วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กำเนิดปัญญาชนขบถในอังกฤษ : กลุ่มบลูมสเบอรี่


เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อนในประเทศอังกฤษได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า
The Glorious Revolution ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส (ค.ศ.๑๗๘๙) ประมาณ ๑๐๐ ปีคือในราวปี ค.ศ.๑๖๘๗ แม้ว่าในทางการเมืองจะไม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนัก แต่สิ่งสำคัญก็คือเหตุการณ์นั้นเปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามัญรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เพราะก่อนหน้านั้นคนธรรมดาสามัญจะรู้สึกว่าตัวไม่มีความสำคัญ จริงอยู่ในหมู่คนธรรมดาสามัญนั้นบางครั้งอาจปรากฏอัจฉริยะบุรุษขึ้นมา อย่างจอห์น มิลตัน และเชคสเปียร์ กรณีของเชคสเปียร์นี้ไม่รู้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์หรือเปล่า แต่จอห์น มิลตัน มีตัวตนอยู่จริงแน่ และก็มี ดรายเด็น ฯลฯ ทีนี้หลังจาก The Glorious Revolution แล้ว คนธรรมดาสามัญเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ นี่ประการที่ ๑

ประการที่ ๒ ในสังคมอังกฤษนั้น เขาถือว่าจำเพาะพวก ‘ผู้ดี’ เท่านั้นที่มีความหมาย นอกนั้นไม่มีความหมาย ‘ผู้ดี’ ในลำดับแรกหมายถึงเจ้า ซึ่งข้อนี้ไม่ได้แตกต่างจากสังคมไทย ลำดับถัดมาก็คือพวกขุนนาง ชนชั้นสูง ดังมีคำว่าปริ๊นส์ (prince) รอยัลแฟมิลี่ (royal family) รอยัลตี้ (royalty) กับโนบิลิตี้ (nobility) โดยที่รอยัลตี้กับโนบิลิตี้ไม่เหมือนกัน เพราะพวกรอยัลตี้เป็นพวกบลูบลัด (blueblood) เปรียบเทียบว่าเลือดของพวกนี้เมื่อเจาะออกมาจะเห็นเป็นสีน้ำเงิน ฝ่ายโนบิลิตี้นั้นเป็นพวกสืบสกุลเก่าแก่ ไม่น้อยหน้าพวกรอยัลตี้ ในประวัติศาสตร์ พวกนี้บางครั้งก็ลงให้กับรอยัลตี้ บางครั้งก็ไม่ยอม จำเพาะในประเทศอังกฤษ ทั้ง ๒ ฝ่ายได้ต่อสู้กันมาตั้งแต่สมัยแมกนาคาต้า (Magna Carta) เมื่อ ค.ศ.๑๒๑๕ ซึ่งพวกรอยัลตี้พ่ายแพ้แก่พวกโนบิลิตี้เป็นครั้งแรกและต่อมาก็เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง ๒ ชนชั้นนี้เท่านั้นเอง ชนชั้นอื่นยังไม่มีความหมาย เพิ่งจะมามีความหมายเอาภายหลังจาก The Glorious Revolution นี้เอง แต่ถึงอย่างนั้นแล้วชนชั้นอื่นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็น ‘ผู้ดี’ ที่เรียกว่าเยนเติลแมน (gentleman) โดยที่ขณะนั้นผู้หญิงยังไม่มีความหมาย จนต่อจากนั้นอีก ๑๐๐ ปีผู้หญิงถึงจะขึ้นมาสู้ เวลานั้นผู้หญิงเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ในโรงเรียนบางแห่ง ผู้หญิงก็แยกไปเรียนเล็กๆ น้อยๆ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สิทธิผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน ในตอนนั้น แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังไม่ได้ให้สิทธิอันนี้ นี่คือความเป็นมาของสังคมยุโรป และเป็นประเด็นที่ ๒ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ

ผู้ที่ปกครองบ้านปกครองเมืองนั้นเขาถือว่าเขาเป็นผู้ดี เป็น ‘อภิชน’ หรือชนชั้นสูง เป็นอริสโตเครซี่ (aristocracy) อริสแครต (aristocrat) และดังที่กล่าวไว้ว่าแต่เดิมผู้ดีหมายถึงรอยัลตี้กับโนบิลิตี้ เพราะฉะนั้นตราบจนปี ค.ศ. ๑๘๓๒ เฉพาะเฮาส์ออฟลอร์ด (House of Lords) เท่านั้นที่มีความหมาย เฮาส์ออฟลอร์ดหมายถึงพวกลอร์ด พวกเพียร์ (peers) และพวกโนบิลิตี้ซึ่งมีเจ้าอยู่ด้วย กับมีพระราชาคณะชั้นสูง ประกอบด้วยสังฆราชบาทหลวง (archbishop) และ ซีเนียร์บิชอป (senior bishops) เท่านั้น รวม ๒๔ รูป ซึ่งก็ถือว่าเป็นโนบิลิตี้ แม้ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิดแต่เป็นโดยการบวช ท่านเหล่านั้นอาจจะเป็นลูกคนยากคนจน แต่ว่าเป็นผู้ดีได้ก็เพราะศาสนจักรให้การรับรอง และสำหรับกรณีศาสนจักรอังกฤษนั้น ได้แยกออกจากกรุงโรมโดยเด็ดขาดมาเป็นศาสนจักรต่างหากออกไป แต่ว่ายังเป็นคาทอลิกซึ่งไม่ใช่โรมันคาทอลิก ต้องเข้าใจพื้นภูมิอันนี้เสียก่อน

สิ่งที่เราจะมาพูดกันคือเรื่องกลุ่มบลูมสเบอรี่ อันเป็นการถือกำเนิดขึ้นของสิ่งใหม่ในอังกฤษ เลสลี่ สตีเฟน (Sir Leslie Stephen, ค.ศ. ๑๘๓๒-๑๙๐๔) ซึ่งเป็นคนสำคัญ เขาถือว่าเป็นคนในกลุ่มอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ (Intellectual aristorcracy) พวกนี้เป็นชนชั้นใหม่ เป็นผู้สร้างชนชั้นใหม่ขึ้น เพราะชนชั้นเก่านั้นคุณจะเป็นรอยัลตี้ได้ก็ต่อเมื่อคุณสืบสายสกุลเจ้ามาตลอด อย่างน้อยคุณต้องถอยหลังไปถึงวิลเลี่ยม เดอะ คองเกอเร่อ (William the Conqueror, ค.ศ. ๑๐๒๘-๘๗) พวกโนบิลิตี้ก็เหมือนกันคือต้องถอยไปถึงวิลเลี่ยม เดอะ คองเกอเร่อ ที่ฝรั่งเศสมาตีอังกฤษได้ และเป็นครั้งแรกที่ตั้งขุนนางอังกฤษ ให้มีการสืบสกุล มีดุ๊ก มาร์ควิส เอิร์ล ไวส์ เคานท์ จนถึงบารอน แต่พวกอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ถือว่าไม่จำเป็นจะต้องสืบสกุล แต่ในความเป็นจริงก็สืบสกุลพอสมควร อย่างน้อยก็ ๒-๓ ชั่วคน ว่าดำรงชีวิตโดยอาศัยวิชาความรู้ ความประพฤติปฏิบัติ สนใจปัญหาบ้านเมือง และปัญหาศิลปวัฒนธรรม พวกนี้ไม่รู้สึกด้อยกว่าพวกเจ้าหรือพวกขุนนางชั้นสูง เพราะเขาถือว่าเขาเป็นอริสโตแครตเหมือนกัน ถึงแม้จะจนกว่า ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมา แต่ในทางเศรษฐกิจแล้วก็ไม่รู้สึกว่าต้องดิ้นรน อาจจะไม่ร่ำรวย ต้องกระเหม็ดกระแหม่ แต่ก็อยู่ได้ ภาระหลักในชีวิตไม่ใช่การวิ่งหาเงิน หากคือการดำรงชีวิตเพื่อแสดงจุดยืนทางสติปัญญา ห่วงใยสังคม พวกนี้ต่อสู้เพื่อให้มีการเลิกทาส และเรียกร้องความเสมอภาค ฯลฯ เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง และที่อังกฤษเด่นกว่าประเทศอื่นเพราะมีคนพวกนี้ขึ้นมา และพวกนี้ลึกๆ ออกจะดูถูกพวกโนบิลิตี้ว่าไม่มีอะไรดี ดีแต่สืบสกุลมา คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาเท่านั้นเอง

ประเด็นที่ผมจะพูดคือเมืองไทย ถ้าเกิดอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ขึ้นมาเมื่อไร ก็จะต้องเห็นว่าพวกชนชั้นสูงโง่ แต่ประเด็นของเมืองไทยนี้จะผิดแผกแตกต่างกัน เพราะเมืองไทยนั้นเจ้าเพิ่งจะแสดงบทเด่น ว่าฉลาดกว่าขุนนาง และฉลาดกว่าไพร่บ้านพลเมือง เมื่อรัชกาลที่ ๔ นี้เอง ก่อนหน้านั้นพวกขุนนางเขาถือตัวว่าเฉลียวฉลาดกว่าพวกเจ้า พวกบุนนาคเขาถือว่าฉลาดกว่าพวกราชวงศ์ เป็นที่ยอมรับกันเลย ตราบจนกระทั่งรัชกาลที่ ๔ มาถึงรัชกาลที่ ๕ เจ้าชักถือตัวว่าเก่งกว่าขุนนาง พอถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงยกย่องขุนนางมากกว่าเจ้า รัชกาลที่ ๗ กลับมายกย่องเจ้า แต่เจ้าเริ่มเสื่อมลงแล้ว

