วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ชนวน: ภาพละครแขวนคอที่นำไปสู่กรณี 6 ตุลา


เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา (2543) ในระหว่างงานรำลึก 6 ตุลาที่ธรรมศาสตร์ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกใบปลิวโจมตีหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ได้ตีพิมพ์รูปภาพของการเล่นละครที่ธรรมศาสตร์ โดยเสนอข่าวในทำนองว่านักศึกษาจงใจดูหมิ่นเจ้าฟ้าชาย หลายคน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีเสนีย์ และ ดร. ป๋วย มีความเห็นว่ามีการแต่งภาพและปั้นน้ำเป็นตัว ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความจริงคือนักศึกษาไม่ได้เล่นละครดูหมิ่นแต่อย่างใด ไม่ว่าจะมีการแต่งภาพหรือไม่ และที่สำคัญคือการประโคมข่าวดังกล่าวของสื่อมวลชนบางกลุ่มนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดและการทำทารุณกรรมในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ไม่เคยขอโทษ เรื่องนี้แต่อย่างใดต่อผู้ถูกกระทำในวันนั้น.... ฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์มิได้พัฒนาตนเองจาก 24 ปีก่อนแต่อย่างใด

ในคำสัมภาษณ์ของใจต่อสำนักข่าวไทยและในแถลงข่าวของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เขาเป็นเลขานุการ ที่ออกเผยแพร่ในวันนั้น ก็มีข้อความพาดพิงถึง บางกอกโพสต์ ในลักษณะเดียวกัน

วันต่อมา บางกอกโพสต์ ได้ออกแถลงการณ์ในหน้าหนึ่ง ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในแผนการยั่วยุให้เกิดกรณีนองเลือด 6 ตุลา และโจมตีใจว่ากล่าวหา โพสต์ อย่างไม่มีหลักฐาน อันที่จริง สี่ปีก่อนหน้านี้ ในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา โพสต์ ได้ออกแถลงการณ์หน้าหนึ่งชี้แจงความเป็นมาของภาพที่ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 อย่างละเอียด แต่คำชี้แจงไม่เป็นผล เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเชื่อที่ใจแสดงออกไม่ใช่ของใจคนเดียว

เห็นได้ชัดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างใจ อึ๊งภากรณ์กับ บางกอกโพสต์ แต่เกี่ยวพันถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ผมเห็นว่าหลังจาก 24 ปี น่าจะถึงเวลาที่เรื่องนี้มีข้อยุติ ยิ่งกว่านั้น ผมยังเชื่อว่าแม้หลักฐานชิ้นสำคัญบางอันจะยังขาดหายไปดังจะได้อธิบายต่อไป เราก็สามารถรู้แล้วว่าความจริงขั้นพื้นฐานของเรื่องนี้คืออะไร

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการอ่านบทความนี้ต่อหรือต้องการจะทราบข้อสรุปทันที (ผมขอเตือนว่ารายละเอียดของเรื่องที่จะเล่าข้างล่างค่อนข้างจะซับซ้อน) นี่คือสิ่งที่ผมพบจากการตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง:


(1) บางกอกโพสต์ ไม่เคย "เสนอข่าวในทำนองว่านักศึกษาจงใจดูหมิ่นเจ้าฟ้าชาย" ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้อง "ขอโทษ" ในเรื่องนี้แต่อย่างใด

(2) แม้ว่าภาพถ่ายละครที่ตีพิมพ์ใน ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 จะถูกกลุ่มพลังฝ่ายขวายกขึ้นมาอ้างและแจ้งความต่อตำรวจ กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นองค์รัชทายาท แต่ภาพดังกล่าวไม่ใช่ภาพที่ถูกนำมา รณรงค์โจมตีนักศึกษาและระดมกำลังฝ่ายขวาในบ่ายวันนั้น อย่างน้อยก็ไม่ใช่ภาพที่ถูกใช้เป็น หลัก ภาพที่ทำหน้าที่นั้นคือภาพที่ตีพิมพ์ใน ดาวสยาม ซึ่งเป็นคนละภาพกับที่ตีพิมพ์ใน โพสต์ และ ดาวสยาม ก็เป็นเพียงฉบับเดียว (โดยการร่วมมือของ วิทยุยานเกราะ) ที่ "เสนอข่าวในทำนองว่านักศึกษาจงใจดูหมิ่นเจ้าฟ้าชาย" คือสร้างสถานการณ์ในบ่ายวันที่ 5 อันนำไปสู่การนองเลือดในวันรุ่งขึ้น

