั้นๆ จะถูกฆ่าตาย หรือใช้ประโยชน์ในทางการเมืองจากคนนั้นๆ ได้ต่างหาก แม้ที่สุดจนชื่อเขื่อน ชื่อมหาวิทยาลัย เราเคยนำชื่อของไพร่และขุนนาง ที่ทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเมืองมาตั้งขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติบ้างหรือเปล่า ยิ่งราษฎรตาดำๆ ด้วยแล้ว อย่าได้พึงหมายว่า จะได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างจริงจังเลย เว้นไว้แต่เพียงในฐานะสมุหนาม เพียงแค่ริมฝีปาก เพื่อผู้สรรเสริญนั้นๆ จะได้ยศศักดิ์อัครฐานหรือเงินตรายิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้นเอง เพื่อเขาจะได้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม และหลงอำนาจวาสนาบารมีของตนเองต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ที่จริงสมัยนี้ เราไม่ได้ถอยไปสู่สมัยสฤษดิ์เท่านั้น หากเราพยายามถอยไปสู่สมัยราชาธิปไตยเสียซ้ำ ดังที่เราเน้นที่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่การคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ หรือฐานอำนาจที่ทวยราษฎร์กันเลย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ละอายอะไรกันเลยกับประชาธิปไตยครึ่งใบเสี้ยวใบ หรือแม้ที่สุดจนจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเสียอีกเมื่อไรก็ได้ คำตอบของเราเวลานี้ ดูจะมุ่งไปที่สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ ไปที่อำนาจอันแฝงเร้น และไปที่ผู้กุมกำลังทางทหาร เราไม่เชื่อเลยว่า ราษฎรมีความสามารถและเป็นพลังอันมหาศาล ที่เมื่อผนวกกับความชอบธรรมเข้าแล้วสามารถต้านกระแสอธรรมใดๆ ก็ได้ มิใยว่าฝ่ายนั้นมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงใดก็ตาม เราพยายามทำลายพลังของผู้นำกรรมกร เราพยายามบั่นทอนการรวมตัวกันของผู้นำกสิกร ดังเราได้พิฆาตลูกหลานของเราในมหาวิทยาลัยมาแล้ว ด้วยเลือดอันเย็นไม่แพ้เดรัจฉาน
ชนชั้นนำของเราเวลานี้ ถ้าอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศออกมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว หลายต่อหลายคนยังมีโลหิตฉีดแรง และเดือดพล่านอยู่ เพราะแถลงการณ์ฉบับนั้นท้าทายสถาบันเจ้า โดยถือว่าถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็ต้องโง่เช่นกัน ถ้าเรายังรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ เรายังเป็นประชาธิปไตยกันไม่ได้ และคนอย่างนายปรีดีก็จะได้รับอโหสิกรรมไม่ได้ นายปรีดีจะได้รับเกียรติยศอย่างแท้จริงจากประชาราษฎร ก็ต่อเมื่อราษฎรได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และแถลงการณ์ของนายปรีดีฉบับนี้ กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่เยาวชนของเราทุกคนต้องนำมาอ่านกันในชั้นเรียน ดังที่รุ่นพ่อของเราเคยเรียนเรื่อง สมบัติผู้ดี ของเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดีมานั้นเอง
ชนชั้นนำทางการศึกษาของเราหลายต่อหลายคน ยังต้องการกลับไปหาหนังสืออย่างสมบัติผู้ดี โดยที่เราควรแสวงหาหนังสือเช่น สมบัติไพร่ และเราควรฝึกผู้นำในอนาคตของเราให้เป็นไพร่ ให้เป็นกสิกร ให้เป็นกรรมกร กล่าวคือให้ภูมิใจในศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่เอารัดเอาเปรียบใคร และไม่ยอมให้ใครเอารัดเอาเปรียบ หากให้มีการเกื้อกูลกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ให้เลิกการหมอบคลานดังสัตว์เลื้อยคลานอีกต่อไป ซึ่งเราเห็นได้ชัดตามโทรทัศน์และสื่อมวลชนที่มอมเมาต่างๆ รวมทั้งนวนิยามน้ำเน่าทั้งหลายด้วย ทั้งๆที่ พระจุลจอมเกล้าฯ ทรงประกาศให้เลิกการกระทำเช่นนี้มาก่อนนายปรีดี พนมยงค์เกิดเสียซ้ำ
อีกนัยหนึ่งก็คือ นายปรีดีต้องการนำพระราชปฎิธานของเพราะจุลจอมเกล้าฯ ในเรื่องปาเลียเมนท์และคอนสติติวชั่นให้สัมฤทธิ์นั้นเอง แต่เผอิญนายปรีดีเป็นไพร่ และหายไปท้าทายสถาบันเจ้าเข้า เจ้าที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และพวกที่หาผลประโยชน์จากเจ้าจึงรุมกัดลอบกัด จนนายปรีดีต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปจนตราบอายุขัย มิใยว่านายปรีดีจะทำบุญคุณอันยิ่งใหญ่ให้แก่เจ้าเพียงใด โดยที่นิทานเรื่องชาวนากับงูเห่านั้นเอง ควรเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนอย่างนายปรีดี
ก็ใครเล่า ที่ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเผด็จการ ป.พิบูลสงคราม ซึ่งนอกจากจะข่มขู่เจ้านายและองค์พระประมุข แล้วยังเคยคิดตั้งตัวเป็นกษัตริย์เสียเองอีกด้วย ใครเล่าที่ถวายอารักขาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างใกล้ชิดและห่วงใย ใครเล่าที่ช่วยบันดาลให้เกิดหอสมุดดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าอิฐปูนใดๆ ที่มักนิยมสร้างถวายเจ้ากันในวังหลัง) ใครเล่าที่ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักโทษชายรังสิต ประยูรศักดิ์ แล้วถวายพระราชอิสริยยศคืนขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และที่สำคัญอันสุดท้ายนั้นก็คือ ใครเล่าที่ปกป้องพระราชวงศ์ผู้ประพฤติผิด ในกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ถ้านายปรีดี พนมยงคื ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เคยสอนอาชญากรรมวิทยามาแต่วัยรุ่น บอกให้อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชันสูตรพระบรมศพตามกระบวนการกฎหมายอาญาแต่เมื่อแรกสวรรคต และจับกุมผู้ที่กล้าบังอาจพลิกพระศพ เย็บพระศพ นำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับพระศพไปซัก ไปฝัง ฯลฯ เพื่อปิดบังความพิรุธ ป่านนี้ถ้านายปรีดียังคงเป็นรัฐบุรุษอาวุโสอยู่ในประเทศไทย และการตายของเขาจะเป็นงานศพ อันมีเกียรติยศยิ่งสำหรับราษฎรชาวสยาม โดยที่ผู้นำของรัฐบาลและชนชั้นนำอื่นๆจะไม่กล้านิ่งเงียบ ดังอมสากอยู่ในปากอย่างเช่นในบัดนี้ หากทุกคนจะเอ่ยถึงวีรกรรมของเขา ในฐานะผู้นำทางด้านประชาธิปไตย และที่สำคัญย่งกว่านั้นก็คือ เขาเป็นผู้นำในการกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
วีรกรรมชิ้นนี้ ไม่ด้วยไปกว่าพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินเลยทีเดียว โดยที่อีกร้อยปีข้างหน้า เราไม่อาจปฏิเสธคุณค่าอันวิเศษข้อนี้ของเขาได้ แม้ในบัดนี้เราจะปล่อยให้อคติครอบงำสัจจะไว้ก็ตาม ดังที่พระเจ้าตากสินก็เคยเผชิญชะตากรรมายิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เมื่อสองศตวรรษมานี้เอง
ที่มาพิมพ์ครั้งแรกใน
ไทยแลนด์ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 6 พ.ค. 2526 ม.รามฯ อัดโรเนียวแจกในวัดอภิปรายคล้ายวันปลงศพนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2526, เมล็ดข้าว เศรษฐศาสตร์ ธรรมศสาสตร์รับน้องใหม่
สำเนาโดย : Homo erectus
ที่มา : เวบบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : เตือนความจำ ส. ศิวรักษ์ : ผู้ใหญ่ที่ "เคย" ไม่กะล่อน, บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์
วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
เตือนความจำ ส.ศิวรักษ์ : ผู้ใหญ่ที่ "เคย" ไม่กะล่อน, บทความ ส.สิวรักษ์ ในอดีตรำลึกปรีดี พนมยงค์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 9:42 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ทะเยอทะยาน ต้องการล้มราชบัลลังก์ การกล่าวหาทางการเมืองที่ชั่วช้าเลวทราม
เคยมีนักศึกษาปริญญาเอกบางคนถามผมว่า ทักษิณจะล้มราชบังลังก์จริงหรือเปล่า ผมมองหน้าเขางง ๆ คิดในใจว่า นี่เรียนขนาดนี้ได้อย่างไรวะ ในศควรรษที่ 21 มีราชบัลลังก์ของประเทศไหนบ้าง ที่ถูกล้มโดยนายกรัฐมนตรี แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นแทนบ้าง มันไม่มีใช่หรือไม่ ราชบังลังก์ที่ล้มไปทั้งหมดเกิดจากสงครามกลางเมืองทั้งสิ้น เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่เป็นปฎิปักษ์ต่อระบบกษัตริย์เป็นต้น หรือล่าสุดก็อิหร่านสมัยพระเจ้าชาห์ปาเลวีที่ใช้ระบอบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็ถูกล้มไปโดยไม่ต้องสงสัยอยู่แล้วว่าทำไม
แต่ประเทศที่มี Constitution monarchy เคยมีการล้มระบบเปลี่ยนการปกครองใหม่ โดยนายกฯ มักใหญ่ใฝ่สูง โดยส่วนตัว มีที่ไหนบ้าง มันไม่มีใช้หรือไม่ อย่าบ้าให้มากนักเลยครับ เป็นการทำลายกันทางการเมือง แต่ยังมีคนติดเบ็ดหลงเชื่ออีก ไม่เรียกว่าโง่แล้วไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี
ยกตัวอย่างให้ชัดๆ สมเด็จฮุนเซ็นที่มีอำนาจมากมายกว่าทักษิณมากในกัมพูชา และอยู่ในวิสัยที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองได้ หากคิดจะทำจริงๆ เพราะระบอบกษัตริย์กัมพูชา อ่อนแอและไม่เป็นที่นิยมของคนเขมรบางกลุ่ม ฮุนเซนเขายังไม่คิดจะล้มระบอบกษัตริย์เลย
เพราะอะไรหรือ ก็เพราะมันไม่มีประโยชน์ในทางการเมืองเลยแม้แต่น้อยนิด คนที่คิดแบบนั้น คือ คนในสมัยอยุทธยาตอนปลาย ที่ไม่มีตำแหน่งนายกฯ หากจะแย่งอำนาจทางการเมือง ก็ต้องแย่งจากกษัตริย์อย่างเดียว ไม่มีทางเลือกให้กลุ่มอำนาจทางการเมืองอื่น สมัยนี้อำนาจทางการเมืองอยู่กับนายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนระบอบไปเป็นประธานาธิบดี อำนาจมันก็เท่าเดิม แต่ต้องทำหน้าที่สองอย่างคือ เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เทอมก็จำกัด จะทำไปทำไม ได้ไม่คุ้มเสีย
คนที่คิดอย่างนี้ ผมว่าเขายังมีความคิด ติดอยู่แค่ยุคอยุธยาตอนปลาย สมัยหนังเรื่องสุริโยทัย
การเปลี่ยนระบอบการปกครองจะนำมาซึ่งสงครามกลางเมือง เป็นนายกฯ อยู่ดีๆ อำนาจมีมากมาย อยากแค่เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง แล้วเกิดสงครามกลางเมือง ไม่บ้าก็ต้องเมา ซึ่งคนแบบนี้คงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่แล้ว
ผมว่าคนที่มีความคิดแบบนี้ เชื่อว่าทักษิณจะล้มราชบัลลังค์ พยายามปล่อยข่าว แกล้งโง่ถามคนอื่นเพื่อปล่อยข่าวลือ อย่าบ้าไปมากนักเลยครับ เรื่องจับนายกฯ ชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทำลายกันทางการเมืองนี่ สมควรเลิกไปได้แล้ว เป็นการกระทำที่ชั่วช้าไม่น่าให้อภัย สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมืองไม่รู้จักจบสิ้น เรียกว่าเป็นพวกเสนียดแผ่นดินก็ว่าได้
และใครคิดอย่างนี้ เอามาถามคุณ คุณบอกได้เลยว่า เขาโง่ บ้า และสิ้นคิด
ผมรำคาญคนที่คิดอย่างนี้ครับ จะว่าโง่ก็คงได้ครับ ยิ่งเป็นคนเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วยังคิดอย่างนี้ ผมว่า ทั้งโง่ทั้งบ้า ไม่รู้จบออกมาได้อย่างไร
ตัวอย่างง่ายๆ ในอังกฤษ เคยมีการทำโพลกันบ่อยๆ ว่าจะคงระบบกษัตริย์ไว้หรือไม่ คนเขาก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์มหาศาลมากกว่ามีโทษ ไม่มีนายกฯ คนไหนในโลกที่เป็นนายกฯ อยู่ดีๆ แล้วอยากเป็นประธานาธิบดี อำนาจก็เท่าเดิม แต่สงครามกลางเมืองเกิดขึ้น และหลุดจากตำแหน่งแน่ หากทำแบบนั้น
มันมีตัวอย่างว่าระบบกษัตริย์ง่อนแหง่น คือ ในกัมพูชา ที่อดีตกษัตริย์สีหนุ เข้ามายุ่งกับการเมืองมากไป จนขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี จนแทบจะหาทางออกไม่ได้ เขาก็ไม่คิดจะล้มระบบเปลี่ยนไปเป็นประธานาธิบดี เพราะวัฒนธรรมของชาติมันยากจะเปลี่ยนกันได้ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรในทางการเมืองแม้แต่น้อยนิด อย่างมากที่ฮุนเซนทำคือ แก้รัฐธรรมนูญ จำกัดอำนาจกษัตริย์ไป
พอดีกษัตริย์สีหนุสละราชย์ เขาก็เลยหากษัตริย์ใหม่ที่ไม่มีข้อขัดแย้งกับนายกฯ ซึ่งเขาก็ประนีประนอมกันไปได้ ไม่เคยมีตัวอย่างที่ไหนที่ นายกรัฐมนตรี มีความทะเยอทะยานส่วนตัวอยากเป็นประธานาธิบดี เปลี่ยนแค่ชื่อตำแหน่ง ไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีก็มีศักดิ์ศรีเสมอกัน มันไม่ได้สำคัญที่ชื่อตำแหน่งเลย เมืองไทยยังมีคนบ้าแบบนี้ที่เอาเรื่องนี้มาโจมตีกันทางการเมือง มันไม่ได้เป็นสาระอะไรในทางการเมืองเลย นอกจากมุ่งทำลายล้างกันทางการเมืองด้วยวิธีการสกปรก
หากจะเอาชนะกันทางการเมือง โดยการหานโนบายที่ดีกว่ามาแข่งกัน ผมว่าจะสร้างสรรรค์มากกว่านี้ ใครที่พูดแบบนี้ ตัดสินได้เลยว่า หากไม่โง่ ก็มีเจตนาร้ายทำลายคนอื่นทางการเมือง โง่คงพออภัยได้ แต่รู้แล้วยังทำถือว่า เลว
อีกอย่างหนึ่งใครที่คิดแบบนี้นะครับ ว่าทักษิณจะเป็นประธานาธิบดี ผมแค่อยากถามว่า เป็นประธานาธิบดี มันเท่ห์กว่าเป็น นายกรัฐมนตรีตรงไหน ต่างกันตรงไหนที่ชัดเจน จนต้องการเสี่ยงให้เกิดสงครามการเมือง นอกจากชื่อตำแหน่ง มาจากเลือกตั้งเหมือนกัน อยู่ในตำแหน่งตามวาระเหมือนกัน โดนด่าเหมือนกัน มันต่างกันตรงไหน มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเป็นได้ตลอดชีวิต จนตาย ไม่ต้องมีการเลือกตั้งแบบ ซัดดัม แล้วให้ลูกขึ้นมาเป็นต่อได้ แต่เมืองไทยไม่มีเลือกตั้ง จะทำได้หรือไม่ หากต้องมีเลือกตั้งเหมือนเดิม มันจะต่างกันอย่างไร เป็นนายกรัฐมนตรี หากคนนิยม ก็เป็นได้ตลอดชีวิต หรือจนเบื่อไม่อยากเป็นไปเองแบบ มหาเธห์
