วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เมื่อชนชั้นนำไม่ต้องการประชาธิปไตย


ก่อนเกิดรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เพียงไม่นาน ศาสตราจารย์ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เสนอความเห็นไว้ในบทความ “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand.” (ตีพิมพ์ใน The Pacific Review. 18, 4 (December 2005): pp.499-519.) ว่าแนวคิดและวิธีอธิบายแบบเดิมที่ใช้กันมาอย่างกว้างขวาง เช่น แนวคิดว่าด้วยระบบรัฐราชการ, กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการปฏิรูปการเมือง ล้วนแต่ล้มเหลวในการอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย ตรงกันข้าม การเมืองไทยปัจจุบันสามารถทำความเข้าใจได้อย่างดีด้วยมุมมองแบบ “เครือข่ายทางการเมือง” ของชนชั้นนำที่มีบทบาทอย่างสูงในช่วงระหว่างพ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๔๔ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในพระราชวัง ซึ่งแมคคาร์โกนิยามว่า "เครือข่ายราชสำนัก" (Network monarchy)

เครือข่ายนี้เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เครือข่ายราชสำนักได้สร้างอิทธิพลอย่างมากมาย แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงขั้นครอบงำประเทศได้ทั้งหมด ตรงกันข้ามราชสำนักต้องทำงานผ่านสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ โดยมีท่าทีของคณะรัฐบาลและรัฐสภาเป็นตัวแปรสำคัญ แม้โดยพื้นฐานเครือข่ายราชสำนักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมเสียส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็จะแสดงบทบาทเป็นฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยในบางครั้งที่ได้ประโยชน์จากกลไกภายในระบบ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างพ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๔๒ ซึ่งก่อนหน้านั้นนับแต่ระยะหลังปีพ.ศ.๒๕๑๖ จนถึงตลอดทศวรรษ ๒๕๒๐ เครือข่ายนี้จะให้การยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและเป็นเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร จนถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ในช่วงที่รัฐไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา พล.อ.เปรม รับบทบาทเป็นตัวแทนของราชสำนักในการสร้างสมดุลของอำนาจ และคอยจัดระบบการเมืองให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของเครือข่าย อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอบางประการที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปีพ.ศ.๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ พ.ต.ท.ทักษิณกับพรรคไทยรักไทยแทนที่เครือข่ายราชสำนักด้วยเครือข่ายใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้น นำมาซึ่งความขัดแย้งและวิกฤติของเครือข่ายและอำนาจของราชสำนัก

เช่นเดียวกับกรณีหนังสือ “The King Never Smiles” ของพอล แฮนลีย์ (Paul Handley) และกรณีนิตยสาร The Economist (ฉบับวันที่ ๖-๑๒ ธันวาคม ๒๐๐๘/๒๕๕๑) เมื่อไม่นานมานี้ แมคคาร์โกได้เสนอข้อเท็จจริงที่ยากแก่การโต้แย้ง โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงการเมืองของฝ่ายสถาบัน ซึ่งมีผลทำให้แนวคิดเรื่องการเป็นกลางและอยู่เหนือความขัดแย้ง กลายเป็นเพียงนิยายสร้างภาพผิดไปจากความจริงเท่านั้น การแบนงานสองเล่มหลังของทางการไทย ไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอผ่านงานเหล่านี้ลดน้อยลงไปได้เลย ต่อให้เราไม่เห็นด้วย ก็ยากจะปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด บอกตามตรงว่าทุกวันนี้ผู้เขียนรู้สึกเจ็บอายอย่างไรบอกไม่ถูก จนไม่อยากเรียกตัวเองว่า “นักวิชาการ” เพราะเรื่องซึ่งมีความสำคัญต่อบ้านเมืองตัวเองขนาดนี้ กลับไม่มีปัญญาจะพูดจะเขียนได้มากนัก ต้องให้นักวิชาการและสื่อต่างประเทศเขาเสนอขึ้นมาก่อน แต่ก็ต้องขอบใจนักวิชาการและสื่อต่างประเทศเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ต่อข้อเสนอของแมคคาร์โก ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอยู่ ๓ ประเด็น แต่ดังที่กล่าวข้างต้นประเด็นแย้งของผู้เขียนไม่มีผลต่อส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงในตัวงาน แต่มีผลเฉพาะมุมมองการวิเคราะห์ที่แมคคาร์โกนำเสนอเท่านั้น การโต้แย้งของผู้เขียนในที่นี้ เป้าหมายจะอยู่ที่การชี้ให้เห็นภาพกว้างของเครือข่ายราชสำนัก และทบทวนดูลักษณะ “ความเป็นเครือข่าย” ของราชสำนักให้ขยายขอบเขตในการศึกษาขึ้นใหม่ ประเด็นทั้ง ๓ ของผู้เขียนมีเนื้อหาดังต่อไปนี้


(๑) ๒๕๑๖ หรือ ๒๕๒๕ : ปีฐานเดิมที่แมคคาร์โกให้ไว้คือ ๒๕๑๖ นั้นไม่ลงรอยกับการประเมินใหม่ หากนำเอาตัวแปรสำคัญอีกหนึ่งที่แมคคาร์โกไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ได้แก่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในชนบทระยะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ความหมายก็คือการมีอยู่ของพคท. ในช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึงระยะป่าแตกช่วงปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันยังคงมีพื้นที่ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากกรอบของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ขนานใหญ่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะวิวัฒน์เป็นฐานรากของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม เกิดหลังจากที่พคท. ยุติบทบาทการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ อย่างน้อยที่สุดก่อนหน้านั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังคงสมานฉันท์กับกำลังสำคัญจากฝ่ายเสรีนิยม เพื่อประโยชน์ในการต่อต้านพคท. และแนวสังคมนิยม ตรงนี้มีความสำคัญหากจะยืนกรานในประเด็นว่า เครือข่ายราชสำนักเป็นเครือข่ายของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่ต้องการครอบงำเหนือกลไกรัฐและพื้นที่ของฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่หากไม่ยืนกรานในประเด็นนี้ ๒๕๑๖ ก็ยังเป็นปีฐานที่ถูกต้องของแนวคิดเครือข่ายราชสำนักของแมคคาร์โก แต่จะไม่สามารถอธิบายเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในระยะหลังมานี้ได้เลย


(๒) ลื่นไหล ยืดหยุ่น หรือแข็งกระด้าง : แมคคาร์โก อธิบายลักษณะสำคัญของเครือข่ายราชสำนักว่า “ไม่ได้เป็นระบบที่ตายตัว แต่มีรูปแบบและวิธีการทำงานที่ลื่นไหล สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดคุณลักษณะหรือแยกประเภทให้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยาก จึงมักถูกมองข้ามอยู่เรื่อยมา” และ “เนื่องจากการเมืองตามรูปแบบถูกครอบงำโดยพวกนายทุน เครือข่ายราชสำนักจึงเสนอทางเลือกในการชูวาระทางการเมืองแบบก้าวหน้า สำหรับพวกเสรีนิยม เครือข่ายราชสำนักก็คือการปกครองแบบมีผู้คุ้มกันอยู่อีกต่อหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับบรรยากาศการเมืองแบบเสรีนิยม ขณะเดียวกันเครือข่ายราชสำนักก็ไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมไปทุกส่วน พระมหากษัตริย์ยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ทหาร กระทรวงกลาโหม และกลุ่มการเมือง เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน (รวมถึงตชด. และตุลาการด้วย – ผู้อ้าง) เครือข่ายราชสำนักไม่ได้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งอย่างเร่งด่วน เครือข่ายราชสำนักนั้นยืดหยุ่นโดยเนื้อแท้”

คำถามก็คือ แล้วเหตุใด ? เครือข่ายราชสำนักจึงไม่สามารถปรับตัวเมื่อการเมืองแบบเสรีนิยมขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยุค พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี หากเครือข่ายราชสำนักมีความลื่นไหลและยืดหยุ่นดังที่แมคคาร์โกกล่าว ทั้งที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมประสบความสำเร็จในการครอบงำความคิดเสรีนิยมผ่านการสร้างนิยายว่าด้วย “ประชาธิปไตยแบบไทย” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหากรณีการสืบราชสมบัติ เครือข่ายราชสำนักก็หาได้ยืดหยุ่นหรือเปิดกว้างพอที่จะรับมือกับปัญหาความไม่แน่นอนของอนาคตเช่นนี้ได้ ความสำเร็จในปลายรัชกาลปัจจุบันถูกประเมินเป็นเรื่องเฉพาะพระองค์ไม่สามารถส่งผ่านสู่อีกรัชกาลถัดไป มาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัญหาข้างต้น กลับทำราวกับว่าเครือข่ายนี้จะนำสังคมให้หมุนย้อนกลับสู่ยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ปัญหาการสืบราชสมบัติมักนำมาซึ่งการประหัตประหารกันครั้งใหญ่ จนเกิดความคิดอันแปลกประหลาดในหมู่ชนชั้นนำไทยปัจจุบันที่จะยึดเอากลไกรัฐไว้เป็นเครื่องมือปราบปรามการต่อสู้ของประชาชนที่ไม่เห็นพ้องกับรัชกาลถัดไป ฉะนั้นในแง่นี้แล้วกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงยังไม่มีทางที่จะถูกยกเลิกไป ตราบที่ชนชั้นนำยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและความเชื่อต่ออนาคตที่เลยพ้นไปจากกรอบปัญหาอันนี้

ความพยายามของกลุ่มกษัตริย์นิยมในอดีต ที่จะล้มระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร สถาปนาระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” กลับเป็นบทเรียนอันไร้ความหมายในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต กลายเป็นว่า “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงมันอีกต่อไป ความอยู่รอดของสถาบันมีค่าเหนืออื่นใด รวมทั้งความเสียหายอันเกิดจากการรัฐประหารของคณะนายทหารที่อ้าง “ทำเพื่อสถาบัน” และการกระทำอันป่าเถื่อนโดย “ม๊อบเพื่อสถาบัน” ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมันอีกต่อไป ประเทศและประชาชนเดือดร้อนกันเท่าไรก็ช่างหัวมันปะไร สถาบันเป็นใหญ่ในแผ่นดินใครก็รู้...


(๓) เครือข่ายกับอำนาจ : เมื่อเลือกจะมองจาก “เครือข่าย” ซึ่งเป็นวิธีมองความสัมพันธ์แบบแนวนอน คำถามก็คือ ในเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่าง ๆ ในเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เป็นไปโดยเท่าเทียมเสมอภาค แต่อิงอยู่กับสถานภาพทางชนชั้น เป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง เครือข่ายราชสำนักยังจะคงความเป็นเครือข่ายมาตรฐานอยู่หรือไม่ ? ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะความเป็นพระประมุขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เครือข่ายราชสำนักสามารถระดมความช่วยเหลือจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมนี้ได้กว้างขวาง เมื่อเทียบกับเครือข่ายอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะตรงนี้อาจขยายกว้างจนทำให้เครือข่ายนี้หลุดไปจากความเป็นเครือข่ายมาตรฐานก็ได้ สมมติว่าคุณ (ผู้อ่านหรือใครก็ได้) มีความสัมพันธ์รู้จักมักคุ้นกับนาย ก. นาย ข. ฯลฯ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่านาย ก. นาย ข. จะเชื่อถือในตัวคุณ จนคุณสามารถสั่งหรือขอให้เขาช่วยทำอะไรให้ก็ได้ แต่ในกรณีเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เป็นอย่างนั้น แมคคาร์โกเองก็เสนอว่าดูเหมือนกลุ่มต่าง ๆ เองก็ยินยอมพร้อมใจที่จะให้การสนับสนุนเครือข่ายราชสำนักอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เครือข่ายราชสำนักมี “ทุนทางวัฒนธรรม” รองรับในระดับที่จะไม่มีในเครือข่ายอื่น

ในเมื่อเครือข่ายราชสำนักไม่ได้เลยพ้นประเด็นเรื่องของอำนาจและความสัมพันธ์แนวดิ่ง รวมถึงการอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์และสำนึกแบบไพร่ ก็น่ากลัวว่าความเป็นเครือข่ายของเครือข่ายราชสำนักอาจต้องหมดสิ้นไปเช่นกัน มี “เครือข่าย” ไม่เท่ากับมี “อำนาจ” แต่มี “อำนาจ” ก็ไม่จำเป็นต้องมี “เครือข่าย” อำนาจมีที่มาหลากหลายกว่านั้น ระหว่าง “อำนาจ” กับ “เครือข่าย” ในกรณีไทยแล้วอย่างแรกดูเป็นจริงยิ่งกว่าอย่างหลัง เป็นที่รู้กันว่าสถานะทางอำนาจของสถาบันมีมาก่อน ๒๕๒๕ รวมทั้ง ๒๕๑๖ (ในกรณีแมคคาร์โก) โดยนับย้อนกลับไปได้ถึงระยะหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งเท่ากับว่า “อำนาจ” เช่นนี้มีมาก่อนจะก่อรูปเป็น “เครือข่าย” และสถานะทางอำนาจนี้ได้รับการนิยามโดยนักวิชาการไทยว่า “พระราชอำนาจนำ” นั่นเอง

การที่เครือข่ายราชสำนักสร้างความเป็นศัตรูกับเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะไม่นานมานี้ จะโดยล่วงรู้หรือไม่ก็ตาม ก็มีส่วนทำให้ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมดูเป็นจริงเป็นจังและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอาจต้องจบลงที่การต่อสู้กันบนท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากกลไกรัฐและพื้นที่เดิมที่เป็นของฝ่ายเสรีนิยมถูกยึดกุมและทำลายลงอย่างหมดสิ้น พวกเขาจะไม่มีทางเลือกนอกจากต่อสู้ร่วมกับประชาชนบนท้องถนน และหากเสรีนิยมถูกบีบคั้นให้ต่อสู้อย่างถึงที่สุด กลุ่มก้าวหน้าส่วนต่าง ๆ ของสังคม (ซึ่งเคยเป็นพลังสำคัญของขบวนการสังคมนิยมและการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนทั้งหลาย) ตลอดจนประชาชนรากหญ้าหรือนัยหนึ่งคือพลเมืองของรัฐประชาธิปไตย จะให้ความสนับสนุนฝ่ายเสรีนิยมอย่างเต็มที่ เพราะเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเองด้วย และหากสถานการณ์ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงขั้นนั้นแล้ว จากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของทุกแห่งในโลกล้วนยืนยันแก่เราว่า ไม่มีประชาชนประเทศไหนเลยซักแห่งจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในท้ายสุด การพยายามยึดกุมและทำลายกลไกรัฐและพื้นที่ต่าง ๆ ในระบอบเสรีนิยมที่กำลังดำเนินอย่างเข้มข้นอยู่นี้จึงเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายของชนชั้นนำไทยเองโดยแท้!

หลักประกันความอยู่รอดของสถาบันจริง ๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ที่การยึดกุมกลไกรัฐและการครอบครองพื้นที่ของฝ่ายเสรีนิยมเลยแม้แต่น้อย เพราะนั่นจะเท่ากับเป็นการทำลายล้างระบบประชาธิปไตยไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จนอาจทำให้ประชาชนต้องออกมาต่อสู้ด้วยธงของเสรีนิยม (ซึ่งถูกทำให้เป็นศัตรูกับฝ่ายสถาบันไปแล้ว) อันตรายอย่างแท้จริงที่จะเกิดแก่สถาบันและทุกกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องอยู่ตรงจุดนี้ ทางออกที่ถูกต้องควรจะเป็นการหันมาปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ คืนสิทธิและเสรีภาพตามระบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็วต่างหาก ไม่ใช่จะทำลายระบบนี้ให้อ่อนแอหรือพยายามจะเอาระบบเก่าที่พังพ่ายไปนานแล้วมาแทนที่ เป็นไปไม่ได้ที่ประวัติศาสตร์จะหมุนย้อนกลับเช่นนั้น เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงข้อนี้กันเสียที ไม่เช่นนั้น อาจสายเกินจะแก้ไขอะไรไปแล้วก็ได้...

กล่าวโดยสรุป ข้อจำกัดของประเด็นถกเถียงที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอในที่นี้ สามารถประมวลภาพรวมได้ว่า เป็นการเปิดข้อถกเถียงในประเด็นว่า เครือข่ายราชสำนักมีประวัติที่มาและคุณลักษณะสำคัญอย่างไร ? ไม่ได้ตั้งคำถามถอนรากว่ามีเครือข่ายราชสำนักดำรงอยู่ในการเมืองไทยจริงหรือไม่ ? และกล่าวสำหรับแมคคาร์โกนั้น หากตัวบทในงานของท่านที่ผู้เขียนหยิบยกมาโต้แย้งไม่ได้สอดคล้องกับความหมายที่ท่านต้องการจะสื่อ ผู้เขียนก็ขออภัยไว้ในที่นี้เป็นอย่างยิ่ง.


กำพล จำปาพันธ์


ที่มา : ประชาไท : กำพล จำปาพันธ์: เมื่อชนชั้นนำไม่ต้องการประชาธิปไตย

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วาทกรรม "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" มาจากไหน?


ผมเคยได้ยิน ส.ศิวรักษ์ บอกว่า "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ก็เชื่อว่าระบอบเก่าดีกว่าระบอบใหม่ คุณก๊วยเจ๋งก็เอามาใช้อ้างต่อว่าระบอบเก่า "ดีกว่า" ระบอบใหม่ ซึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากรอยัลลิสต์รุ่นใหญ่อย่าง อ.สุลักษณ์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่า ชุดวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมแบบวัดค่า/เปรียบเทียบดังกล่าว มันเริ่มขึ้นมาเมื่อไหร่ และจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่พวกเชื้อพระวงศ์ในอดีต เคยใช้สนับสนุน อุดมคติของระบอบดั้งเดิม ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจพวกเขา อีกทั้ง ผมก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการอ่าน TKNS ก็พบว่าความคิดเหล่านี้ มันปรากฎขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งฝ่ายนิยมเจ้าตอบโต้คณะราษฎร์ เพื่อช่วงชิงการนำ/หวนคืนระบอบกษัตริย์

ผมคิดว่าการทำความเข้าใจการเมืองในปัจจุบันนี้ หากเราย้อนกลับไปช่วงต่อสู้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ก็จะให้ภาพพลวัตการต่อสู้ทางการเมืองที่มีความสอดคล้อง และเป็นกระจกสะท้อนปรากฎการณ์สองยุคสมัยนี้ได้ดีทีเดียว

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในหลวง ร. 8 ขณะที่พวกเชื้อพระวงศ์พยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมเจ้า โดยสถาปนากษัตริย์ขึ้นตามคติธรรมราชาแบบสุโขทัย เจ้าคนหนึ่งคือ ธานีอ้างวาทกรรมของ มาลินอสกี (Malinowski) นักมานุษยวิทยาคลาสิคคนดัง ประเด็นหลักที่ผมอ่านแล้วเหมือนจะเป็นวาทกรรมชุดเดียวกับที่ ส.ศิวรักษ์พูดประโยคดังกล่าวที่ว่า "กษัตริย์ถูกว่าประธานาธิปดี" ซึ่งตอกย้ำว่าระบอบกษัตริย์เหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่าประชาธิปไตย แต่การประเมินค่าเรื่องนี้มันจริงหรือ?

ผมรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมศาสตร์ทางมานุษยวิทยา ถึงมักจะรองรับให้กับชนชั้นปกครองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ช่วยอเมริการทำลายศัตรู รวมทั้งการรองรับความชอบธรรมโครงสร้างอำนาจเดิมๆ เสมอ อาจเพราะว่าพื้นฐานการมองวัฒนธรรมแบบสัมพัทธ์มากเกินไปหรือเปล่า? ไม่แน่ใจว่าเคยอ่านเจอในบทความของใคร ว่าที่ประเทศจีนหลังปฏิวัติวัฒนธรรม พรรคคอมฯ สั่งยุบสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าเป็นศาสตร์ของพวกกระฎุมพี เหลือไว้แต่สาขามานุษยวิทยากายภาพเท่านั้น

เมื่อย้อนกลับมาที่ข้อความที่ ธานีอ้างถึงมาลิสนอสกี และพอล แฮนด์ลี ก็นำมาอ้างถึงในหนังสือ TKNS ของเขาดังนี้ครับ Malinowski กล่าวว่า


"สังคมที่ทำให้ขนบจารีตมีความศักดิ์สิทธิ์นั้น จะมีอำนาจและความสถาพรอย่างประเมินมิได้ ความเชื่อและการถือปฏิบัติที่ยังความศักดิ์สิทธิ์แก่จารีตจะมี "คุณค่าในเชิงการอยู่รอด" สำหรับอารยธรรมอันเป็นแหล่งพัฒนาการของความเชื่อและการถือปฏิบัติดังกล่าว...ทั้งนี้จะต้องซื้อหามาในราคาที่แพง และจะต้องรักษาไว้ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงเท่าไรก็ตาม"


ข้อความข้างต้น มาลินอสกีเห็นว่าวัฒนธรรมมนุษย์ที่สั่งสมในแต่ละสังคม เป็นพื้นฐานทางอารยธรรม เขาใช้คำที่เปรียบเปรยกับมูลค่าราคาโดยตรง น่าสังเกตว่า วาทกรรมที่ถูกอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบเก่านั้น ก็ไม่แตกต่างจากที่ อ.สุลักษณ์กล่าวบ่อยๆ เช่นกัน และแน่นอนว่าพวกนิยมเจ้า ก็ย่อมจะสร้างวาทกรรมที่พวกเห็นสอดคล้องกับแนวคิดพวกเขาอยู่แล้ว ซึ่งสุลักษณ์ อาจไม่ได้อ้างจากมาลินอสกีก็ได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดโครงสร้าง-หน้าที่ในยุคของมาลินอสกี ก็ถูกวิพากษ์มาตลอดระยะที่ผ่านมาว่า มันหยุดนิ่งตายตัว ...การที่ยังมองโครงสร้างหลักที่ทำหน้าที่ "สอดคล้อง" ประสานกัน ช่วยธำรงสังคมให้เกิดดุลยภาพแบบนี้ ยังคงใช้ได้อยู่อีกหรือในสังคมประชาธิปไตยปัจจุบัน และแนวคิดสังคมได้เปิดเผยถึง "วาทกรรมอำนาจ" ที่สร้างไว้กดหัวคนอื่นๆ แทนแล้ว

การจะกล่าวได้ว่า สิ่งใดก็ตาม "ถูกกว่า/ดีกว่า" "แย่กว่า/เลวกว่า" มันเป็นเรื่องของการประเมินคุณค่า และย่อมขึ้นกับว่าเราจะมีแนวคิดสอดคล้องสนับสนุนไปในทางไหนมากกว่ากัน แต่แน่นอน การประเมินระบอบการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสังคม ย่อมต้องคำนึงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยของ "สภาพสังคมโลก" ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ระบอบไหน จะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ และจะอยู่รอดได้ในระยะยาวได้มากกว่ากัน นั่นเป็นคำถามที่ควรจะต้องถกเถียงกันได้ มิใช่เพียงแค่โปรปกาดาฝ่ายเดียว ขณะที่ปิดปากฝ่ายไม่เห็นด้วยตลอดกาล

ระบอบเก่าจะราคาถูกกว่าจริงหรือไม่?? ขณะที่สังคมไทยในช่วงประวัติศาสตร์นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประชาชนผู้ยึดมั่นในประชาธิปไตยต้องจ่ายให้กับระบอบเก่านี้ อย่างมหาศาล และระบอบเก่านี้ ก็ไม่ได้ "เชื่อง" ไร้เดียงสาน่ารักอย่างที่หลายๆ คนเคยคิด เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะชัดเจนในตัวมันเองเพียงพอแล้ว


Homo erectus


ที่มา : เว็บบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : วาทกรรม "กษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิปดี" มาจากไหน?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Shameful case of forgotten political prisoner : คดีอัปยศของนักโทษการเมืองที่ถูกลืม



The Age

Shameful case of forgotten political prisoner

by. Nian Dong

แปลไทยจาก : thaireport.blogspot.com



คดีอัปยศของนักโทษการเมืองที่ถูกลืม

ทำไม Harry Nicolaides ถึงไม่โด่งดังเท่า Salman Rushdie? เป็นเพราะนวนิยายของเขา Verisilumilitude ขายได้เพียง 7 เล่มหรือ? บางทีอาจเป็นเพราะว่าผลงานของเขากล่าวอ้างถึงราชวงศ์ไทย แทนที่จะเป็นพระอัลเลาะห์หรือโมหะมัด หรืออาจเป็นเพราะว่า Nicolaides ซึ่งเป็นครูชาวออสเตรเลียและเป็นนักเขียนที่ทะเยอทะยานถูกกักขังในประเทศที่มีสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศออสเตรเลีย

ถึงแม้ว่าจะมีการปิดสนามบินและมีการประท้วงเรียกร้องให้มีการโค่นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยนั้นปกติจะไม่มีปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน หรือ ปากีสถาน และเมืองไทยก็ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการควบคุมการแสดงออกเหมือนประเทศจีน และหลายๆประเทศที่มีการควบคุมสื่อและการเมือง แต่การที่ Nicolaides ไม่เป็นที่รู้จักดีเพราะรัฐบาลออสเตรเลีย สื่อ และกลุ่มส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ทำให้คดีของเขาอื้อฉาวอย่างที่ควรจะเป็น

รัฐบาลไทยได้ทำการบล๊อค 1200 เว็บไซต์เมื่อไม่นานมานี้ และอีก 400 เว็บไซต์ของทั้งหมดก็เพราะมีการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คราวที่ประเทศจีนบล๊อคเว๊บไซต์ก่อนโอลิมปิค สื่อออสเตรเลียล้วนพรั่งพร้อมไปด้วยคำติเตียน แต่ในขณะที่ประเทศไทย นอกจากจะปิดเว็บไซต์แล้วยังจำคุกชาวออสเตรเลียเพราะเรื่องเสรีภาพในการพูด รัฐบาลออสเตรเลียและสื่อมวลชนกลับเงียบเฉย หรือไม่ก็ยับยั้งการรายงานข่าวอย่างน่าประหลาดใจ

ไม่เหมือนกับ Rushdie ที่ถูกสื่อจับตามองตลอดหลังจากที่ชาวอิหร่าน Ayatollah Khomeini ได้ออกกฎศาสนาอิสลามต่อต้านเขาและหนังสือ Satanic Verses ในปี 2532 Nicolaides ซึ่งอายุ 41 ปี กลับแทบจะไม่มีใครรู้จักเขาเลย

Nicolaides ถูกจับกุมเมื่อปลายเดือนสิงหาคม และถูกจับกุมจากการที่เขาได้เขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน นวนิยายที่เขาเล่ามีบทความตอนหนึ่งที่บรรยายสั้นๆเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมกุฎราชกุมาร บางคนมองว่าการเขียนที่ตรงไปตรงมาเป็นการวิจารณ์เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ผู้เป็นองค์รัชทายาท สำหรับคำเพียง 103 คำในหนังสือนวนิยายที่ไม่มีใครรู้จัก Nicolaides อาจถูกจำคุกถึง 15 ปี แค่เพียงเพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ห้ามพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในทางลบ

Nicolaides ถูกจับให้อยู่ในเรือนจำรวมกับนักโทษอีก 90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เคารพสถาบันกษัตริย์และมุ่งร้ายต่อเขา มีรายงานมาว่าเขาไม่สบายและอยากจะฆ่าตัวตาย และได้ยื่นขออภัยโทษอย่างน่าเวทนาต่อราชวงศ์สำหรับ "การเลือกคำที่ไม่ได้ไตร่ตรอง" เขาถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่สี่แล้วจากการยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัว

ถ้าสุขภาพทั้งกายและจิตใจของเขาไม่ถูกกระทบ เป็นไปได้อย่างมากว่า ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ Nicolaides ได้รับการอภัยโทษและถูกเนรเทศออกจากประเทศ แต่เขาก็ได้อยู่ในเรือนจำมาเกือบ 4 เดือนแล้ว และถึงเขาจะถูกปล่อยตัวและอนุญาตให้ออกจากประเทศไทย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังจะอยู่ต่อไป

ทุกประเทศมีกฎหมายของตัวเอง และเราก็คาดหวังว่านักท่องเที่ยวควรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ แต่นี่มันเป็นข้ออ้างสำหรับการเงียบเฉยต่อการใช้กฎหมายในทางทีผิดและความล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือไม่

ถ้าพวกเรายินดีที่จะวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายท้องถิ่นของประเทศอื่น หรือแสดงข้อคิดเห็นในเชิงหลักการต่อโทษประหาร ต่อเสรีภาพในการพูด ต่อเสรีภาพของสื่อ และประชาธิปไตย สมควรไหมว่ากฎหมายของไทย จะอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์?

สมควรไหมที่รัฐบาลออสเตรเลียและสื่อมวลชนควรจะกระทำมากกว่านี้ในการปกป้องสิทธิของ Nicolaides และคนไทยทุกคนที่มีเจตนารมณ์ในเชิงศิลปะหรือความผูกมัดกับอิสรภาพขั้นพื้นฐาน

ถ้าจะเอาการถูกจำคุกของ Nicolaides และการตอบรับของสื่อระหว่างประเทศ เข้ามาทำความเข้าใจควรถามตัวเองว่า คุณจะโกรธไหมถ้ามีนักเรียนไทยในออสเตรเลียถูกจำคุกจากการเขียนนวนิยาย หรือการเขียนบล็อกที่ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย หรือ "ราชวงศ์ของออสเตรเลีย" - Nicole Kidman และ Keith Urban? คุณจะยอมรับกฎหมายในออสเตรเลีย จีน หรืออเมริกาที่ปกป้องนักการการเมืองชนชั้นสูง จากการตรวจสอบ แม้กระทั่งในนิยาย?

George Orwell เคยเขียนไว้ว่า "ถ้าเสรีภาพมีความหมายอย่างไรก็ได้ มันจะหมายถึงสิทธิที่จะบอกคนอื่นในสิ่งที่พวกเขาไม่อยากได้ยิน" Nicolaides ได้ทำอะไรเกินเลยกว่าการแสดงออกขั้นพื้นฐานของเสรีภาพหรือเปล่า?

ในฐานะที่เป็นนักเรียน Kevin Rudd เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเมืองจีน และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษคนจีน และในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Kevin Rudd ได้เงียบเฉยต่อชะตากรรมของชาวออสเตรเลียที่ถูกจำคุกด้วยโทษฐานที่ไร้สาระและสื่อมวลชนออสเตรเลียแทบจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดไปด้วย


Nian Dong


ที่มา : Thai Report : The Age: คดีอัปยศของนักโทษการเมืองที่ถูกลืม


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Bhumibol, Thailand's remarkable king : ภูมิพล กษัตริย์ที่น่าทึ่งของไทย



Los Angeles Times


Bhumibol, Thailand's remarkable king
The 81-year-old built up, and now wields,
considerable power over his country.


By W. Scott Thompson

แปลไทยจาก : thaireport.blogspot.com



ภูมิพล กษัตริย์ที่น่าทึ่งของไทย

ทูตชาวตะวันตกผู้เฉลียวฉลาดคนหนึ่งให้ความเห็นว่าเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เขาแสดงมุมมองทั่วไปเกี่ยวกับวิกฤติปัจจุบันว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่กษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดชไม่สามารถทำให้สงบเหมือนดังที่เขาได้ทำมาในวิกฤติการณ์ทางการเมืองทุกครั้งตลอด 62 ปีแห่งการครองราชย์ ท้ายที่สุด ผู้ประท้วงรัฐบาลหลายพันคนก็ปิดสนามบินสำเร็จเป็นเวลาหลายวัน ทำให้นักท่องเที่ยว 300,000 คนติดอยู่ในประเทศ และศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินยุบพรรครัฐบาลและตัดสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีสมชาย วงสวัสดิ์ เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ แม้ว่าอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พี่เขยของสมชาย และศัตรูที่น่าสะพึงกลัวของกษัตริย์จะอยู่ในระหว่างการหลบหนี เขาก็ยังคงได้รับความนิยมจากในชนบท และยังคงมีเงินหลายพันล้านดอลลาร์ และมีผู้ที่อยู่ในกฎหมายอีกมากมายที่จะเป็นตัวแทนของเขาในประเทศไทย

ประเทศไทยไม่ค่อยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญครองราชย์ด้วยด้วยอำนาจที่ไม่ชัดเจนนัก แต่กษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ทะยานขึ้นสู่จุดที่เกือบจะเป็นมีอำนาจ "เด็ดขาดสมบูรณ์" เหมือนปู่ของเขา การเมืองตั้งแต่กษัตริย์ภูมิพลก้าวสู่ราชบัลลังก์ใน พ.ศ. 2489 เป็นการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญแบบตะวันตกและมีการเลือกตั้งสลับกับรัฐประหาร (18 ครั้ง และอาจเพิ่มขึ้นอีก) เป็นช่วงสม่ำเสมอ หัวหน้าทหารบางคนน่าประทับใจ แต่ส่วนใหญ่นั้นน่าเบื่อหน่ายและล้าหลัง คนไทยกล่าวว่า "ไม่เป็นไร" ทุกครั้งที่ทหารออกมา

อย่างไรก็ดี มีมุมมองที่แตกต่างจากทูตคนนี้ด้วยเช่นกัน เป็นมุมมองที่ว่า ที่จริงแล้ว กษัตริย์ หลังจากที่เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 81 ปีของเขาในโรงพยาบาล มีความสุขกับชัยชนะสุดพิเศษซึ่งได้ขัดเกลามายาวนาน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากเขาจะเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดและรวยที่สุดในโลกแล้ว เขาอาจจะเป็นกษัตริย์ที่ไม่เพียงแต่ครองราชย์เท่านั้น หากยังปกครองแผ่นดินด้วย เขามีลักษณะภายนอกเป็นคนอ่อนโยน แต่นักการเมืองเจ้าเล่ห์คนนี้ก้าวขึ้นสู่สถานะปัจจุบันของเขาผ่านข้อตกลงสไตล์แทมมานีฮอลตลอดทั่วทั้งราชอาณาจักร

ภูมิพลขึ้นสู่บัลลังก์ในเวลาที่ไม่เป็นมงคลนัก เมื่อพี่ชายของเขาถูกฆ่าอย่างลึกลับใน พ.ศ. 2489 เผด็จการทหารที่ควบคุมประเทศให้ภูมิพลในวัยเยาว์อยู่ในที่ของเขา "เมื่อฉันเปิดปาก พวกเขา[พวกนายพล]จะพูดว่า 'ใต้ฝ่าพระบาท พระองค์ทรงไม่รู้อะไรเลย' " กษัตริย์ภูมิพลหวนรำลึก "ดังนั้นฉันจึงหุบปาก ฉันรู้หลายๆสิ่ง แต่ฉันหุบปาก" ใน พ.ศ. 2490 เผด็จการทหารพ่ายแพ้แก่เผด็จการทหารคณะใหม่ที่พยายามใช้กษัตริย์เพื่อโปรโมตความนิยมของพวกเขา แต่พระองค์คุมเกมเหนือกว่าพวกนั้น และค่อยๆได้รับความเคารพจากสาธารณะขึ้นเรื่อยๆ

ใน พ.ศ. 2516 ผมถาม ม.ล.พีรพงศ์ เกษมศรี ซึ่งต่อมาได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันและเป็นผู้ช่วยระดับสูงของกษัตริย์ ว่าทำไมกษัตริย์และความแข็งแกร่งที่ปรากฎออกมาของพระองค์จึงไม่ขับไล่คนที่น่าตลกและคดโกงที่กำลังบริหารประเทศอยู่ออกไป เขาตอบว่าประเทศไทยต้องรักษากษัตริย์ไว้เพื่อเวลาที่ไม่มีใครอื่นที่จะรักษาประเทศได้

วันนั้นมาถึงเร็วกว่าที่คาดคิด เมื่อในปลายปีนั้น นักศึกษาที่กลับมาจากยุโรปและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เติมเต็มไปด้วยความคิดใหม่ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย กษัตริย์ภูมิพล ในสไตล์ที่ชัดเจนเกิน รอจนกว่าสามเผด็จการและนักศึกษาหลายพันคนจะสมดุลกัน และต่อมาส่งสามทรราชออกนอกประเทศ

ช่วงทศวรรษ 2520 กษัตริย์มีอำนาจเกือบจะเด็ดขาด วอชิงตันในสมัยของจิมมี คาร์เตอร์ กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศโลกที่สาม ดังนั้นพระราชวังจึงอนุญาตให้ เปรม ติณสูลานนท์ นายพลที่อ่อนโยน ปกครองประเทศในนามของกษัตริย์ แต่ไม่มีใครที่อยู่วงในจะสงสัยเลยว่าใครคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง และในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจประเทศก็กำลังพุ่งสุดขีด มันเป็นการผสมผสานที่ยอดเยี่ยมเกินกว่าที่ใครจะกล้าหรือขอให้หยุดมันได้

ใน พ.ศ. 2535 นายพลอีกคนทำผิดพลาด และพยายามปราบการประท้วงของนักศึกษาและผู้สนับสนุนประชาธิปไตย หลังจากการนองเลือดดำเนินไปถึงขั้นรุนแรงพอ กษัตริย์ทรงรอในลักษณะเดียวกับเมื่อปี 2516 และเรียกนายกรัฐมนตรีและผู้นำการประท้วงมาเข้าพบซึ่งออกโทรทัศน์ไปทั่ว โลกเห็นคนทั้งสองหมอบกราบอยู่บนพื้นพระราชวังตรงบัลลังก์เพื่อรับสิทธิพิเศษ (ทางประชาธิปไตย -- หรือราชาธิปไตย) ของพระองค์ ประเทศไทยหลังจากนั้นเงียบสงบไปทศวรรษหนึ่ง และรอดผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 อันเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่มาได้

และแล้วในปี พ.ศ. 2544 ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิพลก็มาถึง เมื่อทักษิณ ชินวัตร พบวิธีในการเรียกคะแนนเสียงจากชาวบ้านในชนบท ขณะที่ละเลยต่อคะแนนเสียงของพวกที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ และนำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความแข็งแกร่งทางการเมืองและเงินมากมายที่มาจากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทักษิณได้ทำผิดพลาดด้วยการไปสงสัยว่า ทำไมชายชราซึ่งย้ายไปอยู่ที่วังชายทะเลในจังหวัดทางใต้จึงได้รับอนุญาตให้มีอำนาจได้ถึงขนาดนั้น เขาไม่ได้ทำการต่อต้านกษัตริย์อย่างเปิดเผย แต่ทำการนับพันที่จะลิดรอนอำนาจของพระองค์ลง