(3) มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มฝ่ายขวาจะ "ได้ไอเดีย" สร้างสถานการณ์ โจมตีนักศึกษาครั้งแรกจากการเห็นภาพที่ตีพิมพ์ใน บางกอกโพสต์ แต่ความเป็นไปได้นี้ (และข้อเท็จจริงในข้อ 2 ที่ว่า โพสต์ ถูกพวกเขานำมาอ้าง) ไม่ควร ถูกนำมาใช้โจมตีว่าเป็นความผิดของ โพสต์ เพราะถ้าเช่นนั้น ผู้ที่เล่นละครก็สามารถถูกกล่าวหาว่ามีความผิดได้เพราะเล่นละครที่ทำให้ฝ่ายขวา "ได้ไอเดีย" ขึ้น ความจริงคือ ทั้งผู้เล่นละครและ โพสต์ เพียงแต่ทำหน้าที่ของตนไปตามปกติ คือสะท้อนเหตุการณ์ออกมาเป็นละครและเสนอภาพข่าวที่น่าสนใจ

(4) ในความเห็นของผม ภาพที่ตีพิมพ์ใน บางกอกโพสต์ เป็นภาพจริง ไม่ได้รับการแต่ง ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ภาพใน ดาวสยาม ก็เป็นภาพที่ไม่ได้รับการแต่ง การสร้างสถานการณ์ในบ่ายวันที่ 5 ไม่จำเป็นต้องอาศัยความ "เหมือน" หรือ "ไม่เหมือน" ของผู้แสดงละครในภาพ

ละครกลางแจ้งที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงระหว่างพักเที่ยงวันที่ 4 ตุลาคม 2519 จากเวลานั้นถึงเช้าวันที่ 6 ตุลา มีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยออกวางจำหน่าย 3 ครั้ง (หรือ 3 "กรอบ" ตามที่เรียกกันในวงการ) คือ บ่ายวันที่ 4 (แต่พิมพ์หัวเป็นวันที่ 5), เช้าวันที่ 5 และบ่ายวันที่ 5 (แต่พิมพ์หัวเป็นวันที่ 6) ถ้านับรวมฉบับที่ออกเช้าวันที่ 6 ด้วยก็จะเป็น 4 ฉบับ

ปกติ ดาวสยาม จะต่างจากหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับอื่น (ไทยรัฐ, เดลินิวส์) แต่เหมือนกับ สยามรัฐ คือออกเฉพาะตอนบ่ายของแต่ละวัน (และพิมพ์หัววันที่วันนั้นเหมือน สยามรัฐ) แต่ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลานั้น ดาวสยาม ออกวันละ 2 กรอบ นี่เป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่คนรุ่นผมหลายคนไม่เห็นด้วย แต่ผมสามารถพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตามจะเป็นเรื่องยาวเกินไปที่จะอธิบายข้อพิสูจน์ในที่นี้

จากการแสดงละครถึงการนองเลือด ดาวสยาม ออกวางตลาด 3 ครั้ง คือ บ่ายวันที่ 4 (ลงหัววันที่ 5), เช้าวันที่ 5 และบ่ายวันที่ 5 (ลงหัววันที่ 6) ถ้านับเช้าวันที่ 6 ด้วย ก็จะเป็น 4 ฉบับด้วยกัน

ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการสืบค้นความจริงกรณี 6 ตุลาในปัจจุบันคือ ดาวสยาม ที่มีเก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติขณะนี้และที่ทุกฝ่ายมีอยู่ในมือ (เท่าที่ผมทราบ) เป็น ดาวสยาม ฉบับที่ออกในตอนเช้าทั้งวันที่ 5 และ 6 ยกตัวอย่างเช่น ฉบับวันที่ 6 ตุลาที่มีการถ่ายภาพมาแสดงในนิทรรศการ 6 ตุลา เมื่อสี่ปีก่อน ก็เป็นฉบับที่ออกในเช้าวันนั้นจริงๆ ไม่ใช่ที่ออกในตอนบ่ายวันที่ 5 เพราะฉะนั้น รูปถ่ายละครแขวนคอที่ปรากฏ จึงไม่ใช่รูปที่ใช้ในการปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวาในบ่ายและค่ำวันที่ 5

ที่สำคัญ มีหลักฐานว่า ดาวสยาม ตีพิมพ์ภาพที่ถ่ายจากการแสดงละครครั้งแรกตั้งแต่ฉบับที่ออกในบ่ายวันที่ 4 (ลงหัววันที่ 5) แต่ ดาวสยาม กรอบนี้ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว ภาพนี้จะมีลักษณะอย่างไรไม่สามารถบอกได้ แต่จากคำของ ดาวสยาม เองที่พูดถึงเมื่อเกิดการกล่าวหาว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นองค์รัชทายาทแล้ว "ภาพนั้นเล็กและดูไม่ชัดเจน" สรุปแล้วในช่วงบ่ายและเย็นวันที่ 4 ดาวสยาม และกลุ่มฝ่ายขวายังไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับละครหรือภาพจากละครที่ลงใน ดาวสยาม ครั้งแรกเอง
คงเพราะเหตุนี้ หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม กรอบต่อมาคือที่ออกในเช้าวันที่ 5 จึงไม่มีภาพเกี่ยวกับการแสดงละครเลย ในทางกลับกัน ในเช้าวันนั้น หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับที่พิมพ์ภาพที่ถ่ายจากการแสดงละครไม่ใช่หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา คือ ประชาธิปไตย, เนชั่น และ บางกอกโพสต์ (มีหลักฐานว่า อธิปัตย์ของศูนย์นิสิตฯ เองก็พิมพ์ภาพจากละคร แต่ผมหาดูไม่ได้ในขณะนี้) แต่ โพสต์ เป็นฉบับเดียวที่เห็นหน้าด้านตรงของผู้แสดงที่ถูกแขวน (หมายถึงอภินันท์ บัวหภักดี ประชาธิปไตย เป็นภาพด้านตรงของวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้แสดงอีกคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นภาพเล็กและมัวมาก ส่วน เนชั่น เป็นภาพด้านข้างของอภินันท์) คำบรรยายใต้ภาพของ โพสต์ บอกอย่างชัดเจนว่าเป็นการแสดง "ฉาก...การฆ่าแขวนคออย่างทารุณของแอ๊คติวิสต์สองคนหลังการกลับมาของอดีตผู้เผด็จการ ถนอม กิตติขจร"

ผมเห็นว่าข้อเท็จจริงนี้เป็นจุดสำคัญที่ยืนยันว่าการพิมพ์ภาพละครในเช้าวันที่ 5 ของ บางกอกโพสต์ ไม่เกี่ยวกับพวกฝ่ายขวา เพราะถ้าพวกฝ่ายขวาต้องการเผยแพร่ภาพโดยมีแผนล่วงหน้าที่จะจุดชนวนระดมคน พวกเขาน่าจะเอาไปพิมพ์ใน ดาวสยาม ในเช้าวันนั้นมากกว่า

ตามแถลงการณ์เมื่อสี่ปีก่อนของบางกอกโพสต์ ตั้งแต่เช้าวันนั้น มีผู้โทรศัพท์มาที่สำนักงานข่มขู่กล่าวหาที่ตีพิมพ์ภาพนั้น แต่ตามบันทึกของพลเอก วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ในหนังสือ ยังเตอร์กของไทย (2521) "กลุ่มผู้รักชาติและชมรมแม่บ้านจำนวนประมาณ 300 คน" ที่ชุมนุมกันหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ เช้าวันนั้นเพื่อเรียกร้องให้เสนีย์ รับสมัคร สุนทรเวช และสมบุญ ศิริธร กลับเป็นรัฐมนตรี เมื่อใกล้จะสลายตัวตอนบ่ายสามโมง "ก็เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงขึ้นมาและมีผลสะท้อนร้ายแรงยิ่งนัก กล่าวคือผู้ที่มาชุมนุมอยู่นั้นได้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2519 มาสามสี่ฉบับ มีภาพ ผู้ถูกแขวนคอเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช...."

