เวทีนำเสนอข้อสำรวจเบื้องต้นทางวิชาการของ รศ.ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์ว่าด้วย ‘อนาคต 6 ตุลา’ ที่ห้องประชุม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลากคม 2551 ได้เปิดประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงว่าด้วยการเทียบเคียงและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลากับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยผู้อภิปรายหลัก (อย่างไม่เป็นทางการ) ประกอบด้วย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และวิทยากร เชียงกูล พร้อมทั้งประชาชนผู้ร่วมการแสดงความเห็นจำนวนหนึ่ง สรุปประเด็นโดย รศ.กฤตยา อาชวนิชกุล
วิทยากร เชียงกูล ปัญหาของสังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่อยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ 14 ตุลาคม 2516 เทียนวรรณ หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกทำให้ลืม ถูกลดความสำคัญลง นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหารากเหล้าจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ก็คือวัฒนธรรมของการกล่อมเกลาทางสังคมนั้นเป็นวัฒนธรรมของสังคมเกษตร พึ่งพาตนเองอยู่ภายใต้ระบอบศักดินา สอนการท่องจำ ให้เชื่อระบบอาวุโส เชื่ออำนาจนิยม เชื่อเจ้าขุนมูลนาย สอนแต่เรื่องนี้ตลอดทั้งในบ้าน ในสังคม ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจึงไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การมองภาพแบบเชื่อมโยง องค์รวม เป็นการสอนเทคนิควิชาชีพ ไปรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเราจะมีคนที่เก่งด้านอื่นๆ แต่ตอบเรื่อง 6 ตุลาอย่างโง่เง่ามาก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของระบบการศึกษา เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศชาติ และนี่ก็โยงมาถึงปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย ว่าความคิดแบบสองขั้วสุดโต่งนั้นใช้อารมณ์มาก
6 ตุลานั้นเป็นความรุนแรงสองขั้วโดยเฉพาะความโง่เง่าของชนชั้นปกครอง ความกลัวหนึ่งก็คือเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะความกลัวว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกต่างชาติ คอมมิวนิสต์เป็นพวกล้มล้างสถาบัน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เขาระมัดระวังมาก ไม่ค่อยแตะ เขาพูดเรื่องสังคมที่เป็นธรรม มองพัฒนาการของสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่เหมือนระบอบทักษิณ ที่เขากล้าแตะ แต่ชนชั้นผู้ปกครองกลัวเกินเหตุ เพราะจริงๆ แล้วหลัง 14 ตุลา นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นพวกเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้า เลิกสนใจสังคมนิยมบ้าง เพราะสังคมนิยมกำลังเติบโต จีนกำลังพัฒนาประเทศ ความคิดต่อต้านจักรวรรดินิยมมีสูง รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็มีอยู่สูง สังคมนิยมก็เป็นคำที่มีเสน่ห์ และอธิบายได้ดีกว่าระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตย แต่ยังไม่ไปไกลมาก แต่ชนชั้นผู้ปกครองใจแคบ ก็เลยเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง และสังคมไทยไม่ได้พยายามเรียนรู้ที่จะหาทางออกอย่างสันติวิธี คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พยายามเสนอสันติวิธีแต่ก็โดนด่าจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักศึกษาก็ว่าอาจารย์ป๋วยไปประนีประนอมกับผู้ปกครอง ฝ่ายผู้ปกครองก็กล่าวหาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง ท่านเป็นนักเสรีนิยมที่รักความเป็นธรรม