คนไทยที่ว่าเจริญกว่าคนเขมร ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าจริง ยิ่งนักวิชาเกินไทย ผมว่า ไม่ได้เจริญก้าวหน้ากว่าเขมรเลย (จำกัดเฉพาะสายรัฐศาสตร์กับสังคมศาสตร์ สายอื่นไม่เกี่ยว)
ผมไม่เชื่อว่า ข้อกล่าวหาพาดพิงนี้ มาจากนายโสภณ สุภาพงษ์ ที่พยายามโยงไปให้ถึงสถาบันกษัตริย์ให้ได้ หากเขาพูดจริง
ผมแน่ใจได้เลยว่าเขาเป็นคนชั่ว ต้องการทำลายล้างคนอื่นทางการเมือง โดยเอาสถาบันมาเป็นเครื่องมือ คนอย่างนี้ ประณามได้ทันที ไม่ต้องวิเคราะห์ให้มาก
ประชาชน(ไทย)
ที่มา : pantown.com : ทะเยอทะยาน ต้องการล้มราชบัลลังก์ การกล่าวหาทางการเมืองที่ชั่วช้าเลวทราม
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:58 หลังเที่ยง 1 ความคิดเห็น
วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ส. ศิวรักษ์และส. ลิ้มทองกุล
อัสนี วสันต์ ในเพลง "ก็เคยสัญญา" เคยแหกปากตะโกนประโยคที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" อันหมายถึงความรักที่แปรผันตามวันเวลาที่ผ่านพ้น แม้ว่าจะสัญญากันไว้หนักแน่นก็ตาม
ประโยคนี้ถูกตอกย้ำให้ฮือฮาอีกครั้งจากปาก แอ๊ด คาราบาว ผู้ซึ่งสวมบทนักร้อง นักดนตรี "เพื่อชีวิต" วิพากษ์วิจารณ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่โฆษณามอมเมาให้คนซื้อทั้งที่ไม่มีคุณค่าสารอาหารแต่ประการใด แต่ในเวลาต่อมา แอ๊ด คาราบาว กลับมาทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลัง "คาราบาวแดง" อย่างที่รู้กัน เมื่อมีคนถาม แอ๊ด คาราบาว บอกง่าย ๆ ว่า
"เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"
กล่าวสำหรับ ส. ศิวรักษ์ แม้นเขาไม่เคยเอ่ยประโยคนี้แบบเดียวกับสองพี่น้องโชติกุลหรือแอ๊ด คาราบาว แต่หลายคนคงจะเอ่ยให้กับเขาไปแล้ว
ส. ศิวรักษ์ เป็นข่าวเด่น ข่าวดังอีกครั้งเพราะถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรสำหรับปัญญาชนสยามรายนี้สำหรับการถูกตั้งข้อหานี้ แต่ที่ต่างออกไปอยู่ตรงที่ว่า หลังได้รับการประกันตัว แทนที่จะยืดอกยอมรับอย่างไม่หวาดหวั่น ส. ศิวรักษ์ กลับให้สัมภาษณ์และเขียน "จดหมายป้ายขี้" ให้อดีต นายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร
ส. ศิวรักษ์ เชื่อว่าการถูกจับของเขาเกี่ยวข้องกับการที่เขาไปวิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นหลังจากถูกจับจึงไม่ลังเลที่จะโจมตีอดีต นายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง ทั้งทางจดหมายที่เว็บไซต์ผู้จัดการนำมาเผยแพร่และการให้สัมภาษณ์ ที่น่าตกใจก็คือเนื้อหาของคำสัมภาษณ์และจดหมายนั้นแสดงให้เห็นความเป็นไปของ ส. ศิวรักษ์ ตามประโยคในเนื้อเพลงของอัสนี วสันต์ ที่ว่า "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน"
เนื้อความใน "จดหมายป้ายขี้" ของ ส. ศิวรักษ์ แสดงให้เห็นว่า ส. ศิวรักษ์ รับเอาความคิดและเชื่อในการเต้าข่าวเรื่องการแสดงละครที่รัชมังคลากีฬาสถาน ของส. ลิ้มทองกุล เข้ามาเต็มเปาอย่างขาดการตรวจสอบ งมงายหมกมุ่นต่อคำพูดของ ส.ลิ้มทองกุล อย่างชนิดที่ขาดการไตร่ตรองเอาเลยทีเดียว ความตอนหนึ่งในจดหมายของ ส. ศิวรักษ์ มีว่า
"รัฐบาลนี้เป็นร่างทรงของบุคคลที่ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังขอให้สังเกตว่างานมหกรรมเสื้อแดงที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬารัชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ นั้น ก่อนที่ทักษิณ ชินวัตร จะปรากฏตัวและเสียง (จากต่างประเทศ) บนจอยักษ์นั้น ได้มีละครเล่นโจมตีพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน แม้จะไม่เอ่ยพระนามตรงๆ ก็ตามที แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ดำเนินคดี และเมื่อทักษิณออกมาแสดงวาทะ เขาก็บอกว่าเขาจะกลับเมืองไทยได้ ก็ด้วยพระราชบารมีที่พระราชทานอภัยโทษให้เขา (ทั้งๆ ที่ความผิดของเขาไม่ใช่เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากเป็นความฉ้อฉลทุจริตอย่างร้ายแรง) หาไม่ เขาก็ต้องอาศัยพลังประชาชน ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเบื้องสูงไม่ช่วยเขา เขาก็จะใช้เบื้องล่างเป็นขบวนการมาล้มล้างเบื้องสูงเสียกระนั้นหรือ แล้วนี่มิเป็นการอ้าขาผวาปีกเกินไปดอกหรือ ชั่งไม่รู้จักตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองเอาเสียเลย"
ความน่าสนใจของจดหมายของส. ศิวรักษ์ นอกจากอยู่ที่การหลงเชื่อลมลิ้มของส. ลิ้มทองกุลอย่างไม่ตรวจสอบแล้ว ยังอยู่ที่การใช้หยิบฉวยสถาบันกษัตริย์มาฟาดฟันทำลายผู้อื่นอีกด้วย
หาก ส. ศิวรักษ์ ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงดังที่เขาพูดไว้หลายครั้ง เขาไม่ควรใช้สถาบัน ฯ เป็นเครื่องมือกล่าวหาผู้อื่น
หาก ส. ศิวรักษ์ คิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จะช่วยในการปกปักรักษาสถาบันฯ ไว้ให้ยืนยาวแล้ว เขาก็ไม่ควรผูกขาดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แบบสร้างสรรค์ไว้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนคำพูดของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร ถึงสถาบันนั้น "เป็นการอ้าขาผวาปีก" "ไม่รู้จักตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา"
ส. ศิวรักษ์ ก็เหมือนใครหลายคนในวัยใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอประเวศ วะสี ศ.ระพี สาคริก กระทั่ง ศ.เสน่ห์ จามริก คือไม่อาจธำรงความสง่างามและความทรงภูมิของตนเองไว้ได้ท่ามกลางความขัดแย้ง
ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างฉุดกระชากลากถูกกันไปคนละข้าง ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไขว้เขวเสียหลักกระทั่งได้รับผลกระทบกับตนเองจนดูเหมือนจะเสียกระบวนไป ภูมิรู้ที่มีอยู่ในตนก็ไม่สามารถช่วยสังคมออกจากความขัดแย้งได้ สับสนกับความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถปรับความคิดความอ่าน
ว่าที่จริง ปรากฏการณ์ "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ส. ศิวรักษ์ หลังกลับจากเมืองนอก ที่ยังหนุ่มและใหม่เสียจนจับต้นชนปลาย แยกผิดแยกถูกไม่ออกในบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคุณหรือโทษต่อสถาบันกษัตริย์
เราได้เห็น ปรากฏการณ์ "เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน" ของส. ศิวรักษ์ เกิดขึ้นอีกครั้งต่อกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เขาออกตัวยืนข้างศักดินาและภาคประชาชนปลอม ๆ อย่างเปิดเผย
"เพราะคุณมีสถาบันกษัตริย์จะต้องมีศักดินาเล็กน้อย
มีศักดินาเล็กน้อยไม่เสียหาย แต่มีศักดินามากเกินไปเสียหาย"
(สัมภาษณ์ : สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าด้วยคดีหมิ่นฯ ก่อนเดินทางไปอังกฤษ)
ส. ศิวรักษ์ นั้นแตกต่างกับส. ลิ้มทองกุลอย่างเทียบกันไม่ติด แต่ดูเหมือนว่าทั้งคู่กับกำลังโน้มเข้าหากันคือเอาตัวรอดโดยผูกขาดความจงรักภักดี และใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อโจมตีคนอื่น.
เมธัส บัวชุม
ที่มา : บล็อกกาซีน (ประชาไท) : เสียงข้างน้อย : ส. ศิวรักษ์และส. ลิ้มทองกุล
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 9:17 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ทำยังไงให้คนเชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ!
"If you tell a big enough lie and
tell it frequently enough, it will be believed. "
"หากท่านโกหกเรื่องใหญ่มากพอ,
โกหกบ่อยครั้งเพียงพอ, เรื่องนั้นจะถูกเชื่อ"
Adolf Hitler, Mein Kampf
"Why the second reich collapse"
(อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, การต่อสู้ของข้าพเจ้า
"เหตุใดจักรวรรดิไรค์ที่ 2 จึงล่มสลาย")
เคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมคนที่ดูฉลาด เก่งกาจ จำนวนมาก กลับตกเป็นสาวกลัทธิแปลกประหลาดที่ผิดสามัญสำนึกโดยสิ้นเชิงเคยสงสัยกันไหม ว่าทำไมฝูงชนหมู่มากเมื่อมารวมกัน จึงถูกหลอกให้เชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ และไม่ควรเชื่อได้บ่อยๆเคย สงสัยกันไหม ว่าชนชาติที่ขยัน อดทน และมีมันสมองชั้นเลิศอย่างญี่ปุ่นและเยอรมัน จึงถูกผู้นำหลอกให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำพูดของเขาได้
นักสื่อสาร นักจิตวิทยา ต่างศึกษาจิตใจของผู้คน และกระแสของมวลชน จนสรุปว่า การ propaganda (ไทยแปลศัพท์ว่า โฆษณาชวนเชื่อ) เป็นต้นเหตุของความผิดเพี้ยนทางความคิดทั้งปวงแน่นอนว่า นักจิตวิทยาและนักสื่อสารบางส่วนนำผลสรุปนี้ไปใช้ประโยชน์ สร้างระบบจิตวิทยามวลชน อุปาทานหมู่ เพื่อจุดประสงค์บางอย่างทำอย่างไรเราจะรู้ทันการโฆษณาชวนเชื่อนี้ล่ะ
บทความนี้ไม่ได้มีเพื่อให้นำวิธีการต่างๆไปใช้ แต่เพื่อให้รู้เท่าทันและระวังตัวไม่ตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่ออีกต่อไปหลักการโฆษณาชวนเชื่อ อาจสรุปลงง่ายๆ 7 ข้อ ได้แก่
1.
Ad Hominem : โจมตีตัวบุคคล
สร้างศัตรูบุคคลขึ้นมาเป็นหุ่นรับการโจมตีหลัก แล้วจับผิด โจมตี ด่าทอ ต่อว่า ทั้งเรื่องส่วนตัวและคำพูดทุกคำพูดของคนๆนั้น รวมถึงการสร้างภาพให้ฝ่ายศัตรูที่ตั้งขึ้นมาโจมตีเป็นปีศาจร้าย เปรียบเทียบกับความชั่วร้ายในโลกทั้งมวล ทั้งในพระคัมภีร์ศาสนาและประวัติศาสตร์
ตัวอย่างเช่น การโฆษณาชวนเชื่อโจมตีสตาลิน ในยุคลัทธิแม็คคาร์ธีของสหรัฐทศวรรษที่ 60 ว่าโหดม ดุร้าย ป่าเถื่อนไร้อารยธรรม การสร้างข่าวโจมตีนายกฯวินสตัน เชอร์ชิลว่าเป็นคนโง่ ดื้อด้าน ของนาซี หรือแม้แต่การโฆษณาโจมตีฮิตเลอร์ว่าเป็นอัตติลาชาวฮัน หรือทายาทซาตาน ตัวแทนสัตว์นรก 666 ของฝ่ายสัมพันธมิตรเอง
2.
Ad nauseum : พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก
มีสำนวนไทยว่าไว้เข้าทีว่า "น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน" แล้วใจคนอ่อนๆจะทนได้อย่างไร(ฮา) เมื่อนำ้คำลมปากกรอกหูเข้าทุกวันสาวบางคนมีแฟนหนุ่มหล่อเท่อยู่ดีๆ วันเลวคืนร้ายเพื่อนตัวดีกริ๊งกร๊างมาว่า " นี่เธอ เพื่อนของฉันเห็นหนุ่มหล่อๆหน้าตาคล้ายๆแฟนเธอเดินควงอยู่กับหนุ่มที่ไหนก็ ไม่รู้ เนี่ย ชั้นล่ะสงสัยอยู่แล้วนะ ว่าแฟนเธอจะเป็นเกย์"
หนแรกไม่เชื่อหัวเราะใส่โทรศัพท์
หนสองเริ่มลังเล
หนสาม เอ๊ะ ชักไม่เข้าที ลองถามที่รักดูดีไหมนะ
หนสี่อดรนทนไม่ได้ถามออกไป ปรากฏว่าเป็นคุณแฟนพาคุณพ่อไปโรงพยาบาลซะฉิบ แต่คราวนี้
หนที่ห้าถ้ามีอีก คุณอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าแฟนคุณโกหก แม่เพื่อนตัวดีก็ใส่ไฟใหญ่ "เนี่ย แฟนเธอโกหกชัดๆ ผู้ชายที่เพื่อนชั้นเห็นเดินควงกับแฟนเธอน่ะ ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่เลย สัก 16-17 นี่แหละ จะเป็นคุณพ่อได้ยังไง"
หนที่หกเริ่มหงุดหงิดทุรนทุราย ออกสะกดรอยตาม แต่ก็ไม่เจอจังๆ
หนเจ็ด แฟนจับได้ว่าแอบตามเขาไป
"นี่คุณไม่ไว้ใจผมใช่มั้ย ถ้าอย่างนี้ เราเลิกกันดีกว่า"
ต้องนั่งร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า จะโทษเพื่อน เพื่อนตัวดีก็บอกว่า
"ก็ขอโทษนะ ฉันไม่ได้เห็นเองนี่ เพื่อนของเพื่อนฉันบอกมาอีกที แถมเค้าไม่ได้บอกว่าเป็นแฟนเธอนิ แค่หน้าคล้ายๆ"
แต่สุดท้าย คุณก็เห็นแม่เพื่อนตัวดีเดินจู๋จี๋กับแฟนเก่าคุณซะงั้น......
3.
Big Lie : โกหกคำโต
โยเซฟ เกิบเบิลส์(1897-1945) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ(minister of propaganda) มือขวาของฮิตเลอร์ กล่าวว่า
"The bigger the lie, the more it will be believed."
"ยิ่งโกหกคำโตเท่าไร, มันยิ่งน่าเชื่อไปเท่านั้น" และ
"The great masses of people will more easily fall victims to a big lie than to a small one."
"ฝูงชนมหาศาลถูกหลอกด้วยการโกหกเรื่องใหญ่
ง่ายกว่าโกหกเรื่องเล็กๆ"
การ โกหกเรื่องเล็กๆที่มีรายละเอียดปลีกย่อย อาจมีผู้จับโกหกได้ง่าย แต่การโกหกเรื่องใหญ่ๆเพื่อหลอกให้เชื่อ มันย่อมครอบคลุมเรื่องต่างๆหลากหลาย อย่างน้อยต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกจริตผู้ฟัง และเมื่อคนพูดพูดในสิ่งที่คนฟังอยากจะเชื่ออยู่แล้ว เขาก็พร้อมจะยอมเชื่อโดยดี แม้ว่าคำโกหกเรื่องใหญ่นั้น จะเท็จครึ่ง จริงครึ่ง หรือไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความจริงอยู่เลย
4.
Name calling : สร้างสมญานาม
การสร้างชื่อแทนใช้เรียกย่อๆ ง่ายๆ และตีความได้เข้าข้างตัวเอง หรือสร้างภาพเสียหายให้ศัตรู เป็นเทคนิคของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง
เช่น Iron Curtain : ม่านเหล็ก ที่ดูน่ากลัว, The Third Reich ที่ย้อนโหยหาคืนวันอันรุ่งเรืองในอดีต และมักใช้สถาบันที่สูงส่งเข้ามาสร้างภาพเป็นส่วนหนึ่งของชื่อด้วย เช่น Imperial Army : กองทัพบกของสมเด็จพระจักรพรรดิ ของกองทัพญี่ปุ่น ถ้าจะหาเอาใกล้ๆก็เช่น ฟักแม้ว, หน้าเหลี่ยม, หมูกชมพู่, นอมินีเหลี่ยม, กะทิ, มารเฒ่าแซ่ลิ้ม, โจรโพกผ้าเหลือง เป็นต้น
5.