ถ้าจะเกิดมีอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ขึ้นมาได้ จะต้องสั่งสมมานานพอสมควร และที่สำคัญมาเกิดบลูมสเบอรี่ได้ คนสำคัญก็คือเลสลี่ สตีเฟน โดยก่อนจะเกิดเลสลี่ สตีเฟน พวกอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่สกุล และพวกเหล่านี้ก็ได้กันเอง สัมพันธ์กันเอง ต้องเข้าใจอันนี้ เหมือนกับพวกเจ้านายนี่แหละ สัมพันธ์กันเอง พวกโนบิลิตี้ก็สัมพันธ์กันเอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อย่างควีนวิคตอเรียท่านเอาพวกเจ้าทั้งหมดมาได้กัน ลูกท่านไปเป็นเอมเปอเรอที่เยอรมัน อีกคนไปเป็นเอมเปอเรอที่รัสเซีย ไปเป็นควีนที่เดนมาร์ก พวกเจ้าได้กันในแวดวงกันเอง แล้วก็จะเหนียวแน่น คบหากันแต่เจ้า รัชกาลที่ ๕ ท่านเสด็จไปยุโรป มีพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ท่านคบกับพวกเจ้าเหล่านี้ เมื่อกลับมาท่านก็รู้สึกว่าท่านเก่งมากที่คบกับชนชั้นสูงในยุโรป แต่ท่านคงไม่ทรงทราบว่ากลุ่มรอยัลตี้ หรือ บลูบลัด อริสโตเครซี่ นั้น ในยุโรปเขาถือว่าพวกนี้เป็นพวกโง่หรือหมดดีเสียแล้ว และก็เพราะเหตุที่พวกนี้โง่ พวกนักการเมืองเขาจึงให้พวกนี้ปกครองอยู่ได้ ถ้าโง่แล้วอวดเก่งเขาก็ถอดออกไปหมด ที่ฝรั่งเศสเอาออกไป เยอรมันเอาออกไป พวกที่โง่แล้วยอมก็อยู่ได้ ในเดนมาร์กอยู่ได้ สวีเดน นอรเวย์ ฮอลแลนด์ อังกฤษ อยู่ได้ เพราะพวกนี้โง่แล้วยอมรับว่าตัวเองโง่ และก็ให้มีอำนาจวาสนาพอสมควร ต้องเข้าใจอันนี้ แต่รัชกาลที่ ๕ ท่านอาจไม่เข้าใจเรื่องนี้ ท่านนึกว่าท่านได้ไปคบกับคนชั้นเลิศประเสริฐมา ถูกต้อง เลิศประเสริฐในฐานะที่เป็นฐานันดร แต่ไม่ได้เลิศประเสริฐในทางสติปัญญา รัชกาลที่ ๕ เสด็จยุโรป ๒ ครั้ง ไม่ได้ไปพบกับคนที่มีสติปัญญาชั้นนำในยุโรปเลย สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้พูดกัน

พวกโนบิลิตี้เขากว้างขว้างกว่าเจ้า เขาถือว่าเขามีสติปัญญามากกว่าพวกเจ้า เพราะเขาได้ปกครองบ้านปกครองเมือง โดยเฉพาะนับตั้งแต่ The Glorious Revolution เป็นต้นมา พวกนี้แบ่งออกเป็น ๒ ค่าย คือพวกวิคกับพวกทอรี่ พวกทอรี่เป็นพวกหัวโบราณอนุรักษ์นิยม พวกวิคเป็นพวกเสรีนิยม แต่ก็ได้โต้เถียงกันมา และก็เช่นเดียวกัน พวกขุนนางเหล่านี้ก็สืบสกุล ก็ได้กันเอง และที่สำคัญคือพวกนี้ก็เป็นชู้กันวุ่นวายอยู่ในพวกเขาเอง ผมอ่านชีวประวัติพวกนี้ มีความพิศดารอยู่ตรงนี้มากสำหรับพวกเจ้านี้เขาจะนับถือศาสนาหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่โดยรูปแบบเขายังแสดงท่าทีว่านับถืออยู่ ลึกๆ อาจจะไม่นับถือก็ได้ คนสุดท้ายที่มีทีท่าว่าไม่นับถือ จนต้องปลดออกจากการเป็นพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าเอ็ดเวิดที่ ๘ (Edward VIII, ค.ศ.๑๘๙๔–๑๙๗๒) ไปรักกับนางซิมสัน (Wallis Warfield Simpson) ซึ่งมีสามีมาแล้วแต่หย่า คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นคาทอลิกเหมือนกัน ถือว่าหย่าไม่ได้ เพราะมนุษย์แต่งงานกันโดยพระผู้เป็นเจ้าแต่งให้ ไม่ใช่เป็นการแต่งกันเอง จะเลิกกันได้ด้วยพระผู้เป็นเจ้าทรงแยก คือฝ่ายหนึ่งตาย หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีกลไกพิเศษ ในกรณีนางซิมสันแกหย่าสามีมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะมาแต่งงานด้วยได้อย่างไร เพราะนอกจากจะเป็นอเมริกัน เป็นไพร่ ไม่มีสกุลรุนชาติแล้ว ยังมีสามีมาแล้วอีกด้วย นายบอลวินด์ (Stanley Baldwin, ค.ศ.๑๘๖๗–๑๙๔๗) ซึ่งอยู่ฝ่ายโนบิลิตี้ บอกว่าไม่มีทางเลือก ต้องปลดพระเจ้าแผ่นดินจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องถือรูปแบบของศาสนา

แต่ทำไมอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ที่เกิดขึ้นถึงมีความสำคัญนัก ก็เพราะว่าพวกนี้เริ่มปฏิเสธศาสนา ข้อเด่นของขบวนการอินเตลเลคช่วลทั้งหมดคือปฏิเสธศาสนา โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส วอลแตร์ รุสโซ ฯลฯ เกลียดศาสนจักร ผมบอกแล้วว่าพวกนี้เหมือนกับรอยัลตี้ ตรงที่สมพงษ์กันอยู่ในสกุลในแวดวงของชนชั้นตน ทำไม ที่จริงก็ไม่แปลกประหลาดอะไร เพราะยุคนั้นคนที่มีความรู้มีน้อย คนเรียนมหาวิทยาลัยมีน้อย แล้วก็จะคบหาสมาคมกันอยู่ในชนชั้นของตัวเอง คนนี้ไปรู้จักน้องสาวคนนั้น น้องสาวคนนี้รู้จักเพื่อนพี่คนนี้ ก็ได้กันเอง สืบสกุลกันอยู่แถวนี้ แต่บางคนก็ไปค้าขาย ไปเป็นนายแบงค์ ไปเป็นทหาร หรือไปบวช จำเพาะพวกที่สนใจในทางวิชาการ หรือสนใจในทางสติปัญญาเท่านั้น ที่มาเป็นอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ แล้วพวกนี้จะมีงานเขียนปรากฏออกมาตลอด อย่างเช่น แมคคอเล่ย์ (Macaulay) ซึ่งได้ไปจัดการปฏิรูปการศึกษาที่ประเทศอินเดีย แล้วเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ต่อมาก็มีลูกหลานเป็นนักประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะใช้สกุลอื่น แต่ก็เป็นลูกหลานกันนั่นเอง สืบสายกันได้หมด จนกระทั่งถึงเวลานี้ ตั้ง ๓-๕ ชั่วคน

กลับมาถึงเลสลี่ สตีเฟน ที่ว่าทำไมจึงมีความสำคัญ เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เวลานั้นที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด-เคมบริดจ์นั้น ครูอาจารย์ต้องเป็นบาทหลวงเท่านั้น กลับไปเหมือนสมัยกลางเลย บาทหลวงนิกายอังกฤษมีเมียได้ แต่สำหรับบาทหลวงที่มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีเมียไม่ได้ เพราะถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นตัวอาราม (monastery) คอลเลจ (college) ก็คือคณะในวัด เพราะอาจารย์เป็นเฟลโลว์ เป็นบาทหลวง นักเรียนทั้งหมดต้องเป็นแองกลิกัน ต้องถือนิกายอังกฤษ แต่ถ้าเป็นนักเรียนไทยจะยอมให้เป็นพิเศษ เพราะว่าพวกนี้เป็นคนนอก ซึ่งแต่ก่อนก็มีเฉพาะนักเรียนไทยเท่านั้น เพราะว่าเขาจะเอาใจเจ้านายชั้นสูงและลูกขุนนางชั้นสูงเพื่อให้ไปเรียนออกซ์ฟอร์ด-เคมบริดจ์

เลสลี่ สตีเฟน เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี เป็นเฟลโลว์ที่เคมบริดจ์ บอกว่าตนเองไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้า (lost faith) ซึ่งก็ไม่เป็นการแปลกประหลาดอะไร เพราะศตวรรษที่ ๑๙ ผู้คนเริ่มสนใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้นขัดกับเทวศาสตร์แล้ว คนเป็นอันมาก รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็ไม่เชื่อแต่ก็เงียบไว้

ก่อนหน้านี้ก็มีโจเอต ซึ่งเป็นคนสำคัญมาก เพราะเป็นคนแรกที่แปลงานของเพลโตทั้งหมด ที่แปลทั้งหมดเพราะเขาเริ่มคลางแคลงใจในพระเจ้า แกเขียนออกมาเป็นบทความ ถูกโจมตียับเยิน ก็เลยละทิ้งเทวศาสตร์มาศึกษาปรัชญาของเพลโตอย่างเดียว แล้วโจเอตนี้เขาถือว่าเป็นคนสำคัญที่สุดของออกซ์ฟอร์ด เป็นมาสเตอร์ของเบลเลี่ยม (Balliol) แล้วเขาถือกันว่าลูกศิษย์เบลเลี่ยลจะได้ไปปกครองทั้งโลก สมัยก่อนเจ้าเมืองพม่ามักไปจากเบลเลี่ยล พระองค์วรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ก็จบเบลเลี่ยล เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์วรรณได้เป็นประธานสมัชชาแห่งองค์การสหประชาชาติ เบลเลี่ยลเสนอให้ออกซ์ฟอร์ดถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในฐานะที่สืบประเพณีเบลเลี่ยลที่ได้ปกครองทั้งโลก

อาจารย์หลายคนถึงไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็เฉยอยู่ แต่เลสลี่ สตีเฟน บอกว่าไม่ได้ เมื่อเขาไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้าแล้วก็ไม่สามารถเป็นอาจารย์ที่เคมบริดจ์ต่อไปได้ จึงลาออก คือสึก เป็นคนแรกที่สึกจากพระ ลาออกจากการเป็นอาจารย์ ตอนนั้นอายุเพียง ๓๐ ไปอยู่ลอนดอน เริ่มหากินทางการเขียนหนังสือ อินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ในกรณีของเลสลี่ สตีเฟน เขาบอกว่าจริยธรรมไม่จำเป็นต้องได้มาโดยการนับถือศาสนา เขาสามารถเป็นคนดี เป็นผู้ดี หรือเป็นเยนเติ้ลแมน (gentleman) ได้โดยไม่ต้องนับถือศาสนา คำนี้สำคัญมากสำหรับคนอังกฤษ เพราะถ้าไม่ใช่เยนเติ้ลแมนแล้ว คุณก็เป็นขี้ข้า เยนเติ้ลแมนนี้เขาถือว่าเขาเท่ากับเจ้า เท่ากับพวกขุนนาง เพราะฉะนั้นในสภาสามัญ (House of Commons) จึงเรียกเยนเติ้ลแมน

สิ่งซึ่งเลสลี่ สตีเฟน ทำ ที่ถือว่าสำคัญที่สุดมีอยู่ ๒ เรื่องคือ ๑.เป็นคนแรกที่เริ่มวิจารณ์หนังสืออย่างจริงจัง ซึ่งแต่ก่อนไม่มี เลสลี่ สตีเฟน เป็นบรรณาธิการนิตยสารคนแรก ที่เริ่มวิจารณ์หนังสือจนเกิดเป็นประเพณีแห่งการวิจารณ์หนังสืออย่างจริงจัง สิ่งสำคัญอย่างที่ ๒ คือเขาเป็นนักอ่านประวัติและเขียนประวัติ เรื่องการเขียนประวัติคน เขาถือว่าจะต้องหาข้อมูลทั้งหมด แต่จะเขียนเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ไม่เขียนทั้งหมด และสิ่งที่เขียนนั้นคนอ่านจะต้องจับใจความได้ จับประเด็นได้ และต้องอ่านให้เป็น นี้เป็นบทเรียนที่ผมได้จากเลสลี่ สตีเฟน การเขียนประวัติคน คนที่เราเขียนต้องเป็นมนุษย์ มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งแต่ต้องให้มีความสมดุล และเลสลี่ สตีเฟน เป็นคนแรกที่ทำ