ปัจจุบันผมคิดว่าคนที่เชื่อทักษิณแบบด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากพอสมควร แม้แต่นักวิชาการ หรือบางคนก็มีผลประโยชน์โดยตรง บางคนก็สวิงกลับหลังจากผิดหวังกับระบบสังคมนิยม บางคนก็อยากเป็นนายทุนด้วยไปทำงานร่วมกับสมัคร สุนทรเวชได้ และลืม 6 ตุลาได้ ซึ่งการลืมนี่ก็เป็นปัญหาของคนเราที่อยากจะลืมสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง อยากจะก้าวไปข้างหน้าผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรง
และส่วนของพันธมิตรฯ ก็ใช้อารมณ์เยอะ และเป็นความรุนแรงมาก เป็นเหมือนฝ่ายขวาที่ใช้เรื่องคอมมิวนิสต์โจมตีนักศึกษา แต่เราก็ไม่ควรมองง่ายๆ แบบเย้ยหยัน เพราะมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แนวร่วมและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นหลักประเด็นรองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือการโค่นล้มทักษิณ ซึ่งมีอำนาจครอบงำอะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นอันตรายจริง เพียงแต่ว่านักวิชาการซึ่งเป็นปัจเจกเสรีนิยมมากก็มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความสุดขั้ว ในวงการวิชาการ ในครอบครัวอะไรต่างๆ แตกเป็นสองขั้วหมดเลย
สิ่งที่เราน่าจะคิดถึงอนาคตของประเทศไทยต่อไป คือการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ เสนอนั้นก็น่าต้องคิดต่อ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกผู้แทน แค่ย้อนไปถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เราคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีแล้ว ก็มาเป็น 2550 เวลานี้ก็ยังไม่พอใจเพื่อให้เป็นการเมืองใหม่ แต่ปัญหาพื้นฐานไม่ได้แก้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพื้นฐาน การกระจายรายได้ก็ไม่ได้แก้ ที่เคยพัฒนาขึ้นมาจาก 14 ตุลา ก็ไม่ได้พัฒนาต่อไป คนรวยก็ถูกหลอกด้วยบริโภคนิยมเหมือนรวยขึ้นแต่ก็เป็นหนี้มากขึ้น ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น และเดี๋ยวนี้มันสับสนเพราะอธิบายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาอธิบาย บางคนก็บอกเราเป็นพันธมิตรชั่วคราวได้ จับมือกับทหาร เพราะถ้ามองดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ทหารไม่สามารถกลับไปมีอำนาจแบบสฤษดิ์ได้อีกต่อไป นี่คือตัวอย่างที่เราต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์
ที่สำคัญก็คือว่าทำอย่างไรให้เด็กไทยได้เรียนรู้มากขึ้น ผมคิดว่ากระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ การมองแบบเชื่อมโยง การวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นสำคัญ เพราะถ้ามองแบบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ล้วนๆ นั้นมีข้อจำกัด
ถ้าเราจะได้บทเรียนจาก 14 ตุลา และตัวอย่างที่เป็นประโยชน์เราต้องศึกษาวิเคราะห์ในบริบทเรื่องปัจจุบันด้วย