Black and White fallacy :
ตรรกะผิด-ถูก แบบขาว-ดำ
ผู้โฆษณาชวนเชื่อ ต้องสร้างภาพการแบ่งแยกฝ่ายถูกผิดชัดเจนเป็นสีขาว-ดำ ใครเข้าข้างจะเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายธรรมะ ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายอธรรมทันที ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คำพูดของจอร์จ บุช จูเนียร์ เมื่อตัดสินใจบุกอิรักว่า "If you don't be aside with America, you are with terrorrist."
ใน โลกสีเทาหม่นๆของความเป็นจริง เราแสวงหาความดี ความถูกต้อง ตามหลักคำสอนทางจริยธรรมและศีลธรรมอยู่เสมอ เมื่อผู้โฆษณาชวนเชื่อตั้งธงให้เข้าร่วมกับความถูกต้องชัดเจนย่อมไม่แปลกที่ จะหลงเชื่อในสิ่งที่เขากล่าวอย่างง่ายดาย และอาจไม่ฉุกคิดเลยว่า สิ่งที่เขาพูดไม่ตรงกับการกระทำอย่างใดเลย
ใช่-ไม่ใช่พี่น้อง (ฮา)
6.
Flag Waving, Beautiful thing, and Great People reference :
ชูธงสูงส่ง อ้างสิ่งสวยงาม ตามหลักมหาบุรุษ
การโฆษณาชวนเชื่อนั้นจะอ้างตนเองและกลุ่ม แนวคิดของตน ให้ดูยิ่งใหญ่ สูงส่ง อลังการ มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ด้วยคำพูดและป้ายประกาศ ใช้ข้อความที่ดูดี อ้างอิงสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือนามธรรมที่คนยอมรับว่าดี เช่นเทพเจ้า พระเจ้า เทพยดา อ้างแนวทางของบุคคลในประวัติศาสตร์ ศาสดาที่ยิ่งใหญ่ เช่น พระพุทธเจ้า พระมะหะหมัด พระคริสต์ มหาตมะคานธี อับราฮัม ลินคอล์น อ้างพระคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ ฯลฯ
แต่ การอ้างดังกล่าวแตกต่างไปจากการเผยแผ่หรือโน้มนำที่ดีตามปกติ ด้วยว่าการโฆษณาชวนเชื่อ จะนำภาพลักษณ์ที่ดูสูงส่งสวยงามเหล่านั้นมาบิดเบือนให้เข้าข้างแนวคิดของตนเช่น นาซีอ้างพระคัมภีร์ที่ว่ายูดาทรยศพระคริสต์ มาบ่มเพาะความเกลียดชังชาวยิวทั้งหมด โดยละเลยไปว่าพระคริสต์เองและอัครสาวกก็เป็นชาวยิว,ฏอลิบันอ้างกุรอ่าน ว่าห้ามบูชารูปเคารพ มาทำลายพระพุทธรูปโบราณที่บามิยัน ทั้งๆที่ไม่มีใครแถวนั้นบูชาอีกแล้ว เป็นเพียงมรดกศิลปะเก่าแก่เท่านั้น
7.
Disinformation by mass media :
ควบคุมกำจัดข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชน
การบอกข้อมูลไม่ครบ บอกความจริงไม่หมด เลือกแต่เฉพาะข้อมูลหรือข่าวที่ส่งผลดีต่อฝ่ายตนเอง ใช้การอ้างนอกบริบท หรือนำคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาแต่งเติมเสริมเข้าไปให้ดูดี....ยิ่ง ใช้สื่อมวลชนที่เข้าถึงคนหมู่มาก ยิ่งบอกผ่านกันไปปากต่อปาก และยิ่งดูน่าเชื่อถือ หลายๆคนพอตั้งข้อสงสัย ก็ถูกตอบว่า "ก็ทีวีว่ามาอย่างนี้ล่ะ"
ข้อนี้เราคงเห็นกันตามสื่อสารมวลชนอยู่ทุกวันแล้วนะครับ
ปกติ หน้าที่ของสื่อข้อหนึ่งคือ Gatekeeper ผู้คัดกรองข่าวสาร เลือกข่าวสารที่มีประโยชน์และเป็นจริง และกำจัดข้อมูลชยะที่เป็นเท็จและไม่เป็นประโยชน์ทิ้งไปรวมถึงการเรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่เมื่อสื่อมาโฆษณาชวนเชื่อแล้ว การคัดกรองข่าวสารก็จะบิดเบี้ยวกลาย เป็นว่า คัดเฉพาะข้อมูลที่เข้าข้างฝ่ายตน มีประโยชน์ต่อตนเอง หรือหากข้อมูลเป็นกลางก็จะนำมาตัดแต่งเติมต่อตีความให้เข้ากับแนวคิดของตน เองรวมทั้งการเรียบเรียงให้ง่าย(simplification) ที่ตัดทอนและละเลยข้อเท็จจริงไป แล้วนำเรื่องยากซับซ้อนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจสูงมาพูดเป็นเรื่องพื้นๆให้ คนเชื่อตาม
เ่อ่อ นี่อาจจะเป็นตัวอย่างได้
breakingnews : "สนธิ"เตือนศก.ไทยเจ๊งตามUSA
การโฆษณาชวนเชื่อ แตกต่างและน่ากลัวกว่าการโฆษณาและชักจูงตามปกติเพราะมันจะทำให้ตรรกะของคุณบิดเบี้ยวโดยคุณไม่รู้ตัว
คุณจะเห็นคนอื่นผิดหมด ขณะที่ตัวเองถูกต้องเพียงคนเดียว
คุณจะไม่เหลียวแม้แต่หางตามองสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเชื่อของคุณ
คุณจะกล้าใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ เสียดสี คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ
ทั้งๆที่คุณไม่เคยมีนิสัยหยาบคายมาก่อน
คุณจะพร้อมบริจาค ทุ่มเททั้งกำลังกายและทรัพย์สินให้กับสิ่งที่คุณเชื่อ
โดยไม่เหลือให้ตัวเองและครอบครัวและเมื่อคุณรู้ตัว สังคมของคุณจะเหลือเพียงแต่กลุ่มคนที่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อแบบเดียวกับคุณเท่านั้น
War is Peace
Freedom is Slavery
Knowledge is Ignorance
Big Brother is Watching You!
ระวัง!
ผมอาจจะกำลังโฆษณาชวนเชื่อ
พวกคุณผู้อ่านอยู่เช่นกัน
เทราสเฟียร์ เอล เซราฟีเตอร์
อ้างอิง
1. กิติมา สุรสนธิ. การสื่อสารสาธารณมติ. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.
2. http://en.wikiquote.org/
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Propaganda
4. http://www.holocaustresearchproject.org%20...%20zprop.html/
ที่มา : Dek-D.com : ทำยังไงให้คนเชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ!
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:41 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
ชาร์ลส์จะเป็นประธานาธิบดี? ไม่ใช่ประธานาธิบดีของผม : บทความคนอังกฤษเขียนด่าราชวงศ์
แม้ว่ารัชทายาทคนนี้จะเป็นอัจฉริยะ
ผมก็จะต่อต้านสิทธิในการเป็นผู้นำโดยไม่ต้องเลือกตั้งของเขาอยู่ดี
และแล้วคนอังกฤษก็กำลังจะมีประธานาธิบดี เขาจะ"พูดแทนอังกฤษและพูดกับอังกฤษ" เขาจะปกครองพวกเราด้วย"ความรู้และความสัมพันธ์และความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์"ของเขา เราทราบได้อย่างไร? ก็เพราะชาร์ลส์ วินด์เซอร์ (Charles Windsor) เพิ่งประกาศไปไม่นานนี้ผ่านคนเขียนชีวประวัติของเขาชื่อ โจนาธาน ดิมเบิลบี (Jonathan Dimbleby) ว่าเขากำลังจะยึดตำแหน่งนี้ด้วยตัวเขาเองโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ดิมเบิลบี กล่าวว่า ชาร์ลส์ตั้งใจจะเป็นกษัตริย์"ทางการเมือง" โดยการอ้างถึงประธานาธิบดีไอร์แลนด์และเยอรมนีอย่างชัดเจน มันจะเป็น"การเปลี่ยนแปลงบทบาทของกษัตริย์ครั้งมหึมา" เขากล่าว "มันมีโอกาสจะเป็นระเบิดทางการเมืองและระเบิดทางรัฐธรรมนูญ"
ร้องเพลงกันสิ พี่น้อง นี่เป็นข่าวดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาของพวกเราชาวนิยมสาธารณรัฐ และข่าวนี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่าราชวงศ์อังกฤษที่ล้าสมัยจะตกต่ำอย่างไร
ชาร์ลส์กล่าวว่า "ความรับผิดชอบและอำนาจในตำแหน่งของเขา" อันนำมาซึ่ง"ปัญญา" บังคับให้เขาต้อง"พูด"และ"กดดัน"บรรดาตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งจากพวกเรา พวกบัณฑิตขี้ประจบต่างก็ตอบโต้ด้วยการกู่ร้องว่า – ใช่! ได้โปรดพูดเพื่อพวกเรา โอ้ พระราชา! พวกเราชาวไพร่ฟ้าไม่อาจจะมีลูกฉลาดๆเหมือนพระองค์ได้! ดังนั้น ผมคงจะต้องกล่าวอะไรอย่างหนึ่งที่มันชัดเจนมากจนดูแปลกที่จะต้องมากล่าวมันในปี 2008 เช่นนี้
ตำแหน่งของชาร์ลส์เป็นผลมาจากสิ่งเดียวและเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นจริงๆ: เขาออกมาจากมดลูกของ อลิซาเบธ วินด์เซอร์ เมื่อ 60 ปีที่แล้ว แค่นั้นแหละ เขาไม่มี"หน้าที่" เขาไม่มี"อำนาจ"ตามกฎหมาย เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะ"พูดแทนอังกฤษและพูดกับอังกฤษ"หรือเก็บเงินกว่า 7 ล้านปอนด์ต่อปีเข้ากระเป๋าตัวเองมากไปกว่าคุณหรือผมหรือหรือคนข้างๆคุณที่ป้ายรถเมล์
ถ้าไม่ใช่เพราะการเดินทางที่แสนโชคดีผ่านมดลูกราชวงศ์ ความคิดเห็นที่แสน "ฉลาด" ของชาร์ลส์ก็คงจะไปอยู่ในหนังสือพิมพ์หน้าความคิดเห็นที่นอนจมกองฝุ่นอยู่ในถังขยะไปแล้ว ถ้าผู้สนับสนุนเขาไม่พร่ำสรรเสริญเขาว่าเป็น"ปัญญาชนสาธารณะ" ผมก็คงไม่ต้องหยาบคายจนต้องกล่าวเช่นนี้ แต่ชาร์ล วินด์เซอร์ เป็นคนที่โง่อย่างน่าอัศจรรย์ ทุกๆครั้งที่เขาถูกทดสอบความสามารถในสถานการณ์แห่งการแข่งขัน ที่ซึ่งเขาจะถูกตัดสินโดยเกณฑ์อันยุติธรรม เขาคือหายนะมาโดยตลอด
ทั้งๆที่ได้รับการศึกษาที่แพงที่สุดเท่าที่เงินจะซื้อได้ เขากลับได้แค่เกรด B และ C ในผลสอบเอ-เลเวลของเขา และทั้งๆที่ได้เกรดเพียงเท่านี้ เขากลับได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ซึ่งเขาล้มเหลวอีกครั้งจนเกือบจะไม่ได้ 2:2 (ปริญญาขั้นรองต่ำสุดของอังกฤษ - ผู้แปล) เมื่อเขาถูกส่งไปกองทัพเรือ เขาแย่เรื่องการเดินเรืออย่างมากจนทำเรือชนเป็นประจำ ถ้าเป็นคนอื่นก็จะต้องโดนขึ้นศาลทหาร แต่กลับกัน กองทัพเรือกลับสอนเขาตัวต่อตัวเป็นเวลาหลายปี และเขาก็ยังคงล้มเหลว
แล้วความคิดของเขาเป็นอย่างไร? มันคือความสับสน ความไม่รู้ การย้ำข้อความซ้ำๆซากๆที่เขาเพิ่งได้ฟังจากคนที่เขาเพิ่งพูดด้วย ดิมเบิลบี คนเขียนชีวประวัติของเขาผู้น่าสงสารยอมรับว่า คนใช้ของเขา"อึดอัดกับนิสัยการชอบด่วนสรุปของเขาเวลาที่ยังไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ" เอ็ดเวิร์ด เอเดียน (Edward Adeane) เลขาฯส่วนตัวของชาร์ลส์หลายปี ถูกรบกวนด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า "ชาร์ลส์ถูกผู้คนชักจูงได้ง่ายอย่างเหลือเชื่อ"
การ"แทรกแซง"เหล่านี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง? ชาร์ลส์ วินด์เซอร์ ดูถูกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เขาโจมตีว่ามัน"ขาดจิตวิญญาณ"และ"ทำตัวเป็นพระเจ้า" ดังนั้น เขาจึงใช้ตำแหน่งของเขาโจมตีผู้มีวิชาชีพในด้านการช่วยชีวิต เช่น แพทยสภาอังกฤษ และกล่าวว่าเขารู้ดีกว่า
เขาเรียกร้องให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินให้กับ "การแพทย์ทางจิตวิญญาณ, การแพทย์ทางเลือก" และเป็นคนสำคัญที่ทำให้ระบบประกันสุขภาพตอนนี้ต้องจ่าย 200 ล้านปอนด์ต่อปีเพื่อเรื่องนี้ แต่ดังที่ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ได้กล่าวไว้ว่า มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า การแพทย์"ทางเลือก" ถ้าการรักษาใดทดลองกับคนไข้แล้วใช้ได้ผล มันจะไม่เป็น"ทางเลือก"อีกต่อไป: มันจะเป็นการแพทย์ และแพทย์ก็จะสั่งจ่ายยาเหล่านั้น ดังนั้น คำว่า "แพทย์ทางเลือก" จึงมีนิยามว่าเป็นการแพทย์ที่ใช้ไม่ได้ผลในการทดลอง มันจึงไม่เป็นการแพทย์แต่อย่างใด
ความคิดอื่นๆของชาร์ลส์ก็มีดีอยู่เหมือนกัน แม้แต่บางที(นานๆครั้ง)ที่เขาพูดถูก ชาร์ลส์ก็ทำให้มันเสียด้วยความดัดจริตเสแสร้ง การต่อต้านเรื่องโลกร้อนของเขาจะดูน่าเชื่อถือกว่านี้หากเขาไม่ได้เป็นหนึ่งในคนที่สร้างมลภาวะมากที่สุดในอังกฤษ เขาใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางเล็กๆน้อยๆของเขา ที่เขาบอกว่าเขาเป็นห่วงคนจนจะดูน่าเชื่อถือกว่านี้หากเขาไม่เอาที่ดินสาธารณะมูลค่ากว่า 300 ล้านปอนด์ที่ควรจะเอาไปใช้สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลไปใช้จ่ายกับความเสื่อมโทรมของเขาอย่างน่าตกใจ
แต่ถ้าเกิดว่าชาร์ลส์เป็นอัจฉริยะผู้นำเสนอวาระทางการเมืองที่ผมเห็นด้วยทุกอย่าง ผมก็จะต่อต้าน"สิทธิ"ของเขาในการเป็นประมุขของรัฐโดยไม่ต้องเลือกตั้งอยู่ดี ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจควรจะต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากสายเลือด แต่กระนั้น ชาร์ลส์ก็ได้แสดงให้เห็นความตั้งใจของเขาในการใช้ตำแหน่งที่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรงของเขาข่มขู่ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งมาหลายทศวรรษ ปีเตอร์ มอร์ริสัน (Peter Morrison) อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าชาร์ลส์เรียกตัวเขาไปที่พระราชวังเคนซิงตันและตะเบ็งเสียงและตะโกนใส่เขาและทุบโต๊ะเมื่อมอร์ริสันไม่ยอมรับความคิดของเขาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ
เป็นเรื่องง่ายที่จะนึกเอาเองว่าในฐานะที่ชาร์ลส์เป็นกษัตริย์ เขาก็คงไม่มีอำนาจ – แต่นี่ไม่เป็นความจริง กษัตริย์พบปะกับนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงทุกสัปดาห์ เขาสามารถอ่านรายงานของรัฐบาลทั้งหมด และกรณีที่ผลการเลือกตั้งเสมอ เขาจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ: มันเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี 1974 และมันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