ผมคิดว่าปัญหาเรื่องเวลาว่าฝ่ายขวา "เกิดไอเดีย" เกี่ยวกับรูปใน บางกอกโพสต์ เมื่อไร คงยากจะยืนยันลงไปให้แน่นอนแล้วในปัจจุบัน แต่คิดว่าน่าจะเป็นประมาณบ่ายต้นๆ เมื่อนางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ สมาชิกชมรม แม่บ้าน เข้าแจ้งความที่สน.ชนะสงครามในค่ำนั้น ว่าศูนย์นิสิตฯ เล่นละครหมิ่น องค์รัชทายาทก็เล่าว่า "14.00 น. ตนได้เห็นภาพในหน้า นสพ. บางกอกโพสต์...." หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่รายงานข่าวการชุมนุมของพวกนี้จนถึงประมาณเที่ยงวันหรือหลังเที่ยงวันเล็กน้อย ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงเรื่องภาพการแสดงละคร

แต่หลังจากนั้น เรื่องนี้ได้แพร่กระจายไปในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวาในขณะนั้นอย่างรวดเร็ว ดาวสยาม เองได้รายงานเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

เมื่อวันที่ 5 เดือนนี้เวลา 17.00 น. ได้มีบุคคลหลายอาชีพได้นัดประชุมโดย ยกรูปภาพในหน้าของ นสพ. ดาวสยาม ฉบับวันที่ 5 ต.ค. (กรอบแรก) [คือฉบับที่ออกในบ่ายวันที่ 4 - สมศักดิ์] และได้นำมาวิเคราะห์ถึงภาพและการกระทำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาที่เล่นละครการเมืองในบริเวณลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้วิเคราะห์ว่ารูปภาพนั้นเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แต่เนื่องจากภาพนั้นเล็กและดูไม่ชัดเจน จึงได้ติดต่อขอมาที่ นสพ.ดาวสยาม และทาง นสพ. ดาวสยาม ก็ได้ให้ความร่วมมือ โดยขยายภาพให้ชัดเจนและไม่ได้มีการตบแต่งภาพแต่อย่างไร ส่งไปให้ยังตัวแทนของบุคคลกลุ่มนี้ที่มาขอรับ ที่ประชุมของบุคคลกลุ่มนี้ ได้มีมติเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าภาพนี้เป็นภาพที่ส่อเจตนาดูหมิ่นราชวงศ์จักรี....

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ไทยรัฐ ซึ่งกล่าวว่า "ทางด้านกลุ่มต่อต้านนักศึกษาเปิดประชุมกันเครียดตั้งแต่บ่ายวันที่ 5 นี้ ณ ที่แห่งหนึ่ง..." แล้วรายงานเรื่องที่พวกนี้ประชุมกันราวกับมีนักข่าวเข้าร่วมฟังอยู่ด้วย

ผมเข้าใจว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 5 นั้นเอง ดาวสยาม กรอบบ่าย (ลงวันที่ 6 ตุลาคม) ได้ตีพิมพ์ภาพจากการแสดงละครอีกครั้ง และภาพนี้แหละที่ถูกใช้ในการระดมพลของฝ่ายขวาตลอดเย็นและค่ำวันนั้น น่าเสียดายที่ ดาวสยามกรอบนี้ปัจจุบันหาไม่ได้เช่นกัน (ดังที่กล่าวในตอนต้นว่าฉบับวันที่ 6 ที่ทุกคนเห็นจากหอสมุดแห่งชาติในขณะนี้เป็นคนละกรอบกัน)