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผมได้ความรู้ใหม่จากอาจารย์วิทยากรว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ต้องการจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ระบอบทักษิณมีพฤติกรรมที่จาบจ้วงมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์
ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์ ถ้า 6 ตุลาคือความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน ตอนนี้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องที่เป็นของรัฐมันเป็นเรื่องของม็อบระดับประชาชน ผมนึกถึงฮ่อ เมื่อร้อยปีที่แล้ว ที่พวกฮ่อธงเหลือง ธงขาว ธงแดง ใครอยู่กลุ่มไหนก็ดูจากสี ผมรู้สึกว่าสงครามฮ่อ ที่ลงมาทำลายระบบการเมืองอินโดจีน ตอนนี้ก็เหมือนกันคือใช้สีเป็นสัญลักษณ์
วิทยากร เชียงกูล ผมฟังแล้วก็สะดุ้งนิดหน่อย เพราะถ้าคุณตีความแบบที่คุณพูดผมก็เสร็จ ปัญหามันซับซ้อนแต่ผมอาจจะสื่อความหมายไม่ดี เพราะเราไม่อาจจะเปรียบพันธมิตรฯ กับขบวนการนักศึกษาไม่ได้ มันมีลักษณะเป็นกลุ่มเฉพาะกิจ เห็นได้ว่ามีฝ่ายก้าวหน้าหลายคนไปร่วม หลายคนไม่เข้าร่วม และรอยัลลิสต์ก็เข้าไปด้วย
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปกติผมไม่มาร่วมงานแบบนี้เลย งานครบรอบ 6 ตุลา เพราะว่าผมเพิ่งอ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งเรื่อง
The Holocaust Industry คนเขียนเป็นยิวเป็นศาสตรจารย์ที่ชิคาโก ชื่อ Norman G.Finkelstein เขาเสนอว่าบางครั้งเขารู้สึกว่าถ้าไม่มีการพูดเรื่อง Holocaust คือ การฆ่าชาวยิวเสียเลยจะดีกว่า ผมก็คิดว่าถ้าเราไม่พูดเรื่อง 6 ตุลาเลยดีกว่า ผมเสนอให้เป็นแบบกรณี 9 มิถุนายน 2489 ดีกว่า อย่างน้อยคนที่อยากจะสนใจศึกษาอย่างซีเรียสจริงๆ ก็ค่อยมาว่ากัน คนจะได้อย่างน้อยจะศึกษาก็ศึกษา แต่การจัดเสวนาแบบนี้ผมว่ามันแทบจะมีข้อไม่ดีมากกว่าดีในความเห็นของผม แต่ผมมาเพราะว่าผมสะดุดใจกับหัวข้อที่น่าสนใจ
ข้อเสนอของผม จะเรียกว่าเป็นคำนิยามหรืออะไรก็ได้ แต่ก่อนหน้าที่ผมจะพูดถึงข้อเสนอนั้น ผมอยากจะบอกว่าใครที่แคร์กับ 6 ตุลาจริงๆ แล้วยังสามารถสนับสนุนพันธมิตรฯได้ ผมเฮิร์ทมากๆ ผมอยากฝากไปบอกอาจารย์ชลธิราที่ไปเชียร์พันธมิตรฯได้นั้น ผมเฮิร์ทมากๆ และผมไม่สามารถจะเขียนวิจารณ์ได้ เพราะว่ามันเฮิร์ทจนเกินกว่าจะเขียน ผมจะพูดอย่างนี้ว่าใครที่แคร์กับเรื่อง 6 ตุลาแล้วสนับสนุนแนวทางของพันธมิตรฯ แสดงว่าไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย
6 ตุลาคืออะไร ถ้าผมจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาสักเล่ม ผมจะตั้งชื่อว่า The sacred and the violence แปลเป็นไทยคือ
สิ่งศักดิ์สิทธ์กับความรุนแรง ความรุนแรงของ 6 ตุลานั้นคนตายน้อยกว่าเหตุการณ์ตากใบ แต่ความตายของ 6 ตุลา คือแม้คนตายแล้วยังต้องเอาศพไปทรมาน เอาศพไปแขวนไปตีซ้ำๆ เอาลิ่มไปตอก ไปเผา ทำอนาจารศพ สารพัดอย่าง คุณอะไรที่ตายไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังเอาไปฟาด นี่คือสิ่งที่...ทำไมไม่เกิดที่ตากใบ ไม่เกิดที่เขาพระวิหาร ไม่เกิดที่นปก. เพราะมันไม่เกี่ยวพันกับอีกขั้วคือความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ 6 ตุลานั้น คนคิดว่านักศึกษากำลังละเมิดความศักดิ์สิทธิ์