เพื่อความยุติธรรม พวกเราควรจะโทษตัวเราเองมากพอๆกับชาร์ลส์ ระบอบกษัตริย์ทำลายบุคลิกภาพของพวกเขาอย่างถึงแก่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตั้งแต่เด็ก พวกเขาไม่เคยได้ยินอะไรนอกไปจากบรรดาคนประจบสอพลอ แฟนเก่าของชาร์ลส์คนหนึ่งกล่าวว่า "เขาอาศัยอยู่ในโลกแห่งการประจบ เขาไปฮอลลีวูดและได้รับคำชมว่าเขาหล่อเหลา เขาแลกเปลี่ยนโจ๊กกับนักเขียนการ์ตูนอัจฉริยะอย่าง ปีเตอร์ เซลเลอส์ และพวกเขาก็ลงไปหัวเราะดิ้นอยู่บนพื้น เขามีเซ็กส์กับผู้หญิงคนหนึ่งและเธอก็บอกเขาว่าเขาเป็นคนรักที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอ" มันเป็นเพราะระบบนี้ที่ทำให้คนธรรมดาที่โง่เง่าคนนี้หลงเชื่อว่าเขาได้รับสิทธิอันมีมาแต่มดลูกให้มาเป็นประธานาธิบดีของพวกเรา พวกเราสร้างมัน พวกเราสร้างปีศาจตนนี้
ดังนั้น อะไรจะเกิดขึ้นถ้าผู้ชายคนนี้ก้าวสู่บัลลังก์และอวดอ้างว่าเป็นประธานาธิบดีของพวกเรา? ในประเทศสเปน โซเฟีย เฟรเดริกา "พระราชินี" เริ่มพูด และเสียงสนับสนุนระบอบกษัตริย์ก็หดหายไป
ดังนั้น จงให้ชาร์ลส์ได้พูด ให้เขาได้ครองอำนาจ ให้เขาได้สำรอกความโง่ของเขาจากพระราชวังอันงดงามของเขา ชาร์ลส์ วินด์เซอร์ – ณ ช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะเจาะอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน – จะนำพาเราไปสู่สาธารณรัฐอังกฤษในที่สุด
Johann Hari
แปลโดย : Invisible Hands
ต้นฉบับ : The Independent : Johann Hari: Charles as President? Not in my name
สำเนาโดย : สมเสร็จเปรม
ที่มา : เว็บบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : Johann Hari: ชาร์ลส์จะเป็นประธานาธิบดี? ไม่ใช่ประธานาธิบดีของผม, บทความคนอังกฤษเขียนด่าราชวงศ์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:59 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
ยาขม
นิยายจีนกำลังภายในรุ่งเรืองในเมืองไทยช่วงทศวรรษ 2500 ก็จริง แต่ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากรัฐในช่วง ปี 2519 หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคมปีนั้น รัฐเผด็จการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชนด้วยการกุมสื่อทุกชนิดในมือ เป็นผลให้เกิดความอึดอัดอึมครึม ไม่มีใครกล้าเขียนวิพากษ์รัฐ การสูญอิสรภาพในการเสนอข่าวเป็นผลให้หนังสือพิมพ์บางฉบับเริ่มเข้าหาความบันเทิงแทนการเสนอข่าว ไม่นานต่อมาก็ปรากฏนิยายจีนกำลังภายใน บนหน้าหนังสือพิมพ์ให้อ่านอย่างจุใจทุกวัน
ประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษยชาติสอนว่า สิ่งแรกที่เผด็จการกระทำเมื่อขึ้นครองอำนาจคือปิดปากประชาชน หลายรัฐเผาทำลายหนังสือ ฝังนักปราชญ์ตายทั้งเป็น พวกเขาเชื่อว่าเมื่อปิดหู-ตา-ปาก ราษฎรแล้ว การปกครองก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น
ปกครองคนโง่ ง่ายกว่าปกครองคนฉลาด
แต่ประวัติศาสตร์ของโลกก็แสดงให้เห็นชัดมาทุกยุคทุกสมัยว่า ไม่มีอำนาจใดสามารถปิดปากประชาชนได้นาน ไม่เคยมีเผด็จการใดอยู่ค้ำฟ้า ธรรมชาติของคนต้องพูด ต้องแสดงออก การปิดหู-ตา-ปากคน ก็เหมือนการสร้างเขื่อนไม้กั้นมหาสมุทร สักวันย่อมแตกทลาย
โรคที่ผู้มีอำนาจจำนวนมากกลัวกันก็คือโรคกลัวคำวิพากษ์ วิจารณ์ เมื่อคนใกล้ชิดรักษาโรคชนิดนี้ด้วยคำชม คำป้อยอ ตามหลัก "ชเลียร์ศาสตร์" อาการยิ่งทรุดหนัก ตาพร่านึกว่าตนเองเป็นพระเจ้า หากพวกเขายอมเชื่อคำของคนโบราณสักนิดอาจเคยได้ยินคำโบราณที่ว่า
"หวานเป็นลมขมเป็นยา"
ยาโบราณที่รักษาโรคมักเป็นยาขม หลักแม็คโครไบโอติกส์สอนว่า อะไรที่หวานเป็นพิษทั้งสิ้น คนที่กินน้ำตาลมากๆจะตายเร็วมนุษย์ส่วนใหญ่เกลียดยาขม อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้กระมัง ที่แม้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของโลกค้มครองเสรีภาพในการแสดงออก แต่ผู้นำหลายคนในยุคอินเตอร์เน็ต ก็ยังคงชอบสวมตะกร้อครอบปากประชาชน
ในปี คศ 1717 นักเขียน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ Francois Marie Arouet เขียนหนังสือวิพากษ์รัฐบาลฝรั่งเศส เขาถูกจำขังในคุกบาสติลล์นานสิบเอ็ดเดือน เขาใช้เวลาช่วงที่อยู่ในคุกเขียนหนังสือ คล้ายๆสุนทรภู่ของไทย เริ่มที่บทละครเรื่อง Oedipe ใช้นามปากกาที่ต่อมาคนทั้งโลกรู้จักดีคือ วอลแตร์
วอลแตร์กล่าวว่า
"ข้าพเจ้าอาจไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ท่านพูด
แต่ข้าพเจ้าก็ยอมตายเพื่อที่จะรักษาสิทธิในการพูดของท่าน"
ในโลกของการเขียนหนังสือ หากนักเขียนเป็นพวกกลัวคำวิจารณ์ ย่อมไม่มีทางรับรู้มุมมองอื่นที่แตกต่างไปจากที่ตนคิด และอาจจะเสียโอกาสพัฒนาความสามารถเต็มศักยภาพ
คนทำก๋วยจั๊บ คนขายข้าวหมูแดง คนขายขนม แม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กำไล แม่ประนอม แม่เจ้าคุณ ฯลฯ ล้วนต้องพึ่งคำวิจารณ์ รสหวานไป เค็มไป จืดไป เมื่อรู้จักวิเคราะห์คำวิจารณ์ ฝีมือก็มีแต่พัฒนาขึ้น
การน้อมรับคำวิจารณ์มิได้แปลว่าตนเองอ่อนแอหรือโง่เขลา
ยาขมรสชาติไม่อร่อยลิ้น แต่รับรองว่าดีต่อเรามากกว่าน้ำตาล
วินทร์ เลียววาริณ
จากหนังสือ : ความฝันโง่ๆ
สำเนาโดย : หัวเอียงซ้าย
ที่มา : เว็บบอร์ด"ประชาไท" : บทความหนึ่งของ วินทร์ เลียววาริณ
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 9:18 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
1.
กลางปี 2517 คือราวครึ่งปีเศษหลังกรณี 14 ตุลา โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด จู่ๆตลาดหนังสือกรุงเทพก็เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯ ที่ใจกลางของปรากฏการณ์นี้คือหนังสือ 2 เล่ม ที่ออกวางตลาดห่างกันเพียงหนึ่งสัปดาห์: กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียรและวิมลพรรณ ปีต-ธวัชชัย และ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ต่างได้รับการพิมพ์ซ้ำและขายได้รวมกันหลายหมื่นเล่ม ผลสำเร็จของทั้งคู่ทำให้เกิดการตีพิมพ์หนังสือกรณีสวรรคตอีกอย่างน้อย 6 หรือ 7 เล่ม เช่น ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (ซึ่งภายหลังถูกปรีดี พนมยงค์ ฟ้องจนแพ้ความ) ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต ของ นเรศ นโรปกรณ์ และ คดีประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น, อุทธรณ์ และฎีกาในคดีนี้ พิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่และหนาถึง 2 เล่ม โดยสำนักพิมพ์กรุงสยาม โดยไม่มีคำนำหรือคำอธิบายใดๆ)
ทำไมจึงเกิดการปรากฏการณ์ดังกล่าว? ลำพังโอกาสครบรอบ 18 ปีการสวรรคต (9 มิถุนายน 2489-2517) ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่เพียงพอ. หนังสือพิมพ์ เสียงใหม่ รายวันในสมัยนั้นสันนิษฐานว่า “มันมาพร้อมกับการเลือกตั้ง” (นี่เป็นชื่อบทความของ เสียงใหม่ เกี่ยวกับหนังสือเหล่านี้) แต่ในความทรงจำของผม ดูเหมือนว่าในช่วงนั้น มีบางคนเคยอธิบายให้ฟังว่า พวกนิยมเจ้า (royalists) มีความวิตกว่า ปรีดี พนมยงค์ จะฉวยโอกาสจากบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นจาก 14 ตุลา เดินทางกลับประเทศไทย จึงผลักดันให้มีการออกหนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณ (ซึ่งเป็นเล่มแรกที่จุดชนวนกระแสหนังสือกรณีสวรรคต) ออกมา เพื่อ “ดักคอ” ไม่ให้ปรีดีกลับมาได้. ใครที่เคยอ่านหนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณย่อมทราบว่าเขียนจากจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับปรีดี แม้จะใช้รูปแบบที่เป็นงาน “วิชาการ” ต่างกับหนังสือประเภท “สารคดีการเมือง” ทั่วๆไปก็ตาม. (ต้องไม่ลืมว่าปรีดีเพิ่งเดินทางออกจากจีนที่ลี้ภัยอยู่ถึง 21 ปี มาพำนักที่ปารีสในปี 2513 เท่านั้น การออกจาก “หลังม่านไม้ไผ่” มาอยู่ในเมืองใหญ่ใจกลางยุโรปครั้งนั้นสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการเมืองไทยไม่น้อย หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับออกมาโจมตี “ดักคอ” จนถูกฟ้องร้องแพ้ไป ซึ่งจะมีความเกี่ยวพันกับเรื่องที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ดังจะได้เห็นต่อไป)
แต่ก็เช่นเดียวกับตัวจีนนี่ในตะเกียงวิเศษที่ถูกปล่อยออกมาแล้วไม่มีใครควบคุมได้, กรณีสวรรคตก็เป็นเรื่องที่เมื่อเปิดประเด็นออกมาแล้วยากจะจำกัดให้อยู่ในกรอบของคนที่เปิดประเด็นได้. หนังสือของสุพจน์ที่ออกมาตอบโต้หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณอย่างทันควันมีความสำคัญมากในแง่นี้ เพราะสุพจน์ไม่เพียงแต่จะออกมาปกป้องปรีดีว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตอย่างที่สรรใจ-วิมลพรรณพยายามทำให้ผู้อ่านรู้สึกเท่านั้น หากยัง “รุกกลับ” ด้วยการนำเสนอว่าใครน่าจะมีส่วนมากกว่า (ในท่ามกลางความชุลมุนของการวิวาทะ น้อยคนจะสังเกตได้ว่าอันที่จริงทั้งสองฝ่ายพยายามชี้ให้เห็นเหมือนๆกันว่า การสวรรคตเกิดจากการกระทำของผู้อื่นไม่ใช่ทรงกระทำพระองค์เอง) เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายที่ “เริ่มก่อน” ก็กลับเป็นฝ่ายที่ต้องการให้เรื่องยุติโดยเร็ว (ในคำสัมภาษณ์ต่อ ปิตุภูมิ รายสัปดาห์ ฉบับปฐมฤกษ์ 28 สิงหาคม 2517 สรรใจกล่าวว่า “ความจริงเรื่องนี้มันเกมไปแล้วตามกฎหมาย.... ผมอยากให้ทุกอย่างยุติกันที”! เขาคงไม่รู้ตัวว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ ironic มาก) นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมสงครามหนังสือกรณีสวรรคตที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในเดือนมิถุนายนก็สงบลงอย่างฉับพลันเหมือนกันในราวเดือนกันยายนนั้นเอง
เป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรบันทึกไว้ในที่นี้ว่า ในบทวิจารณ์เปรียบเทียบหนังสือกรณีสวรรคต 2 เล่มดังกล่าวที่ตีพิมพ์ใน ประชาชาติ รายสัปดาห์ โดยนักวิจารณ์ 2 คนที่ภายหลังกลายเป็นนักวิชาการ “รุ่นใหม่” ที่รู้จักกันดี หนังสือของสุพจน์ที่เชียร์ปรีดีถูกมองว่าดีสู้หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณที่ด่าปรีดีไม่ได้. ผมขอยกเอาข้อความบางตอนของบทวิจารณ์ดังกล่าวมาให้อ่านกัน เพื่อให้เห็นว่าในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทัศนะที่มีต่อปรีดีของปัญญาชนไทย (ซึ่งในที่นี้แสดงออกที่ทัศนะต่อหนังสือที่โจมตีหรือที่สนับสนุนปรีดี) ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง. วิไลลักษณ์ เมฆารัตน์ และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา ธรรมศาสตร์) เขียนไว้ในบทวิจารณ์ของพวกเธอ (ประชาชาติ รายสัปดาห์ 11 กรกฎาคม 2517) ดังนี้:
คุณสุพจน์เสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนด้วยการ “เก็บมาเล่า” ขณะที่คุณสรรใจและคุณวิมลพรรณเสนอความจริงด้วยหลักฐานอันประกอบไปด้วยเรื่องราวจากบุคคลต่างๆ 149 คน หนังสือ 29 เล่ม ข่าวจากหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นหลายฉบับ ข่าวจากกรมโฆษณาการและภาพประกอบการสวรรคตอย่างละเอียดซึ่งแต่ละภาพมีค่าและหาดูได้ยาก การมีเชิงอรรถแสดงที่มาของข้อเขียนในแต่ละหน้า บรรณานุกรมท้ายเล่มและภาคผนวก ช่วยให้หนังสือเล่มนี้ดูสมบูรณ์ได้เนื้อหาตามลักษณะวิชาการน่าเชื่อถือมากขึ้น การดำเนินเรื่องราวโดยแบ่งความเป็นไปของช่วงเหตุการณ์อย่างมีขั้นตอนตามลำดับก่อนหลัง เรียบเรียงคำพูดได้ชัดเจน ใช้ภาษาดี ช่วยให้น่าอ่านชวนติดตาม ไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน คลายความอึดอัดซึ่งมักจะเกิดกับหนังสือลักษณะนี้ได้หมดสิ้น
….การเสนอข้อมูลของผู้เขียนทั้งสองเล่มโดยเฉพาะของคุณสุพจน์ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเป็นการเสนอข้อมูลในทัศนะของผู้เขียน นำข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของตน ข้อมูลที่ทั้งสองเล่มใช้ส่วนใหญ่มาจากที่เดียวกันแต่โดยที่คุณสุพจน์หยิบมาสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตัวโดยปราศจากหลักฐานทางวิชาการ ไม่ทำเชิงอรรถบอกที่มาของข้อความเหล่านั้น มุ่งแต่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ย้ำแล้วย้ำอีกถึงการเสนอให้สมเด็จพระอนุชาในขณะนั้นได้ขึ้นครองราชย์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่ท่านปรีดีมีต่อพระราชวงศ์ สำนวนการเขียนออกจะเยิ่นเย้อมุ่งเยินยอและเป็นนวนิยายมากไปสักหน่อย.... วิธีการเล่าเหตุการณ์ของคุณสุพจน์ปราศจากการเรียบเรียงที่ดี นำเอาสิ่งที่ตนประสงค์จะให้เป็นไปมาอ้างคั่นอยู่เสมอ..….