แต่ไม่ใช่กษัตริย์ที่ถูกลิดรอนอำนาจ ในปี 2549 ด้วยความเห็นชอบจากทางวัง กองทัพได้ส่งทักษิณเก็บกระเป๋า แต่รัฐบาลใหม่ก็ขี้เกียจ และที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์: สองปีแห่งความไม่สงบ การประท้วงบนท้องถนน เศรษฐกิจทรุดหนัก และท้ายที่สุดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดสนามบิน การประท้วงของพันธมิตรและการขับไล่สมชายจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการสนับสนุนอย่างเงียบๆจากวัง ขณะที่กลุ่มก้อนในกองทัพรอดูการสนับสนุนอื่นๆจากพระราชวังต่อไป

ขณะเดียวกัน อังกฤษก็อาญัติทรัพย์ของทักษิณในอังกฤษและยกเลิกวีซาของเขา ทรัพย์สินอื่นของทักษิณ -- ความนิยมในชนบทของเขา -- มีแต่จะลดลง ขณะที่กษัตริย์ทรงรอดูอยู่ว่าทักษิณจะพยายามทำอะไรต่อไป

แต่ตอนนี้ กษัตริย์จำเป็นต้องมีไม้กายสิทธิ์หรือไม่? เพราะเขาได้ใช้เวทมนตร์ของเขาอย่างช้าๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปล่อยให้ทักษิณกลายเป็นศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของเขา บังอาจเอื้อมและทำในสิ่งที่ไม่อาจคิดได้ นั่นคือ บ่อนทำลายพระราชบัลลังก์ ทักษิณได้กลายเป็นบุคคลคล้ายกษัตริย์คนสุดท้ายของอิหร่าน ที่ต้องอพยพหนีไปกับครอบครัวและทรัพย์สินของเขา ไม่มีมิตรประเทศของไทยกล้าให้เขาอยู่ เพราะภูมิพล -- ผู้อาจเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์จักรีตามคำทำนาย -- เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ประเทศไทยจะสงบลงในไม่ช้า เศรษฐกิจจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งและนักท่องเที่ยวจะมาเที่ยววัดและชายหาดกันแน่นขนัด และถ้าโชคดี กษัตริย์องค์นี้ก็คงจะอยู่ต่อไปอีกสักพักเพื่อลิ้มรสชาติแห่งชัยชนะของพระองค์


W. Scott Thompson


ที่มา : Thai Report : LA Times: ภูมิพล กษัตริย์ที่น่าทึ่งของไทย

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Monarchy damaged by elites : สถาบันถูกทำลายโดยชนชั้นสูง


The Sydney Morning Herald

Monarchy damaged by elites by Hamish McDonald

Asia-Pacific Editor
December 16,2008

แปลโดย : bbb


สถาบันถูกทำลายโดยชนชั้นสูง


บทวิเคราะห์

การเลือกตั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้ถูกเสนอชื่อจากพรรคฝ่ายค้านมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยเมื่อวานนี้เป็นเครื่องหมายชัยชนะของชนชั้นสูงของประเทศที่โบกสะบัดสีของราชวงศ์ในระหว่างการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย

การต่อสู้ของพวกเขานั้นทำเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งสถาบันอันเป็นที่เคารพของประเทศซึ่งมีกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดชเป็นสัญลักษณ์ จากแผนการแย่งชิงอำนาจจากนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลที่กำลังลี้ภัยและเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

แต่เมื่อมองกลับไปถึงการเคลื่อนไหวต่างๆโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าขวาจัด (Royalist) ใน3ปีที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ในอนาคตอาจจะลงความเห็นว่าพวกเขาทำลายหรือไม่ก็เกือบจะทำลายสถาบันกษัตริย์เพื่อที่จะปกป้องมันไว้

เวชชาชีวะซึ่งเป็นผลพลอยจาก Etonและ Oxford เป็นหนึ่งในพวกผู้ดีไทยที่จบจาก "โรงเรียนเก่าแก่" ซึ่งจะโน้มน้าวคนนอกว่าทุกอย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง แต่รากฐานของระบอบการเมืองไทยกำลังสั่นคลอน

ทักษิณไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเลิศของความดีมีศีลธรรม เขารวยเป็นพันล้านมาจากการเล่นเกมส์สัมปทานของรัฐ และใช้เงินบางส่วนนั้นในการติดสินบนคนยากจนในชนบท ในระหว่างที่เขาเป็นผู้นำรัฐบาลก็ได้ลดอำนาจสถาบันที่ตรวจสอบการใช้อำนาจไม่ถูกต้องเขาอนุญาตให้อดีตตำรวจฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติดและสนับสนุนการจัดการอย่างเข้มงวดต่อความไม่สงบของชาวมุสลิมในภาคใต้ถึงขั้นที่ว่าชาวมาเลย์นั้นอาจไม่ยอมรับการปกครองจากกรุงเทพอีกเลยก็ได้

แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง และหลังจากที่เขาถูกเด้งออกจากตำแหน่งโดยกองทัพไทยเมื่อปี 2006และหนีไปอยู่ต่างประเทศหลังจากถูกข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่น ตัวแทนของเขาก็ยังได้รับเลือกตั้งอีกหนในเดือนธันวาคม 2007 และถึงแม้ว่าเขาจะถูกตัดสิทธิ์โดยการตัดสินที่น่าแคลงใจของศาล ตัวแทนของเขาเหล่านั้นคงจะได้รับชัยชนะต่อไปเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการลงคะแนนอีก

การดำเนินการกำจัดทักษิณให้ออกจากอำนาจและไม่ให้กลับมานั้นได้ทำลายอำนาจอื่นๆของไทยทั้งหมด: ตุลาการ, ทหาร และสถาบันพระมหากษัตริย์

ทหารสั่นคลอนเพราะหลังจากหลังจากยึดอำนาจในปี 2006 เพราะพวกเขาแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนประเทศที่เป็นกึ่งอุตสาหกรรมและมีเศรษฐกิจที่เปิด

ตุลาการสั่นคลอนเพราะเข้มงวดอย่างไร้เหตุผลกับฝ่ายทักษิณ – เช่นการตัดสิทธิ์ตัวแทนคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งสมัคร สุนทรเวชจากการทำรายการทำกับข้าว แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้อีกฝ่ายยึดทำเนียบรัฐบาล

ส่วนสถาบันนั้นสั่นคลอนเพราะยอมรับการเมืองข้างถนนของกลุ่มที่เรียกตัวเองผิดๆว่าพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งต้องการส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแค่ 30% ในสภาและให้กองทัพสามารถที่จะมีอำนาจมาแทรกแซงรัฐบาลที่ถูกมองว่าไม่สะอาดหรือบริหารไม่ดี

กษัตริย์ภูมิพลไม่ได้ออกมาคัดค้านการใช้สีเหลืองของกลุ่มพันธมิตรตลอดเวลาที่โอบล้อมกรุงเทพและต่อมายึดสนามบิน2แห่งรวมถึงการปล้นสะดมและการใช้อาวุธที่ร้ายแรงมากขึ้น และเมื่อหนึ่งในผู้ประท้วงเสียชีวิต จากการระเบิดของแก๊สน้ำตา พระราชินีก็ได้เสด็จไปงานศพของเธอและทรงเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้พิพากษาที่หลุดออกมาก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาดำเนินการโดยได้รับสัญญาณจากทางราชวงศ์เพื่อยุบพรรคของทักษิณ

ครูชาวออสเตรเลียที่ไม่มีใครรู้จัก และเป็นนักเขียนที่เขียนให้กับหนังสือพิมพ์กรีก Neo Kosmos ชื่อ Harry Nicolaides อายุ 41 ปี ได้ถูกจำคุกตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ด้วยข้อหาที่ร้ายแรงของไทยคือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (les majeste) :ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ในปี 2005 เขาได้เขียนไว้ว่า


From King Rama to the Crown Prince, the nobility was renowned for their romantic entanglements and intrigues. The Crown Prince had many wives "major and minor" with a coterie of concubines for entertainment. One of his recent wives was exiled with her entire family, including a son they conceived together, for an undisclosed indiscretion. He subsequently remarried with another woman and fathered another child. It was rumoured that if the prince fell in love with one of his minor wives and she betrayed him, she and her family would disappear.


ซึ่งไม่เป็นการฉลาดเลยสำหรับใครก็ตามที่ต้องการมาเยือนประเทศไทยแต่มันก็แค่หนังสือนวนิยายที่ตีพิมพ์โดยส่วนตัวแค่ 50 เล่ม และขายได้เพียงแค่ 7 เล่ม

ผู้ปกป้องสถาบันทั้งหลายควรจะกลับไปมองผลเสียหายซึ่งได้กระทำขึ้นเอง และควรเตรียมหาวิธีที่จะทำให้องค์รัชทายาท Prince Vajiralongkorn นำทิศทางของสถาบันให้มีความมั่นคงอย่างมีดุลยภาพกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า


ที่มา : บอร์ดประชาไท : สถาบันถูกทำลายโดยชนชั้นสูง -- แปลจาก Monarchy damaged by elites -- The Sydney Morning Herald

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

60ปี ที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่???



60ปี ผ่านมาแล้ว

พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์มากที่สุดในโลก พสกนิกรทั่วล้า ศรัทธาในตัวพระองค์ เพราะอะไร ผลงานที่ทำมามีประสิทธิภาพหรือ Propaganda ที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่เด็กเรามั้งคิดว่า ที่เมืองไทยไม่เจริญนั้นเพราะมีนักการเมืองโกงกิน หรือขาดผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ฯลฯ

แต่ความเป็นจริง เราลองมานั่งนึกถึง ความน่าจะเป็นดูเพียงแค่นักการเมืองเท่านั้นหรือที่ทำให้ชาติไม่เจริญ เวลาที่ผ่านมาเราไม่มีนักการเมืองดีๆ เลยเหรอ เราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เลยหรือไง....

บางคนก็กล่าวว่าที่เราไม่เจริญเพราะ ระบบการศึกษาของไทยมันห่วยแตก เพราะทำให้เด็กเอาแต่ท่องจำหรือ การศึกษาไปไม่ทั่วถึง แต่หากเราลองมานั่งคิดว่า ระบบการศึกษาที่สอนให้เด็กท่องจำนั้น ความจริงแล้ว ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียว ผมไปดูงาน ที่เกาหลี กับเมืองจีน ระบบการศึกษาเค้าก็ฟอรม์นี้เหมือนกัน ห่วยแตกกว่าอีก...

ดังนั้นผมคิดว่าที่บ้านเมืองเราไม่เจริญเพราะระบบการศึกษาเป็นแค่ส่วนน้อย และหลักของปัญหาหรือการอ้างว่าเพราะการศึกษาไปไม่ทั่วถึง ทำให้ประเทศยังไม่พัฒนา ซึ่งตรงนี้ผมขอค้านอย่างสุดๆ

ปัจจุบัน ด้วยกม.พรบการศึกษา ที่ออกมาตั้งแต่สมัยนายกฯชวนหลีกภัย บังคับให้เด็กต้องจบการศึกษาภาคบังคับคือ ม.3 และพรบ.ใหม่คือ จบ ม.6 ถึงแม้ว่า พื้นที่ในถิ่นทุระกันดานยังไง เด็กส่วนใหญ่ก็จบ ม.3กัน อย่างต่ำก็ป.6 ซึ่งมีพื้นฐานพอที่จะอ่านออกเขียนได้ รวมถึงปัจจุบัน กศน ก็ไม่ได้แพงอะไรมาก ทำให้การศึกษานั้นกว้างขว้าง และผมเชื่อว่าเด็ก90% ของทั้งประเทศ ยังไงๆ ก็ต้องจบม.3

ดังนั้นที่หลายๆคนชอบว่า การศึกษาไม่ทั่วถึงผมขอค้านสุดขั้วเลยยย

และอีกสิ่งหนึ่งคือ จริงอยู่ประเทศจะพัฒนาได้ต้องมีทรัพยากรคนที่มีคุณภาพแต่หากว่าตอนเริ่มต้นสร้างประเทศนั้น ทรัพยากรคน จะไม่สำคัญเท่ากับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้นเป็นคำถามที่ว่า เมืองไทยไม่มีเลยหรือไง ผู้เริ่มต้น หรือผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่จะสามารถพัฒนาประเทศได้?

ปรากฎว่า มี มีมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัย2475เลย หลายๆคนคงจะนึกถึง ดร.ปรีดี พนมยงค์ท่านเสนอกฎหมายมรดก กฎหมายที่ดิน ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์มาก และเป็นนายกฯรัฐมนตรีอีกด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องโดนปฎิวัติไปทำไมกัน!!!

หรือต่อมาอีกนานแสนนาน ก็มีชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้เปิดประเทศไทย คือ

พลเอกชาติชาย ชุลวัณ แต่ก็นั้นแหละ....Coup

หรือดร.ทักษิณล่ะ ... Coup


มันเป็นอะไรที่ดู งงงวยมาก ที่เมื่อไรที่มีผู้นำวิสัยทัศน์ขึ้นมา และสามารถพัฒนาประเทศได้ ก็ต้องมีอันเป็นไปทุกรายซึ่งผมก็ไม่อยากจะกล่าวร้ายใครหรอก แต่ผมรู้สึกว่า คนที่ทำนี้แมร่งโครตขี้ขลาดเลย สู้ไม่ได้ก็ล้มกระดาน อยู่เรื่อยไป


เอาล่ะเกรินมามาก เข้าเรื่องเลยดีกว่า

คุณคิดว่าไง 60ปีที่ ปวงชนชาวไทยต่างปลื้มปิติ ต่อกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุด ได้สร้างคุณค่าที่มีประสิทธิภาพต่อสังคมไทยหรือไม่...

สิ่งที่เรามักเห็นในทีวีคือ การทำงานอย่างหนักของในหลวง ไปตรวจพื่นที่ทุระกันดาร บริจาคสิ่งที่ของต่อผู้ยากไร้ โครงการแก้มลิง สร้างเขื่อนฯลฯ เรายอมรับว่า ท่านทำงานหนัก แต่ว่า นำคุณค่ามาสู่ประเทศมากแค่ไหน ลองคิดเล่นๆ ว่า หากกษัตริย์ไทย ก็ต้องเลือกตั้งมาเหมือนกัน คุณว่าในหลวงจะอยู่ครบเทอมหรือปล่าว?

ในรัฐธรรมนูญผู้ที่มีอำนาจบริหารมากที่สุดคือนายกฯรัฐมนตรี แต่ในความเป็นจริงคือ นายกฯรัฐมนตรี มักจะโดนขัดขาการทำงานตลอดมาลองนั่งคิดว่า แล้วกษัตริย์ในปัจจุบันจะไม่มีอำนาจในการบริหารจริงๆหรือผมสังเกตุว่า เมื่อไรที่มีพระองค์รับสั่งโครงการอะไร ก็จะมีการสนองทุกๆครั้งไป

ถ้าลองมานั่งคิดดีๆจะเห็นว่า ยังไงๆ พระองค์ก็เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดอยู่ดี มีอำนาจในการบริหารแบบอ้อมๆอยู่ดีดังนั้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่า พระองค์เป็นเสมือนนายกรัฐมนตรี(จำแลง)ตัวจริงดังนั้นหากคุณมีอำนาจจริงๆแล้ว คุณได้ใช้อำนาจนั้นต่อสังคมไทยจริงๆอย่างไรบ้าง

ในปี 1953 รัฐสิงค์โปร์ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของมลายา ถูกนายกฯปวนโตของมาเลเซียปฎิเสธให้เข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย นายกฯในขณะนั้นคือ ลีกวนหยู ถึงกับประกาศเอกราชในวันที่9สิงหาปีเดียวกันทั้งน้ำตา สิงค์โปร์ไม่มีอะไรเลย ไม่มีน้ำ ไม่มีเงิน มีแต่คนยากจน(ในขณะนั้นรายได้เฉลี่ยนต่อหัวของคนสิงค์โปร์น้อยกว่า บราซิล และ เม็กซิโก ทั้งที่คนน้อยกว่าและประเทศเล็กกว่ามากๆ) เป็นเพียงแค่ศูนย์กลางท่าเรือ และฐานทัพของอังกฤษแค่นั้น

สิงค์โปร์เริ่มต้นสร้างประเทศด้วยการขอความช่วยเหลือจากอิสราเอล ทั้งทางด้านการเงินและการทหารยกเลิกภาษีอากรทุกชนิด ห้ามคนเล่นการพนัน เปิดการลงทุนแบบปลอดภาษีต่อมาอีก28ปี(1981) สิงค์โปร์เปิดสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและทัสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ Changi Airportด้วยวิสัยทัศน์ของลีกวยหยูคือต้องการให้สิงค์โปร์เป็นศูนย์กลางทางการคมนาคม ผมคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณของสิงคโปร์ในวันนี้ ทุกๆคนคงรู้ดี

กลางทศวรรตที่80 ชีค(กษัตริย์)ของดูไบ ทรงเล็งเห็นว่าน้ำมันในดูไบคงเหลือไม่มาก ดังนั้นจะต้องพัฒนาประเทศไปในทางอื่นผมขี้เกียจเล่าต่อ คุณก็คงรู้ว่าวันนี้ดูไบเป็นอย่างไรบ้างผู้นำเหล่านี้เค้าใช้เวลาประมาณ10-20ปี ในการพัฒนาประเทศ และแน่นอนอำนาจอยู่ในมือเค้าจริงๆ เค้าต้องทำงานภาพในหัวของคุณต่อกษัตริย์ของอาหรับ อาจจะเป็นพวกหรูหราฟู่ฟ่า แต่เอาเข้าจริง มันเหมาะสมกับฐานะเค้าแล้ว เพราะเค้าก็ได้พัฒนาประเทศเค้าอย่างจริงจังเช่นกัน เห็นได้จากสวัสดิการจากรัฐบาล(สมบูรณาฯ) เรียนฟรี มีบ้านฟรีฯลฯ


ดังนั้นมันเป็นคำถามที่ว่า 60ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ของเราได้สร้างความคุ้มค่าต่อเวลาที่พระองค์อยู่มาจริงๆหรือปล่าว

โครงการสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลาก่อสร้าง35ปี แต่ว่าสร้างจริงๆแค่4ปี ในสมัยรัฐบาลทักษิณชินวัตรที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคม แต่31ปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วงที่พระองค์ยังครองรานช์อยู่ทั้งสิ้น ผมไม่ได้วิจารณ์เพราะว่า ผมต้องการสนามบินหรอกน่ะ แต่วิจารณ์เพราะว่า ถ้าหากพระองค์มีวิสัยทัศน์จริง(ด้วยอำนาจที่พระองค์มีอยู่) สนามบินสุวรรณภูมิคงเสร็จไปตั้งแต่20ปีก่อน

ปัญหาที่ว่า60ปีแล้วทำไมคนไทยยังยากจนอยู่ มันไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า 60ปีที่ผ่านมาพระองค์ได้วางการสร้างประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศอย่างไรบ้าง เศษฐกิจพอเพียง มันเพียงพอต่อการวางรากฐานให้ประเทศหรือไม่

อยากถามว่าพระองค์รู้สึกอย่างไรบ้างในการเป็นประมุข แต่ต้องเห็นประเทศอื่นที่ด้อยกว่าหรือเจริญเคียงข้างกัน เจริญล้ำหน้าไปก่อน

เช่นญี่ปุ่นหลังสงครามโลกที่ยังต้องบินมาดูงานการบริหารที่เมืองไทย(1945) เกาหลีหลังสงครามเกาหลีที่แทบไม่มีอะไรกินเลย(1953) สิงคโปร์หลังสร้างประเทศ(1953) มาเลเซียก่อนสมัยมหาเธร์(80s) จีนสมัยเหมาเจ๋อตุง(70s) ไต้หวันหลังจากเจียงไคเช็กพาทัพมาอยู่ที่เกาะ(1950) ปัจจุบันก็เวียดนามหลังสงครามเวียดนาม ต่อไปก็คงเขมรหลังสงครามเขมรแดง รวันดาหลังสงครามการเมือง จะเอาแบบนี้เหรอท่าน

ดังนั้นนอกจาก Propaganda อันมากมายแล้ว สิ่งที่ผมเห็นอันน้อยนิดคือคุณค่าที่ตกมาสู่ประเทศจริงๆ

ทุกวันนี้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ คนไทยล้วนแต่ต้องพึ่งพระองค์ พระองค์บอกว่าสอนให้คนหาปลา ดีกว่าเอาปลาให้ปล่าวๆแต่ปัจจุบันทีเห็นคือ พระองค์กลับทำให้คนไทยต้องพึ่งพาพระองค์มากขึ้น เมื่อใดที่ขาดพระองค์แล้ว สิ่งที่น่าจะตามมาคือสงครามกลางเมือง

ท่านรู้สึกอย่างไร 60ปี ผ่านมา และกำลังจะจบ
แต่บทสรุปคือ คุณค่าที่สังคมได้คือมันเพียงพอจริงหรือ...?