ทีนี้พันธมิตรฯ เข้ามาอย่างไร ผมไม่รู้ว่าใครก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า แต่มีการพูดว่าคนเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ บางคนเป็นคนก้าวหน้า ผมไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ดูที่ทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเรียกร้องทางการเมืองคือโค่นระบอบทักษิณ แต่ถามว่าโค่นทำไม เพื่ออะไร เพราะอะไร
ผมขอเสนอว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของพันธมิตรคือ Resacralization of Politic คือการทำให้ Politic มันศักดิ์สิทธิ์กลับมาใหม่ ผมฟันธงเลยนะ พันธมิตรฯ กำลังทำอะไร แม้แต่คำที่ใช้เองคือทุนที่สามานย์ คืออะไร ก็คือทุนที่ไม่มีคุณธรรม ทุนที่ไม่มีจริยธรรม นักการเมืองมันเลว มันก็เลวมาตลอด 70 กว่าปี แต่ทำไมครั้งนี้มันถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมทักษิณถึงเลวเป็นพิเศษ ทำไมพันธมิตรฯ จึงพูดซำแล้วซ้ำอีกว่าการเมืองใหม่คือทำอะไรก็ได้ แต่ประเด็นคือสิ่งที่พันธมิตรกำลังทำก็คือการพยายาม Resacralization คือการพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเมืองมันเลวทราม ไม่มีคุณธรรม นี่คืออะไร นี่คือทิศทางของคนที่ก่อความรุนแรงเมื่อ 6 ตุลานั่นแหละ ว่าไอ้พวกนี้ มึงละเมิดความศักดิ์สิทธิ์
ผู้ร่วมเสวนา 1 ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมศักดิ์ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยคือความรุนแรงที่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ 2475 ทำไมประเทศไทยไม่ดีขึ้น ประเทศไทยมีคนบางกลุ่มเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ มีคุณธรรม แต่คนบางกลุ่มไม่ใช่ และคนกลุ่มนี้ต้องตายและตายอย่างทรมานที่สุดด้วย ไม่มีประเทศไทนที่โกรธแค้นกันถึงขั้นไปตอกลิ่ม แล้วทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เรามองว่านักการเมืองชั่ว โกงกิน ใช่ แต่ถามง่าทหารโกงกินไหม ข้าราชการโกงกินไหม มี แต่ใครกล้าพูด เราบอกว่าเขามีคุณธรรม แต่นักการเมืองโกงกินนี่ชั่วมาก ปัญหาของสังคมไทยก็คือมีความศักดิ์สิทธิ์ มีการผูกขาด
ผู้ร่วมเสวนาคนที่ 2 ที่อาจารย์สมศักดิ์มาพูดบอกว่าไอ้หมักกรณี 6 ตุลาเป็นคนเล็กไม่มีน้ำยา อย่าพยายามมาพูดแบบนี้นะ เพราะว่าอาจารย์สุธาชัยก็พยายามมาพูดประเด็นนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา สมัครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทย เข้าใจไว้ด้วย
ผู้ร่วมเสวนาคนที่ 3 ผมฝากว่าความรู้เรื่อง 6 ตุลาเล่าเรื่องอย่างเดียว ไม่ต้องวิเคราะห์ ทำเป็นหนังสือแจกไปทั่วประเทศได้ไหม แล้วอาจารย์ที่มีแนวคิดอยากจะเผยแพร่เขาก็ขาดข้อมูล ประการที่ 2 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ขณะนั้นก็มีรัฐบาลอยู่ แต่แสดงให้เห็นว่ามันมีช่วงเวลาที่รัฐบาลไม่สามารถปกป้องประชาชน รักษาชีวิตประชาชนได้เลย เราจะทำอย่างไร เมื่อมีประชาชนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าและไปทำลายประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วอำนาจอะไรจะปกป้องเราได้