….จากสิ่งต่างๆดังได้กล่าวมานี้บั่นทอนความน่าเชื่อถือในการเสนอข้อเท็จจริงของคุณสุพจน์ลงเกือบหมดสิ้น มีค่าเหลือเพียงอ่านสนุก มีอันตรายอย่างมากสำหรับผู้อ่านที่ขาดความระมัดระวัง ย้ำความเชื่อแก่ผู้ที่มีแนวโน้มจะเชื่อสิ่งดังกล่าวนั้นแล้ว แทนที่จะช่วยเป็นดุลในการพิจารณาสำหรับผู้อ่าน กลับช่วยเสริมคุณค่าของอีกเล่มหนึ่งอย่างน่าเสียดายยิ่ง
ในส่วนของคุณสรรใจและคุณวิมลพรรณนั้น น่าชมเชยอยู่มากแล้วที่ยึดหลักวิชาการในการเสนอข้อเท็จจริงตามหลักฐาน….
สรุปในด้านเนื้อหาแล้วหนังสือทั้ง 2 เล่มไม่มีความเป็นกลาง ต่างฝ่ายต่างแก้แทนสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง โดยคัดเลือกข้อมูลขึ้นมาสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตน ซึ่งทั้ง 2 เล่มนี้ คุณสรรใจและคุณวิมลพรรณทำได้น่าเชื่อถือกว่า ด้วยการเสนอหลักฐานตามแนววิชาการ....
2.
ในขณะที่หนังสือของสรรใจ-วิมลพรรณ และของสุพจน์เป็นศูนย์กลางของความสนใจกรณีสวรรคตในวงกว้างในช่วงกลางปี ๒๕๑๗ หนังสือกรณีสวรรคตที่ “ร้อน” เป็นที่ต้องการมากที่สุดในแวดวงนักกิจกรรมการเมืองกลับเป็นอีกเล่มหนึ่งที่น้อยคนนักจะเคยได้เห็นตัวจริง, อย่าว่าแต่อ่าน:
กงจักรปีศาจ.
หนังสือมีสถานะเป็น “ตำนาน” ในหมู่ผู้สนใจการเมืองว่าเป็นงานที่เขียนโดยฝรั่ง ที่เปิดเผย “ความลับดำมืด” กรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯชนิดที่หนังสือที่เขียนโดยคนไทยทำไม่ได้ จนกลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ ซึ่งแน่นอนยิ่งทำให้เป็นที่ต้องการกันมากขึ้น! ในท่ามกลางภาวะที่กระแสสูงของหนังสือกรณีสวรรคตท่วมตลาดกรุงเทพกลางปี 2517 นั้นเอง ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าได้มีผู้ถือโอกาสพิมพ์ กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยออกเผยแพร่อย่างลับๆ.
ปกหน้าหนังสือ "กงจักรปีศาจ"
กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยที่ขายกัน “ใต้ดิน” ในปี 2517 ในราคาเล่มละ 25 บาทนี้ เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก (5 นิ้วคูณ 7 นิ้วครึ่ง) หนา 622 หน้า ปกพิมพ์เป็นสีดำสนิททั้งหน้าหลัง กลางปกหน้ามีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงอานันท์ฯวัยเยาว์ในกรอบรูปไข่ บนสุดของปกหน้ามีข้อความพิมพ์เป็นตัวอักษรสีขาว 3 บรรทัดว่า
บทวิเคราะห์กรณีสวรรคต
ของในหลวงอานันท์ฯ
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
ด้านล่างเป็นชื่อหนังสือ พิมพ์ด้วยอักษรสีแดง กงจักรปีศาจ ตามด้วยอีก 2 บรรทัดพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีขาว
Rayne Kruger เขียน
ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. แปล
ที่มุมล่างซ้ายของปกหลังมีข้อความพิมพ์
เป็นตัวอักษรเล็กๆสีขาว 4 บันทัดว่า
ชมรมนักศึกษาประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์พิมพ์
ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่ง
คดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์
บริษัทสยามรัฐจำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย
สำหรับผู้ที่สนใจ: นเรศ นโรปกรณ์ ได้นำรูปถ่ายปกหน้าของหนังสือเล่มนี้พร้อมรูปประกอบภายในที่สำคัญที่สุดมาตีพิมพ์ พร้อมด้วยความเห็นที่เขาเองมีต่อหนังสือ ใน ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต
ผมกล่าวว่าหนังสือหนา 622 หน้า แต่ถ้าใครพลิกปกหน้าขึ้นมา จะพบกับหน้า 17 เป็นหน้าแรกสุด เห็นได้ชัดว่า 16 หน้าแรกของหนังสือ (คือ 1 ยก) ซึ่งควรจะมีชื่อโรงพิมพ์และปีพิมพ์ และคำนำหรือคำชี้แจงต่างๆถูกดึงออกไปหรือไม่ถูกใส่เข้ามา. มีผู้บอกผมในสมัยนั้นว่า เดิมทีเดียวผู้จัดพิมพ์ตั้งใจพิมพ์เพื่อออกวางขายตามแผงหนังสืออย่างเปิดเผยจริงๆ แต่เปลี่ยนใจ หลังจากผู้นำนักศึกษาคนหนึ่ง (ซึ่งเขาระบุชื่อ) ให้คำแนะนำคัดค้าน ทำนองว่าจะเป็นผลเสียต่อขบวนการนักศึกษาโดยส่วนรวม. จนบัดนี้ผมก็ยังไม่ทราบจริงๆว่าผู้จัดพิมพ์ที่ใช้ชื่อ “ชมรมนักศึกษาประวัติศาสตร์” นั้นคือใครและจะขอบคุณอย่างสูงหากใครสามารถบอกได้.
สำหรับข้อความที่ปรากฏอยู่บนปกหลัง กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยว่า “พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่ง คดีดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์ บริษัทสยามรัฐจำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย” นั้น ตามคำอธิบายของนเรศ นโปกรณ์ (ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต, หน้า 196) ปรีดี ได้ส่ง กงจักรปีศาจ ฉบับแปลนี้มาให้ศาลในฐานะหลักฐานประกอบการฟ้องร้องในคดีดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกลยุทธอันฉลาดของปรีดีที่พยายามทำให้หนังสือมีความชอบธรรมตามกฎหมายและมีโอกาสจะถูกเผยแพร่แก่คนไทยที่หาต้นฉบับหรืออ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ และก็เห็นได้ชัดว่าในตอนแรกผู้จัดพิมพ์เองคงตั้งใจจะใช้ “ความถูกกฎหมาย” นี้เป็นเกราะ แต่ในท้ายที่สุดเกิดเปลี่ยนใจ ซึ่งสะท้อนว่าหนังสือมีภาพลักษณ์ “ร้อนเกินจับต้อง” มากเพียงใดในขณะนั้น.
นเรศเล่าว่าในฐานะนักข่าวนสพ. สยามรัฐ ในช่วงที่กำลังถูกปรีดีฟ้องนั้นเอง ทำให้ได้อ่าน กงจักรปีศาจ ฉบับแปลตั้งแต่ปี 2513. ผมเองไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวจนกระทั่งมีการพิมพ์เป็นเล่มในปี 2517 แต่เข้าใจว่า น่าจะเหมือนกับต้นฉบับหนังสือ “ต้องห้าม” เล่มอื่นๆสมัยก่อน 14 ตุลา ที่มีการโรเนียวออกแจกจ่ายกันอ่านตามกลุ่มกิจกรรมต่างๆ. โดยส่วนตัว ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยเห็น แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ฉบับโรเนียวที่ “กลุ่มยุวชนสยาม” ก่อน 14 ตุลา พอหลังเหตุการณ์นั้นไม่นานก็ถูกพิมพ์เป็นเล่ม ภาวะ “ต้องห้าม” ทำให้งานประเภทนี้มีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลราวกับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่เข้าไปห่อหุ้มมันไว้ หากใครอ่าน แลไปข้างหน้า ในสมัยนี้คงยากจะรู้สึกถึงพลังที่ว่าได้ อาจจะรู้สึกว่าค่อนข้างเป็นงานที่จืดชืดเสียด้วยซ้ำ
เมื่อเร็วๆนี้ในระหว่างที่รวบรวมข้อมูลเตรียมเขียนบทความชิ้นนี้ ผมได้ไปพบ กงจักรปีศาจ ฉบับโรเนียวในห้องสมุดแห่งหนึ่งเข้าอย่างบังเอิญมาก. ลักษณะเป็นเอกสารโรเนียวบนกระดาษยาวขนาดกระดาษฟุลสแก๊ปหน้าเดียวจำนวน 235 หน้า โดยที่หน้า 1-3 หายไป ถูกเย็บใส่ปกแข็ง เจ้าหน้าที่ของห้องสมุดเขียนชื่อของเอกสารไว้ที่หน้าปกและในบัตรรายการว่า “พระชนม์ชีพและการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” โดย ลิขิต ฮุนตระกูล. ครั้งแรกผมนึกว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ต่อเมื่อได้นำมาเทียบกับ กงจักรปีศาจ ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว จึงพบว่าคืองานชิ้นเดียวกัน. ตัวเอกสารโรเนียวนั้นน่าจะคือต้นฉบับก่อนพิมพ์เป็นเล่ม เพราะตอนท้ายสุดของเอกสารมีรายชื่อ “บุคคลสำคัญในเรื่องบางคน” อยู่ด้วยตรงตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งในฉบับพิมพ์เป็นเล่มไม่มี. ส่วนชื่อบนปก ความจริงคือ ชื่อภาคที่ 2 ของหนังสือ. คุณลิขิต ฮุนตระกูล ที่กลายมาเป็น “ผู้เขียน” ตามบัตรรายการของห้องสมุดนั้นจะเป็นใคร ผมก็ไม่ทราบ. ทราบแต่ว่าเขาเคยเขียนหนังสืออย่างน้อยเล่มหนึ่ง (เพราะมีในห้องสมุด) ชื่อ ประวัติการสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน แต่ยุคโบราณจนถึงสมัยชาติไทยได้มาตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งประเทศไทย ซึ่งดูจากภายนอกน่าสนใจทีเดียว เป็นหนังสือที่ใช้หลักฐานภาษาจีน (เข้าใจว่าพวกพงศาวดาร) ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในปี 2494 และถูกตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาทั้งในภาษาไทย, จีนและอังกฤษ ฉบับพิมพ์หลังสุดที่ผมพบคือปี 2516. เหตุใด กงจักรปีศาจ ฉบับโรเนียวที่ว่าจึงมาอยู่ภายใต้ชื่อคุณลิขิต แทนที่จะเป็น Rayne Kruger หรือ เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ผู้แปลตัวจริง ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน. หลังจากพยายามค้นหาต้นตอจากบันทึกที่มีอยู่ของห้องสมุดตามที่ผมขอ, เจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ได้ว่าทำไมเอกสารดังกล่าวจึงตกมาอยู่ในครอบครองของห้องสมุดและทำไมจึงอยู่ภายใต้ชื่อคุณลิขิต.
3.
หนังสือภาษาอังกฤษที่เป็นต้นฉบับของ กงจักรปีศาจ ชื่อ The Devil's Discus เขียนโดย Rayne Kruger พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวโดยสำนักพิมพ์ Cassell ลอนดอนเมื่อปี 2507 (1964) ผู้เขียนอธิบายความหมายของชื่อหนังสือด้วยการยกข้อความต่อไปนี้มาพิมพ์ไว้ในหน้าแรกสุด:
To confuse truth with lies or good with evil is to mistake the Devil's lethal discus for the Buddha's lotus.
Siamese saying.
แปลแบบตรงๆว่า “การสับสนความจริงกับความเท็จหรือความดีกับความเลวคือการหลงผิดเห็นกงจักรอันร้ายแรงของปีศาจเป็นดอกบัวของพระพุทธองค์ ภาษิตสยาม”
เรน ครูเกอร์ เป็นใคร? หนังสือไม่ได้แนะนำอะไรไว้ (บางทีอาจจะมีบอกอยู่ที่แจ๊กเก็ตหนังสือตามแบบฉบับก็ได้ แต่เล่มที่ผมใช้ แจ๊กเก็ตหายไปนานแล้ว) นอกจากบอกว่าเขาเขียนหนังสือมาแล้ว 7 เล่มก่อน The Devil's Discus เป็นนิยาย 6 เล่ม และสารคดี 1 เล่มชื่อ Goodbye Dolly Gray: The Story of the Boer War ซึ่งผมไม่เคยเห็นตัวจริง แต่เท่าที่สำรวจดูอย่างคร่าวๆทางอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนจะเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จพอควร เพราะได้รับการอ้างอิงถึงตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสงครามบัวร์แทบทุกแห่ง. อันที่จริงหนังสือเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 1997 นี้เอง ซึ่งถ้าพิจารณาว่าเป็นงานที่ถูกพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1959 (คือ 38 ปีก่อนหน้านั้น) ก็ต้องนับว่าไม่เลวเลย ผมยังเห็นการอ้างถึงฉบับพิมพ์ปี 1983 ด้วย.
สรุปแล้วครูเกอร์น่าจะจัดได้ว่าเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จระดับปานกลาง ก่อนมาเขียน The Devil's Discus. เรารู้จากนามสุกลเขาด้วยว่าเขาเป็นเชื้อสายชาวผิวขาวในอาฟริกาใต้ที่เรียกว่าอาฟริคาน(Afrikaners) หรือบัวร์ (Boers) คือพวกที่สืบเชื้อสายมาจากชาวดัทช์ที่ไปตั้งรกรากที่นั่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17. สงครามบัวร์ที่เขาเขียนถึงคือสงครามในปี 1899-1903 ระหว่างพวกนี้กับอังกฤษซึ่งไปตั้งถิ่นฐานและอาณานิคมทีหลัง แย่งยึดพื้นที่เดิมของพวกบัวร์. ชื่อของหนังสือมาจากเพลงที่ทหารอังกฤษร้องขณะออกเดินทางจากอังกฤษไปเมืองเคปทาวน์ อาฟริกาใต้ เพื่อ “สู้กับพวกบัวร์”. ข้อมูลจากเว็ปไซต์แห่งหนึ่งบอกว่า เรน ครูเกอร์เองเกิดในอาฟริกาใต้และสามารถไล่เรียงบรรพบุรุษของตนไปเชื่อมโยงกับตระกูลครูเกอร์ที่มีชื่อเสียง (ผู้นำอาฟริคานในสงครามบัวร์ชื่อ พอล ครูเกอร์) เหตุใดนักเขียนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเอเชีย (อย่าว่าแต่กับประเทศไทย) ก่อนหน้านั้นเลยอย่างครูเกอร์ จึงมาเขียนถึงกรณีสวรรคต 10 กว่าปีหลังจากเหตุการณ์? น่าเสียดายและน่าแปลกใจที่ครูเกอร์ไม่ได้อธิบายไว้เลยในคำนำของ The Devil's Discus.
ความเป็นคนที่ราวกับ “ไม่มีหัวนอนปลายเท้า” แต่จู่ๆมาเขียนเรื่องกรณีสวรรคตนี้เอง เป็นประเด็นที่ถูกหยิบฉวยเอามาโจมตีอย่างทันควันเมื่อหนังสือออกวางตลาดครั้งแรกในปี 2507 โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกนิยมเจ้า (royalist). ในบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่เขาเป็นบรรณาธิการ (ปีที่ 2 ฉบับที่ 1, มิถุนายน 2517) สุลักษณ์ได้ประณาม The Devil's Discus อย่างรุนแรง. บทวิจารณ์ของสุลักษณ์นี้ต้องนับว่าเป็นบทวิจารณ์ที่แย่ ไม่ใช่เพราะผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่เพราะผู้วิจารณ์เอาแต่โจมตี กระแนะกระแหนเสียดสีผู้เขียนและหนังสือ แทนที่จะโต้แย้งประเด็นที่ผู้เขียนเสนอด้วยข้อมูลหรือการตีความที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าถูกต้อง. เช่น สุลักษณ์เห็นว่าทฤษฎีของครูเกอร์ที่ว่าในหลวงอานันท์ฯปลงพระชนม์พระองค์เองผิด แต่ก็ไม่ได้บอกว่าผิดยังไง หรืออะไรคือคำอธิบายที่ถูกต้องของการสวรรคต ด้วยเหตุผลอะไร. ขอยกตัวอย่างบางตอนมาให้ดูดังนี้:
หนังสือนี้ว่าด้วยกรณีสวรรคต สำนักพิมพ์คัสเซลส่งมาทางเมล์อากาศเพื่อขอให้วิจารณ์ โดยที่ข้าพเจ้าได้วิจารณ์หนังสืออื่นไปก่อนแล้ว จึงคิดว่าจะขอให้ผู้อื่นไปวิจารณ์หนังสือนี้ แต่ครั้นเมื่ออ่านจบลง กลับเห็นว่าต้องแสดงเอง
....ผู้เขียนเรียกตนเองว่าอังกฤษ (ใช้คำ English ไม่ใช่ British) ทั้งๆที่ชื่อแลชาติกำเนิดก็บ่งอยู่ชัดแล้วว่าเป็นบัวร์มาจากอาฟริกาใต้ ในรายการที่ลงชื่อหนังสือที่เขาแต่งนั้น ปรากฏกว่ามีสารคดีเรื่องเดียวซึ่งเกี่ยวกับสงครามบัวร์ อันเป็นต้นกำพืดของเขา นอกกระนั้นอีกหกเล่มล้วนเป็นนวนิยายทั้งสิ้น แสดงว่าเขาถนัดนวนิยายมากกว่าเรื่องจริง....