โดย :

เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม



เพิ่มเติม
(ความเห็นที่ทำให้เศร้ามากขึ้น)


ข้อจำกัดเดียวของมนุษย์เราคือจินตนาการครับ

เราอยากไปดวงจันทร์เราก็ไปได้ เราอยากสร้างปิระมิด กำแพงเมืองจีน เราก็ทำได้แต่ถ้าเราพยายามทำอะไรซักอย่าง แล้วต้องมาติดข้อจำกัดอื่นๆอย่างเช่น ต้องคอยเอาใจคนกลุ่มหนึ่งทำดีเกินหน้าเกินตาก็ถูกกลั่นแกล้ง

ผลงานบางอย่างต้องถูกนำไปให้เครดิตกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง แบบนี้ก็ไม่ไหวครับ มันบั่นทอนกำลังใจและจินตนาการสุดท้ายที่อยากฝาก ปลดล๊อคข้อจำกัดเหล่านี้เสียทีเถิดครับ ปล่อยให้พวกเราเป็นอิสระอย่างที่พวกเราจะเป็น แล้วสิ่งดีๆก็จะเิกิดขึ้นคำว่า คนไทย ไม่ใช่คำที่ทำให้รู้สึก negative อีกต่อไป


โดย : aesthetics programming


ที่มา : เว็บบอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : 60ปี ที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่???, ไม่ได้อยากรู้หรอกว่าทำไมยังมีคนจนอยู่ นั้นไม่ใช่ประเด็น?


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ในที่สุด อำนาจฝ่ายเลือกตั้ง ก็กลับมาได้อย่างจำกัด ได้ปีเดียว (ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ)


วันนี้ระหว่างขับรถกลับบ้าน ผมนั่งนึกไปว่า ในที่สุด ทักษิณก็สามารถ "กลับมา" ได้อย่างจำกัดมากๆเพียงปีเดียว ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ คือนับจากเลือกตั้ง 23 ธันวา (ตั้งรัฐบาลจริงช่วงปีใหม่)

ผมนึกไปถึงว่า ช่วงปีที่แล้ว หลังจากความล้มเหลวในการบริหารงานของ รัฐบาลสุรยุทธ และหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้ง (และการได้เสียงมากในการลงมติ รธน.) มีบางคนรู้สึกว่า "คมช. แพ้แล้ว" หรือ "รัฐประหาร 19 กันยา แพ้ / ล้มเหลว"

ตอนนั้น ผมได้เขียนกระทู้เสนอว่า
ขึ้นอยู่กับว่า วัดกันตรงไหน ทีว่า "แพ้" หรือ "ชนะ"

ถ้านับว่า รัฐประหาร 19 กันยา ได้ล้มรัฐบาลเลือกตั้งที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั่วประเทศอย่างมหาศาล (แม้จะถึงช่วง รปห. เสียงสนับสนุนนี้ ก็ยังมากอยู่ในระดับทั่วประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้) ล้มรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และแบน นักการเมืองสำคัญๆของพรรคนี้ 5 ปี ทั้งยัง ในที่สุด สร้างรัฐธรรมนูญ ที่วางโครงสร้าง ที่เป็นหลักประกันว่า อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ใช่อำนาจที่เข้มแข็งอีก และอำนาจของตุลาการ วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง ที่อยู่เหนือการควบคุมของประชาชน จะมีบทบาทสำคัญต่อไป

อันที่จริง แม้แต่เรื่อง งบประมาณทหาร, การที่อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารหลุดจากมือรัฐบาลเลือกตั้ง การที่รัฐบาลต้องยอมอ่อนข้อกับทหาร แม้จะเลือกตั้งมา - นึกถึงสมัคร ต้องเอาอนุพงษ์ไปไหนมาไหนด้วยในเดือนแรกๆ เพื่อป้องกันการยึดอำนาจ และต้องปล่อยให้อนุพงษ์จัดการโยกย้ายตำแหน่งอย่างเสรี


ถ้ามองในแง่นี้ รัฐประหาร 19 กันยา และ คมช.
ก็ได้รับชัยชนะอย่างใหญ่หลวง อย่างไม่ต้องสงสัย

ในแง่นี้ การที่นักวิชาการอย่างเกษียร ยังคงพูดถึงการ "ไม่เอาทั้ง 2 ขั้ว" ราวกับว่า ทั้ง "2 ขั้ว" อยู่ในฐานะ และดุลย์กำลังที่ใกล้เคียงกันนั้น จึงนับเป็นการมองที่ "หลี่ตาข้างหนึง" โดยแท้ (เกษียรใช้คำว่า "หลับตาข้างหนึ่ง" มาวิพากษ์คนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของเขา ผมเลียนแบบ และ return the compliment!)


1 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลสะเทือนของชัยชนะของพวกรัฐประหารมีมากกว่าที่คิดกันเมื่อปีที่แล้ว

อีกอย่างที่ผมนึกย้อนไปในปีที่ผ่านมา คือ ตลอด 1 ปีนี้ กล่าวได้ว่า รัฐบาล แทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะต้องเป็นฝ่ายรับมือกับการรุกอย่างหนักของ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" และที่สำคัญคือ เรื่องใหญ่ๆ ที่ฝ่าย "พลังเทวดาอุปถัมภ์" เป็นฝ่ายรุก 2 เรื่อง ล้วนเป็นเรืองเกี่ยวพันหรืออิงกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยตรงโดยอ้อม คือ กรณีจักรภพ และ กรณีเขาพระวิหาร

ทั้ง 2 กรณีนี้ ได้ทำให้กำลังรัฐบาลอ่อนลงไปอีกมาก เพราะผลจากรัฐประหารเช่นกัน ทำให้ คนที่ขึ้นเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 23 ธันวา เป็นนักการเมือง "ระดับมือรอง" ลงมา (หรือที่สมัครใช้คำว่า "ขี้เหล่หน่อย") ทั้งกรณีจักรภพ และ เขาพระวิหาร ได้ทำให้นักการเมืองทีค่อนข้างมีความสามารถหรือมีศักยภาพมากที่สุด 2 คน ต้องหลุดจากตำแหน่งไปอีก


และในที่สุด ผมนึกถึง ช่วงกลางปี ที่บรรดานักวิชาการทั้งหลาย ที่สำคัญ รวมถึงพวก ที่อ้างว่า "เป็นกลาง" หรือ "ไม่เอาทั้งสองขั้ว" ทั้งหลาย เช่น สมชาย อรรถจักร ประภาส นฤมล ฯลฯ ฯลฯ ออกมาโวยวาย เรื่อง "เราต้องหาทางออกจากการเมือง 2 ขั้ว" เมื่อรัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมนุญ ก็พวกนี้ แหละ ที่ออกมาประสานเสียงกับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ทำนองว่า "ไม่เห็นด้วยที่จะเป็นการช่วยพวกตัวเองให้พ้นผิด เป็นการเห็นแก่ตัว ต้องพยายามให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม"

และก็เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร สิ่งที่นักวิชาการที่ "เป็นกลาง" ที่อ้างเรื่อง "ก้าวให้พ้นการเมือง 2 ขั้ว" ทั้งหลาย สามาารถ contribute ได้จริงๆ คือ ทำให้ขั้วรัฐบาลอ่อนแอลงไปอีก และช่วยให้ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" เข้มแข้งขึ้นอีก (เช่นเดียวกับที่เกิดขึนในปี 49)

และ ในด้านกลับกัน ในที่สุด เมื่อพวก "พลังเทวดาอุปถัมภ์" deliver the final blow ในรูปแบบของการ "ยุบพรรค" ทีเดียว 3 พรรค ปิดสนามบิน ทำให้ประเทศเป็นอัมมะพาต และ ใช้การแบล็กเมล์ ให้เกิดการรัฐประหารแอบแฝง ในรูปของ "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ("legality") ดังที่ได้เห็นกันในวันนี้

นักวิชาการที่อ้างเรื่อง "ก้าวพ้นการเมือง 2 ขั้ว" ทำอะไร? หรือ ทำอะไรได้บ้าง? คำตอบคือ เปล่าเลย

สรุปคือ เช่นเดียวกับปี 49 นักวิชาการเหล่านี้ ให้การช่วยเหลือกับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" โดย "ไม่ตั้งใจ" หรือถ้าพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นคือ โดยที่ควรจะรู้ แต่แกล้งหลอกตัวเองว่า "ไม่ได้ทำ" "ความจริง คัดค้านทั้งสองฝ่าย" นั่นเอง


(ขออธิบายเพิ่มเติมหัวข้อเล็กน้อยว่า แน่นอนว่า ประชาธิปัตย์เอง ความจริง มีฐานอยู่ทีการเลือกตั้ง แต่ใน 3 ปีนี้ พรรคนี้ ในทางเป็นจริง ทำตัวเป็น "โฆษก" หรือกระบอกเสียง ให้กับ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ล้วนๆ ในทุกๆเรื่อง การขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ ก็อาศัยการแบล็กเมล์ของ "พลังเทวดาอุปถัมภ์" ช่วยเป็นหลัก .. ลักษณะที่เหมือน paradox นี้ จะนำมาสู่อะไร เมื่อพรรคนี้ ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล? ผมยังไม่มีไอเดีย ต้องขอเวลาคิดนานกว่านี้)


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : ในที่สุด อำนาจฝ่ายเลือกตั้ง ก็กลับมาได้อย่างจำกัด ได้ปีเดียว (ไม่ครบปีนักด้วยซ้ำ)

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ถาม - ตอบ : ความเป็นมาของ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"


เรียนถาม อ.สมศักดิ์ และท่านอื่นๆในนี้ว่า
ทำไม รัฐบาล จอมพล ป.จึงแก้ กม.หมิ่นในปี 2499

จาก ม.104(1) ปี 2475

ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆดังต่อไปนี้

ก)ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี
ข) ...
ค) ...
ง) ...ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท ด้วยอีกโสตหนึ่ง

" แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธาณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาล หรือราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด "


ปี 2499 ม.112

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ทั้งที่การแก้ กม.หมิ่นแบบนี้ จะมีแต่ทำให้รัฐบาลแปลก เสียเปรียบ ซึ่งตอนนั้น กำลังงัดข้อกับวังด้วย


Anti-Feudalism : ถาม


****

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : ตอบ


คืออย่างนี้นะครับ

ก่อนอื่น คุณเข้าใจผิด กฎหมาย "หมิ่น" ก่อน 2499 ไม่ใช่ มาตรา 104 นะครับ แต่คือมาตรา 98 และ 100

มาตรา 104 นี่ มันไม่ใช่ตัวกฎหมาย "หมิ่น" โดยตรง แต่เป็นกฎหมายกบฏ แต่มันมีข้อความที่พูดถึงการทำไม่ดีต่อกษัตริย์ ที่จะว่าไปแล้ว "ซ้ำ" กับ กฎหมาย "หมิ่น"


คือยังงี้นะครับ

"กฎหมายหมิ่น" นี่เป็นการเรียกแบบไม่เป็นทางการอย่างเป็นทางการ คือความผิดในลักษณะหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของ ประมวลกฎหมายอาญาพูดง่ายๆคือ ไม่มี "กฎหมายหมิ่นฯ" แยกต่างหาก (เช่น ออกมาในรูป "พรบ.ว่าด้วย การหมิ่นประมาท กษัตริย์ ราชวงศ์" อะไรทำนองนี้)

ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนเพราะจะบอกต่อไปว่า

ทีนี้ ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย มีการทำ "ประมวลกฎหมายอาญา" ใหญ่ เพียง 2 ครั้งเท่านั้น

ครั้งแรกคือ ร.ศ.127 ครั้งที่สอง คือ พ.ศ.2499 ซึ่งยังถือว่าใช้มาถึงปัจจุบันทีนี้ลักษณะการทำ ประมวลฯ นี่คือ เขาทำครั้งแรกเสร็จ แล้วสามารถแก้เป็นมาตรา เรื่อยๆได้ ดังนั้น ตัวบทของ ร.ศ.127 ก็ใช่ว่า จะไม่เปลี่ยนเลยจนถึง พ.ศ.2499 หรือ ตัวบทของ 2499 ที่วา "ใช้มาถึงปัจจุบัน" ความจริง ก็มีหลายมาตรามากๆที่มีการเปลี่ยน (รวมทั้งมาตราว่าด้วย "หมิ่น" นี้ด้วย)

ทีนี้ ในประมวลฯอาญา นี้ เขาก็จะแบ่งออกเป็น "ภาค" เป็น "ส่วน" เป็น "หมวด" ซอยย่อยๆลงไป

เอาละ ทีนี้ มาถึงสิ่งที่เรียกว่า "กฎหมายหมิ่น" ใน ประมวลอาญา ทั้ง 2 "ฉบับ"

(ผมข้าม เรื่อง "บรรพบุรุษ" ของ "กฎหมายหมิ่น" ในประมวลอาญา ไปนะครับ คือความจริง มีกฎหมายว่าด้วย "พระราชกำหนดว่าด้วยหมิ่นประมาท" รศ.118 อันนึง ที่มีข้อความเป็น "ต้นแบบ" ของ "กฎหมายหมิ่น" ในประมวลอาญา เรียกว่า เกือบจะไม่ได้แก้ถ้อยคำเท่าไรเลย จาก ร.ศ.118)


ทีนี้ ประมวลอาญา ร.ศ.127

ภาค 2
ว่าด้วยลักษณะความผิด

ส่วนที่ 1
ว่าด้วยความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักร

หมวดที่ 1
ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล


(เหนื่อยไหมครับ การแบ่งหมวดหมู่ !)


มาตรา 97 (ขออภัยขี้เกียจพิมพ์) เกี่ยวกับการ "ประทุษร้าย" ต่อ K, Q โทษประหารชีวิต

อันนี้ไม่นับว่า "หมิ่น" แต่คือหมายถึง "ทำร้ายร่างกาย"

มาตรา 98 นี่แหละครับเริ่ม "กฎหมายหมิ่น" ล่ะ มีข้อความดังนี้

" ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง "


มาตรา 99
(ขออภัย ไม่พิมพ์อีก ขี้เกียจ ไว้วันหลัง ว่างๆก่อน) อันนี้เหมือน มาตรา 97 คือ ว่าด้วยการ ประทุษร้าย เพียงแต่คราวนี้ ครอบคลุม ลูกกษัตริย์ ไม่ว่ารัชกาลใด ... อันนี้ ก็ไม่อาจถือว่า เป็น "กฎหมายหมิ่น" เช่นกัน

มาตรา 100
(อันนี้ ต้องจัดเป็น "กฎหมายหมิ่นฯ" ด้วย เพราะมีข้อความดังนี้)

" ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชชกาลหนึ่งรัชชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง "

(มาตรานี้ ถูกยกเลิกไปในปี 2477 คือหลัง 24 มิถุนาขอให้สังเกตว่า ที่มีการพูดกัน โดย ปชป. นี่แหละ ว่าจะ "ขยายกฎหมายหมายหมิ่น" คือการกลับไปรื้อฟื้นมาตราในลักษณะ ม.100 ของ ประมวลฯ รศ.127 นี้)


ทีนี้ มาตรา 104 ทีคุณยกมา ไม่ใช่อยู่ใน

หมวดที่ 1
ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล
ครับ

แต่อยู่ใน
หมวดที่ 2
ความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร
ครับ

เริ่มที่มาตรา 101

ทีนี้ เป็นความจริงว่า มาตรา 104 ที่คุณยกมา มีข้อความคล้าย ม.98 ข้างต้น แต่โดยจารีตประวัติศาสตร์กฎหมาย เขาไม่นับว่านี่คือ "กฎหมายหมิ่น" เสียทีเดียว แต่ถือเป็น เรื่อง "ขบถภายในราชอาณาจักร"คือถ้าถามผม ผมก็ว่า มันซ้ำซ้อนกัน


ทีนี้ พอคุณถามว่า ทำไมแก้ 2499

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจว่า คุณเข้าใจผิดในแง่ที่เพิ่งอธิบายมา เพราะ กฎหมายหมิ่น" ไม่ใช่ มาตรา 104 แต่เป็นมาตรา 98 ดังกล่าว

และการแก้ เป็นมาตรา 112 ที่คุณยกมา ไม่ใช่แก้ ม.104 ครับ แต่แก้ ม.98พูดอีกอย่างคือ
คุณยก ตัวบทคนละอันของความผิดคนละหมวดมา!

ม.98 ถูกแก้เป็น ม.112 (ม.104 เองก็มีการแก้บ้าง แต่ในเมือมันไม่ใช่กฎหมายหมิ่นอยู่แล้ว ผมขอข้ามไป)


แต่ก่อนที่จะบอกว่า แก้อย่างไร ต้องอธิบาย เรื่อง "ปีทีแก้" ที่คุณถามก่อน คือ ทำไม 2499 ขอให้ย้อนหลังไปดูเรื่อง ประมวล อาญา นะครับ ที่ผมบอกว่ มีการออกมา 2 ครั้งเท่านั้น คือ ร.ศ.127 และ 2499

ปีที่คุณบอกว่าแก้ ม.104 เป็น ม.112 (ที่จริง คือแก้ ม.98 เป็น ม.112) ก็คือ มีการออก ประมวลใหม่ นั่นเอง


หลังคณะราษฎร ปฏิว้ติ 24 มิถุนา แล้ว เขาก็มีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่า กฎหมายอะไรของ "ระบอบเก่า" ที่มีลักษณะล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับ "ระบอบใหม่" อะไรทำนองนี้ ก็ตั้งกัน ดูเหมือนจะมากกว่า 1 ชุด

กรรมการชุดนึง ก็ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณา ว่า "ประมวลกฎหมายอาญา"
ร.ศ.127 ที่มีอยู่ ควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้างทีนี้ กรรมการแก้ไข "ประมวลอาญา" ทีว่า ก็ทำงานอย่าง "มาราธอน" มากๆ

คือเป็น 10-20 ปีครับ!