Dictionary of National Biography

ซึ่งพิมพ์จนกระทั่งบัดนี้ ๕๐ เล่มแล้วกระมัง และถือว่าประสบความสำเร็จมาก เป็นการเก็บประวัติคนอังกฤษที่มีส่วนสำคัญต่อบ้านเมืองในแง่มุมต่างๆ เท่าที่จะหาได้ และมีคนสำคัญในกลุ่มบลูมสเบอร์รี่ทำกันต่อมา ของไทยเรายังไม่เคยทำเลย อันที่จริงเมืองจีนเขามีมาก่อน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ประวัติบุคคล ประวัติพระ ฯลฯ แต่เขาเขียนแต่ด้านดี ด้านไม่ดีไม่เขียน

คนสำคัญอีกคนที่ไม่ได้สืบเชื้อสายของเลสลี สตีเฟน โดยตรง แต่อยู่ในกลุ่มบลูมสเบอรี่ และเขียนประวัติอย่างชนิดที่แหวกแนวมากคือ ลิตตัน สเตรซี่ (Lytton Strachey, ค.ศ.๑๘๘๐-๑๙๓๒) ซึ่งเขียนประวัติควีนวิคตอเรีย แต่ก่อนเวลาคุณเขียนเรื่อง King หรือ Queen จะเป็นคนวิเศษหมด เหมือนเมืองไทยนั่นแหละ แต่ลิตตัน สเตรซี่ เขียนเลยว่า ควีนวิคตอเรียมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง แล้วสงสัยว่าจะเป็นชู้กับแขกมหาดเล็กด้วย ต่อมาจึงเขียนถึงประวัติคนอื่นๆ ในรัชสมัยนั้น ในหนังสือชื่อ Eminent Victorians เอาประวัติบุคคลร่วมสมัยกับควีนวิคตอเรียที่สำคัญๆ มาเขียน เขาสงสัยว่าระหว่างที่เป็นหม้ายอยู่ตั้งกี่ปี อยู่ได้อย่างไร อะไรทำนองนี้ แล้วที่ท่านโปรดเอาแขกคนหนึ่งมาเป็นมหาดเล็กประจำนั้น อันนี้จะเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ เอานายคนังซึ่งเป็นเงาะซาไกมาเป็นมหาดเล็กประจำหรือเปล่า ควีนวิคตอเรียเอาแขกมา ท่านก็เอาเงาะมา วิธีของเจ้าอาจเอาอย่างกัน เห็นไหม แล้วก็มีคาร์ดินัลซึ่งเป็นราชาคณะชั้นสูง หากมีความกะล่อนอย่างไรบ้าง คาร์ดินัลคนนี้ชื่อ แมนนิ่ง ซึ่งคานธียกย่องมาก และเป็นคนมีชื่อเสียงมาก แต่แกงัดข้อกับคาร์ดินัลนิวแมน และหาทางกดขี่ข่มเหงท่านผู้นั้นทางสมณศักดิ์ ฯลฯ นี่เป็นเรื่องซึ่งแปลกมากในสมัยนั้น เพราะตราบจนเวลานั้นถือว่าเวลาเขียนประวัติคนชั้นสูง ชนชั้นผู้ดีแล้วถือว่าจะไม่เอาเบื้องหลังมาเปิดเผย เขียนเฉพาะเบื้องหน้า แต่ลิตตัน สเตรซี่ เขียนเป็นคนแรกเลย และก็เขียนถึงควีนอลิซาเบทแอนด์เอสเส็ค ว่าที่จริงควรจะเรียกว่าควีนอลิซาเบทแอนด์เซ็กส์ เอสเส็คเป็นนายทหารคนสำคัญ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้างทางชู้สาวกับพระราชินี นี่มันแหวกแนว

กล่าวโดยปฐมฐานก็คือว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มซึ่งเกิดสิ่งที่เรียกว่าอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ พวกนี้จะไม่รู้สึกว่าน้อยหน้าใคร เขามีจรรยาบรรณ มีจริยธรรมของเขาเอง เขาสนใจปัญหาของบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นต้องมีอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งสำคัญมากนะครับ ผิดกับพวกโนบิลิตี้ซึ่งต้องการเข้าไปมีอำนาจในบ้านเมือง อินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจและบางครั้งที่คนในกลุ่มเข้าไปมีอำนาจในบ้านเมือง ก็ถูกคนอื่นในกลุ่มเล่นงานด้วย

จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes, ค.ศ.๑๘๘๓–๑๙๔๖) อยู่ในกลุ่มนี้ เป็นอาจารย์ที่เคมบริดจ์ และเป็นนักเศรษศาสตร์หมายเลขหนึ่ง มีชื่อเสียงทั่วโลก เมื่อเคนส์เข้าไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาล พวกนี้โจมตีมากเลยว่าเข้าไปทำไม เราเป็นอินเตลเลคช่วล ควรจะคอยเฝ้าดูรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ โจมตีและคอยแนะแนวทางอยู่ข้างนอก เพราะพวกที่ปกครองบ้านเมืองนี่เป็นพวกเสมียน ไม่ใช่พวกอริสโตแครต นี่เป็นความรู้สึกพื้นฐานของพวกนี้ ในแง่หนึ่งเป็นแบบอังกฤษแท้เลย อัตตาพวกนี้แรงมาก เวอร์ยิเนีย วูลฟ์ (ลูกสาวเลสลี่ สตีเฟน) เวลาไปปาฐกถา แล้วทำท่าจะประหม่าคนฟังจำนวนมากๆ เธอจะบอกกับตัวเองว่า ฉันเป็นคนอังกฤษ ฉันเป็นคนมีสติปัญญา ฉันรู้ดีกว่าคนอื่นหมด พวกคนฟังโง่ทั้งนั้น ฉันจะไปประหม่าทำไม แล้วก็ออกไปปาฐกถา พวกนี้จะมีอัตตาแรง เห็นคนอื่นโง่หมด ยิ่งกว่านั้นพวกเขาก็ไม่ไว้ใจกัน ต่างคนต่างเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งโง่ มีหนังสือที่พูดถึงบลูมสเบอรี่ ชื่อ House of Lions บ้านที่เต็มไปด้วยสิงโต และเวอร์ยิเนีย ก็พูดว่าพวกเขาคือสิงโต สิงโตคำรามนี่ควรจะกลัว แต่สิงโตจะไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน กัดกันเองเกือบตลอดเวลา อังกฤษดีตรงนี้ ความน่ารักของอังกฤษคือ กัดกันเองเกือบตลอดเวลา อย่างเลสลี่ สตีเฟน มีลูกสาวอยู่ ๒ คน ชื่อวาเนสสา กับเวอร์ยิเนีย สวยและเก่งทั้งคู่ พวกเธอไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเป็นทางการ แต่รับการศึกษาในบ้านแบบโบราณ สองคนนี้ไม่ถูกกันแต่ก็รักกัน โดยที่เมื่อเป็นเป็นอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ แล้ว เขาจะเปิดเผยหมดทุกอย่าง เพราะถือว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ในกรณีของเวอร์ยิเนีย ภายหลังมาเป็นเลสเบี้ยน ชอบนอนกับผู้หญิงด้วยกันเอง เรื่องนี้เธอเขียนลงไดอารี่เล่าไว้ เวอร์ยิเนียก็เป็นนักเขียนที่มีชื่อมากในทางแต่งหนังสือ ภายหลังพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง สามีก็พยายามช่วยไว้ แต่ผลที่สุดก็ฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เพราะปัญหาเรื่องโรคประสาทด้วย

เลสลี่ สตีเฟน เมื่อลาออกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้ว ก็ไปเช่าบ้านอยู่ในลอนดอน ทีแรกก็อยู่นอกบลูมสเบอรี่ บลูมสเบอรี่คือตำบลเล็กๆ ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยลอนดอนในเวลานี้ ช่วงปลายชีวิตจึงมาเช่าบ้านอยู่แถบนั้น จนกระทั่งตายที่นั่น เลสลี่ มีลูก ๔ คน ลูกชาย ๒ ลูกสาว ๒ คือวาเนสสา (Vanessa) กับเวอร์ยิเนีย (Virginia) ลูกชายชื่อเอเดรียน (Adirian) กับโทบี้ (Toby) โทบี้เป็นคนที่ฉลาดที่สุด แต่ตายเมื่ออายุ ๒๔ ปีเท่านั้น โทบี้มีเพื่อนที่เคมบริดจ์ คือทอม วูล์ฟ (Thomas Woolf) มาแต่งงานกับเวอร์ยิเนีย อีกคนหนึ่งคือไคลฟ์ เบลล์ (Clive Bell, ค.ศ.๑๘๘๑–๑๙๖๔) ก็มาแต่งงานกับวาเนสสา แล้วบุคคลทั้งหมดนี้ก็เล่าเรื่อง เปิดเผยตัวของเขาเอง วาเนสสามีชู้กับใครบ้าง สามีของเธอไปมีชู้กับใครบ้าง แล้วที่สำคัญก็คือลูกๆ เขียนหนังสือออกมาเปิดเผยมากกว่านั้นอีก เพราะเอกสารหลักฐานทั้งหมด ลูกเป็นคนเก็บเอาไว้ เวลานี้ลูกก็ยังมีชีวิต เปิดเผยว่าแม่เขาเป็นชู้กับใครบ้าง พ่อเขาเป็นอย่างไรบ้าง พวกนี้เขาถือว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือสัจจะ ถ้าเป็นสัจจะแล้วไม่จำเป็นต้องปิดบัง ต้องเปิดเผยให้หมด ถ้าไม่เปิดเผยแสดงว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แม้ว่าเขาไม่นับถือพระเจ้า แต่ก็มีจริยธรรม กลุ่มนี้เขาถือหลักอันนี้

ผมพยายามจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษ เพราะถ้าไม่เข้าใจเรื่องอังกฤษ ฟังแล้วอาจซับซ้อนอยู่สักหน่อย

กลุ่มบลูมสเบอรรี่มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องทำเรื่องที่แหวกแนวเช่นนั้น เขาสนใจเรื่องนั้นเรื่องนี้เพราะอะไร เป็นเพราะจิตใต้สำนึกบางอย่างของชาวอังกฤษยุคนั้นใช่ไหม