….นอกจากนั้น ผู้เขียนยังโจมตีวิธีพิจารณาคดีของศาลไทย ตลอดจนกฎหมายไทย โดยใช้ระดับมาตรฐานศาลแลกฎหมายอังกฤษ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษและนิยมยกย่องกฎหมายอังกฤษ ก็เห็นว่าระบบอังกฤษเหมาะสมแก่บางประเทศเท่านั้น หาเหมาะแก่ประเทศนี้ไม่ การที่ผู้เขียนทำท่าว่าเข้าใจเราแต่แรกนั้น ก็เพื่อซ่อนความรู้สึกไว้ เพื่อหักล้างหลักอธิปไตยหนึ่งในสามของเรานั่นเอง “ปมเขื่อง” ของฝรั่งลูกผสมที่เร้นอยู่แต่แรกก็ฉายแสงแสดงความเลวทรามมาตอนนี้เอง….
....ในคำนำเองเขาก็บอกว่าเขาเข้ามากรุงเทพฯ เขาไปโลซาน เพื่อหาเอกสารหลักฐาน แต่เหตุไฉนเขาจึงปิดเสียสนิทว่าเขาไปสัมภาษณ์นายปรีดีที่เมืองจีนด้วยเล่า หนังสืออย่างนี้จะพิมพ์ได้สักกี่พันเล่ม ลำพังผู้เขียนชนิดไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างนี้จะได้ค่าลิขสิทธิ์คุ้มที่ลงทุนไปละหรือ ที่ข้าพเจ้าอยากจะตั้งกระทู้ถามบ้างก็คือ ใครออกทุนให้ผู้เขียนสืบสาวราวเรื่องทั้งหมดนี้ เพื่อให้เสื่อมเสียถึงชาติและพระราชวงศ์
....แม้เพียงเท่านี้ ผู้เขียนคนนี้ก็จับจิตใจไทยเราผิดไปเสียแล้ว นับประสาอะไรจะไปพยายามพิสูจน์กรณีสวรรคตอันลึกลับซับซ้อน เว้นไว้แต่จะมีใครสนับสนุนออกทุนรอนให้แต่งเรื่องอิงพงศาวดารไปในรูปนั้น
ลักษณะไม่ใช้เหตุผล (irrationalism) ของบทวิจารณ์ของสุลักษณ์เป็นแบบฉบับ (typical) ของท่าทีของพวกนิยมเจ้าในสมัยนั้นเมื่อพูดถึงปัญหาปรีดีและกรณีสวรรคต. (เพียงการวิจารณ์ศาลและระบบกฎหมายไทยก็ถูกถือเป็นการพยายาม “หักล้างหลักอธิปไตยหนึ่งในสามของเรา”!) ปฏิกิริยาต่อ The Devil's Discus ของสุลักษณ์ยังสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ในความเห็นของผม มีความสำคัญอย่างมากในการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่กรณี “สมุดปกเหลือง” 2476 เป็นต้นมา) กล่าวคือในสังคมไทยนั้น royalism กับ anticommunism เป็นสิ่งที่ควบคู่กันอย่างใกล้ชิด. ในบทความที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับต่อมา (ปีที่ 2 ฉบับที่ 2, ตุลาคม 2507) เพื่อขยายความต่อจากบทวิจารณ์ของเขา, สุลักษณ์กล่าวว่า “จะเป็นเผอิญหรืออย่างไรก็ตาม พอหนังสือนั้น (The Devil's Discus) ออกไม่ทันไร คอมมูนิสต์ก็มีบทบาทใหญ่อย่างน่าสะพรึงกลัว”!
4.
ผู้แปล กงจักรปีศาจ เป็นภาษาไทยคือเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช. ดังที่ทราบกันทั่วไป, เรือเอกวัชรชัยซึ่งเป็นเลขานุการของปรีดี พนมยงค์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี คือผู้ที่พวกนิยมเจ้ากล่าวหาว่าเป็น “มือปืน” ลอบปลงพระชนม์. เรือเอกชลิตเองมีประวัติอย่างไร? ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่? (วัชรชัยถึงแก่กรรมในปี 2538) ผมไม่ทราบ. เขาได้มาเป็นผู้แปล กงจักรปีศาจ อย่างไร? เมื่อใด? (เมื่อฉบับภาษาอังกฤษออกจำหน่ายครั้งแรกหรือเมื่อปรีดีจะฟ้องคึกฤทธิ์?) ใช้เวลาในการแปลนานแค่ไหน? ไม่มีการชี้แจงไว้ทั้งในฉบับพิมพ์และฉบับโรเนียวที่มีอยู่.
ในแง่สำนวนแปลภาษาไทย ในส่วนที่แปลได้ถูก นับว่าเรือเอกชลิตมีสำนวนแปลที่ดีทีเดียว. แต่ปัญหาคือ จากการตรวจสอบกับฉบับภาษาอังกฤษอย่างคร่าวๆ ผมพบว่าเขาแปลผิดความหมายหลายแห่ง เรียกได้ว่าเกือบจะทุกหน้าที่ผมลองสุ่มเปิดเปรียบเทียบกันดู จะมีบางประโยคที่แปลผิด. ส่วนใหญ่ของความผิดพลาดเหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่ทำให้สาระของหนังสือผิดเพี้ยนไปโดยสำคัญอะไร. อย่างไรก็ตาม, ความผิดพลาดบางแห่งก็ทำให้รายละเอียดที่สำคัญบางประเด็นเสียไป จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูดังนี้:
ในหน้า 71 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เล่าว่า ที่ท่าอากาศยานสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะทรงโดยสารเครื่องบินที่จะนำพระองค์กลับไทย ในหลวงอานันท์ฯทรงแอบหลบไปโทรศัพท์ถึง “a student friend” (พระสหายนักเรียนผู้หนึ่ง) “With journalists swarming about he had time but to say au revoir. He told no one of the call.” ซึ่งชลิตแปลว่า “พระองค์ทรงมีเวลาที่จะรับสั่งกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ซึ่งมาห้อมล้อมพระองค์อยู่ว่า 'ลาก่อน' แต่พระองค์มิได้ทรงรับสั่งถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์กับใคร” แต่ความจริง ควรจะแปลว่า “ด้วยเหตุที่มีนักหนังสือพิมพ์คอยห้อมล้อมเต็มไปหมด, พระองค์จึงทรงมีเวลารับสั่งต่อพระสหายผู้นั้นเพียงว่า 'ลาก่อน' พระองค์มิได้ทรงบอกใครถึงเรื่องที่ได้ทรงโทรศัพท์นั้น” (ในหน้าเดียวกันนั้น ยังมีประโยคที่แปลผิดอีกหลายประโยค)
ในหน้า 110 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เขียนว่า “Rejection of the accident theory could scarcely have been more embarrassing to Pridi and the authorities who had set so much store by it in trying to hush up the whole affair.” ซึ่ง ชลิต แปลว่า “การไม่ยอมรับทฤษฎีอุบัติเหตุของคณะกรรมการฯทำให้นายปรีดีซึ่งเห็นความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ มีความรู้สึกอึดอัด และเจ้าหน้าที่ได้พยายามที่จะทำให้เรื่องนี้ทั้งหมดให้เงียบหายไป.” แต่ที่ถูกควรจะแปลว่า “การปฏิเสธทฤษฎีอุบัติเหตุของคณะกรรมการฯสร้างความอับอายอย่างใหญ่หลวงให้กับทั้งนายปรีดีและทางการที่หวังอย่างมากจะอาศัยทฤษฎีนี้มาทำให้เรื่องทั้งหมดเงียบหายไป”
ในหน้า 166 ของฉบับภาษาอังกฤษ ครูเกอร์เล่าคำให้การในฐานะพยานโจทก์ของสมเด็จพระราชชนนี “She recalled a private audience Pridi had of the King after dinner on 7 June.... Ananda told her that under the constitution he had the power of appointment [of the Regency Council]. She confirmed the Buddhist tutor's reporting to her Pridi's threat after this audience that he would not support the throne again.” ในฉบับแปล “สมเด็จพระราชชนนีทรงให้การว่า.... ปรีดีเข้ามาเฝ้าในหลวงอานันท์ฯเป็นการส่วนพระองค์ในวันที่ 7 มิถุนายน.... ในหลวงอานันท์ฯได้ทูลพระองค์ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ นายปรีดีได้ขู่ภายหลังการเข้าเฝ้านี้ว่าเขาจะไม่สนับสนุนพระราชวงศ์อีก” ข้อความที่ว่า “She confirmed the Buddhist tutor's reporting to her” หายไปไม่มีการแปล (อาจเป็นเพราะปัญหาการพิมพ์ก็เป็นได้) ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ในหลวงอานันท์ฯทรงเล่าเรื่อง “การขู่” ของปรีดีให้สมเด็จพระราชชนนีฟังด้วยพระองค์เอง แต่ความจริง สมเด็จฯทรงได้ยินเรื่องนี้จากปากของ “the Buddhist tutor” (อนุศาสนาจารย์ คือนายวงศ์ เชาวนะกวี ผู้ถวายอักษรไทย)
ฯลฯ....ฯลฯ....ฯลฯ
ความผิดพลาดของการแปลเหล่านี้แม้จะทำให้รายละเอียดหลายอย่างสูญไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนถึง “ภาพใหญ่” ที่สำคัญที่สุดของหนังสือ คือการตอบคำถามว่า “ใครปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ฯ?” ไม่มีใครที่ได้อ่าน กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทย ที่แปลได้ไม่สู้จะสมบูรณ์นี้แล้ว จะไม่รู้ว่าเรย์น ครูเกอร์มีคำตอบต่อปัญหานี้ว่าอย่างไร
5.
แม้ผู้ที่ไม่เคยได้เห็นหรืออ่าน กงจักรปีศาจ เลย ไม่ว่าจะเป็นฉบับจริงหรือฉบับแปล แต่หากสนใจติดตามกรณีสวรรคตอย่างใกล้ชิดจริงๆ ก็ต้องทราบว่าเรย์น ครูเกอร์ เสนอว่าในหลวงอานันท์ฯทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง. นักเขียนนิยมเจ้าบางคนเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเองด้วยซ้ำ. ในหนังสือ กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของพวกเขา, สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้อุทิศย่อหน้าขนาดยาวให้กับ กงจักรปีศาจ ดังนี้:
ในแนวทางที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคับแค้นพระทัยเกี่ยวกับความรักนั้น ปรากฏว่ามีการปล่อยข่าวลือมาตั้งแต่หลังสวรรคตใหม่ๆ....
ข่าวลือเรื่องนี้ได้แพร่หลายออกไปอีก เมื่อฝรั่งนายหนึ่งนำเรื่องกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปแต่งขึ้นเป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อว่า The Devil's Discus ไม่ปรากฏว่านาย Rayne Kruger ได้รับรายละเอียดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตไปจากผู้ใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีความสนใจในเรื่องนี้เกินกว่าที่ฝรั่งซึ่งอาจจะเคยเพียงผ่านเมืองไทยเป็นระยะสั้นๆ นาย Rayne Kruger เขียนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักใคร่อยู่กับสาวชาวสวิส และจะถูกบังคับให้ทรงเศกสมรสกับเจ้านายไทยจึงปลงพระชนม์เอง นาย Kruger เขียนข้อความเหล่านั้นดูน่าเชื่อ เพราะมีรูปผู้หญิงให้ดูด้วย ทั้งยังได้อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเผาจดหมายก่อนวันสวรรคต ซึ่งความข้อนี้แม้แต่จำเลยในคดีสวรรคตที่นาย Kruger เขียนเรื่องราวต่างๆให้เป็นประโยชน์แก่เขาก็ยังให้การยืนยันกับศาลกลางเมืองว่าไม่รู้เรื่อง แสดงให้เห็นว่านายฝรั่งคนนี้ปั้นเรื่องและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยตั้งใจ นอกจากนี้ นาย Kruger ยังตั้งสมมุติฐานเอาเองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยิงพระองค์ขณะประทับนั่ง อ้างด้วยว่าหมอนไม่ทะลุ ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อขัดเขินในตำแหน่งของบาดแผลซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าบรรทม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหมอนทะลุ ที่นอนก็มีรอยกระสุนที่ตำแหน่งตรงกับพระเศียรในท่าบรรทม นอกจากนี้ นาย Kruger ยังได้พยายามอ้างหลักจิตวิทยา.... และได้เขียนเป็นเชิงจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเติบโตในต่างประเทศจึงปรับพระองค์เข้ากับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ยาก จึงทำให้มีโอกาสปลงพระชนม์เองมากขึ้น นับเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่ฝรั่งพยายามจะหลอกคนไทย มีคนไทยเป็นจำนวนมากที่เติบโตในต่างประเทศ แต่ก็สามารถปรับตัวให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ยิ่งจะแน่ใจได้ว่า พระองค์ท่านจะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างเจ้านายไทย.... ข้อเขียนของนาย Rayne Kruger ในหนังสือเรื่อง The Devil's Discus ทั้งหมดมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน่าละอายที่สุด จึงเป็นที่น่าสลดใจว่าสิ่งตีพิมพ์โกหกชิ้นนี้ได้กลายเป็นที่เชื่อถือของคนไทยบางหมู่บางเหล่า โดยเฉพาะนักเรียนไทยในต่างประเทศที่ยกย่องเชิดชูชาวต่างชาติและเห็นว่าเมื่อเป็นฝรั่งแล้วทำอะไรก็ถูกหมด หลักฐานและข้อเท็จจริงอื่นๆไม่ต้องคำนึงถึง
ข่าวลือทำนองที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเรื่องขัดเคืองกับพระราชชนนีนั้นมีการปล่อยข่าวลือไปหลายกระแส นับตั้งแต่ทรงขัดเคืองกันด้วยเรื่องธรรมดาจนกระทั่งถึงเรื่องที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระองค์สมเด็จพระราชชนนี ข่าวลือดังกล่าวนี้เป็นสิ่งอัปยศอดสูสำหรับคนไทยและแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมทรามทางสภาพจิตของคนที่ปล่อยข่าวลืออย่างเห็นได้ชัด และที่น่าละอายที่สุดก็คือ ข่าวลือนี้ออกมาจากสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ค่อนข้างจะแน่นอนว่า ประโยคสุดท้าย สรรใจและวิมลพรรณตั้งใจจะหมายถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมอ่านแล้วก็อดขันไม่ได้ ที่ด้านหนึ่งพวกนิยมเจ้าอย่างทั้งคู่มีอคติต้องการจะประณามมหาวิทยาลัยที่ปรีดีตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่กล้าระบุชื่อออกมาตรงๆ. ที่น่าขันยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ท้ายประโยคนี้มีเครื่องหมายดอกจันทน์ (*) ใส่ไว้ด้วย และมีข้อความเป็นเชิงอรรถของเครื่องหมายดอกจันทน์ว่า “บันทึกการสอบสวนของตำรวจ” น่าสงสัยว่า จะเป็นการเติมเข้ามาทีหลัง เพราะเชิงอรรถอื่นๆในหนังสือเป็นตัวเลข 1, 2, 3... เรียงลำดับกันไป ชะรอยว่าสรรใจ และวิมลพรรณ หลังจากพิมพ์ปรู๊ฟหนังสือไปแล้วเกิดเกร็งขึ้นว่า แม้จะไม่ระบุชื่อธรรมศาสตร์แล้วก็ตามอาจจะถูกหาว่าด่าธรรมศาสตร์โดยไม่มีหลักฐาน จึงใส่เข้ามาให้ดูน่าเชื่อถือ แต่กลับชวนขันมากกว่า เพราะการอ้าง “บันทึกการสอบสวนของตำรวจ” นี้ เลื่อนลอยจนหาค่าอะไรไม่ได้. (ขอให้ผู้อ่านกลับไปดูบทวิจารณ์ของนักวิชาการรุ่นใหม่ 2 คนที่ผมยกมาในตอนแรก ซึ่งแสดงความชื่นชมหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณ โดยเฉพาะในประเด็นที่ “มีเชิงอรรถ...ตามลักษณะวิชาการน่าเชื่อถือ”!)