มีการเปลี่ยนตัวกรรมการ หลายคน มาถึงช่วงหลังๆ ก็เรียกวา แทบจะเปลี่ยนยกชุด (แต่ใช้ชื่อเดิม) ตอนแรก ถ้าจำไม่ผิด มี ดร.เดือน บุนนาค ที่เป็น เลขา กฤษฎีกา เป็นประธาน ต่อมา ก็เปลี่ยนเป็น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือยังไงนี่แหละ

ทำกันมาข้าม รบ. ข้ามยุคสมัย เลยมาจนหลังสงครามโลกแน่ะครับ ในที่สุด ก็ออกมา เป็น "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499" นี่แหละ

ดังนั้น คำถามว่า ทำไมจึงมีการแก้ "กฎหมายหมิ่น" (มาตรา 98 ไม่ใช่ 104 อย่างที่คุณเข้าใจ มาเป็น ม.112) ก็ตอบง่ายๆว่า เพราะ การทำประมวลอาญา อย่างมาราธอน มันมาเสร็จเอา ตอนช่วง 2499 พอดี


ทีนี้ มาตรา 98 ก็แก้เป็น มาตรา 112 มีข้อความ (ดังที่คุณยกมา) ดังนี้

" ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี "


อย่างที่เล่าแต่ต้นว่า มีการยกเลิก ม.100 ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ "กฎหมายหมิ่น" ของ "ประมวลอาญา ร.ศ.127" ด้วย ตั้งแต่ปี 2477

คือกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ของคณะราษฎร ทีตั้งขึ้นตั้งแต่ปฏิวัติใหม่ๆ เขาจะพิจารณาว่า มีกฎหมายอะไร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแยกเป็นฉบับอิสระ (พรบ.ต่างๆ) หรือ เป็นมาตรา บางมาตรา ในประมวลอาญา ก็ตาม ถ้าเขาเห็นว่า สำคัญ เขาก็เสนอให้แก้ไขก่อน อย่างกรณี ยกเลิก ม.100 ที่วา เพราะเห็นว่า มากเกินไป ไมใช่สมบูรณาญาสิทธิราชแล้ว ไม่จำเป็นต้องปกป้องลูกกษัตริย์ที่เกิดในทุกรัชกาล (ที่ยังมีชีวิต)

ถ้ามีเวลา ผมอยากเขียนบทความเรื่อง การทำงานของกรรมการปรับปรุง "ประมวลอาญา" เหมือนกัน เพราะผมมีเอกสารการประชุมของพวกเขาค่อนข้างครบ

ที่จะเล่าให้ฟังสั้นๆคือ - และนี่เป็นประเด็นสำคัญมากในความเห็นผม - เห็นได้ชัดว่า วิธีคิดของบรรดานักกฎหมาย ทีเป็นกรรมการนั้น เปลี่ยนน้อยมาก คือ ไม่ได้มี spirit ของการปฏิวัติ อย่างที่อาจจะคิดกัน
(ทั้งๆที่เพิ่งปฏิวัติเสร็จ)

และนี่คือสาเหตุว่า ทำไม "กฎหมายหมิ่น" จริงๆแล้ว แก้ไขน้อยมาก (เปรียบเทียบ ม.98 กับ ม.112 ดู)


สุดท้าย เกิดอะไรขึ้นกับ ม.104 ทีเป็นส่วนหนึ่งของความผิด
"ขบถภายในราชอาณาจักร" ที่คุณยกมา?

อ้อ ผมควร กล่าวด้วยว่า (ขออภัย คือเขียนแบบสดๆ ไม่ได้ร่าง) ผมลืมทักไปด้วยว่า นอกจากเข้าใจผิดเรื่อง ม.104 เป็น "กฎหมายหมิ่น" แล้ว อันที่จริง ตัวบท (text) ที่คนยกมา ไมใช่ของ 2475 นะครับ แต่เป็นของ 2478

คือ ประมวลอาญา ร.ศ.127 นี่ ก็มีการแก้ไข เป็นมาตราๆ สำคัญ 2 ครั้ง ครั้งนึงคือช่วง 2470 อีกครั้ง คือหลัง 2475 คือในปี 2478
(ช่วงใกล้ๆกับที่ตัด ม.100 ออก)

ข้อความที่คุณยกมา ที่มี "ข้อยกเว้น" ให้ว่า ถ้าการวิจารณ์ เป็นไปเพื่อส่วนรวม ฯลฯ อะไรนั่น คล้ายๆกับว่า จะทำให้ "เข้ายุคสมัย" ว่า เดี๋ยวนี้เป็น ปชต. แล้วนะ อะไรทำนองนั้น ก็เหมือนที่ยกเลิก ม.100 ไป
(แต่ตัว ม.98 ไม่ได้แก้ ดังกล่าวแล้ว)


ทีนี้ พอมาถึง พ.ศ.2499 เป็นยังไง

ผมให้คุณไปทำการบ้านเองมั่ง ถ้าสนใจเรื่องนี้ (ซึ่งไม่ใช่ตัวกฎหมายหมิ่น โดยตรง)คือเว็บไซต์ กฤษฎีกา คุณสามารถ โหลด ประมวลอาญา
พ.ศ.2499 นี้มาดูได้ หรือจะเข้าห้องสมุดไหน ก็ได้ มีคำอธิบายเยอะแยะมาก

ที่น่าเสียดายคือ ตัวบท ประมวลอาญา ร.ศ.127 นี่สิ หายากมากตอนนี้ แทบจะไม่มีในหนังสือเล่มไหนเลย(ผมเคยไปหาอยู่ ไม่นานมานี้) ที่สำคัญ เท่าที่ผมเคยหา ไม่เคยมีการขึ้น on line

โอเค เท่านี้ก่อนนะครับ มีอะไรลองถามมาใหม่ หรือถ้าผมคิดอะไรออก ค่อยมาเสริมใหม่


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ที่มา : บอร์ด"ฟ้าเดียวกัน" : "อ่าน"เอาเรื่อง : เรียนถาม อ.สมศักดิ์ และท่านอื่นๆในนี้ว่า ทำไม รัฐบาล จอมพล ป.จึงแก้ กม.หมิ่นในปี 2499

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อำนาจกับการขบถ : บทกล่าวตามในนิยายเรื่อง "1984"



1984


ผู้เเต่ง : GEORGE ORWELL ( จอร์จ ออร์เวลล์ )

แปลโดย : รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์


พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2525
โดยสํานักพิมพ์ : กอไผ่

พิมพ์ครั้งที่ 2 : ตุลาคม 2551
โดยสำนักพิมพ์ : สมมติ

(การพิมพ์ครั้งล่าสุดได้เพิ่มเติมความเห็น,มุมมอง,อิทธิพลทางความคิด และประเด็นอื่นๆ อีกมาก ต่อผลงานประพันธ์ที่จัดได้ว่าเปนวรรณกรรมอมตะที่ได้รับความนิยมอีกชิ้นหนึ่งบนโลกใบนี้ ในบทกล่าวตามที่ชื่อว่า "อำนาจกับการขบถ" เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล ) [เจ้าน้อย..]



อำนาจกับการขบถ


ถ้าหากงาน ‘คลาสสิค’ หมายถึงผลงานซึ่งเป็นที่รู้จัก มีคนนิยม หรือทรงอิทธิพลข้ามยุคสมัย บางกรณีข้ามวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป ถ้าเช่นนั้น หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ประสบปัจจัยหลายอย่าง (รวมทั้งคุณสมบัติบางประการของงานชิ้นนี้เองด้วย) ที่ฉุดรั้งบั่นทอนชีวิตของผลงานชิ้นนี้ให้สั้นลง และแคบเข้า หรือลดทอนคุณค่าความสำคัญลงไป

กระนั้นก็ตาม หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ยังคงเป็นนิยายที่มีคนรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกภาษาอังกฤษ ยังเป็นวรรณกรรมที่อ่านกันตามหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังคงมีบทความ หนังสือ และงานวิจัยเกี่ยวกับหนังสือนี้ตีพิมพ์ออกมาจนทุกวันนี้


หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ก่อนและหลัง 1984

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ต่างจากผลงานอมตะโดยทั่วไปตรงนี้แหละ กล่าวคือ ในขณะที่ผลงานอมตะส่วนใหญ่ได้รับการต้อนรับข้ามเวลา ข้ามวัฒนธรรม เพราะสามารถสื่อสารถึงลักษณะทั่วไปของมนุษย์ ซึ่งไม่ว่าเมื่อไรก็ย่อมยินดีเสพอาหาร สมอง / วิญญาณมนุษย์ดังกล่าว แต่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ กลับเสนอด้านลบของสังคมและปัจเจกบุคคล จนหลายแห่งปฏิเสธว่าตนมิได้มีคุณลักษณะอย่างที่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ กล่าวไว้ แต่ว่ากลับชี้นิ้วไปยังศัตรู คู่ต่อสู้หรือสังคมอื่นว่าเป็นอย่างที่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ กล่าวไว้ คงมีแต่พวกขบถ หรือพวกแหกคอกในสังคมหนึ่งๆ เท่านั้นที่ยอมรับว่าสังคมของตนเองเป็นอย่างที่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ว่าไว้เป๊ะเลย หนังสือเล่มนี้ยืนยงมาจนทุกวันนี้เพราะเป็นตัวแบบด้านลบของสังคมทุกแห่ง เป็น ‘ปิศาจ’ ที่คอยหลอกหลอนทุกแห่งตลอดมาว่าใช่เลย ตนเองเป็นอย่างนั้น เป็นมานานแล้ว

มีผู้ประกาศให้ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ จบชีวิตหมดความสำคัญไร้ความหมายมาแล้วหลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอดปิศาจตนนี้ยังคงหลอกหลอนเราอยู่จนทุกวันนี้ และดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่กับสังคมสมัยใหม่ไปอีกนาน ตั้งแต่แรกหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 1949 สงครามเย็น (cold war) และการแบ่งเป็นค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความเกลียดกลัว คอมมิวนิสต์เข้มข้นขึ้นพอๆ กับกระแสต่อต้านโลกทุนนิยม ฝ่ายโลกเสรีโฆษณาว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เตือนให้เห็นถึงนรกของสังคมแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตยุคสตาลิน และจะขยายตัวพร้อมกับอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในทางกลับกัน ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว โดยย้อนกลับว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เสนอภาพอันตรายของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่อำนาจของเทคโนโลยีพัฒนาจนเกิดเทคโนโลยีแห่งอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีลัทธิฟาสซิสม์ของโลกทุนนิยม

ตั้งแต่แรกเริ่ม หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ อิงประวัติศาสตร์และภูมิหลังที่เป็นจริงมากเกินไป หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นนิยายแห่งอนาคตที่ “too historical” คือแทนที่จะพูดถึงมนุษย์และสังคมอย่างข้ามกาลเวลาอย่างอมตะนิยายอื่นๆ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ กลับมีนัยประวัติศาสตร์มากไป ตั้งแต่ชื่อของมันที่บ่งบอกหลักหมายทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนแน่นอนเกินไป ภูมิหลังของหนังสือผูกพันกับสงคราม 2 ค่าย ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสาระสำคัญของหนังสือสะท้อนความกังวลต่อโลกยุคหลังสงครามอย่างชัดเจน

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ จึงถูกใช้เป็นอาวุธของฝ่ายหนึ่งเพื่อชี้ให้เห็นความเลวของอีกฝ่าย ปัญญาชนขบถของโลกเสรีใช้เปรียบเทียบให้เห็นการผูกขาดข่าวสารอย่างซับซ้อนแนบเนียนของทุนมหึมาทั้งหลาย หรือให้เห็นการครอบงำเบ็ดเสร็จในโลกทุนนิยมสมัยหลังๆ แต่แนบเนียนยิ่งกว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ส่วนปัญญาชนขบถของโลกสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกถือว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ บอกกล่าวล่วงหน้าถึงอันตรายของเทคโนโลยีในมือของเผด็จการโดยพรรค

ณ ปี 1984 ขณะที่การประจันหน้าของ 2 ค่ายอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก ถึงจุดที่แต่ละฝ่ายอาจกดปุ่มส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปทำลายค่ายตรงข้าม ณ นาทีใดนาทีหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างกว้างขวาง แต่นอกจากจะเป็นเครื่องมือให้กับการโฆษณาชวนเชื่อของโลกเสรีแล้ว ปัญญาชนทั้งขบถไม่ขบถทั้งหลายในโลกภาษาอังกฤษซึ่งมีผู้อ่านกว้างขวางกว่าหันมาพิจารณามุมอื่นๆ ของหนังสือมากขึ้น ที่สำคัญได้แก่ คำถามว่าจริงหรือที่เทคโนโลยีเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หรือในทางกลับกัน อำนาจเบ็ดเสร็จจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหรือไม่ ดูตัวอย่างสังคมปิดเทคโนโลยีต่ำ แต่เผด็จการเบ็ดเสร็จอย่าง พม่า เกาหลีเหนือ หรือกัมพูชายุคเขมรแดงเป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอันตรายต่อสังคมสมัยใหม่จริงหรือ มีปัจจัยอะไรอื่นอีกไหมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเช่นนั้นได้

และประเด็นอื่นๆ อีกมาก

หลายคนเห็นว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ หมดความหมายลงในปี 1984 นั่นเอง เพราะสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จด้วยอำนาจเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลกอย่างที่ออร์เวลล์ได้พยากรณ์ไว้ ไม่กี่ปีต่อมาเมื่อค่ายสังคมนิยมพังทลายลงทั่วยุโรปตะวันออกแม้แต่ในสหภาพโซเวียตเองส่วนจีนกำลังเร่งปรับตัวสู่ทุนนิยมสมัยใหม่เร็วยิ่งกว่าหลายประเทศในค่ายโลกเสรี ภาวะเช่นนี้ทำให้มีผู้ออกมาประกาศว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ หมดความหมายเสียแล้ว เพราะความจริงปรากฏตำตาเราว่า ยิ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่และทุนนิยมพัฒนาขึ้นทั่วทั้งโลก กลับยิ่งเอื้ออำนวยต่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยจนแผ่กว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงขนาดที่นักวิชาการออกมาประกาศว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดลงแล้ว ในแง่ที่เป็นการประกาศชัยชนะของทุนนิยมเสรี

สำหรับอีกหลายคนทศวรรษ 1990 ยิ่งพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เป็นเครื่องมือปลดปล่อยปัจเจกชนและเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยในทุกสังคมทั่วโลกสามารถสร้างพื้นที่ของตนได้ มีช่องทางดำรงอยู่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งทุนนิยมขนาดใหญ่ ไม่ต้องเข้าไปอิงแอบเป็นติ่งขององค์กรหรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ปัจเจกชนและเสียงข้างน้อยเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งหนุนและบ่อนทำลายอำนาจได้ง่ายขึ้น ส่งผลกระทบกว้างขวางขึ้นกว่ายุคก่อนคอมพิวเตอร์และก่อนอินเตอร์เน็ต

เทคโนโลยีขั้นสูงในระยะหลังมานี้ เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับอำนาจ ไม่ใช่เครื่องมือของอำนาจแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ออร์เวลล์ผิด พยากรณ์ผิด เข้าใจเทคโนโลยีกับอำนาจอย่างผิดๆ

แต่จนแล้วจนรอด ผู้คนยังคงอ่าน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ มากมายอยู่เช่นเคย หนังสือเกี่ยวกับ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ล่าสุดเล่มหนึ่งถึงกับเสนอว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ช่างเหมาะกับโลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 มากกว่าโลกในปี 1984 เสียอีก

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ โดนจับใส่บริบททางประวัติศาสตร์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในปี 1949 หรือตลอดยุคสงครามเย็น หรือในปี 1984 หรือหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงและหลังจากนั้น การอ่าน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ให้เข้ากับบริบททางประวัติ-ศาสตร์เป็นการจับ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ให้หยุดนิ่ง ทำให้ความหมายของหนังสือสิ้นสุดลงเพราะตายตัว แต่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ สามารถหลุดรอดออกนอกบริบทประวัติศาสตร์ได้สำเร็จเรื่อยมา ชีวิตของ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ จึงดำเนินต่อ มาไกลเกินกว่าที่ออร์เวลล์จะคาดคิดได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบ: แม้ว่า หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ จะเป็นวรรณกรรมว่าด้วยการเมืองและอำนาจที่สามารถถูกจับผิดใส่บริบทต่างๆ กันได้อยู่เรื่อย แต่เอาเข้าจริงประเด็นเรื่องการเมืองและอำนาจอย่างที่ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เสนอกลับเป็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยในรูปการต่างๆ กันในการเมืองสมัยใหม่หลายแห่งในโลกตราบจนทุกวันนี้


สังคมแบบ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นวรรณกรรมประเภท dystopia บางที่เรียกว่า negative utopia หมายถึงตรงข้ามกับสังคมอุดมคติ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เป็นเรื่องของสังคมเผด็จการเบ็ด เสร็จโดยผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร มีอำนาจล้นฟ้าเด็ดขาดอย่างสัมบูรณ์ในการควบคุมบงการประชาชนทั้งสังคม ออร์เวลล์สร้างภาพว่าสังคม หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (โอชันเนีย) ทำเช่นนี้ได้เพราะเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ในมือผู้มีอำนาจ ผู้อ่าน ณ ปีปัจจุบันอาจรู้สึกขบขันต่อภาพพจน์ของเทคโนโลยีล้ำยุคตามจินตนาการของออร์เวลล์ เพราะดูจะเป็นเทคโนโลยีโบราณเสียเหลือเกิน ทำนองเดียวกับเทคโนโลยีโบราณของยานอวกาศเอ็นเตอร์ไพรซ์ในศตวรรษที่ 24 เทคโนโลยีของผู้มีอำนาจในโอชันเนียที่สำคัญที่สุดคือจอทีวีที่ใช้สอดส่องผู้คนทุกซอกมุมของชีวิต ออร์เวลล์ยังนึกไม่ถึงสมองกล สมาร์ทการ์ด ระบบดาวเทียมสื่อสารที่ใช้สำหรับสอดแนมและเฝ้าดูมนุษย์บนผิวโลกและอื่นๆ อีกมากมาย

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์เลยสักนิดเดียว ทำนองเดียวกับ Animal Farm อันโด่งดังอีกเล่มของออร์เวลล์ก็ไม่ใช่นิยายเด็ก แต่เป็นเรื่องเครียดและโหดร้ายเพื่อเสียดสีการเมืองของระบอบสตาลิน (เคยมีผู้ผลิตเป็นภาพยนตร์การ์ตูน ปรากฏว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะไม่ใช่สำหรับเด็ก)

ประเด็นสำคัญของ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ล้วนแต่เป็นคำถามของสังคมและรัฐสมัยใหม่ยุคของเราในปัจจุบันทั้งนั้น ได้แก่ อำนาจของรัฐทำอะไรกับผู้คน ทำได้อย่างไร การควบคุมความคิดขนาดนั้นเป็นไปได้หรือ จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนและต่ออำนาจของรัฐเอง มนุษย์จริงๆ จะยอมหรือ ถ้ายอม มนุษย์จะกลายเป็นอะไร ถ้าไม่ยอมมนุษย์จะตอบโต้อย่างไร