สำหรับคนพวกนี้ เขาไม่ต้องการความมีหน้ามีตาเลย เพราะเขาถือว่าพวกที่ต้องการเรื่องหน้าตานั้นไม่แตกต่างไปจากพ่อค้า พ่อค้าต้องการสตางค์ หน้าตา ชื่อเสียง พวกนี้ไม่ต้องการ เพราะเพียงแค่คุณแต่งนวนิยายน้ำเน่าคุณก็มีชื่อเสียงแล้ว พวกนี้จะรังเกียจมาก พวกอริสโตเครซี่ ถือว่าเขาเป็นผู้ดีแปดสาแหรก ซึ่งไม่รับค่านิยมของพวกไพร่ เพราะไพร่นี้ชอบได้สตางค์ ชอบทำสนามกอล์ฟ ทำรสช. ไปสมัครผู้แทน ไปรับใช้รัฐบาล ฯลฯ แต่แน่นอนคุณจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ในสิ่งซึ่งคุณมีความสามารถ อย่างกรณีของเวอร์ยิเนีย วูล์ฟ หน้าที่ของเธอมีอย่างเดียวคือเขียนหนังสือที่ดีที่สุด จะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นบันทึกประจำวันของเธอจึงสำคัญที่สุด จดหมายตอบโต้ของเธอจึงสำคัญที่สุด เธอจะเขียนอย่างไพเราะเพราะพริ้ง กระทั่งบันทึกที่เขียนให้ตัวเองก็จะไพเราะเพราะพริ้ง และเปิดเผยทั้งหมด เห็นหรือยังครับ

พวกเขาถือว่าในฐานะที่เป็นผู้มีสติปัญญา ต้องใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุด เพื่อสิ่งที่ประเสริฐที่สุดตามความเข้าใจของพวกเขา ซึ่งไม่ใช่สตางค์ คนพวกนี้ไม่ได้ปฏิเสธสตางค์ แต่ชีวิตไม่ได้อยู่เพื่อสตางค์ พวกนี้ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจ แต่ชีวิตไม่ใช่อยู่เพื่อความมีอำนาจทางการเมือง เลสลี่ สตีเฟน ก่อนตายได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ เถียงกันในบ้านเลยว่าจะรับหรือไม่รับบรรดาศักดิ์นี้ พวกลูกๆ บอกว่าไม่ควรจะรับ เพราะว่าเลสลี่ทำ Dictionary of National Biography ซึ่งตอนนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของคนอังกฤษ รัฐบาลลอร์ดโรสเบอรี่บอกว่าเป็นสิ่งประเสริฐสุดในรัชกาลพระนางวิคตอเรีย แล้วเราไปรับบรรดาศักดิ์นี้ทำไม เป็นตราชั้นสองระดับปฐมาภรณ์ช้างเผือกเท่านั้นเอง แกบอกว่าเราไม่ต้องการ ไม่ยินดียินร้ายอะไร แต่ถ้าเขาให้แล้วเราก็ไม่ปฏิเสธ เหมือนกับเขาเอาขนมเค้กมาให้ เราจะปฏิเสธทำไม ถ้าเราไม่รับสิ พวกนั้นจะได้ว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็รับเสียเลย พวกนี้ถือว่าตำแหน่งพวกนี้ไม่มีความสำคัญอะไร


รากฐานทางความคิดสติปัญญาของคนกลุ่มนี้
เขาอ้างถึงล็อก เบนทัม เบิกหรือเปล่า

มีความเกี่ยวข้องกัน โยงใยกัน เช่น มิลล์ (John Stuart Mill, ค.ศ.๑๘๐๖–๑๘๗๓) เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางครอบครัว แต่กลุ่มนี้ไม่สนใจคนพวกนั้นเท่าไหร่ อิทธิพลของกลุ่มบลูมสเบอรี่จะมาทางสายวรรณคดี ไม่ใช่ทางสายปรัชญา คนอังกฤษทั่วๆ ไปเขาไม่ถือว่าปรัชญาเป็นเรื่องสำคัญเท่าไหร่ ผิดกับคนฝรั่งเศสและเยอรมันซึ่งถือว่าปรัชญาเป็นเรื่องสำคัญ อังกฤษถือว่าวรรณคดีสำคัญ พวกนี้จึงกลับไปหาดรายเด็น หามิลตัน และพวกนี้พูดในแง่หนึ่ง ถ้าใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษก็คือพวกนี้เป็น snob เป็นผู้ซึ่งมักดูถูกคนอื่น และเป็นพวกที่มักจะดัดจริตโดยไม่รู้ตัว พวกนี้จะทนนักเขียนรุ่นใหม่ที่ไม่มีกำพืดไม่ได้เลย อย่าง ดี.เอช.ลอเรนซ์ (D.H.Lawrence, ค.ศ.๑๘๘๕-๑๙๓๐) พวกนี้รับไม่ได้ เช่นเดียวกัน ดี.เอช.ลอเรนซ์ ก็รับพวกนี้ไม่ได้ เพราะสำหรับพวกนี้ ดี.เอช.ลอเรนซ์ เป็นคนไม่มีกำพืด เรื่อง Lady Chatterley ’s Lover คนกลุ่มนี้จะไม่อ่าน เพราะถือว่าเป็น pornography พวกนี้จะดูถูก แล้วมันเป็นไปไม่ได้สำหรับคนพวกนี้ที่คนเฝ้าสวนจะไปเป็นชู้กับคุณหญิง พวกนี้ถือว่าเป็น bad taste รสนิยมต่ำ เขาไม่ได้ปฏิเสธนะว่าไม่จริง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเอามาเขียน อย่างชีวประวัติที่เลสลี่ สตีเฟน เขียน เขาจะบอกเลยว่าพวกนี้เคยมีชู้ แต่จะไม่เล่าเป็นบทอัศจรรย์ จะไม่มีเด็ดขาด แต่ดี.เอช.ลอเรนซ์ จะพรรณนาเลย เปลือยกายอย่างไร นอนกันอย่างไร แต่สำหรับที.อี.ลอเรนซ์ (T.E.Lawrence, ค.ศ.๑๘๘๘-๑๙๓๕) กับกลุ่มนี้จะเข้ากันได้ เพราะเป็นคนซึ่งเขียนหนังสือแล้วต้องไพเราะที่สุด Seven Pillars of Wisdom เขียนเจ็ดหน ร่างเจ็ดหน หายไปเจ็ดหน ถือว่าเป็นหนังสือที่ไพเราะที่สุดเล่มหนึ่ง ถ้าใครไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ถือว่ายังไม่รู้ภาษาอังกฤษดี กลุ่มนี้ถือว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน เพราะที.อี.ลอเรนซ์ ทำในสิ่งที่พวกนี้ทำ เมื่อ ที.อี.ลอเรนซ์ (ภายหลังรู้จักกันในนาม Lawrence of Arabia) ไปอยู่อาหรับและช่วยอาหรับรบกับตุรกี เขาจะเกลียดอังกฤษ เพราะอังกฤษทรยศหลอกลวงอาหรับ สัญญาว่าจะเข้าข้างแล้วหักหลัง และที.อี.ลอเรนซ์ ไม่ต้องการมีชื่อเสียง เขาเปลี่ยนชื่อตลอดเวลา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ที.อี.ชอว์ เขาจะอ่านภาษากรีก แปลงานของโฮเมอร์ คือพวกอินเตลเลคช่วล อริสโตเครซี่ ถือว่าถ้าหากไม่รู้ภาษากรีก ละติน แล้วจะเป็นผู้ดีไม่ได้เป็นอันขาด อย่างดี.เอช.ลอเรนซ์ เป็นพวกอ่านออกเขียนได้เท่านั้นเอง ไม่มีความสำคัญอะไรเลย หมายความว่ากลุ่มนี้ถือตัวเป็นชนชั้น (class) อีกชนชั้นหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ในสังคมอังกฤษ เรื่องชนชั้นสำคัญมาก พวกนี้เป็นอีกชนชั้นหนึ่งแต่เป็นชนชั้นผู้ดี ซึ่งอาจจะไม่มีอิทธิพลมาก แต่พวกเขาก็เชื่อว่าอย่างน้อยอีก ๑๐๐ ร้อยปีข้างหน้าผลงานของเขาจะมีอิทธิพล และเมื่อมองเห็นอะไรผิดอะไรถูก คุณต้องกระทำตามสิ่งที่คุณเห็นและเชื่อว่าถูก เลสลี่ สตีเฟน จึงได้ลาออกจากการเป็นบาทหลวงเพราะเขาหมดความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับทอม วูล์ฟ สามีเวอร์ยิเนีย ไปเป็นข้าราชการอยู่ในลังกา พยายามให้ความยุติธรรม เมื่อพยายามถึงขนาดนั้นแล้วเห็นชัดว่าระบบของอังกฤษให้ความยุติธรรมไม่ได้ เพราะเขาเข้าข้างคนลังกา คนสิงหล กลับมาอังกฤษลาออกเลย ทอม วูล์ฟ ต่อมากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวรรดินิยม เป็นที่ปรึกษาด้านแรงงาน (Labour) ในเรื่องทำอย่างไรจึงจะทำลายจักรวรรดินิยมอังกฤษให้ได้ และพวกนี้ก็ทำลายได้สำเร็จ จักรวรรดิอังกฤษถูกทำลายด้วยคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งมาเกี่ยวโยงกับกลุ่มเฟเบียน (Fabian) มาเกี่ยวโยงกับพรรคสังคมนิยม

พวกนี้ถือว่าเป็นพวกอริสโตแครต เป็นพวกผู้ดี เขาจะถือว่าเขามีภาระหน้าที่มากกว่าคนอื่น เพราะภาระหน้าที่สำหรับคนธรรมดาคือหาเงิน ชื่อเสียง หน้าตา แต่สำหรับผู้ดีนั้น มีหน้าที่ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุด ถึงแม้คนอื่นๆ จะไม่รู้เรื่องเราก็ต้องทำ เราเขียนบทกลอนออกมาให้ดีที่สุด คนอื่นอ่านไม่รู้เรื่องก็เป็นความโง่ของคนอื่น ผู้ดีเขาถืออย่างนี้ ลอร์ดเมลเบิร์น (William Lamb Melbourne, 2d Viscount, ค.ศ.๑๗๗๙–๑๘๔๘) นายกรัฐมนตรีคนแรกในสมัยควีนวิคตอเรีย ที่ต่อมาเอาชื่อไปตั้งเป็นเมืองเมลเบิร์นที่ประเทศออสเตรเลีย ทุกเช้าแกจะแปลงานของโฮเมอร์จากภาษากรีกเป็นภาษาอังกฤษให้ภรรยาฟัง เสร็จแล้วก็จะฉีกทิ้ง เพราะเขาแปลเพื่อความสนุกของเขาเท่านั้นเอง เอาไว้อ่านให้ภรรยาฟัง เขาไม่ต้องการให้มหาชนรู้ แต่เป็นหน้าที่ของเขา อาจารย์ของผมก็เหมือนกัน ชื่อมิสเตอร์นิวท์ คนนี้มีอิทธิพลต่อผมมาก แกไม่เคยแต่งหนังสือเลยสักเล่มเดียว แกบอกหนังสือส่วนใหญ่พวกสวะเขียนแทบทั้งนั้น ตลอดชีวิตแกเลยไม่เขียน เป็นแต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่คนไม่รู้จัก