ที่ชวนขันในลักษณะ ironic อีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ กงจักรปีศาจ ก็คือ ในขณะที่หนังสือเป็นของ “ต้องห้าม” เพราะความที่ถูกกล่าวหาว่าทำความเสียหายให้พระราชวงศ์ พวกนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณกลับเป็นฝ่ายนำมาเล่าให้คนอ่านทั่วไปที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักหนังสือเพราะความต้องห้ามนั้น ว่าสาระสำคัญของหนังสือคืออะไร!
อันที่จริง สรรใจและวิมลพรรณยังได้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ
กงจักรปีศาจ อีกประเด็นหนึ่ง ดังนี้:
นาย Kruger ได้บรรยายชักนำให้ผู้อ่านหนังสือ The Devil's Discus เข้าใจในทำนองนี้ [อุบัติเหตุปืนลั่นโดยผู้อื่น] เช่นเดียวกัน ด้วยพยายามเขียนในทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาเล่นปืนกันเป็นประจำ ถึงแม้ในท้ายบทของตอนนั้นจะให้ความเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ได้สวรรคตเพราะอุปัทวเหตุโดยสมเด็จพระอนุชาก็ตาม แต่ก็แสดงเจตนาให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้พยายามสอดใส่ความเท็จเพื่อให้อ่านเข้าใจไขว้เขว
ในแง่นี้ต้องนับว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ในบทวิจารณ์ประณาม กงจักรปีศาจ ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ฉลาดกว่า คือหลีกเลี่ยงไม่ยอมเปิดเผยว่าครูเกอร์เขียนพาดพิงถึงใคร: “เขายกตัวอย่างใครต่อใครอย่างเหลือเชื่อ อย่างขาดสัมมาคารวะ อย่างแสดงความทรามในใจของเขาออกมาให้ปรากฏ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสรุปว่าไม่มีใครลอบปลงพระชนม์ดอก และก็ไม่ใช่คดีอุปัทวเหตุ หากเป็นการปลงพระชนม์ชีพเอง เขาสร้างนวนิยายขึ้นจนพระเจ้าอยู่หัวรัช-กาลที่ 8 ทรงมีคู่รักชาวสวิส จนจะทรงถูก 'คลุมถุงชน' กับเจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ในนี้ ฯลฯ” (โปรดสังเกตเครื่องหมาย “ฯลฯ” แปลได้ว่าจะไม่ยอมเล่ามากไปกว่านี้)
อาจกล่าวได้ว่า แม้แต่ในปี 2517 ที่มีผู้พิมพ์ฉบับแปลออกมาแต่ไม่กล้าวางขายโดยเปิดเผย กงจักรปีศาจก็ไม่ใช่หนังสือที่บรรจุ “ความลับดำมืด” ของกรณีสวรรคตที่น่าตื่นใจอย่างแท้จริง ทฤษฎี “อุปัทวเหตุโดยสมเด็จพระอนุชา” นั้น ในหนังสือที่ โปรเจ้า-แอนตี้ปรีดี อย่างเต็มที่ของสรรใจและวิมลพรรณเอง ก็มีการนำมาอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาไม่น้อยกว่าครูเกอร์ (ดูหน้า 161-162, 176-180) ถึงกระนั้น สำหรับผู้สนใจกรณีสวรรคตอย่างจริงจัง กงจักรปีศาจ ยังเป็นหนังสือที่จำเป็นต้องอ่าน (required reading) โดยเฉพาะในประเด็น “คู่รักสาวชาวสวิส” และทฤษฎีปลงพระชนม์เองที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งนับเป็นส่วนที่ “ใหม่” (original) ที่สุดของหนังสือ ยิ่งในปัจจุบันที่ประเด็นแบบนี้ไม่อาจนับเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าอันที่จริงส่วนที่ original ที่สุดของหนังสือนี้ ก็เป็นส่วนที่อ่อนที่สุดและน่าเชื่อถือน้อยที่สุดด้วย
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา : somsak's work.blogspot.com : กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:11 หลังเที่ยง 1 ความคิดเห็น
วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สังคมนิยมเพ้อเจ้อ (Utopia)
๐ อาชีพชาวนาไทย ไม่มีศักดิ์ศรี มีแต่ศักดิ์ขาว-ดำ (สีไว้ทุกข์)
๐ ตกอยู่ใน วงจรอุบาทว์ (โง่->จน->เจ็บ)
๐ โง่ เพราะ จน
๐ จน เพราะ โง่
๐ เจ็บกาย ไปหาหมอยา ก็ไม่มีเงิน เพราะ โง่+จน
๐ เจ็บใจ โดนโกง ไปหาหมอความ ก็เงินไม่มี เพราะ จน+โง่
๐ ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้ กับซัง
๐ จึงไม่มีใครอยากทำนา อาชีพชาวนาจึงถึงกาลวิสัญญี
๐ เมื่อไม่มีชาวนา ก็ไม่มีข้าว ไม่มีข้าวก็ไม่มีกิน
๐ ไม่มีข้าวกิน เงินก็ไม่มีความหมาย
๐ เพราะเงิน กินต่างข้าวไม่ได้
๐ ครั้นจะไปซื้อข้าวต่างชาติเขากิน ก็กินไม่อิ่ม
๐ เพราะทั่วโลกก็เกิด วิกฤตการ ขาดแคลนข้าว
ข้าวจึงเป็นสินค้าควบคุมพิเศษ
๐ รัฐบาลไทย จึงต้องตรากฎหมาย ให้ ชาวนาไทย เป็นข้าราชการ
๐ สังกัดกระทรวงชาวนาไทย
๐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มีปลัดกระทรวง
๐ มีผู้อำนวยการโรงนาไทย
๐ มี 4 M's (Man ,Money ,Material และ Management)
๐ ผู้ที่จะเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงชาวนาไทย
ต้องสอบแข่งขันเพื่อรับการบรรจุแต่งตั้ง
๐ สอบทฤษฎี+ปฏิบัติ (ไถนา หว่านข้าว เกี่ยวข้าว ฯลฯ) สอบสัมภาษณ์ ผ่านการประเมินทางจิตวิทยา ผ่านการตรวจร่างกาย
๐ ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพชาวนาไทยต้องมี ใบประกอบวิชาชีพ
๐ ข้าราชการกระทรวงชาวนาไทย มีขั้น
มีเงินเดือน +โบนัส+เดินทางดูงานต่างประเทศ
๐ มีสิทธิได้รับเครื่องราชฯ
๐ มีสิทธิอันพึงมีพึงได้ ที่ข้าราชการ พึงควรได้รับ
๐ อาชีพชาวนาจึงมีศักดิ์มีศรี (เปลี่ยนจาก จอขาวดำมาเป็นจอสี)
๐ อาชีพชาวนาไทย จึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เทียบเท่ากับ อาชีพหมอ
๐ เพราะข้าราชการกระทรวงชาวนาไทยมีหน้าที่รักษาชีวิตคนในชาติ
มิให้ตายอด ตายอยาก
๐ ถ้ามีปัญหาสมองไหลเกิดขึ้นในกระทรวงชาวนาไทยซึ่งปัญหาดังกล่าว เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกระทรวงอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นกระทรวงสามานย์ เอ้ย กระทรวงสาธารฯ ซึ่งประสบภาวะปัญหา สมองไหล..
๐ กระทรวงสาธารฯ แก้ปัญหานี้โดย จัดตั้งโครงการ
ผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อชาวชนบท
๐ กระทรวงชาวนาไทยก็สามารถเลียนแบบนโยบาย จากกระทรวงสาธารฯ โดยการผลิตชาวนาเพิ่ม เพื่อชาวชนบท
๐ โดยการให้ทุนการศึกษาเล่าเรียน ..แต่มีข้อแม้ที่ว่า..หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะต้องทำงานใช้ทุนที่กระทรวงชาวนาไทย 20-30 ปี
๐ แต่ถ้านักศึกษาจบออกมาแล้วยังไม่อยากใช้ทุน..จะขอใช้เงินแทน
การใช้ทุน.. ปัญหานี้ก็แก้ไขได้ไม่ยาก
๐ ก็แค่..ก่อนสมัคร..ให้นักศึกษากรีดเลือดสาบาน ...ว่า..เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะออกมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมือง ณ กระทรวงชาวนาไทย โดยมิเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
๐ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถแก้ปัญหา สมองไหล ได้ในระดับหนึ่ง...
๐ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็น ยูโทเปีย (Utopia) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงในอีกประมาณ 2,000-3,000 ปีข้างหน้า
กวิน
ที่มา : gotoknow.org : kelvin บล็อก : สังคมนิยมเพ้อเจ้อ (Utopia)
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 9:04 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่: ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ
ชื่อบทความเดิม :
‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่:
ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” <1>
ผู้เขียนทั้งเห็นด้วยและมีข้อสงสัยต่อทรรศนะของนิธิในประเด็นเกี่ยวกับการอธิบายจุดจบของรัฐที่มีชนชั้นสูงเป็นกลุ่มครอบงำสังคม-การเมืองไทย นิธิเปิดประเด็นว่า การเลื่อนสถานภาพทางสังคมในไทยนั้นกระทำโดยผ่านการรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น “สัญลักษณ์ของความทันสมัยและโลกาภิวัฒน์” สัญลักษณ์ดังกล่าวเริ่มมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และเพิ่มทวีอำนาจทางวัฒนธรรมมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ “ลูกคนชั้นกลางกลายเป็นนักเรียนนอกกันเต็มเมือง” นิธิเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้เข้ากับการสั่นคลอนหรือกระทั่งการ “พังสลายของโครงสร้างลำดับสถานภาพของสังคมไทย (hierachical<2> [sic] structure)” และอธิบายว่าขบวนการท้าทายรัฐในขณะนี้ ตลอดจน “การอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมือง และในทางตรงกันข้ามการโจมตี “เบื้องสูง” ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ หรือทำโดยเปิดเผยผ่านการใช้สัญลักษณ์” เป็นอาการของการซ้อนทับตรงต้องกันระหว่าง “โครงสร้างอำนาจของรัฐ” กับ “โครงสร้างสถานภาพทางสังคม” ที่เมื่อส่วนหลังสั่นคลอนด้วยการขยายตัวของชนชั้นผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนแรกก็หวั่นไหวตามไปด้วย นิธิเรียกการซ้อนทับนี้ โดย “พูดด้วยภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ” (เน้นโดยผู้เขียน ดูเชิงอรรถที่ 2) ก็คือว่า “รัฐไทยเป็นรัฐเจ้าขุนมูลนาย” อันเป็นที่มาของชื่อบทความของเขา
แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นได้สั่นคลอนและทำให้รูปรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่น่าฉงนงงงวยคือเหตุใดการวินิจฉัยของนักประวัติศาสตร์และนักวิเคราะห์สังคมผู้ลุ่มลึกอย่างนิธิ จึงได้สรุปโดยอิงอาศัยอาการของเหตุการณ์ที่แสดงออกในปัจจุบัน แล้วรวบรัดว่า ห้วงขณะ ณ เวลานี้ เป็น “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” อย่างลวกง่ายนัก
ประการแรก มโนทัศน์ “รัฐเจ้าขุนมูลนาย” นั้นน่าเคลือบแคลง เพราะผู้เขียนไม่แน่ใจว่านิธิหมายถึง “รัฐ” ไหนกันแน่ ดูเหมือนว่านิธิจะโบ้ยใบ้ว่า “ฝ่ายรัฐ” คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลและระบบราชการ (ตามชื่อ “รัฐเจ้าขุนมูลนาย”) ส่วน “ฝ่ายผู้เลื่อนชั้นทางสังคม” ที่มาท้าทายรัฐคือชนชั้นกลาง (ตัวอย่างที่นิธิยกมาคือ พันธมิตรฯ) และ “ผู้คนในสถานภาพระดับล่างซึ่งไม่เคยมีปากเสียงมาก่อน” (นปช.) ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการลุกขึ้นยืนยันสำนึกในชนชั้นของตัวเองของ “ชาวบ้าน” นั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่จริง แต่การที่นิธิแยกแยะ “ชนชั้นกลาง” ออกจาก “โครงสร้างอำนาจของรัฐ” นั้นเป็นเรื่องน่ากังขา หากเราแยกตามนิธิไปเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเรายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประวัติศาสตร์ไทยก็ต้องปราศจากเหตุการณ์ในปี 2475, 2516, 2535, 2540 (รัฐธรรมนูญปี 40 คือรัฐธรรมนูญกระฎุมพี) ซึ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ท้าทายรัฐโดย “ชนชั้นกลาง” ทั้งสิ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์ในระยะหลังๆ ก็เป็นการท้าทายรัฐชนชั้นกลางโดยชนชั้นกลางด้วยกันเอง ตรรกะของนิธิจะอธิบายความสลับซับซ้อนยอกย้อนของปรากฏการณ์ชนชั้นกลาง ซึ่งก็มีหลายระดับในตัวมันเอง (ตามที่นิยมแบ่งกันว่าสูง กลาง ล่าง) พลวัตการเคลื่อนที่ขึ้นลง การปะทะสังสรรค์ของกลุ่มเหล่านี้ โดยเป็นทั้งฝ่ายต้านรัฐและเข้าไปครองอำนาจรัฐ ตลอดจนนิยาม หน้าตา และตัวตนของ “ชนชั้นกลาง” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และตามมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ได้อย่างไร<3>
ประการต่อมา ผู้เขียนยังสงสัยว่านิธิจะพิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นิ่ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “รัฐ” มาตลอด โดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่นนั้นเชียวหรือ? เราอาจกล่าวได้ว่า รูปแบบพระราชอำนาจและพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่เราเห็นอยู่ทั้งหมดในปัจจุบันนั้นเป็นผลผลิตและมรดกตกทอดของการฟื้นฟูในสมัยสฤษดิ์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสถานภาพของสถาบันฯ ในยุคของแปลกและของคณะราษฎร์ก่อนหน้านั้น<4> นิธิจะปิดตาต่อการปะทะประสานและความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างสถาบันฯ กับรัฐบาลในยุคสมัยต่างๆ ราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในวาทกรรมชาตินิยมและประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบพันธมิตรฯ อันเรียบลื่นไร้รอยต่อเช่นนั้นหรือ?
นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิง “วัฒนธรรมชนชั้น” อันเป็นประเด็นหลักที่นิธิหยิบยกขึ้นมานั้น เราก็ยังเห็นการแพร่กระจายของ “วัฒนธรรมป๊อบ” ไปสู่ชนชั้นสูงทั่วโลก<5> ทั้งในรูปของภาพยนตร์ แฟชั่น ดนตรี ฯลฯ ผู้เขียนมองว่า นี่ต่างหากที่เป็นความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจนำ (hegemony - ขอสื่อสารกับชนชั้นผู้ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง) ของวัฒนธรรมชนชั้นกลาง ที่เปรอะซึมเข้าไปในตัวตนของชนชั้นอื่นๆ ในสังคม แต่มากกว่าที่จะหมายถึงการ “พังทลาย” ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ซึ่งแตกหัก ณ ชั่วขณะที่ชัดเจนหนึ่งๆ จนกลายเป็น “อวสาน” ของอะไรต่อมิอะไรอย่างที่นิธิพรรณนา การเปรอะซึมนี้ทำให้เกิดการตัดข้ามชนชั้น อย่างน้อยในเชิงวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการผสมผสานและเลื่อนไหลของตัวตนอย่างแนบเนียนและเงียบงัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ชนชั้นกลาง นิธิมองชนชั้นสูงว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและหยุดนิ่ง และดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องสั่นสะเทือนและแตกหักอย่างเดียวเท่านั้น แนวคิดของนิธิจึงไม่มีเนื้อที่ให้กับการปรับตัว เคลื่อนคล้อย และพลิ้วไหวในเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นต่างๆ ที่บ้างก็เลียนแบบ บ้างก็พยายามฉีกให้แตกต่างจากกันและกัน บ้างก็เลือกรับเลือกปฏิเสธจากที่นั่นที่นี่ บุคคลหรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ยุคสมัยนั้นยุคสมัยนี้ต่างๆ นานา ตลอดจนการพลิกพลิ้วขึ้นเป็นอำนาจนำของวัฒนธรรมชนชั้นกลางที่ไม่ได้กระแทกกระทั้นหรือจงใจทำลายวัฒนธรรมชนชั้นอื่นให้ปลาสนาการไปอย่างนักปฏิวัติ
นิธิใช้ตัวอย่างของ พธม. เป็นส่วนหนึ่งในการบ่งชี้ถึงสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นอวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่ว่า พธม. จะอ้างใครหรือใช้วิธีการอะไร บุคคลที่ พธม. ต่อต้านนั้นคือทักษิณ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐชนชั้นกลางผู้ใช้ภาษาไทยคำอังกฤษคำด้วยเช่นกัน อีกครั้งที่ประเด็นอยู่ที่ว่า “รัฐ” ไหนที่นิธิหมายถึง และมี “รัฐเจ้าขุนมูลนาย” แบบบริสุทธิ์ดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ให้เขาประกาศว่ามันถึงกาล “อวสาน” จริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นด้วยกับนิธิในส่วนที่ว่า การเรียกร้องโหยหา “อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์” อยู่ตลอดเวลาโดยกลุ่ม พธม. นั้นหาใช่ความพยายามเพื่อสถาปนาหรือฟื้นฟูรัฐเจ้าขุนมูลนายขึ้นใหม่ไม่ แต่เป็นเพียงการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น “เครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมือง” ของตนเท่านั้น เราอาจมองได้ว่า พธม. นั้นใกล้เคียงกับสฤษดิ์ที่พยายามดึง “เบื้องสูง” มาเป็นพวกโดยการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแข็งขัน ออกหน้าออกตา แต่ในขณะเดียวกันก็ขยายฐานอำนาจของตัวเองและมุ่งขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง ไม่แน่ว่าการประกาศของภูวดลเรื่องการปฏิวัติกระฎุมพี<6> อาจจะไม่ได้มีนัยยะเล็กน้อยเพียงการละเล่นเชิงโวหารเสียแล้ว
การโคจรบรรจบกันระหว่าง “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” ของนิธิ กับ “การปฏิวัติกระฎุมพี” ของภูวดล อาจจะดำรงอยู่เพียงในจินตนาการเพ้อพกของผู้เขียนเท่านั้น และผู้เขียนก็อาจจะคาดหวังกับบทความสั้นๆ ซึ่งนิธิเองก็ย้ำหลายครั้งหลายหนทำนองว่า “ไม่แน่ใจว่าคำอธิบายของผมใช้ได้หรือไม่” มากเกินไปก็ได้ กระนั้นก็ตาม อย่างน้อยในบทความนี้ ดูเหมือนว่าการวิเคราะห์เรื่องชนชั้นของนิธิจะกลืนเข้ากับประวัติศาสตร์กระแสหลักได้อย่างเรียบลื่น หรือสิ่งที่จะถึงกาล “อวสาน” นั้นอาจจะไม่ใช่รัฐเจ้าขุนมูลนาย แต่เป็นอาการเริ่มแรกที่บ่งถึงอวสานแห่งพลังการอธิบายของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (หนุ่ม)?
สิกร สิกรรัตน์
เชิงอรรถ
<1> นิธิ เอียวศรีวงศ์. “อวสานของรัฐเจ้าขุนมูลนาย” มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 7-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
<2> ตรงนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่านิธิเขียนผิดหรือมติชนพิมพ์ผิด (ที่ถูกต้องสะกดว่า hierarchical ในบทความของนิธิตกตัว r ไปหนึ่งตัว) การใส่ศัพท์ภาษาอังกฤษลงมาในส่วนของบทความที่กำลังพูดถึงการเลื่อนสถานะของชนชั้นกลางด้วยภาษาดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือหากเป็น “ความไม่ตั้งใจ” ก็อาจจะเป็นจิตใต้สำนึกของนิธิที่เขียนด้วยสถานะความเป็นชนชั้นกลางอดีต “นักเรียนนอก” และสื่อสารกับผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ผู้ที่อยู่ในสถานภาพใกล้เคียงกัน กล่าวคือเราอาจมองได้ว่านิธิก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เขากล่าวถึงในบทความด้วย ไม่ว่านิธิจะประกาศอย่างถ่อมตนว่าจะพยายามสื่อสารกับชาวบ้าน หรือพยายาม “ตีตัว” ออกห่างจากชนชั้นของตัวเองอย่างไร แต่บางที การใส่ภาษาอังกฤษแบบสะกดผิดเข้ามา โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามนั้น อาจจะเป็นความพยายามบ่งชี้สถานภาพก้ำกึ่งของตัวเอง นั่นคือนักเรียนนอกผู้ดิ้นรนที่จะไม่แปลกแยกจากชาวบ้าน ราวกับจะบอกเราว่า “เห็นไหม ผมใช้ภาษาอังกฤษนะ แต่ยังใช้แบบถูกๆ ผิดๆ เลย” (ฮา) กระนั้นก็ตาม หากตัวตนของนิธิเองแสดงนัยยะของความผิดแผกแตกต่างไปจากชนชั้นที่ตนสังกัดอยู่ แล้วเราจะยังสามารถเชื่อมั่นการวิเคราะห์ของเขาที่เหมารวมว่าชนชั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้มากน้อยเพียงใด? เราจะไว้ใจมุมมองที่ละเลยความแตกต่างหลากหลายของตัวตน ทัศนคติ ค่านิยม รสนิยม โลกทัศน์ของแต่ละบุคคล และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลข้ามกาลเวลา (ซึ่งอาจมีลักษณะตัดข้ามชนชั้น อย่างในแบบที่นิธิผู้เป็นชนชั้นกลางจบนอก แต่ก็ไม่เหมือนนักเรียนนอกคนอื่น หรือไม่เหมือนพวก “ลูกจีนกู้ชาติ” เพราะเขาสามารถข้ามไปเห็นอกเห็นใจ “ชาวบ้าน”) ได้ละหรือ? พูดให้ง่ายก็คือ หากนิธิแตกต่างได้ แต่ทำไมบุคคลที่เขาวิเคราะห์ถึงจึงแตกต่างไม่ได้ แต่กลับถูกยัดเยียดใส่ความเป็น “ชนชั้น” แบบทื่อๆ ให้เสียดื้อๆ อย่างนั้น?
<3>นี่หรือคือการวิเคราะห์จากผู้แต่ง ปากไก่และใบเรือ กับ สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี? นิธิ ผู้โด่งดังในฐานะนักประวัติศาสตร์ เคยใช้ตรรกะง่ายๆ ที่ละเลยแง่มุมทางประวัติศาสตร์เช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในบทความว่าด้วย “การปรับระบบการเมือง” โดยแบ่งชนชั้นตามตัวเลขรายได้เพียงอย่างเดียว บทความดังกล่าวตีพิมพ์ในมติชนเช่นกัน แต่ฟ้าเดียวกันรวบรวมไว้ครบถ้วนทั้ง 4 ตอนในที่เดียว ดู http://www.sameskybooks.org/2008/09/15/niti/ อนึ่ง ดูปัญหาการนิยามชนชั้นกลางและตัวอย่างการวิเคราะห์ชนชั้นกลางที่ละเอียดอ่อนกว่าได้ใน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บก.) (2548). คนชั้นกลางไทยในกระแสทุนนิยม. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง. ศิริพรเขียนไว้ในหน้า 147 ของหนังสือเล่มนี้ว่า “...สิ่งสำคัญที่นำความยุ่งยากและสลับซับซ้อนกับการให้ความหมายคำ “ชนชั้น” ก็คือโลกทัศน์ของผู้กล่าว...”
<4> ดูรายละเอียดใน Pasuk P. and Baker, C. (1997). Thailand: Economy and Politics. Kuala Lumpur: Oxford University Press.
<5>เจ้าหญิงไดอาน่าก่อนสิ้นพระชนม์เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น pop princess
<6> ดู http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=13375&Key=HilightNews
ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ‘อวสาน’ ของอะไรกันแน่: ข้อสงสัยต่อบทความนิธิ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:43 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น
ภาษีทรัพย์สิน : กระดูกสันหลังประชาธิปไตย
ทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงล้มลุกคลุกคลานแม้จะมีอายุถึง 76 ปีแล้ว คำตอบง่าย ๆ ก็คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เรามักเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมหมายถึงแค่การไปออกเสียงเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงหมายถึงการมีส่วนให้หรือส่วนเกื้อหนุนในฐานะสมาชิกของสังคมหรือของประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ชัดเจนได้แก่การเสียภาษี
คงไม่มีประเทศใดจะอยู่รอดได้หากประชาชนของประเทศไม่ได้เสียภาษี และภาษีที่ผมหมายถึงก็คือภาษีทรัพย์สิน การที่ประชาชนได้เสียภาษีโดยตรงจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จะร่วมกันดูแลภาษีของตน และปิดโอกาสที่จะให้นักการเมืองหรือข้าราชการประจำรายใดมาแสวงหาผลประโยชน์
ภาษีทรัพย์สินเป็นไง
ภาษีทรัพย์สินนี้หมายถึงภาษีที่ประชาชนผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์และโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียให้กับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยตรง ระบบภาษีทรัพย์สินจะทำให้ผู้เสียภาษีเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาษีที่ตนเองจะได้รับ และตระหนักถึงหน้าที่ของตนในการเสียภาษี
ในเมืองเกือบทุกแห่งของประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาชนต้องเสียภาษีทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของ เช่น หากเรามีบ้านราคา 1 ล้านบาทในเขตเทศบาลเมืองคูคต ปทุมธานี เราต้องเสียภาษีทรัพย์สินประมาณ 15,000 บาท หรือ 1.5% โดยภาษีนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการศึกษา จัดสร้างสาธารณูปโภค และการพัฒนาอื่นๆ ในเขตเทศบาลดังกล่าว
ประโยชน์ของภาษีทรัพย์สิน
จะเห็นได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ เทศบาลนั้น ๆ ยิ่งเจริญ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บได้ก็เพื่อการพัฒนาในพื้นที่เท่านั้น ประชาชนจึงรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามอาจมีชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนไม่อยากเสียภาษีนี้บ้าง เช่น คนโสด เพราะตนเองอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดการศึกษาแก่เด็ก เป็นต้น แต่การมีโรงเรียนคุณภาพในท้องถิ่นจะทำให้มีคนสนใจย้ายเข้าท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของตนเองเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
โดยที่ภาษีทรัพย์สินเป็นภาษีสำหรับท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นภาษีทางตรง จึงทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถช่วยดูแลควบคุมเป็นอย่างดี ต่างจากในสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ที่รัฐบาลกลางส่งเงินมาให้ส่วนท้องถิ่นใช้ คนในท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” กลายเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบไป
กระดูกสันหลังประชาธิปไตย
ในประเทศตะวันตก ไม่เฉพาะนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารหรือหัวหน้าสำนักการศึกษา การสาธารณูปโภค การประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือในรูปคณะกรรมการ ก็จะต้องผ่านการเลือกตั้งเช่นกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเท่านั้น ที่เป็นข้าราชการประจำของเมืองหรือเทศบาล
การเลือกตั้งผู้บริหารหรือหัวหน้าสำนักต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้การบริหารเทศบาลเป็นไปตามความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ผู้ที่อาสามาทำงานเพื่อส่วนรวม จึงอาจเป็นระดับชาวบ้านธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองมืออาชีพเขี้ยวโง้ง หรือไม่ นี่จึงเป็นผลดีของภาษีทรัพย์สินที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในท้องถิ่น จนทำให้คนดี ๆ ในท้องถิ่นอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมจริง ๆ มากขึ้น เป็นการปิดโอกาสที่นักการเมืองและข้าราชการประจำจะกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบ
ผลร้ายของการไม่มีภาษีทรัพย์สิน
ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถมีระบบภาษีทรัพย์สินได้มาช้านานแล้ว ระบบภาษีบำรุงท้องที่ก็ยังใช้ราคาประเมินของทางราชการที่เก่ามากแล้ว ไม่สะท้อนมูลค่าปัจจุบัน เก็บภาษีก็ได้เพียงน้อยนิด เทศบาลส่วนมากก็ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้พอเพียงกับค่าใช้จ่าย รัฐบาลส่วนกลางก็ต้องส่งงบประมาณมาให้ใช้สอย จนทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ข้างต้นนี้เป็นภาพที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
ที่ดินเปล่าใจกลางกรุงมากมายปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เพราะไม่ต้องเสียภาษี ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ อุปทานที่ดินก็จำกัด เมืองก็ต้องขยายออกไปในแนวราบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราควรคิดใหม่ว่าการที่รัฐจัดหาระบบไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ ฯลฯ ผ่านหน้าที่ดินของเราโดยเราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรนั้น เราก็ต้องเสียภาษี ถ้าประเทศชาติของเรามีภาษีไม่พอ เราก็ต้องขึ้นภาษีทางอ้อม กลายเป็นความบิดเบี้ยวไปอีกต่างหาก
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนก็จะถูกบิดเบือนให้แปลกแยกกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มีส่วนได้ มีส่วนเสียเพื่อรดน้ำพรวนดินระบอบนี้ ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้เสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้เสียภาษีทางตรงจากทรัพย์สินที่ครอบครอง จึงทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของเท่าที่ควร และกลายเป็นว่าท้องถิ่นเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลส่วนกลางอีกต่างหาก (แต่บางที่ ๆ กันดาร ไม่ควรไปตั้งถิ่นฐานตั้งแต่แรก ก็อาจไม่สามารถจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้อย่างเพียงพอ)
ติดขัดอยู่ที่ใคร
ผมเชื่อว่า ‘เจ้าของที่ดินรายใหญ่’ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขัดขวางระบบภาษีทรัพย์สินนั่นเอง ลำพังชาวบ้านทั่วไปที่ต้องถูกกะเกณฑ์ให้เสียภาษีปีละ 1-2% นั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมาก แต่ ‘เจ้าของที่ดินรายใหญ่’ คงไม่คิดเช่นนั้น การมีที่ดินมาก ต้องเสียภาษีมาก ย่อมทำให้ ‘เจ้าของที่ดินรายใหญ่’ เสียประโยชน์เป็นอย่างมาก
ถ้ามีระบบภาษีทรัพย์สิน ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีการสำรวจว่าใครคือ ‘เจ้าของที่ดินรายใหญ่’ บ้าง ซึ่งพวกนี้อาจไม่ต้องการเปิดเผยตัว จึงพยายามทำให้ข้อมูลการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นความลับ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่นำพาว่าการปกปิดข้อมูลการซื้อขาย ครอบครองทรัพย์สินเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการฟอกเงินของอาชญากร (เศรษฐกิจ)
ใครคือ ‘เจ้าของที่ดินรายใหญ่’ คำตอบก็เห็นอยู่ทั่วไปเช่น นักการเมือง ข้าราชการใหญ่ ตระกูลพ่อค้า หรือตระกูลขุนนางใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพลใหญ่ และอื่น ๆ ทั้งที่สมควรและไม่สมควรกล่าวถึง (นึกกันเอาเองก็แล้วกัน)
รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (รัฐบาลไหนก็ได้) ที่หวังจะสถาปนาระบอบนี้ให้คงทนและเพื่ออนาคตของรัฐบาลเอง ต้องทำให้กฎหมายภาษีทรัพย์สินออกมาใช้ให้ได้ในประเทศไทย
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : ภาษีทรัพย์สิน : กระดูกสันหลังประชาธิปไตย
เพื่มเติม
ภาคปฏิบัติของภาษีทรัพย์สิน
ในแต่ละปี เทศบาลหรือ อบต. จะเป็นผู้ประเมินว่าเรามีทรัพย์สินราคาเท่าไหร่ โดยในบางกรณีเจ้าของบ้านอาจให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อประเมินได้ถูกต้อง จะได้ไม่เสียภาษีมากหรือน้อยเกินไป หลังจากนั้น เทศบาลก็จะแจ้งราคาทรัพย์สินของเราและอัตราภาษีที่เราต้องเสีย ประเด็นสำคัญอยู่ที่แต่ละเทศบาลต้องทำทะเบียนทรัพย์สินที่จะประเมินและสามารถประเมินให้ทันสมัย ถูกต้องเป็นรายปี เพื่อความเป็นธรรมของผู้เสียภาษี ผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีอาจถูกยึดบ้านมาขายทอดตลาดเพื่อเสียภาษีได้
ภาษีทรัพย์สินนี้ยกเว้นให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ๆ ระบุไว้ในผังเมืองว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรืออาจที่ดินนอกพื้นที่เกษตรกรรมแต่ทำการเกษตรจริงเป็นเวลานานเท่าที่กำหนด เช่น ตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันพวกลักไก่รีบทำการเกษตรเพื่อเลี่ยงภาษี การมีข้อยกเว้นสำหรับที่ดินเพื่อการเกษตรก็เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรของประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารของคนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
โสภณ
(จากความคิดเห็นต่อข่าว/บทความ : ความคิดเห็นที่ 23 )
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:19 หลังเที่ยง 0 ความคิดเห็น