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่ได้กล่าวถึงการควบคุมด้วยกำลัง หรือการใช้อำนาจทางกายสักเท่าไร ที่สำคัญกว่าคือการควบคุมความคิดจิตใจอย่างเบ็ดเสร็จ โอชันเนียมี Big Brother เป็นรูปธรรมของอำนาจที่เฝ้าจับตามองประชาชนทุกๆ คนอยู่ตลอดเวลา ทุกนาที ทุกซอกมุมของชีวิต นับจากลืมตาตื่นจนนอนตาหลับ Big Brother ปรากฏอยู่ทุกแห่งราวกับพระเจ้า เผยตัวเป็นรูปธรรมบนจอทีวีทุกขณะจิตของชีวิต

ขบถอย่างวินสตันโดนทรมานและโดน ‘ล้างสมอง’ ในท้ายที่สุด แต่น่าคิดมากกว่าคือ คนทั่วไปในสังคมนั้นที่เชื่อฟังอำนาจอย่างสงบราบคาบ อำนาจควบคุมสังคมได้ด้วยการควบคุมความคิด สามารถ ‘ล้างสมอง’ ได้โดยไม่ต้องทรมานเลยสักนิด

ออร์เวลล์ให้ความสำคัญกับการควบคุมข่าวสาร ควบคุมความรู้ประวัติศาสตร์และควบคุมภาษา (ศัพท์และความหมาย) แถมด้วยพิธีกรรมแวดล้อมอีกจำนวนหนึ่งเช่นการประณามศัตรูร่วมกันในที่สาธารณะเป็นต้น ในสังคม หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ อำนาจบงการข่าวสารที่สาธารณชนพึงรับรู้และไม่ต้องรู้ บงการสาระของข่าวสารจนถึงรายละเอียด เปลี่ยนกลับไปกลับมาชั่วข้ามวันก็ได้ จากมิตรเป็นศัตรูหรือกลับกันก็ยังได้

ประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จเพราะเป็นความรู้เพื่ออธิบายและให้ความชอบธรรมแก่ปัจจุบัน (ซึ่งเปลี่ยนได้ชั่ววันข้ามคืน) ดังนั้นเมื่อปัจจุบันเปลี่ยน อดีตจึงต้องเปลี่ยนด้วย เพื่อให้สมเหตุสมผลกัน ออร์เวลล์สร้างวาทะอมตะที่ใช้กันต่อมาอย่างแพร่หลาย ในรูปต่างๆ นั่นคือคำขวัญของอำนาจในโอชันเนียที่ว่า “ผู้ที่ควบคุมปัจจุบันย่อมบงการอดีตได้ ผู้ที่ควบคุมอดีตได้ย่อมบงการอนาคตได้”

ออร์เวลล์เล่นตลกกับชื่อและคำที่แพร่หลายในโอชันเนีย อาทิเช่น เขาเรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตข่าวสารและแก้ไขประวัติศาสตร์ว่า กระทรวงแห่งความจริง (Ministry of Truth) แต่แล้วกลับถากถางชื่อนั้นเสียเอง เพราะชื่อย่อของกระทรวงดังกล่าวคือ Minitru ในทำนองเดียวกัน เขาให้ความสำคัญกับการควบคุมภาษา คำ และความหมายในโอชันเนียว่าเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการควบคุมความ คิดของคน ศัพท์ที่ออร์เวลล์สร้างขึ้นสำหรับการเล่นตลกกับภาษาได้แก่ Newspeak และ Doublethink ในตัวมันเองเป็นตัวอย่างที่ดีของ Newspeak และ Doublethink นั่นคือความหมายตรงตัวและความหมายตามนัยตรงข้ามกันลิบลับ หรือสามารถบังคับให้ความหมายดีกลายเป็นเลว เลวกลายเป็นดี สงครามคือสันติภาพ ขาวดำสลับกันไปหมด

ออร์เวลล์ออกจะล้ำยุคกว่าใครอื่นเล็กน้อยที่เน้นความสำคัญของการควบคุมภาษา คำ และความหมาย ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมความคิดคน เหตุผลประเภทที่ว่า ถ้าไม่มีศัพท์สักคำเดียวเกี่ยวกับการขบถต่อสังคม ก็จะไม่มีการขบถต่อสังคม อาจฟังดูเป็นเหตุผลที่ตลกดี และคงจะยิ่งเป็นเหตุผลไร้สาระสำหรับผู้อ่านในยุคก่อนที่วิตเกินชไตน์และปรัชญาภาษาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางสังคมอย่างทุกวันนี้

ในทางกลับกัน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ อาจดูเชยแหลกสำหรับโลกยุคสมองกลและอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีที่ล้ำยุคและแทรกซึมทุกอณูชีวิตใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ คือ จอทีวี ซึ่งดูจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าจ้องมองเราทุกฝีก้าว เป็นสัญญาณของการควบคุมสอดส่องโดยอำนาจ อำนาจแบบ Big Brother เป็นอำนาจแบบหยาบ ไม่เนียน ไม่มีเสน่ห์ชวนคล้อยตาม เชื่อฟัง หลงใหล หรือจงรักภักดี การควบคุมความคิดอย่างที่โอชันเนียกระทำดูหักหาญ บีบบังคับ สร้างความกลัว ไม่ซับซ้อนซ่อนเล่ห์อะไรเลย ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ปุถุชนจะตื้นเขินขนาดนั้น แต่ครั้นจะดูเบาจอทีวีก็คงไม่ได้ ในสังคมมุขปาฐะที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศไทย จอทีวีดูจะมีอิทธิพลต่อการควบคุมข่าวสาร สร้างความรู้ (อย่างที่อำนาจต้องการ) และสร้าง Newspeak และ Doublethink มากมหาศาลอย่างที่เราคาดไม่ถึง เพราะทีวีเป็นเทคโนโลยีมุข- ปาฐะแบบล้ำยุคทันสมัยที่สุด แถมยังเป็นการสื่อสารทางเดียว เหมาะเจาะที่สุดสำหรับอำนาจจะใช้ล้างสมองประชาชน แม้แต่ภาคประชาชนก็ยังนิยมใช้ทีวีในการยัดเยียดความคิดของตนให้สาธารณชนไม่ต่างจากรัฐแบบมุขปาฐะสักเท่าไร

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ได้ฝากคำสำคัญๆ ไว้ในโลกภาษาอังกฤษ หลายคำที่ยังคงรู้จักแพร่หลายและใช้อยู่จนทุกวันนี้ อาทิเช่น Big Brother, Newspeak, Doublethink เป็นต้น แต่มรดกที่ทำให้ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่หมดอายุไปง่ายๆ กลับไม่ใช่คำเก๋ๆ ในภาษาอังกฤษเหล่านั้น แต่คือสาระสำคัญของหนังสือเกี่ยวกับอำนาจในสังคมการเมืองสมัยใหม่ ได้แก่ ปัญหาเรื่องอำนาจกับสังคมและสาธารณชน เรื่องเทคโนโลยีระดับสูงในการควบคุมกล่อมเกลาความคิดประชาชนด้วยข่าวสาร ประวัติศาสตร์และภาษา และปัญหาเรื่องสังคมส่วนรวมกับปัจเจกชนและการขบถ จินตนาการของออร์เวลล์ในแทบทุกประเด็นที่กล่าวมาค่อนข้างทื่อและไม่ซับซ้อน บางคนว่าออร์เวลล์คาดการณ์ผิดพลาดหมด ตื้นเขินไปหน่อย บางคนว่าออร์เวลล์ถูก แต่ความเป็นจริงแนบเนียน ซับซ้อนเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน แต่แทบทุกประเด็นคือปัญหาใหญ่ที่ยังคงเป็นหัวใจของการถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองของโลกสมัยใหม่ เราลองมาพิจารณาประเด็นเหล่านี้ดู


โฉมหน้าสองแบบของอำนาจ

จินตภาพของ Big Brother ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ชวนให้เรานึกถึงอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบไหน? ลองนึกดู หากมีหน้าสตาลินอยู่บนจอทีวีทุกซอกมุมในสังคมรวมทั้งในบ้านเราเอง เราอาจคิดว่าออร์เวลล์สร้างภาพน่าสะพรึงกลัวแบบเชยๆ แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อหรือเป็นไปไม่ได้ ลองนึกบรรยากาศเหมือนเดินอยู่ใจกลางปราสาทบายนที่มีใบหน้าของอวโลกิเตศวรฉบับชัยวรมันที่ 7 จ้องมองเราอยู่ทุกฝีก้าว ถึงแม้จะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยิ้มน้อยๆ ก็ยังน่ากลัวขนหัวลุก จากนั้นลองนึกถึงชีวิตปกติที่ไปที่ไหนก็มีท่านผู้นำหรือผู้มีบารมีที่คนทั้งประเทศเคารพเทิดทูนสรรเสริญวันละหลายเวลา Big Brother อาจก่อความกลัวมากกว่าความย่ำเกรง ในขณะที่ท่านผู้นำผู้มีบารมีในความเป็นจริงก่อให้เกิดความยำเกรงและสยบยอมจงรักภักดีต่ออำนาจก็เป็นได้

ในโลกที่เป็นจริงจึงอาจไม่มี Big Brother จ้องจับผิดเราโต้งๆ ตลอดเวลา แต่เราคิดว่าสังคมที่เป็นจริงไม่มี Big Brother คอยสอดส่องเราอยู่เงียบๆ กระนั้นหรือ แถม Big Brother ของจริงอาจสั่งสมประสบการณ์ว่าจะมัวเฝ้าดูเราทุกฝีก้าวย่อมเสียเวลาเปล่า อำนาจที่มีประสิทธิภาพไม่ต้องทำตัวเป็นแค่ยามเฝ้าธนาคารหรือห้างสรรพสินค้า การเฝ้ามองอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพกว่าสามารถทำได้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเงิน ดูคนเพียงไม่กี่คนหรือการประชุมเฉพาะเฉพาะแห่ง เป็นต้น

เราไม่โดนควบคุมบงการ หรือเราโดนแบบไม่รู้ตัว ไม่โฉ่งฉางอย่าง Big Brother? หากเราบอกปัดจินตนาการเกี่ยวกับ Big Brother ไปอย่างง่ายๆ เพียงเพราะไม่มีจอทีวีหน้าสตาลินอยู่ในบ้านเรา เราอาจจะเข้าใจ 1984 พลาดไปอย่างน่าเสียดาย

จินตภาพของผู้มีอำนาจที่อยู่ข้างหลัง Big Brother ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ชวนให้เรานึกถึงกลุ่มคน องค์กร ประเภทไหนกัน?

นอกจากโฉมหน้าสาธารณะของอำนาจในรูปของ Big Brother บนจอทีวีแล้ว เรารู้จัก “พรรค” ที่ครองอำนาจในโอชันเนียผ่านโอไบรอัน เขาเป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ ดูเผินๆ น่าคบได้ ใจกว้าง และมีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีเสน่ห์ ชวนคล้อยตาม ต้อนรับความแตกต่างและสนับสนุนให้แสดงออก คุณลักษณะของโอไบรอันตรงข้ามกับภาพพจน์ของ Big Brother โดยสิ้นเชิง แต่ลงท้าย ผู้อ่านคงตระหนักตรงกันว่า โอไบรอันร้ายและ “น่ากลัว” กว่า Big Brother เสียอีก เพราะโฉมหน้าของอำนาจในรูปของโอไบรอันลึกลับซับซ้อนอ่านยากกว่าใบหน้าบนจอทีวีมากนัก

โอไบรอันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นผู้มีอำนาจในโอชัน-เนีย แต่ในเวลาเดียวกัน เขารู้เรื่องพวกขบถดี และทำท่าเหมือนจะมีส่วนร่วมกับพวกขบถด้วยซ้ำไป เขาเป็นพวกต่อต้านอำนาจจากภายในศูนย์กลางใช่ไหม จึงเกี่ยวดองกับทั้งสองข้าง? หรือว่าเขาก็เป็นเหมือนปัญญาชนสาธารณะที่มีชื่อเสียงตามปกติที่มักพร่ำสอนเรื่องการต่อต้านอำนาจ แต่เอาเข้าจริง กลับทำหน้าที่กล่อมเกลาให้พวกขบถยอมสยบต่ออำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่พวกขบถเกิดเอาจริงขึ้นมา? หรือเขาเป็นผู้มีอำนาจที่ทำตัวเป็นสปายสายลับมาแทรกซึมพวกการขบถ? หรือเพราะมือถือสากปากถือศีล? เขาจงใจหลอกลวงวินสตัน หรือเขาไม่ได้หลอกใครอื่นเลย แต่หลอก ตัวเองคนเดียวจึงตีสองหน้าได้อย่างจริงใจไม่ขัดเขิน?

ถ้าเราไม่ถือว่าโอไบรอันเป็นบุคคล แต่ออร์เวลล์ใช้ตัวละครนี้เป็น “บุคลาธิษฐาน” (personification) ของสิ่งนามธรรมที่เราเรียกว่าอำนาจ จากนั้นลองคิดถึงอำนาจอีกครั้งว่า ด้านหนึ่งแสดงตัวเป็น Big Brother บนจอทีวี อีกรูปหนึ่งแสดงตัวเป็นโอไบรอัน เราอาจเข้าในดีขึ้นว่า อำนาจมีรูปร่างหน้าตาโดยรวมอย่างไร

นั่นคือ อำนาจมีทั้งโฉมหน้าที่น่ากลัว จ้องจับผิด เล่นงานเราอยู่ทุกขณะชีวิตอย่าง Big Brother แต่อีกด้านของอำนาจ คือคนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เพียงแต่อ้างความรู้ดีกว่ามากกว่า อ้างความเชี่ยวชาญกว่า หรือคุณสมบัติเฉพาะทางอื่นๆ อำนาจที่ “เนียน” จะดูคมคายมมีเสน่ห์ชวนหลงใหล ชวนให้เราใจอ่อน ยอมเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นพวก แม้แต่วิญญาณขบถของวินสตันหรือของเราๆ ท่านๆ ยังถูกหลอม ละลายโดยโฉมหน้าของอำนาจแบบโอไบรอัน ไม่เห็นว่าเป็น ศัตรูเลวร้ายตรงไหน

ปัญหาน่าคิดคือ ระหว่าง Big Brother – อำนาจควบคุมด้วยความกลัว กับอำนาจควบคุมประชาชนด้วยวิธีอื่น อย่างไหนมีประสิทธิภาพในการบงการความคิดจิตใจคนมากกว่ากัน? แล้วถ้าพระเดชประสานพระคุณ หรือความจงรักภักดีประสานความกลัวล่ะ?

บุคลาธิษฐานของอำนาจอย่างโอไบรอันและที่ยิ่งกว่าโอไบรอันมีอยู่ในทุกสังคม ในความเป็นจริง อำนาจที่มีพลังทรงประสิทธิภาพมักไม่ใช่อำนาจแบบ Big Brother ด้วยซ้ำไป แต่มักเป็นอำนาจที่ “เนียน” ซึ่งไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ากำลังโดนอำนาจครอบงำบงการอยู่ ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้วิธีทรมานแต่อย่างใด

อันที่จริงก็คงไม่มีจอมเผด็จการคนไหนในโลกเป็นจริงที่ไม่ประสานสองด้านเข้าด้วยกัน แม้แต่จอมเผด็จการในพม่า ลัทธิบูชาผู้นำในเกาหลีเหนือ หรือระบอบที่โหดเหี้ยมอื่นๆ ก็มีด้านที่สามารถเรียกความจงรักภักดีหรือสยบยอมอย่างสมัครใจรวมอยู่ด้วย ในกรณีลัทธิบูชาผู้นำ มักอาศัยการกล่อมประสาทให้เห็นแต่ด้านพระคุณวิเศษมากกว่าด้านพระเดชหรือความกลัวด้วยซ้ำไป โฉมหน้าอำนาจแบบพระคุณก็ต้องอาศัยวิธีการอย่างใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เช่นกัน ได้แก่ การควบคุมข่าวสาร เสนอแต่คุณวิเศษเหลือเชื่อวันละหลายเวลา ปกปิดข่าวสารด้านอื่น อย่างเก่งก็กลายเป็นแค่ข่าวลือ ควบคุมความรู้ แก้ประวัติศาสตร์ทั้งโดยเข้าใจผิด โดยตีความตามอุดมการณ์ และโดยจงใจโฆษณาชวนเชื่อจนทำให้ผู้คนหลงคิดว่าหากขาดท่านผู้นำ ประเทศของตนอาจล่มสลายตกทะเลไปนานแล้ว และใช้การควบคุมภาษา คำ และความหมาย จนไม่หลงเหลือศัพท์หรือภาษาที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสมมติเทพได้เลย นานวันเข้า แม้แต่จะตีความประวัติศาสตร์เบี่ยงออกจากมาตรฐาน หรือใช้คำไม่สูงพอกับความเป็นสมมติเทพก็อาจกลายเป็นอาชญากรรมทางความคิดได้

อย่างไรก็ตามลัทธิบูชาผู้นำทุกแห่งรายล้อมพระคุณด้วยพระเดช ปกป้องค้ำจุนความจงรักภักดีด้วยความกลัว ท่ามกลางการแซ่ซ้องสรรเสริญ มีการกำจัดปราบปรามอาชญากรทางความคิดอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งสูงส่งก็ยิ่งต้องเข้มงวดรุนแรง

Big Brother ของโอชันเนียไม่แสดงออกด้านที่เป็นพระคุณ จนอดคิดไม่ได้ว่าลำพังความกลัวจะทำให้ผู้คนสยบยอมอยู่ได้อย่างไร แต่ในโลกที่เป็นจริง ทั้งสองด้านกลับต้องทำงานประสานกัน ความสำเร็จของลัทธิบูชาผู้นำเป็นสมมติเทพยังคงเป็นโจทย์ที่มีผู้ศึกษาและอธิบายไม่มากนัก ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองด้านเป็นอย่างไร ทำงานประสานกันอย่างไร

และปัญหาใหญ่อีกข้อของลัทธิบูชาผู้นำก็คือ ประชาชนสยบยอมอย่างเชื่องๆ ราวกับถูกล้างสมองกันทั้งสังคมได้อย่างไร คงอีกนานกว่าเราจะมีคำตอบ เพราะทุกวันนี้ความกล้าถามก็ถือเป็นอาชญากรรมทางความคิดชนิดหนึ่ง


อำนาจของสาธารณชน

ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครองในสังคมโอชันเนียเป็นความสัมพันธ์แบบที่อำนาจรัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนถูกครองงำอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นความสัมพันธ์แบบบนลงล่างทางเดียว ซึ่งสาธารณชนไม่มีบทบาทหรือโอกาสเป็นผ่ายกระทำต่อรัฐหรือต่อประชาชนด้วยกันเอง

Dystopia ของออร์เวลล์คาดการณ์จากสังคมสมัยใหม่แบบต้นศตวรรษที่ 20 ว่า หากผันแปรไปถึงจุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมประชากรจะมีหน้าตาอย่างไร เทค- โนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาก้าวกระโดดในช่วงระหว่างสงครามโลกสองครั้ง ก่อให้เกิดทั้งความหวังใหม่ๆ ว่ามนุษย์สามารถยกระดับความสามารถและพัฒนาไปได้อีกไกลอย่างที่ไม่เคยเคยมาก่อน แต่ก็ก่อให้เกิดความกังวล กลัวว่าเทคโนโลยีอาจทำลายมนุษย์และสังคมเพราะเทคโนโลยีอาจพัฒนาอำนาจจนน่ากลัว หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ คือจินตนาการของอย่างหลัง