แนวคิดอย่างนี้คนไทยไม่ค่อยเข้าใจ ที่บ้านเมืองอยู่ได้จะต้องมีความคิดแบบนี้ แล้วพวกนี้ถือนักเรื่องอะไรเป็นความผิดความถูก คนพวกนี้จะต่อสู้หัวชนกำแพงเลย กลุ่มบลูมสเบอรี่คือพวกเหล่านี้ จะเล่นเรื่องอะไรแล้วเอาจริงเอาจัง อย่างไคล์ฟ เบลล์ สามีวาเนสสา เล่นเรื่องศิลปะ โรเจอร์ ฟราย (Roger Fry, ค.ศ.๑๘๖๖–๑๙๓๔) ก็เช่นเดียวกัน ฟรายเป็นเพื่อนของเบลล์ และเป็นครั้งแรกเลยที่คนๆ เดียวเป็นทั้งศิลปินและนักวิจารณ์ศิลป์ (artist & art critic) อังกฤษจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพราะในแง่หนึ่งก็บอกว่าไม่ได้แข่งกับใคร แต่อีกแง่หนึ่งก็แข่งกันเองโดยไม่รู้ตัวและแข่งกับตัวเองด้วย ทำไม ลิตตัน สเตรซี่ จึงต้องแต่งหนังสือ เหตุผลก็เพราะลิตตัน สเตรซี่ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่ได้ เพราะเคมบริดจ์ไม่ยอมรับ เขาเลยถือว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยนี้โง่ จึงออกมาเขียนหนังสือชนิดที่พวกอาจารย์มหาวิทยาลัยเขียนไม่ได้ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เขียนไม่ได้จริงๆ เห็นหรือยัง พวกนี้มีมานะ ทิฏฐิ ตัณหา แต่แตกต่างจากของบุคคลร่วมสมัยส่วนใหญ่ ต้องเข้าใจอันนี้ อริสโตแครตมีความบ้าเป็นพื้นฐาน พวกนี้คลั่ง ฆ่าตัวตาย เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของคนพวกนี้ เบอทรัน รัสเซล (Bertrand Russel, ค.ศ.๑๘๗๒–๑๙๗๐) ก็เกือบฆ่าตัวตายสมัยเมื่อเป็นเด็ก เขาเขียนบันทึกประจำวันเป็นอักษรกรีกตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะเขาถือว่าไม่มีใครเข้าใจเขาเลย กรณีที่เวอยิเนีย วูล์ฟ ฆ่าตัวตายก็เพราะความบ้าพวกนี้

ประการต่อมาก็คือพวกนี้เป็นกบฏ ปฏิเสธสถาบัน
(rebel establishment) พูดอย่างไทยก็คือพวกนี้ปฏิเสธต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้ปฏิเสธออกหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถสร้างคุณค่าใหม่ขึ้นมาแทนคุณค่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้ได้ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ คือเวลานั้น ผู้คนเชื่อกันว่าจักรวรรดิอังกฤษเป็นจักรวรรดิอันยุติธรรม เป็นจักรวรรดิที่ดีที่สุดในโลก เมื่อมหาตมะ คานธีต่อสู้กับอังกฤษครั้งแรก คานธีก็เชื่อว่าจักรวรรดิอังกฤษเป็นจักรวรรดินิยมที่ดีที่สุด ให้ความยุติธรรม ดีวิเศษร้อยแปด พวกนี้ปฏิเสธ ไม่ได้ปฏิเสธตัวเขาซึ่งเป็นอังกฤษนะ แต่ปฏิบัติค่านิยมที่เอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มายัดเยียดให้ อย่าลืมนะ คำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
God King and Country เราเอามาจากอังกฤษ

พวกเขาถือว่าผิด ไคลฟ์ เบลล์ แต่งหนังสือเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น เรื่อง “สันติภาพเดี๋ยวนี้” หนังสือถูกเผา เบลล์ถูกโจมตี แล้วพวกนี้มาเป็นเพื่อนกับเบอทรัน รัสเซล ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พวกนี้บอกว่าคำตอบคือต้องเป็น pacifist ถูกจับเข้าคุก พอเบอทรัน รัสเซล ถูกจับเข้าคุก แล้วมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไล่ออก รัฐบาลปรับเงิน รัสเซลไม่ยอมเสียค่าปรับ เขาจึงมาริบหนังสือไปขายเลหลัง พวกเพื่อนๆ ต้องไปประมูลซื้อหนังสือเหล่านั้นกลับมา อย่าลืมว่าพวกนี้จะเป็นคนกลุ่มน้อยตลอดเวลา คุณอย่าไปนึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นตัวนำ ส่วนมากมหาวิทยาลัยจะคล้อยไปกับบ้านเมือง เคมบริดจ์ที่ยกย่องว่าโก้เก๋ ก็ไปกับบ้านเมือง ฮาวาร์ดก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แต่จะมีคนจำนวนน้อยอยู่ตลอดเวลาที่ต่อสู้ แล้วพวกนี้จะเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล

พวกนี้เห็นเลยว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นตัวนำหายนะมาสู่อังกฤษ ตอนนั้นยังไม่มีใครเห็น หรือคนที่เห็นไม่มีทางเขียนได้อย่างพวกนี้ เพราะพวกนี้ articulate มาก เขียนออกมากว้างขวาง คนที่เห็นก็มีแต่เราไม่รู้จัก ผมเพิ่งไปประชุมกับ War Resister League ซึ่งเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นพวกที่ต่อต้านสงคราม เขาบอกปู่เขาพ่อเขาถูกจับมาตั้งแต่สมัยโน้น พวกนี้เป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีใครรู้จัก พวกนี้ต่อสู้มาตลอดเวลา คนกลุ่มนี้บอกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ จะนำความหายนะมาสู่อังกฤษ แล้วก็นำมาจริงๆ เพราะคนหนุ่มๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัยอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นมีไม่กี่แห่ง ไปตายเป็นล้าน เวลานั้นประชากรอังกฤษมีไม่ถึง ๒๐ ล้านคน เฉพาะคนหนุ่มๆ ตายล้านนึงก็ไม่ใช่น้อยๆ แล้ว จากสงครามโลกครั้งที่ ๑ มานี่อังกฤษล่มจม สงครามโลกครั้งที่ ๒ อเมริกาล่มจม อเมริกาไม่รู้ นึกว่าไม่ล่มจม พอสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ สหรัฐนึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ที่สุด แต่จริงๆ มันเป็นหนทางให้อเมริกาล่มจม คนบางคนรู้ แล้วพวกนี้บอกเลยว่าล่มจมเห็นหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกนี้ต้องการคือวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะทอม วูล์ฟ จะชัดกว่าคนอื่นๆ ทางการเมือง คนอื่นๆ มักไปทางวัฒนธรรม กิจกรรม หรือวรรณกรรม แต่ทอม วูล์ฟ ไปทางแต่งนิยายด้วย เขียนหนังสือด้วย โดยเฉพาะอัตชีวประวัติของทอม วูล์ฟ นี่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเคยไปอยู่ลังกา ได้เห็นความชั่วร้ายของจักรวรรดินิยม ทอม วูล์ฟ ก็เลยมาเข้าพรรคสังคมนิยม เพราะเห็นว่าสังคมนิยมจะเป็นคำตอบ แต่สังคมนิยมจะต้องให้คำตอบ ๒-๓ อย่างซึ่งระบบเดิมไม่ได้ให้ พวกรอยัลตี้ พวกโนบิลิตี้ไม่ได้ให้ เพราะพวกรอยัลตี้-พวกโนบิลิตี้บอกว่าพวกเราเป็นชนชั้นสูง มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต้องปล่อยให้พวกเราทำหน้าที่ปกครองเพื่อทุกอย่างจะได้เรียบร้อย แต่พวกวิคกับพวกทอรี่จะแตกต่างกัน ทอรี่จะบอกว่าของเราถือแบบเดิมหมด ไม่มีเปลี่ยนแปลง พวกวิคบอกต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง เสรีนิยมจึงได้เกิดขึ้น ทีนี้มาถึงพวกเลเบอร์ พวกนี้บอกวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ ต้องให้เกิดมีสังคมนิยมขึ้น คือต้องสร้างนิยมใหม่ ต้องไม่ผูกกับศาสนา กับรัฐ กับศักดินา ต้องสร้างให้คนมีความซื่อ มีความจริงใจ มีความกล้าเป็นพื้นฐาน สังคมนิยมหมายความว่าให้ทุกคนเห็นว่าเขาเป็นคนสำคัญ