วิภา ดาวมณี กรณีที่ญี่ปุ่นบุกนานกิง เราจะเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่นักรบญี่ปุ่นทำกับชาวจีนคืออะไร มีการข่มขืน มีการฆ่าทารกด้วยดาบปลายปืน ในกรณีของอินโดนีเซีย ยุคซูฮาร์โต มีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ไป 1 ล้านคน วิธีฆ่ามีการจับแขวนคอ เหมือน 6 ตุลาคม ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้หรือการทำให้ผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือการทำให้เหยื่อหรือศัตรูกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่น่าเกลียดเป็นสิ่งที่ทำกันในประเทศอื่นๆ ด้วยไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และคอมมิวนิสต์ไม่มีที่ยืนเป็นแค่ลัทธิอุบาทว์ชาติชั่ว และหากเราดูเวทีทางการเมืองไทยไม่ว่าฝ่ายพันธมิตรหรือฝ่ายรัฐบาล ทุกค่ายจะด่าคอมมิวนิสต์เหมือนกันหมด และทั้งสองค่ายก็ร้องเพลง International มีการเชิดชูจิตร ภูมิศักดิ์ โดยไม่รู้ว่าจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นตายในเขตป่าเขา เพราะเข้าร่วมกับกองทัพประชาชน และถูกทางการฆ่าตาย แต่ปรากฏว่ามีการร้องเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ คือเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา คู่กับเพลงความฝันอันสูงสุด แล้วบอกว่านี่คืออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ตอนนี้มีการใช้ชนชั้นกรรมาชีพ ทฤษฎีฝ่ายซ้ายสวมเป็นเสื้อเกราะในการเข่นฆ่ากันระหว่างอำนาจของชนชั้นปกครองทั้งสองฝ่ายที่แย้งชิงกันและประชาชนไม่ได้อะไรเลย
วิทยากร เชียงกูล เมื่อพูดในเวลาสั้นๆ บางครั้งเราไม่สามารถสื่อสารได้ดีพอ เพราะคนเราทั่วไปแล้วมีแนวโน้มในการตีความตามที่เราเชื่อ และวิธีการสรุปเป็นสองขั้วแบบง่ายๆ เป็นจุดอ่อนของคนหลายๆ คน และจุดอ่อนอีกอย่างคือการที่เราคิดว่าเก่งกว่าหรือดีกว่าคนอื่น ผมก็ผ่านเหตุการณ์มาเยอะ ขณะนี้ผมอายุ 62 ตอน 14 ตุลานั้นผมอายุเยอะกว่า ธีรยุทธ บุญมี หรือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมเป็นนักเขียนธรรมดา ผมคิดว่าถ้าเรามองกว้างๆ ในเวลาสั้นๆ ปัญหาใหญ่ของมนุษย์คือ หนึ่ง เรื่องความเห็นแก่ตัว สองคือ ความโง่เขลา ไม่สามารถเข้าใจส่วนร่วมหรือประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างคือคุณทักษิณ มีปัญหาทั้งสองข้อ คือเห็นแก่ตัว และโง่เหลาในแง่ของส่วนร่วมและพัฒนาการทางสังคม
มีนักสิทธิสตรีคนหนึ่ง พูดเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว คนไม่ได้ทำชั่วเพราะคิดว่านั่นคือความชั่ว แต่เขาทำเพราะเขาคิดว่านั่นจะทำให้เขาปลอดภัยและได้ประโยชน์ นี่คือปัญหาของมนุษย์ ปัญหาสำคัญคือชนชั้นผู้ปกครองไมได้ครอบงำแค่ทรัพย์สินและอำนาจอย่างเดียว แต่ครอบงำความรู้ด้วย ทำให้ประชาชนเชื่อว่าต้องพัฒนาแบบฉันแล้วคุณจะหายจน ประเทศชาติจะมีประชาธิปไตย
ผมคิดว่าเราต้องแลกเปลี่ยนกัน การที่อาจารย์สมศักดิ์สรุปว่าผมเห็นด้วยกับพันธมิตรนั้น ผมเห็นด้วยกับพันธมิตรบางเรื่องแต่ไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง ในแง่ของยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ผมคิดว่า มีคนเสนอทฤษฎีว่า ทุนนิยมสามานย์ดีกว่าศักดินาล้าหลัง บางคนอาจจะเสนออย่างบริสุทธิ์ใจ บางคนก็เป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่ไปขายตัวให้ทักษิณแล้วก็รับใช้สุดฤทธิ์ แล้วมาขายความคิดให้กับนักวิชาการที่คิดแบบนี้หรือมีบาดแผลกับ 6 ตุลา แล้วสิ่งที่คุณพูดไปมันมีประโยชน์กับใคร มีประโยชน์ต่อระบอบทักษิณหรือไม่ ต้องกลับมาตรองดู การที่คุณพูดว่าพันธมิตรเป็นระบอบใหญ่โต พันธมิตรฯ ชนะแล้วจะนำประเทศกลับสู่ระบบเก่า คุณมองพัฒนาการประวัติศาสตร์ว่าเป็นไปได้ไหม ประเทศไหนเป็นแบบนี้ มีแต่จะเป็นแบบยุโรปหรือเป็นแบบเนปาล