แต่ออร์เวลล์ไม่สามารถมีญาณหยั่งรู้อย่างเราท่านในปัจจุบันที่มองย้อนหลังไปแล้วพบว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐและประชาสังคม และธรรมชาติของอำนาจรัฐในสังคมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองกลับเปลี่ยนไปมหาศาลจากรัฐและระบบการเมืองของต้นศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเมืองของสาธารณชน (public) กล่าวคือ สาธารณชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านอำนาจ และการใช้อำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมหล่อหลอมความคิดของประชาชนด้วยกันเอง

การขยายตัวของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือพิมพ์ การสื่อสาร และการศึกษาที่ “บูม” ขึ้นมหาศาลในเชิงปริมาณในขอบข่ายทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีส่วนทำให้การเมืองของประเทศต่างๆ (โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม)พัฒนาขึ้นเป็นการเมืองแบบมวลชน หรือแบบสาธารณชนยิ่งกว่าช่วงก่อนหน้านั้น รัฐและสังคมมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกว่าช่วงใดในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น รัฐกับสังคมไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจนอีกแล้ว

ในระยะนั้น นักทฤษฏีเกี่ยวกับรัฐและสังคมไม่ว่าฝ่าย ซ้ายหรือขวา พยายามอธิบายสภาวะเช่นนี้ พยายามอธิบายว่า โรงเรียน สื่อมวลชน สหกรณ์ เป็นรัฐหรือเป็นสังคม เพราะอะไรๆ ก็ดูเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไปหมด จนเหมือนว่ารัฐควบคุมครอบงำไปหมด แต่ในขณะเดียวกัน กลับสามารถมองตรงข้ามได้ว่า สังคมเป็นผู้จัดการสถาบันเหล่านั้นเอง ทั้งๆ ที่รัฐควบคุมกฎระเบียบหรือแม้กระทั่งงบประมาณ ตกลงไม่รู้ว่าจะขีดเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมที่ตรงไหน

รัฐและสังคมใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงนี้แต่อย่างใด คงรักษาจินตภาพของรัฐต้นศตวรรษที่ 20 ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการควบคุมบงการประชาชน หรืออะไรก็ตามที่รัฐโอชันเนียกระทำจึงดูผิดแผกต่างจากรัฐและอำนาจในปัจจุบันอย่างมาก

การเมืองแบบเปิดที่สาธารณชนมีส่วนร่วมกว้างขวางขึ้นมากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อำนาจรัฐไม่กระจุกตัวอยู่ที่เดียวในมือของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวและอำนาจของรัฐถูกตรวจ สอบจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางเปิดเผย นี่กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพไปถึงจุดที่ออร์เวลล์สร้างภาพขึ้นมาในหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ อย่างง่ายๆ

พลังของสาธารณชนในระบบการเมืองเปิดอาจช่วยป้องกันไม่ให้โอชันเนียเกิดขึ้น แต่ปัจจัยนี้ไม่ใช่หลักประกันว่าประชาชนจะฉลาด รู้ผิดชอบชั่วดี หรือมีความรับผิดชอบเสมอไป สาธารณชนสามารถตกอยู่ในมิจฉาทิฐิร่วมอย่างฝัง ลึกงมงายได้เช่นกัน และอาจช่วยกันกำจัดกวาดล้างพวกขบถนอกคอกได้อย่างโหดเหี้ยมไม่แพ้อำนาจรัฐ สาธารณชนสามารถเป็นผู้ค้ำจุนความอัปลักษณ์ในสังคมให้อยู่ต่อไปและเปลี่ยนยากกว่ายึดอำนาจรัฐเสียอีก ออร์เวลล์ไม่เห็นว่าประชาชนนั่นแหละตัวอันตรายที่อาจช่วยค้ำจุนรัฐ เป็นผู้ควบคุมบงการประชาชนด้วยกันเอง และสามารถก่อความเลวร้ายได้เหลือเชื่อ ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่ท้าทายความเข้าใจต่อรัฐและสังคมแบบต้นศตวรรษที่ 20 คือ โศกนาฏกรรมขนาดใหญ่ที่ขยายวงกว้างในสังคมหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยลัทธินาซี

ความขัดแย้งทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์จนนำไปสู่การสังหารกวาดล้างกันขนานใหญ่อย่างที่เกิดในบอสเนีย รวันดา ซูดาน หลายแห่งในอินโดนีเชีย และอื่นๆ อีกมากมายทั้งที่เป็นข่าวครึกโครม และที่ยังคงไม่รู้จักกันนัก หรือระบอบการปกครองที่นำไปสู่การปราบปรามในวงกว้าง เช่น ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธิสตาลิน การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ระบอบเขมรแดง ฯลฯ ผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ แต่ลำพังอำนาจรัฐอย่างเดียวไม่มีความสามารถพอที่จะก่อให้เกิดหายนะระดับทั่วทั้งสังคมได้ สาธารณชน ประชาสังคม มวลชน (หรือจะเรียกอะไรก็ตามแต่) เป็นปัจจัยสำคัญมากในหายนะเหล่านั้นทุกกรณี

ในกัมพูชา ถึงแม้ว่าเราจะสามารถระบุตัวผู้นำเขมรแดงได้ และไม่ว่าจะนำตัวพวกเขามาลงโทษได้อย่างสาสมก่อนที่เขาจะแก่ตายไปหรือไม่ก็ตาม เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า ผู้มีส่วนลงมือในโศกนาฏกรรมคือพลพรรคระดับกลางและล่างจำนวนมาก ซึ่งก็คือ ชาวบ้านธรรมดานั่นเอง พวกเขามีทั้งที่ทำไปด้วยความเชื่อตามผู้มีอำนาจ ทำด้วยความมีอำนาจอยู่ในมือมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีทั้งที่ทำไปเพราะความกลัวอำนาจ (กลัวว่าหากไม่ทำก็อาจตกเป็นเหยื่อเอง) และที่ทำไปเพราะฉวยโอกาสหาความดีความชอบ หรือด้วยความฮึกเหิมแบบผู้อ่อนประสบการณ์ อ่อนความคิด แต่กลับมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ คนเหล่านี้ลงมือโดยมีอำนาจของรัฐสบับสนุนให้ท้ายอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่พวกเขาเองไม่ใช่ข้าราชการหรือสมาชิกพรรคระดับสูง ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจด้วยซ้ำไป ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการลงโทษเขมรแดงก็คือ หากเอากันจริงๆ จังๆ โดยไม่จำกัดให้อยู่แต่ระดับผู้นำ จะมีผู้สมควรถูกลงโทษอีกมหาศาล ซึ่งทั้งก่อนและภายหลังยุคเขมรแดง พวกเขาเป็นคนทำมาหากินธรรมดาๆ นี่เอง

ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกทำนองเดียวกัน เกิดกับอาชญากรรมของตำรวจลับในเยอรมันตะวันออกช่วงสงครามเย็น แม้ว่าเราจะสามารถระบุตัวและลงโทษผู้นำพรรคและผู้นำตำรวจลับ “สตาซี” ได้ไม่ยากนัก แต่ Big Brother ในเยอรมันตะวันออกไม่ปรากฏตัวโฉ่งฉ่างบนจอทีวี ทว่ากลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยการไม่เผยตัว สตาซีทำให้ทั้งสังคมรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ทุกขณะ จนผู้คนหวาดกลัวและหวาดระแวงตลอดเวลา ความจริงที่เปิดเผยต่อมาคือ สตาซีสร้างเครือข่ายสายลับ และผู้ให้ข้อมูลแก่ตำรวจอยู่ในทุกกลุ่มทุกแวดวงของสังคม รวมทั้งเพื่อนบ้านเรือนเคียง และญาติพี่น้องของเราเอง เมื่อสตาซีและระบอบปกครองล่มสลายลง พบว่าสตาซีเก็บแฟ้มประวัติเกี่ยวกับประชาชนของตัวเองหลายหมื่นแฟ้ม

อำนาจรัฐแบบสตาซีไม่ได้แสดงออกด้วยเครื่องแบบหรืออะไรก็ตามที่แสดงอำนาจของรัฐ แต่คือประชาชนธรรมดาที่ยอมเป็นหูตาให้แก่รัฐ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลแรงจูงใจอะไรก็ตาม สตาซีอยู่กับมวลชนปกติจนแยกไม่ออกว่าอำนาจรัฐหยุดแค่ไหน ประชาสังคมเริ่มตรงไหน อะไรคือหน่วยของอำนาจรัฐ อะไรไม่ใช่อีกต่อไป ความหวาดระแวงกันเองในหมู่ประชาชนแผ่ซ่านเลยเถิดถึงจุดที่มีการให้ข่าวข้อมูลเท็จแก่สตาซีเกี่ยวกับผู้เป็นภัยต่อระบอบเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของระบอบ มีการชิงเป็นผู้ให้ข้อมูลก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อเสียเอง และหลายปีหลังระบอบสตาซีล่มสลาย ยังคงมีการคิดบัญชีกันต่อมา เยอรมันตะวันออกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีบางคนเรียกว่าเป็น หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ที่เกิดขึ้นจริง

สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการสอดส่องควบคุมจนกลัวและไม่ไว้ใจกันล่วงพ้นออกนอกการบงการของรัฐมากไป กลายเป็นประชาชนควบคุมจับจ้องกันเอง ระแวงซึ่งกันและกันโดยไม่มีใครสามารถรู้ชัดอีกต่อไปว่า ตรงไหนเป็นการกระทำของรัฐ ตรงไหนไม่ใช่ อำนาจของรัฐกับอำนาจของสังคมปนเปกันจนแยกไม่ออก การสะสางอาชญากรรมของสตาซีภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นจึงประสบปัญหาอย่างมาก เพราะหากลงโทษกันจริงจังทั่วด้าน คนจำนวนมากในสังคมซึ่งไม่ได้ใกล้ชิดอำนาจของรัฐเลยอาจสมควรถูกลงโทษ รวมทั้งญาติพี่น้องของเหยื่อเอง ถึงขนาดที่มีผู้เสนอว่า ทางออกที่อาจจะพึงปรารถนากว่าในกรณีเยอรมันตะวันออก (และในกรณีกัมพูชาเช่นกัน) คือ นอกจากผู้นำที่ชัดๆ ไม่กี่คนแล้ว นอกนั้นควรปล่อยให้ผ่านเลยไป อย่าหาความจริงเพราะความจริงจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันไม่ได้

ในขณะที่ระบอบการเมืองประชาธิปไตยเปิดโอกาสแก่สาธารณชนกว้างขวางขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ระบอบการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทำให้ความกลัวและการควบคุมกันเองขยายวงไปสู่ประชาชนเช่นเดียวกัน สาธารณชนคือปัจจัยสำคัญสำคัญที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโอชันเนีย และสามารถทำให้โอชันเนียเป็นความจริงของโลกปัจจุบัน รูปการลักษณะของอำนาจรัฐและบุคคลหรือพรรคที่กุมอำนาจรัฐซึ่งเป็นเป้าที่เราสนใจมาตลอด ไม่ใช่ ปัจจัยเด็ดขาดที่ก่อให้เกิดสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น

เราสามารถเห็นพลังอนุรักษ์นิยมของสาธารณชนได้ในทุกสังคมยามปกติ สาธารณชนมักโหยหาวันชื่นคืนสุขในอดีตที่ไม่เคยมีอยู่จริง แต่กลับน่าหลงใหลในจินตนาการของเราๆ ท่านๆ เพราะเราทุกคนหลาดกลัวการเปลี่ยนแปลงมากบ้างน้อยบ้างด้วยกันทุกคน เพราะเราทุกคนเรียกหาความมั่นคงของชีวิต พอใจประโยชน์ที่เกิดต่อตัวเองแม้จะน้อยนิด ระยะสั้นๆ หรือแคบๆ ก็เถอะ ผู้คนโดยทั่วไปยึดติดกับอัตลักษณ์ของตน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนาหรืออื่นๆ จนก่อให้เกิดทั้งการเบียดเบียนคนอื่นและการต่อสู้ต่อต้านคนอื่นที่มาดูถูกเหยียดหยามอัตลักษณ์ของตน สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเหตุให้สาธารณชนรวมหัวกันควบคุมบงการซึ่งกันและกัน หรือก่อเหตุเลวร้ายก็ได้

อำนาจที่ค้ำจุนระบอบเก่า สังคมเก่าที่กลัวการเปลี่ยน แปลง คอยจับจ้องพวกขบถ จึงไม่ใช่แค่ Big Brother หรือพรรคลึกลับที่อยู่เบื้องหลัง แต่รวมถึง Little Big Brother รอบตัวเราทุกวี่วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนจำนวนมากที่ควบคุมความรู้ ภาษา และประวัติศาสตร์โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำหน้าที่ให้กับ Minitru ปัญญาชนพรรค์นี้ และสื่อมวลชนพรรค์นี้ไม่ต้องตีสองหน้า ไม่ต้องเป็นสปายสายลับ เพราะเขายินดีทำอย่างจริงใจ เต็มใจ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการรับใช้อำนาจแต่อย่างใด

อำนาจในการควบคุมบงการความคิดประชาชนในสังคมสมัยใหม่ระยะหลังเป็นอำนาจประเภทนี้ รัฐยังมีอำนาจลงมือกระทำต่อประชาชนที่ขัดขืนต่อต้าน แต่ในยามปกติ รัฐมักทำตามความต้องการของสาธารณชนเพื่อรักษาสถานภาพเดิม บ่อยครั้งขบวนการมวลชนเป็นพลังผลักดันให้รัฐจัดการพวกที่ท้าทายระเบียบสังคมที่ถือว่าดีงามตามประเพณีมาช้านาน แถมผู้มีอำนาจรัฐบาลที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบที่ล้าหลังยังอาจโดนขจัดโดยขบวนการมวลชนอนุรักษ์นิยมด้วยซ้ำไป

อำนาจไม่ได้กระจุกตัวที่รัฐบาลเสมอไปหรืออีกต่อไป แต่กลับกระจัดกระจายอยู่กับสื่อมวลชน โรงเรียน วงวิชาการ ฯลฯ อีกด้วย และหากเอามวลชนอยู่ข้างตนได้ อำนาจย่อมสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในเรือนของเราเองได้สบายๆ ไม่จำเป็นต้องมีตำรวจเฝ้าโรงหนังทุกแห่งเพื่อคอยจับคนที่ไม่ยืน เพราะประชาชนด้วยกันเองนี่แหละ พร้อมจะลงมือขว้างปาของใส่คนๆ นั้น แล้วฉุดกระชากคอได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด

สื่อมวลชนและขบวนการมวลชนนั่นแหละที่ก่นด่ากำราบประณามพวกแหกคอกอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตำรวจเสียอีก Little Big Brother ไม่ต้องรวมศูนย์อำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบทีวีเฝ้าระวังขบถ แถมไม่เคยเปิดเผยตัวว่าเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ เพราะเขาไม่ได้เป็นอย่างเป็นทางการ พวกขบถนอกรีตต้องพึงระวังตัวเองให้ดีว่า ประชาชนรอบตัวเรากำลังจ้องมองเราอยู่!


“รัฐ” คืออะไรกันแน่

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับรัฐที่ขออภิปรายในที่นี้ก็คือ ปัญหาว่า “รัฐ” คืออะไรกันแน่? หมายถึงรัฐบาลอย่างที่มักเข้าใจกันทั่วไปหรือ? หมายถึงอำนาจหลักที่ค้ำจุนสถาบันและกลไกต่างๆ ของทางการหรือ? ดูเหมือนว่าคำตอบคือ ถูกทุกข้อ รัฐบาลเป็นเพียงแค่อำนาจหนึ่งของ “รัฐ” ทั้งหมดก็ได้ อำนาจที่มากกว่าเพื่อค้ำจุน “รัฐ” อยู่นอกรัฐบาลบ่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีมวลชนอยู่กับอำนาจนั้น บ่อยครั้งทหาร ตุลาการ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เดินร่วมทางกับรัฐบาลก็สามารถล้มรัฐบาลได้ (ไม่ต้องยกตัวอย่างก็คงพอจะรู้กันอยู่) ดังนั้น รัฐหมายถึงอะไรบ้างกลับกลายเป็นคำถามที่ตอบยากขึ้นทุกทีความแปรผันยอกย้อนของการเมืองของสาธารณชนและขบวนการมวลชนเช่นนี้ ไม่อยู่ในจินตภาพความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนของ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เลยแม้แต่น้อย

เราคงตั้งคำถามชุดเดียวกันได้ต่อการควบคุมความรู้ประวัติศาสตร์และข่าวสารใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ นั่นคือ แม้ออร์เวลล์ทำให้ดูทื่อแต่ในความเป็นจริงซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร? รัฐเป็นผู้ควบคุมไปหมดจริงหรือ? หรือประชาชนและประชาสังคมด้วยกันเองเป็นผู้ทำ? เรามีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับรัฐที่พยายามบงการความรู้ข่าวสาร จนทุก วันนี้ก็ยังคงทำอยู่ ความสัมพันธ์และความสำคัญของรัฐในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่พ้นกรอบเดิมๆ ว่า ปัญหาเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สิ่งที่น่าจะขบคิดเลยออกไปจากเดิมมีมาก อาทิเช่น “รัฐ” ที่ควบคุมนั้นหมายถึงอะไรบ้าง ควมคุมอย่างไร? มีแต่การใช้อำนาจก่อความกลัวเท่านั้นหรือ? การกล่อมประสาทด้วยอุดมการณ์ความเชื่อจนยินทำตามอย่างว่านอนสอนง่ายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือไม่? หมายถึงใครบ้าง? นอกจากรัฐแล้ว การควบคุมบงการและจำกัดเสรีภาพโดยสาธารณชนเป็นอย่างไร?สาธารณชนและตลาดช่วยให้มีอิสระจากรัฐบ้างไหม และกลับกลายเป็นปัจจัยควบคุมบงการสื่อมวลชนยิ่งกว่ารัฐบาลหรือไม่?

เราคงไม่สามารถกล่าวง่ายๆ อีกแล้วว่าการควบคุมของรัฐบาลเป็นต้นเหตุหรือเป็นปัจจัยเดียวของความด้อยคุณภาพของวงวิชาการและสื่อมวลชนไทย ดังที่บ่นกันทุกวี่ทุกวันในทั้งสองวงการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหลักวิชาชีพปวกเปียก ขาดแคลนคุณภาพ ขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ แม้กระทั่ง การกำราบปราบปรามเล่นงานกันเองทางการเมือง บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล บางทีการโยนบาปให้รัฐบาลเป็นแค่การหาแพะที่สะดวกที่สุดเพื่อยืดเวลาที่ตนเองต้องรับผิดชอบสะสางยกระดับวิชาชีพของตน

ตัวอย่างที่ผู้เขียนพอรับรู้อยู่บ้างคือ ความรู้ประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรมจะถล่มกรมศิลปากรมาหลายสิบปี แต่น่าคิดว่า กรมศิลปากรเท่านั้นหรือที่กอดประวัติศาสตร์คลั่งชาติและราชาชาตินิยมไว้เหนียวแน่น แล้วเที่ยวบงการสั่งสอนคนอื่นให้คิดตาม? นักวิชาการถูกบงการโดยกรมศิลปากรหรือหน่วยงานอื่นของรัฐสักเท่าไรกัน? ท่ามกลางกรณีพิพาทเรื่องเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อกลางปี 2551 ที่ผ่านมา เราจะพบว่าแม้แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มีจำนวนมากที่เห็นร่วมว่า เขาพระวิหารเป็นของไทย รัฐบาลขายชาติเสียดินแดน คนเหล่านี้ไม่ชอบพันธมิตรฯ แต่ก็เต้นตามเพลงชาตินิยมไปด้วย การถกเถียงสาธารณะตลอดจนความขัดแย้ง กระทำผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก โดยที่รัฐบาลหรือกลไกรัฐอื่นๆ ไม่สามารถควบคุมชี้นำได้ สื่อมวลชนของเอกชนและสื่ออินเตอร์เน็ตจำนวนมากกลับมีความเห็นคลั่งชาติ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเสียอีกที่พยายามบรรเทากระแสชาตินิยมหน้ามืด กลายเป็นว่านักวิชาการ สื่อมวลชน และขบวนการมวลชนเอง (พันธมิตร) ต่างหากที่ช่วยกันสุมไฟชาตินิยม

การถกเถียงใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์มีอยู่ตลอดเวลา โดยรัฐควบคุมไม่ได้ แต่กลับมีผลเปลี่ยนความรู้ความคิดของสาธารณชนน้อยมาก บางครั้งเสนอความรู้ ความคิดใหม่ๆ ก็กลับถูกสาธารณชนลากกลับไปอยู่ในกรอบความรู้เดิมๆ จน ได้จนป่านนี้จึงยังคลั่งชาติ เกลียดพม่า ดูถูกลาว ไม่ไว้ใจเขมร เหยียดหยามมลายู และยังคงคิดว่าคนไทยมาจากภูเขาอัลไตอยู่เช่นเดิม

มีเสียงบ่นกังวลถึงภาวะขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์อยู่ในทุกวงการทางปัญญา ทั้งสื่อมวลชนทุกแขนง วิชาการ และวงการศิลปะวรรณคดีเคยคิดไหมว่า การครอบงำทางปัญญาของยุคเผด็จการ ไม่ใช่การลงมือกำจัดทำลายคนที่ริเริ่มสร้างสรรค์ และขบถทางปัญญามากเท่ากับการรักษาความเรียบร้อยทางปัญญาของทุกวงการ ซึ่งทำลายความริเริ่มสร้างสรรค์ภายในวงการนั้นๆ กันเองอยู่แล้ว ครั้นอำนาจเผด็จการเจือจางลง อำนาจรัฐเข้ามายุ่มย่ามน้อยลง ทุกวงการทางปัญญาจึงยังคงขาดความริเริ่มสร้างสรรค์เช่นเดิม เพียงแต่มีระเบียบเรียบร้อยน้อยลงกว่าเดิมแค่นั้นเอง

คุณภาพของสื่อมวลชนไทยหลังยุคเผด็จการดีขึ้นสักเท่าไรกัน? ปัจจัยใหญ่ๆ ของความด้อยคุณภาพมีทั้งที่เกี่ยว และไม่เกี่ยวกับการควบคุมบงการโดยรัฐ เช่น ลักษณะตลาดหรือผู้บริโภคสินค้าอื่น ขนาดของตลาดทางปัญญาซึ่งเล็กนิดเดียว (เล็กเสียจนวารสารทางวิชาการเอาตัวไม่รอด) เพราะแม้กระทั่งนักวิชาการก็อ่านแต่หนังสือพิมพ์เป็นหลัก ปัญหาขาดหลักการทางวิชาชีพจนแยกไม่ออกระหว่างข่าวสารกับข่าวไม่เป็นสาร ระหว่างสื่อมวลชนกับโฆษณาชวนเชื่อ เสรีภาพของสื่อกับการโกหกโฆษณาใส่ร้ายผู้อื่น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มิใช่ปัญหาอันเกิดจากการควบคุมของรัฐจนไร้เสรีภาพ

แม้กระทั่งปรากฏการณ์ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สื่อมวลชนแข่งกันผลิตรายการเฉลิมฉลองเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งๆ ที่ไม่มีใครควบคุมบงการ อุตสาหกรรมความจงรักภักดีชนิดที่รัฐไม่ ได้สั่ง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเองก็คงนึกไม่ถึงเช่น เปลี่ยนทีวีสีเป็นขาวดำ เหล่านี้เป็นผลงานของประชาสังคมเองทั้งสิ้น ออร์เวลล์คงนึกไม่ถึงว่าประชาชนและประชาสังคมกันเองจะมีความสามารถรักษาสถานภาพเดิมได้ขนาดนี้ โดยรัฐไม่ต้องทำอะไรสักเท่าไร Minitru เป็นผลผลิตของประชาสังคมกันเอง

ออร์เวลล์คงรำคาญเต็มทีกับโฆษณาชวนเชื่อ “เว่อร์ๆ” ของสื่อมวลชนเผด็จการที่สามารถผลิตศัพท์แสงได้คมคาย แต่มักให้ความหมายตรงข้ามกับความเป็นจริง Newspeak หมายถึงศัพท์แสงที่สื่อความกลับขาวเป็นดำ การโฆษณาชวนเชื่อมีอยู่มากน้อยในทุกสังคม ไม่เฉพาะเผด็จการ ภาษากลับตาลปัตรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่อยู่ได้ด้วยความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง โดยมากเป็นสังคมหลงตัวเองและต้องการอยู่ในโลกแคบๆ ของตัวเอง คิดว่าตนเองวิเศษที่สุดในโลก Newspeak มักเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมที่ภาษาเป็นกำแพงขวางการเรียนรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโลกภายนอกและเป็นอุปสรรคต่อโลกภายนอกจะมีปฏิสัมพันธ์ทางปัญญากับสังคมนั้นๆ เพราะ Newspeak กล่อมเกลาประชาชนของตนได้ดี ปกปิดประวัติศาสตร์ได้ดี และอาจเป็นปราการป้องกันความคิดพวกขบถได้ด้วย

Newspeak เป็นพฤติกรรมปกติของรัฐพรรค์เหล่านั้น แต่หากเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้น ย่อมหมายความว่าเป็นวิถีชีวิตที่คนทั่วไปไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐร่วมผลิตด้วย จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา (หรือที่เรียกว่าเป็น ‘ธรรมเนียม’) มีหลายคำในสังคมไทยทั้งที่มีมานานแล้ว และที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่มีลักษณะเป็น Newspeak ตัวอย่างเช่น ‘การเมืองใหม่’ หมายถึง การเมืองเก่าล้าหลังปัจจุบันหลายสิบปี ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หมายถึง ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบต่างๆ สันติวิธี หมายถึง พกอาวุธ สะสมอาวุธได้ รุมตีคนอื่นได้ ฆ่าคู่ต่อสู้ได้ กู้ชาติ หมายถึง ทำให้ชาติพินาศล่มจม เป็นต้น


ขบถ ปัจเจกภาพ และการวิจารณ์

ในเมื่อหัวใจของอำนาจในสังคมแบบ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ คือการควบคุมความรู้ ความคิด อาชญากรรมที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ อาชญากรรมทางความคิด (Thoughtcrime) แต่อะไรล่ะคือ Thoughtcrime? ความรู้ประวัติศาสตร์ซึ่งต่างจากที่อำนาจต้องการเป็นอาชญากรรมหรือไม่ หรือการไม่เชื่อ ฟังข่าวสารของรัฐ? ไม่ตกหลุมพรางความหมายของ Newspeak? น่าจะใช่ทั้งนั้น แต่การขบถของจูเลียและวินสตันไม่กล่าวถึงสิ่งนี้เลย ไม่เห็นจะมีทัศนะความเห็นที่รุนแรงตรงข้ามกับอำนาจรัฐในเรื่องประวัติศาสตร์หรือภาษาสักเท่าไรเลย

จูเลียและวินสตันออกนอกรีตนอกรอยเพราะความรัก

ความรักเป็นอาชญากรรมทางความคิดของโอชันเนียหรือ? เพื่อจะลองตอบปัญหานี้ ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจก่อนว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของอำนาจรัฐ / พรรค / หรือใครก็ตามที่บงการทั้งสังคมใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่? ไม่ปรากฏว่าพวกเขาเป็นใคร ชนชั้นใด มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจใดๆ การควบคุมความคิดขนาดเบ็ดเสร็จก่อผลดีต่อผู้มีอำนาจอย่างไร การขบถก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างไร? ไม่มีคำตอบทั้งสิ้น

อำนาจใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่ใช่เครื่องมือหาผล ประโยชน์ใส่ตัวของผู้มีอำนาจ อำนาจไม่ใช่เครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่สูงส่ง แต่อำนาจกลับเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง เพราะอำนาจเป็นพลังปัจจัยจำเป็นของสังคม เพื่อควบคุมรักษาระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม คำถามทางรัฐศาสตร์ตามปกติได้แก่ อำนาจของใคร ได้มาอย่างไร ทำอะไร เพื่อจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหนึ่งๆ แต่ออร์เวลล์กลับไม่สนใจว่าอำนาจเป็นของใคร กลับถือว่าอำนาจเป็นนายบงการคน อำนาจเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง คนเป็นแค่เครื่องมือให้อำนาจบรรลุความสำเร็จ ความคิดทำนองนี้คล้ายกับนักคิดสมัยหลังๆ บางคนที่เห็นว่า สังคมสมัยใหม่คือเครือข่ายของอำนาจสารพัดที่ก่อรูปก่อร่างเป็นสถาบันเพื่อต่ออายุความอยู่รอดของตัวอำนาจเอง มนุษย์มักคิดว่าตนมีอำนาจ เป็นเจ้าของอำนาจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มนุษย์มักทำได้แค่สนองความต้องการของอำนาจ เพื่อผลิตและค้ำจุนอำนาจให้ดำรงอยู่

อำนาจแบบ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไหนกัน เพื่อให้อำนาจดำรงอยู่ได้? คำตอบคือ ต้องการสังคมที่เป็นองค์รวมของหน่วยต่างๆ สมาชิกทุกคนประกอบกันเข้าอย่างสอดคล้องเป็นเอกภาพ ทุกส่วนเข้ารูปเข้รอยเป็นองค์รวมที่ทุกๆ คนต้องเคารพและขึ้นต่อ ปัจเจกบุคคลต้องขึ้นต่อส่วนรวมอย่างเด็ดขาด ไม่ละเมิดส่วนรวมด้วยการกระทำใดๆ ตามปัจเจกภาพของตนซึ่งจะทำลายความสอดคล้องต้องกันของทุกๆ ส่วนในองค์รวมของสังคม สังคม หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ จึงต้องการสมาชิกที่ปราศจากปัจเจกภาพ (individuality) หรือมีอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ก่อให้เกิดการแตกแถว บุคคลเป็นแค่อวัยวะชิ้นเล็กๆ ซึ่งมีตำแหน่งแห่งที่ และมีหน้าที่ชัดเจนเพื่อ ให้องคาพยพของสังคมดำเนินไปได้ การพัฒนายกระดับปัจเจกภาพของบุคคลจึงไม่สำคัญเท่าการรู้จักตำแหน่งแห่งที่ และหน้าที่ของตนในความสัมพันธ์กับคนอื่นและในองค์รวม สังคมไม่ต้องการปัจเจกบุคคล ไม่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง แต่ต้องการสมาชิกที่เป็นแค่อวัยวะขององค์รวม หรือเป็นเฟืองตัวเล็กๆ ของจักรกลมหึมา ปัจเจกภาพของบุคคลอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสังคมแบบนี้

ความรักของจูเลียและวินสตันพัฒนาขึ้นมาจากปัจเจกภาพของแต่ละคน เป็นความรักที่ส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง จึงส่งเสริมวิญญาณขบถ อำนาจจึงยอมไม่ได้

ออร์เวลล์สร้างภาพสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ให้เป็นสังคมที่เรียกร้องการขึ้นต่อองค์รวมแบบสัมบูรณ์ สังคมฟาสซิสต์และเผด็จการรูปแบบอื่นๆ ทั้งซ้ายขวา มักเน้นระเบียบสังคมในแนวนี้ทั้งนั้น (แต่คงไม่มีที่ไหนต้องการความสมบูรณ์ขนาดในนิยายเรื่องนี้) สังคมที่เป็นจารีตประเพณีมักเน้นระเบียบสังคมในแนวนี้เช่นกัน เพราะจารีตประเพณีเน้นความสอดคล้องต้องกันของจักรเฟืองแต่ละชิ้น สังคมเหล่านี้ลดความสำคัญหรือบั่นทอนปัจเจกภาพความเป็นตัวของตัวเอง เรียกร้องการขึ้นต่อองค์รวมอย่างสัมบูรณ์ จึงถือเป็นปัจเจกภาพ เป็นอาชญากรรม

ในความเป็นจริงสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกล้วนแล้วแต่มีทั้งด้านที่เรียกร้องการขึ้นต่อส่วนรวม เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือให้ความสำคัญกับคุณความดีของส่วนรวม (collective good) กับด้านที่ให้เสรีภาพ โอกาสทางเลือก ที่ปัจเจกภาพของบุคคลมีโอกาสเติบโตเป็นตัวของตัวเอง มนุษย์แทบทุกคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาให้มีคุณสมบัติทั้งสองด้านในแต่ละบุคคล แต่ละด้านมีคุณอนันต์ไปคนละแบบ และหากมีมากไปก็ก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกันทั้งต่อสังคมและ ต่อบุคคลนั้นๆ เอง ทั้งสองด้านไม่มีทางหนีกันพ้น แต่ทั้งสองด้านมักไม่ประสานลงรอยกัน หรือคงไม่มีใครบอกได้ว่าทางสายกลางระหว่างทั้งสองด้านอยู่ตรงไหน

ปัจเจกภาพจึงสามารถเป็นอันตรายต่อสังคมที่เรียกร้องการขึ้นต่อองค์รวม กลายเป็นความไม่สามัคคี ก่อความแตกแยก ละเมิดประเพณีศีลธรรมอันดีงาม ไม่กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่วางขนบธรรมเนียมมาเป็นเวลานาน เป็นต้น การเรียกร้องให้ขึ้นต่อองค์รวมจึงสามารถบั่นทอนทำลายปัจเจกภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง ทำลายความคิดสร้างสรรค์ จิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และวิญญาณขบถ

อะไรคือกุญแจของปัจเจกภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง? อะไรคือยาขนานเอกเพื่อขัดขวางต่อสู้อำนาจเผด็จการของสังคมที่เน้นองค์รวมและความจงรักภักดีของจักรเฟือง?

ตอบ การวิจารณ์ (criticism)

หากไม่มีการวิจารณ์และจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ย่อมไม่มี ทางพัฒนาปัจเจกภาพขึ้นมา เพราะไม่มีทางพัฒนาปัญญาที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ความรู้ข่าวสารที่มีมากมายล้นหลามในขณะนี้ โดยตัวมันเองไม่ใช่ทางออกสู่แสงสว่างทางปัญญา เพราะเปรียบเหมือนมีห้องสมุดขนาดใหญ่อยู่ในบ้าน แต่กลับไม่สามารถจัดการกับแหล่งความรู้ท่วมหัวดังกล่าวได้ เพราะไม่รู้จักการวิจารณ์เพื่อจำแนก หรือรู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลอย่างเหมาะสมและเป็นนายของข้อมูล ปัญหาของสังคมที่อุดมไปด้วยNewspeak, Minitru และการควบคุมบงการ ความคิดไม่ว่าจะโดยรัฐหรือโดยสาธารณชน ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร แต่อยู่ที่ขาดแคลนประชาชนที่มีคุณภาพ รู้จักวิจารณ์อย่างเป็นตัวของตัวเอง คุณภาพดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเพราะสังคมนั้นๆ กลัวปัจเจกภาพ กลัวการแตกแถว จึงกดปราบความเป็นตัวของตัวเอง แต่กลับเน้นความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เน้นการประสานกลมกลืนกับองค์รวมแทน

ออร์เวลล์ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ไม่ได้เน้นเรื่องการวิจารณ์แต่อย่างใด แต่เขาอาศัยความรักเป็นทางสู่ปัจเจกภาพ หรือความเป็นตัวของตัวเองของจูเลียและวินสตัน ความรักชนิดนี้จึงถูกจับตามองและต้องทำให้ยุติ

ในความเป็นจริง ปัจเจกภาพมีได้หลายลักษณะ หลายระดับ ไม่จำเป็นต้องเป็นขบถเสมอไป ปัจเจกบุคคลที่เป็นตัวของตัวเองและกล้าวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่เป็นอันตรายต่อองค์รวมก็มีเป็นปกติ โดยมากสามารถเป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจมากกว่าสมาชิกสังคมที่มีปราศจากปัจเจกภาพด้วยซ้ำไป โอไบรอันเป็นตัวแบบที่ดี ตัวอย่างในสังคมไทยก็มีมาก อาทิเช่น ปัญญาชนชั้นนำหลายๆ คนของสังคมไทยที่ได้รับการยอมรับนับถือกว้างขวาง หลายคนคงสามารถแสดงบทเป็นโอไบรอันได้ดีทีเดียว พวกเขาสามารถสะกดวิญญาณขบถจำนวนมากให้ยอมสยบอยู่ใต้บารมีของเขา กลายเป็นลูกน้องเขา เพื่อเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมตามสถานภาพเดิมๆ ให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างเป็นองค์รวม ปัญญาชนชั้นนำเหล่านี้ กล่อมเกลาพวกขบถอย่างที่โอไบรอันทำต่อวินสตัน ได้ผลกว่าจอ ทีวีของ Big Brother เป็นไหนๆ

แต่ปัจเจกบุคคลที่ขบถต่อองค์รวมก็ยังมีได้หลายแบบ จูเลียต่างจากวินสตันเพราะจูเลียไม่เชื่อไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตไปกว่าความขบถของตนเอง ส่วนวินสตันคิด การใหญ่กว่า เป็นอันตรายต่อสถานภาพเดิมขององค์รวมมากกว่า แต่ลงท้ายขบถที่คิดการใหญ่อย่างวินสตันมักต้องเผชิญทางเลือกที่ตัดสินใจยาก (dilemma) ระหว่างการมีชีวิตอยู่แต่ไม่มีวิญญาณขบถของปัจเจกภาพอีกต่อไป กับการรักษาปัจเจกภาพที่เป็นขบถต่อองค์รวม ทว่าอาจไม่มีชีวิตอยู่ หรือหากไม่ตายก็อาจไม่อยู่ร่วมกับใครในสังคมอีกต่อไป เขาเผชิญการทรมาน เผชิญกับสิ่งที่เขากลัวที่สุดซึ่งอยู่ลึกๆ ในใจของเขาเอง ไม่ใช่ความรุนแรงเจ็บปวดสาหัสสากรรจ์จนสุดแสนจะทนทาน แต่เป็นความกลัวที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ตนเองรักและหวงแหนที่สุด นั่นคือ ความเป็นตัวของตัวเองและคนที่เขารัก

ความพ่ายแพ้ของวินสตันไม่ใช่การขายพรรคหรือขายขบวนการปฏิวัติ

โอไบรอันไม่จำเป็นต้องทำให้วินสตันเชื่อในสิ่งที่วินสตันคงไม่ยอมเชื่อ เขาเพียงแต่ทำให้วินสตันยอมขายคนที่เขารัก ขายความรักอันเกิดจากปัจเจกภาพของเขาและจูเลีย เพียงแค่นี้ ไอโบรอันก็ปล่อยตัววินสตันออกไปได้


ธงชัย วินิจจะกูล


ตีพิมพ์ออนไลน์ : November 13, 2008

โดย : onopen.com

ที่มา : OnOpen : open secial : อำนาจกับการขบถ