พวกสังคมนิยมหลายคน เขามองไปที่รัสเซียว่าเป็นคำตอบ แต่พวกกลุ่มบลูมสเบอรี่ไม่เห็นรัสเซียเป็นคำตอบ พวกนี้บอกว่ารัสเซียจะนำไปสู่เผด็จการ เบอทรัน รัสเซล ทีแรกก็นิยมรัสเซีย แต่พอแกไปรัสเซียกลับมาเท่านั้น โจมตีเลย ยอร์ช เบอนาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw, ค.ศ.๑๘๕๖–๑๙๕๐) ทีแรกก็ชื่นชมยกย่องรัสเซีย ทีหลังก็ปฏิเสธ พวกนี้บอกว่าเราจะต้องหาวัฒนธรรมของเราเอง ก็เป็นเฟเบียน (Fabian) เอาชื่อมาจากนายพลโรมัน เฟบิอุส (Quintus Fabius Maximus Verrucosus, d.203 BC) ที่ต่อสู้กับกองทัพคาเธจ โรมจะแพ้อยู่แล้ว นายพลเฟบิอุสบอกว่าเราต้องใช้วิธีช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปแล้วจะชนะได้ เมื่อถึงเวลาจึงรีบเผด็จศึกทันทีเลย พวกนี้ก็บอกว่าจะเอาวิธีของเฟบิอุสมาใช้ เราจะต้องสู้กับทุนนิยม จารีตนิยม ศักดินานิยม ต้องทำช้าๆ พอจังหวะเหมาะ จึงยึดอำนาจให้ได้อย่างทันท่วงที วิธีของสตาลินไปไม่รอด เขาจึงตั้งสมาคมเฟเบียนขึ้น สมาคมเฟเบียนต้องสร้างค่านิยมใหม่ จิตสำนึกใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ยอร์จ เบอนาร์ด ชอว์ ถึงกับเสนอว่า ต้องสร้างภาษาใหม่ พวกนี้เห็นว่าจะสามารถแก้ปัญหาชนชั้นได้เพราะการศึกษา พวกนี้จึงตั้งมหาวิทยาลัยลอนดอน แล้วการที่จะชนะพวกผู้ดีเก่า ต้องสร้างผู้ดีใหม่ คือคนที่มีความรู้ ซึ่งจะต่อสู้อย่างจริงจัง การวิจัยครั้งแรกเกิดขึ้นโดยคน ๒ คนคือ Sidney Webb (ค.ศ.๑๘๕๙–๑๙๔๗) และ Beatrice Webb (ค.ศ.๑๘๕๘–๑๙๔๓) สามีภรรยา การวิจัยของเวบบ์เขาถือว่าเป็นการวิจัยบริสุทธิ์ แต่การวิจัยของมากซ์ถือว่าไม่บริสุทธิ์ เพราะมากซ์ตั้งสมมติฐานอยู่แล้ว แล้ววิจัยเพื่อให้เข้าสมมติฐานของตัวเอง แต่เวบบ์สามีภรรยาถือว่าต้องปลอดจากสมมติฐาน ไปศึกษาขบวนการกรรมกรทั้งหมดจนเกิดพรรคกรรมกรขึ้น แล้วก็ได้เงินมาทำมหาวิทยาลัยลอนดอนเพื่อเปิดโอกาสให้กรรมกรได้เรียน เป็นครั้งแรกที่คนมาเรียนได้โดยไม่ต้องถือศาสนานิกายอังกฤษ เป็นครั้งแรกที่กรรมกรได้เรียน เป็นครั้งแรกที่คนสอนเป็นใครก็ได้ ฆราวาสนิกายไหนก็ได้ไม่ต้องเป็นพระบาทหลวง นี่เองเป็นเหตุให้ออกซ์ฟอร์ด-เคมบริดจ์ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะทีหลังมาตั้ง London School of Economics ต้องการให้ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ เพราะเราจะเอาชนะพวกนั้นได้ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์ แต่เศรษฐศาสตร์อย่างเดียวไม่พอต้องศึกษาการเมืองด้วย ที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เอาอย่างมาตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เปลี่ยนเศรษฐศาสตร์เป็นธรรมศาสตร์ เบอนาร์ด ชอว์ ก็พยายามจะเปลี่ยนภาษา เปลี่ยนการกินอยู่อะไรต่างๆ แกกินมังสวิรัตินะครับ แต่ที่น่าเศร้าคือพวกนี้ล้มเหลวหมด ถ้าไม่ล้มเหลว สังคมนิยมจะเป็นคำตอบ บังเอิญล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย ทอม วูล์ฟ สมัครผู้แทนก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเพราะไม่มีใครลงคะแนนให้แก ตอนไปสมัครผู้แทนเขาจะใช้วิธีบอกความจริงทั้งหมดกับราษฎร แต่ราษฎรต้องการให้สัญญาทุกอย่าง พวกที่สมัครแล้วได้รับเลือกเพราะมันสัญญาทุกอย่างเลย วูล์ฟบอกว่านั่นมันโกหก อันนี้ฉันสัญญาได้ อันนี้ฉันสัญญาไม่ได้ อันนี้ฉันทำได้ อันนี้ฉันต้องไปปรึกษาในพรรคก่อน ราษฎรบอกยุ่งมากนัก เลยได้คะแนนรั้งท้าย

พวกบลูมสเบอรี่ Rebel establishment คือต่อต้านค่านิยมที่เขายอมรับกัน แล้วลืมไปว่าตัวเองเป็น establishment อีกพวกหนึ่ง คือพยายามสร้างค่านิยมอย่างใหม่ ชนชั้นอย่างใหม่ขึ้นมา แต่ยอช ออร์เวล นี่ rebel ตลอด คนไทยรู้จักยอช ออร์เวลเพียง Animal Farm กับ 1984 ยอช ออร์เวล เป็นนักเรียนโรงเรียนอีตัน ไปทำงานที่พม่าและเกลียดจักรวรรดิอังกฤษที่พม่า แล้วกลับมาเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ แก rebel ตลอดเลย rebel พรรคคอมมิวนิสต์ด้วย จักรวรรดินิยมด้วย อีตันด้วย ในที่สุดออร์เวลก็เป็นวัณโรคตาย สำคัญมากนะ โดยเฉพาะตอนเกิดสงครามกลางเมืองสเปน ตอนนั้น ปัญญาชนแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ถ้าเป็นฝ่ายขวาคุณจะเข้าข้างฟรังโก ที่ภายหลังได้ชัยชนะสืบมาจนถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ซึ่งทรงสามารถแหวกว่ายพ้นเผด็จการไปได้ ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายต้องรบโดยอยู่กับฝ่ายสังคมนิยม ยอช ออร์เวล อยู่ฝ่ายนี้ แต่พอไปเห็นความกะล่อนของพรรคคอมมิวนิสต์ในสเปน กลับมาเขียนแฉ ไม่มีใครยอมลงพิมพ์ให้เลย เพราะถ้าลงไปมันจะทำลายฝ่ายซ้ายหมด อันนี้เป็นความเชื่อ article of faith ถ้าคุณบอกว่าสตาลินเลวร้าย เขาก็คงจะเถียงว่าแกคงเลวร้ายนิดหน่อย พวกเราที่อังกฤษต้องช่วยกันปิดความเลวร้าย มิฉะนั้นขบวนการฝ่ายซ้ายพัง ยอช ออร์เวล เลยไม่มีพวก เพราะเขียนความจริงเพียงอย่างเดียว แล้วยอช ออร์เวล แกเป็นถึงขนาดนี้ ตอนอยู่ปารีส ไปเป็นบ๋อย ยากจนถึงขนาดต้องจับหนูกิน แล้วที่อังกฤษ แกไปเข้ากับพวก tramps พวกขอทาน เป็นอีกโลกหนึ่งเลย Down and Out in Paris and London เป็นหนังสือที่ดีที่สุดของยอช ออร์เวล แกไปอยู่กับคนที่จนที่สุด เป็นพวกเดียวกัน แล้วเขียนพรรณนา ตอนเป็นขอทาน ขอทานเกิดรักออร์เวลขึ้นมาถึงกับให้ก้นบุหรี่อันหนึ่ง ออร์เวลชื่นใจที่สุดเลย แล้วเล่าด้วยว่าเข้าคุกเป็นอย่างไร แอบเอาก้นบุหรี่เข้าไปได้อย่างไร พวกนี้เหม็นสาบอย่างไร ความน่ารักของคนพวกนี้เป็นอย่างไร ออร์เวลเอามาเขียนเล่าสนุกมาก พวกบลูมสเบอรี่เข้าไม่ถึงหรอก พวกนี้อยู่อีกโลกหนึ่งเลย ไม่เคยมีความลำบาก มีบ่าวมีไพร่ ถือว่าเป็นธรรมดาของชีวิต แต่ทอม วูล์ฟ เวลาบ่าวเขาเจ็บไข้ไม่สบาย เขาจะไปเฝ้าตลอด คนใช้อยู่กันมาตั้ง ๓๐ ปี ตายก็ทำศพให้อะไรให้ ทอม วูล์ฟ เขาเป็น socialist แท้


เกี่ยวกับกลุ่มเฟเบียน
ปัจจุบันยังมีอะไรสืบต่อมาหรือเปล่า

กลุ่มนี้ตายแล้ว เฟเบียนในฐานะเป็นความคิดยังอยู่ แต่กลุ่มนำหรือเนื้อหาหลักตายแล้ว บลูมสเบอรี่ก็ไม่มี เรียกกันเล่นๆ พวกนี้มาเช่าบ้านอยู่ในนั้น ๒ ครั้ง ๒ บ้าน อยู่ในตำบลบลูมสเบอรี่ เป็นละแวกที่มีสวนสาธารณะเป็นหย่อมๆ ที่เราแปลตามตัวอักษรว่าจตุรัสแต่ความจริงไม่ใช่ มีชื่อดังนี้คือ (Gordon Square, Fitzroy Square, Brunswick Square, Mecklenburgh Square) แล้วพวกนี้เขาเรียก at home เชิญคนมากินข้าว เป็นวิธีอังกฤษอีกอย่างหนึ่ง เลือกคนมากินข้าว คนที่มากินข้าวจะต้องเป็นคนที่รู้เรื่อง สมัยก่อนอังกฤษถือว่า ทำวัตรกับกินข้าวสำคัญที่สุด มหาวิทยาลัยมีเรื่องสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือ Chapel กับ Dinning Hall คุณต้องแต่งตัวเหมือนกัน กินข้าวกับไปเฝ้าพระเจ้า คุณต้องใส่เสื้อกาวน์ไป ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ พวกผมที่ไปเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ dinning เป็นเรื่องสำคัญที่สุด การศึกษาในเวลานั้นคือการกินข้าว ในมหาวิทยาลัย การพูดคุยกันตอนกินข้าวเป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มบลูมสเบอรี่มี Thursday at home มากินข้าวทุกวันพฤหัสบดี และคนที่มากินก็เป็นเฉพาะพวกเขาซึ่งเป็นปัญญาชนอภิชน เป็นโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมือง วิจารณ์วรรณคดีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ออกซ์ฟอร์ด-เคมบริดจ์ พวกหัวกะทิเขาจะตั้งเป็นสมาคมลับ เรียกว่า Secret Society ใครได้รับเข้าเลือกสมาคมลับ บางสมาคมเขาถือว่าโก้ที่สุด พวกนี้ต่อไปจะมีชื่อเสียงทั้งนั้น ถ้าไม่ได้เป็นนายยกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นกวีที่มีชื่อ พวกบลูมสเบอรี่ตอนที่เรียนเคมบริดจ์ก็ได้เข้าสมาคมลับเล็กๆ และพวกนี้ถ้ามีอะไรที่อยากทำ จะทำเป็นพิเศษ ซึ่งคนอื่นไม่กล้าทำหรือทำไม่ได้ พวกนี้จะไม่เหมือนคนอื่นเลย ผมถึงได้บอกว่าพวกนักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองอังกฤษไม่มีทาง เพราะเราเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ อย่างเก่งเราไปตีกรรเชียงก็โก้ตายแล้ว เพราะพวกที่เข้าสมาคมเหล่านี้เขาถือว่าเป็น cream ของปัญญาชน อย่างออเดน ตอนเป็นนักเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด พวกอาจารย์กลัว เพราะเขาเริ่มเขียนกลอนแล้ว นิสิตนักศึกษารุ่นเดียวกันและรุ่นหลังนับถือเขายิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก แล้วพวกนี้ซับซ้อน ส่วนมากเป็น homosexual กันแทบทั้งนั้น ปัญหาเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะโรงเรียนแต่ก่อนผู้ชายล้วน โดยเฉพาะกลุ่มออเดน กลุ่มบลูมสเบอรี่ไม่ค่อยเป็น แต่เวอร์ยิเนียเป็นเลสเปี้ยน

เมืองไทยผมว่าเป็นไปได้ยาก เพราะประการแรกเราตัดขาดจากต้นตอหรือกำพืดของเรา นี่สำคัญมาก มันต้องมี root กว่าจะเป็นเลสลี่ สตีเฟน ตั้งกี่ชั่วคน พวกเราที่สืบเชื้อสายมาทางฝ่ายจีน มีจริยธรรมขงจื๊อบงการอยู่ใต้สำนึก ให้ผู้หญิงมุ่งพรหมจารี ชนิดยอมให้ผู้ชายเอาเปรียบซึ่งฝรั่งแต่ก่อนก็เป็น แต่ rebel เป็นขั้นๆ