ผมเชื่อว่าตัวเองเคยเห็นภาพละครแขวนคอใน ดาวสยาม ที่ถูกใช้รณรงค์กล่าวหานักศึกษาในบ่ายวันที่ 5 นั้น ในความจำของผม เป็นภาพแบบ "โคลสอัพ" ขนาดใหญ่ เห็นตัวละครที่ถูกแขวนเพียงครึ่งตัว เป็นไปได้ว่านี่คือ ภาพที่ ดาวสยาม เองกล่าวถึงว่าได้ "ขยายภาพให้ชัดเจนและ...ส่งไปให้ยังตัวแทน" ของกลุ่มฝ่ายขวาในเย็นนั้น (และอาจจะมาจากเป็นภาพที่ทั้ง ดาวสยาม และ บ้านเมือง พิมพ์ในกรอบเช้าวันที่ 6 แต่อันหลังซึ่งไม่มีผลต่อการรณรงค์แล้ว จะเป็นระยะไกลขึ้น แสดงตัวผู้เล่นเกือบทั้งตัว) ที่แน่ๆคือเป็นคนละภาพกับที่พิมพ์ใน บางกอกโพสต์

ทำไมผมจึงพูดในตอนต้นว่าแม้แต่ภาพใน ดาวสยาม ตอนบ่ายวันที่ 5 นี้ก็ไม่น่าจะเป็นภาพแต่ง? ผมไม่ได้ต้องการเสนอว่าเพราะหน้าคนเล่นละคร "เหมือน" อยู่แล้วจึงไม่ต้องแต่งภาพ แต่ต้องการจะเสนอว่า ความรู้สึกที่ว่า "เหมือน" นั้นที่สำคัญไม่ใช่มาจากหน้าคนเล่นละครแต่มาจากความรับรู้ (perception) ที่แพร่หลายไม่เพียงแต่ในหมู่ฝ่ายขวา แต่ในหมู่คนจำนวนไม่น้อยในขณะนั้นว่า ขบวนการนักศึกษา "แอนตี้สถาบัน" ด้วยเหตุนี้ ขอเพียงแต่ให้องค์ประกอบบางอย่างของภาพมีส่วนคล้ายคลึงเท่านั้น ก็ทำให้คิดไปในทางนั้นได้ทันที ในแง่นี้ เสื้อชุดทหารที่ตัวละครใส่อาจจะมีผลต่อความรู้สึกของคนดูภาพ มากกว่าใบหน้าตัวละครเสียอีก

เมื่อถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับก็ลงข่าวเรื่องนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเล่นละครหมิ่นองค์รัชทายาทแล้วราวกับว่านักศึกษาผิดจริงๆ และที่เหมือนกับจะเป็นการเยาะเย้ย (irony) ของประวัติศาสตร์ก็คือ บางกอกโพสต์ อาจเป็นฉบับที่ลงข่าวเข้าข้างนักศึกษาที่สุดในสถานการณ์เช่นนั้น แม้แต่ ไทยรัฐ หรือ ประชาชาติ ที่เคยเข้าข้างนักศึกษามาตลอดก็พาดหัวว่า "จับนักศึกษาหมิ่นฟ้าชาย" และ "สั่งสอบแขวนคอลานโพธิ์ ระบุภาพหมิ่นองค์รัชทายาท" ตามลำดับ โพสต์ เกือบเป็นฉบับเดียวที่ไม่ยอมระบุตรงๆเช่นนั้น แต่กลับพาดหัวเพียงว่า "สั่งสอบละครแขวนคอ ศูนย์นิสิตปฏิเสธผู้แสดงหน้าเหมือนใครทั้งสิ้น"


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา : http://www.2519.net/ เสรีภาพ สันติภาพ ความเป็นธรรม

หมายเหตุ : ภาพประกอบ ผู้จัดเก็บบทความเป็นผู้นำมาลงประกอบ
ภาพทั้งหมดนำมาจาก http://www.2519.net/

ไม่มีความคิดเห็น: