วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประชาธิปไตย-อนาธิปไตย-รัฐประหารและเผด็จการ (ครึ่งใบและเต็มใบ)



(1)

ต่อคำถามที่ว่า สถานการณ์เช่นไร จึงจะทำให้เกิด “รัฐประหาร” อันจะนำไปสู่ “เผด็จการครึ่งใบ” หรือ “เผด็จการเต็มใบ” ของ “การเมืองใหม่” ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กล่าวไว้ว่า

สถานการณ์ที่นำเอา “ประชาธิปไตย” ไปสับสนกับ “อนาธิปไตย”
จะนำไปสู่ “เผด็จการ” ดังนี้

ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ 62 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2489 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ “รัฐบุรุษอาวุโส” ได้กล่าวปราศัยในวันปิดประชุมสภาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ด้วยคำเตือนเรื่อง “ประชาธิปไตย” กับ “อนาธิปไตย” ไว้ว่า


(2)

ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตย อันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่าอนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย

ท่านปรีดี กล่าวต่อไปอีกว่าข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย .... ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้


(3)

ท่านปรีดีกล่าวอย่างน่าสนใจต่อไปอีกว่า การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ต้องทำโดยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังผลส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว หรือมีความอิจฉาริษยากันเป็นมูลฐาน เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว (เอ็กโกอีสม์)

แล้วท่านปรีดี ก็เข้าสู่ไคลแมกซ์ของคำปราศัยด้วยการกล่าวว่าโดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า... แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตน หรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตัวเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้ สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไรมากกว่า


(4)

ท่านปรีดี จบคำปราศัยด้วยการฝากฝังไว้กับ สส. ในสภาว่า ข้าพเจ้าหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฏหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย

ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม

ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ



(5)

ท่านปรีดีฝากฝังอะไรไว้มากมายกับ สส. ท่านปรีดีฝากไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ต่อมาอีก 2 วัน คือ วันที่ 9 พฤษภาคม ท่านปรีดี ก็ถวายรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดฉบับหนึ่ง) ให้ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ 8 ลงพระปรมาภิไธย แต่อีก 1 เดือนต่อมา คือ ในวันที่ 9 มิถุนายน ในหลวงอานันท์ ก็ต้องพระแสงปืนเสด็จสวรรคต

และแล้ววิกฤตการเมืองก็บังเกิดขึ้น ระบอบอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม ดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีว่า “ปรีดี ฆ่าในหลวง” ท่านปรีดีเกิด “หน้าไม่ด้าน” แสดงความรับผิดชอบขอลาออกจากตำแหน่ง และได้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขึ้นเป็น นรม. แทน

รัฐบาลหลวงธำรงฯ ถูกพรรคฝ่ายค้าน คือ ประชาธิปัตย์ (เจ้าเก่า) เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายวันหลายคืน และเมื่อล้มรัฐบาลด้วยวิถีทางประชาธิปไตยไม่ได้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฯ ก็หันไปร่วมมือกับ “ระบอบทหาร” ที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ทำ “การรัฐประหาร” ยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490


(6)

จากนั้นสยามประเทศ(ไทย) ของเรา ก็เข้าสู่ยุดมืดบอดทางการเมือง กลายเป็น “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” อยู่ 10 ปีภายใต้ “ระบอบพิบูลสงคราม” ระหว่าง พ.ศ. 2491-2500 แล้วก็ต้องตกอยู่ภายใต้ “ระบอบเผด็จการเต็มใบ” ของ “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” อีก 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2501-2516 รวมแล้วกว่าจะถึง “14 ตุลา” ก็กินเวลาถึง 26 ปี

ท่านปรีดีของเราต้องกลายเป็น “พ่อกู นามระบือ ชื่อปรีดี แต่คนดี เมืองไทย ไม่ต้องการ” (เช่นเดียวกับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีของเรา) ครับท่านต้องลี้ภัยการเมือง ลี้ภัยจาก “อนาธิปไตย” และ “เผด็จการ” ทั้งครึ่งใบและเต็มใบ ไปอยู่เมืองจีนถึง 21 ปี แล้วก็จะไปจบชีวิตลงที่ปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2526


(7)

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ The University of Moral and Political Science (UMPS) ของท่าน ก็ถูก “ระบอบพิบูลสงคราม” จับเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เฉยๆ) กลายเป็น Thammasat University (TU) ไปเมื่อปี พ.ศ. 2495 (โขคดี ที่รอดจากการถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ไปได้)

มธก.-มธ. ประสบเคราะห์กรรมเหมือนๆกับที่ “สยามประเทศ” หรือ Siam ถูกเปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” หรือ Thailand มาแล้วก่อนหน้านั้น ถึงขนาดที่ “พระสยามเทวาธิราช” ก็ถูกเปลี่ยนเป็น “พระไทยเทวาธิราช” อยู่ระยะหนึ่ง (โชคดีที่เราเปลี่ยนท่านกลับมาได้ แม้จะยังเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรไม่ได้ก็ตาม)


(8)

ถ้าเราจะหลีกหนีวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ ไม่ให้เกิด “สงครามกลางเมือง” ไม่ให้เกิด “กลียุค” เราก็ต้องตระหนักในคำเตือนล่วงหน้าก่อนเวลาของท่านปรีดี ที่จะต้องยึดมั่นใน “ประชาธิปไตย” ไม่นำไปสับสนเจือปนกับ “อนาธิปไตย” ที่จะนำเราไปสู่ “ระบอบเผด็จการ” และเมื่อนั้นแหละที่บ้านเมืองของเราจะพอมีอนาคตกันบ้าง


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ที่มา : ประชาไท : ประชาธิปไตย-อนาธิปไตย-รัฐประหารและเผด็จการ (ครึ่งใบและเต็มใบ)

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดนความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น