ประการที่ ๒ สภาพแวดล้อมของอังกฤษหรือทางยุโรปทำให้ทุกคน lonely ระบบของไทยไม่ lonely ทุกคนคุยกันตลอดเวลา คุณต้อง lonely แล้วคุณต้องคิดให้แปลกแหวกแนว เสร็จแล้วคุณต้องพร้อมที่จะฟังคนอื่น แล้วคุณต้องกล้าที่จะรับคนซึ่งคุณถือว่าไม่เท่าเทียมกับคุณ พวกนี้เขาถึงบอกว่า เควกเกอร์เราก็ยอมรับ Church of England เราก็ยอมรับ ทั้งที่เราปฏิเสธความเชื่อของพวกนี้ เราหนีลัทธิศาสนาออกมาแต่เราก็ยอมรับฟังบาทหลวง และก็ขนาบบาทหลวงด้วยถ้าเห็นไม่ตรงกัน พวก Non-conformist นิกายคล้ายสันติอโศกเวลานี้ พวกบลูมสเบอรี่ก็รับฟัง พวกยิวเราก็ยอมรับ เขาเขียนเอาไว้อย่างนี้เลย เพราะอย่าลืมนะ สำหรับอังกฤษ พวกโรมันคาทอลิกเป็นตัวเลวร้ายที่สุด เพราะไปเข้ากับพวกสจ๊วตและควีนแมรี่ รวมทั้งควีนแมรี่ของสก๊อตแลนด์ซึ่งเอาคนไปเผาเสียเยอะแยะ และพวกคาทอลิกถูกกีดกันจนเมื่อผมไปเรียนอังกฤษแล้วนะ พวกคุณอาจไม่ได้สังเกตยังไม่มี Catholic emancipation คุณรู้จักภราดาอูรแบงไหม แกเคยเป็นครูผมและเป็นอธิการบดีร.ร.อัสสัมชัญ ถูกไล่ไปอยู่อังกฤษ เวลาออกไปเดินตามถนนต้องถอดเสื้อหล่อ (กระโปรงบาทหลวง) ออก เปลี่ยนมานุ่งกางเกงธรรมดา จำเพาะพระนิกายอังกฤษจึงใส่ออกเดินถนนได้ วัดคาทอลิกตีระฆังไม่ได้ เพิ่งมี Catholic emancipation ประมาณปี ๑๙๕๕ หรืออะไรนี่แหละที่อนุญาตให้ตีระฆังได้ ให้ใส่เครื่องแบบบาทหลวงอย่างมีกระโปรงแล้วออกเดินถนนได้

ถ้าจะเอาอย่างมาทำที่เมืองไทย แล้วบรรยากาศแบบนี้เวลานี้ รถติดกันขนาดนี้ ใครจะอยากไปกินข้าว at home ล่ะ คือเราเคยเอาอย่างมาทำนะ พระองค์ธานีฯ (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) ท่านก็ทำวันเสาร์ มีคนไปล้อว่าท่านทำตาม Salon อย่างฝรั่งเศส หมายความว่าที่นั่นก็เป็นที่คุยกันเล่นๆ ไม่มีอะไรลึกซึ้ง ผมก็ไปแทบทุกวันเสาร์ วังพระองค์จุมภฏ (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จุมภฏพงษ์บริพัตร) ก็มี คุณคึกฤทธิ์ไม่ได้ไปวังพระองค์ธานีฯ แต่ไปทางวังพระองค์จุมภฏฯ ซึ่งเขาถือว่าเหนือกว่าทั้งทางสติปัญญา ชาติวุฒิ และทรัพย์สมบัติ แต่เขาด้อยกว่าพระองค์ธานีฯในทางราชการเท่านั้น พอสิ้นพระองค์จุมภฏฯ คุณคึกฤทธิ์ก็ไปที่วังท่านหญิงแก้ว ตอนนั้นคุณคึกฤทธิ์ถือว่าเป็นพระเอก เหนือกว่าใครๆ หมดเลย แต่แกยังยอมลงให้พระองค์จุมภฏฯ และคุณพันธุ์ทิพย์ การสังสรรค์กับทางวังพวกนี้ เป็นการแสดงออกเอาอย่างอังกฤษ ที่พวกผู้ดีเขาทำกัน แต่ก่อน at home ที่วังท่านหญิงแก้วทุกวันอังคาร เมื่อคุณคึกฤทธิ์เป็นนายกฯเปลี่ยนวันประชุม ครม. จากวันอังคารเป็นวันพุธ เพื่อไปวังท่านหญิงแก้ว (ม.จ.อัปภัสราภา เทวกุล) แต่นั่นเป็นนินทาสโมสร ไม่ได้เป็นการแสดงออกของกิจกรรมทางปัญญาลึกซึ้งอะไร หรือสโมสรลับในมหาวิทยาลัยนั้น มันท้าทายสติปัญญา คุณเขียนเรื่องอะไรก็เอามาอ่านที่สโมสร แล้วมาตรวจกัน หนังสือที่ขายดีมากเขาไม่สนใจ เป็น Professor of English Literature นะ มีกลุ่มเล็กๆ มาอ่านเล่นกันก่อน มาพูดกันวงใน แล้วฟัดกันอย่างไม่ไว้หน้าเลย คุณเขียนกลอน คุณก็มาอ่านกันในวงเล็กๆ นี้ มันจะต้องมีกลุ่มซึ่งคุณยอมรับว่ามีสติปัญญาพอจะมาอ่านงานของคุณได้ กลุ่มอย่างนี้จึงจะเกิดขึ้น


นักเขียนไทยสมัยใหม่สามารถจะพัฒนาคุณภาพของงานไปถึงระดับนั้นได้หรือไม่ภายใต้บรรยากาศที่ต่างไปจากยุโรป

ผมเขียนเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อทำ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นะชื่อ อันตรายของปัญญาชนคนหนุ่ม ว่าเมืองไทยมี Recognition เร็วเกินไป คุณเป็นที่ยอมรับเร็วเกินไป นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเทวดาไปแล้ว เขียนหนังสือ ๒ – ๓ เล่มเท่านั้นคนก็ยกย่องกัน ที่อังกฤษไม่ได้เลยนะ วิจารณ์กัน ฟัดกัน กว่าจะออกมาได้ เวอร์ยิเนีย วูล์ฟ เขียน พรรคพวกฟัดกันเอง แต่ของเรานี่เขียนออกมาแล้วเชียร์กัน โอกาสจะเสียคนก็เป็นไปได้ง่าย


แต่เขาฟัดกันอย่างฉันมิตรใช่ไหม

ไม่มิตรหรอก บางทีไม่พูดกันเลย แต่กลุ่มบลูมสเบอรี่ที่สำคัญเพราะอยู่ด้วยกันได้ เวอร์ยิเนีย วูลฟ์ เขียนเลย ไม่มีใครไว้ใจกันสักคนหนึ่ง ไม่ใช่แข่งกันเอง แย่งผัวแย่งเมีย แย่งชู้กันด้วย ฟัดกันถึงขนาดนี้ แต่ก็รวมกันอยู่ ที่สำคัญๆ ตรงนี้ ในอังกฤษจะมีคลับ พวกผู้ดีเขาจะเข้าคลับ แต่ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ อย่างพวก Liberal เขาจะไปเข้า Reform Club เรื่อง Around World in Eighty Day ของ Jules Verne เริ่มจาก Reform Club ตอนที่ผมไปอยู่อังกฤษคราวที่แล้ว ผมก็ไป Reform Club เขาเลือกผมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ด้วยซ้ำไป นี่เพื่อจะอวดอ้างว่าผมก็ดัดจริตกับเขาเหมือนกัน พวกนี้จะเป็นกลุ่ม พวกทอรี่เขาจะมีกลุ่มหนึ่ง ออกซ์ฟอร์ดเขาจะมีคลับของเขาเป็นที่หนีเมียไปเที่ยว ไม่ใช่เที่ยวอย่างอื่นนะ แต่เป็นที่นินทากันคุยกัน แล้วเวลานี้ คลับที่อังกฤษชื่อ Atheneium club ถือว่าใครเขาได้แล้วยอดที่สุดเลย เพราะสมาชิกเป็นอาร์คบิชอบออฟแคนเธอเบอรี่ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทมส์ แล้วเขารับสมาชิกเฉพาะ top position เท่านั้น ใครในสถานะอย่างนั้นเข้าไปก็ได้ เป็นคลับที่แพงที่สุด อาหารเลวที่สุด เข้ายากที่สุด แต่โก้ที่สุด อยู่ติดกับ the Mall ใกล้ๆ Reform Club ผมเคยเข้าไป ๒ หนเท่านั้นเอง แต่สำหรับกลุ่มบลูมสเบอรี่ถือว่าพวกนั้นเป็นพวกชนชั้นกลางทางปัญญา ไม่มีอะไรลึกซึ้ง พวกบลูมสเบอรี่ เขามี inner circle ซึ่งผิดกับ Club ทั่วๆ ไป ที่เขาพบกันทุกวันพฤหัสฯ คุยกัน กินข้าวกัน อาหารก็ธรรมดา อาหารอังกฤษไม่อร่อยอยู่แล้ว กินไวน์ กินเชอรี่กันนิดหน่อย เรื่องสำคัญคือคุยกัน แล้วทุกคนไม่ได้เตรียมมา พอใครคุยเรื่องไหนแล้วทุกคนพร้อมที่จะเถียงที่จะคุยด้วย พร้อมที่จะคิด ที่สนุกๆ ตรงนี้ คนนี้พูดเรื่องนี้ปั๊บ คนนั้นจับต่อได้เลย คนนี้พูดเรื่องเขียนรูป พูดกันรู้เรื่องในกลุ่ม แล้วกลุ่มอย่างนี้ไปคุยกับคนอื่นไม่ได้