(แทรก) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ข้อเสนอของผม คือสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำนั้นคือการทำให้การเมืองกลับกลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องคุณธรรมอีกทีหนึ่ง ถ้าอาจารย์วิทยากรไม่เห็นด้วยก็น่าจะถกเถียงประเด็นนี้ สิ่งที่ อ.วิทยากรพูดมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทุนนิยมสามานย์ เห็นแก่ตัวก็ดี นี่คือการเอาสิ่งที่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ย้อนกลับเข้าไปสู่การเมืองอีกที พยายามที่จะตัดสินคนอื่นโดยคุณธรรมของตัวเอง
วิทยากร เชียงกูล นั่นเป็นการตีความของคุณ พูดในแง่ส่วนรวมก็แล้วกันว่าเราควรจะพยายามมองประวัติศาสตร์ให้มันกว้าง มองพัฒนาการระยะยาวเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ด้วย ปัญหามันเกิดขึ้นใหม่ และวิเคราะห์ได้ยากว่าพันธมิตรฯ ประกอบไปด้วยอะไร แต่เราไม่ควรสรุปง่ายๆ ว่าคนอย่างพิภพ ธงไชย หรือสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หรือสมศักดิ์ โกศัยสุข ซึ่งค่อนข้างจะเคยอยู่ฝ่ายประชาชนจะโง่ถึงขนาดอยู่ภายใต้การนำของสนธิ หรืออะไรต่างๆ หรือคนที่ไปเข้าร่วมพันธมิตรฯ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ควรสรุปอะไรง่ายๆ
เช่นเดียวกับพันธมิตรฯ ก็ไม่ควรสรุปง่ายๆ ว่านักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นพวกทักษิณ ก็เป็นการมองแบบง่ายๆ เกินไป มันไม่สามารถหาแนวร่วมได้ เพราะไม่มีวุฒิภาวะ ใช้อารมณ์มากเกินไป เมื่อมองย้อนไปพรรคคอมมิวนิสต์ก็ทำผิดหลายอย่าง พรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีวุฒิภาวะ เราผ่านประวัติศาสตร์มาแล้ว เราก็ผิดพลาด เราก็เคยหัวรุนแรง เอียงซ้าย ก็ผิดพลาด แต่เราอยู่มานานเรามองเห็นข้อจำกัดเหล่านี้ เราก็ควรจะพยายามเอาบทเรียนเหล่านี้มาเป็นประโยชน์
มีตัวละครในนิยายรัสเซีย ซึ่งผมยังจำมาถึงทุกวันนี้ พูดว่า “ผมจะไม่ชูธงปฏิวัติ ผมพอใจที่ทำให้เกิดการปฏิวัติโดยไม่ต้องออกนอกหน้า” เราอาจจะมองแตกต่างกัน แต่ขอให้เก็บไปคิด
สรุปโดย กฤตยา อาชวนิชกุล
กรณี 6 ตุลาเป็นเรื่องความเงียบงัน มันมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เรื่อง 6 ตุลาต้องเงียบงันและความเงียบงันนั้นเกี่ยวข้องกับการเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความถ้ากรณีการตายของคุณณรงศักดิ์
ที่ถูกกระทืบตายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากสื่อมวลชนทำให้มันเงียบงัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และแม้แต่พันธมิตรฯ ก็เงียบงันไม่พูดถึงกรณีนี้ ดิฉันเข้าใจว่าอนาคตทางการเมืองไทย และอนาคต 6 ตุลาจะไปทางเดียวกัน ดิฉันเข้าใจว่าเราคงจะอยู่กันอย่างยากลำบากมากขึ้น และอยู่กับความเงียบงันไปอีกนาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท : วิวาทะว่าด้วย 6 ตุลาและพันธมิตรฯ: ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551
วิวาทะว่าด้วย 6 ตุลาและพันธมิตรฯ: ความเงียบกับความศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 7:14 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ
แสดงความคิดเห็น