ทำอย่างไร
ทางเราจึงเกิดความคิดและข้อเขียนเป็นอย่างนี้ได้

ผมบอกแล้วว่าที่อังกฤษเกิดจาก The Glorious Revolution ของเราเพิ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ นี่เอง พอถึง ๒๔๙๐ ประชาธิปไตยก็เจ๊งไปแล้ว ระหว่างพ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๙๐ นั้นไม่มีใครเห็นว่าเจ้าสำคัญเลย ก่อนนั้นเจ้านึกว่าเป็น genius อย่างน้อยก็สูงกว่าไพร่ อย่างเทียนวรรณ ก.ศ.ร. กุหลาบ นั้นสติปัญญาไม่แพ้เจ้าชั้นนำ แต่ไม่ยอมเจ้า เขาก็เขี่ยออกไปเลย ถ้าคุณปลุกมโนธรรมสำนึกให้ได้ก่อนว่ามนุษย์มีดีที่ตน ไม่ใช่ที่ชาติกำเนิด ทรัพย์ศฤงคาร หรือยศศักดิ์อัครฐาน ต้องมีอันนี้ขึ้นมาก่อน ต้องปูพื้นฐานอันนี้ก่อน ต้องกล้าพูดความจริงก่อน แล้วเราจะมีผู้ที่ต้องการแสวงหาความจริงที่ลึกลงไป ทีนี้ปัญหาคือสมัยนี้ทำได้ไหม ยาก เพราะสมัยนี้มีโทรทัศน์มีอะไรร้อยแปด แต่ก่อนไม่มีวิทยุโทรทัศน์ มีอย่างเดียวคือคุยกัน เป็นความสุขอย่างเดียวที่มี บางพวกก็ไปเล่นดนตรีกัน ไปเต้นรำกัน แต่พวกบลูมสเบอรี่เขาคุยกันอย่างเดียว คุยกันแล้วก็ทำหนังสือ ทีหลังทำโรงพิมพ์เองเลย Hogarth Press เป็นสำนักพิมพ์ที่ดีที่สุด ปรู๊ฟเอง เรียงพิมพ์เอง กัดไม้เอง ทำบล็อกเอง แล้วพิมพ์ ๑,๐๐๐ เล่มเท่านั้น จะซื้อก็ซื้อไม่ซื้อก็แล้วไป เป็นหนังสือที่หายากมาก ผมกำลังจะทำอันนี้ พิมพ์น้อยๆ เพราะคนอ่านเรามีพอแล้ว คนที่จะเสพผมว่ามีพอ พิมพ์ ๕๐๐- ๑,๐๐๐ เล่ม แต่พิมพ์อย่างดี แล้วเราเลือกเรื่องดีๆ คุณดูสิ The Brothers Karamazov ที่สดใสแปล นึกว่าจะขายไม่ออก อีกหน่อยคนก็จะซื้อ แต่ต้องทำให้คุณภาพดีจริงๆ เลย ทั้งคุณภาพการแปล การเขียน การผลิต ผมว่าอย่างนี้ทำได้ แต่กลุ่มที่คุยกันคงยาก


เลสลี่ สตีเฟน
ลาออกจากมหาวิทยาลัยส่งผลอย่างไรบ้าง

เลสลี่ สตีเฟน ลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่เลยนะไม่ใช่เรื่องเล็ก ทีหลังอาจารย์ลาออกกันเยอะ มหาวิทยาลัยเลยต้องเปลี่ยน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ อย่างโจเอตเริ่มเขียนแหย่ไปนิดเดียวโจมตีกันพังเลย เลยเลิก เพราะเขายังไม่พร้อมที่จะลาออก แกก็เลยเลิกเขียนเรื่องพระเจ้าไปแปลภาษากรีก พอถึง เลสลี่ สตีเฟน เขาก็ลาออกมาเลย สถาบันพระมหากษัตริย์เขาก็ไม่ได้โจมตีอะไร แต่เขาบอกว่าเขาไม่เห็นความสำคัญว่าจะต้องไปเฝ้าแหนอะไร แต่ตอนรับบรรดาศักดิ์ พรรคพวกก็โจมตีมากว่าเอ็งไม่เห็นว่าสำคัญแล้วไปรับทำไม ก็เถียงกันอยู่นานกว่าจะรับบรรดาศักดิ์


การกล้าวิจารณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เพราะคนส่วนใหญ่กลัวอำนาจ

ธรรมดา ใครมีอำนาจคนก็ปอด สมัยก่อนคุณธรรมนูญ เทียนเงิน ไปวิจารณ์คณะราษฏร โน่น ถูกส่งไปอยู่แม่ฮ่องสอน สมัยก่อนรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์เหมือนสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลานี้ ใครวิจารณ์รัฐธรรมนูญนี่พังเลย

ปัญหาคือเวลาที่คุณจะสร้างอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องมีคนคอยท้วง ผมชอบใจกลุ่มนี้เพราะเขาปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ น่านิยมมาก เวลานี้ สังฆราช Bishop of Durham ที่อังกฤษ แกปฏิเสธหลายเรื่อง แกเขียน Honesty to God บอกว่า “เรา” บาทหลวงต่างๆ ไม่ Honesty to God เราเอา God มาหากิน เวลานี้สังฆราชองค์หนึ่งแกบอกไม่เชื่อเรื่อง resurrection ที่ว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพแล้วขึ้นบนสวรรค์ แกว่าเขียนโกหกตอแหล คือมันท้าทาย ถ้าเริ่มจุดแรกที่ท้าทาย แล้วจะมีออกมาเรื่อยๆ เห็นไหม ผมพยายามท้าทายอยู่เรื่อยๆ แน่นอน บางทีก็ติดคุกบ้างอะไรบ้าง พอออกมาก็แหย่อีกหน่อย แหย่อยู่เรื่อยๆ ผมไม่อยากคุยโม้นะ ผมเป็นคนแรกที่ท้าทายคึกฤทธิ์ ตอนนั้นคึกฤทธิ์เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าแตะ แต่ตอนนี้มีคนท้าทายคึกฤทธิ์กันเต็มไปหมดเลย

ร้อยปีมาแล้ว เวอร์ยิเนีย วูล์ฟ เลสลี่ สตีเฟน เขาคิดอีกอย่างหนึ่ง เขาบอกงานของเขาสำคัญมาก Dictionary of National Biography เป็นงานอมตะ แต่เขาเขียนว่า ตัวเขาจะเอาไปเปรียบกับนักเขียนยิ่งใหญ่อย่างมิลตันไม่ได้ แต่เขาไม่ใช่นักเขียนเล็กๆ เขาเชื่อว่างานของเขาอย่างเก่งคนอีกรุ่นเดียวเท่านั้นที่จะอ่าน only one generation คือคนสำคัญอยู่ตรงนี้ คุณต้องตีค่าตัวคุณให้ถูกต้อง แล้ว ลอร์ดแอกตัน ที่เขียนประวัติของตัวเอง บอกว่าพวกเราที่เป็นนักคิดต้องการที่จะปั้นความคิดของคนรุ่นต่อไป…แล้วเราจะประสบความล้มเหลวในชีวิตของเรา แต่อนุชนจะเปลี่ยนไปตามที่เราต้องการให้เปลี่ยน เสร็จแล้วจะลืมเรา จำเราไม่ได้ จะถือว่าเขาเปลี่ยนของเขาเอง ซึ่งจริงที่สุด ในช่วงชีวิตของเรานี่ไม่มีทาง ทำไม่สำเร็จ ยกตัวอย่างเราต้องการให้มีคนกล้าท้าทายสถาบันมากขึ้น มันจะมาเอง แต่ระหว่างที่เราทำอยู่ เขาจะจำชื่อเราไม่ได้ ไม่รู้ว่าเราทำอยู่ ถ้าเราไปคิดเอาบุญคุณ ไม่มีประโยชน์หรอกแต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ เรามีหน้าที่เตือนคนเข้าหาความกล้า เตือนให้คนเข้าหาความจริง ทีหลังความกล้าเกิดมาเอง


จะให้งานมีคุณภาพถึงขั้นเข้าเล่มได้อย่างไร

อันนี้มีสองเรื่องนะ เรื่องหนึ่งจะมีได้ต่อเมื่อพื้นฐานมีแล้ว ยกตัวอย่างเช่น น. ณ ปากน้ำ เขาเขียนเรื่องศิลปินทั่วๆ ไป ขณะเดียวกันเขาก็เขียนเรื่องโหรเรื่องอะไรที่เขาสนใจ ถ้าเผื่องานพวกนี้มีแล้ว รุ่นหลังทำออกมาซ้ำไม่ได้ ก็ต้องเจาะลึก ระยะแรกต้องปูพื้นฐานอย่างนี้ก่อน ชั้นที่สองต้องเจาะให้ลึกลงไป ที่ผมพยายามจะแปลเพลโตไว้ ๓-๔-๕ เล่มนี้ ถ้าคนรุ่นต่อๆ ไปจากผมจะแปล ฝีมือต้องดีกว่าเรา เพราะคนอ่านจะจับผิดมากขึ้น วิชาการเป็นอย่างนี้ ต้องสั่งสมมา กว่าจะเกิดเลสลี่ สตีเฟน ได้ ตั้งกี่ชั่วคนแล้ว ก่อนจะเป็นเวอร์ยิเนีย วูล์ฟ จนถึงยอช ออร์เวล ต้องมีเลสลี่ สตีเฟน ก่อน ของเราก็มีคนที่ทำสารานุกรมอยู่คนหนึ่ง คุณป๋วยเคยพามาหาผม ให้ผมช่วยพิมพ์ให้ แกทำของแกคนเดียว สอ เสถบุตร ก็ทำพจนานุกรมคนเดียว ในคุกด้วยซ้ำไป

ทุกคนจะต้องรู้ศักยภาพของตัวเองก่อน คุณแปลหนังสือได้ขั้นไหนต้องแปลขั้นนั้นก่อน แปลเกินกำลังนี่พังทันทีเลย เจ้าคุณอนุมานฯ ที่ผมชมท่าน ไม่ว่างานอะไรท่านจะเริ่มอ่านจาก ก.ข.ก.กา ก่อน philosophy ยากๆ นี่ท่านอ่านจากง่ายๆ ก่อน เพราะว่าท่านถือว่าภาษาท่านไม่ดีนัก วิชาท่านถึงได้แม่น ท่านไม่คุยโม้ว่าท่านไปอ่านเรื่องยากๆ ผิดกับคนรุ่นใหม่บางคนที่จับงานเกินสติปัญญา เลยเขียนได้ไม่รู้เรื่อง แปลผิดๆ ถูกๆ แต่ต่อไป ถ้าให้โอกาส ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ



เขียนโดย: ส. ศิวรักษ์


เรียบเรียงจากเสวนาเรื่อง
“อ่านอัตชีวประวัติและสังคมอังกฤษ: กลุ่มบลูมสเบอรี่”
จัดโดยอาศรมวงศ์สนิท ๑๗ ส.ค. ๓๕

ณ สัณฐาคาร อาศรมวงศ์สนิท อำเภองครักษ์ จังหวัดนครนายก

ตีพิมพ์ใน ปาจารยสาร


ที่มา : sulak-sivaraksa.org : กำเนิดปัญญาชนขบถในอังกฤษ: กลุ่มบลูมสเบอรี่

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ

    ตอบลบ
  2. Doeѕ your wеbѕitе have a contact ρage?
    I'm having trouble locating it but, I'd lіkе tο send
    уοu аn еmail. Ӏ've got some ideas for your blog you might be interested in hearing. Either way, great website and I look forward to seeing it develop over time.

    https://twitter.com/i80equip
    Also visit my website ; line trucks for sale

    ตอบลบ
  3. Heya i'm for the primary time here. I came across this board and I in finding It truly useful & it helped me out a lot. I'm hоpіng to
    provide one thing back and aid others ѕuch
    as you helpеd mе.

    my blog; bucket trucks

    ตอบลบ